Social Behavior Insight 2023 จาก Personality สู่เทรนด์ Community Marketing

Social Behavior Insight 2023 จาก Personality สู่เทรนด์ Community Marketing

Social Behavior Insight 2023 ข้อ 4 จากรายงาน Think Forward ของ We Are Social บอกให้รู้ว่า คนรุ่นใหม่ Gen Z กำลังลดความเป็นตัวตนบนออนไลน์ลง ส่งผลให้การตลาดแบบ Personality เดิมที่ให้ความสำคัญกับ Individual Influencer Marketing กำลังลดความสำคัญลงไปกับผู้บริโภคยุคใหม่กลุ่มนี้ เพราะพวกเขากำลังให้ความสำคัญกับ Community Influencer ที่จะส่งผลต่อการตลาดแบบ Community Marketing 2023 ครับ

ดูเหมือนว่า 3 Insight ก่อนหน้าจะพูดถึงความเป็นปัจเจกชน หรือความยึดถือกับตัวตนกันแบบสุดโต่ง อยากดังต้องทำอะไรให้สุด อยากสุดต้องทำอะไรให้แปลก เราอยู่ในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยอยากเป็น Influencer อยากมีตัวตนบนออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตจริงจากชื่อเสียงความดัง

แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนไม่น้อยพยายามปกปิดตัวตน ไม่เน้นตัวเอง แต่ไปเน้นการร่วมมือจับกลุ่มกันคนที่ไม่ค่อยมีตัวตนบนโซเชียลมีเดียด้วยกันเพื่อสร้าง Impact บางอย่างสู่สังคมหรือเศรษฐกิจจริงๆ

ดูเหมือนเราจะอยู่ในโลกที่มีสองขั้ว ขั้วแรกคือ Me ขั้วที่สองคือ We เรามาทำความเข้าใจพฤติกรรมออนไลน์หรือการใช้โซเชียลมีเดียของคนกลุ่มที่ชอบความเป็น Community กันดีกว่าครับ ว่าพวกเขาทำไมถึงไม่ค่อยอยากแสดงออกให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และนักการตลาดอย่างเราจะปรับกลยุทธ์อย่างไรในปีหน้า ใครที่มีแผนจะทำเรื่อง Community Marketing Strategy ในปีหน้า ต้องไม่พลาดบทความการตลาดตอนนี้ครับ

Photo: https://www.web3baddies.com/

ในเว็บบอร์ดต่างประเทศมีการจับกลุ่มช่วยเหลือให้ความรู้กับกลุ่มคนที่ต้องการเก็บออมเงินสำหรับการเกษียณอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือการเกิดขึ้นของ Web3 ของกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือก

Photo: https://www.tiktok.com/tag/altblackgirl?lang=en

หรือเกิดเป็นเทรนด์แฮชแท็กใน TikTok ที่ชื่อว่า #AltBlackGirl เพื่อทำให้เห็นภาพผู้หญิงผิวสีที่มีความหลากหลาย และมียอดวิวรวมกว่า 191.9 ล้านวิวแล้ว

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าโลกออนไลน์นั้นมีแง่มุมดีๆ ที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ ดูเหมือนว่าพฤติกรรมการออนไลน์ของคนรุ่นใหม่นั้นมีอะไรที่คิดไกลเกินกว่าแค่ตัวเองออกไปมากกว่าที่คิด

โซเชียลมีเดียยุคเก่าอย่าง Facebook หรือ Instagram คือการสะสมความดังส่วนบุคคล ใครมีผู้ติดตามมากกว่าคือชนะ และเราก็จะถูกหล่อหลอมจากฟีดของเพื่อนสนิท ของคนใกล้ชิด ของคนในครอบครัว หรือแม้แต่ Influencer คนดังต่างๆ จากการใช้ Algorithm แบบ Social Graph แต่กับ TikTok นั้นต่าง

ความดังไม่มีผลถ้าคอนเทนต์คุณไม่คุณภาพหรือน่าสนใจจริงๆ หรือต่อให้คุณเป็น No Body เพิ่งเริ่มเล่นวันแรก แต่ถ้าคอนเทนต์คุณดีจริง คลิปคุณน่าสนใจจริงๆ ก็สามารถกลายเป็นคนดังได้ได้ทันที การสะสมชื่อเสียงแต้มบุญวันวานดูจะไม่ค่อยได้ผลกับ Algorithm แบบ Interest-based ของ TikTok เอาเสียเลย

นี่คือโซเชียลมีเดียยุคใหม่ที่เน้นความเป็นโซเชียล ความเป็น Community จริงๆ มากกว่า Personality ไปจนถึงการได้รับความนิยมของแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานชอบใช้นามแฝงแทนชื่อจริงกันอย่าง Reddit, Discord, Twitch, Roblox หรือ Metaverse

มันคือยุคของความสนใจร่วมกันที่ชัดขึ้นกว่าวันวาน มันคือยุคที่ผู้คนไม่ได้เลือกดูคอนเทนต์เพราะความดัง แต่เลือกดูจากกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องนั้นด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่ Facebook และ Instagram กำลังหาทางแก้เกมอยู่

และนั่นก็หมายความว่าแบรนด์เองจะใช้งบกับการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เรื่องตัวเองน้อยลง แต่จะไปเพิ่มงบในการสนับสนุน Community มากขึ้นครับ

เพราะจากแฟนเพจจะเริ่มขยับเข้าสู่กรุ๊ป ขยับเข้าสู่กลุ่มไลน์ เรากำลังขยับเข้าไปสู่กลุ่มก้อนของคนที่สนใจเรื่องเดียวกันจริงๆ มากขึ้น อย่างผมเองก็อยู่ในกลุ่มของผู้ใช้ Tesla ที่มีไม่กี่ร้อยคน แต่ก็ดูจะกวาดผู้ใช้ Tesla เป็นส่วนใหญ่ของประเทศได้ครับ

Social Insight Behavior 2023 ข้อ 4 New Cooperatives หรือการร่วมมือกันของชาวโซเชียลยุคใหม่นี้ ดูจะส่งผลต่อการทำ Community Marketing Strategy ในปีหน้าพอสมควรครับ

แต่ก่อนจะไปดูว่าเราควรจะปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างไรกับเรื่องนี้ ลองไปดูกันก่อนว่าต้นกำเนิดของเทรนด์พฤติกรรมการออนไลน์ที่ขยับจาก Personality มาสู่ Community แบบนี้มีที่มาที่ไปจากอะไร

2 ต้นเหตุของเทรนด์การออนไลน์ใหม่ New Cooperatives จาก Personality สู่ Community Marketing 2023

1. Social Cynicism ขอเล่นโซเชียลแบบไม่เปิดเผยตัวตน

เทรนด์นี้ต่อยอดมาจาก Social Trends 2022 จากปีก่อนที่บอกให้รู้ว่าจากกระแสการแดกดันกันมากมายบนออนไลน์ ผิดอะไรนิดโดนด่า พลาดอะไรนิดโดนแขวน กลายเป็นเรื่องดราม่าออกข่าวได้สบายๆ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มปรับพฤติกรรมการออนไลน์ของตัวเอง ด้วยการเล่นโซเชียลแบบไม่เปิดเผยตัวตน

เช่น ใช้รูปโปรไฟล์เป็นอะไรก็ไม่รู้ ตั้งชื่อเป็นนามสมมติ หรือไม่ก็ตัวละครจากในภาพยนต์ที่ตัวเองชอบ มันก็คือการย้อนกลับไปสมัยแรกเริ่มของการใช้อินเทอร์เน็ตยุคแรกๆ ยุคที่เราต้องมีนามแฝงบนพันทิป สักพัก Facebook ก็ขยับมาให้เราเปิดเผยตัวตนบนโซเชียลด้วยความเต็มใจมากขึ้น ไปจนถึงขั้นบังคับให้เราต้องเปิดเผยตัวตนถ้ายังอยากเล่นต่อครับ

จะเห็นว่าภายใต้ชื่อเสียงบนโซเชียลที่ให้โอกาสทางชีวิต โอกาสทางธุรกิจ ก็ยังพาด้านร้ายๆ ให้เข้ามา มันเลยเป็นที่มาของการเล่นโซเชียลแบบไม่เปิดเผยตัวตน หรือต่อให้มีแอคเคาท์ตัวตนของตัวเองจริงๆ ก็มีหลายคนที่เลือกจะไม่แอคทีฟ ไม่โพสไม่แชร์อะไร มีเอาไว้แค่เข้ามาอัพเดทเพื่อนๆ รอบตัวว่ามีชีวิตยังไงกันบ้างแล้ว

2. Social Media สองคำนี้จะถูกแยกออกจากกัน

Photo: https://www.facebook.com/Emplifi/photos/a.204223294743/10158967169594744/?type=3

จากการผงาดของ TikTok โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยคลิปสั้นๆ เป็นหลัก น่าสนใจว่าพวกเขาประกาศว่าพวกเขาไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คแบบรุ่นพี่อย่าง Facebook หรือ Instagram ที่เน้นการเห็นโพสจากความสัมพันธ์ของผู้คน แต่พวกเขาเน้นการแสดงโพสที่เห็นว่าผู้คนกำลังสนใจสิ่งนั้นอยู่มากกว่า

พวกเขาจึงประกาศว่า TikTok ทำงานแบบ Social กับ Media ไม่ใช่ Social Media แบบเดิม

หมายความว่าอะไรที่เป็นโฆษณาคุณก็จะดูออก และเห็นชัด ทำการตลาดได้ตรงๆ ไม่ต้องทำตีเนียนว่าคือไม่ใช่โฆษณานะ และเครื่องมือทางการตลาดของ TikTok ก็ใช้งานง่าย ทำให้เกิดยอดขายได้จริงในแบบที่วัดผลได้ทันที ผิดกับของพี่ใหญ่อย่าง Facebook และ Instagram เองที่ทำเหนียมๆ อายๆ กับเรื่องขายของเหลือเกิน

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ผู้คนมีแพลตฟอร์มเพื่อการใช้งานด้วย Purpose ที่แตกต่างกัน อยากสนุกเพลินๆ เข้า TikTok ไถคลิปไปเรื่อยๆ อยากอัพเดทดูชีวิตเพื่อนๆ ก็ค่อยเข้า Facebook หรือ Instagram ไปครับ

จากกรง Echo Chamber เดิมที่ตีกรอบผู้คนไว้ จึงถูกพังทลายโดยง่ายด้วยการมีแพลตฟอร์มใหม่ที่คอยเปิดโลกคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้เราไม่รู้จบ

คำถามสำคัญถัดมาคือ แล้วพฤติกรรมการออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง มาดูกันครับ

3 Social Behavior Insight 2023 พฤติกรรมการออนไลน์ที่เปลี่ยนไป กับการลด Personality มาเพิ่ม Community

1. Content Before Creator เน้นคอนเทนต์มากกว่าคน หมดยุค Influencer เดิมๆ แล้ว

เหมือนโลกโซเชียลมีเดียกำลังจะขยับเข้าไปสู่ยุคใหม่ ยุคที่ไม่ได้เน้นคอนเทนต์จากคนดัง แต่เน้นคอนเทนต์ที่ดังเพราะคนดู

อย่าง TikTok เองก็ไม่ได้มีหน้าที่เอาไว้ไล่ดูโปรไฟล์ผู้ใช้เป็นหลัก แต่เน้นไล่ดูคอนเทนต์ที่กำลังดังเป็นหลัก สะท้อนไปถึง Discord หรือ​ Reddit ในต่างประเทศเองก็ตาม

และข้อมูลล่าสุดบอกให้รู้ว่าแพลตฟอร์มที่ว่ามีมีการเติบโตสูงมากในปี 2022

จากชื่อจริงสู่นามแฝง จากตัวคนสู่ตัวตน จากความดังสู่คอนเทนต์ ดูเหมือนว่าเราจะเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลน้อยลง และหันมาให้ความสำคัญกับแก่นของเนื้อหาที่กำลังอยู่ตรงหน้ามากขึ้น

2. Subscriber-Driven Creator เพราะรักจึงยอมซัพ

เป็นการต่อยอดจาก Social Trends ปีก่อนๆ ที่พูดถึงกลุ่มคนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุน Creator ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ง้อรายได้จากแบรนด์หรือโฆษณาเท่านั้น

ในต่างประเทศแพลตฟอร์มอย่าง Subtrack ได้รับความนิยมอย่างมาก มันคือแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้คนมาสร้างคอนเทนต์ เขียนบทความในแบบของตัวเอง จากนั้นก็เปิดโอกาสให้คนอ่าน แฟนคลับที่ติดตามสามารถกดจ่ายเงินสนับสนุน Creator คนนั้นได้

โดย Creator อาจจะคิดกิมมิคอะไรสักอย่างเพื่อให้คนที่ยอมกด Subscribe เสียเงินรู้สึกว่าตัวเองพิเศษกว่าคนอื่น

อย่างเพจการตลาดวันละตอนเองก็มี Subscriber เกือบ 50 คน ที่สนับสนุนเราโดยไม่ได้อะไรพิเศษสักอย่าง ล่าสุดตอนปิดโรงหนังฉลอง 5 ปี ผมก็เลยให้สิทธิ์ Subscriber เหล่านี้ก่อนคนอื่นในการสำรองที่นั่งพิเศษในวันดูหนัง

ดูเหมือนนี่จะเป็น Business Model ของบรรดา Creator ที่ทำให้ใกล้ชิดกับ Community ขึ้นกว่าเดิมมากกว่าแค่การกดติดตามดูคอนเทนต์เฉยๆ ครับ

3. แอสการ์ดสถานที่ แต่มันคือผู้คน

Photo: https://twitter.com/joshuawongcf/status/1278743299797352448

มันคือความสนุกของการได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนไป หรือถ้าจะบอกว่าเปลี่ยนไปก็ไม่ถูก ถ้าจะถูกต้องใช้คำว่า “พฤติกรรมแบบนี้มันเริ่มชัดขึ้น” ต่างหากครับ

คุณอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวกับประโยคมีมยอดฮิตของสถานที่ และผู้คนได้อย่างไร จาก Case Study ที่รายงาน Think Forward 2023 ที่ We Are Social หยิบมาเล่า อย่างกลุ่มคนที่ตามไปกินร้านอาหารร้านหนึ่งที่เห็นจากหน้าฟีด TikTok บ่อยๆ จนกลายเป็นข่าวใหญ่จนกลายเป็นกระแสคนไปแห่ต่อคิวขึ้นมา

ทั้งที่ร้านอาหารนี้ก็เปิดมานานมาก และคนท้องถิ่นก็ไม่ได้สนใจอะไรกับร้านนี้มาก่อน

แล้วก็เกิดการแต่งเพลงให้กับเมนูบางอย่างของร้านนี้ แล้วผู้คนก็มากินแล้วก็แชร์ออกไปบน TikTok หรือโซเชียลมีเดียอีกทีนึง

สรุปง่ายๆ คือต่อให้คนดังตามไปกิน ก็ไม่มีทางดังกว่ากระแสของตัวร้านอาหารนี้ได้

ดังนั้นเราอยู่ในยุคที่เจอเรื่องอะไรก็ตามที่น่าสนใจ มีผู้คนมากมายพร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้น และยิ่งเป็นการผลักดันให้สิ่งนั้นดังยิ่งขึ้นไปอีกครับ

เมื่อก่อนเราตามรอยดาราหรือคนดัง กลายเป็นวันนี้เราตามรอยร้านดังบนโซเชียลแทนเรียบร้อย และนั่นก็ทำให้บรรดาคนดังๆ ต้องมาลองดูสักครั้งถ้าไม่อยากตกเทรนด์

3 Social Behavior Insight 2023 ผ่านไป เราพอเห็นภาพแล้วว่าพฤติกรรมการออนไลน์ใหม่ๆ การใช้โซเชียลของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เรามาดูกันต่อดีกว่าครับว่าท้ายที่สุดแล้วนักการตลาดอย่างเราต้องปรับตัวอย่างไร แบรนด์จะต้องปรับกลยุทธ์การตลาดขนาดไหน ถ้าไม่อยากพลาดกระแสเทรนด์นี้

2 Brand Strategy สำหรับ Community Marketing 2023

ในเทรนด์ที่ 4 ของ Social Behavior Insight 2023 ดูจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจาก Personality หรือ Influencer Marketing มาสู่ Community Marketing มากขึ้น

เราเห็นการร่วมมือกันระหว่างผู้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน เราเห็นการสนับสนุนกันระหว่าง Creator และ Subscriber ของเขา เราเห็นการเบื่อการมีตัวตนบนออนไลน์มากขึ้นทุกวัน เราเห็นการพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คนที่น่าสนใจ

มันไม่ใช่การตลาดจากบนลงล่างเหมือนเดิมเหมือนที่เคยทำๆ กันมา แต่มันคือการตลาดจากล่างขึ้นบน เมื่อผู้คนจำนวนมากเห็นตรงกัน ก็ทำให้คนหรือแบรนด์ที่ใหญ่กว่าต้องปรับตัวตามกับเรื่องนั้น

ลองมาดูกันนะครับว่าแบรนด์และนักการตลาดอย่างเราควรปรับกลยุทธ์อย่างไรกับเทรนด์ Community Marketing 2023 ที่กำลังจะมาถึง

1. #GentleMinions ร่วมกันกำหนดกติกาของ Fandom Minions ร่วมกัน

Photo: https://www.buzzfeed.de/news/z-anzuege-minions-kino-bananen-gentleminions-trend-tiktok-generation-91648960.html

จากกระแสของภาพยนต์ชื่อดัง Minions ก็เกิดปรากฏการณ์ที่กลายเป็นไวรัลข่าวใหญ่ เมื่ออยู่ดีๆ ก็มีกลุ่มคนจำนวนมากแต่งกายชุดสูทดำ กางเกงขายาวสีดำ มาดูภาพยนต์เรื่อง Minions ร่วมกัน (น่าจะโดยนัดหมายแหละ)

แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็กลายเป็นคลิปลงโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นข่าวใหญ่ แถมพวกเขายังมีท่าทางการแสดงมือที่ทำร่วมกันจนดูน่าแปลกใจ แต่ก็สรุปได้ว่าทาง Illunimation และ Universal ผู้สร้างภาพยนต์เรื่องนี้ขอเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่ม #GentleMinions ดังกล่าวที่ถือว่าเป็น Fandom ของภาพยนต์เรื่อง Minions ครับ

เพราะจากการแสดงออกของ Fandom กลุ่มนี้ดูจะไม่ค่อยเป็นที่น่ารักเท่าไหร่ จนทำให้ทางแบรนด์ต้องเข้ามาขอพูดคุยในการทำให้ภาพลักษณ์ของ Fandom กลุ่มนี้ดูน่ารักสมกับเป็นแฟนคลับการ์ตูนเรื่อง Minions สักหน่อย

น่าสนใจนะครับจากแฟนคลับสู่แฟนด้อม ที่ไม่ใช่แค่ K-Pop หรือเกาหลี หรือคู่จิ้นสาย Y เท่านั้น

แต่นิยามของแฟนด้อมนั้นขยายออกไปกว้างมาก ถ้ามองโดยรวมๆ ก็คือกลุ่มแฟนคลับที่รักในอะไรสักอย่างร่วมกัน ลองย้อนอ่านเทรนด์ข้อก่อนหน้าที่ผ่านมาก็จะเห็นภาพอย่างกลุ่มที่รักในการทำเนยหรือครีมต่างๆ แต่ทั้งหมดก็คือจุดร่วมกลุ่มคนรักการกินเนยนั่นเอง

ประเด็นคือแบรนด์ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้ทัน ถ้าเห็นผลลัพธ์จากคนนอกที่มองกลับเข้ามาแล้วเป็นผลเสียกับแบรนด์มากกว่าได้

2. CoTweets ทำตัวให้ผู้คนง่ายต่อการร่วมมือกัน

Photo: https://gigazine.net/gsc_news/en/20220708-twitter-cotweets/

Twitter ประกาศทดสอบฟีเจอ์ใหม่ที่เรียกว่า CoTweets ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาหลีใต้ เป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้ผู้โพสสามารถเชิญผู้ใช้งาน Twitter คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนหรือแก้ไขโพสนั้นได้

นั่นหมายความว่าแบรนด์อาจจะเชิญคนเข้ามาโพสด้วยกัน หรืออาจจะเป็นคนนี่แหละที่ชวนแบรนด์เข้ามาโพสร่วมกันก็ได้

ส่วนตัวอันนี้ผมไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ อาจต้องขอความเห็นจากสาวกทวิตเตอร์ผู้ใช้งานบ่อยๆ หน่อย ว่าคิดอย่างไรกับฟีเจอร์ใหม่ CoTweets ของ Twitter ครับ

สรุป Social Behavior Insight 2023 ที่ 4 New Cooperatives จาก Personality สู่ Community Marketing

จากจุดเริ่มต้นคือการต้องการลด Social Toxic บนออนไลน์ ทำให้คนหันมาไม่เปิดเผยตัวตนบนโซเชียลเยอะขึ้นในช่วงไม่กี่ปีหลัง บวกกกับการมาของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่าง TikTok, Discord หรืออื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เราเห็นการรวมใจเป็นหนึ่งที่ลดอัตตาตัวตน Personality ลง มาสู่การเป็น Community ที่จริงจัง

เราเห็นกระแสที่ไม่ได้มาจากคนดัง แต่ทำให้คนดังต้องอยากมาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนั้นด้วย เราเห็นการสนับสนุนกันระหว่าง Community กับ Creator อย่างการยอมสมัครสมาชิกสนับสนุนเงินเป็น Subscriber ให้กับ Content Creator ต่างๆ

เราเห็นเคสของ Fandom ที่สร้างผลลัพธ์ด้านลบให้กับแบรนด์ จนแบรนด์ต้องออกมาหาจุดร่วมระหว่าง Community อย่าง #GentleMinions เราเห็นการปรับตัวของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Twitter ที่ลดตัวตนคนใดคนหนึ่งลงไป กับการเปิดทดลองฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า CoTweets ร่วมกันโพสได้เป็นครั้งแรก

ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนผ่านจาก Individual Influencer มาสู่ Community Influencer ในปี 2023 จาก Me กลายเป็น We ฟังดูคล้ายๆ สโลแกนลีโอยังไงก็ไม่รู้นะครับ ที่เขาบอกว่า “รวมกันมันส์กว่า” 555

ในตอนหน้าเทรนด์สุดท้าย Expanding Identities จะหมายถึงอะไร ติดตามอ่านกันได้กับสรุปรายงาน Social Behavior Insight 2023 จากรายงาน Think Forward ของ We Are Social ที่สรุปและเรียบเรียงโดยการตลาดวันละตอนครับ

อ่านตอนที่ 5 ตอนจบของรายงาน 5 Trends Social Behavior Insight 2023 ต่อ

อ่านสรุป Social Insight 2023 ตอนที่ 1 – 4 ได้ดังนี้

Source: https://thinkforward.wearesocial.com/new_cooperatives.html

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *