Digital Consumer Insight 2023 คนไทยเทียบราคา 16.4 ช่องทางก่อนซื้อ

Digital Consumer Insight 2023 คนไทยเทียบราคา 16.4 ช่องทางก่อนซื้อ

จากบทความก่อนหน้าของ Facebook Digital Consumer Insight 2023 ที่บอกให้รู้ว่าคนไทยเปลี่ยนแบรนด์บ่อยมาก ค่าเฉลี่ยในการเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์ใหม่อยู่ที่ 53% และ 3 เหตุผลหลักของการเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์อื่นคือ ถูกกว่า ดีกว่า และเบื่อสินค้าแบรนด์เดิมที่ใช้อยู่ ตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าคนไทยเทียบราคากี่แอปหรือแพลตฟอร์มก่อนซื้อ บอกเลยว่าสูงสุดในอาเซียนแล้ว เพราะคนไทยเทียบราคาจาก 16.4 ช่องทางการตัดสินใจซื้อครับ

Digital Consumer Insight 2023 ผู้บริโภคออนไลน์เปลี่ยนช่องทางการซื้อเพราะ ถูก เร็ว ดี

ถูก เร็ว ดี ฟังดูเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แต่ต้องบอกเลยว่าจากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนต่างต้องการสามสิ่งนี้เมื่อจะตัดสินใจซื้อสินค้าออน์ไลน์อะไรสักอย่าง

พวกเขาไม่ใช่แค่เปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์ใหม่ หรือปันใจจากแบรนด์เก่าไปลองแบรนด์อื่นเท่านั้น แต่พวกเขายังเปลี่ยนช่องทางการซื้อไปหาราคาที่ถูกที่สุด ที่สามารถส่งได้ไวที่สุดกับสินค้าแบรนด์เดิมที่ต้องการซื้อซ้ำ นั่นหมายความว่าแค่สงครามราคาไม่พอ ยังมีสงครามแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่แข่งขันดุดเดือดไม่แพ้กันด้วย

ซึ่งเหตุผลหลักของผู้บริโภคอาเซียนที่เปลี่ยนไปซื้อสินค้าออนไลน์ยังช่องทางหรือแพลตฟอร์มอื่นก็คือ ได้ราคาดีกว่า หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือถูกกว่านั่นเอง

แต่ราคาก็ไม่ใช่สาเหตุของการเปลี่ยนใจไปช้อปช่องทางอื่นสักเท่าไหร่ แต่ยังมีเรื่องของคุณภาพ ตามมาด้วยราคาค่าส่งที่ถูกกว่า เพราะถ้าต้องจ่ายค่าส่งแพงกว่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น รับรองผู้บริโภคอาเซียนไม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมต้องยอมจ่ายค่าส่งแพงกว่าครับ

ส่วน Insight ผู้บริโภคชาวไทยกับการเปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือช่องทางการซื้อออนไลน์มี 3 เหตุผลหลักดังนี้

  1. ถูกกว่า ในกรณีที่อยากได้สินค้าเดิมแต่ก็ต้องการจ่ายในราคาที่ถูกที่สุด ที่ไหนมีโปรดีให้ใช้รับรองว่าจะดึงดูดลูกค้าได้เรื่อยๆ แน่นอน
  2. ดีกว่า มีสินค้าคุณภาพดีกว่าวางขาย นั่นย่อมหมายถึงการยอมจ่ายในราคาแพงขึ้น แต่ก็ยังต้องเป็นราคาที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับหลายๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปดูกันต่อว่าคนไทยจะซื้อทีเทียบราคาทั้งหมดกี่แพลตฟอร์มครับ
  3. เร็วกว่า หมายถึงความรวดเร็วในการจัดส่ง ดูเหมือนผู้บริโภคชาวไทยจะใจร้อน บางร้านค้าปลีกออนไลน์สามารถจัดส่งได้ภายในวันนั้น หรือถึงขั้นบอกว่าภายใน 3 ชั่วโมงก็มี (อย่าง Advice ที่ผมชอบสั่งเป็นต้น)

และเมื่อสอบถามผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนในภาพรวมว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือช่องทางการซื้อหรือไม่ กว่า 40% บอกว่าเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าต่อให้เขา Loyalty กับแบรนด์เราได้ ก็ใช่ว่าเขาจะ​ Loyalty กับ Platform เราครับ

และ 3 กลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มช่องทางการซื้อมากที่สุดคือ สินค้าเด็กอ่อน เฟอร์นิเจอร์ และ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ นั่นบอกให้รู้ว่าคุณจะขายดีอยู่ที่เดียวไม่ได้ ต้องพร้อมกระจายตัวไปอยู่ยังทุกแพลตฟอร์ม เหมือนต้องมีหน้าร้านอยู่ทุกห้างบนออนไลน์ครับ

นั่นหมายความว่าทางแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์เองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของนักช้อปออนไลน์ Digital Consumer มากขึ้น เพราะจากเดิมในปี 2021 ที่ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนบอกว่ามีแค่ 8 เว็บ แอป แพลตฟอร์ม หรือช่องทางในการเปรียบเทียบราคาก่อนช้อปเท่านั้น แต่วันนี้ตัวเลขนั้นพุ่งทะยานไปถึง 15 ช่องทาง นั่นหมายความว่าฝั่งธุรกิจแพลตฟอร์มเองก็ต้องเหนื่อยลากเลือดแบบสุดๆ ไปเลยครับ

ผู้บริโภคชาวไทย 2023 เทียบราคาก่อนซื้อออนไลน์มากถึง 16.4 ช่องทาง

จากภาพจะเห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยนั้นมีการเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อสูงสุดในอาเซียน คนอื่นเขาเทียบราคากันแค่ 10.3-16.3 เว็บ แอป หรือแพลตฟอร์ม แต่คนไทยเรานั้นพุ่งไปถึง 16.4 แพลตฟอร์มหรือช่องทาง เจอตัวเลยนี้แล้วรู้สึกหัวจะปวดแทนเพื่อนๆ คนทำธุรกิจแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์เลย

ประเทศที่ดูจะเทียบราคาหรือเปลี่ยนแอปเมื่อจะซื้อน้อยที่สุดคือสิงค์โปร ตามมาด้วยมาเลเซีย ส่วนที่เหลือก็ไม่ต่างจากไทยมากนัก แต่ยกให้ไทยเราเป็นที่หนึ่งเรื่องการหาของถูกที่สุดในอาเซียนจริงๆ ครับ

NPS Score 2023 ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนลดลงจากปีก่อน

NPS Score หรือที่ย่อมาจาก Net Promoter Score คะแนนที่สะท้อนถึงความพึงพอใจจนอยากจะแนะนำบอกต่อคนอื่น สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนในปีล่าสุดนั้นลดลงต่ำมาก

จากค่าเฉลี่ยทั้งอาเซียนที่อยู่สูงถึง 53% ในปี 2021 ลดมาเหลือแค่ 35% ในปี 2022 ส่วนสำหรับประเทศไทยเองจากที่ NPS Score เคยอยู่ที่ 53% ในปี 2021 พอเข้าปี 2022 กลับลดลงเหลือแค่ 40% นี่สะท้อนให้เห็นถึงแม้พวกเขาจะซื้อมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้แฮปปี้กับการซื้อสักเท่าไหร่

ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงความคาดหวังของผู้บริโภค Digital Consumer ชาวไทยและอาเซียนที่หวังว่าจะได้รับ Customer Experience ที่ดีกว่านี้เวลาซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ ยังคงทำได้มาตรฐานเท่าเดิม หรืออาจทำได้ลดลงด้วยซ้ำ

แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็อาจมาจากราคาข้าวของที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ไปจนถึงสินค้าขาดสต็อกทำให้จัดส่งได้ล่าช้ามากในปีก่อน ห่วงโซ่การผลิตกระทบเพราะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากต่างประเทศได้ บวกกับเริ่มมีร้านค้าออฟไลน์กลับมาเปิดเลยมีอะไรให้เปรียบเทียบมากขึ้น

ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนไม่แฮปปี้พอใจกับการช้อปปิ้งออนไลน์ในปีนี้ก็คือ ความหลากลายของสินค้า ราคา และสินค้าพร้อมขายหรือไม่ ซึ่งถ้าเรียงลำดับปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภค Digital Consumer 2023 พอใจคือ

  1. ความหลากหลายของสินค้า
  2. ราคา
  3. ความพร้อมในการจัดส่ง หรือมีสินค้าในสต็อกพร้อมขาย
  4. โปรโมชั่น
  5. คุณภาพ

ส่วน 5 ปัจจัยที่ทำให้นักช้อปออนไลน์ไม่แฮปปี้คือ

  1. สินค้าไม่หลากหลาย มีตัวเลือกน้อยไป
  2. ราคาสูงเกินไปในความรู้สึก
  3. สินค้าขาดไม่มีขาย
  4. การจัดส่งที่ล่าช้า
  5. เว็บไซต์ไม่ดีหรือไม่มีเว็บไซต์

รู้แบบนี้แล้วอย่าลืมไปปรับปรุงเว็บ แอป หรือแพลตฟอร์มของตัวเองนะครับ เพื่อที่ลูกค้าจะได้แฮปปี้ที่จะซื้อออนไลน์กับเรา ไม่ใช่ปล่อยให้เขาไหลไปหาเว็บอื่น

สรุป Digital Consumer Insight 2023 คนไทยเทียบราคาก่อนซื้อ 16.4 ช่องทาง สูงสุดในอาเซียน และคะแนน NPS Score ลดลงจากปีก่อน

ดูเหมือนว่าผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนจะมี Insight เรื่องการเฟ้นหาของถูกเก่งไม่แพ้กัน แต่ดูเหมือนคนไทยจะเก่งสุดเพราะเราเทียบราคาจาก 16.4 ช่องทางก่อนซื้อ สรุปง่ายๆ ได้ว่าเข้าเช็คราคาทุกแอป ทุกเว็บ ทุกเพจ ทุกช่องทาง จนแน่ใจว่าได้ของที่ถูกที่สุดไม่เสียค่าโง่ให้อายใครอย่างแน่นอน

ส่วน NPS Score ความพึงพอใจเมื่อได้ใช้บริการจนอยากบอกต่อก็ลดต่ำลงกว่าปีก่อนพอสมควร เหตุผลที่คนเปลี่ยนไปซื้อออนไลน์ช่องทางอื่นก็คือ ราคาถูกกว่า ของดีกว่า และส่งเร็วกว่าครับ สรุป 3 คำง่ายๆ ที่คนไทยชอบคือ “ถูก เร็ว ดี”

ใครสามารถทำได้ทั้ง 3 ข้อนี้โดยยังมีกำไร รับรองปีนี้ธุรกิจน่าจะโตเอาโตเอาจนเป็นที่อิจฉาของคู่แข่งแน่นอนครับ

ในตอนหน้าเราจะมาเจาะลึก Insight ช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยและอาเซียน กับ Alternative Ecommerce หรือช่องทางการซื้อแบบไม่ทางการ อย่างเช่นการซื้อผ่าน Live หรือ แชท ว่าเป็นอย่างไรบ้างในปีล่าสุดครับ

อ่านบทความสรุป Digital Consumer Insight 2023 ก่อนหน้าถึงเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่นครับ > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/3-reason-why-digital-consumer-thai-and-asean-swift-brand-and-less-brand-loyalty-from-facebook-digital-consumer-insight-2023/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *