Technology Insight 2023 เทรนด์การปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ของคนไทยและอาเซียน

Technology Insight 2023 เทรนด์การปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ของคนไทยและอาเซียน

บทความตอนนี้ผมจะพาไปเจาะ Technlogy Insight 2023 เทรนด์การปรับตัวเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของคนไทยและอาเซียนกัน ลองมาดูกันว่ากลุ่มเทคโนโลยี Metaverse, Blockchain, Cryptocurrency หรือ NFT ในไทยและอาเซียนจะเป็นอย่างไร ไปจนถึงเทคโนโลยี FinTech เรากำลังจะก้าวไปทางไหน มาหาคำตอบกันครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าคนไทยและอาเซียนเรานั้นสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง Metaverse หรือ Web3 ได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศบนโลกใบนี้

จากข้อมูลของ We Are Social ที่บอกให้รู้ว่าคนไทยกว่า 1 ใน 5 ถือครองคริปโท และไหนจะการเติบโตของอุปกรณ์ VR ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Device ที่ใช้ในการเข้าถึง Metaverse แบบเต็มรูปแบบ อีกส่วนหนึ่งก็คือโลกของเกมออนไลน์ที่คนไทยและอาเซียนใช้เวลาในชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ว่าไม่น้อยในแต่ละวัน

ถึงแม้ว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 10-15 ปี กว่าเราจะสามารถเข้าสู่ยุค Metaverse ได้จริงๆ (แต่ส่วนตัวผมคิดว่า 5-7 ปี เพราะเทคโนโลยีพื้นฐานจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้นี้) แม้วันนี้เราจะยังอยู่ในยุคของการเชื่อมต่อผ่านโซเชียลมีเดียแบบ 2D เป็นหลัก เราเห็นเพื่อนผ่านรูป คลิป ข้อความ ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบนๆ ซึ่งอีกหน่อยเราน่าจะเข้าถึงอุปกรณ์อย่างแว่น VR หรืออาจจะผ่านแค่แว่นตา AR ที่แค่สวมใส่เราก็สามารถเห็นโลกอีกใบที่ซ้อนทับบนโลกจริงได้ครับ

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่การคาดการณ์ส่วนตัวของผม ลองมาดูการคาดการณ์จากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 กันดีกว่า ว่าเทคโนโลยี Metaverse จะไปได้ขนาดไหนในแต่ละช่วงของอนาคตอันใกล้ และอนาคตอันไกลครับ

Metaverse ในปัจจุบัน = Social media

โลกเสมือนจริงหรือ Metaverse ในยุคปัจจุบันก็คือการใช้งานโซเชียลมีเดียตามปกติของเราทุกคนบนโลกนั่นเอง เราใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการค้าขาย เราใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เราใช้ในการสร้างคอมมูนิตี้ สร้างผลงานบนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างตัวตนของ Creator ขึ้นมาอีกครั้ง

เราเริ่มมีการนำ NFT มาใช้ ขาย หรือเปิดให้ลงทุน (แล้วที่ Rugpull ไปก็ไม่น้อย) เรามีการซื้อข้าวของที่เป็นดิจิทัลจริงๆ กันด้วยเม็ดเงินไม่น้อย เช่น ไอเท็มในเกม

เราเริ่มมีการเอาเทคโนโลยี WebXR มาใช้ (คล้ายๆ AR แต่ทำผ่านเว็บได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอป) และเราก็มีการใช้งาน AR Augmented Reality กันบ่อยขึ้นในหลากหลายแง่มุมในชีวิต

Metaverse ในอนาคตอันใกล้ 2-3 ปีข้างหน้า = Virtual Experience

รายงานฉบับนี้ก็บอกว่าในอนาคตอันใกล้ Metaverse จะพัฒนาไปอีกขั้นด้วย Hardware หรือ Device อุปกรณ์ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในราคาถูกลง ทำให้คนอีกจำนวนมากสามารถเข้าถึง Digital Experience ได้อีกระดับ

เราสามารถสร้างผลงานใหม่ๆ ในรูปแบบ Digital ผ่าน Partnership ต่างๆ ได้ เราจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์ Virtual Experience ด้วยอุปกรณ์ VR เราสามารถสร้างตัวตนของตัวเองที่เป็น Digital Avatar แล้วเอาตัวตนใหม่ของเรานี้ไปปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ใน Community เดียวกันได้ครับ

จากเดิมที่มาปรับแต่งรูปโปรไฟล์ สร้าง Avatar ตัวเองเป็นได้แค่ Emoji ก็จะนำมาสู่การเอา Avatar นั้นมาแทนตัวเองจริงๆ ที่สามารถแสดงท่าทางได้แบบ Real-time บน Digital Space ดังนั้นเตรียมเห็นแว่น VR เกลื่อนเมืองกันได้เลย หรือเตรียมเห็นการใช้ Digital Avatar เจ๋งๆ ที่อวดกันแทนภาพคาเฟ่ร้านกาแฟได้เลยครับ

Metaverse ในอนาคตแบบที่ควรจะเป็น (อีก 10-15 ปี)

เราจะพัฒนาไปสู่จุดที่เราได้แบ่งเวลาในชีวิตจริงเข้าไปใช้ใน Metaverse เราจะเข้าไปร่วมอีเว้นท์บนออนไลน์กันจริงจัง คิดถึงภาพเกมออนไลน์ที่มีการจัดอีเว้นท์ให้คนมารวมตัวกันก็ได้ครับ

เพียงแต่การเข้าไปร่วมอีเว้นจะไม่ใช่แค่เห็นผ่านหน้าจอ กับบังคับผ่านเม้าส์และคีย์บอร์ดเท่านั้น เพราะอุปกรณ์การเชื่อมต่อเราเข้าถึง Virual Space เราจะเปลี่ยนไป ดีไม่ดีเราอาจฝังอุปกรณ์เชื่อมต่อลงสมอง เพื่อให้เราอยู่ในโลก Metaverse จริงๆ เลยในแบบซีรีส์ Black Mirror บางตอนก็ได้ครับ

จากนั้นเราจะมีธุรกิจด้วยเทคโนโลยี VR หรือที่สร้างขึ้นมาบนโลก VR จริงๆ เราจะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลก VR ใบนี้ ซึ่งต้องติดตามดูกันอีกครั้ง หรืออาจจะดูภาพตัวอย่างจากภาพยนต์ Ready Player One กับ Free Guy ก็ได้ครับ

Insight Technology & Startup Thai & ASEAN 2023

ในภาพรวมแม้ว่าเทคโนโลยี Metaverse จะฟังดูว้าว แต่เราก็เพิ่งจะรู้จักคำนี้กันได้แค่เมื่อปีก่อนเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนว่าชาวเอเซียนเราจะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Metaverse และ Web3 ไปจนถึง NFT ได้เป็นอย่างดี ส่วนเทคโนโลยีที่คุ้นเคยอย่าง FinTech ชาวอาเซียนเราก็ใช้งานกันอย่างเชี่วชาญ

ซึ่งนั่นก็เป็นการปูทางไปสู่ Metaverse ในอนาคต เมื่อหลายๆ สิ่งถูก Digital Transformation ให้อยู่ในรูปแบบของ Digital & Data ซึ่งเทคโนโลยีอย่าง HealthTech และ EdTech ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก Metaverse ในอนาคตครับ

ถ้าดูจากภาพจากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ทำให้เห็นภาพว่าตอนนี้ชาวอาเซียนเรา Adopt ใช้เทคโนโลยีแต่ละด้านมากขนาดไหนเมื่อเทียบกับชาติชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปครับ

  • E Wallets Insight 2023 ดูเหมือนว่าชาวอาเซียนซึ่งรวมถึงไทยเราจะมีกระเป๋าเงินดิจิทัลกันอยู่ดันอับต้นๆ ของโลก จะเป็นรองก็แค่อินเดียนิดหน่อยเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าในเรื่องนี้เราจะแซงจีนขึ้นไปได้ครับ
  • Internet Banking Insight 2023 ดูเหมือนว่าการใช้บริการธนาคารออนไลน์ หรือ อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งของชาวอาเซียนเราจะเสียงแตก เพราะมาเลเซียกับสิงค์โปรทำคะแนนได้ดี นำโด่งแซงหน้าทุกชาติใหญ่บนโลกในเวลานี้ ส่วนที่เหลือของเอเซียซึ่งก็รวมถึงไทยเรานั้นกลับรั้งท้ายอย่างน่าใจหาย
  • Cryptocurrency Insight 2023 ส่วนการเปิดรับเทคโนโลยีคริปโท หรือสกุลเงินดิจิทัลของชาวอาเซียนเราแซงหน้าทุกชาติใหญ่ เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ซึ่งเรื่องนี้บอกเลยว่าชาวไทยทำได้น่าภูมิใจมากครับ
  • NFT Insight 2023 ไม่น่าเชื่อว่าชาวอาเซียนและคนไทยจะเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีนี้ได้ดีกว่าแม้กระทั่งอเมริกาอย่างค่อนข้างห่าง ถ้าดูจากรูปวงกลมในภาพครับ

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่าชาวอาเซียนและคนไทยเราไม่ธรรมดาในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่เกรงกลัวเลยจริงๆ อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจของรายงานนี้คือ Neobank หรือในนิยามของ Virtual Bank ในบ้านเรา คือธนาคารที่ไม่ต้องมีสาขาแต่อย่างไร เป็นธนาคารที่รับฝากแค่ตัวเลขของเงิน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะทุกวันนี้เราส่วนใหญ่ใช้เงินที่เป็นตัวเลขมากกว่ากระดาษหรือเหรียญไปแล้ว

นั่นบอกให้รู้ว่ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหลาย ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกยุค Purely Digitalization ว่าเราจะปรับ Business model ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่อะไรๆ ก็กลายเป็น Data หรือ Digital ได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ใหญ่ของ CEO ในวันนี้

เรามาดูข้อมูลการเจาะลึก Insight FinTech, Metaverse, HealthTech และ EdTech กันดีกว่าครับว่ามีแง่มุมไหนบ้างที่คนไทยและอาเซียนใช้อยู่ และมีอะไรบ้างที่พวกเขาคาดว่าจะใช้มากขึ้นในปีนี้

54% ของชาวอาเซียนใช้ FinTech เป็นประจำ

เมื่อดูในรายละเอียดของการใช้เทคโนโลยี FinTech ของชาวไทยและอาเซียนจะเป็นแบบนี้ครับ

  • 45% E-Wallet แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 52%
  • 45% Internet banking แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 49%
  • 14%​ โอนเงินออนไลน์ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 55%
  • 14% Buy Now Pay Later ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 33%
  • 12% Neobank หรือ Virtual bank ในบ้านเรา แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 48%
  • 12% Online trading แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 47%
  • 7% Microlending ยืมเงินทางออนไลน์ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 49%
  • 5% Roboadvisory ใช้เอไอช่วยเทรดหุ้น แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 44%

ในภาพรวมของ FinTech ดูเหมือนทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้เองครับ

69% ของชาวอาเซียนใช้ Metaverse แล้ว

เมื่อดูในรายละเอียดของการใช้เทคโนโลยี Metaverse ของชาวไทยและอาเซียนจะเป็นแบบนี้ครับ

  • 44% Cryptocurrency คริปโทหรือสกุลเงินดิจิทัล แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 38%
  • 31% AR Augmented Reality 31% แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 44%
  • 29% Virtual worlds โลกเสมือนจริง แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 46%
  • 23% NFT ยังไม่มีข้อมูลการจะใช้งานเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอนาคต
  • 22% VR Virtual Reality แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 41%

น่าสนใจตรงเทรนด์แนวโน้มการใช้คริปโทในอนาคตของอาเซียนจะลดลง แต่เอาจริงก็ไม่แปลกนะครับ สภาพตลาดขนาดนี้ ยังมีคนใช้อยู่ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่เทคโนโลยีพื้นฐานที่ให้ Digital Experience มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน ทั้ง AR VR และ VW ยังเป็นสัญญาณที่ดีของอนาคตเทคโนโลยี Metaverse ในอาเซียนครับ

ทีนี้เรามาดูของฝั่ง HealthTech และ EdTech กันบ้างครับ

36% ของชาวอาเซียนใช้ HealthTech แล้ว

แม้จะดูเป็นตัวเลขในภาพรวมของชาวอาเซียนที่เข้าถึงบริการ HealthTech สักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหมวดหมู่ FinTech และ Metaverse แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็หมายความว่าเรายังมีโอกาสในธุรกิจนี้อีกมาก ลองมาดูในรายละเอียดกันดีกว่าครับว่าวันนี้ชาวอาเซียนใช้ HealthTech อย่างไร

  • 20% Telemedicine หาหมอออนไลน์จากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 31%
  • 18% แอปร้านยา หรือซื้อยาผ่านแอป แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 45%
  • 14% Telemedicine หาหมอออนไลน์กับโรงพยาบาล แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 39%
  • 13% Wearable อุปกรณ์ติดตามสุขภาพ เช่น Apple Watch เป็นต้น แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 47% (สอดคล้องกับข้อมูล We Are Social ที่อุปกรณ์กลุ่มนี้ขายดีเพิ่มขึ้นมากจากปีก่อน)
  • 11% แอปเพื่อสุขภาพ Health and wellness แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 51%
  • 8% แอปติดตามอาการ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 59% (โตหลายเท่าสุดๆ)

ดูเหมือนอนาคตของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน HealthTech กำลังจะไปด้วยสวยในอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วยครับ

36% ของชาวอาเซียนใช้ EdTech แล้ว

ในด้านธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาเองที่ดูมีสัดส่วนน้อยเท่ากับ HealthTech แต่ก็นั่นแหละครับมันหมายถึงโอกาสว่างที่ยังรอคนเข้ามาเติมเต็มอยู่ ผิดกับตลาด FinTech ที่อาจจะเต็มไปด้วยคู่แข่งมากมายแล้ว

  • 22% Course management tools เครื่องมือการจัดการคอร์สเรียนต่างๆ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 27% (แทบไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่)
  • 20% Skill-learning apps แอปเพื่อการเรียนรู้ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 49%
  • 20% เครื่องมือการเรียน แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 44%
  • 16% คอร์สเรียนออนไลน์ แต่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 50%

เจาะลึกแรงจูงใจ และ อุปสรรค ของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวันคนไทยและชาวอาเซียน

จากข้อมูลจำนวนผู้ใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนหน้า เมื่อสำรวจเจาะลึกลงไปก็จะทราบเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงใช้ และเพราะอะไรพวกเขาถึงยังไม่ใช้มันในตอนนี้ ลองมาดูกันครับ

ในกลุ่ม FinTech หลักๆ ที่คนเลือกใช้งานเพราะมันมีฟีเจอร์ฟังก์ชั่นที่ดี ใช้งานได้จริง จะมีก็แค่ Roboadvisor ที่มีเหตุผลการใช้ที่ต่างไป กลายเป็นการสามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลาเป็นหลัก เพราะถ้าเป็นคนที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน เราต้องรอช่วงเวลาเปิดทำการถึงจะเทรดได้ แต่กับ AI นั้นไม่ อยากจะทำการซื้อขายเมื่อไหร่ก็กดจัดการด้วยตัวเองผ่านแอปในมือถือได้เลย

แต่อุปสรรคหลักๆ ของคนที่ยังไม่เลือกใช้งานเทคโนโลยี FinTech ในวันนี้คือยังไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้ จะมีเหตุผลเดียวที่ต่างสำหรับคนที่ไม่ใช้ E-wallet คือรู้สึกว่าช่องทางออฟไลน์ยังคงสะดวกและประหยัดเวลากว่าครับ

ส่วนในกลุ่มของเทคโนโลยี Metaverse คือผู้คนเลือกใช้เพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ตามมาด้วยการใช้งานง่ายที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ส่วนอุปสรรคก็จะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ยังกังวลในเงินคริปโท หรือสกุลเงินดิจิทัล อีกเหตุผลนึงคือบอกว่ายังไม่ตอบโจทย์ชีวิตในวันนี้

ในกลุ่มเทคโนโลยี HealthTech พบว่าสองปัจจัยหลักที่ทำให้คนเลือกใช้ก็คือง่ายต่อการใช้งาน และมีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นจริงๆ ส่วนเหตุผลของการไม่ใช้ก็ยังคงเป็นเรื่องของไปออฟไลน์สะดวกกว่า ไม่ก็บอกว่ายังไม่ตอบโจทย์ชีวิตในวันนี้ แล้วสุดท้ายคือเรื่องของความปลอดภัย กลัวว่าให้ข้อมูลไปแล้วจะเกิดอันตราต่อสุขภาพชีวิต

และในกลุ่มเทคโนโลยี EdTech สุดท้ายสาเหตุเดียวกันที่ทำให้ผู้คนใช้งานก็คือเรื่องของฟีเจอร์ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง ใช้งานได้จริง ส่วนคนที่ไม่ใช้ก็ยังเป็นเหตุผลคลาสสิค คือบอกว่าไม่ตอบโจทย์ชีวิตในตอนนี้ครับ

ดังนั้นถ้าใครอยู่ใน 4 กลุ่มเทคโนโลยีดังกล่าว ลองหาทางพิชิตอุปสรรคนั้นให้ได้ เพราะถ้าคุณทำได้นั่นหมายความว่าคุณคือคนแรกที่เจาะตลาดผู้ใช้งานกลุ่มนั้นได้เป็นคนแรกครับ

เจาะลึก Insight การ Adopt Technology ใหม่ของไทยและอาเซียน 2023

ตอนนี้เราดูภาพรวมๆ ของการปรับตัวเริ่มใช้งาน 4 เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปหมดแล้ว เราลองมาดูเจาะลึกในรายละเอียดบางหัวข้อกันดีกว่าครับ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Metaverse หรือ Blockchain ว่าแต่ละประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยเรานั้นชาติไหนนำหน้าในเทคโนโลยีใดบ้าง

ในภาพรวมภูมิภาคอาเซียนเราดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีอย่าง Cryptocurrency และ Virtual ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศนะครับ เพราะมีบางประเทศทำได้ดีแบบก้าวกระโดด ถ้าดูตามกราฟ อย่างฟิลิปปินส์เองก็นำหน้าในเรื่องของ Virtual worlds โลกเสมือนจริงที่สุดในอาเซียน ด้วยสัดส่วน 37% ส่วนประเทศที่รั้งท้ายในเรื่องนี้ก็คือสิงค์โปร

ในเทคโนโลยีด้าน AR Augmented Reality นั้นก็ดูเหมือนไทยเราจะนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 38% รั้งท้ายสุดก็ยังคงเป็นสิงค์โปร อยู่ที่ 16% เท่านั้น

ในเทคโนโลยีด้าน VR Virtual Reality สัดส่วนการใช้งานไม่หนีกันมาก จะมีก็ประเทศเวียดนามที่ประยุกต์ใช้กันมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ 29% ส่วนรั้งท้ายในเรื่องนี้กลับเป็นฟิลิปปินส์ ที่มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 16% เท่านั้น

ถัดมาในหัวข้อเทคโนโลยี Cryptocurrency จะเห็นว่าแทบทุกชาติในอาเซียนมาการเข้าถึงและใช้งานเยอะมาก อันดับหนึ่งคือฟิลิปปินส์ 55% ตามมาด้วยไทยเรา 48% ส่วนรั้งท้ายอย่างไม่น่าเชื่อกลับเป็นมาเลเซีย และสิงค์โปร อยู่ที่ 26% กับ 27% ตามลำดับ

สุดท้ายที่จะพูดถึงคือเทคโนโลยี NFT ดูทรงกราฟแล้วคล้ายกับคริปโท แต่สัดส่วนโดยรวมน้อยกว่า ประเทศที่นำโด่งเรื่องการใช้ NFT คือฟิลิปปินส์ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ส่วนสิงค์โปรและมาเลเซียยังคงรั้งท้าย ด้วยสัดส่วน 12% และ 13% ตามลำดับ

บริษัทใครอยู่ในเทคโนโลยีด้านไหนของ Metaverse หรือ Blockchain ลองศึกษาข้อมูลนี้ดูก่อนจะเข้าไปเจาะตลาดในปีนี้ครับ

สรุป Technology Insight 2023 การ Adopt ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของชาวไทยและอาเซียน

ในภาพรวมดูเหมือนว่าคนไทยและอาเซียนจะเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดีจนไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก และหลายๆ เรื่องก็แซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วในโลกไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะ FinTech, Internet banking, Cryptocurrency และ NFT

แต่ก็ดูเหมือนว่าในเทคโนโลยีด้าน HealthTech กับ EdTech ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตจริงๆ ยังไม่ถูกใช้กันมากเท่ากับเทคโนโลยีข้างต้นที่กล่าวมา

สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าคนเลือกใช้เทคโนโลยีไหนก็เพราะใช้แล้วมันทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นจริงๆ และต้องง่ายกว่าช่องทางออฟไลน์ให้ได้ ไม่ใช่ทำออนไลน์ยุ่งยากกว่าจนคนรู้สึกว่าไปออฟไลน์สะดวกกว่าการต้องมานั่งเรียนรู้อะไรใหม่ด้วยครับ

สุดท้ายนี้เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ Technology ทุกสายคนไทยทุกคน หาช่องว่างในตลาดให้เจาะแล้วรีบเข้าไปยึดพื้นที่นั้นก่อนใคร เพราะท่ามกลางการมีคนเข้าถึงน้อย นั่นหมายความว่าสิ่งที่เป็นอยู่ยังไม่ดีพอที่ผู้คนจะใช้มันในชีวิตประจำวันได้ครับ

ในบทความสรุป Facebook Digital Consumer Insight 2023 ตอนหน้าเราจะมาดูกันสักนิดว่าเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนั้นเป็นอย่างไร เงินไปกระจุกตรงกลุ่มธุรกิจไหนหรือเทคโนโลยีใด แล้วเงินส่วนใหญ่ไหลไปยังประเทศอะไร เดี๋ยวเราจะมาหาคำตอบกันครับ

อ่านบทความก่อนหน้า การผันตัวจากยุค Digital Economy สู่ Creator Economy หรือเทรนด์การตลาดแบบ C2C Marketing ครับ > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/from-digital-economy-to-creator-economy-the-rise-of-c2c-marketing-creator-2-consumer-with-live-commerce-and-affiliate-marketing/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *