Solo Economy เศรษฐกิจคนโสด การตลาดคนโสด คนไม่มีลูก และกลุ่ม Pet Lover 2024

Solo Economy เศรษฐกิจคนโสด การตลาดคนโสด คนไม่มีลูก และกลุ่ม Pet Lover 2024

จากบทความแรก 7 Digital Consumer Insights 2024 ที่เราเกริ่นภาพรวมเศรษฐกิจและโอกาสในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน กับ 2 Insights แรกไปที่ว่าด้วยเรื่องของผู้บริโภคยุคใหม่ลดการใช้เงิน และ Gen Z ไปแบบลงลึก มาบทที่ 2 ของรายงานชุดนี้จะพาไปดูในรายละเอียดของ Insight ที่ 3 นั่นก็คือ Solo Economy หรือเศรษฐกิจคนโสด เมื่อคนยุคใหม่เลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่ามีคู่ หรือเลื่อนการแต่งงานมีลูกออกไปแบบไม่มีกำหนด เพราะอยากรีบประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อน และสุดท้ายคือกลุ่มคนที่เลือกจะอยู่กับสัตว์เลี้ยงแบบจริงจัง

ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ธุรกิจและบริการแบบที่ไม่เคยมีมา ไปจนถึงวิธีทำการตลาดแบบไหนหละ ที่จะสามารถเจาะลึกลงไปในใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ถ้าอยากรู้ว่า Solo Economy คืออะไร และจะต่อยอดอย่างไร เลื่อนอ่านต่อไปได้เลยครับ

1. Single Households บ้านคนโสด ครอบครัวไร้คู่ หรือมีลูกแค่ 1

เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่เลือกที่จะอยู่คนเดียวมากขึ้น หรืออยู่เป็นคู่แบบไม่มีลูก ถ้าจะมีก็อาจมีแค่หนึ่งคน หรือไม่ก็เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่รักและเอ็นดูเหมือนลูกแทน ส่วนสัดส่วนครอบครัวแบบเดิมที่มีลูก 2 คนต่อบ้านมีสัดส่วนอยู่ครึ่งหนึ่ง

นั่นหมายความว่าสินค้าขนาดไซส์ใหญ่อาจไม่ใช่ที่นิยมอีกต่อไป ร้านอาหารทั้งหลายที่เคยทำจานใหญ่อาจต้องปรับไซส์ให้เหลือเล็ก ๆ แต่เน้นให้คนกลุ่มนี้ได้สั่งเมนูที่หลากหลายมากจานขึ้นแทน

ซึ่งจากรายงาน META ก็บอกว่าจำนวนคนที่เลือกอยู่เป็นโสดตัวคนเดียว หรืออาจจะโสดแต่เลี้ยงสัตว์จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปี 2030

ถ้าลองมองไปรอบตัวเราจะเห็นว่าเริ่มมีหลายคนคิดแบบนี้มากขึ้น ไม่ใช่แค่อยู่เป็นคู่กับคนรัก แต่หลายคนก็เลือกที่จะไม่มีคนรัก เพราะรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียวสะดวกสบายคล่องตัวในการตัดสินใจกว่ามากครับ

และนี่คือ 3 Segment หลักที่ก่อให้เกิด Solo Economy ในประเทศไทยและอาเซียนภายในปี 2030 มาทำความรู้จักพวกเขาตั้งแต่วันนี้กัน เพื่อจะได้เตรียมรับมือทันในวันหน้าครับ

3 Single Consumer ของ Solo Economy

1. Older Singles หญิงโสดตอนสูงวัย

คนกลุ่มนี้อาจไม่ได้เลือกที่จะโสดมาตั้งแต่ยังสาวนะครับ แต่หมายรวมถึงคนที่อาจจะเคยมีคู่มาก่อนแล้วก็หย่าร้าง หรืออาจจะเป็นแม่หม้ายโดยไม่ตั้งใจ แล้วเมื่อได้ลองโสดก็ค้นพบว่าการอยู่ตัวคนเดียวไม่มีผัวกวนใจนั้นเป็นชีวิตที่ประเสิรฐนัก

คนกลุ่มนี้มักมีความสามารถในหน้าที่การงาน ชีวิตประสบความสำเร็จระดับหนึ่งขึ้นไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องการคือสินค้าหรือบริการที่ดีจริง ๆ มีความใส่ใจมากกว่าของทั่ว ๆ ไป เพราะต้องการจะมีความสุขกับชีวิตโสดที่เหลือ และ 3 สิ่งที่พวกเธอให้ความสำคัญในการใช้ชีวิตโสดเรียงลำดับได้ตามนี้ครับ

  1. การใช้ชีวิตประจำวัน
  2. ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงคนรอบตัว
  3. สินค้าหรือบริการที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

2. Young Professionals รักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน

นี่คือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่รีบแต่งงานเพราะกำลังรู้สึกกับการทำงานหนัก เพื่อสร้างฐานะหรือความสำเร็จในชีวิตอยู่ ผิดกับความคิดคนหนุ่มสาวเจนก่อนหน้า ที่ทำงานไปสักพักก็มองหาการแต่งงานและมีลูกเพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์

คนกลุ่มนี้ชอบที่จะใช้เงินกับการดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ ร่างกาย รูปลักษณ์ภายนอก หน้าตา ไปจนถึงดูแลเข้าคอร์สเติมความรู้ความสามารถเพื่อให้ตัวเองไต่เต้าในหน้าที่การงานได้สูงขึ้นไปอีก

และนี่คือ 3 เรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญในชีวิตครับ

  1. ทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้า
  2. สนใจตัวเองมากเป็นพิเศษ
  3. มิตรภาพเพื่อนฝูง

รู้แบบนี้แล้วลองคิดดูว่าเราจะนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตอบพวกเขาได้อย่างไร เราจะช่วยให้พวกเขาทำตามฝันได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ทำให้พวกเขาเก่งขึ้น ก็ทำให้พวกเขามั่นใจในตัวเองมากขึ้นนะครับ

3. Young Urban Migrants แรงงานอพยพที่มุ่งส่งเงินกลับบ้าน

คนกลุ่มนี้น่าสนใจ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพผู้บริโภคกลุ่มนี้ครับ นี่คือกลุ่มคนที่ย้ายเข้าเมืองมาทำงานหาเงินเพื่อส่งกลับบ้าน หรืออาจจะเป็นแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหางานที่ได้เงินดีกว่า เพื่อส่งกลับไปให้คนที่บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น

งานส่วนใหญ่ที่คนกลุ่มนี้ทำมักเป็นกลุ่มใช้แรงงาน หรืองานบริการเป็นหลัก คนกลุ่มนี้มักใช้เงินแค่สองส่วน ส่งให้ที่บ้าน กับใช้ให้ตัวเองบ้างหลังเวลาเลิกงานครับ

และนี่คือ 3 สิ่งที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญตามลำดับ

  1. ตัวเอง
  2. ทำงานหนัก
  3. สินค้าหรือบริการที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

รู้แบบนี้แล้วอย่ามองข้ามคนกลุ่มนี้ หรืออาจจะมองหา Partner ในประเทศปลายทางของแรงงานอพยพเหล่านี้ดู ว่าถ้าใช้เงินที่นี่แล้วจะรับของที่นั่นได้อย่างไรครับ

เมื่อเห็นภาพของ New Customer Segment ในกลุ่ม Solo Economy เศรษฐกิจคนโสดแล้ว ลองมาดูกันต่ออีกนิดดีกว่าครับว่าจะมีธุรกิจแบบไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ไปจนถึงแนวทางการปรับตัวเตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้เลย

6 New Business รูปแบบธุรกิจใหม่จากกลุ่มคนโสด Solo Economy

1. Pets Economy ธุรกิจเพื่อน้องหมาแมว

เมื่อคนยุคใหม่ตัดสินใจไม่มีลูกกันเยอะมาก และนั่นก็ทำให้หลายคู่เลือกที่จะเลี้ยงน้องหมาแมวแทนลูก หรืออาจจะข้ามไปถึงคนที่เลือกจะโสดไปเลยแต่อยู่กับหมาแมวแทนก็มีไม่น้อย (อันนี้เรียกเลี้ยงเป็นนาย ส่วนตัวเองยอมเป็นบ่าว)

ในปีที่ผ่านมาการตลาดวันละตอนเองก็มีโอกาสได้ทำ Data Research Insights เจาะลึกตลาดขนมสุนัขจาก Social Listening ก็เปิดโลกให้รู้ว่าจักรวาลขนมสุนัขนั้นลึกลับซับซ้อนและกว้างใหญ่เพียงใด

แต่โชคดีที่เราทำดาต้าจนเรียบร้อยเลยทำให้รู้ว่าควรออกสินค้าแบบไหน และควรทำการตลาดหรือ Communication อย่างไรจึงจะตรงใจผู้เลี้ยง

และไม่ใช่แค่อาหาร ขนม แต่ยังก่อให้เกิดสินค้าประเภทเสื้อผ้าสัตว์ตามมา ไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ หรือไม่แต่ธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยวก็ยังต้องปรับตัวตาม

หลายโรงแรมเริ่มประกาศว่าที่นี่ยินดีต้อนรับสัตว์เลี้ยงเต็มที่ ห้างสรรพสินค้าเองก็เช่นกัน สายการบินก็เริ่มมี หรือแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดก็ออกตัวชัดเจน ว่าผู้อยู่อาศัยคอนโดแห่งนี้สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้อย่างเปิดเผยครับ

ทำให้ราคาของคอนโดดังกล่าวสูงกว่าปกติเมื่อเทียบต่อตารางเมตรด้วยซ้ำ

ยังไม่นับถึงธุรกิจกลุ่มสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่กำลังโตวันโตคืน เพราะค่ารักษาแต่ละทีก็ไม่น้อย ถ้ามีใครกล้าทำประกันสัตว์เลี้ยงคงจะมีลูกค้ามหาศาล แต่ก็ต้องคำนวนความเสี่ยงในการปรับทำประกันดี ๆ นะครับ

2. Solo Friendly ความบันเทิงไซส์คนโสด

data-visualization-tourism-business

คนโสดในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงแค่คนที่ไม่มีคู่แต่มีเพื่อน แต่อาจหมายรวมถึงคนที่ต้องการจะใช้ชีวิตคนเดียวแบบไม่มีเพื่อนวุ่นวายในบางครั้ง ดังนั้นถ้าสินค้าหรือบริการของเราไม่ได้คิดถึงคนที่มาคนเดียวจริง ๆ ก็ยากจะคว้าโอกาสทำเงินจากคนกลุ่มนี้ไว้ได้ทัน

ตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีห้องร้องคาราโอเกะคนเดียว แทนการร้องเป็นคู่หรือหมู่คณะ หรือบาร์ที่เปิดรับเฉพาะคนโสด ใครมาเป็นคู่ มากับแก๊งค์ อาจไม่สามารถเข้าร้านนี้ได้ ยกเว้นว่าต่างคนต่างมาเจอกันในร้าน

ที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็จะมีร้านอาหารมากมายที่มีโต๊ะสำหรับนั่งกินคนเดียวเยอะมาก สรุปดูเหมือนว่าร้านค้าหรือบริการต่าง ๆ ต้องพร้อมสำหรับ Solo Friendly ให้เต็มที่จริง ๆ

ธุรกิจการท่องเที่ยวก็เหมือนกันที่ย่อมต้องปรับตัวให้ไว เพราะการเที่ยวแบบตัวคนเดียวเริ่มเป็นที่นิยมเยอะขึ้นมาก อย่างโปรเจค #Data76จังหวัด ของการตลาดวันละตอนที่ทำมาก็พบว่าคนไทยเที่ยวคนเดียวเยอะกว่าเที่ยวกับแฟน หรือเที่ยวกับเพื่อนในหลายจังหวัด

อย่าทำให้การเที่ยวคนเดียวดูเป็นเรื่องแปลก จงทำให้การใช้ชีวิตคนเดียวเป็นเรื่องปกติ เหมือนร้านสุกี้หรือปิ้งย่างที่ออกแบบเตามาสำหรับการกินคนเดียวจนได้รับความสนใจมากมาย เมื่อคนจำนวนมากเลือกที่จะใช้ชีวิตคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียวมากขึ้น ก็จงปรับธุรกิจให้พร้อมรับพวกเขามากขึ้นตั้งแต่วันนี้ครับ

3. Solo Influencer สื่อคนโสด

นอกจากสินค้า บริการ ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่รักความโสด ผลกระทบเรื่องการเสพสื่อก็เปลี่ยนไป หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดียของคนโสดเองก็ไม่เหมือนคนกลุ่มอื่นเสียทีเดียว

คนโสดมักใช้เวลากับหน้าจอหรือโซเชียลนานกว่าปกติ เพราะไม่มีใครต้องคุยด้วยเมื่อกลับบ้าน ทำให้พวกเข้าไถหน้าจอและสนุกกับการดูคอนเทนต์ประเภท Reel หรือ TikTok ได้ไม่รู้จบ แถมยังเลือกตาม Influencer แบบที่เน้นความ Entertain จะไม่ใช่ช่องประเภทครอบครัวหรือเลี้ยงลูกแน่นอน

4. Solo Products Innovation นวัตกรรมสินค้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อคนโสด

หม้อต้มมาม่าคนโสด ของ Anitech

เมื่อคนอยู่คนเดียวกันมากขึ้น ก็นำไปสู่การปรับขนาดข้าวของภายในบ้านให้มีไซส์เหมาะสมกับขนาดคนโสดตัวคนเดียวตาม เราจะเริ่มเห็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กไซส์คนเดียววางขายมากมาย

แต่จะไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทขนาดเล็กแต่ราคาถูก เพราะโดนตัดทอนฟังก์ชั่นหรือคุณภาพนะครับ แต่จะกลายเป็นเล็กแต่แจ๋ว ฟังก์ชั่นจัดเต็ม คุณภาพไม่ลดตามขนาด ที่สำคัญคือราคาก็ไมจำเป็นต้องถูก เพราะอย่าลืมว่าคนโสดตัวคนเดียวที่มีเงินนั้นมีเยอะแยะ

จากเดิมเครื่องใช้ไฟฟ้าถ้าอยากได้ฟังก์ชั่นจัดเต็มมักต้องซื้อชิ้นใหญ่ ๆ เบิ้ม ๆ ถึงจะมีครบ แต่วันนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนไป อยู่คนเดียวแต่มีเงินแต่ไม่อยากได้ของชิ้นใหญ่ ใครสามารถทำเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบนี้ได้ก่อนรับรองว่ามีคนโสดและรวยจำนวนมากที่รอต่อคิวซื้อของคุณเป็นแน่

ยังไม่นับถึงสินค้าในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ที่จะต้องปรับลดขนาดลงให้เหมาะสมกับคนโสดอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน อาหาร เครื่องดื่ม คนเหล่านี้ซื้อไซส์ใหญ่ไปก็กินไม่ทันหมดอายุ ในประเทศญี่ปุ่นเองจึงมักทำออกมาเป็นขนาดเล็ก ๆ ไซส์พอดีคำ แต่ใช้วิธีการทำแพคเกจให้สวยงามน่ากิน แล้วค่อยเอามารวมกันเป็นกล่องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณนึง

อย่าลืมนะครับ สินค้าไซส์คนโสด เครื่องใช้ไฟฟ้าไซส์คนเดียว ไปจนถึงอาหารแบบพอดีคำ คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายแบบจัดเต็ม อยากได้ฟังก์ชั่นและคุณภาพแบบเต็มที่ ขอแค่ให้มันมีขนาดเล็กลงเข้ากับชีวิตตัวคนเดียวก็พอ

5. Solo Financial การใช้เงินแบบคนโสด ซื้อทีละน้อย แต่ซื้อบ่อยมาก

แน่นอนว่าเมื่ออยู่คนเดียวจำนวนเงินที่ใช้ในบ้านนั้นก็ย่อมลดลง ต่อให้ซื้อสินค้าที่ Premium ขนาดไหนก็ยากที่จะใช้เงินเท่ากับการอยู่สองคนไม่ บอกให้รู้ว่าธุรกิจจะได้รับเงินทีละน้อยแต่จะได้รับความถี่ที่มากขึ้นแทน เพราะจำเป็นต้องซื้อบ่อยครั้งขึ้น หรืออาจจะเลือกที่จะซื้อบ่อยครั้งแทนก็เป็นได้ครับ

การจ่ายเงินจะต้องเป็นเรื่องง่าย ทำให้การจ่ายทีละน้อยไม่เสียเปรียบการจ่ายเป็นก้อนใหญ่มาก แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ผมคิดว่าจะส่งผลสำคัญต่ออนาคตอย่างมาก นั่นก็คือสินเชื่อเพื่อคนโสดตั้งแต่การซื้อบ้าน หรือไปจนถึงการขายบ้านออกไปเป็นเงินคืนเมื่อยามเกษียณครับ

สรุปง่ายๆ การใช้เงินของคนโสดคือ แม้จะซื้อครั้งละไม่มาก แต่ก็ซื้อบ่อยนะรู้ไหม

6. Solo Living Models บ้านที่ออกแบบมาเพื่อคนโสด

บ้านคนโสด ที่ตอบโจทย์ 4 Segments of Single ชีวิตโสด 5.0 โดย SC Asset
อ่านโครงการบ้านคนโสดของ SC Asset ต่อ : https://www.everydaymarketing.co/business-and-marketing-case-study/property/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B8%94-4-segments-of-single-sc-asset/

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงบ้านมักจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างตัวผมเองก็เพิ่งตัดสินใจซื้อบ้านเดี่ยวโครงการหนึ่งไป รู้ไหมครับว่าบ้านเดี่ยวสมัยนี้พยายามยัดห้องนอนเต็มไปหมด

คิดถึงภาพแล้วถ้าเป็นคนโสดหละ หรือเป็นคู่ที่ไม่มีแพลนจะมีลูกหละ ห้องมากมายทั้งหลายจะเอาไปทำอะไร สู้ออกแบบบ้านใหม่ให้ห้องน้อยลงแต่ขนาดใหญ่ขึ้นดีกว่าไหม หรืออาจเป็นไปได้ว่าเทรนด์บ้านเดี่ยวชั้นเดียวกำลังกลับมา แต่แน่นอนว่าราคาย่อมต้องแพงมหาศาลเพราะต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมากขึ้น

แล้วไหนจะสินค้าอย่างเฟอร์นิเจอร์อีก ที่มักจะออกแบบให้ใหญ่เพื่อรองรับความเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก แบบเดิม แต่ถ้าสมัยนี้อยู่กันแค่คนเดียวหรือสองคนหละ จะเอาเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ ๆ ขนาดนั้นมาเพื่ออะไร

หรือการซื้อมาเป็นเจ้าของเพื่อใช้งานอาจไม่จำเป็น เพราะจะเริ่มเกิด Business Model ของเฟอร์นิเจอร์แบบใหม่ที่เน้นเช่าใช้แทน เช่าใช้สัก 3-5 ปีแล้วก็คืน หรืออาจจะเป็นรูปแบบการันตีการซื้อคืนในระยะเวลาเท่าไหร่ ถ้าสินค้าไม่มีตำหนิหรือเสียหายครับ

สรุป Solo Economy Single Consumer Insights 2024 เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่เลือกใช้ชีวิตโสด อยู่คนเดียวมากขึ้น แล้วธุรกิจกับเศรษฐกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ดูเหมือนว่าบทความนี้จะมีคำตอบเป็นแนวทางให้ว่าเราจะรับมือกับ Solo Economy อย่างไร เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกไม่มีลูกไปจนถึงไม่มีคู่ สินค้าและบริการก็ต้อปรับตัวรับความต้องการใหม่ ๆ เหล่านี้ให้ทัน

จากที่เคยทำขนาดเล็กไว้เพื่อคนรายได้น้อย กลายเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ ทำสินค้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วยฟังก์ชั่นมากมายแล้วขายให้คนโสดรายได้ดีในราคาที่สูงขึ้นแทน

อ่านแล้วนำไปปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ให้ไว เพื่อที่คนโสดจะได้ติดใจหันมาหลงรักแบรนด์ของคุณแทนครับ

อ่านบทความ 7 Digital Consumer Insights 2024 ตอนที่ 3 :

อ่านบทความตอนแรกของ 7 Digital Consumer Insights 2024

Source : https://web.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia?_rdc=1&_rdr

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *