การตลาด Marketing 4P กับกลยุทธ์สร้างสุดยอดการตลาด 4 มิติ

การตลาด Marketing 4P กับกลยุทธ์สร้างสุดยอดการตลาด 4 มิติ

ถ้าพูดถึงการตลาด 4P หรือ Marketing Mix ผมว่าเพื่อน ๆ นักการตลาดก็คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้วใช่ไหมครับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์คลาสสิกที่ไม่ว่ายังไงก็ลืมไม่ได้เด็ดขาด เพราะทั้ง 4 ปัจจัยนั้น เป็นดั่งพื้นฐานของการตลาดเลยก็ว่าได้ แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมครับ ว่าการจะสร้างสุดยอดการตลาดที่ดีพร้อมทั้ง 4 มิติเนี่ย มีกลยุทธ์อะไรที่จะช่วยพาเราไปถึงเป้าหมายนั้นได้บ้าง เดี๋ยววันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ..

การตลาด Marketing 4P คือ?

ก่อนเข้าเรื่องขอเกริ่นทวนความจำเพื่อน ๆ กันสักนิด การตลาด 4P หรือ Marketing Mix คือกระบวนการทางการตลาดที่ใช้ในการวิเคราะห์วางแผนและดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทถูกขายออกสู่ตลาด โดยประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ Product (ผลิตภัณฑ์) Price (ราคา) Place (สถานที่) และ Promotion (การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย) 

การตลาด 4P / Product (ผลิตภัณฑ์)

Product ใน Marketing Mix คือสิ่งที่บริษัทขายหรือนำเสนอให้กับลูกค้า เพื่อสร้างกำไรให้กลับมาหมุนเวียนในบริษัทและทำให้บริษัทเติบโต ซึ่งเพื่อน ๆ เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ “ไม่มีใครซื้อสินค้าเพราะอยากเห็นคุณรวย ทุกคนซื้อสินค้าเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างหรือสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น” 

ดังนั้นในส่วนของการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หัวใจหลักสำคัญไม่ใช่ความต้องการของผู้ผลิตเอง แต่คือความต้องการของลูกค้า หรือ Pain Point ซึ่งหน้าที่ของการเจ้าของธุรกิจคือ การสนอง Pain Point ของลูกค้าด้วย Solution ที่ดี และแก้ปัญหาได้จริง

แต่คุณจะแน่ใจได้ยังไงครับว่าสิ่งที่คุณคิดมันคือ Pain Point ของลูกค้าจริง ๆ หรือเป็นแค่ Bias ทางความคิดของคุณเอง และ Solution ของคุณมันจะตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงหรือเปล่า ดังนั้นจะดีกว่าไหมครับ ถ้าคุณมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบในการทำ Reseach & Deverlopment เพื่อพิสูจน์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ด้วย Design Thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบ

การตลาด 4P กับกลยุทธ์สร้างสุดยอดการตลาด 4 มิติ

Design Thinking

สำหรับ Design Thinking ในการตลาด 4P นั้น เป็นกระบวนการในการคิดเชิงออกแบบที่เน้นการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้หรือลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดกับสินค้าของเรา โดยใช้วิธีการที่มุ่งเน้นการตั้งคำถาม ทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหา และการทดลองความต้องการตลาดเพื่อที่เพื่อน ๆ จะได้ไม่ต้องลงทุนแบบวัดดวง และรับความเสี่ยงที่มากเกินความจำเป็น โดยกระบวนการในการทำ Research & Development นั้น จะมีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอนดังนี้

Empathize การทำความเข้าใจปัญหา..

เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจปัญหา และสัมผัสประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเผชิญกับปัญหาจริง เช่น หากกลุ่มเป้าหมายของคุณคือคนพิการ การที่คุณจะลองใช้ชีวิตบนรถเข็นคนพิการ ก็อาจช่วยให้คุณเห็นและเข้าใจ Pain Point ของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึึ้น เพื่อทำความเข้าใจความต้องการที่ซ่อนอยู่ หรือาจใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม หรือการทำแบบสอบถามก็สามารถช่วยให้เข้าใจปัญหาได้มากขึ้นเช่นกัน

Define การกำหนดปัญหา..

เมื่อได้สัมผัสประสบการณ์ที่กลุ่มเป้าหมายต้องเผชิญแล้ว ลำดับต่อไปคือการกำหนดปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติสำหรับการคิดค้น Solution ที่เราจะใช้แก้ไขปัญหาในลำดับถัดไป

Ideation การคิดค้นแนวทางการแก้ไข..

เมื่อได้ Pain Point ที่เราต้องการจะแก้ไข และพิสูจน์แล้วว่ามี Pain Point นั้น ๆ เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายจริง ก็จะมาถึงขั้นตอนของการจ่ายยาตามอาการ หรือก็คือการสร้างสรรค์ Solution เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

Prototype การสร้างต้นแบบ..

สร้างต้นแบบหรือโมเดลผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทดสอบ Solution ที่ได้คิดค้นขึ้น โดยอาจขอข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และเก็บข้อมูลมาพัฒนาต้นแบบต่อไป เพื่อที่จะได้ต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะนำออกไปทดสอบกับผู้ใช้จริงในลำดับต่อไป 

Test การทดสอบ..

ในลำดับสุดท้ายคือการทดสอบโมเดลหรือต้นแบบกับผู้ใช้จริง เพื่อรับฟีดแบ็คกลับมาปรับปรุงไอเดีย และเรียนรู้จากผลการทดสอบเพื่อพัฒนาต่อไป รวมถึงการทดสอบความเป็นไปได้ของตลาด ทั้งความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือเปล่า หากเทคโนโลยีไม่พร้อมหรือยังไม่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นจริงได้ ก็ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะลงทุนกับมัน

ความเป็นไปได้ทางการตลาด เช่น ส่วนแบ่งตลาดมีมากพอให้เข้าไปแข่งขันไหม หากเผลอเข้าไปในตลาดที่มีเจ้าถิ่นครองตลาดอยู่แล้ว หากสินค้าคุณไม่แน่พอก็มีโอกาสสูงที่จะต้องพับเสื่อกลับบ้าน อย่างสุดท้ายคือความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เช่น แนวคิดของเรานั้นต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่? มีเงินลงทุนหรือไม่? คืนทุนกี่ปี? มีโอกาสเติบโตหรือเปล่า? ถ้าคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ คุณก็จะได้คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า จะลงทุนดีไหม?

ดังนั้นสรุปได้ว่าการใช้ Design Thinking ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้จริง และตอบ Pain Point ได้ตรงจุด อีกทั้งยังช่วยให้เพื่อน ๆ นักธุรกิจ นักการตลาดทั้งหลาย ไม่ต้องทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากในการลองผิดลองถูก เพราะหาก”พลาดไอเดียมันไม่เวิร์คขึ้นมา การใช้ Design Thinking จะช่วยลดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

Case Study: Airbnb

  • Empathize: ทีมผู้ก่อตั้ง Airbnb ทราบมาว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มีความต้องประสบการณ์การเดินทางที่ไม่ซ้ำซาก และมีที่พักที่สะดวกสบายและหลากหลายรองรับอยู่ทุกที่ที่เดินทาง 
  • Define: พวกเขากำหนดปัญหาในเชิงธุรกิจ ว่าการค้นหาที่พักที่เหมาะสม และไม่ซ้ำซากเป็นภาระของผู้เดินทาง จึงกำหนดปัญหาการหาที่พักสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว
  • Ideate: ทีม Airbnb คิดค้นแนวคิดใหม่ ๆ เช่น ให้ผู้คนสามารถเปิดให้เช่าห้องพักที่ว่างในบ้านของพวกเขาได้ เพื่อให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสกับสถานที่และวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด
  • Prototype: พวกเขาสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่อนุญาตให้คนเช่าห้องพักของพวกเขาแก่นักท่องเที่ยวได้ 
  • Test: พวกเขาทดสอบแพลตฟอร์มกับกลุ่มเล็ก ๆ ของผู้ใช้งาน และรับข้อฟีดแบ็คกลับมาเพื่อปรับปรุง ตลอดจนเรียนรู้จากการใช้งานจริง เพื่อพัฒนาต่อไปจนถึงปัจจุบัน

ด้วยการใช้ Design Thinking ทำให้ Airbnb ได้สร้างแพลตฟอร์มการเช่าที่พักที่หลากหลาย และเปลี่ยนวิธีการเดินทางของผู้คนทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นการปฎิวัติวงการท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับการใช้ Design Thinking ซึ่งลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่ไม่จำเป็น และสร้างผลลัพธ์ที่ตอบรับความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าอย่างแท้จริง

การตลาด Marketing 4P / Price (ราคา)

Price สำหรับ Marketing Mix คือราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ การกำหนดราคาสามารถส่งผลต่อยอดขายและกำไรของบริษัทได้ ดังนั้นราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดความมั่นคงของธุรกิจ เพราะเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มหายตายจากเราไป สาเหตุมาจากรายรับน้อยกว่ารายจ่ายนั่นเอง ดังนั้นกลยุทธ์การตั้งราคาจึงสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากใช้มันอย่างเหมาะสมกับธุรกิจ ถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์

7 กลยุทธ์ราคา Pricing Strategy

Value-based Pricing กับ Coca Cola

เป็นกลยุทธ์ตั้งราคาตามราคาตลาดและคู่แข่ง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า เหมาะกับธุรกิจที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว เช่น Coca Cola ที่เป็นแบรนด์น้ำอัดลมเจ้าตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นการตั้งราคาตามความเหมาะสมกับตลาด จะช่วยให้สามารถรักษาลูกค้าเก่าได้ดีกว่า

Penetration Pricing กับ Flash Express

เป็นกลยุทธ์ตั้งราคาต่ำกว่าราคาตลาดและคู่แข่งเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ เหมาะกับธุรกิจใหม่ที่ต้องการรุกตลาดหรือสินค้าที่เปลี่ยนได้ง่าย ความถี่ในการซื้อสูง เช่น การเข้ามาของแพลตฟอร์ม E-Commerce น้องใหม่อย่าง Flash Express ที่ใช้กลยุทธ์ราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อสร้างฐานลูกค้าและดึง Market Share มาจากเจ้าตลาดอย่าง Curry Express ได้พอสมควร จนขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดอีกเจ้าในเวลาไม่นาน

Premium Pricing กับ Apple

เป็นกลยุทธ์ตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยใช้ Branding ที่แข็งแกร่ง ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงคุณค่าบางอย่างที่คุ้มค่าที่จะจ่าย ทั้งด้าน Emotional และ Functional เช่น การตั้งราคาแบบ Premium Pricing ของ Apple ที่ใช้พลังแห่ง Branding เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ Prumium Pricing มีมนต์ขลังต่อลูกค้าอย่างมาก

Psychological Pricing กับ Marshall

เป็นกลยุทธ์ตั้งราคาโดยอ้างอิงจิตวิทยาของมนุษย์เป็นตัวกำหนด โดยแบ่งการตั้งราคาออกเป็น 2 แบบ ซึ่งแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

  • #Odd Pricing ตั้งราคาลงท้ายด้วย 9 ให้รู้สึกราคาถูก เช่น ลำโพงราคาถูกตามตลาด มักตั้งราคาลงท้ายด้วยเลข 9 เพื่อตอกย้ำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย และมีราคาถูกกว่าราคาที่ตั้งเต็มจำนวน 
  • #Even Pricing ตั้งราคาลงท้ายด้วย 0 เพื่อให้สินค้า เช่น ลำโพงแบรนด์ดัง อย่าง Marshall ที่ตั้งราคาสินค้าของตนโดยลงท้ายด้วยเลข 0 เพื่อตอกย้ำว่า Position ของสินค้านั้นอยู่ในระดับสินค้าคุณภาพที่ไม่จำเป็นต้องลดราคาก็ขายได้

Decoy Pricing กับ Tesla

ตั้งราคาโดยสร้างตัวเลือกหลอกที่ดูไม่คุ้มค่า ให้ลูกค้าเลือกตัวเลือกอื่นที่จ่ายมากกว่าแต่รู้สึกคุ้มค่ากว่า เช่น การลดราคา Tesla Model Y ของ Tesla ที่ลดราคาลงมาทั้ง 3 รุ่น โดยตั้งราคาให้การซื้อสินค้าตัว Top สุดอย่างรุ่น Performance จะคุ้มค่ากว่าหากจะซื้อตัวกลางอย่างรุ่น Long Range เพราะเพิ่มเงินแค่อีกไม่มากก็จะได้รุ่น Top แล้วนั่นเอง

Bundle Pricing กับ KFC

ตั้งราคาขายเป็นเซต ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากว่าซื้อชิ้นเดียว และทำให้ยอดขายต่อบิลเพิ่มขึ้น เช่น การขายเซตไก่ของ KFC ที่ตั้งราคาให้ถูกกว่าการซื้อแยกชิ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายต่อบิลได้มากกว่า

Seasonal Pricing กับ Shopee

ตั้งราคาขายตามเทศกาลหรือฤดูกาล เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนของลูกค้าในช่วงนั้น ๆ โดยอาจเพิ่มราคาเมื่อถึงฤดูกาลที่มีลูกค้าเยอะ เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน เป็นต้น หรือจะลดราคาเพื่อเรียกลูกค้าในเทศกาลหรือวันสำคัญ เช่น แคมเปญ Double Day ของ Shopee ที่จะมีโปรโมชันส่งเสริมการขายในทุกวันที่มีเลขคู่ของทุกเดือน

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างและคำอธิบายสั้น ๆ แต่เชื่อว่าก็น่าจะพอทำให้เพื่อน ๆ เห็นภาพกันแล้วนะครับ แต่ถ้าอยากทำความเข้าใจกลยุทธ์ราคาเพิ่มเติม ตามไปดูจากบทความเต็มได้เลยครับ

การตลาด Marketing 4P / Place (สถานที่)

สำหรับ Marketing Mix ในด้านสถานที่นั้น นอกจากตลาดหรือหน้าร้านแล้ว ในปัจจุบันสถานที่ในที่นี้ยังหมายรวมถึงช่องทางบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกด้วย เพราะในปัจจุบันธุรกิจที่โตบนออนไลน์โดยไม่ง้อหน้าร้านหรือโมเดิร์นเทรดนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว และนอกจากนั้นยังมีกลยุทธ์ช่องทางการขายอีกหลายช่องทาง ที่วันนี้ผมจะหยิบยกมาให้เพื่อน ๆ ดูเป็นตัวอย่างกันครับ

การตลาด 4P กับกลยุทธ์สร้างสุดยอดการตลาด 4 มิติ
  • การขายตรงเป็นกลยุทธ์การขายสินค้าหรือบริการโดยตรงจากผู้ผลิตหรือผู้ขาย โดยไม่ผ่านคนกลาง โดยอาจเป็นการสร้างทีมขายขึ้นมาในบริษัท และทำการเสนอขายสินค้ากับกลุ่มลูกค้าโดยตรง เช่น การที่ Netflix ผลิตผลงานภาพยนตร์หรือซีรีส์ และเผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
  • การขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ การขายสินค้าหรือบริการผ่านแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์โดยตรง เช่นการขายแอปพลิเคชัน หรือการขายหนังสือบนแอปพลิเคชันอ่านหนังสือ เป็นต้น อย่างบริษัท Airbnb ที่ให้บริการจองที่พักผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้กับผู้เช่าทั่วโลกผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์
  • การขายผ่านแฟรนไชส์ การขายสินค้าหรือบริการโดยใช้ระบบการแจกจ่ายแบบโฟร์แมต อย่างบริษัท McDonald’s ที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์ยักษ์ใหญ่ ที่เปิดให้เหล่านักธุรกิจเข้ามาเป็นแฟรนไซส์ซี เพื่อบริหารร้านในพื้นที่ของตน
  • การขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย การใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ เพื่อการตลาดและการขายสินค้าหรือบริการ เช่น พิมรี่พาย ที่เติบโตมาจากการเป็นแม่ค้าออนไลน์ จาก Social Media จนกลายเป็นเจ้าแม่อินฟลูเอ็นเซอร์ที่โด่งดังจนถึงทุกวันนี้

นี่แค่ยกตัวอย่างมาส่วนนึงนะครับ ความจริงยังมีอีกหลากหลายรูปแบบการขายให้เพื่อน ๆ เลือกใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนขาย การจ้างเอเจนซีการตลาด รวมไปถึงการขายผ่านหน้าร้านเลยครับ

การตลาด Marketing 4P / Promotion (การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย)

Promotion ใน Marketing Mix คือกิจกรรมทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นความสนใจในสินค้าหรือบริการ เช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ การยิง ADs บนแพลตฟอร์ม และกิจกรรมหรืองานเปิดตัวต่าง ๆ กลยุทธ์ส่งเสริมการขายนั้น ก็เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าหันมาสนใจสินค้าของเรา

การตลาด 4P กับกลยุทธ์สร้างสุดยอดการตลาด 4 มิติ

Cashback and Reward Points คืนเงินและแต้มสะสม..

ให้ลูกค้าได้รับเงินคืนหรือรับแต้มสะสม เมื่อทำตามเงื่อไขที่กำหนดเพื่อส่งเสริมการขายให้ลูกค้ายินดีจ่ายมากขึ้น และเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ เช่น รับคืนเงินสูงสุด 5% เมื่อชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน Wallets หรือเมื่อชำระถึงยอดขั้นต่ำ

Limited-Time Promotions โปรโมชันจำกัดเวลา

จัดโปรโมชันที่จำกัดเวลาหมดเขตไว้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิด Fear of Loss และเกิดการซื้อสินค้าหรือบริการ โดยอาจใช้ช่วงเวลาพิเศษหรือวันสำคัญในการจัดกิจกรรม เช่น โปรโมชันลดราคาเฉพาะวันที่ 11.11 หรือ Black Friday

Contests and Freebies จัดกิจกรรมลุ้นรางวัล

จัดกิจกรรมลุ้นรางวัลเมื่อลูกค้าทำการชำระเงินหรือซื้อสินค้าบางรายการ เพื่อร่วมสนุกและยังช่วยสร้าง Customer Experience กับผู้ชนะรางวัลอีกด้วย เช่น รับสิทธิ์ในการลุ้นรับรางวัลเมื่อชำระเงินผ่าน E-wallets หรือส่งของแถมเมื่อซื้อสินค้าครบกำหนด

Partnership Promotions โปรโมชันร่วมกับพันธมิตร

จัดโปรโมชันร่วมกับพันธมิตร หรือใช้การ Co-Branding โดยจัดกิจกรรมร่วมกับแบรนด์พันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมการตลาด หรือโปรโมชันส่งเสริมการขาย เช่น สมัครบัตรเครดิต และรับส่วนลดเมื่อชำระเงินกับร้านค้าร่วมโครงการ หรือการออกสินค้าพิเศษที่ร่วมออกแบบกับแบรนด์พันธมิตร

Installment Payment Service การให้บริการผ่อนชำระเงิน

การให้บริการผ่อนชำระเงินช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนในรอบเวลาเดียว แต่สามารถแบ่งชำระเป็นงวดตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งช่วยให้ลูกค้ายังคงสามารถบริหารกระแสเงินสดได้ และทางร้านก็ได้รับยอดขายที่มากขึ้น

การตลาด Marketing 4P กับ Apple

Product: IPhone เป็นสมาร์ทโฟนที่มีคุณภาพสูงและดีไซน์ที่เรียบง่าย อีกทั้งยังมี Story Telling ที่สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์สูงมาก และยังเป็นบริษัทผู้นำเทรนด์ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดปีต่อปี และยังมีฟังค์ชันและ UX/UI ที่ให้ประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สินค้ามีควาพิเศษกว่าสินค้าอื่นในด้าน Emotion

Price: ราคาของ IPhone จะใช้กลยุทธ์ Premium Pricing เป็นหลัก ซึ่งจะตั้งราคาสูงกว่าสมาร์ทโฟนอื่น ๆ ในตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความหรูหรา สะท้อน Position ของแบรนด์เป็นอย่างดี

Place: IPhone จำหน่ายทั่วโลกผ่านตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าต่าง ๆ รวมถึง Apple Store ของตัวเองอีกด้วย ในปัจจุบันช่องทางออนไลน์ แพลตฟอร์ม E-Commerce หรือช่องทาง Social Media ก็เริ่มเห็น IPhone มีวางจำหน่ายกันถ้วนหน้าแล้วในปัจจุบัน

Promotion: Apple ใช้การโฆษณาทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ลูกค้ามีความต้องการที่จะใช้ IPhone อีกทั้งกระแสสังคมยังตอบรับแคมเปญต่าง ๆ จากแบรนด์ผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีอย่าง Apple เป็นอย่างดี

สรุป

ในการจะสร้างความแข็งแกร่งด้านการตลาดทั้ง 4 มิตินั้น เราจำเป็นต้องใช้หลากหลายปัจจัยเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกันทั้ง 4 ด้าน จึงจะเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ดังนั้นแม้ Marketing Mix 4P จะเป็นการตลาดพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็รู้จักอยู่แล้ว

แต่การจะใช้ให้เกิดผลดีที่สุดนั้นจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ่งและเพียงพออีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่ากระบี่อยู่ที่ใจ หากคนใช้มีดี แค่ฝักกระบี่ก็ไร้เทียมทานจริงไหมครับ เผลอๆ หากเพื่อน ๆ ทำทั้ง 4 ด้านนี้ออกมาดีพอ เพื่อน ๆ อาจไม่ต้องพยายามหากลยุทธ์หรือแคมเปญการตลาดใหม่ๆ มาดึงดูดลูกค้าเลยด้วยซ้ำ เพราะของที่ดีมักจะขายตัวเองได้อยู่แล้ว ผมหวังว่าบทความนี้จะให้ประโยชน์กับเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ

อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะครับ

Pongsakorn Inrin

Hi~ I'm Mikey.. ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกงานเขียน หวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่ผ่านมาทางนี้นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *