ตัวอย่าง Scarcity Marketing ในไทย ทำให้ลูกค้าโอนไว กระตุ้น Demand

ตัวอย่าง Scarcity Marketing ในไทย ทำให้ลูกค้าโอนไว กระตุ้น Demand

บทความนี้จะมาชวนมาดูตัวอย่าง Scarcity Marketing ที่เป็นการตลาดแบบโน้มน้าวให้ลูกค้าโอนไว เพราะของมีจำนวนไม่มาก แบบให้เห็นภาพชัด ๆ และเป็นไอเดียเก็บไว้ให้นำหรับไปปรับใช้กันต่อค่ะ

ในปี 2023 และเทรนด์ 2024 เรียกได้ว่าต้องเกาะกระแสติดตามให้ดีว่าพฤติกรรมลูกค้าและสื่อดิจิทัลจะมีลูกเล่นอะไรใหม่ ๆ มาท้าทายนักการตลาดกันอีกบ้าง แต่ทฤษฎีที่กำลังจะพูดถึงในวันนี้ไม่ใช้เทคนิคใหม่อะไร แถมยังใช้ได้ตลอดกาลกับหลาย ๆ แบรนด์ที่แม้เทรนด์จะเปลี่ยนไปบ้างก็ยังสามารถปรับใช้ได้อยู่ค่ะ

หลายคนอาจรู้จักในชื่อ Scarcity Principle หรือ Scarcity Effect การตลาดวันละตอนเคยแชร์ในแง่กลยุทธือย่างละเอียดไว้ในบทความ Scarcity Strategy การตลาดโน้มน้าวใจ จำนวนจำกัดที่ทำให้ยอดขายพุ่ง ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าหากมองย้อนกลับไปมีเคสมากมายที่จะสามารถอธิบายให้นักการตลาดเห็นภาพได้อย่างดีค่ะ เลยจะรวบรวมมาให้ชมในบทความนี้ต่อ

อย่างที่ทราบกันดีว่าการตลาดแบบความขาดแคลนหรือ “Scarcity Marketing” เป็น กลยุทธ์การตลาดที่สร้างความรู้สึกของความขาดแคลนและความต้องการด่วนในสินค้าหรือบริการเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อในระยะเวลาที่สั้นลง วิธีนี้ทำให้สินค้าหรือบริการดูมีค่ามากขึ้นในสายตาของลูกค้า โดยอาศัยความรู้สึกว่า “หากไม่ซื้อเดี๋ยวนี้ อาจจะไม่มีโอกาสซื้อได้อีก” ใครแพ้คำนี้มากคะ? พอ ๆ กับคำว่า “ของมันต้องมี” เลยค่ะ เพียงแต่นี่มีขายน้อยกว่า ยิ่งกระตุ้นให้โอนไวเข้าไปอีก

เพราะพฤติกรรมของมนุษย์มักจะถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกของความขาดแคลน เรามักจะต้องการสิ่งที่เราไม่มีหรือสิ่งที่มีจำนวนจำกัด และเมื่อเรารู้ว่าเรามีโอกาสที่จะไม่ได้รับมัน เราจึงรู้สึกว่าต้องการมันมากขึ้นค่ะ การตลาดแบบความขาดแคลนนำความรู้สึกนี้มาใช้เป็นสิ่งกระตุ้นเพื่อเพิ่มยอดขายได้ง่าย ๆ หลายคนอาจคิดว่าเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ทำได้ แต่จริง ๆ แบรนด์ที่มีฐานลูกค้า หรือแพลตฟอร์ม e-commerce ก็สามารถทำได้เช่นกัน และทุกคนก็เคยเห็นผ่านตามาแล้วอย่างแน่นอน ^^

เพราะกลยุทธ์นี้สามารถนำมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การจำกัดเวลาของโปรโมชัน (flash sales) การจำกัดจำนวนสินค้า (limited edition) หรือแม้กระทั่งการแสดงจำนวนสินค้าที่เหลือในสต็อก เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าถ้าไม่ตัดสินใจเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ

คำว่า Out of stock พูดเบา ๆ ก็เจ็บ

อย่างไรก็ดี การใช้กลยุทธ์นี้แบรนด์จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะหากใช้บ่อยเกินไป หรือใช้ในรูปแบบที่ไม่จริงใจกับลูกค้า หมดไม่จริง แรร์ไอเท็มที่แปลว่าเดี๋ยวมีมาเติม?! จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถูกหลอกลวง ทำให้เสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในแบรนด์ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาและวางแผนอย่างรอบคอบเมื่อต้องการนำกลยุทธ์นี้มาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ธุรกิจนะคะ~

มาดูตัวอย่างกันเลยค่ะ ตัวอย่าง Scarcity Marketing ในไทย ทำให้ลูกค้าโอนไว กระตุ้น Demand

Agoda – โรงแรมนี้เหลือห้องสุดท้าย?!

ยังไม่ต้องไปถึงสินค้าค่ะ ใครที่เคยจองที่พักจะทราบดีว่านี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้เราจองห้องเร็วขึ้น หากอยากพักใกล้ๆจุดนี้ หรืออยากได้ที่นี่ก็ต้องจองเลยเพราะเหลือแค่ 1 ห้องที่จะลดราคา 31% หรือเป็นโปรโมชั่นที่จะมีแค่วันนี้เท่านั้นนะจ๊ะ ซึ่งหลายคนก็รู้แหละว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือในเว็บอื่น ๆ ก็มีให้จองแต่ว่าโปรนี้มันราคาดีสุด ๆ กระตุ้นอารมณ์ได้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ

favlens 7.7 ลดวันเดียว

ร้าน Favlens ขายสินค้าคอนแทคเลนส์ที่จะแจกส่วนลดสูงสุด 777 บาท เฉพาะ 7 ก.ค. วันเดียวเท่านั้น วิธีคือให้เก็บส่วนลดแล้วเลือกของได้เลย โค้ดมีจำนวนจำกัดแน่นอน ทำให้เราอยากไปกดโค้ดไว้ก่อน จะไม่ใช้ก็เสียดายซิด้วยสินะ ~ ซึ่งเราจะเห็นโปรแบบนี้จากแบรนด์ไทยบ่อยมาก ๆ จาก e-commerce ชื่อดังในไทยค่ะ เสียทรัพย์กับวันแบบนี้ทุกเดือน เพราะคำว่าเสียดายโค้ด เสียดายโปรทั้งน้านนน

ธนาคารออมสิน แคมเปญ วันออมแห่งชาติ “ฝากปุ๊บรับกระปุกออมสินปั๊บ”

แคมเปญ “ออมดีมีสุข” เพียงฝากเงิน 500 บาท ก็รับไปเลย “กระปุกออมสินบ้านชวนรักษ์โลก” 1 กระปุก ต่อ 1 คน เปิดรับฝากระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-3 พ.ย. 66  แต่ถ้าใครสนใจต้องรีบเพราะของมีจำนวนจำกัด โดยต้องลงทะเบียนจองสิทธิล่วงหน้าด้วยค่ะ

ใคร ๆ ก็รู้ว่ากระปุกจะหมดไวมากกก พอ ๆ กับแคมเปญวันเด็กเลยล่ะค่ะ แบบนี้ก็กระตุ้นการเปิดบัญชีและการออมเงินให้กับลูกค้ารวมทั้งน้อง ๆ หนู ๆ ไม่น้อยเลย เพราะคนเยอะทุกปีค่ะ

เมนู Starbucks ที่มีขายแค่ในไทย เฉพาะช่วงเวลา

ตัวอย่างเมนูที่ผ่านมาไม่นานนี้คือ ลิ้นจี่ เลมอนเชค มีการใช้การเล่นคำเล็กน้อยว่าแรร์สำหรับคนไทยนะ ไม่ขายที่อื่น คล้าย ๆ กับเมนู “ยูนิคอร์นฟรัปปุชิโน่” ในเมนู – ที่ทําจากไอศกรีม รสผลไม้ และขนมรสเปรี้ยว ในต่างประเทศที่หลังจากระบุบนเว็บไซต์ว่าเครื่องดื่มพิเศษจะวางจําหน่ายเพียงไม่กี่วัน ก็ขายหมดอย่างรวดเร็วภายในวันแรกและมีโพสต์ #unicornfrappuccino เกือบ 160,000 โพสต์บน Instagram

Dtac ดีลดีมีแค่วันเดียว

จากค่ายมือถือเราก็จะเห็นได้บ่อยเหมือนกัน กับคำว่าจำกัดจำนวน เฉพาะช่วงเวลา อย่างในเคสนี้เป็นการขายแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตราคาดี แต่ลูกค้าจะได้ก็ต่อเมื่อกดซื้อวันนี้วันเดียวเท่านั้น เป็นต้นค่ะ เป็นโปรที่บริการและกระตุ้นยอดการซื้อแพ็คเกจกลุ่มลูกค้าที่ใช้แบบเติมเงิน

ทั้งนี้ยังมีการจำกัดการซื้อ “โปรวันเดียว” 1 ครั้ง ตลอดรายการอีกด้วยค่ะ

คาเฟ่เอาใจติ่ง จำกัด 100 ชิ้น/วัน

ขอแอบแถมเคสจากเกาหลีเพิ่มเติม นี่เป็นการโปรโมต หรือกิจกรรมพิเศษของไอดอลเกาหลีวง Shinee ค่ะ ในระยะเวลาคัมแบค หรือเฉพาะแฟนคลับ บางกิจกรรมอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นต้องเป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มของไอดอลเกาหลีวงนั้น ๆ

เพื่อซื้อโดนัทรสชาติพิเศษ จำกัดแค่ 100 ชิ้นต่อวัน แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับจำนวนแฟนคลับที่ให้ความสนใจกับศิลปิน แค่ 100 ชิ้นไม่มีทางพอแน่นอนค่ะ~

สรุปรวม ตัวอย่าง Scarcity Marketing ในไทย (แถมเกาหลีเคสนุง)

สินค้ามีขายน้อยจริง ๆ หรือทำให้รู้สึกว่ามีเวลาน้อยในการซื้อ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ทุกคนต้องเคยเจอมารอบตัวอย่างแล้วแน่นอน แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การอ้างถึงหลักการขาดแคลนในการโปรโมตและขายผลิตภัณฑ์อาจเป็นกลยุทธ์การโน้มน้าวใจที่มีประสิทธิภาพค่ะ แต่อย่างที่แชร์ให้ฟังว่าแบรนด์จะต้องทําอย่างถูกต้อง หากคุณพูดคําว่าสินค้ามีจำกัดแต่จริงๆ สต็อกล้นห้องก็อาจจะส่งผลกับความเชื่อมั่นในแบรดน์ ลูกค้าที่รีบซื้อแล้วมาเห็นว่ามีโปรแล้วโปรอีกอาจรู้สึกไม่พอใจได้นะคะ

และมีแนวโน้มว่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมไปอีกหลายปี เพราะวิธีนี้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าพวกเขาต้องซื้อสินค้าหรือบริการในเวลาที่จำกัด เพื่อหลีกเลี่ยงการพลาดโอกาส กระตุ้นยอดขายได้เร็วสุด ๆ

เพราะจะเห็นว่าแบรนด์ในไทยที่ใช้ Scarcity Marketing มักเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่, โปรโมชันพิเศษ, หรือสินค้าพิเศษ และความท้าทายในการใช้กลยุทธ์นี้ก็คือไม่ควรโปรซ้ำ ๆ ใช้บ่อยเกินไป โดยเฉพาะแบรนด์เล็กนะคะ

source

Noon Inch

นุ่น Business Data Research Analyst Specialist | Martech 🙋🏻‍♀️💻ใช้ชีวิตอยู่กับ Social Listening Tools เกือบทุกวันมาร่วม 6 ปี 🙋🏻‍♀️📈ทำงานด้าน Social Data Research ให้กับหน่วยงานรัฐและแบรนด์เอกชน 6 ปี 🙋🏻‍♀️✈️ชอบทำงานและชอบใช้เงิน แล้วก็เป็น K-POP🇰🇷 & Salmon Lover 🍣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *