เทคนิค ทำคอนเทนต์ Affiliate Marketing อย่างไร ให้ตรงใจเป้าหมาย!

เทคนิค ทำคอนเทนต์ Affiliate Marketing อย่างไร ให้ตรงใจเป้าหมาย!

Affiliate Marketing เป็นอีกหนึ่งเทคนิคทางการตลาดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กลับมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงจนเป็นที่น่าจับตามอง โดยข้อมูลจาก Priceza Insights แหล่งรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของวงการ E-commerce ในไทยเผยว่า

Priceza Insights

ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจกับ Micro Influencer มากขึ้น ประกอบกับในปัจจุบันแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นถูกออกแบบให้ผู้ใช้ได้แชร์เรื่องราว ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่ชอบถ่าย ชอบรีวิว การที่คนธรรมดาจะเป็น Influencer จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป วันนี้จึงอยากจะมาแชร์เทคนิคการทำคอนเทนต์ Affiliate Marketing อย่างไร ให้เป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลยดีกว่า!

ทำความรู้จักกับ Affiliate Marketing 

อธิบายก่อนว่าใน Affiliate Marketing System นั้นประกอบด้วยบุคคล 3 ส่วน ได้แก่ 

  • บุคคลที่ 1 : ผู้ต้องการโฆษณา (Advertiser) – เจ้าของธุรกิจ, ผู้จำหน่ายสินค้า/บริการ 
  • บุคคลที่ 2 : ผู้แทนการขาย (Affiliater) – อาจเรียกว่า “ผู้แทนการขาย” คือ คนที่นำลิงก์สินค้า/บริการไปทำการโพรโมตในช่องทางต่าง ๆ
  • บุคคลที่ 3 : ลูกค้า (Customer) – ผู้ซื้อสินค้า/ใช้บริการ
  • *ผู้ให้บริการ Affiliate Program (Platform) – ในกรณีที่แบรนด์ไม่ได้ทำ Affiliate Program เอง แต่ใช้บริการ Affiliate ของ E-commerce Platform อื่น เช่น Shopee, Lazada, Amazon, ฯลฯ เป็นต้น

Affiliate Marketing คือ “การทำการตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่เจ้าของธุรกิจ (บุคคลที่ 1) ว่าจ้างให้บุคคล หรือบริษัท (บุคคลที่ 2) ทำการโพรโมตสินค้า/บริการ เพื่อดึงดูดลูกค้า (บุคคลที่ 3) ให้คลิกเข้ามาชม หรือซื้อสินค้า โดยให้ค่าคอมมิชชันเป็นสิ่งตอบแทน” นั่นเอง

เริ่มทำ Affiliate Marketing อย่างไรดี?

โดยเทคนิคที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จะเป็นการนำความรู้ในด้าน Content Marketing มาประยุกต์ใช้กับการทำ Affiliate ด้วย จะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันเลย!

กำหนดกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนที่จะเริ่มทำ ต้องทราบถึงความต้องการ, ปัญหา, และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายก่อน พวกเขามีอายุเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่, อาชีพอะไร, มีความสนใจในเรื่องอะไร, มีไลฟ์สไตล์อย่างไร, เสียเงินไปกับสิ่งไหนมากที่สุด, ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถเลือกสินค้า/บริการที่จะทำ Affiliate, แพลตฟอร์มที่จะใช้โพรโมต และออกแบบรูปแบบการสื่อสาร ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ศึกษาข้อกำหนด ของแพลตฟอร์มที่จะทำ Affiliate Marketing ให้ดี

เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน และมีการอัปเดตอยู่เสมอ ซึ่งหาก Affiliater ไม่ศึกษาให้ดี อาจทำให้คอนเทนต์นั้นถูกปิดกั้นการมองเห็น หรือโดนแบนจากแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างข้อกำหนดของ Facebook ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้อัปเดตข่าวสาร แชร์เรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากโพสต์ขายของอย่างชัดเจน หรือถี่เกินไป คอนเทนต์ของคุณก็จะโดนปิดกั้นการมองเห็นไปในที่สุด เนื่องจากมีเนื้อหาขัดกับจุดประสงค์การใช้งานของ Facebook 

เทคนิค ทำคอนเทนต์ Affiliate Marketing อย่างไร ให้ตรงใจเป้าหมาย!

คอนเทนต์ต้องสอดคล้อง คอนเซปต์ต้องชัดเจน

กำหนดคอนเซปต์ให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอนั้นจัดอยู่ในประเภทใด อาหาร, ท่องเที่ยว, ไลฟ์สไตล์ หรืออื่น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น คอนเซปต์ของเรา คือ “การท่องเที่ยว” มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการท่องเที่ยว ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว เหมาะกับการไปแคมปิง คอนเทนต์ของเราอาจจะเป็นการ “มัดรวมไอเทมเดินป่าสุดเจ๋งที่สายแคมปิงต้องมี!” แล้วรวบรวมสินค้าที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ลืมที่จะแปะ Affiliate Link ไว้ด้วย

สื่อสารครบถ้วน ชัดเจน และจริงใจ 

การเลือกสินค้าที่จะโพรโมตนั้น Affiliater ควรทำการศึกษารายละเอียดของสินค้าที่จะโพรโมตให้ดี เพื่อที่จะได้นำเสนอข้อมูลของสินค้าได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ควรใช้รูปภาพประกอบการทำคอนเทนต์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เห็นรายละเอียดของสินค้าจริง นอกจากนี้การสะกดคำให้ถูกต้อง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คอนเทนต์ของเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

>> ไม่มั่นใจว่าคำนี้สะกดอย่างไร สามารถเช็กได้ที่นี่เลย “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” หมวดหมู่ “บริการวิชาการ”

โดยรูปแบบของการทำคอนเทนต์นั้นไม่จำกัดว่าต้องเป็นรูปภาพ, หรือวิดีโอ (ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปภาพ หรือวิดีโอ เพราะภาพ และเสียง สามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่า) โดยไอเดียที่สามารถพบเห็นได้อยู่บ่อย ๆ มักจะเป็น การรีวิวสินค้า, Unboxing, How-To, รวมลิสต์สิ่งของ, และอื่น ๆ เป็นต้น

องค์ประกอบที่สำคัญ :

  • แคปชัน – ระบุว่าสินค้าคืออะไร และอะไรคือจุดเด่นของสินค้า โดยแคปชันจะสั้น หรือยาว ขึ้นอยู่กับสินค้าที่โพรโมต เช่น สกินแคร์ เครื่องสำอางต่าง ๆ อาจต้องใช้แคปชันยาว เพราะผู้ซื้อต้องการอ่านรายละเอียดประกอบการตัดสินใจซื้อ 
  • รูปภาพ หรือวิดีโอ – แสดงรายละเอียดของสินค้าจริง ชัดเจน สวยงาม และน่าสนใจ 
  • ลิงก์พิกัดสินค้า – ช่องทางที่จะนำไปสู่หน้าของการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม

Picture Layout สำคัญมาก!

การจัดวางรูปภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ Affiliater ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้ภาพคอนเทนต์ของตัวเองออกมาขาดครึ่ง หัวหาย หรือเห็นแค่เสี้ยวเดียวหรอกใช่ไหมล่ะ Layout ที่แสดงรายละเอียดของสินค้าครบถ้วน สวยงาม และชัดเจนตั้งแต่หน้าฟีด ยังมีส่วนช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ที่เห็นโพสต์อีกด้วย

รับฟัง Feedback มาปรับปรุง พัฒนาอยู่เสมอ

เพราะเทรนด์การตลาดนั้นมีการอัปเดตอยู่ตลอด การอัปเดตคอนเทนต์เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ จะช่วยให้ Affiliater สร้างคอนเทนต์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้มากขึ้น รวมไปถึงสามารถรักษาฐานผู้ติดตามเดิมไว้ได้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

เปรียบเทียบข้อดี – ข้อเสีย ของการทำ Affiliate Marketing

ผู้ต้องการโฆษณา (Advertiser)

  • สะดวกในการทำ

เนื่องจากมี Affiliater ทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายสินค้าให้อยู่แล้ว ดังนั้นแบรนด์จึงมีหน้าที่แค่สต๊อกสินค้า พัฒนาสินค้า, และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า เพื่อให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือ เกิดการบอกต่อกันในกลุ่มผู้ใช้นั่นเอง

  • ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก

แบรนด์จะเสียค่าใช้จ่ายก็ต่อเมื่อมีการคลิกเข้าชม หรือซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ผลลัพท์ที่ได้ คือ Brand Awareness ที่เพิ่มขึ้นจากการโฆษณาของ Affiliater แม้จะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นก็ตาม

  • ได้ Insight ของลูกค้า

โดยการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อการนำเสนอของ Affiliater, พฤติกรรมของลูกค้าบนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยทำให้แบรนด์สามารถวางแผนทำการตลาด รวมไปถึงพัฒนาสินค้าให้มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

ปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อสินค้าของคน Gen Z นั่นก็คือ การแนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาติดตาม หากแบรนด์เลือก Affiliater เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่สอดคล้องกับสินค้าของแบรนด์แล้ว จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์มากขึ้นอีกด้วย

  • ไม่สามารถควบคุมการนำเสนอของ Affiliater ได้

หาก Affiliater ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านที่สอดคล้องกับสินค้าของแบรนด์ การนำเสนอของพวกเขาอาจทำให้เกิดการสื่อสาร และให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ดังนั้นจะเป็นการดีหากแบรนด์มีการสื่อสาร ส่งข้อมูลสินค้าให้กับ Affiliater อย่างสม่ำเสมอ

  • ไม่คุ้มสำหรับธุรกิจที่มีกำไรต่ำ

ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ Affiliater อาจต้องใช้งบการตลาด และหากมีการขายเกิดขึ้นน้อย หรือไม่เกิดขึ้นเลย อาจทำให้เกิดการขาดทุน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ มีคนคลิกเข้ามาดูสินค้าเยอะมาก แต่มีน้อยคนที่จะซื้อ สำหรับบางแพลตฟอร์ม แบรนด์ก็ต้องจ่ายในส่วนของ Pay per Click ให้กับ Affiliater ด้วยเช่นกัน

ผู้แทนการขาย (Affiliater)

  • สร้าง Passive Income

เพียงแค่นำลิงก์โพรโมตสินค้าไปเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ ให้คนคลิก ก็จะได้ค่าคอมมิชชันโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ทั้งยังสามารถรับรายได้ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

  • ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องสต๊อกสินค้าเอง

สิ่งที่ต้องลงทุนนั้นมีเพียงแค่เวลา และอุปกรณ์สำหรับโพสต์เผยแพร่การโพรโมตเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะเป็น Social Account ของ Affiliater เอง หรือจะทำเป็นหน้าเว็บไซต์อย่าง iprice Thailand ที่รวบรวมสินค้าต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียว ก็เป็นความคิดที่น่าสนใจไม่น้อย

  • ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดว่าต้องทำมากน้อยแค่ไหน

เป็นรูปแบบการตลาดที่แบรนด์ และ Affiliater ต่างก็ได้ผลประโยชน์แบบ Win-Win ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่มีขั้นต่ำ ผลตอบแทนจะมาก หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ และเนื้อหาในการโพรโมตของ Affiliater

  • ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง

Affiliater มีหน้าที่เพียงนำลิงก์โพรโมตสินค้าไปเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ต้องสต๊อกสินค้า, ไม่ต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า, หรือคำนวนต้นทุน-กำไรใด ๆ ทั้งนี้ Affiliater เอง ก็ต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างจริงใจ ไม่บิดเบือน หรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้แบรนด์เสื่อมเสียชื่อเสียง และเสี่ยงต่อการถูกแบรนด์ฟ้องร้องได้

  • การแข่งขันสูง

เนื่องจากเป็นรูปแบบการตลาดที่ใครก็สามารเข้ามาเป็น Affiliater ได้ จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงในกลุ่มของ Affiliater ด้วยกันเอง โดย We Are Social บริษัทเอเจนซีจากสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขของผู้ใช้งาน Social Media ในไทย ปี 2565 นั้นอยู่ที่ประมาณ 52.25 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 72.8% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนอกจากผู้ใช้ Social Media เหล่านี้จะเป็นผู้เสพคอนเทนต์แล้ว ก็ยังเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน

  • ค่าตอบแทนต่อหน่วยที่ต่ำ & ใช้เวลานานในการสร้างรายได้

เนื่องจากค่าตอบแทนที่ Affiliater จะได้รับนั้น คือ เปอร์เซ็นส่วนแบ่งที่ได้จากการขายสินค้า หากเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง ค่าคอมมิชชันก็จะไม่สูงด้วยเช่นกัน และในกรณีที่ Affiliater นั้น เป็นบริษัทที่สร้าง Affiliate Marketing Website ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจดโดเมน และการเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ด้วยเช่นกัน

  • ไม่มีการการันตีรายได้

การจ่ายค่าตอบแทนของการทำ Affiliate นั้น เป็นการจ่ายแบบ Pay-per-performance (ค่าตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับผลงาน) ทำมาก ก็ย่อมได้ค่าตอบแทนที่สูง

  • จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์

เพื่อที่จะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาซื้อสินค้า/บริการ ตัว Affiliater เอง จำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของทั้งกลุ่มเป้าหมาย และผู้ติดตามของตนเอง เพื่อที่จะเลือกสินค้าได้ตรงต่อความต้องการของผู้คน และนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ตรงใจของกลุ่มเป้าหมาย

ลูกค้า (Customer)

  • ได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการ

เพราะการนำเสนอของ Affiliater นั้น มักมาพร้อมกับเนื้อหาที่ช่วยให้ลูกค้าทราบรายละเอียดของสินค้าที่พวกเขาสนใจ Affiliate marketing จึงเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาสินค้า เปรียบเทียบคุณภาพ และราคา เพื่อให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

  • สะดวก รวดเร็ว

แทนที่จะกดออกจากหน้าแอปฯ ปัจจุบัน และพิมพ์คำค้นหาในแพลตฟอร์ม ซึ่งกว่าจะเจอสินค้าที่ต้องการก็ใช้เวลานานพอสมควร แต่โพสต์ของ Affiliater จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินค้าได้เลย เพียงแค่คลิกลิงก์เท่านั้น

  • ส่วนลด และข้อเสนอพิเศษ

หากซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่กำหนด ผู้ซื้อจะได้รับสิทธิพิเศษ อาทิ ส่วนลด โพรโมชัน ฯลฯ เป็นต้น

  • เสี่ยงได้สินค้าไม่ตรงปก 

เนื่องจากการทำ Affiliate มักมีค่าคอมมิชชันเป็นแรงจูงใจ จึงทำให้บางครั้ง Affiliater อาจให้รายละเอียดของสินค้าที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง หรือไม่ได้คัดกรองสินค้าให้ดี ทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปก

  • พี่มิจ (ฉาชีพ) ในคราบของ Affiliater

ก่อนทำการคลิกลิงก์ใด ๆ ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า Affiliater ที่นำเสนอสินค้านั้น เป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ ให้รายละเอียดสินค้าตามความเป็นจริง และลิงก์ที่แนบมาต้องไม่ใช่ลิงก์ที่มีลักษณะผิดวิสัย เช่น ถ้าระบุว่าพิกัดสินค้าใน Shopee ก็ควรเป็น URL ที่ขึ้นต้นว่า https://shopee.co.th เพื่อไม่ถูกหลอกลวง หรือสูญเสียเงิน หากไม่แน่ใจสามารถก็อปปี้ลิงก์ที่น่าสงสัย และนำไปเช็กได้ที่ https://checkshorturl.com/

ผู้ให้บริการ Affiliate Program (Platform)

  • สร้างรายได้จากการเป็น Affiliate Platform 

ยกตัวอย่าง Shopee ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการกับแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าคอมมิชชันจากสร้างการขายสินค้า/บริการ ผ่านลิงก์. การสร้างรหัสส่วนลดที่ Advertiser โฆษณาไปยังผู้บริโภค, การเสียค่าจัดทำรายการ เมื่อมีการถอนเงินจากบัญชี Affiliate

  • เพิ่มยอดขาย, ผู้ใช้, และ Traffic ให้กับแพลตฟอร์ม

ยิ่งมี Affiliater มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าชม และซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มมากเท่านั้น ส่งผลให้ Traffic บนแพลตฟอร์มสูงขึ้น และหากจะสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม ก็จำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก่อน

  • ได้ Insight ของผู้ใช้งานในระบบ

โดยการบันทึกเส้นทางการใช้งานของผู้ใช้ ว่าหลังจากคลิกลิงก์เข้ามาแล้ว ผู้ใช้ทำอะไร ไปที่ไหนต่อ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อผู้ใช้คลิก Affiliate Link พิกัดกระเป๋าแล้ว ก็มักจะค้นหาสินค้าที่คล้ายกันต่อ ฝ่ายพัฒนาระบบก็จะนำข้อมูลตรงส่วนนี้ ไปพัฒนาให้ระบบแสดงสินค้าที่คล้ายกันในหน้าเดียวกันกับสินค้านั้นทันที ซึ่งก็จะเป็นเพิ่มยอดขาย และ Traffic ให้กับระบบไปในตัว

  • ค่าใช้การสร้าง และดำเนินระบบสูง

ไม่ว่าจะเป็นค่าการพัฒนาแพลตฟอร์ม, ค่าเขียนโค้ด, ค่าบริหารจัดการ, ค่าสื่อสาร และการสนับสนุน Affiliates, และค่าตลาดออนไลน์ การดำเนินการแบบนี้อาจต้องใช้งบประมาณที่สูง และมีความต้องการการลงทุนสูง

  • การบริหาร และการเลือก Affiliater ที่ยุ่งยาก และซับซ้อน

เพราะความน่าเชื่อถือของ Affiliater มีผลต้องความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ดังนั้นการคัดเลือกคนเข้าร่วมโครงการ Affiliate Program จึงอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า คนที่จะมาเป็น Affiliater นั้นสามารถสร้างการขาย และไม่ก่อความเสียหายให้แก่แพลตฟอร์ม และแบรนด์ต่าง ๆ ในแพลตฟอร์ม

แน่นอนว่าการทำ Affiliate Marketing ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้เวลา และความพยายามเป็นอย่างมาก แต่เมื่อคุณเข้าใจถึงสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ และสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของพวกเขาได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม “การทำคอนเทนต์ไม่มีคำว่าถูกผิด” มีแต่จะเขียนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์จากแหล่งข้อมูล ที่ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหากนำมาวิเคราะห์ และเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่าน หากมีข้อเสนอแนะ หรือผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อได้ที่

Sasiwimon Chumart

"แตงกวา" - ชอบภูเขา หลงรักทะเล หาเงินไปเล่นเซิร์ฟที่แหลมหญ้า กินกาแฟเพื่อมีชีวิตรอด นอนน้อยเป็นกิจวัตร ชอบกินเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งใจเขียนงานมาก เพราะทุกคนต้องได้อ่านผลงานที่ดีที่สุด!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *