3 Consumer Insight ที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนไร้ Loyalty

3 Consumer Insight ที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนไร้ Loyalty

3 เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ชาวไทยและอาเซียนเปลี่ยนแบรนด์ จนส่งผลให้ไร้ซึ่ง Loyalty มากขึ้นทุกวัน จากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023

ดูเหมือนคำว่า Brand Loyalty จะไม่มีความหมายกับผู้บริโภค Digital Consumer ยุคใหม่ทุกวันนี้แล้วครับ เพราะจากรายงาน Facebook Insight 2023 บอกให้รู้ว่ากว่า 53% นั้นเคยเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ใหม่ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ตัวเลขอยู่ที่ 51% แต่ก็ยังลดลงจากปี 2020 ที่สูงถึง 54% ครับ

ในด้านหนึ่งถ้ามองข้อดีก็คือผู้บริโภคยุคใหม่วันนี้พร้อมเปิดใจรับทุกแบรนด์ที่ดูน่าสนใจ นั่นก็หมายความว่าเขาเองก็พร้อมเปิดใจรับแบรนด์คุณเข้าไปเช่นกัน

สาเหตุหนึ่งที่ผู้บริโภค Digital Consumer ยุคใหม่เปลี่ยนใจไปลองแบรนด์ใหม่แทนแบรนด์เดิมคือ Better value หรือคุ้มค่ากว่าเดิม ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะได้ของเหมือนเดิมแต่ราคาถูกลง ใครจะไม่ชอบจริงไหมครับ ยิ่งสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองบวกเงินเฟ้อขนาดนี้ ถูกกว่าเดิมได้ก็เป็นดี 

บางคนอาจถึงขั้นยอมลดคุณภาพที่เคยชอบลงเพื่อลดราคาที่ต้องจ่ายตามไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่ผู้บริโภคยุคใหม่ทุกคนคิด เพราะก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า นี่คือยุคที่ผู้บริโภคใช้หัวก่อนใช้เงิน หรือจะเรียกว่าใช้เงินฉลาดกว่าทุกยุคสมัยก็ว่าได้ เพราะเงินแต่ละบาทไม่ได้หาได้ง่ายๆ ดังนั้นถ้าอยากได้เงินลูกค้าไปถ้าไม่ถูกกว่าก็ต้องดีกว่าเท่านั้นเอง

แต่การเปลี่ยนแบรนด์นั้นมักเกิดขึ้นกับสินค้าประเภทไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากนัก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่องสำอางความสวยความงาม มีบ้างที่เลือกซื้อสินค้าที่ถูกลงและนั่นย่อมหมายถึงตลาดสินค้าแมสๆ ทั่วไปที่ใครๆ เคยใช้กัน และย่อมกระทบถึงสินค้ากลุ่มพรีเมียมราคาแพงที่ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกันครับ

และนี่ก็คือโอกาสของแบรนด์น้องใหม่ ที่เหล่าผู้บริโภค Digital Consumer ยุคใหม่พร้อมเปิดใจลองแบบไม่ยาก จากเดิมอาจกังวลว่าถูกไปซื้อแล้วจะดีเหมือนเดิมหรือไม่ กลายเป็นก็ลองซื้อที่มันถูกกว่าดูสักหน่อย ถ้าไม่ดีก็กลับมาซื้อแบรนด์เดิม แต่ถ้าบังเอิญเจอของดีราคาถูกก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่ชีวิตเลยทีเดียว

ลองดูจากภาพด้านล่างนะครับว่าสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่ถูกเปลี่ยนแบรนด์บ่อยๆ และสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้แบรนด์เดิมเป็นหลัก

จากภาพเส้นค่าเฉลี่ยโดยรวมการเปลี่ยนแบรนด์ของผู้บริโภคไทยและอาเซียนอยู่ที่ 53% ถ้าเรียงตามลำดับกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแบรนด์มากสุดไปน้อยสุดจะได้ตามนี้

  • เสื้อผ้า 60%
  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 59%
  • กลุ่มความสวยความงาม 58%
  • ออฟฟิศสำนักงาน 57%
  • สินค้าเด็กอ่อน 56%
  • ของเล่น 55%
  • ของใช้ส่วนบุคคล 54%
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า 53%
  • เฟอร์นิเจอร์ 51%
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 48% (ต่ำกว่าครึ่ง Loyalty สุดๆ)
  • อาหารของสด 47%
  • ของใช้ภายในบ้าน 46%
  • เครื่องดื่มทั่วไป 45%

ดูจริงๆ จะเห็นว่าสินค้าที่มีอัตราการเปลี่ยนแบรนด์ต่ำกว่าครึ่งมีแค่ 4 กลุ่ม เป็นของกินของใช้เป็นหลัก ดูเหมือนผู้คนจะไม่ค่อยชอบเปลี่ยนอะไรที่เอาเข้าปากสักเท่าไหร่นะครับ

ทีนี้เรามาดูในแง่ของกลุ่มราคาสินค้าที่เกิดการเปลี่ยนแบรนด์ หรือเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ว่ากลุ่มไหนขยับไปซื้อแพง กลุ่มไหนเปลี่ยนไปซื้อถูก เพื่อจะได้วางกลยุทธ์การกำหนดราคาได้ดีขึ้นในปีนี้

ในสินค้ากลุ่มของไม่สำคัญต่อการใช้ชีวิตมากนัก

กลุ่มซื้อแพง Premium brand buyers

  • 60% ซื้อเหมือนเดิม
  • 40% เปลี่ยนไปซื้อที่ถูกลง

กลุ่มซื้อแบรนด์ราคาทั่วไป Maintain brand buyers

  • 17% เปลี่ยนไปซื้อของแพงขึ้น
  • 65% ซื้อเหมือนเดิม
  • 18% เปลี่ยนไปซื้อที่ถูกลง

กลุ่มซื้อสินค้าราคาถูก Value brand buyers

  • 29% เปลี่ยนไปซื้อของแพงขึ้น
  • 71% ซื้อเหมือนเดิม(ก็ไม่มีถูกกว่านี้แล้วนิ)

ในสินค้ากลุ่มมีความสำคัญต้องคิดเยอะก่อนซื้อ

กลุ่มซื้อแพง Premium brand buyers

  • 67% ซื้อเหมือนเดิม
  • 33% เปลี่ยนไปซื้อที่ถูกลง

กลุ่มซื้อแบรนด์ราคาทั่วไป Maintain brand buyers

  • 21% เปลี่ยนไปซื้อของแพงขึ้น
  • 67% ซื้อเหมือนเดิม
  • 13% เปลี่ยนไปซื้อที่ถูกลง

กลุ่มซื้อสินค้าราคาถูก Value brand buyers

  • 28% เปลี่ยนไปซื้อของแพงขึ้น
  • 72% ซื้อเหมือนเดิม

ดูภาพรวมเหมือนว่าสินค้ากลุ่มไม่สำคัญมากกับการใช้ชีวิต คนพร้อมจะเปลี่ยนใจไปซื้อของที่ราคาถูกลงมากกว่า เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนช่วงราคาการซื้อของกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญและต้องคิดก่อนซื้อครับ

เจาะลึก Digital Consumer Insight พฤติกรรมการเปลี่ยนแบรนด์ของผู้บริโภคแยกประเทศ

จากภาพจะเห็นว่าผู้บริโภค Digital Consumer ชาวไทยยุคใหม่นั้นให้ความสำคัญกับราคาเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเจอของที่ราคาถูกกว่า ก็พร้อมจะเปลี่ยนแบรนด์ในทันที ถัดมาคือคุณภาพ ถ้าดีกว่าแต่จ่ายมากขึ้นก็พร้อมไป สุดท้ายคือเบื่อแบรนด์เก่าแล้ว อาจจะด้วยใช้มานาน หรือไม่ก็ได้ประสบการณ์แย่ๆ มาจากแบรนด์นั้น

ความน่าสนใจคือผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เหตุผลข้อสามในการเปลี่ยนแบรนด์คือ แบรนด์ใหม่นั้นซื้อได้สะดวกกว่า อาจจะหมายถึงตอบแชทเร็วกว่า ส่งไวกว่าด้วยครับ

กลุ่มสินค้าประเภทไหนบ้างที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแบรนด์ของผู้บริโภค

เมื่อดูจากภาพจะเห็นว่ากลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ความสวยความงาม หรือแม้แต่ยาย้อมผม ครีมเปลี่ยนสีผมนั้นได้รับอานิสงค์จากการเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุด เพราะมากขึ้นถึง 53% เมื่อเทียบกับปี 2016 กับปี 2021

  • ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าครีมบำรุงดีแลผิว 42%
  • ขนมกินเล่น 41%
  • โยเกิร์ต หรือนมถั่วเหลือง 21%
  • กาแฟพร้อมดื่ม 17%
  • และน้ำผลไม้ แค่ 12% ครับ

ข้อมูลชุดนี้ช่วยยืนยันอีกครั้งว่าสินค้าประเภทเอาเข้าปาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มนั้นไม่ค่อยเปลี่ยนแบรนด์กันง่ายๆ แต่สินค้าใช้ภายนอกโดยเฉพาะกลุ่มความสวยความงาม นั้นแทบจะหาความ Loyalty ใน Customer ไม่ได้อีกต่อไป

นี่คือยุคทองของแบรนด์ใหม่ ที่สามารถทำสินค้าแบบเดียวกันได้ คุณภาพใกล้กันได้ แล้วสามารถตั้งราคาขายได้ในราคาที่ถูกกว่า ดูเหมือนว่าผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ได้สนใจเรื่องของ Branding มากนัก ถ้าใช้แล้วดีก็พร้อมไป ถ้าราคาถูกใจก็พร้อมซื้อ ส่งผลให้แบรนด์ใหญ่ๆ ต้องปรับตัวกันหนักมาก จะรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ยังไงให้ได้ท่ามกลางวิกฤตต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกวัน

และนั่นส่งผลให้แบรนด์ใหญ่หันมาแตกแบรนด์ย่อย หรือแบรนด์ที่อาจยอมลดคุณภาพลงเพื่อแลกกับการขายในราคาที่ถูกลงกว่าแบรนด์แม่ด้วยครับ

ในบทความเจาะลึก Digital Consumer Insight Thai & Asean 2023 เราจะมาดูกันว่าผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนนั้นเปลี่ยนแพลตฟอร์มการซื้อของออนไลน์บ่อยแค่ไหน และมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนจากการซื้อแอปนึง ไปสู่อีกแอปนึงครับ

อ่านบทความก่อนหน้า > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/digital-media-touchpoint-and-consumer-journey-thai-and-asean-2023-from-facebook-report/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *