วิเคราะห์ Digital Consumer Journey 2023 แบบ Omni channel

วิเคราะห์ Digital Consumer Journey 2023 แบบ Omni channel

วิเคราะห์ถอดรหัส Digital Consumer Journey 2023 เส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนแบบ Omni channel marketing ที่ต้องใช้ออฟไลน์และออนไลน์ส่งเสริมกัน ไม่ใช่แยกกันหรือแย่งลูกค้ากันอีกต่อไป

จากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight Thai & Asean 2023 บอกให้รู้ว่า 12% ของผู้ตอบแบบสอบถามเปลี่ยนจากการซื้อทางออนไลน์กลับไปเป็นออฟไลน์เหมือนเดิมแล้ว

คำถามสำคัญคือ ช่องทางออนไลน์ยังสำคัญอยู่หรือเปล่า ? หรือเราควรกลับมาโฟกัสกับการตลาดออฟไลน์ให้มากขึ้นเหมือนวันวาน ?

เบื้องต้นบอกได้เลยครับว่าผู้บริโภควันนี้ต้องการประสบการณ์ที่ดีในทุกช่องทาง หรือที่เราจะเรียกกันว่า Omni channel marketing นั่นเอง

จากการแพร่ระบาดของโควิด19 จนทำให้เราต้องล็อคดาวน์อยู่บ้านมานานเป็นปีๆ แน่นอนว่าเราเรียนรู้การทำทุกอย่างบนออนไลน์ด้วยตัวเอง เรากลายเป็น Digital Consumer กันเต็มตัว เราเรียนรู้ที่จะซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างผ่านช่องทางดิจิทัล หรือมือถือเครื่องเล็กกันอย่างคล่องแคล่ว

แต่พอมาวันนี้โลกกลับมาเปิดทำการเหมืองเดิมตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา หลายๆ ประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว ขนาดประเทศจีนเองเคยคุมเข้มงวดก็ปล่อยผู้คนออกไปใช้ชีวิตกันตามอิสระ อยากบินออกไปไหนก็ไป อยากบินกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้

เรียกได้ว่าชีวิตในปี 2023 นี้โลกเรากลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมก่อนจะเกิดโควิดไปแล้ว

แต่นั่นก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินของผู้คนโดยเฉพาะชาวอาเซียนซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของรายงานฉบับนี้ ดูเหมือนว่าจะมีบางส่วนกลับไปซื้อทางออฟไลน์เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ Consumer journey ที่ไม่เป็นเส้นตรงและกระจัดกระจายสลับไปมาแบบเดี๋ยวออนไลน์ เดี๋ยวออฟไลน์ แล้วเดี๋ยวก็กลับไปออนไลน์ครับ

จากการสำรวจผู้บริโภคอาเซียนฉบับนี้บอกให้รู้ว่า มีคน 12% บอกว่าพวกเขากลับไปซื้อสินค้าบางชนิดทางออฟไลน์มากขึ้น ถ้าดูรายละเอียดว่าสินค้าหมวดหมู่ไหนบ้างคนที่กลับไปเลือกซื้อทางออฟไลน์เพิ่มขึ้นก็จะเห็นดังภาพด้านล่าง

  • 9% อาหารสด
  • 8.2% เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน
  • 7.8% ของใช้ภายในบ้าน
  • 7.6% เครื่องใช้ไฟฟ้า
  • 7% อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน
  • 6% คือค่าเฉลี่ยของสินค้าอื่นๆ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะไม่กลับไปสนใจช่องทางออนไลน์ที่เคยใช้บริการอีกต่อไป แต่กลายเป็นว่า Digital Consumer Asean กลับคาดหวังประสบการณ์แบบ Seamless Experience จากแบรนด์และนักการตลาดที่จะสามารถทำให้พวกเขารู้สึกว่าการติดต่อกับแบรนด์เราไม่ว่าจะช่องทางไหน ก็จะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน ข้อมูลแบบเดียวกัน ราคาแบบเดียวกัน ไปจนถึงโปรโมชั่นแบบเดียวกันครับ

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ แบรนด์ใหญ่เริ่มจะลงมือทำ CDP Customer Data Platform อย่างจริงจัง เพราะช่องทางออนไลน์อาจทำยอดขายได้ลดลง แต่ถ้าเราไม่สามารถเก็บ Offline Data ของลูกค้าเราก็อาจจะพลาดการเข้าใจ Insight ที่แท้จริงว่าลูกค้าจำนวนเท่าไหร่แวะมาหน้าร้านออฟไลน์เราก่อนจะไปตัดสินใจซื้อออนไลน์กันแน่ครับ

เพราะถ้าเราวัดผลผิดมองแต่ยอดขายบรรทัดสุดท้าย เราอาจมองว่าหน้ารานออฟไลน์ไม่จำเป็นอีกต่อไป จนเผลอตัดสินใจผิดปิดสาขานั้นไปไม่รู้ตัว กว่าจะรู้อีกทีก็คือยอดขายออนไลน์ก็กระทบด้วย นั่นเพราะขาดการเชื่อมโยงดาต้าเพื่อวัดผลที่แม่นยำได้นั่นเอง

มีสองเหตุผลหลักที่ทำให้คนเลือกเปลี่ยนมาซื้อออฟไลน์ดังนี้

  1. Experience ประสบการณ์สำหรับสินค้าบางชนิดที่ออนไลน์ให้ไม่ได้
  2. Example ได้ลองก่อนตัดสินใจซื้อ อย่างน้ำหอม การได้ลองก่อนซื้อย่อมดีกว่าสั่งแล้วส่งเปลี่ยนคืนทีหลัง

แต่ถ้าเราอยากให้คนซื้อออนไลน์มากขึ้นจริงๆ ก็ต้องหาทางคิดกลยุทธ์กระตุ้นให้คนกลับมาออนไลน์ ไม่ว่าจะมีโปรพิเศษให้หรือมีสิทธิพิเศษบางอย่างให้ลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ครับ (ข้อดีออนไลน์คือเก็บดาต้าไปต่อยอดได้ง่ายกว่าออฟไลน์มาก)

Digital Consumer Journey ในกลุ่มสินค้าทั่วไป

เราจึงมีภาพของ Consumer Journey แบบ Omni channel marketing มาให้ดูกัน สำหรับกลุ่มสินค้าทั่วไปว่าผู้คนเริ่มจากจุดไหน แล้วไปจบที่จุดไหนอย่างไรครับ

  1. เห็นสินค้าหรือบริการทางออนไลน์
  2. อ่านรีวิว
  3. แวะไปร้าน
  4. คุยกับพนักงานขาย
  5. ลองสินค้า
  6. อยากได้แต่ไม่มีที่ร้าน
  7. เช็คเว็บไซต์
  8. เปรียบเทียบราคา
  9. ตัดสินใจซื้อ
  10. ถ้าได้สินค้าผิดก็เอาไปคืนหน้าร้าน
  11. ถ้ามีปัญหาก็ติดต่อแบรนด์ทางออนไลน์
  12. ติดต่อเจ้าหน้าที่ในการรับสินค้ากลับ หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่
  13. ได้รับสินค้าที่ส่งกลับมาใหม่ทางไปรษณีย์
  14. แฮปปี้กับสินค้าที่ตัวเองอยากได้

นี่เป็น Digital Consumer Journey แบบ Omni channel marketing ที่เริ่มตั้งแต่เจอของชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ ไปหน้าร้านมีให้ลองแต่ไม่มีให้ซื้อ กลับมาสั่งออนไลน์ในร้านที่ถูกที่สุด ไปจนถึงการส่งคืนสินค้าแล้วก็ติดต่อพนักงานให้รีบแก้ไข จนสุดท้ายได้ของที่ใช่มาอยู่ในมือครับ

ลองมาดูอีก Digital Consumer Journey ในกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญบ้าง

  1. บังเอิญเห็นจากสื่อโฆษณาออฟไลน์ เช่น บิลบอร์ด หรืออาจจะเห็นจากโฆษณาออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย
  2. เข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมทางออนไลน์
  3. ถามเพื่อนๆ ที่เคยซื้อว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  4. แวะไปที่ร้านเพื่อลองสัมผัส จับของจริง
  5. อาจกลับไปที่ร้านอีกครั้งเพื่อเช็คและต่อรองราคา
  6. แวะเข้าเว็บช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบราคาระหว่างหน้าร้านกับบนเว็บ
  7. ตัดสินใจซื้อสินค้าจากที่ร้าน
  8. สำรวจสินค้าเมื่อถึงบ้าน ว่าไม่มีอะไรเสียหาย
  9. ถ้าเจอสินค้ามีปัญหาก็จะโทรติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนหรือคืน
  10. อาจติดต่อทางออนไลน์ของแบรนด์นั้นเพิ่มเติมเพราะร้อนใจ
  11. พนักงานของแบรนด์อาจให้โปรโมชั่นพิเศษทางออนไลน์ หรือบอกว่ายินดีคืนเงินได้ถ้าเอาไปคืนที่สาขาไหนก็ตาม
  12. ลูกค้าไปเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ร้าน จนได้ของที่ใช่มา หรือไม่ก็คืนเงินเต็มจำนวนครับ

จะเห็นว่าในสินค้ากลุ่มที่มีความซีเรียสนั้นมีการใช้ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ประสานกันตลอดเวลา ถ้าแบรนด์ไหนยังไม่ได้ทำเรื่อง Customer Data Platform ยังไม่ได้ทำ CRM ดีๆ ยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลลูกค้าในช่องทางต่างๆ เข้าด้วยกัน รับรองว่าการตลาดทั้งหลายที่ทำมา โฆษณาทั้งหลายที่เสียเงินทำไป จะแทบไร้ค่าเมื่อเกิดวิกฤต Social Crisis ขึ้นครับ

แม้ Online มักเป็นจุดเริ่มต้นของ Consumer Journey แต่ Offline ก็ยังสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย

แม้จากการสำรวจพบว่ากว่า 82% นั้นรู้จักสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าช่องทางออฟไลน์จะหมดความสำคัญแต่อย่างไร เพราะผู้บริโภคยังคงรู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปจับ สัมผัส หรือได้เห็นกับตาที่หน้าร้านออฟไลน์ก่อน

แม้พวกเขาจะอ่านรีวิวออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อเป็นปกติ จะเปรียบเทียบราคาทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ช่องทางออฟไลน์ก็ยังส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อได้ไม่น้อยอยู่ดีครับ

เพราะกว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าอยากซื้อทางออฟไลน์ที่ร้านค้ามากว่า นั่นหมายความว่าเราต้องทำหน้าร้านให้ลูกค้าได้ Customer Experience ที่ดี

ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปสำรวจแต่ละขั้นตอนการซื้อ ว่าออนไลน์หรือออฟไลน์จะส่งผลต่อการตัดสินใจมากกว่ากัน เราจะมาเจาะลึก Digital Consumer Journey 2023 กันในบทถัดไปครับ

อ่านบทความวิเคราะห์รายงาน Facebook Digital Cosumer Insight 2023 > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/facebook-research-insight-ecommerce-economy-and-digital-consumer-thai-and-asean-2023/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *