Exaggerated Content Trend 2024 เทรนด์คอนเทนต์เกินจริงสวนกระแส Fake News

Exaggerated Content Trend 2024 เทรนด์คอนเทนต์เกินจริงสวนกระแส Fake News

Social Media Marketing Trends & Insights 2024 เทรนด์สุดท้ายของรายงานฉบับนี้ ก็คือเทรนด์การทำ Content Marketing แบบเกินจริงแบบสุดโต่ง ท่ามกลางกระแส Fake News หรือการทำคอนเทนต์ Fake เหมือนจริงได้ง่ายดายด้วย Generative AI ลองมาดูกันนะครับว่าเทรนด์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และนักการตลาดอย่างเราจะต่อยอดจาก Exaggerated Content Trend 2024 นี้อย่างไรได้บ้าง

เมื่ออินเทอร์เน็ตไม่เคยหลับไหล ทุกวันนี้เราจึงเกิดข้อมูลข่าวสารหรือคอนเทนต์ใหม่ๆ ไหลทะลักเข้ามาตลอดเวลา แถม Elon Musk ตั้งแต่ได้ Twitter ไปก็ยังประกาศว่าจะทำให้เป็นพื้นที่ Free Speech มากที่สุด โดยที่ผู้ใช้งานก็ยังจะสามารถทำเงินได้ควบคู่กันไปด้วย ดูเหมือนโซเชียลมีเดียหรือพื้นที่ออนไลน์จะไม่เหมาะกับคำว่า “เล่น” แบบก่อนหน้า แต่จะเป็นการ “ใช้” โซเชียลมีเดียในแบบที่จริงจังกับชีวิตเรามากขึ้นทุกที

และจากเนื้อหา ข่าวสาร หรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถผลิต สร้าง โพส แชร์ แพร่กระจายออกไปได้ ก็ส่งผลให้การปั่นกระแสสร้าง FAKE NEWS ข่าวลือหรือข่าวหลอกบนโซเชียล โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการโจมตีอะไรบางอย่างในโลกจริง สามารถเกิด Impact ได้จริงๆ จนมีบทเรียนมากมาย

อย่างการปล่อยข่าวลือเพื่อปั่นราคาหุ้น หรือข่าวลือบางอย่างที่ไม่จริงก็สามารถทำให้หุ้นตกได้สบายๆ เราจะเห็นแล้วว่าทำไมผมถึงเลือกใช้คำว่า “ใช้โซเชียล” แทนที่จะเป็น “เล่นโซเชียล” แบบวันวาน เพราะทุกวันนี้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงได้มากกว่าที่คิด

ณ วันที่เขียนบทความนี้ก็ได้ยินข่าวลือเรื่องจีนปกปิดโรงระบาดทางเดินหายใจใหม่ไม่กี่วันก่อน ในแง่มุมหนึ่งจีนก็ออกมารายงานว่ามันเป็นเพราะอากาศหนาว คนเล่นไม่สบายด้วยโรคทางเดินหายใจเยอะเป็นปกติ อารมณ์ก็คล้ายๆ กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในบ้านเรา แต่ ณ วันนี้มันก็ยากจะเชื่อว่าตกลงแหล่งข่าวไหนจริงหรือหลอกที่เป็น FAKE NEWS กันแน่

ทาง Twitter หรือ Facebook หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เองก็พยายามหาทางให้ผู้ใช้งานได้ Verify ยืนยันตัวตนบนออนไลน์ เพื่อให้เหล่าผู้ติดตามและคนอื่นๆ มั่นใจว่าโพสจากแอคเคาท์นี้คือตัวจริง ส่วนโพสจากแอคเคาท์อื่นให้ระวังไว้

ในบ้านเราก็มีนักลงทุนชื่อดังอย่าง ดร.นิเวศน์ ถูกนำชื่อไปแอบอ้างสร้าง Account มากมายเพื่อหลอกให้คนมาลงทุนด้วย

หลายบริษัทในตลาดหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศ จึงมีการใช้ Social Listening เพื่อคอยมอนิเตอร์บริษัทตนเองอยู่เสมอ เพราะราคาหุ้นจะล่วงได้ง่ายๆ เพียงแค่มีคนเริ่มปล่อยข่าวปั่นออกไป ถ้าพบสัญญาณนั้นจะได้รีบออกมาแถลงข่าวแก้เกมก่อนจะสายเกินไป เพราะเอาเข้าจริงวันนี้แค่ผ่านไป 2-3 ชั่วโมงก็อาจจะเสียหายหลายพันล้านบาทสบายๆ

ดังนั้นจะเห็นว่าจากเดิมโซเชียลมีเดียถูกเอาไว้สำหรับเล่นในไม่กี่ปีก่อนหน้า เราไม่ค่อยโพสอะไรจริงจัง เน้นอวดชีวิตดีๆ จนมาในทุกวันนี้เราหันมา “ใช้โซเชียล” เพื่อสร้างผลกระทบในชีวิตจริง ในหน้าที่การงาน ในการทำเงิน ทำกำไร ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ดังนั้นทุกอย่างบนออนไลน์ บนโซเชียล จึงล้วนถูกโพสออกมาเพราะมีเป้าประสงค์บางอย่างทั้งนั้น การผุดขึ้นมาของ FAKE NEWS เลยมีมากมาย เราไม่ได้ทำคอนเทนต์สนุกๆ โพสหลอกๆ ให้คนรูว่าเรื่องนั้นมันไม่จริง แค่โพสเอาขำ เอาฮา กลายเป็นว่าทุกวันนี้ต้องมานั่งแยกแยะว่า ตกลงโพสนี้จริงหรือหลอก หรือวัตถุประสงค์เบื้องหลังของผู้โพสต้องการอะไรจากเราจริงๆ กันแน่

และทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้สเน่ห์ของโซเชียลมีเดียที่เคยดังมากเริ่มเสื่อมความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ไป Facebook กลายเป็นพื้นที่ของ Gen X และ Y ที่ Gen Z กับ Alpha ขอไม่ยุ่ง

ในขณะเดียวกันก็เกิดโซเชียลมีเดียใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มคน Gen Z และ Alpha ขึ้นมามากมาย เพราะคนรุ่นใหม่วัยรุ่นรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียดั้งเดิมนั้นไม่ใช่พื้นที่ของการเล่น แต่มันคือพื้นที่ของการโฆษณาหรือการตลาดเป็นหลักครับ

และจากความน่าเบื่อเมื่อ ​Social Media ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหนก็ดูจะเป็นพื้นที่ของการตลาด โฆษณา หรือธุรกิจไปหมดแล้ว ก็ทำให้บรรดาคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z กับ Alpha เริ่มหันมาทำคอนเทนต์ลงโซเชียลในรูปแบบใหม่ๆ

คือไหนๆ ใครๆ ก็โพสอะไรหลอกๆ Fake News กันเป็นประจำ ถ้าอย่างนั้นเรามาทำให้การ Fake นั้นไปให้สุด เอาให้มันกลายเป็นเรื่องเกินจริงแบบที่ไม่แน่ใจว่าตกลงมันจริงหรือหลอก

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมาของ Generative AI อย่างพวก Midjoureny หรือ Stable Diffusion ที่ทำให้การจะทำภาพที่ดูจริงนั้นง่ายแค่การพิมพ์คำสั่ง Prompt ลงไป ไม่ต้องมานั่งใช้ Photoshop Retouch ให้ยุ่งยากอีกต่อไป

อย่างมีคนทำภาพ Pope ใส่ชุดของ Balenciaga ซึ่งดูเหมือนจริงมากจนมีคนไม่แน่ใจว่าตกลงมันจริงหรือหลอก และสิ่งนี้ก็กลายเป็นที่พูดถึงกันบนโซเชียลไม่น้อย อย่างบ้านเราก็มีเอาไปต่อยอดัดแปลงไม่น้อย เล่นกับกระแสความเชื่ออย่างพระสงฆ์ ที่มีทำภาพใหม่ว่าร้องเพลงร็อค ขับรถแข่ง หรืออื่นๆ อีกมากมาย

นี่คือช่วงเวลาที่นักการตลาดหรือแบรนด์ต้องเรียนรู้ที่จะเล่นกับ Social Trend นี้ในปี 2024 ให้เป็น อย่ามัวแต่ดูอยู่เฉยจนปล่อยให้คู่แข่งที่กล้าทำคะแนนแซงหน้าทิ้งห่างไปไกล

ลองมาดูกันนะครับว่าเทรนด์สุดท้าย เทรนด์ที่ 5 ของ Social Media Marketing Trends & Insights 2024 ในเรื่องนี้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

Eat The Rich คนรวยมันเลว!!

ถ้าใครได้ดู Documentary Eat The Rich ของ Netflix ที่เป็นเรื่องราวการช็อตหุ้น GameStop จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก สารคดีเรื่องนี้ฉายภาพให้เห็นว่าบรรดาคนรวยมักฉวยโอกาสและเอาเปรียบจากคนจน หรือคนชนชั้นกลางทั่วไปที่เป็น 99%

ซึ่งแน่นอนคนส่วนใหญ่ดูสารคดีเรื่องนี้แล้วรู้สึกสะใจมาก เพราะมันให้ความรู้สึกเหมือน David สู้กับ Goliath แล้วชนะ ซึ่งมันก็คือคนธรรมดารวมตัวกันสู้กับบริษัทการเงินที่ร่ำรวย จนทำให้บริษัทเหล่านั้นเสียหายไปหลายพันล้านดอลลาร์

และยังมีภาพยนต์เรื่องอื่นๆ อีกในปีที่ผ่านมา ที่ฉายให้เห็นภาพ Eat The Rich ชัดขึ้น อย่างเรื่อง The Menu ที่เป็น Chef Table ที่พาบรรดาคนรวยมากๆ มาฆ่าในมื้ออาหารแสนแพงที่มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จ่ายได้ นี่มันคือโลกของคน 1% ที่คน 99% ได้แต่มองด้วยความอิจฉา แล้วก็อยากจะเอาคืนพวกคนเหล่านี้ให้มากที่สุด

และนี่ก็เลยเป็นกระแสของการทำคอนเทนต์แนวนี้ในโซเชียลมีเดียที่มากขึ้น คอนเทนต์ประเภทแฉคนรวยที่ทำตัวไม่ดี คนรวยที่น่าหมั่นใส้ ในบ้านเราก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ประเภทอวดรวยแล้วโป๊ะแตก หรือกระแสการต่อบ้านบริษัทเจ้าสัวใหญ่ๆ อยู่กลายๆ

Generative AI การทำคอนเทนต์หลอกให้ดูจริงปั่นกระแสนั้นแสนง่าย

จากคลิปด้านบนจะทำให้เห็นว่า การทำคอนเทนต์หลอกๆ เรียกกระแส หรือเรียกยอด LIKES นั้นไม่ต้องใช้ความสามารถมาก เพียงแค่ใช้เครื่องมือง่ายๆ อย่าง Generative AI ทั่วไปที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้นั้นเพียงพอแล้ว

เห็นมั้ยครับว่าการทำ Fake Content นั้นเป็นเรื่องง่ายแค่ไหน ไม่ต้องใช้ทักษะการรีทัชอะไรอีกต่อไป แค่พิมพ์บอก AI ให้ทำภาพให้ จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับแต่งไปจนกระทั่งได้ภาพที่ต้องการ

และนั่นทำให้ทุกวันนี้มันยากที่จะแยกออกได้ว่า ตกลงอันนี้จริงหรือหลอก เราต้องพยายามคิดไปถึงวัตถุประสงค์เบื้องหลังให้ออกว่าเขาต้องการให้เรารับรู้แบบไหน

ลองมาดูกันต่อนะครับว่าแล้วจากที่เล่าไป มันส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียหรือออนไลน์ของผู้คนอย่างไรบ้าง

1. Mischief Content ถึงเวลาที่คนชอบเสพคอนเทนต์บ้าๆ บอๆ

หมดยุคกับการทำคอนเทนต์จริงจัง คอนเทนต์ประดิษฐ์สวยงาม เพราะวันนี้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมากเริ่มหันมาเสพคอนเทนต์บ้าๆ บอๆ ไร้สาระกันเยอะขึ้น

ผมอยากให้คุณลองไล่ดูคอมเมนต์ในทวิตเตอร์โพสนี้ แล้วคุณจะเข้าใจว่าผมหมายถึงคอนเทนต์แบบไหน

2. Deinfluencing Content คอนเทนต์แนะนำว่าไม่แนะนำให้ซื้ออะไร

อีกหนึ่งเทรนด์โซเชียลที่เห็นได้ชัดในปี 2023 นั่นก็คือกระแสการทำ Deinfluencing Content ซึ่งเดิมที Influencer มักจะทำคอนเทนต์เพื่อแนะนำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยแฮชแท็ก #ของมันต้องมี หรือใดๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันนั่นคือ ชวนให้คนมาใช้จ่ายกันเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งก็มาจากการจ้างของแบรนด์ต่างๆ

แต่วันนี้เราเห็นกระแส Deinfluencing ชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีการทำคอนเทนต์แนวใหม่ที่บอกให้ผู้ติดตามรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรเสียเงินซื้อ หรือไม่ควรเสียเวลาทำ กลายเป็นว่าคอนเทนต์ที่แปลกแหวกแนวแต่จริงใจ เลยได้รับความสนใจจากผู้คนไปมากมาย

ถ้าอยากรู้จักเทรนด์นี้เพิ่มเติม ก็อ่านบทความนี้ในการตลาดวันละตอนต่อได้เลยครับ

3. #Delulu เทรนด์คอนเทนต์สาย Over Acting ที่ได้รับความนิยมกว่า 4,000 ล้านวิวบน TikTok

เมื่อการทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียมักจะแข่งกันทำคอนเทนต์ให้ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น จนในที่สุดก็เริ่มกลายเป็นดีเวอร์ เวอร์ในที่นี้คือการทำคอนเทนต์ที่ดูโอเวอร์เกินจริงมากเกินไป จนบางทีก็แยกไม่ออกว่าเป็นคนโอเวอร์จริงๆ หรือแค่แกล้งแสดงว่าโอเวอร์เพราะทำคอนเทนต์ ยากจะรู้ความจริงได้ แต่มันก็ได้รับความสนใจจากคนเล่นโซเชียลในปัจจุบัน เมื่อคนพยายามหาคอนเทนต์ที่ดูเกินจริงมากขึ้นทุกวัน ลองดูตัวอย่างกันนะครับ

แต่แน่นอนว่าอะไรที่เกินไปมากๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็มักจะมีเสียงตามมาอยู่เสมอ บางก็สนุกสนานชอบพอไปด้วย บ้างก็ต่อว่า อย่างคลิปตัวอย่างนี้ก็มีคอมเมนต์ในทำนองว่า ไปถ่ายคอนเทนต์แบบนี้บนรถไฟฟ้าสาธารณะไม่เป็นการรบกวนคนอื่นหรอ

เราจะเห็นเทรนด์การทำคอนเทนต์แบบสุดโต่ง ทั้ง Over Acting แบบสุดๆ เพราะดูเหมือนว่าผู้คนจะเริ่มหันมาชอบอะไรแบบนี้มากขึ้น ดูเหมือนความตั้งใจทำให้ Fake เพื่อความบันเทิงที่มากขึ้น แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อเทรนด์การทำคอนเทนต์ของแบรนด์ไม่มากก็น้อย ลองมาดูตัวอย่างแนวทางกันนะครับว่านักการตลาดอย่างเราควรต้องหากลยุทธ์การทำคอนเทนต์ในปีหน้า 2024 อย่างไร

1. CGI Marketing Campaign สร้างภาพให้ดูจริงแต่ไม่มีอยู่จริง จนเห็นแล้วอยากให้เกิดขึ้นจริง

จากกระแสคอนเทนต์อะไรแนวนี้ ที่เราเห็นบ้างก็เป็นกระเป๋าแบรนด์เนมวิ่งแทนรถรางในยุโรป ความจริงแล้วคอนเทนต์พวกนี้ไม่มีอยู่จริง เพียงแต่ด้วยเทคโนโลยี AR Filter หรือ Generative Image สามารถทำให้มันดูเหมือนจริงขึ้นง่ายมาก จนทำให้บรรดาเหล่าผู้ที่เห็นบนโซเชียลมีเดียรู้สึกว่า ถ้ามันมีอยู่จริงคงน่าสนใจไม่น้อย

ดังนั้นก่อนจะลงทุนทำแคมเปญการตลาดอะไร ลองแบ่งเงินสักส่วนมาลงทุนทำ CGI Marketing Campaign สักหน่อย เพื่อเทสกลุ่มเป้าหมายว่าถ้าทำขึ้นมาจริงจะว้าวหรืออยากจะรอดูไหมครับ

2. Mocking Marketing Campaign เมื่อสินค้าเราชอบถูกเลียนแบบ ก็ทำแคมเปญการตลาดเลียนแบบตัวเองเสียเลย

Photo: https://www.retaildive.com/news/olaplex-oladupe-dupe-tiktok-trend-marketing-campaign/695719/

วันนี้เรามีสินค้าราคาถูกมากมายขายอยู่บนออนไลน์ในหลากหลายช่องทาง ทำให้แบรนด์ดังคุณภาพดี มักตกเป็นเป้าของการเลียนแบบอยู่เสมอ อย่างแรกคือด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงทำให้ผู้บริโภคพยายามมองหาทางเลือกใหม่ที่ใกล้เคียงแต่ถูกกว่า แต่หลายคนก็ลืมคิดไปว่ามันคงไม่มีอะไรที่ถูกและดีได้ขนาดนั้น

แบรนด์สินค้าดูแลผมที่ชื่อว่า Olaplex ที่มีราคาสูงถึงขวดละ 30 ดอลลาร์ ที่มักถูกคนมารีวิวสินค้าตัวอื่นที่ถูกกว่าว่ามีคุณภาพเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย

@alysialoo

Have you guys heard of OLADUPÉ??😭 It looks & works exactly like Olaplex & the results did not disappoint #OLADUPE #OLAPLEXdupe

♬ original sound – alysialoo

แทนที่แบรนด์จะเลือกทำให้เป็นประเด็นวุ่นวายจนกลายเป็นข่าวดราม่าใหญ่โต แบรนด์กลับเลือกที่จะทำ Mocking Marketing Campaign ทำสินค้าเลียนแบบตัวเองออกมาเลย ด้วยชื่อที่ใกล้เคียงกันมาก นั่นก็คือ Oladupé No.160 แล้วก็จ้าง Influencer มารีวิวหลอกว่าคุณภาพเหมือนกับ Olaplex มาก มากจนท้ายที่สุดก็เฉลยว่าจริงๆ แล้วมันคือ Olaplex แหละ

ทำเอาได้ใจคนดูไปหลายคนที่สนับสนุนการซื้อของแท้คุณภาพดี แทนที่จะไปซื้อของปลอมคุณภาพใกล้เคียง เพราะมันคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องในแง่จริยธรรม

ลองดูนะครับว่าใครที่มักถูกเลียนแบบบ่อยๆ ลองแก้เกมด้วยกลยุทธ์ Mocking Marketing Campaign ดูครับ แล้วคุณจะเห็นว่าใครรักแบรนด์คุณบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ไปต่อยอดกับพวกเขาเหล่านี้ให้กลายเป็น Brand Advocacy ในอนาคต

3. Real-time Marketing Campaign เล่นกับกระแสไร้สาระให้เป็น

Photo: https://www.instagram.com/p/CyEzULsI3of/

หลายครั้งกระแสที่ดูไร้สาระก็อย่าปล่อยผ่านไปทั้งหมด เพราะบางทีมันอาจจะมีที่เราสามารถหยิบมาเล่นกับกระแสแบบ Real-time Marketing Campaign หรือ Context แบบนั้นได้ครับ

อย่างแบรนด์กล้องวงจรปิดแบรนด์หนึ่งในสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าถ้ากล้องวงจรปิดของลูกค้าตัวเองคนไหนสามารถจับภาพมนุษย์ต่างดาวหรือ UFO ได้จริง มารับเงินรางวัล 1,000,000 ดอลลาร์จากแบรนด์ไปได้เลย

นี่คือแคมเปญการตลาดที่มีข่าวท้องถิ่นบอกว่ามีชาวบ้านเห็นเอเลี่ยนหรือ UFO แถวนั้น

สรุป Exaggerated Content Trend 2024 เทรนด์คอนเทนต์ท่ามกลางกระแส Fake News

Exaggerated Content Trend 2024 ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางคอนเทนต์ที่สามารถถูกประดิษฐ์สร้างได้เหมือนจริงแบบง่ายๆ ด้วย Generative AI หรือ Generative Image ในวันนี้ ส่งผลให้การทำคอนเทนต์นั้นมีความ Extreme ยิ่งกว่าเดิม จะทำให้เหมือนจริงนั้นง่าย หรือจะทำให้ดูเกินจริงยิ่งไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ท่ามกลาง Fake News มากมายที่พยายามปั่นกระแสหรือ Manipulate เราเพื่อหวังเป้าอะไรสักอย่าง คนรุ่นใหม่ Gen Z นั้นมีภูมิต้านทานมากกว่าคนรุ่นเก่าอย่างเรามาก นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นว่ามีเทรนด์การทำคอนเทนต์แบบหลุดโลกหรือเกินจริง จนบางครั้งคนก็อาจจะเห็นมันเกิดขึ้นมาจริงๆ เหมือนอย่างรถรางไฟฟ้าที่เป็นกระเป๋าแบรนด์เนมในปารีส

ดังนั้นถ้าเราวางแผนจะทำ Content Marketing Strategy 2024 ให้ปัง ก็ต้องกล้าที่จะทำอะไรแบบหลุดๆ และสุดโต่งไปแบบที่กลุ่มเป้าหมายไม่คิดว่าเราจะกล้าเล่น กล้าทำ แม้เทรนด์นี้จะย้อนแย้งกับเทรนด์ก่อนหน้าบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการทำคอนเทนต์ให้สุดสักด้าน

เรียบง่ายก็เรียบง่ายให้สุด จะบ้าก็บ้าให้สุด อย่าทำคอนเทนต์ครึ่งๆ กลางๆ ไม่อย่างนั้นทั้งปีหน้าคุณจะเสียเวลาทำ Content Marketing ไปอย่างเปล่าประโยชน์ที่สุดครับ

อ่านสรุป 5 Social Media Marketing Strategy Trends & Insights 2024 จาก We Are Social ทั้งหมด

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *