แคมเปญการตลาด LGBTQ จับไต๋ Rainbow Washing ที่ใช้สีรุ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะมีแอปตรวจจับได้

แคมเปญการตลาด LGBTQ จับไต๋ Rainbow Washing ที่ใช้สีรุ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะมีแอปตรวจจับได้

บทความนี้เราจะพามารู้จักกับ Rainbow Washing Detector แคมเปญการตลาด จับกลุ่ม LGBTQ ช่วยจับไต๋ว่าแบรนด์ไหนสนับสนุนจริงหรือเป็นเพียงแค่ฉากหน้าทำการตลาด เพราะในปัจจุบันแค่สีรุ้งอาจไม่เพียงพอต่อการสื่อสารว่าแบรนด์ของฉันสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

เป็นหนึ่งในแคมเปญในซีรีย์ของ Cannes Lions ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นแคมเปญที่น่าสนใจและคาดว่าจะมีประโยชน์และสร้างไอเดียให้กับนักการตลาดทุกท่าน เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำแคมเปญการตลาดเพื่อเข้าถึงและเข้าใจได้อย่างตรงจุดกับกลุ่ม LGBTQ ต่อไปค่ะ🥰

ที่มาที่ไปของแคมเปญ: คนในคอมมูฯ ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่จริงใจ

Rainbow Washing Detector เป็นแคมเปญที่มาจากฝั่งเม็กซิโก ประเทศที่เปิดกว้างมากในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ และในช่วง Pride Month ที่เม็กซิโก แบรนด์หลายร้อยแบรนด์เปิดตัวผลิตภัณฑ์เวอร์ชันใหม่สีสันสดใส เน้นสีรุ้ง โดยพยายามเจาะตลาดที่ทำกำไรได้สูงอย่างกลุ่ม LGBTQ ที่มีราว 7 ล้านคน โดยมีการบริโภคปีละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาทต่อปี)

ทว่าปัญหาคือแบรนด์เหล่านี้จำนวนมากไม่สนับสนุนชุมชน LGBTQ แต่กลับมาทำการตลาดหรือในแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Rainbow Washing

ปล. Rainbow Washing คือ แนวทางปฏิบัติของการใช้สัญลักษณ์ธีมสีรุ้งในการสร้างแบรนด์ การโฆษณา สินค้า หรือสื่อสังคมออนไลน์ ให้ดูเหมือนเป็นการสนับสนุนชาว LGBTQ+ ในช่วงเดือน Pride month แต่ไม่ได้มาจากการสนับสนุนตัวตนหรือสิทธิของคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง และเป็นการกระทำที่ตื้นเขิน 

คล้ายกับคำว่า Greenwashing ที่บริษัทต่าง ๆ อ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในขณะที่ยังคงดำเนินการหรือสนับสนุนแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั่นเองค่ะ

ทำให้ฝ่ายผู้บริโภคหรือกลุ่มคนในกลุ่ม Community ไม่พอใจที่ถูกใช้เป็นเครืองมือทางการตลาด ไม่ได้สนใจใยดีแต่กลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดกระแสการจับตามองแบรนด์ที่ทำ Rainbow Washing หรือการย้อมสีให้กับแบรนด์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนใหญ่ความสำคัญและใส่ใจเป็นอย่างมากในภาคธุรกิจ

แคมเปญนี้ได้เปิดตัวครั้งแรกในระหว่างการประชุม World Economic Forum โดย Capaxia (บริษัทครีเอทีฟสื่อโฆษณา) ที่พัฒนา Rainbow Washing Detector แอปพลิเคชันที่สามารถสแกนผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีสีธงได้ ณ จุดขาย เพื่อพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสนับสนุนประชากร LGBTQ+ หรือไม่และสนับสนุนอย่างไรบ้าง

แคมเปญการตลาด LGBTQ จับไต๋ Rainbow Washing ที่ใช้สีรุ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะมีแอปตรวจจับได้

เมื่อสแกนแล้วแอปฯ จะทำการประเมินเป็นคะแนนออกมาเป็นในแง่มุมต่าง ๆ เช่น สนับสนุนแบรนด์อย่างไร มีการโดเนทช่วยเหลือคนใน Community อย่างไรบ้าง รวมถึงการจ้างงาน Take action อย่างไรบ้างกับประเด็นแรงงานต่าง ๆ เป็นต้น

โดยตัวแอปฯ จะถูกบรรจุด้วยตัวข้อมูลจากแบรนด์ทั้งใหญ่และเล็กในอเมริกา อ้างอิงมาจากการมีส่วนร่วมและจุดประสงค์ที่แท้จริงของแบรนด์และนำมาประเมินเป็นคะแนนให้เราได้เห็นในแอปฯ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบได้ว่าแบรนด์นี้สนับสนุนจริงไหม มีเปอร์เซ็นต์ความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ พร้อมทั้งมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงมากกว่า 15,000 แหล่ง ให้เราได้กดอ่านเพื่อตอกย้ำความมั่นใจในการตัดสินใจของเราต่อไปอีกด้วย

แคมเปญการตลาด LGBTQ จับไต๋ Rainbow Washing ที่ใช้สีรุ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะมีแอปตรวจจับได้

ไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวเวอร์ชัน 1.0 แอป Rainbow Washing Detector ก็ได้รับการดาวน์โหลดจากชุมชน LGBTQ ของประเทศมากกว่า 50,000 ราย และในปัจจุบัน แอปพลิเคชันนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์มากกว่า 10,000 แบรนด์ในเม็กซิโก โดยให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับบริษัทมากกว่า 3,000 บริษัท

รวมถึงแบรนด์ใหญ่มากกว่า 30 แบรนด์ในเม็กซิโก ก็ได้เข้ามาร่วมมือและขอความช่วยเหลือจาก Capaxia ในการใช้โมเดลธุรกิจนี้ เพื่อรอบคลุมในการดำเนินธุรกิจกับหลากหลายในสังคมอย่างแท้จริง

สรุป แคมเปญการตลาด LGBTQ จับไต๋ Rainbow Washing ที่ใช้สีรุ้งอาจไม่เพียงพอ เพราะมีแอปตรวจจับได้

จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคในปัจจุบันมีการตื่นรู้และตระหนักถึงประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมกันมากขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ความจริงใจของแบรนด์ เมื่อแบรนด์ไม่มีให้ พวกเขาก็ต้องการการตรวจสอบเพื่อทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าสิ่งที่สนับสนุนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

Rainbow Washing Detector เป็นการปรับใช้ Data-driven Consumer Product ได้อย่างตรงจุดและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแบรนด์ชั้นนำในเม็กซิโกเป็นวงกว้าง ดีไม่ดีในอนาคตคลื่นใต้น้ำลูกนี้อาจจะมาขึ้นที่อ่าวไทย แบรนด์ทั้งหลายควรปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคม ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมเพื่อลดแรงกระแทกจากสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะปรับตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าต้องมานั่งแก้ในวันข้างหน้าค่ะ

นอกจากนี้ยังทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งในการปรับใช้ Data ว่าสามารถนำมาใช้ในแง่นี้ได้ด้วย ไม่ต้องเอาไปปรับใช้ในแง่เทคนิคหรือพิศดาร แถมผู้ใช้ยังสามารถใช้งานได้ง่าย ๆ ตอบโจทย์ทั้ง UX และ UI จึงไม่แปลกที่ภายในสัปดาห์แรกจะมียอดดาวน์โหลดมากกว่าห้าหมื่นครั้ง

หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source: https://www.ddb.com/creative/14_capaxiabrand/

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *