E-Commerce Trends 2024 ที่ธุรกิจ B2B ห้ามพลาด

E-Commerce Trends 2024 ที่ธุรกิจ B2B ห้ามพลาด

สวัสดีนักการตลาดและผู้อ่านทุกคนค่า วันนี้จะพามาดู E-Commerce Trends 2024 สำหรับธุรกิจ B2B กัน เพราะในยุคที่มีการหมุนเวียนปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการซื้อของผู้คนก็เปลี่ยนไป ต้องการความ Personalization กันมากขึ้น รวมถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลสูง ทำให้การมองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นมีความจำเป็นสำหรับธุรกิจ B2B เพราะไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่เพื่อความสำเร็จของธุรกิจด้วย

บทความนี้เลยจะพามาเจาะลึกแนวโน้มของ E-Commerce B2B ที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวทันเทรนด์และความเปลี่ยนแปลง โดยจะอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน ‘The Ultimate Guide On B2B E-Commerce Trends in APAC’ จาก DHL Express ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูเทรนด์ที่น่าสนใจกันได้เลยยย

AI-Generated Image by Shutterstock (Prompt: Motion blur photo of create close up photography, side view adult scan for paymant, at the restaurant or cafe, with blur light in background.)

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจต่าง ๆ ลังเลที่จะลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากลูกค้าไม่สะดวกที่จะซื้อสินค้าล็อตใหญ่ผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้การจัดซื้อในรูปแบบดิจิทัลส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบ B2C มากกว่า B2B 

แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลยค่ะ เมื่อมีการชำระเงินแบบเข้ารหัส (encrypted payment) ทำให้การทำธุรกรรมโดยรวมมีความสะดวกมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินออนไลน์อีกต่อไปแล้วนั่นเอง 

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาด เลยทำให้ธุรกรรมออนไลน์ขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

  • 35% ยินดีใช้จ่ายเงิน 500,000 ดอลลาร์ขึ้นไปสำหรับการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งผ่านช่องทางดิจิทัล
  • 15% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร รู้สึกสบายใจที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ผ่านทางออนไลน์

สำหรับประเทศไทยเราเองก็มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล อย่างในปี 2560 มีการพัฒนาระบบ ‘พร้อมเพย์’ ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลระดับประเทศ เข้าถึงวิธีการชำระเงินที่ครอบคลุมทุกธนาคารและสะดวกสบาย

ช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจในไทยมีส่วนร่วมในธุรกรรมอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เห็นได้จากขนาดการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ B2B ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีมูลค่า 0.84 ล้านล้านบาทในปี 2563 คิดเป็น 27% ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในปี 2565 เลยทีเดียว

ดังนั้นต่อไปนี้ช่องทางอีคอมเมิร์ซก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการซื้อขายสินค้าล็อตใหญ่ เพราะมีระบบการชำระเงินแบบเข้ารหัสและความก้าวหน้าของธุรกรรมออนไลน์ สามารถมั่นใจได้ในการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก

ทุกวันนี้บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กร 

โดยจากข้อมูล 73% ของกลุ่มมิลเลนเนียลมีหน้าที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของบริษัท และ 34% เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

ดังนั้นการปรับแต่งประสบการณ์ให้มีความ Personalization จึงเพิ่มมากขึ้นในธุรกรรม เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมของลูกค้าแบบ B2C พวกเขาจึงใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการทำธุรกิจ B2B

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกับประสบการณ์ของผู้ซื้อที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เป็นมิตร และกระตุ้นให้เกิดความ Loyalty ต่อแบรนด์มากขึ้น 

ดังนั้นเทรนด์ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะจากเดิมที่เน้นความได้เปรียบด้านราคาเท่านั้น แต่ตอนนี้มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลและเหมาะกับความต้องการมากขึ้นนั่นเอง

องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวเลือกในการบริการตนเองสำหรับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้แนวทางแบบ ‘hands-off’ มากขึ้น เช่น จำกัดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการและการจัดการสินค้าต่าง ๆ 

การบริการตนเองจึงเข้ามาช่วยสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการลดต้นทุนการขาย ในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบต่อการบริการลูกค้าและการสร้างประสบการณ์ที่ดี

เช่น เปลี่ยนแคตตาล็อก รายการราคาสินค้า หรือเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้เป็นรูปแบบดิจิทัล และเปิดให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถลดภาระงานด้านธุรการ และสร้าง Customer Experience ที่ราบรื่นยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าได้ 

อีกทั้งจากการสำรวจของ CRM Magazine พบว่าโซลูชั่นแบบ self-serve มีความสำคัญมากขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรธุรกิจของตนใช้ช่องทางการบริการตนเองในระบบ CRM และคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

จากผลจากการแพร่ระบาด ทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงได้ และต้องพึ่งพาช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทำธุรกรรม รวมถึงความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น และยังมีข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ 

ทำให้องค์กรธุรกิจ B2B จำนวนมาก เริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของตัวเอง จึงจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นกันมากยิ่งขึ้น

โดย B2B International บริษัทในเครือ Merkel แนะนำให้องค์กรต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชน โดยให้ความเห็นว่าการที่เรารู้ว่าซัพพลายเออร์ ไซต์งาน ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่มีความเสี่ยงในช่วงวิกฤต จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงสินค้าคงคลังและกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดในไซต์อื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนได้

ดังนั้นเทรนด์นี้ก็เกิดจากการแพร่ระบาดที่ได้แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายซัพพลายเชนที่มีความหลากหลาย สามารถช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ขึ้นมาได้

ซึ่งก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีของป้องกันที่ดี

ลูกค้าในวันนี้ให้ความสำคัญกับการซื้อขายอย่างมีจริยธรรมมากกว่าที่เคยเป็นมาค่ะ รวมถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ลูกค้าในกลุ่ม B2B และ B2C จึงให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ยั่งยืน 

และการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกที่ฉลาดและมีจริยธรรมเท่านั้นแต่ยังทำให้เกิดผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย

โดยจากการศึกษาพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ระบุว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ และลูกค้ายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นด้วยสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน 

ยิ่งชี้ให้เห็นเลยว่าธุรกิจสามารถขยายช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้และสร้างความร่วมมือ ด้วยการปรับใช้นโยบายที่ดึงดูดฐานลูกค้าที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

เช่น ลดขยะและของเสียให้เหลือน้อยที่สุด อีกทางนึงก็จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ลดการเสียรายได้ที่เป็นผลจากของเสียจากผลิตภัณฑ์อีกด้วย

1. ยอดขายอีคอมเมิร์ซ B2B “ล็อตใหญ่” จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการชำระเงินออนไลน์และการทำธุรกรรมโดยภาพรวมมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย กับการพัฒนาระบบ ‘พร้อมเพย์’ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคและนักธุรกิจไทยมีส่วนร่วมในการชำระเงินรูปแบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพกันมากขึ้น

2. กลุ่มมิลเลนเนียลดันประสบการณ์ Personalization ในตลาด B2B มากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมของลูกค้าแบบ B2C พวกเขาจึงใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการทำธุรกิจ B2B

3. โซลูชั่นดิจิทัลแบบบริการตนเอง (Self-serve digital solutions) จะแพร่หลายมากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการลดต้นทุนการขาย โดยไม่กระทบต่อการบริการลูกค้าและประสบการณ์ความสัมพันธ์แบบ B2B

4. การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชนมีความสำคัญมากขึ้น มุ่งเน้นการสร้างระบบซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เครือข่ายซัพพลายเชนที่หลากหลายจะช่วยให้ธุรกิจลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

5. ธุรกิจมุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น เพราะลูกค้าให้ความสำคัญกับการซื้อขายอย่างมีจริยธรรมมากกว่าที่เคยเป็นมา การใช้นโยบายที่ดึงดูดฐานลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงมีมากขึ้น

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับ E-Commerce Trends 2024 สำหรับธุรกิจ B2B ที่ได้พามาเจาะลึกกันในวันนี้ เรียกได้ว่ามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบการค้าโลก ดังนั้นอย่าลืมที่จะเตรียมความพร้อม และปรับตัวเพื่อสร้างประสบการณ์อีคอมเมิร์ซที่ดีขึ้น รับโอกาสใหม่ ๆ และก้าวไปสู่ตลาดโลก และพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก DHL Express

และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลยค่า

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *