สรุป 10 Trends Facebook Consumer Insight 2023 จาก Meta

สรุป 10 Trends Facebook Consumer Insight 2023 จาก Meta

สรุป 10 Trends Facebook Consumer Insight 2023 การตลาดยุคหลังโควิดจะเป็นอย่างไร มาหาคำตอบจากรายงาน Southeast Asia’s Digital Consumer: A new stage of evolution จาก Facebook หรือ Meta และ Bain & Company กันครับ

การตลาดยุคหลังโควิด Marketing After Covid Disruption 2023

ดูเหมือนว่าภาพรวมของ Digital Consumer หรือผู้บริโภคออนไลน์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับช่วงเวลาสองปีก่อนที่อะไรๆ ก็ออนไลน์ไปเสียทุกอย่าง จากวันที่เคย Anything From Home จนทำให้เกิดเศรษฐกิจจากบ้านหรือ From Home Economy เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายเกิดการเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้อย่างอิสระมากขึ้น ทำให้ผู้คนก็หลั่งไหลออกจากบ้านกันจนแทบกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติแม้จะมีการระบาดเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

แม้ภาพรวมเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 จะลดความน่ากลัวลง ในแง่หนึ่งคือเชื้อไวรัสที่ปรับตัวให้อ่อนลงแต่ติดง่ายขึ้น อีกแง่คือเรามียาที่ดีพอ มีความรู้ในการรักษาที่ดีพอ เราถึงจุดที่ต่อให้ติดก็ไม่ต้องกักตัวทุกที่เป็นผู้สัมผัสเชื้อเหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ปัญหาความท้าทายใหม่ที่น่ากลัวไม่แพ้เจ้าเชื้อไวรัสโควิดที่ก้าวเข้ามาคือเรื่องของเงินเฟ้อ ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกไปพร้อมกัน ปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ตกลงไต้หวันกับจีนจะไปจบที่ตรงไหน เกิดความตึงเครียดไปทั่วโลกกับเรื่องนี้ เพราะไต้หวันเองถือเป็นประเทศผู้ผลิตชิปสำคัญอันดับหนึ่งของโลก ทำเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ขาดแคลนไปหมด (ขนาดรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เองยังต้องเลื่อนกำหนดส่งมอบเลย) หรือแม้แต่สงครามรัสเซียกับยูเครนก็ตาม และปัญหาฟองสบู่คริปโทที่ล้มละเนละนาด

ดังนั้นจะเห็นว่าแม้โควิดจะเริ่มผ่านพ้นไปเพราะเราปรับตัวอยู่กับมันได้ ชินกับมันแล้ว แต่โลกก็ยังไม่วายเกิดวิกฤตใหม่ๆ ปัญหาใหญ่ๆ เข้ามาเพื่อให้เราต้องลับสมองปรับตัวกับโลกที่ไม่แน่นอนอีกเช่นเคย

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ส่งผลต่อ Digital Consumer Behavior ในประเทศไทยบ้านเราและ Southeast Asia ทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อะไรที่เคยทำมากอาจเหลือแค่กลางๆ อะไรที่เคยทำบ้างอาจไม่ทำแล้ว หรืออะไรบ้างที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ รายงาน Facebook Consumer Insight 2023 ฉบับนี้มีคำตอบให้ เราจะมาดูรายภาพรวมของทั้ง Southeast Asia ก่อนจะไปเจาะลึกแต่ละประเทศกัน โดยเฉพาะประเทศไทยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง และมีอะไรที่กำลังจะเปลี่ยนไป เพื่อที่เราจะได้ปรับ Business & Marketing Strategy ได้ทันโลกใบใหม่ในปี 2023-2030 ครับ

เพราะตอนนี้ Digital Consumer มีวิวัฒนามาถึงก้าวใหม่ที่ไม่เคยก้าวมาถึงแล้ว การซื้อขายออนไลน์อย่าง Ecommerce ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยุค Digital Economy เหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือ O2O Experience ที่ลูกค้าทุกกลุ่มคนคาดหวังว่ามันจะดีขึ้น

นักช้อปออนไลน์ซึ่งก็คือทุกคนที่เล่นออนไลน์เป็นวันนี้เปิดใจรับแบรนด์ใหม่ๆ เสมอ และพวกเขาก็ไม่ได้ซื้อออนไลน์แค่ช่องทางเดิมๆ อีกต่อไป เพราะพวกเขายังคงสนุกกับการค้นพบช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ใหม่ๆ ที่ปีก่อนไม่เคยใช้มา

แล้วพวกเขายังสนุกกับการได้มีส่วนร่วมหรือ Engagement ระหว่างการช้อปปิ้งออนไลน์ Ecommerce มากขึ้น ถ้าสนุกก็จะช้อป แล้วยิ่งถ้าสนุกมากขึ้นก็จะทำให้อยากช้อปหนักกว่าเดิม

แต่ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวันนี้สินค้าข้าวของต่างๆ นั้นแพงขึ้น และเงินในกระเป๋าผู้บริโภคก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่าอัตราเงินเฟ้อครับ

ช้อปสนุกใช้เงินฉลาด นิยาม Digital Consumer 2023

นิยามจากการตลาดวันละตอน

ในภาพของการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาเซียนเองก็กลายเป็นผู้ในเมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลก การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Fintech นั้นเติบโตอย่างน่าสนใจ เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้มากกว่าที่เราคิด

สรุปในภาพรวมคือภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเราเองกำลังก้าวไปข้างหน้าในแบบของเราเอง ซึ่งมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนพื้นที่ใดในโลกชัดเจน เราไม่เหมือนอเมริกา ไม่เหมือนยุโรป และก็ไม่เหมือนจีนเสียทีเดียว

อาเซียนมีสไตล์ของอาเซียน และไทยเราก็มีสไตล์ของไทยเรา มาดูกันดีกว่าครับว่า Digital Consumer Insight 2023 ในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร มีอะไรบ้างที่เหมือนและต่างกัน เพื่อที่นักการตลาดยุคดาต้าจะได้เอาไปปรับแผนการตลาดและธุรกิจได้แม่นยำตรงใจผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น

Top 10 Facebook Consumer Insight 2023 จาก Meta

1. อนาคตเศรษฐกิจอาเซียนดูสดใสเมื่อเทียบกับภาพรวมโลกทั้งใบตอนนี้

ในระยะยาวแล้วโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเซียนตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเรามีแนวโน้มจะดีกว่าภาพรวมทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอเมริกาและยุโรปเอง (แต่เติบโตดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าเราจะเจริญทัดเทียมเค้านะครับ เพราะเค้าโตมาก่อนนานแล้ว)

ในขณะที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้า แต่รายงานฉบับนี้เองก็คาดว่าอาเซียนเราจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ บนโลก

การคาดการณ์การเติบโตของ GDP และอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ในช่วงปี 2022-2023 ดูว่าจะไม่สาหัสเท่ากับยุโรปและอเมริกา แถมจำนวนประชากรในช่วงวัยทำงานของอาเซียนเราก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 23 ล้านคนภายในปี 2030

และนั่นก็จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนในภูมิภาคนี้น่าจะเพิ่มขึ้นตามมา แล้วก็จะเกิดชนชั้นกลางระดับบนขึ้นมาใหม่อีกกว่า 51 ล้านครัวเรือนเช่นกัน

ที่สำคัญสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียนบ้านเรานี้ก็ดูเหมือนจะเติบโตได้ดีในเรื่องของการส่งออก และเป็นเป้าหมายของเม็ดเงินการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับจีนครับ

ฟังดูเหมือนว่าอนาคตเศรษฐกิจอาเซียนเราจะสดใส แต่จะไปกระจุกอยู่ตรงประเทศไหนเป็นพิเศษไหมต้องมาดูในรายละเอียดกันในบทถัดไป

2. ผู้บริหารระดับสูงทำงานแบบหืดขึ้นคอ และต้องทำให้องค์กรพร้อม War ตลอดเวลา

บรรดาเหล่าผู้บริหารระดับสูงในบริษัทและหน่วยงานต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจและสังคมมีความไม่แน่นอน พวกเขาจึงพยายามคิดหากลยุทธ์ที่จะบรรเทาผลกระทบเหล่านั้น

92% ของผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายเห็นตรงกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอะไรที่ยากจะคาดการณ์ได้เหมือนเดิม ทำให้องค์กรต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เสมือนต้องพร้อมทำศึกสงครามทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

บวกกับอัตรากำไรของธุรกิจที่ลดน้อยลง ส่งผลให้อัตราการสต็อกสินค้าเตรียมขายก็น้อยลงตาม เพราะกลัวว่าสต็อกไปอาจขายไม่ได้จนส่งให้ต้องระบายสิ้นค้าทิ้งจนกลายเป็นเลือดไหล บวกกับการลาออกของพนักงานจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะหาเส้นทางใหม่ในชีวิต ไม่ก็ถูกดึงตัวไปยังบริษัทเกิดใหม่ที่เร้าใจกว่า

67% ของผู้บริหารเหล่านี้บอกว่าพวกเขาเห็นเทรนด์การซื้อสินค้าที่เน้นความคุ้มค่ามากขึ้นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ และค่อนไปทางเน้นของถูกและดีเป็นหลักด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้บรรดาผู้บริหารระดับสูงในบริษัททั้งหลายต้องหามาตรการเบาเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อไม่ให้ธุรกิจเสียหายจนต้องล้มหายตายจากไปครับ

สุดท้ายนี้จากการสำรวจบรรดาผู้บริหารระดับสูงในองค์กรใหญ่ๆ ทั่วอาเซียนพบว่า

  • 91% กำลังเริ่มโครงการปรับลดต้นทุนทางธุรกิจ
  • 82% วางแผนจะขึ้นราคาสินค้าหรือบริการของตัวเอง
  • 27% ปรับ Supply chains ให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ที่ตัวเองทำธุรกิจอยู่เพื่อลดต้นทุนไปในตัว และสร้างความได้เปรียบในระยะยาว

สรุป ดูเหมือนว่าความกดดันจะไปตกอยู่กับผู้บริหารระดับสูงทั้งหลาย ดูเหมือนหอคอยงาช้างที่ดูมั่นคงพร้อมจะแตกเป็นผุยผงได้ไม่ยาก ถ้าไม่สามารถปรับตัวลดต้นทุนได้ไว เพิ่มกำไรได้ทัน บริษัทเคยใหญ่แค่ไหนก็อาจเหลือแค่ชื่อได้ในระยะเวลาสั้นๆ

3. Ecommerce Trends 2027 การซื้อออนไลน์จะยังคงเติบโตได้ดีจนถึงปี 2027

แม้การล็อกดาวน์จะหมดไป แต่การซื้อขายออนไลน์หรือ Ecommerce ภูมิภาคอาเซียนนี้ยังคงไปได้ดี และแม้ท่ามกลางมูลค่า GMV หรือการซื้อขายรวมที่เกิดขึ้นจะเติบโตลดลงก็ตาม

มูลค่ารวมของตลาด Ecommerce ในอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับสองปีก่อนหน้า โดยอัตราการเติบโตแบบ CAGR นั้นลดจาก 48% เหลือ 15% แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงโตขึ้นอยู่ดีครับ

ซึ่งได้รับแนวโน้มจากการเปิดเมืองให้ผู้คนใช้ชีวิตปกติแม้จะมีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนไม่น้อย ผู้คนเริ่มจะออกไปจับจ่ายใช้สอยตามร้านค้าออฟไลน์เหมือนช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้การซื้อออนไลน์ที่เคยสูงมากช่วง From Home Economy ลดลงไปนั่นเอง

แต่ที่กล่าวว่าโนวแน้มโดยรวมของการช้อปปิ้งออนไลน์ Ecommerce จะยังคงเป็นบวกอยู่เพราะในแง่ของ GMV (มูลค่าการซื้อขายรวม) คาดว่าน่าจะเติบโตได้ถึง 17% จาก 129,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 จะเพิ่มไปถึง 280,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2027

ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงบวกอย่าง Digital Consumer ที่เพิ่มขึ้นตามช่วงวัยประชากรในภูมิภาคนี้นั่นเอง ซึ่งก้คาดว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในอาเซียนจะเพิ่มจาก 370 ล้านคนในปี 2022 เป็น 402 ล้านคนในปี 2027 และในแง่ของสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปก็จะเพิ่มจาก 82% ในปีนี้ ไปสู่ 88% ในปี 2027 ครับ

นอกจากจำนวนผู้บริโภคออนไลน์หรือ Digital Consumer ที่จะเพิ่มขึ้นในด้านจำนวนกับสัดส่วนแล้ว ยังคาดการณ์ว่าการซื้อโดยเฉลี่ยต่อครั้งหรือ Average Basket Sizes ก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นตาม

สรุปได้ว่าตลาด Ecommerce ไทยและอาเซียนจะไม่มีทางซบเซาลง ไม่ย้อนกลับไปเป็นเหมือนก่อนโควิดมาก ด้วย 2 ปัจจัยหลัก จำนวนคนที่สามารถซื้อของได้เพิ่มขึ้น กับความสามารถในการซื้อที่เพิ่มขึ้นตามวัยครับ

4. O2O Marketing, Seamless Experience, Customer Data Integration

การช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของผู้บริโภคยุคดิจิทัลหลังโควิด โดยเฉพาะใน Customer Journey ตอนที่อยู่ในช่วงเจอสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ กับตอนที่ประเมินความพึงพอใจหลังจ่ายเงินแล้ว ของตรงปกไหม โฆษณาหลอกลวงหรือไม่ ได้รับสินค้าสมบูรณ์หรือล่าช้าหรือเปล่า

แต่ดูเหมือนว่าเทรนด์ผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปนิดหน่อย จะขยับเข้าหาการซื้อสินค้าทางออฟไลน์มากขึ้น คิดเป็น 41% ของเงินที่ใช้จ่ายไป (แต่ก็เท่ากับว่ายังใช้เงินกับออนไลน์สูงกว่า) แต่สิ่งที่ตามมาคือการคาดหวังประสบการณ์แบบ Seamless Experience แบบที่สั่งออนไลน์แล้วมารับหน้าร้าน หรือได้รับสินค้าออนไลน์แล้วสามารถเอามาเคลมเปลี่ยนคืนได้ที่ร้านค้าออฟไลน์ครับ

ดังนั้นการทำ O2O Marketing ให้ได้ออกมาเป็น Seamless Experience จึงสำคัญมากสำหรับธุรกิจในยุคใหม่หลังจากนี้ คุณจะต้องประสานเชื่อมโยง Customer Data เข้าไว้ด้วยกันให้ดี ถ้าไม่อยากเสียลูกค้าไปให้คู่แข่งเพราะประสบการณ์แย่ๆ แค่บางจุด Touchpoint

5. TikTok หรือ Short Video is new King

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของ TikTok ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อโลก Social Media Marketing อย่างมาก เดิมทีนักการตลาดเคยมองว่า Video Content เป็นแค่ส่วนเสริม ใครจะไปขยันถ่ายคลิปทั้งวัน กลายเป็นว่าแม้เราจะไม่ขยันถ่าย แต่เราก็ขยันดูคลิปสั้นๆ ได้ทั้งวันจริงๆ

และวิธีการทำ TikTok Content ก็ดูจะไม่ต้องยุ่งยากแบบโซเชียลมีเดียยุคก่อนหน้าปูทางมา แค่หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย ถ่ายอะไรก็ได้ พูดเฉยๆ ก็ได้ ที่เหลือก็ขยันโพสออกไปเรื่อยๆ จนได้คลิปที่ติดเทรนด์แล้วก็ปังโดยไม่รู้ตัว

จากรายงาน Facebook Consumer Insight 2023 บอกให้รู้ว่าการทำ Short Video หรือคลิปคอนเทนต์สั้นๆ นั้นส่งผลให้คนรู้จักแบรนด์เพิ่มขึ้น

ใครทำธุรกิจยังไม่ทำ TikTok ถือว่าพลาด ขนาดพี่มาร์ค Facebook เองยังต้องลอกด้วยการพยายามผลักดัน Reel ขึ้นมาแทน Story เลยครับ

6. Digital Consumer 2023 เปิดใจรับแบรนด์ใหม่เสมอ แต่ก็เลือกของที่ดูมีคุ้มค่าจริงๆ มากขึ้น

ผู้บริโภคออนไลน์หรือ Digital Consumer ในปีหน้ายังคงเป็นคนที่ใจกว้างพร้อมเปิดรับแบรนด์ใหม่อยู่เสมอ เจออะไรใหม่ผ่านฟีดก็พร้อมซื้อ ให้โอกาสแบรนด์ใหม่ๆ สินค้าแปลกๆ ได้เข้ามาอยู่ในบ้านโดยไม่คิดอะไรเยอะ (แต่ราคาต้องไม่แพงนะ)

แต่ในขณะเดียวกันก่อนจะหลวมตัวซื้อพวกเขาก็ดูก่อนว่าจ่ายเงินไปแล้วจะคุ้มค่าเงินที่หามาอย่างยากเย็นหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้อัตราเงินเฟ้อส่งผลให้มูลค่าเงินในกระเป๋าเราลดลง ก่อนซื้อก็อยากมั่นใจว่าไม่ได้เสียเงินเปล่า ดังนั้นถ้าใครหลอกลวงผู้บริโภคออนไลน์ บอกได้เลยธุรกิจคุณมีแต่ตายกับตายสถานเดียว

สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้คนที่เห็นโฆษณาของคุณอยากมีส่วนร่วม และต้องเรียนรู้ที่จะทำ Video Content จริงจังได้แล้ว บวกกับจำไว้ว่าผู้บริโภควันนี้มีช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ที่หลากหลาย อย่ายึดติดว่าต้องขายแค่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ แต่จงไปอยู่ทุก Touchpoint ที่กลุ่มเป้าหมายคุณน่าจะใช้เวลาเยอะๆ ให้ครบครับ

7. Net Promoter Score ของ Digital Consumer ลดลงอย่างน่าตกใจ

แม้การช้อปออนไลน์จะโตขึ้น Ecommerce จะบูมมาก แต่ในด้านความพึงพอใจของผู้บริโภคออนไลน์กลับลดลงอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เมื่อดูจากคะแนน NPS หรือ Net Promoter Score จาก Ecommerce Platform ชั้นนำกลับเหลือแค่ 35% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่สูงถึง 53% ครับ

ความไม่ค่อยแฮปปี้ของผู้บริโภคอาเซียนดูเหมือนจะมาจากหลากหลายปัจจัย ราคาสินค้าที่สูงขึ้น สินค้าที่อาจลดคุณภาพลง สินค้าหายากขึ้น และการที่ของขาดตลาดอยากซื้อแต่ไม่มีขาย สินค้าส่งข้ามประเทศมาไม่ได้เนื่องจากโรงงานในจีนปิด หรือติดภาวะสงคราม ทั้งหมดนี้จึงเลยส่งผลให้แม้ใช้เงินออนไลน์เยอะขึ้น แต่ความพึงพอใจที่ได้รับกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม

แต่นั่นก็หมายถึงโอกาสที่แบรนด์เราจะทำเรื่องนี้ให้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะนี่คือการสร้าง Brand Experience ที่ทำให้ลูกค้าอยากเลือกเรามากกว่าคู่แข่ง ในวันที่สินค้าและบริการแทบไม่ได้มีอะไรต่างกัน แต่การดูแลที่แตกต่างกันก็ส่งผลสำคัญต่อยอดขายมหาศาลครับ

8. Content Creator Driven Economy คอนเทนต์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่ชัดขึ้นทุกปีก็คือเศรษฐกิจจากคอนเทนต์ต่างๆ หรือผมอาจจะขอเรียกว่า Contenconomy ก็ได้ เพราะดูเหมือนการทำธุรกิจผ่านแอปแชท การทำวิดีโอทั้งสั้นและยาวเพื่อสร้างยอดขาย และการใช้ Content Creator หรือ Influencer ก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและอาเซียนไปเรียบร้อยแล้ว

จากการสอบถามผบว่ากว่า 63% เคยช้อปผ่านแอปแชท หรือที่เรียกว่า Chat Commerce นอกจากนี้คอนเทนต์ประเภท Short Video ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

กว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียหรือช่องทางเหล่านี้ในการค้นหาสินค้าที่สนใจ หรือใช้ในการหาว่าควรจะตัดสินใจซื้อดีหรือเปล่า

เราจะเห็นความสอดคล้องกันระหว่าง Consumer ที่พยายามหาข้อมูลสินค้าที่ตัวเองต้องการผ่านช่องทางใหม่ๆ ไม่ใช่แค่เข้าเว็บแบรนด์แล้วจบ แต่พยายามหาว่ามีใครเคยรีวิวว่าอย่างไร รีวิวนั้นดูจริงหรือรับเงินจ้างมาจกตา ดังนั้นยอดขายหลายๆ แบรนด์มีการพึ่งพาการทำคอนเทนต์ที่ดีจากครีเอเตอร์ที่เก่งกว่าที่คิด

ถ้าแบรนด์ไหนยังไม่ทำวิดีโอคอนเทนต์เท่ากับพลาด คุณกำลังเสียโอกาสให้แบรนด์อื่นที่ทำและเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ที่จะทำให้ Short Video เขาดีขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวครับ

9. การลงทุนใน Fintech และ Tech อื่นๆ ในอาเซียนดูดีกว่าหลายที่บนโลก

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะครับว่าการลงทุนใน Technology ของอาเซียนเราจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าหลายพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Fintech ดูจะไปได้สวยจนหลายประเทศต้องอิจฉา

ในอาเซียนเองสัดส่วนการใช้ e-Wallets, Digital Wallet, Cryptocurrency, NFT มีสัดส่วนต่อประชากรที่สูงกว่าประเทศเจริญแล้วอย่างอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีนด้วยซ้ำ

7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาได้เริ่มลองใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Metaverse ไปเรียบร้อยแล้ว (คริปโตก็นับเป็นหนึ่งในนั้นนะ)

แต่ความน่าสนใจคือแต่ละประเทศในอาเซียนก็จะมี Insight การใช้เทคโนโลยนีที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปใช้ก็มีสัดส่วนไม่เท่ากัน ซึ่งจะสูงมากในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ดูจะมีการเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้ได้ไวกว่าประเทศอื่น

ในภูมิภาคอาเซียนดูเหมือนธุรกิจกลุ่ม Fintech จะโตไว แต่ที่โตตามมาก็ยังมี Healthtech กับ Edtech ที่ต้องจับตามองครับ

ส่วนเม็ดเงินการลงทุนกว่า 80% จะไปกระจุกอยู่ที่สองประเทศหลัก นั่นก็คือสิงค์โปรและอินโดนีเซีย ส่วนตัวผมว่าด้วยความพร้อมของสิงค์โปรเองที่หน่วยงานรัฐพร้อมเปิดรับอะไรใหม่ๆ เร็วกว่าประเทศอื่น กับอินโดนีเซียเองก็ได้เปรียบในเรื่องของจำนวนประชากรที่สูงหลักร้อยล้านคน ทำให้ได้เปรียบในแง่ของ Economy of Scale ครับ

10. ธุรกิจยุคหลังโควิดต้องปรับตัวให้ไว ไม่ก็จะถูกทิ้งไว้ให้ตายโดยไม่มีใครสนใจ

เทรนด์สุดท้ายของ Facebook Consumer Insight 2023 คือสิ่งที่จีรังยั่งยืนที่สุด นั่นก็คือการปรับตัวครับ

แต่การปรับตัวในที่นี้จะเชื่องช้าเหมือนเดิมไม่ได้ จะวางแผนนานๆ ไม่ไหว เพราะเราเห็นแล้วว่าโลกวันนี้เปลี่ยนไวเหลือเกิน เห็นปุ๊บต้องรีบเปลี่ยน เจอปุ๊บต้องรีบปรับ

เห็นแล้วทำไปก่อนเพื่อเรียนรู้เก็บดาต้าว่าจะทำต่อหรือจะไม่ทำ ถ้าทำต่อจะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้นในครั้งหน้า

เราเห็นแล้วว่ามีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ บวกกับสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นอย่างเงินเฟ้อ เราจะปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างไรให้รับมือได้

เพราะถ้าคุณไม่ปรับก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังให้แห้งตายโดยไม่มีใครสนใจใยดี อย่าคิดว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยได้ทันเหมือนวันวาน เพราะลำพังภาครัฐเองยังเอาตัวเองไม่ค่อยจะรอดด้วยซ้ำครับ

โลกเราวันนี้ใบเล็กลง สงครามในสองประเทศอย่างรัสเซีย ยูเครน กับส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกแม้แต่ประเทศเล็กๆ ในโลกอย่างไทยเราแบบไม่น่าเชื่อ

ใครจะไปคิดว่าความตึงเครียดเรื่องจีนกับไต้หวัน จะส่งผลต่อการผลิตชิปที่ลดลงจนสินค้าขาดอิเล็กทรอนิกส์ขาดแคลนไปทั่วโลกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เราต้องพร้อมปรับตัวเพื่อแก้เกมในระยะสั้น แล้วก็หากลยุทธ์การเติบโตใหม่ๆ ในระยะยาว เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนไวกว่าแบรนด์เสมอ แบรนด์ไหนที่ไม่พร้อมวิ่งตามความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคหลังจากนี้ เตรียมเหลือแค่ชื่อไว้ได้เลยครับ

สรุป 10 Trends Facebook Consumer Insight 2023 จากรายงาน Southeast Asia Digital Consumer

ดูเหมือนผู้บริโภคออนไลน์หรือ Digital Consumer จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น และทั้งหมดนั้นก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการตลาดทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนไปจนถึงประเทศไทยเราเอง

แง่ดี ดูเหมือนว่าอาเซียนยังมีอนาคตไกลและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัจจัยระดับโลกมากนัก

แง่ร้าย คือเงินในมือผู้บริโภคเท่าเดิมหรือลดลง แต่ในขณะเดียวกันราคาสินค้ากับแห่ตัวขยับขึ้นจนสร้างแรงกดดันให้กับทุกฝ่าย

ผู้บริโภคเองก็ต้องคิดเยอะขึ้นก่อนซื้อ ว่าตกลงมันจะคุ้มเงินที่มีจำกัดไหม ผู้บริหารระดับสูงก็ต้องคิดว่าจะหาทางทำกำไรได้อย่างไร จะลดต้นทุนตรงไหน หรือจะเพิ่มประสิทธิภาพตรงไหนได้บ้าง

ดูเหมือน Digital Consumer ในอาเซียนจะยังเติบโตได้อีกพอสมควรในอนาคตอันใกล้ 2027 นี้ แต่จะมีสักกี่แบรนด์สามารถอดทนรอจนถึงจุดนั้นได้ เพราะระหว่างนั้นก็คงเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Fintech ที่ดูจะฮอตฮิทมากในอาเซียนเรา

ทั้งหมดนี้บอกให้เรารู้ว่าโลกวันนี้หมุนเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก และก็หมุนเร็วขึ้นทุกวันอีกด้วย ใครยังคิดและทำการตลาดแบบเดิมเตรียมปิดตัวลงได้เลย โอกาสจะเป็นของผู้ที่พร้อมปรับตัวเท่านั้น อย่าชะล่าใจว่าเราแข็งแกร่งมากจนไม่มีทางล้ม เพราะเราเห็นแล้วว่ายักษ์ใหญ่มากมายล้มได้ในชั่วข้ามคืน

ขอให้โอกาสในปีหน้า 2023 นี้เป็นของทุกคนครับ

เดี๋ยวในบทถัดไปผมจะพาไปเจาะลึกในทุกๆ แง่มอมของรายงานฉบับนี้ เพื่อให้นักการตลาดและผู้บริหารระดับสูงได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในไทยและอาเซียน เพื่อให้เราได้เอาไปปรับกลยุทธ์ให้ทันโลกยุค Digital Economy 2023 ครับ

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

คุณคิดว่าปัญหา PM 2.5 ที่เชียงใหม่วิกฤตหรือยัง ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถามก่อนอ่านการตลาดวันละตอน แล้วเราจะเอาไปทำเป็น Infographic โชว์หน้าเพจให้รู้ด้วยกัน