7 Digital Consumer Insights 2024 เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคไทยและอาเซียน

7 Digital Consumer Insights 2024 เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคไทยและอาเซียน

รายงานเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียน Digital Consumer Insights 2024 จากรายงานของ META ที่ปล่อยออกมาทุกช่วงปลายปี จะพาเราไปดูทุกแง่มุมของคนทำ Digital Marketing ต้องรู้ ว่าผู้บริโภควันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร คนไทยเปลี่ยนไปขนาดไหน มี insights อะไรเกิดใหม่บ้าง ไปจนถึงโอกาสทางธุรกิจที่คาดไม่ถึง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้มีคำตอบให้ เรามาดูรายงานของ META บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram ไปด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วหายใจกันลึก ๆ เพราะบอกเลยว่าได้อ่านจนเหนื่อยแน่นอน แต่รับรองว่าคุ้มที่ได้อ่านครับ

ภาพรวมพฤติกรรมผู้บริโภคไทยและอาเซียน Digital Consumer Insights 2018 – 2023

จากภาพจะย้อนให้เห็นวิวัฒนาการของ Digital Consumer Insights ไทยและอาเซียนผ่านรายงานของ Facebook และ META ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพว่าจากยุคของการเริ่มต้นเศรษฐกิจออนไลน์ หรือ Digital Economy เมื่อปี 2018 มาสู่วันนี้วันที่ทุกคนล้วนออนไลน์กันหมด แต่จะออนไลน์กันแบบไหนเป็นอีกเรื่องไหน

ส่วนหนึ่งเพราะได้สถานการณ์ล็อดาวน์จากโควิด19 เป็นตัวเร่งให้เราต้องออนไลน์อย่างก้าวกระโดด มาสู่วันนี้โรคระบาดซาลงไปกลายเป็นแค่โรคประจำถิ่นไม่น่ากลัว แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดูสงบนิ่งไม่ค่อยมีอะไรให้ตื่นเต้น กลายเป็นว่าในปีนี้เราก้าวเข้าสู่ยุค AI แบบก้าวกระโดดกันทุกคน และนี่เองคือหนึ่งปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจ เศรษฐกิจ ไปจนถึงวิถีชีวิตประจำวันเราทุกคนอย่างหลีกหนีไม่ได้

รายงานฉบับนี้แบ่งออกได้เป็น 7 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย

  1. Value Seeking Insight คนไทยใช้เงินอย่างระวัง บวกกับมองหาความคุ้มค่าเมื่อใช้จ่ายทุกบาทยิ่งกว่าเดิม
  2. Gen Z วัยรุ่นยุคใหม่ที่ไม่เหมือนกับวัยรุ่นยุคไหนที่เคยมีมา
  3. Solo Economy การตลาดคนโสดและเศรษฐกิจคนมีคู่ที่ไร้ลูก
  4. แบรนด์ใหม่แตกหน่อเพื่อตอบทุกความต้องการที่แบรนด์ใหญ่มองข้าม
  5. Wellness Insight สุขภาพคือเรื่องใหญ่แต่จ่ายไม่ค่อยไหวแล้วจะทำอย่างไรดี
  6. Personalization จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนคาดหวังจากทุกแบรนด์
  7. AI Driven Business ขยายธุรกิจให้โตไวด้วย AI ที่ใช้ได้จริง

แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในแต่ละหัวข้อ เรามาดูภาพรวม Digital Economy เศรษฐกิจไทยและอาเซียนกันก่อนดีกว่าครับ

Southeast Asia Market Size 2024

ดูเหมือนจากภาพนี้จะไม่รวมประเทศ พม่า ลาว และ กัมพูชา เข้าด้วยกัน แต่จากประเทศที่เหลือทั้ง 7 รวมกันแล้วมีประชากรมากกว่า 700 ล้านคน ขนาด GDP สูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ใน 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตถึง 1.6 เท่า เรียกได้ว่าโตเป็นอันดับ 3 และยังได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติมากถึง 220,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปี 2010 ถึง 2 เท่าตัว

บอกให้รู้ว่าประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนอาจไม่น่าสนใจมาก แต่พอจับทั้งอาเซียนมามัดรวมกันกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ใครก็มองข้ามไม่ได้ครับ

เศรษฐกิจไม่โตมาก แต่ความมั่นใจผู้บริโภคโตดี

จากภาพจะเห็นว่าเศรษฐกิจแต่ละประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่นั้นโตลดน้อยลงจากปีก่อน ประเทศไทยเองเป็นประเทศเดียวที่โตเป็นสีเขียวในอาเซียน และบวกกับดัดชนีความมั่นใจผู้บริโภคชาวอาเซียนส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นบวกสีเขียวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ส่วนประเทศไทยเองแม้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในอาเซียนเหมือนมาเลเซีย แต่ก็ +5 จุด ถือว่าดีเป็นอันดับสอง ส่วนฟิลิปปินส์นี้น่าห่วง ติดลบถึง 11 จุด

โอกาสทางธุรกิจในอาเซียน 2024

ด้วยความที่จำนวนประชากรอาเซียนที่พูดมาทั้งหมดมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จาก 700 ล้านคน ย่อมหมายถึงกำลังซื้อมหาศาล บวกกับกว่า 47% ของประชากรอาเซียนอายุต่ำกว่า 30 นั่นหมายความว่าพวกเขายังมีความต้องการซื้ออะไรอีกมาก และยังมีความสามารถบวกกับอายุที่จะสามารถทำงานหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกนาน

และภายในปี 2030 กว่า 60% ของชาวอาเซียนนั้นอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศตัวเองเป็นหลัก สะท้อนถึงการกระจุกตัวของผู้คน ความสะดวกสบายในการกระจายสินค้าที่ไม่ต้องส่งออกไปทั่วประเทศก็เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้

ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญมากคือประชากรวัยทำงานในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีก 24 ล้านคนภายในปี 2030 พอเห็นภาพโอกาสที่เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตยิ่งกว่านี้ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้าไหมครับ

28 Unicorns Startup ในอาเซียน

แม้ประเทศไทยจะ Unicorn จริงแบบนับนิ้วมือเดียวได้ แต่รู้ไหมครับว่าทั้งอาเซียนนั้นเรามีบริษัท Startup ที่อยู่ในระดับ Unicorn มากถึง 28 บริษัทเลยทีเดียว รวมเม็ดเงินการลงทุนไปกว่า 676,000 ล้านดอลลาร์ตอนปลายปี 2022

ถือว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลกว่าที่คิดไว้มาก และเมื่อดูในสัดส่วนเม็ดเงินที่ลงทุนมาก็จะเห็นว่าไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ทำด้าน Technology ตามมาด้วย Transport การขนส่ง อย่างบ้านเราก็มี Flash ที่โด่งดัง แต่ในปี 2022 ดูเหมือนบริษัท Startup ด้านการผลิตจะได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากครับ

รายได้ผู้บริโภคไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นบน

จากภาพนี้บอกให้รู้ว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว เทียบเคียงกับมาเลเซีย และสิงค์โปร (นี่เราพัฒนาแล้วหรือ ?) รายได้ของผู้บริโภคคนไทยเองเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้า 2.2% มาเลเซียสูงกว่าเราอยู่ที่ 2.7% ส่วนเราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 1.7%

ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย นั้นมีตัวเลขการเติบโตของรายได้ประชากรที่สูงกว่าเรามาก เวียดนามอยู่ที่ 5% เลยทีเดียว

ส่วนในข้อมูลจำนวนครอบครัวที่มีรายได้ตั้งแต่ต่ำ ต่ำกลาง กลางสูง และสูง นั้นก็ขยับเปลี่ยนแปลงไป ดูเหมือนว่ากลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ค่อยไปทางน้อยน่าจะลดลงในปี 2030 และไปเพิ่มในกลุ่มครอบครัวรายได้ปานกลางค่อนสูง และสูง มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นั่นบอกให้รู้ว่าจะมีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้บริโภคในไทยและอาเซียนจะต้องการสินค้าหรือบริการที่แตกต่างมากขึ้น นำมาสู่หนึ่งคำสำคัญในรายงานปีนี้ นั่นคือคำว่า Premiumization

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยและอาเซียน Digital Consumer Insights & Economy 2024

ประเทศไทยเราและภูมิภาคอาเซียนแม้วันนี้จะดูเหนื่อยยากในการใช้ชีวิต แต่ดูเหมือนว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอนาคตเราและเพื่อนบ้านจะสดใสจากขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

ภาพรวมประชากรเราเยอะติดอันดับต้น ๆ ของโลก บวกกับความสามารถทางเศรษฐกิจที่เมื่อรวมกันแล้วสูงมากจนใครก็มองข้ามไม่ได้ ยังไม่นับประชากรส่วนใหญ่ยังคงเป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงานหาเงินเต็มที่ และใช้เงินแบบเต็มเหนี่ยว

ทั้งหมดนี้คือเชื้อเพลิงในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี และนี่คือเหตุผลว่าเราต้องทำธุรกิจอย่างมีความหวัง ในขณะเดียวกันก้ต้องปรับตัวและเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจไปจนถึงการผลิตให้เข้ากับบริบทใหม่ที่กำลังจะมา

เพราะยังมีผู้บริโภคอีกมากที่กำลังจะมีเงินให้ใช้ มีเงินรอให้ใช้ และอยากจะใช้เงินที่มีมากขึ้นให้เกิดประโยชน์มากกว่าเดิมครับ

ถ้าพร้อมแล้วเราไปสำรวจเจาะลึก 7 Digital Consumer Insigths Thai & Asean 2024 พฤติกรรมผู้บริโภคไทยและอาเซียน จากรายงานของ META กันครับ

1. Value Seeking ผู้บริโภควันนี้ใช้เงินน้อยลง และคิดก่อนใช้มากขึ้น

แม้ภาพรวมจะดูดี แต่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไทยและอาเซียนล้วนใช้เงินที่มีอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากข้อมูลรายงานของ META ฉบับนี้บอกให้รู้ว่าเริ่มตั้งแต่ปีนี้และมีแนวโน้มว่าจะไปถึงปีหน้า 2024 การใช้เงินจะลดลงยิ่งกว่าช่วงปีก่อนหน้าด้วยซ้ำ

ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนมีแนวโน้มจะลดลงถึง 20% จาก 32% ขยับไปถึง 40% ส่วนประเทศพัฒนาแล้วอย่างเรา มาเลเซีย และสิงค์โปร แนวดน้มการใช้เงินจะลดลงประมาณ 6-7%

บอกให้รู้ว่าเงินจะฝืดลงอีกพอสมควร และเมื่อดูจากดาต้าเพิ่มเติมจะเข้าใจว่าการที่ผู้บริโภคเลือกใช้เงินลดลงด้วยปัจจัยแบบไหนบ้างตามรูปนี้ครับ

  • 23% ซื้อเมื่อมีโปรเท่านั้น
  • 18% งดการซื้อที่ไม่จำเป็น
  • 17% ซื้อน้อยลง
  • 17% เปลี่ยนไปซื้อของที่ถูกลง
  • 11% งดการซื้อตุนไว้เยอะๆ แบบเดิม
  • 7% ทำใช้เอง
  • 7% ซื้อเหมาเพื่อเอาส่วนลด

เมื่อรู้ในภาพรวมการใช้เงินที่ลดลงแล้ว เรามาดูรายละเอียดเจาะลึกอีกหน่อยดีกว่าครับ ว่าในกลุ่มสินค้าหรือบริการแบบไหนบ้างที่ผู้บริโภคเลือกใช้เงินลดลง และมีกลุ่มไหนบ้างที่พอจะเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยเท่าเดิมก็ยังดี

ผู้บริโภคชาวไทยใช้เงินกับอะไรมากขึ้นหรือลดลงบ้าง

กลุ่มที่ลดลงมาก

  • 63% เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  • 55% การท่องเที่ยว
  • 53% เครื่องใช้ไฟฟ้า
  • 52% สินค้าเด็ก

กลุ่มที่ลดลงน้อย

  • 43% การกินข้าวนอกบ้าง หรือการสั่งอาหารเข้ามากิน
  • 42% การดูแลสุขภาพกายและใจ
  • 29% ของใช้ส่วนตัว และของดูแลบ้าน
  • 29% อาหารในชีวิตประจำวัน

ภาพรวมทั้งอาเซียนดูคล้าย ๆ กันหมด ยกเว้นเวียดนามที่กลุ่มเกมและบันเทิงที่ลดลงมากเป็นอันดับ 3

จากในกลุ่มสินค้าแล้วมาดูที่ข้อมูลกลุ่มช่วงรายได้กันบ้างครับ ว่าผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มช่วงรายได้นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องไหนบ้าง และมีอะไรบ้างที่เหมือนหรือต่างกัน

กลุ่มรายได้น้อยให้ความสำคัญกับ

  1. Social media
  2. กินข้าวนอกบ้าน
  3. ความสวยความงาม
  4. Streaming ดูหนังออนไลน์
  5. การท่องเที่ยวภายในประเทศ
  6. สินค้า Gadget
  7. เสื้อผ้าแบรนด์ต่าง ๆ
  8. เที่ยวคาเฟ่ร้านกาแฟ

กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางให้ความสำคัญกับ

  1. Social media (เหมือนกันทุกกลุ่ม)
  2. กินข้าวนอกบ้าน (เหมือนกลุ่มรายได้น้อย)
  3. Streaming ดูหนังออนไลน์
  4. ความสวยความงาม
  5. การท่องเที่ยวภายในประเทศ (เหมือนกันทุกกลุ่ม)
  6. เสื้อผ้าแบรนด์ต่าง ๆ
  7. เที่ยวคาเฟ่ร้านกาแฟ
  8. สินค้า Gadget
  9. เที่ยวต่างประเทศ

กลุ่มผู้มีรายได้สูงให้ความสำคัญกับ

  1. Social media (เหมือนกันทุกกลุ่ม)
  2. Streaming ดูหนังออนไลน์
  3. กินข้าวนอกบ้าน
  4. ความสวยความงาม (เหมือนกลุ่มรายได้ปานกลาง)
  5. การท่องเที่ยวภายในประเทศ (เหมือนกันทุกกลุ่ม)
  6. เที่ยวคาเฟ่ร้านกาแฟ (เหมือนกลุ่มรายได้ปานกลาง)
  7. เที่ยวต่างประเทศ
  8. สินค้า Gadget
  9. บริการเรียกรถผ่านแอป

สรุปภาพรวม Digital Consumer Insights ไทยและอาเซียน 2024 ที่ 1 : Value Seeking ใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่ามากกว่าเคย

ดูเหมือนเราจะหมดยุคการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกันไปแล้ว เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนบอกว่าตัวองจะใช้เงินให้น้อยลง แถมที่ใช้น้อยนั้นยังจะใช้ให้ฉลาดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนต้องใช้เงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หน้าที่ของนักการตลาดและคนทำธุรกิจอย่างเราต้องมองให้ออกว่าผู้บริโภคเอาเงินไปใช้ตรงไหน

ที่เหลือคือเราก็ปรับตัวไปอยู่ตรงจุดที่คนเอาเงินไปใช้ให้ทัน บวกกับทำสินค้าหรือบริการออกมาให้ดี ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรบ้างที่คนใช้เงินกันน้อยลงกว่าเดิมมาก และมีอะไรบ้างที่คนยังคงใช้เงินกับสิ่งนั้นเหมือนเดิมหรือแทบไม่ลดลง

ไปจนถึงแต่ละกลุ่มฐานรายได้นั้นใช้เงินแบบไหน ให้ความสำคัญกับอะไร ทั้งหมดนี้เราต้องเอาไปปรับใช้กับกลยุทธ์ธุรกิจและทิศทางการตลาดปีหน้า และใน Digital Consumer Insights 2024 ที่ 2 จะพาไปความรู้จักผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่เป็นกลุ่มใหม่ นั่นก็คือ Gen Z หรือที่เรามักเรียกกันว่าวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ แต่อย่าเพิ่งประมาทคิดว่าวัยรุ่นวันนี้ก็เหมือนวัยรุ่นแบบ Gen Y หรือ Gen X ที่เคยพิชิตมา

บอกได้เลยว่าวัยรุ่นวันนี้ไม่เหมือนรุ่นไหน ๆ ที่นักการตลาดเคยรู้จักมา เราต้องมาทำความรู้จักวัยรุ่นกันใหม่ วัยรุ่นที่แสนจะทรงพลังในการกระตุ้นให้คนทุกวัยซื้อตามจนของขาดตลาดมากนักต่อนักครับ

2. เจาะลึกพฤติกรรม Insight Gen Z ไทยและอาเซียน 2024 คนรุ่นใหม่วันนี้มีเงิน กล้าลองเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่ และพร้อมเปย์ให้กับตัวเองมากที่สุด

Gen Z หรือวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวที่อยู่ทั้งในวัยทำงานและวัยเรียนนั้นเป็นกลุ่ม Market Segment ที่นักการตลาดทั่วโลกจับตามอง แบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลกอยากได้พวกเขาเป็นลูกค้ามากที่สุด

เพราะถ้าดูจากแค่ในด้านของจำนวน Gen Z ในอาเซียนเราก็มีสัดส่วนมากถึง 23% แล้ว ยังไม่นับว่าในทั่วทั้งทวีป APAC หรือเอเซียแปซิฟิกจำนวน Gen Z ที่อยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี ก็มีมากกว่า 500 ล้านคน

จากกราฟจะเห็นว่าสัดส่วน Gen Z ในอาเซียนเรานั้นสูงกว่าสหรัฐอเมริกา และหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าเจาะลึกดูแค่สัดส่วนของ Gen Z ในไทยยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะสูงถึง 35% ของบรรดานักช้อปคนที่จับจ่ายใช้สอยทั้งหมด

ส่วน Gen Z ในประเทศสิงค์โปรเองก็มีกำลังซื้อสูงมาก มากถึงตกเดือนละ 4,200 ดอลลาร์สิงค์โปร คิดเป็นเงินไทยก็แสนบาทโดยประมาณ รู้แบบนี้แล้วจะยังไม่กำหนดกลยุทธ์พิเศษเพื่อพิชิตใจ Gen Z ให้ได้อีกหรอครับ

เมื่อรู้ว่า Gen Z สำคัญแบบนี้แล้ว เราลองมาดูกันดีกว่าครับว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากน้อยกว่ากัน และเมื่อเทียบกับ Gen อื่น ๆ ที่ผ่านมาหละเหมือนหรือกันขนาดไหน

3 เรื่องที่ Gen Z ให้ความสำคัญมากที่สุด

  1. ตัวเอง
  2. การทำงาน
  3. เพื่อนฝูง

เมื่อเทียบกับคน Gen Y, Gen X และ Silent Generation จะเป็นแบบนี้ครับ

  1. การทำงาน
  2. เพื่อนฝูง
  3. ตัวเอง

และ Baby Boomers ให้ความสำคัญที่ไม่เหมือนกับคนทุกเจนแบบนี้ครับ

  1. เพื่อนฝูง
  2. การทำงาน
  3. ตัวเอง

จะเห็นว่า Gen Z หรือวัยรุ่นวันนี้ให้ความสำคัญและสนใจตัวเองเป็นหลัก รองมาคือเรื่องงาน เพราะอยู่ในวัยกำลังสร้างตัว แล้วสุดท้ายคือมิตรภาพเพื่อนฝูง พอเห็นแนวทางสินค้าและบริการ ไปจนถึง Marketing Communication ที่จะทำการตลาดหาพวกเขาแล้วใช่ไหมครับ

ถัดมาอีก Gen Z Insight สำคัญ นั่นก็คือ Digital Behaviour Insight วัยรุ่นออนไลน์อย่างไร ใช้ดิจิทัลกันแบบไหนครับ

  • 72% Gen Z สิงค์โปร ชอบช้อปปิ้งซื้อสินค้าออนไลน์
  • 71% Gen Z มาเลเซีย ชอบดูวิดีโอทางมือถือ
  • 67% Gen Z ไทย ชอบใช้และเล่น AR Filter เป็นหลัก (นี่คือการทำ Brand Digital Experience)
  • 65% Gen Z ไทย นิยมลองสินค้าผ่าน AR ในร้าน
  • 50% Gen Z ฟิลิปปินส์ เชื่อรีวิวมาก (การตลาด Influencer ต้องมากับวัยรุ่นประเทศนี้นะ)

ภาพรวม ๆ ดูเหมือนว่าวัยรุ่น Gen Z ไทยติดใจกับการใช้ AR Filter เพื่อสร้าง Digital Experience ก่อนใช้เงินกันมากถึง 1 ใน 3 ครับ ถ้าแบรนด์ใครยังไม่ทำรีบทำ แต่ถ้าใครทำแล้วก็อย่าชะล่าใจ กลับไปดูให้ดีว่าเราทำให้มันดีกว่านี้ได้หรือไม่

Gen Z วัยรุ่นไทยออนไลน์วันละกี่ชั่วโมง

หนึ่งในคำถามที่นักการตลาดทุกคนอยากรู้เสมอคือ ลูกค้าเราออนไลน์มากน้อยเท่าไหร่ รายงานชุดนี้ก็มีคำตอบให้ครับ โดยวัยรุ่น Gen Z ไทยออนไลน์วันละ 6.3 ชั่วโมงโดยประมาณ เทียบกับคน Gen อื่นที่ออนไลน์แค่ 4.6 ชั่วโมง ถือว่าต่างกันมากนะครับ

ส่วน Gen Z เพื่อนบ้านในอาเซียนเองก็ออนไลน์ไม่น้อยกว่าเรามากนัก จะมีที่น้อยสุดคือเวียดนาม แค่วันละ 5.2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ส่วนเมื่อถามเจาะลึกข้อมูลกับกลุ่ม Gen Z ที่มีรายได้สูงพบว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยีอะไรอีกบ้าง และเมื่อเอาคำถามเดียวกันไปเทียบกับคนเจนอื่นได้คำตอบที่น่าสนใจดังนี้

Crypto ดูเหมือน Gen Z จะ All in มากกว่าคนทุกเจนในอาเซียน (ก็น่าจะเจ็บหนักเหมือนกันนะ) ตามมาด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่าง AR และก็ EdTech หรือการเรียนออนไลน์ ตามมาติด ๆ คือการใช้บริการ FinTech กับ Metaverse

ส่วนเทคโนโลยีที่เจนอื่นใช้เยอะกว่า Gen Z ก็มีเรื่อง HealthTech การหาหมอทางออนไลน์, NFT และ VR ครับ

Gen Z Journey Insight

มาถึงเรื่องสุดท้ายของ Gen Z ในรายงานฉบับนี้และสำคัญสุดเช่นกัน นั่นก็คือ Jounrey การซื้อสินค้าของพวกเขาเป็นอย่างไร ปรากฏว่าพวกเขามีการซื้อทั้งออนไลน์และออฟไลน์สลับกัน บวกกับได้รู้จักสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ แบบไม่มีช่องทางใดเป็นหลักแล้ว

แต่โซเชียลมีเดียก็ยังคงเป็นช่องทางหลักที่ Gen Z ใช้เวลาด้วยมากที่สุด ถ้าสรุปข้อมูลจาก Consumer Journey จะได้ดังนี้ครับ

Discovery Stage ในการเจอแบรนด์ใหม่ 54% เจอทางออนไลน์ และในนั้นเป็นเจอผ่านโซเชียลมีเดียสูงถึง 52% เมื่อเทียบกับคนเจนอื่นที่ต่างกันพอสมควร แค่ 43% เท่านั้น (ตามภาพ)

Evaluation Stage ในการประเมินว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ 58% ใช้ช่องทางออนไลน์ และ 47% ในนั้นประเมินผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เทียบกับคนเจนอื่นที่อยู่แค่ 39% เท่านั้น

Purchase Stage เมื่อจะซื้อ Gen Z 75% บอกว่าซื้อทางออนไลน์ และในนั้นมีมากถึง 47% ที่เป็นช่องทางโซเชียลมีเดีย

สรุปง่าย ๆ ได้ว่าถ้าเรามีงบการตลาดจำกัด มีคนจำกัด โฟกัสช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหลักก็รอดได้ไม่ยากครับ

สรุป Gen Z Consumer Insights 2024 พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ วัยรุ่นไทยและอาเซียน

ดูเหมือนว่า Gen Z จะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทางการตลาดของธุรกิจต่าง ๆ จริง ๆ เมื่อพวกเขาออนไลน์เยอะที่สุด แถมยังให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุด และก็ใช้ช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้นเราต้องหาทางปรับสินค้าหรือบริการของเราให้ตอบ Insight เหล่านั้น

ถ้าอยากเป็นแบรนด์ที่ได้ไปต่อในยุค 2030 ต้องรีบจับ Gen Z ให้ได้และดูแลพวกเขาให้ดีก่อนคู่แข่งครับ

และจากการที่ Gen Z ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก ก็ยังก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ในไทยและอาเซียนนั่นก็คือ Solo Economy ซึ่งจะเป็นหัวข้อสำคัญถัดไปที่จะเล่าให้ฟัง

อ่านบทความตอนที่ 2 : https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/solo-economy-thai-and-asean-digital-consumer-insights-2024-from-meta-report/

Source: https://web.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia?_rdc=1&_rdr

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *