6 Digital Business & Marketing Strategy สำหรับธุรกิจที่ไม่อยากถูก Disrupt

6 Digital Business & Marketing Strategy สำหรับธุรกิจที่ไม่อยากถูก Disrupt

จากเนื้อหาบทต้นๆ ของรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ฉบับนี้บอกให้รู้ถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกผันผวนและตกต่ำอย่างมากจากปัจจัยต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าภูมิภาคอาเซียนเราจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบหนักมากเท่ากับประเทศใหญ่ๆ หรือภูมิภาคอื่น

ส่วนหนึ่งก็เพราะในภูมิภาคอาเซียนเรามีปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งในจำนวนของผู้บริโภคออนไลน์ Digital Consumer หน้าใหม่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนเราให้เติบโตและแข็งแรงมากขึ้นทุกที

แต่บรรดาผู้บริโภค Digital Consumer ยุคใหม่ต่างก็คาดหวังสินค้าและบริการ หรือประสบการณ์ที่ดีกว่านี้ พวกเขาคาดหวังว่าคุณจะสร้าง Seamless Experience หรือ Omni channel marketing ได้เป็นอย่างดี พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับข้อมูล โปรโมชั่น หรือบริการที่รวดเร็วแบบเดียวกันทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

อีกทั้งผู้บริโภคออนไลน์ยุคใหม่ยังต้องการสินค้าหรือบริการที่คุ้มค่ามากกว่าแค่ราคาถูกแต่ไม่คุ้มเงินอีกต่อไป พวกเขายังเปิดใจรับแบรนด์ใหม่ๆ กล้าลองซื้อสินค้าแบรนด์ใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดมากเหมือนเมื่อก่อน และที่สำคัญคือเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าเดิมมาก

ดังนั้นใครทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือ Startup บอกได้เลยว่านี่คือยุคทองของคุณที่ผู้บริโภคทุกวัย ทุกพื้นที่ พร้อมที่จะทดลองอะไรใหม่ที่พวกเขารู้สึกว่าน่าจะดีหรือทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และนั่นก็จะส่งผลให้อัตราการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ สูงขึ้นในทุกด้าน จากที่เคยเติบโตอย่างเชื่องช้าในวันวาน ถ้าวันนี้พวกเขารู้สึกว่าคุ้มที่จะลอง ก็พร้อมจะลองผิดลองถูกดูสักตั้ง

ประเด็นสำคัญถัดมาเราเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสินค้าอุปโภคบริโภค หรือธุรกิจค้าปลีกจำนวนมาก จากปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ การขนส่งที่เป็นไปอย่างล่าช้าจนส่งผลให้ผลิตไม่ทัน สินค้าขาดสต็อก เงินหยุดชะงัก

แล้วไหนจะจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนกับรัสเซียอีก ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากเริ่มปรับห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply chain ของธุรกิจตัวเองใหม่

เริ่มหันมาใช้วัตถุดิบที่จัดหาได้ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาผู้ผลิตหรือพาร์ทเนอร์นอกประเทศ เพราะกลัวว่าวันหน้าเกิดไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามกำหนด จะส่งผลต่อกระแสเงินสดและความน่าเชื่อถือของธุรกิจตัวเองขนาดไหน

แต่นั่นก็หมายความว่ารายได้ของกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกอาจลดลง ในขณะเดียวกันรายได้ของธุรกิจภายในประเทศที่มีไว้เพื่อผลินสินค้าหรือบริการภายในประเทศนั้นๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิด Business Partnership ความร่วมมือระหว่างธุรกิจใหม่ๆ เป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ในยุคนี้ ก็คือเรื่องของ Human Capital หรือทรัพยากรบุคคล

เป็นที่รู้กันว่าการแข่งขันในโลกการทำงานทุกวันนี้นั้นสูงมาก คนเก่งๆ ถูกแย่งกันซื้อตัวไปพัลวัน ส่วนคนที่ไม่พร้อมจะปรับตัวเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นั้นก็มีแนวโน้มจะถูกเขี่ยทิ้งจากงานเร็วขึ้น

นั่นบอกให้รู้ว่าความรู้วันนี้หมดอายุไว หมั่นเติมทักษะใหม่ๆ เข้าไว้ และก็หมั่นทำงานกับคนให้เก่ง เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว AI อย่าง GPT หรืออื่นๆ อาจเข้ามาทำงานแทนคุณได้สบายๆ

ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงคือเรื่องของความยั่งยืน สังคม และธรรมาภิบาล นั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคและพนักงานให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างมาก หากบริษัทไหนทำเรื่องนี้ได้ไม่ดี นอกจากจะถูกแบนจากผู้บริโภคเองแล้วยังถูกคนทำงานเก่งๆ ปฏิเสธที่จะร่วมงานด้วย

อย่าลืมว่าคนเก่งวันนี้นั้นเลือกได้และใครๆ ก็อยากให้พวกเขาเลือกมาทำงานด้วย ถ้าบริษัทคุณดูไม่ดีในสายตาของพวกเขา แล้วคนเก่งที่ไหนหละอยากจะมาทำงานกับคุณ จริงไหมครับ ?

ดังนั้นอะไรที่แบรนด์หรือธุรกิจพูดไป ต้องทำให้ได้ตามนั้น ถ้าทำไม่ได้อย่าสักแต่ว่า PR ออกไปเพื่อสร้างภาพ เพราะชาวเน็ตหรือชาวโซเชียลวันนี้นั้นขุดคุ้ยเก่งมาก อาจส่งผลให้งบการตลาดในการสร้างแบรนด์ที่ทุ่มเททำมาละลายหายไปในพริบตาเพราะข่าวเสียหายไม่กี่ครั้ง

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า ถ้าธุรกิจคุณ แบรนด์คุณไม่พร้อมปรับ บอกเลยว่าผู้บริโภคยุคใหม่ Digital Consumer เขาไม่แคร์ เพราะวันนี้พวกเขามีตัวเลือกแทบไม่อั้น พวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนคุณไปหาแบรนด์ใหม่ได้แค่กดมือถือไม่กี่ครั้งครับ

ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครู้แล้วว่าโลกเปลี่ยน และรู้ตัวว่าองค์กรตัวเองอาจเปลี่ยนไม่ทัน เพราะจากการสำรวจผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค หรือ CPG (Consumer Package Goods) บอกให้รู้ว่า

  • 75% รู้แล้วว่าผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว และธุรกิจต่างก็พยายามปรับตัวตามให้ทันพฤติกรรมกับความต้องการใหม่ๆ
  • 75% เห็นแล้วว่าแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะขยับไปบนช่องทางออนไลน์หรือดิจิทัลนั้นสูงขึ้นมาก และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของจำนวนลูกค้า ไปจนถึงยอดขายจากช่องทางออนไลน์
  • 58% ยอมรับว่าบริษัทตัวเองยังคงไม่มี Digital Strategy ที่ดีพอในเวลานี้
  • 67% บอกว่าองค์กรตัวเองขาดความสามารถเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยี ไม่สามารถเปลี่ยน Business Model ให้เป็น Digital Business Model ได้

ฟังดูเป็นเรื่องหนักนะครับที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่บอกว่าปัญหานี้ใหญ่และยากมาก แต่ก็ยังดีที่พวกเขารับรู้ว่าตัวเองมีปัญหา เพราะถ้าไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา ก็จะไม่มีวันรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ

ถ้าอย่างนั้นเรามาดู 6 Digital Business & Marketing Strategy 2023 กลยุทธ์ธุรกิจและแผนการตลาดที่จะทำให้รอดและเติบโตต่อไปได้

6 Digital Business & Marketing Strategy 2023 สำหรับธุรกิจที่ไม่อยากถูก Disrupt

1. จับมือไว้แล้วโตด้วยกัน วางกลยุทธ์ธุรกิจให้โตไปพร้อมกับ New Digital Consumer อาเซียน

อย่างที่เรารู้กันว่าเราอยู่ในยุคที่ต้องรัดเข็มขัดแบบสุดขีด อะไรลดได้ลด อะไรงดได้งด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่างของธุรกิจไปเสียหมดนะครับ

เพราะเรายังต้องรักษางบในส่วนของการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อนาคตไว้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นบริษัทที่หมดอนาคตไป และเราต้องคิดมองการณ์ไกลไปถึงการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนให้ได้

เพราะนี่คือโอกาสที่ดีและปลอดภัยควบคู่กัน เพราะจากแนวโน้มของเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเติบโตได้ดีจากปัจจัยพื้นฐานที่กล่าวมาทั้งหมดในบทก่อนหน้า

ในปี 2030 ประชากรอาเซียนเราจะมากถึง 700 ล้านคน ตัวเลข GDP รวมทั้งอาเซียนน่าจะสูงถึง 4,500,000,000,000 หรือ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาเซียนนั้นน่าจะโตเฉลี่ยปีละ 4.6% ถึงปี 2030

แถมจำนวนประชากรในอาเซียนเองก็จะมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนกับอินเดีย จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของเอเซียเมื่อถึงเวลานั้น

ถ้าพูดถึงในแง่ของขนาดของเศรษฐกิจ อาเซียนเราจะใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2030 เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และ เยอรมนี ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เหล่านักลงทุนมั่นใจกล้าที่จะโยนเงินเข้ามาเพิ่มในภูมิภาคอาเซียนเรา

จากที่เราได้เห็นนักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในปี 2021 เป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงกว่าอินเดียและจีนด้วยซ้ำ (แต่ไม่ได้หมายถึงปริมาณเงินลงทุนนะครับ หมายถึงแค่สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุน)

ในแง่ของโอกาสที่จะได้จากการอุปโภคบริโภคของประชากรชาวอาเซียนในปี 2030 ก็มาจากตัวเลข GDP กว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง บวกกับการคาดการณ์ว่าคนที่ย้ายเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในอาเซียนรวมจะเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 5.5 ล้านคนไปจนถึงปี 2030 ซึ่งน่าจะส่งผลให้เกิดผู้บริโภคใหม่ๆ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจมหาศาล

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่าภูมิภาคอาเซียนเรานั้นมีโอกาสมากมายรออยู่ ด้วยช่วงว่างอีกมากที่ยังรอการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการก็ตาม ดังนั้นนี่คือโอกาสที่นักการตลาด ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจอย่างเราต้องรีบมองหาลู่ทางจะขยายตลาดออกไปยังอาเซียนให้ได้มากที่สุดครับ

รีบมองหากลยุทธ์ธุรกิจยึดอาเซียนได้แล้ว แล้วก็มองหา Supply chain หรือ Partner ที่จะช่วยกันสร้างกลุ่มธุรกิจไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในวันนี้

2. กลยุทธ์สู้เงินเฟ้อ

วิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกประเทศแม้แต่ไทยเราและเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ที่หมายถึงของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปมองหาสินค้าราคาถูกลง คุ้มค่ามากขึ้น ไปจนถึงยอมลดไปใช้ของที่คุณภาพต่ำกว่าเดิมเพื่อลดค่าครองชีพครับ

เราได้เห็นมาม่าขึ้นราคาเป็นครั้งแรก เราได้เห็นนมถั่วเหลืองแลคตาซอยฝืนใจปรับราคาเป็น 6 บาท จนทำให้เพลงแลคตาซอย 5 บาทที่ติดหูคนไทยมานาน กลายเป็นแค่ตำนานทางการตลาดเท่านั้น

ทั้งหมดนี้บอกให้นักการตลาด ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจต้องมองหากลยุทธ์การตั้งราคา หรือ Price Strategy ที่จะช่วยบริหารจัดการต้นทุนให้ดีขึ้น เพื่อรักษากำไรไว้ให้ได้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย และรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ฉบับนี้ก็มี 3 กลยุทธ์การตั้งราคาและการจัดการต้นทุนมาให้คุณได้ดูและนำไปปรับใช้

2.1 หากลยุทธ์เพิ่มรายได้

จัดการปัญหาเรื่องเงินเฟ้อด้วยการออกแบบราคาใหม่ ไปจนถึงการใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นเพื่อเพิ่มรายได้ในระยะยาว

  • ลดต้นทุนลง โดยเฉพาะต้นทุนที่ผันแปรตรงต่อยอดขายรวม เช่น ต้นทุนการผลิต หรือต้นทุนค่าขนส่ง
  • เพิ่มราคาสินค้าให้สูงกว่าต้นทุนที่สูงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ ต้องใช้ความใจกล้า มั่นใจว่าแบรนด์เราแข็งพอจะขึ้นราคาได้
  • หา Partner มาช่วยทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อเพิ่ม CLV Customer Lifetime Value ในระยะยาว และเราไม่ต้องเสียอะไรเลย

2.2 คิดใหม่ทำใหม่

สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ออกแบบสินค้าใหม่ให้คุ้มค่ากว่าเดิม

  • สร้างสินค้าแบรนด์ใหม่ที่ขายได้ในราคาถูกลง ก็ในเมื่อลูกค้ากลุ่มหนึ่งยังไงก็ต้องเลือกซื้อของใหม่ที่ถูกลง แล้วทำไมเราไม่ทำแบรนด์ใหม่ที่ถูกลงเพื่อกลับไปจับกลุ่มลูกค้าเดิมหละ จากสบู่ราคาเดิม อาจออกสบู่ใหม่ที่ลดขนาดลงแต่ขายได้ถูกขึ้น และก็สร้างแบรนด์ใหม่ที่เน้นความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายแทน ลองดูพวก House Brand ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ดูครับ ก็ใช้ได้เหมือนๆ กัน แค่หน้าตาและบางอย่างอาจไม่เหมือนเดิม
  • ลดการผลิตสินค้าที่ขายไม่ดีออกไป ถึงเวลารื้อ Sku ที่ขายไม่ได้ออก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรนั่นเอง
  • ออกแบบแพคเกจสินค้าใหม่ อะไรที่ลดได้ก็ลด อย่าง MacBook หรือ iPhone ก็ยังลดขนาดของกล่องและสิ่งที่แถมในกล่องลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็นกับสินค้าหลัก แต่ก็ระวังอย่าให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าเราดูถูกลงไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปนะครับ

2.3 ประเมินห่วงโซ่การผลิตและธุรกิจใหม่

กลับมาทบทวนห่วงโซ่การผลิตใหม่ เพื่อหาจุดอ่อนที่สามารถลดได้ หรือรีดประสิทธิภาพออกมาให้ได้เต็มที่มากที่สุด

  • กลยุทธ์คุมความเสี่ยงในระยะยาว สำหรับสินค้าต้นทุนและราคาขายสูง ป้องกันความเสี่ยงเรื่องราคาผันผวนในอนาคต ด้วยการทำสัญญาซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าในราคาที่ประเมินว่าคุ้มค่าที่สุดในปัจจุบัน จากนั้นดูเรื่องสินค้าคงคลัง และคลังสินค้า ให้แน่ใจว่าจะมีสินค้ามากพอที่จะขายในราคาเดิมได้นานพอ สุดท้ายคือการเซ็นสัญญาระยะยาวกับพาร์ทเนอร์ เพื่อให้เรามีอำนาจในการเลือกราคาที่ต้องการได้มากขึ้น
  • ตรวจสอบห่วงโซ่การผลิตใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนได้ทันทีเมื่อเกิดอะไรไม่คาดคิดอยู่เสมอ เตรียมหาเอาท์ซอร์ส์ หรือซัพพลายเออร์สำรองไว้ล่วงหน้า เกิดเจ้านี้มีปัญหา เราจะได้ไม่เครียดจนเกินไป
  • ประเมินราคาขายใหม่อีกครั้ง ไปจนถึงต้นทุนการผลิตทั้งหมด ค้นหาจุดที่สามารถปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนลงได้ และวางแผนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนที่ผันผวนในระยะยาว

สรุปสู้เงินเฟ้อด้วยกลยุทธ์การเงินและการจัดการ

ตั้งแต่วางแผนหาเงินในระยะสั้น ควบคู่กับกลยุทธ์การสร้างรายได้ในระยะยาว ออกแบบสินค้าและบริการใหม่ เตรียมออกสินค้าราคาถูกเพื่อจับตลาดใหม่ หรือลูกค้ากลุ่มเดิมที่ขยับหนี บวกกับปรับปรุงรายการสินค้าที่มี

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด สุดท้ายคือการสำรวจห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply chain ทั้งหมด ควบคุมความเสี่ยงที่ทำได้ และหาตัวเลือกใหม่ๆ ในอนาคตครับ

3. สร้าง Global Quality ด้วย Local Supply Chain ให้ได้

ในปีก่อนทั้ง 2021 และ 2022 เราเห็นปัญหาซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่การผลิตขาดตอน จนกระทบต่อธุรกิจไปทั่วโลก เริ่มตั้งแต่คลองซุเอสเจอเรือขนส่งขนาดยักษ์ขวางจนสินค้าทั่วโลกขาดตลาดกันขนานใหญ่ ไปจนถึงสงครามยูเครน รัสเซีย ที่ส่งผลต่อการผลิตและวิกฤตเงินเฟ้อ

แล้วไหนจะปัญหา Geopolitics หรือการเมืองระหว่างประเทศ ทำเอาชิปประมวลผลขาดตลาด กระทบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ขนาดรถ Tesla เองก็ยังผลิตไม่ได้ตามกำหนดเลยครับ

ทั้งหมดนี้ทำให้นักการตลาด ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจต้องมาปรับห่วงโซ่การผลิตสินค้าของตัวเองใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ในอนาคต หลายแบรนด์ดังๆ เริ่มกลับมาสร้างฐานการผลิตภายในประเทศของตัวเอง แต่การกลับไปผลิตภายในประเทศกลับไม่ได้สร้างงานจำนวนมากเหมือนยุคอุตสาหกรรมเดิมแต่อย่างไร

เพราะวันนี้เราล้วนใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ และ AI แทนคนทำงานเป็นส่วนใหญ่แล้ว ฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าจะปรับแก้ไขเรื่องห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply chain เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง

6 ขั้นตอนการลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่การผลิตภาคธุรกิจ

3.1 กระจายฐานการผลิตหรือวัตถุดิบให้หลากหลาย

จากเดิมที่อาจใช้แค่ซัพพลายเออร์เจ้าเดียวเป็นหลัก ก็ถึงเวลาที่ต้องกระจายความเสี่ยงออกไปยังสองหรือสามราย ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถเพิ่มวัตถุดิบหรือความสามารถในการผลิตได้ตามต้องการหากจำเป็น

หรือถ้าเกิดปัญหาที่รายใดรายหนึ่ง ก็ยังสามารถให้รายอื่นหรืออีกสองรายมาชดเชยความสามารถในการผลิต หรือป้อนวัตถุดิบที่ลดลงไปแทนได้อย่างไม่กระทบมากนัก หรือแทบไม่สร้างผลกระทบเลย

และก็อย่าลืมหาซัพพลายเออร์สำรองไว้ด้วยในกรณีฉุกเฉินต้องงัดแผน C มาใช้ก็ดีครับ

3.2 สร้างสายพานการผลิตที่สามารถเห็นได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

ถึงเวลาสร้างสายพานการผลิตหรือซัพพลายเชนของตัวเอง และต้องทำในแบบที่เราสามารถเห็นหรือรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ตั้งแต่มีสินค้าผลิตขึ้นเท่าไหร่ ใช้วัตถุดิบใดไปมากขนาดไหน ถูกส่งออกไปขายยังที่ใดมากเท่าไหร่ และถ้าสามารถเก็บข้อมูลอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมด้วยได้จะดีมาก

สรุปคือทำทุกอย่างให้อยู่ในสายตานั่นเองครับ

3.3 ใช้ Logistics ที่ดีเป็นตัวขับเคลื่อน

ถ้าเรามี Logistics ที่ดีโดยเฉพาะของตัวเองที่ดี การจะควบคุมจัดการอะไรก็ง่าย เพราะเราจะสามารถออกแบบระบบขนส่งเพื่อปรับลดต้นทุนให้ดีที่สุดได้ และเรายังสามารถกระจายสินค้าของตัวเองไปยังจุดต่างๆ ที่ต้องการหรือวิ่งไปรับวัตถุดิบสินค้าที่ต้องการได้โดยไวกว่าการพึ่งพาคนอื่นครับ

3.4 กระจายโรงงานการผลิตออกไป

อาจจะสร้างโรงงานการผลิตสินค้าของตัวเองขึ้นมาเลย และก็หาพาร์ทเนอร์ข้างนอกมาช่วยด้วยอีกแรง ไม่ว่าจะในเรื่องของการผลิต หรือในการหาวัตถุดิบมาป้อน

มีโรงงานเราผลิตของเราเป็นหลัก มีโรงงานนอกมาช่วยผลิตเสริมยามจำเป็น

3.5 สร้างระบบ Monitoring ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใน Supply chain

ใช้เทคโนโลยีอย่าง IoT และ AI เข้ามาช่วยในการติดตามตรวจสอบทุกอย่าง เอา Data ที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุง Supply chain ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ไปจนถึงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วหน้า หรือแม้แต่ลดขนาดของปัญหาด้วยการแก้ไขแต่เนิ่นๆ

ที่สำคัญอย่าลืมใช้บนระบบ Cloud based เพื่อให้ง่ายต่อการที่ทุกคนจะเข้าไปตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ครับ

3.6 ทำให้ Supply chain สายพานการผลิตเราดีต่อโลก หรือได้มาตรฐาน ESG ด้วย

เทรนด์การรักษ์โลก ห่วงใยสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บอกได้เลยเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากและจะไม่ใช่กระแสชั่วครั้งคราวเหมือนเดิมอีกต่อไป

ไหนๆ เราก็จะปรับรื้อระบบห่วงโซ่การผลิตใหม่แล้ว ก็ทำให้มันดีขึ้นด้วยเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะยาว อย่าปล่อยให้ข่าวฉาวไม่กี่อย่างทำให้งบการตลาดที่ใช้สร้างแบรนด์ไปสูญเปล่าหมดทั้งที่ป้องกันได้ครับ

ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำเบื้องต้น ที่เหลือคือคุณต้องเลือกคำแนะนำที่เหมาะสมแล้วเอาไปประยุกต์ใช้เอา ไม่มีสูตรสำเร็วตายตัวที่สามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจแต่อย่างไร ขอให้คุณจัดการความเสี่ยงในการผลิตได้ ด้วยการควบคุมการผลิตไว้ใกล้ตัว ไว้ในมือ และไว้ในที่ๆ ปลอดภัยวางใจได้ครับ

ผ่านมาแล้วครึ่งทางกับ 6 Digital Business & Marketing Strategy 2023 สำหรับธุรกิจที่ไม่อยากถูก Disrupt กลยุทธ์ธุรกิจและแผนการตลาดรับมือวิกฤตโลกรอบด้าน จากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ในบทความตอนหน้าจะเป็นบทสุดท้ายที่สรุปรายงานฉบับนี้ กับ 3 กลยุทธ์ที่เหลือเพื่อให้นักการตลาด ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจรู้ว่าเราจะต้องปรับตัวอย่างไรในโลกที่อยู่ยากขึ้นทุกวันครับ

อ่านบทความตอนแรกของรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ไทยและอาเซียน

https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/facebook-digital-consumer-insight-economy-and-ecommerce-thailand-and-asean-2023/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *