สรุป Ecommerce ASEAN Trends 2023 เทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์ไทยและอาเซียน

สรุป Ecommerce ASEAN Trends 2023 เทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์ไทยและอาเซียน

บทความภาคต่อจากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 ที่จะมาเจาะลึกเนื้อหาของทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและอาเซียนที่เปลี่ยนไปในส่วนของผลกระทบจากการซื้อขายออนไลน์ หรือธุรกิจ Ecommerce ASEAN Trends 2023 ปีนี้ เมื่อคนไทยซื้อออนไลน์น้อยลง และยังมีสัดส่วน Digital Consumer น้อยกว่าเพื่อนบ้าน งานนี้เราจะต้องปรับกลยุทธ์รับมืออย่างไร อ่านต่อเพื่อหาคำตอบไปด้วยกันได้เลยครับ

สองปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเติบโตของ Digital Consumer หรือผู้บริโภคออนไลน์ในประเทศไทยบ้านเราและอาเซียนที่สูงเกินคาด เพราะได้โควิด19 เป็นตัวเร่งจากการที่บังคับให้เราทุกคนต้องล็อคดาวน์อยู่บ้าน ทำให้ผู้คนต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเองทางออนไลน์ โดยเฉพาะบนมือถือให้ได้มากที่สุด (ผมเริ่มสั่งก๊อกน้ำออนไลน์ครั้งแรกก็ตอนนี้)

อะไรก็ตามที่เราเคยทำทางออฟไลน์ ต้องเปลี่ยนมาทำทางออนไลน์โดยเร่งด่วน การซื้อข้าวสั่งอาหารที่เคยไปที่ร้านก็ถูกยกมาบนออนไลน์แทบจะ 100% ยังไม่นับรวมการซื้อข้าวของทางออนไลน์แทบจะทุกชนิด จากเดิมการซื้อของออนไลน์มีไว้เพื่อการช้อปปิ้งเพื่อความเพลิดเพลินในสินค้าแค่บางกลุ่ม มาสู่การซื้อของจำเป็นทุกชนิดทางออนไลน์จนกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ในวันนี้

แม้ในวันนี้เราจะไม่มีการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการแพร่ระบาดอีกต่อไป แต่นั่นก็หมายความว่าตัวเร่งให้เราต้องใช้ชีวิตทุกอย่างบนออนไลน์ก็ลดลง ย่อมส่งผลต่อจำนวน Digital Consumer หรือผู้บริโภคออนไลน์ที่จะไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนสองปีที่ผ่านมา แต่จากรายงาน Facebook Insight Digital Consumer ASEAN 2023 ก็ยังคาดการณ์ว่าจะยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน แม้จะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนเดิมครับ

ปี 2022 ที่ผ่านมาจำนวน Digital Consumer ในไทยและอาเซียนมีรวมกันมากถึง 370 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 28 ล้านคน และก็ยังคาดการณ์ว่าในปี 2027 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าจำนวนผู้บริโภคออนไลน์จากเพิ่มไปถึงระดับ 402 ล้านนคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 88% ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งไทยและอาเซียน จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 82%

ซึ่งในปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศในอาเซียนก็มีการเติบโตของผู้บริโภคออนไลน์ที่ต่างกัน โดยประเทศที่มีการเติบโตในแง่ของจำนวนมากที่สุดคืออินโดนีเซีย ในปี 2021 มี Digital Consumer อยู่ที่ 154 ล้านคน พอปี 2022 เพิ่มขึ้น 14 ล้านคน มาอยู่ที่ 168 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 81% จากสัดส่วนประชากรในประเทศทั้งหมดที่อายุ 15 ปีขึ้นไป

ทางประเทศฟิลิปปินส์ก็ไม่น้อยหน้า แม้จำนวนการเติบโตจะไม่สูงเท่าอินโดนีเซีย เพราะเพิ่มขึ้นแค่ 6 ล้านคนเท่านั้น แต่ในแง่สัดส่วนของ Digital Consumer กลับสูงถึง 87% จากประชากรในประเทศทั้งหมดที่มีอายุ 15 ขึ้นไป ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีผู้บริโภคออนไลน์อยู่ที่ 69 ล้านคนครับ

เวียดนามเพิ่มขึ้น 4 ล้านคน มาอยู่ที่ 60 ล้านคนในปี 2022 ที่น่าสนใจคือประเทศไทยบ้านเรา ที่ดูเหมือนสัดส่วน Digital Consumer จะล้าหลังกว่าเพื่อนบ้านชาวอาเซียนมากที่สุด ด้วยสัดส่วนผู้บริโภคออนไลน์แค่ 72% จาก 40 ล้านคนในปี 2021 มาอยู่ที่ 42 ล้านคนในปี 2022

เรื่องนี้มองได้สองมุม มองแรกคือเราโตน้อยมากจนน่าเป็นห่วง ส่วนอีกมุมนึงคือเรายังเหลือพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมากในอนาคต แต่คงต้องคิดหนักหน่อยว่าจะทำอย่างไรให้เรามีสัดส่วน Digital Consumer สูงในระดับสิงค์โปรกับมาเลเซีย ซึ่งสองประเทศนี้อยู่ในระดับ 99% และ 97% ตามลำดับครับ

โดยรายละเอียด Insight ลึกๆ ลงไปอีกหน่อยคือ 97% ของคนไทยและอาเซียนใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าพวกเขามีความสามารถที่จะเป็น Digital Consumer ได้ แต่ยังไม่เป็นซึ่งต้องไปหาทางคิดและแก้ว่าทำไม ส่วนประกากรนอกเมืองหลวงในระดับที่เป็นเมือง Tier 3 ก็ยังมีสัดส่วนการเป็น Digital Consumer ที่มากถึง 49% นั่นหมายความว่ากลยุทธ์ธุรกิจดิจิทัลจากนี้ไปต้องเน้นเจาะกลุ่มคนนอกเมือง คนต่างจังหวัดให้ได้มากกว่านี้

ทาง ดร.สันติธาร เสถียรไทย ก็บอกในรายงานฉบับนี้ว่าการปรับตัวเข้าสู่ Digital ของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง Tier 3 และ 4 นั้นมีการเติบโตในแง่ของ Digital Literacy อย่างดี มีการเรียนรู้ที่จะใช้การจ่ายเงินทางออนไลน์หรือดิจิทัลที่หลากหลาย บวกกับการพัฒนาของการขนส่งสินค้าที่สะดวกสบายขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจดิทัลมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีได้อีกมาก

ดังนั้นประเด็นสำคัญคือเราต้องรู้จักคนกลุ่มนี้ให้มาก เพราะนี่คือโอกาสใหญ่ที่จะเข้าไปคว้าก่อนคู่แข่งอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึง

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะด้าน Ecommerce Economy จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทยบ้านเราและภูมิภาคอาเซียนเพื่อนบ้านเราอย่างมากในช่วงปี 2020-2021 แต่ในขณะเดียวกันช่วง 2021-2022 ก็เห็นได้ชัดว่ามีการเติบโตที่ลดลง แต่ก็ยังถือว่าเติบโตได้ดีอยู่ ซึ่งรายงานฉบับนี้ก็จะเผยตัวเลขให้เห็นใน 6 ประเทศอาเซียนรวมของไทย ไปจนถึงตัวเลขคาดการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นจากยอดการซื้อขายออนไลน์รวมในปี 2027 ครับ

ในแง่ของยอด GMV การซื้อขายออนไลน์รวมที่เกิดขึ้นในปี 2021 สูงถึง 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 3.85 ล้านล้านบาท (มากกว่างบประมาณของประเทศไทย) และในปี 2022 ที่ผ่านมาก็ขยับเพิ่มขึ้นไปถึง 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็สูงถึง 4.44 ล้านล้านบาทครับ

และก็ยังถูกคาดการณ์ว่าตัวเลข GMV การซื้อขายออนไลน์รวมที่เกิดขึ้นของอาเซียนในปี 2027 นั้นจะพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 9.64 ล้านล้านบาทครับ

จากภาพด้านบนที่แยกย่อยการเติบโต GMV เศรษฐกิจการซื้อขายออนไลน์ในแต่ละประเทศของภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยจะเห็นว่า ระหวา่งปี 2020-2021 มีการเติบโตขึ้น 48% และก็ลดลงเหลือ 15% ในช่วงปี 2021-2022 และก็คาดการณ์ว่าในปี 2027 จะโตเฉลี่ยขึ้นปีละ 17%

ส่วนประเทศไทยเราเองก็โตขึ้น 67% ระหว่างช่วงปี 2020-2021 จาก 12,000 ล้านดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในช่วงปี 2021-2022 มีการเติบโตแค่ 18% ไปอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าในปี 2027 ตัวเลข GMV การซื้อขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซไทยจะเพิ่มอยู่ที่ 46,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่น่าติดตามดูกันครับ

ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ดูมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจออนไลน์ได้ดีมากๆ จะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กับ อินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียกับสิงค์โปรดูเหมือนจะเติบโตอย่างอิ่มตัว ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขคาดการณ์ Digital Consumer ก่อนหน้าก็จะเห็นว่าประชากรในบ้านเขาเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์เกือบหมดแล้ว

ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยที่ดูสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนของเติบโตของผู้ใช้งานที่ไม่เหลือที่ว่างให้เพิ่มขึ้นได้อีกก็น่าจะมาจาก ความคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์ที่หลากหลายมากขึ้น ไปจนถึงการซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้นทางออนไลน์เช่นกัน

อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้การเติบโตของการซื้อของทางออนไลน์ในอาเซียนและไทยเราลดลงจากปีก่อนก็คือ การเปิดเมืองเลิกล็อคดาวน์ ส่งผลให้ผู้คนมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ต้องบังคับให้ต้องดูสินค้าและซื้อผ่านหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์อย่างเดียวอีกต่อไป

ผู้คนอยากออกไปจับ สัมผัส ดูด้วยตาที่ร้านค้าออฟไลน์อย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะซื้อแต่ทางหน้าร้านออฟไลน์เท่านั้น เพราะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยไปเพื่อจับ ก่อนจะกลับมาซื้อทางออนไลน์ให้ไปส่งที่บ้านเหมือนเดิม

ดังนั้นธุรกิจไหนก็ตามที่มีหน้าร้านอย่าประมาทปิดตัวลงไปหมด แต่ต้องปรับกลยุทธ์ของ Retail Strategy ใหม่ เน้นการให้ Customer Experience ที่ดีแทนการทำยอดขายเป็นหลักเหมือนวันวาน

เพราะถ้าลูกค้ามาร้านคุณแล้วเจอประสบการณ์แย่ๆ ย่อมส่งผลถึงยอดขายออนไลน์ที่จะหายไปจากลูกค้าคนนั้น หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นธุรกิจต้องรู้จักยกระดับการวัดผล เรียนรู้ที่จะใช้ MarTech ทำ Customer Data Integration จากทุกช่องทางเข้าไว้ด้วยกัน

เราจะได้รู้ว่าโฆษณาชิ้นไหนจากแพลตฟอร์มใดบ้างที่ลูกค้าเห็นแล้วพาลูกค้าไปยังร้าน แล้วลูกค้าที่ไปร้านคนไหนบ้างที่มาตัดสินใจซื้อทางออนไลน์ ถ้าคุณทำทั้งหมดนี้ได้ Customer Experience ของคุณก็จะเหนือกว่าคู่แข่งไปอย่างก้าวกระโดด

ส่วนอีกสองปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อก็หนีไม่พ้นเรื่องของเงินเฟ้อ การขึ้นราคาของสินค้าต่างๆ ไปจนถึงปัญหาด้าน Supply chain การผลิตที่อาจติดขัดจากปัจจัยอื่นๆ ทำให้สินค้าขาดตลาดจนเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองครับ

แต่ยังมีข่าวดี ใช่ว่าการซื้อขายออนไลน์หรือ Ecmmerce จะเติบโตลดลงแต่อย่างเดียว ยังคงมีสินค้าบางกลุ่มที่มีผู้บริโภคซื้อทางออนไลน์มากขึ้นกว่าก่อนหน้า อย่างสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง ที่ความถี่ในการซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ย 3.8 ครั้ง มาอยู่ที่ 4.4 ครั้ง

สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านก็เติบโตขึ้น 6% เช่นกัน จากเดิมที่ซื้อออนไลน์เฉลี่ย 3.6 ครั้ง มาเป็น 3.8 ครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ Home office

ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีการเติบโตทางออนไลน์ที่สูงขึ้น 5% จากเฉลี่ย 3.1 ครั้ง มาเป็น 3.2 ครั้งครับ

ส่วนกลุ่มของชำ ของใช้ภายในบ้านทั่วไปอันนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึง 29% กับสินค้าประเภทของสดก็ลดลงถึง 16% ส่วนหนึ่งเข้าใจได้ว่าคงไปโตที่ร้านค้าออฟไลน์ครับ

คนไทยซื้อของออนไลน์ลดลง 10% แต่ยังคงเฉลี่ย 7.5 ครั้งต่อปี

ในภาพรวมจำนวนความถี่ที่คนไทยและอาเซียนซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหลายดูเหมือยจะเริ่มคงที่ บางประเทศเพิ่ม บางประเทศลด ซึ่งประเทศไทยเราก็จัดอยู่ในกลุ่มที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์ลดลงเล็กน้อย

โดยเฉลี่ยความซื้อสินค้าออนไลน์ของอาเซียนในปี 2022 จะคงที่อยู่ที่ 8.1 ครั้งต่อปีเท่ากับตอนปี 2021 แต่ประเทศที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือเวียดนาม เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 13% จาก 7.7 ครั้ง เป็น 8.6 ครั้ง ตามมาด้วยสิงค์โปร เพิ่มขึ้น 8% จาก 7.5 ครั้ง เป็น 8.1 ครั้ง และสุดท้ายคือมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 3% จาก 7.6 ครั้ง เป็น 7.8 ครั้ง

ส่วนประเทศที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์ลดลงมากที่สุดในอาเซียนคือไทย ลดลง 10% จาก 8.3 ครั้ง เหลือ 7.5 ครั้ง ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ ลดลง 9% จาก 8.2 ครั้ง เหลือ 7.5 ครั้ง และสุดท้ายคืออินโดนีเซีย ลดลง 4% จาก 8.8 ครั้ง เหลือ 8.4 ครั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขดังกล่าวก็ยังสูงกว่าช่วงปี 2020 ที่เกิดการล็อคดาวน์ครั้งแรก ไทยเราเองอยู่ที่ 4.8 ครั้งต่อปีเท่านั้น และภาพรวมทั้งอาเซียนก็ถือได้ว่าแม้เมืองเราจะกลับมาเปิดเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนปกติก่อนโควิดเรียบร้อยแล้ว แต่พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเราไม่ได้กลับมาเป็นออฟไลน์เป็นหลักเหมือนเดิมอีกตอ่ไป

ค่าเฉลี่ยการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10%

แม้จำนวนความถี่ในการซื้อเราจะลดลงบ้าง แต่ในด้านค่าเฉลี่ยการใช้เงินซื้อสินค้าออนไลน์หรือ Ecommerce กลับเพิ่มสูงขึ้น จาก 52 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 56 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยและอาเซียนใช้เงินซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้จำเป็นที่เพิ่มขึ้นกว่า 6% ในช่วงปี 2021-2022 ลองมาดูรายละเอียดการเติบโตของสินค้าแต่ละกลุ่มกันครับ

  • สินค้าเด็ก +20%
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน +18%
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ +17%
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิงส่วนบุคคล 16%
  • เสื้อผ้า +13%
  • อาหารของสด +10%
  • ของใช้ส่วนบุคคล +10%
  • เครื่องดื่ม +7%
  • ของใช้ภายในบ้าน +7%
  • เครื่องสำอางความสวยความงาม +7%
  • เฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศสำนักงาน +1%

ส่วนที่ติดลบมีของเล่น -1% และเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน -17% ครับ

ดร.สินติธาร เสถียรไทย ให้ความเห็นว่าก่อนหน้าโควิดระบาด การซื้อของออนไลน์จะอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้า แฟชั่น ความสวยความงาม และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก มีบ้างที่ซื้อสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม แต่ไม่มากเท่าทุกวันนี้ ส่วนสินค้ากลุ่ม FMCG สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยิ่งแทบไม่มีเลย

แต่พอโควิดมา เราต้องล็อคดาวน์ เราเริ่มเรียนรู้ที่จะลองซื้อทุกอย่างในชีวิตประจำวันทางออนไลน์ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราพบว่ามันสะดวกสบายกว่าที่คิด และส่งก็เร็วกว่าที่คาด จนทำให้เรายากจะลืมการซื้อออนไลน์แล้วกลับมาซื้อแต่ทางออฟไลน์หน้าร้านเหมือนเดิม

เทรนด์การค้าปลีกออนไลน์ของอาเซียน ASEAN Online Retail Trends 2027

เทรนด์การค้าปลีกออนไลน์ของอาเซียนดูจะมีแนวโน้มที่สดใส จากรายงาน Facebook Digital Consumer Asean Insight 2023 บอกให้รู้ว่าสัดส่วน ค้าปลีกออนไลน์อาเซียนเราน่าจะโตเฉลี่ยปีละ 16% ไปจนถึงปี 2027

สัดส่วนการค้าปลีกออนไลน์อาเซียนที่โตกว่า 16% จากปี 2021 ที่มีสัดส่วนแค่ 9% ขยับไปที่ 11% ในปี 2022 ในกลุ่มค้าปลีกประเภทของใช้ภายในบ้านนั้นดูจะมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงถึง 29% ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะเติบโตน้อยสุดอย่างเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ก็ยังสูงถึง 12% ครับ

และนั่นก็ทำให้ถูกคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าสัดส่วนการค้าปลีกออนไลน์จะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 16%

สรุป Digital & Ecommerce Economic Trends 2027 ของไทยและอาเซียน แนวโน้มยังสดใส แม้ประเทศไทยจะไม่สดใสเท่าประเทศอื่น

จากรายงาน Facebook Digital Consumer Insight 2023 เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและอาเซียนบอกให้รู้ว่า ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนยังคงมีแนวโน้มที่ดี เติบโตได้อีกมาก แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเจาะลึกในส่วนของประเทศไทยจะไม่ได้สดใสเท่ากับเพื่อนบ้านเท่าไหร่ จากปัจจัยต่อไปนี้

  1. ประชากรวัยทำงานของไทยจะเริ่มลดลง และจะลดลงกว่า 2 ล้านคนในปี 2030
  2. Digital Consumer หรือผู้บริโภคออนไลน์ของไทยเรายังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านอาเซียนมาก เรามีแค่ 72% ในปี 2022 (มาเลเซียไป 99% แล้ว)
  3. สัดส่วนการเติบโตของ Ecommerce ไทยเราถือว่ากลางๆ ถูกคาดการณ์ว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 14% ถึงปี 2027
  4. ตัวเลขเฉลี่ยในการซื้อของออนไลน์ต่อปีเราลดลงกว่า 10% ลดเยอะที่สุดในอาเซียน จาก 8.3 ครั้งในปี 2021 เหลือ 7.5 ครั้งในปี 2022

คำแนะนำสั้นๆ จากผมถึงคนทำธุรกิจไทย ลองมองหาโอกาสขยายตลาดคนที่ยังไม่ออนไลน์ให้มาเริ่มต้นด้วยการเป็นลูกค้าเรา ควบคู่กับการขยายโอกาสไปประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนให้มากขึ้น เลือกธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต วางแผนการผลิตและสต็อกสินค้าให้ดีอย่าให้ขาด รวมถึงหาทางลดต้นทุนบวกกับรีดประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดครับ

อ่านบทความชุด Facebook Digital Consumer Insight ไทยและอาเซียน 2023 ในการตลาดวันละตอนต่อ

อ่านบทความตอนก่อนหน้า > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/facebook-digital-consumer-insight-economy-and-ecommerce-thailand-and-asean-2023/

Source: https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *