กลยุทธ์เลือกรถยนต์ไฟฟ้า EV 2024 แบบไหนที่เหมาะกับเรา

กลยุทธ์เลือกรถยนต์ไฟฟ้า EV 2024 แบบไหนที่เหมาะกับเรา
รถยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์โลก วันนี้เราจะมาวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์การเลือกรถยนต์ไฟฟ้า EV 2024 เลือกแบบไหนดีที่เหมาะกับเรา

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก อันก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนตามมา ซึ่งหลาย ๆ รัฐบาลรวมถึงบริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมก็ได้มีการวางแผนมาตรการร่วมมือกัน

ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นอีกธุรกิจและวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่กำลังได้รับความนิยมและมีทิศทางที่เติบโตขึ้นในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการขนส่งได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับสูงรองลงมาจากการผลิตพลังงานและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี EV ที่เราเรียกกันติดปากในปัจจุบัน คือรถยนต์ที่ใช้พาหนะที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าเป็นหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งอาจจะมีทั้งแบบผสมกับเครื่องสันดาปหรือเป็นการใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 100%

จุดเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้านั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1830 แต่มาเริ่มเติบโตในศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีซึ่งเป็นปกติของการเติบโตแบบ S-Curve ในสายเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีแรงส่งในเรื่องของราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูงอันเนื่องมาจากสงคราม รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก

รถยนต์ไฟฟ้านั้นถูกแบ่งออกมาได้เป็น 4 ประเภทตามแหล่งพลังงานที่รถนำมาใช้ นั่นก็คือ

  1. รถ Hybrid Electric Vehicle – HEV หรือที่เราเรียกกันว่า รถไฮบริด ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้จะมีสองโหมด คือ โหมดสันดาปที่เติมน้ำมันและโหมดไฟฟ้า ซึ่งทำให้ประหยัดขึ้นระดับนึง แต่ตัวรถยนต์จะไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกได้
  2. รถ Plug-in Hybrid Electric Vehicle – PHEV คือรถยนต์ไฟฟ้าที่มี 2 โหมดคล้ายไฮบริด แต่จะสามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกหรือมีปลั๊กอินนั่นเอง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จะสามารถวิ่งด้วยระบบไฟฟ้าได้มากกว่าระบบไฮบริดทั่วไป ทำให้ประหยัดได้มากกว่า
  3. รถ Battery Electric Vehicle – BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% คือต้องทำการชาร์จไฟฟ้าจากภายนอก และใช้ระบบไฟฟ้าในการวิ่งรถอย่างเดียว ซึ่งกำลังเติบโตเป็นอย่างมากในประเทศไทย เพราะทำให้ผู้ใช้สามารถประหยัดได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น
  4. รถ Fuel Cell Electric Vehicle – FCEV คือรถยนต์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนพลังงานเชื้อเพลิงแก๊สไฮโดรเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงแก๊สไฮโดรเจนจากภายนอก ทำให้สามารถเติมไฟฟ้าให้กับรถยนต์ได้เร็วกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ของรถยนต์ BEV แต่รถประเภทนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในการผลิตมาขายในช่วงเวลานี้ เนื่องจากระบบที่เติมไฮโดรเจนยังมีรองรับไม่เพียงพอ

ซึ่งแต่ละประเภทมีระบบกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานของแต่ละบุคคล ในด้านของราคาและค่าย ก็มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่หลักแสนจนไปถึงหลักล้าน

ตัวอย่างแบรนด์รถไฟฟ้าในปัจจุบัน ราคา

ในปัจจุบันกระแสนิยมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง ทำให้บริษัทหรือค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกก็ได้หันมาสนใจผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันออกมาเป็นจำนวนมาก โดยมีราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เมื่อเทียบกับการลดปัญหามลภาวะและค่าน้ำมันที่ประหยัดลงเมื่อหันมาใช้รถไฟฟ้า

Tesla เป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆของโลก โดยทาง Tesla ได้ออกโมเดลออกมาหลากหลายโมเดล และได้รับความสนใจเกือบทุกโมเดลที่ออกมา โดยโมเดลที่ได้รับความนิยมในไทย เช่น Model Y ที่ยังแบ่งออกอีกเป็นหลายรุ่นย่อย มีหลากหลายราคาให้เลือก ตั้งแต่ 1 ล้านปลาย ๆ จนไปถึง 3 ล้านบาท

ต่อมาคือ BYD จากประเทศจีนที่ได้รับความนิยมจากไม่แพ้กัน ด้วยประวัติบริษัทและการทุ่มเทพัฒนามาตลอด รวมถึงราคาที่จับต้องได้ ทำให้ทาง BYD มีรถที่ได้รับความนิยมอยู่หลากหลายรุ่นเช่นกัน เช่น BYD ATTO3 ที่มีราคาเริ่มตัวเปิดตัวอยู่ที่ 1,099,900 บาท

อีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยมก็คือ ORA เป็นอีกหนึ่งค่ายแบรนด์รถจากจีนที่มีชื่อเสียงในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจุดเด่นอีกเรื่องก็คือในเรื่องของดีไซน์ที่น่ารัก แตกต่างจากค่ายอื่น

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างเช่น MG BMW Audi  Volvo Toyota ต่างก็หันมาสนใจและลงสู้ศึกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจ เมื่อค่ายที่ผลิตรถยนต์สันดาปมาเป็นระยะเวลาหลายปีต่างก็หันมาลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้ารวมไปถึงแบรนด์ญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะเริ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าได้ช้ากว่าแบรนด์สัญชาติจีน

ข้อดี ข้อเสียของรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถสันดาป

สำหรับข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องแรกที่ต้องพูดถึงเลยนั่นก็คือ ในเรื่องของการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงก๊าซเสียอื่น ๆ ในอากาศ ช่วยในการทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเติมพลังงาน การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีค่าใช้จ่ายในการชาร์จที่ถือว่าถูกกว่าการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแบบสันดาป ทำให้ต่อเดือนก็จะมีค่าเดินทางที่ถูกลง

ในด้านของการชำรุงรักษาชิ้นส่วนรถ ก็พบว่ารถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่นั้นมีต้นทุนในการดูแลและบำรุงรักษาในระยะยาวที่ถูกกว่า เนื่องจากมีชิ้นส่วนประกอบในรถยนต์ที่น้อยกว่า

สำหรับข้อเสีย อันดับแรกเลยก็คือระยะเวลาในการชาร์จที่ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาชาร์จที่ค่อนข้างนาน รวมไปถึงสถานีชาร์จที่ยังจำมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งประเทศ

ยังมีศูนย์บริการไม่ครอบคุลมเพียงพอต่อการเดินทางไกลโดยไม่ได้วางแผนการเดินทาง ต่อมาคือในเรื่องของราคารถยนต์ที่เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ก็ยังถือว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าในบางรุ่น

ค่าประกันภัยที่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์แบบสันดาป เนื่องจากราคาของแบตเตอรี่ที่ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นพัฒนาของเทคโนโลยี แต่ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าเมื่อราคาของแบตเตอรี่ลดลง ราคาประกันภัยรถยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะลดลงตามไปด้วย

หรืออีกเรื่องคือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากการที่คนต้องไปรอชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามห้างหรือปั๊มน้ำมัน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องรอโดยการทานอาหาร นวด หรือเดินซื้อของ แต่ในอีกมุมมองก็ถือเป็นข้อดีของภาคธุรกิจที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและนานขึ้นอีกด้วย

การลดราคาเพื่อแข่งขันกันเองระหว่างรถไฟฟ้าแต่ละแบรนด์

หลังจากที่วงการรถยนต์ไฟฟ้านั้นเติบโตตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การแข่งขันนั้นสูงขึ้นตามมาด้วย โดยในปี 2565 นั้น รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นถึง 98.4% เมื่อเทียบกับในปี 2559

รถยนต์ค่ายต่าง ๆ พากันทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกมาแข่งขันกัน โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าแต่ละค่ายก็ได้พากันออกโปรโมชั่นต่าง ๆ รวมถึงลดราคาเพื่อชิงฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด

เนื่องจากช่วงนี้รัฐบาลได้มีการออกนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย ทำให้ผู้ผลิตได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐและนำมาเป็นส่วนลด กระตุ้นการแข่งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี

ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้รับทางเลือกที่เยอะขึ้น และทำให้เราได้เห็นว่ารถยนต์สัญชาติจีนนั้นดีกว่าที่เราคิดหรือคุณภาพไม่ได้ต่างจากรถยนต์สัญาติญี่ปุ่นมากมายเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย

สรุปแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV 2024 ถึงอนาคต

ในปัจจุบัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการผลิตในอนาคตมีจำนวนที่สูงขึ้น และทำให้ราคารถมีราคาที่ถูกลง ไม่แตกต่างจากรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากนัก

อีกทั้งนโยบาย EV 3.5 ล่าสุดที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลทำให้เราเห็นว่า รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้ผู้ผลิตมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและใช้แบตเตอรี่แบบพรีเมี่ยมหรือมากกว่า 50 kWh (หากผู้ผลิตเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มากกว่า 50 kWh จะได้รับเงินสนับสนุนที่มากกว่าผู้ผลิตที่เลือกใช้แบตเตอรี่ที่ต่ำกว่าเกณฑ์นี้)

เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงทางเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่ผู้บริโภคจะได้รับทางเลือกที่มากขึ้นในราคาที่ถูกลง รวมถึงได้ใช้แบตเตอรี่แบบพรีเมี่ยม

ต่อมาในเรื่องของจำนวนแท่นชาร์จที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และครอบคลุมพื้นที่การเดินทาง ที่สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นให้คนกล้าที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก

สำหรับคนที่กำลังลังเลว่าจะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าดีไหม ผู้เขียนอยากแนะนำให้ทดลองเช่าก่อน เพื่อมาลองใช้และมาลองขับว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากแค่ไหนจะได้ไม่ต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในแบบที่ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา

อ้างอิง

อ้างอิง 1, อ้างอิง 2, อ้างอิง 3, อ้างอิง 4

หากสนใจอ่านบทความเพิ่มเติมของผู้เขียน สามารถกดที่ตรงนี้ได้เลย

Brainbruch

Analyst คนนึงที่ชื่นชอบการหาความรู้ใหม่ ๆ และอยากจะมาแชร์ให้ทุกคนได้ลองอ่านกันครับ!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *