Wellness Trends & Insights 2024 เมื่อผู้บริโภครู้ว่าสุขภาพสำคัญแต่เงินไม่พอ

Wellness Trends & Insights 2024 เมื่อผู้บริโภครู้ว่าสุขภาพสำคัญแต่เงินไม่พอ

อีกหนึ่งในเทรนด์สำคัญของปีหน้าก็คือ Health Wellness Trends & Insights 2024 เมื่อผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะ Gen Z นั้นเข้าใจดีว่าสุขภาพกายและใจเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่ปัญหาใหญ่กลับเป็นปัจจัยหรือเงินไม่พอที่จะใช้กับเรื่องนี้ ลองมาดูกันนะครับว่านักการตลาดอย่างเราจะต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อผู้บริโภคงบน้อยเราจะทำสินค้าหรือบริการให้ออกมาแบบไหนเพื่อเข้าถึงตลาดกลุ่มใหม่เรื่องสุขภาพได้ก่อนคู่แข่ง

คนไทย 48% ให้ความสำคัญกับสุขภาพกายน้อยสุดในอาเซียน

ดูเหมือนว่าจากข้อมูล Meta Report 2024 บอกให้รู้ว่าคนไทยใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพร่างกายน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น

ส่วนประเทศที่สูงสุดคือฟิลิปปินส์ มากถึง 58% แต่อย่างไรก็ดีความกังวลเรื่องสุขภาพกายนี้ของเรายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรยุโรป

แต่ในแง่หนึ่งอาจหมายความได้ว่าสวัสดิการสุขภาพการรักษาในกลุ่มประเทศยุโรปนั้นดีมากพอจนประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก แต่ก็ยังดีที่มีคนไทยมากถึง 48% ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพกาย ทีนี้ไปดูกันต่อที่สุขภาพใจหรือสุขภาพจิตกันบ้างครับ

คนไทยใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตใจ 53%

ดูตัวเลขเรื่องการใส่ใจสุขภาพจิตใจของคนไทยจะสูงไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาติใดมาก ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 53% แม้จะเป็นบ๊วยคู่กับประเทศอินโดนีเซีย แต่ในขณะเดียวกันคนฟิลิปปินส์ก็ดูกังวลกับเรื่องสุขภาพจิตใจมากสุดถึง 60% เรียกได้ว่าถ้าใครมีสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกายและใจนี้ ลองหาทางเจาะตลาดผู้บริโภคฟิลิปปินส์ดูนะครับ

แต่อย่างไรก็ดีกังวลมากใช่ว่าจะใช้เงินมากตาม ลองมาดูกันว่าแนวโน้มการใช้เงินกับเรื่องสุขภาพขอคนไทยและอาเซียนเราจะเป็นอย่างไร

คนไทยและอาเซียนส่วนใหญ่ยังใช้เงินกับสุขภาพกายและใจน้อยไป

เพราะจาก Chart Scatter Plot แรกจะเห็นว่าแนวโน้มการใช้เงินกับเรื่องสุขภาพของคนไทยยังคงต่ำอยู่ เมื่อดูจากแกนตั้ง และดูสิงค์โปรจะเป็นชาติเดียวในอาเซียนและดีไม่ดีก็น่าจะสูงที่สุดของโลก ที่ประชากรเค้าใช้เงินกับเรื่องนี้มากที่สุด แต่ก็เนื่องจากรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงติดอันดับโลก

ส่วนในภาพแท่งชาร์ทด้วยขวาบอกให้รู้ว่าในเรื่องไหนของการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจบ้างที่คนอาเซียนอย่างเราใช้เงินมากน้อยเท่าไหร่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในเอเซียแปซิฟิก ไปจนถึงกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกครับ

กลุ่มอาหารเสริมเพื่อการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายนั้นยังน้อยอยู่มาก ตามมาด้วยอาหารเพื่ออาการแพ้ ส่วนในกลุ่มวิตามินและสมุนไพรเราใช้เงินเทียบกับเขาไม่ต่างกันมากนัก ภาพนี้บอกให้รู้ว่ายังมีโอกาสที่กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพจะยังเติบโตได้อีกมาก เมื่อเปรียบเทียบจากประเทศอื่น ๆ ในโลกครับ

Insight การใช้เงินกับเรื่องสุขภาพ 2024

สรุป Health and Wellness Trends & Insights 2024 จากรายงาน Meta Report ผู้บริโภคไทยยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพกายและจิตใจ แต่ไม่มีเงินจ่ายมากพอ

เมื่อสอบถามเจาะลึกว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าคิดว่าจะใช้เงินกับเรื่องไหนของสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้าง ได้คำตอบดังนี้ครับ

  • หาหมอ
    • เพิ่มขึ้น 26%
    • เท่าเดิม 52%
    • น้อยลง 15%
    • ไม่ใช้แล้ว 7%
  • ความสวยความงาม
    • เพิ่มขึ้น 17%
    • เท่าเดิม 40%
    • ลดลง 16%
    • ไม่ใช้แล้ว 27%
  • อาหารที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย
    • เพิ่มขึ้น 16%
    • เท่าเดิม 36%
    • ลดลง 15%
    • ไม่ใช้แล้ว 33%
  • วิตามิน อาหารเสริม
    • เพิ่มขึ้น 11%
    • เท่าเดิม 34%
    • ลดลง 14%
    • ไม่ใช้แล้ว 38%
  • สมุนไพร ยาแผนโบราณ
    • เพิ่มขึ้น 13%
    • เท่าเดิม 34%
    • ลดลง 14%
    • ไม่ใช้แล้ว 40%
  • อุปกรณ์สวมใส่ Wearable
    • เพิ่มขึ้น 12%
    • เท่าเดิม 30%
    • ลดลง 15%
    • ไม่ใช้แล้ว 43%
  • ฟิตเนส
    • เพิ่มขึ้น 12%
    • เท่าเดิม 29%
    • ลดลง 12%
    • ไม่ใช้แล้ว 47%
  • ทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ
    • เพิ่มขึ้น 10%
    • เท่าเดิม 28%
    • ลดลง 15%
    • ไม่ใช้แล้ว 47%
  • AR หรือ VR
    • เพิ่มขึ้น 7%
    • เท่าเดิม 23%
    • ลดลง 13%
    • ไม่ใช้แล้ว 56%

ดูเหมือนกลุ่มวิตามินอาหารเสริม ยาแผนโบราณ อุปกรณ์สวมใส่ทั้งหลายผู้บริโภคปีหน้าจะงดใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก ใครอยู่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวรีบเตรียมหากลยุทธ์ธุรกิจใหม่รอไว้ได้เลยครับ

ส่วนเมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการป้องกันสุขภาพกายและใจไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้เกิดโรคหรือมีอาการค่อยรักษา ปรากฏว่า 61% ตอบว่ากังวลเรื่องนี้ อยากป้องกันแต่เนิ่น ๆ แต่กลับมีแค่ 50% เท่านั้นที่พร้อมจ่ายเพื่อป้องกัน

7 Health & Wellness Opportunities 2024 กลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบความต้องการเรื่องสุขภาพกายและใจของผู้บริโภคยุคใหม่

สรุป Health and Wellness Trends & Insights 2024 จากรายงาน Meta Report ผู้บริโภคไทยยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพกายและจิตใจ แต่ไม่มีเงินจ่ายมากพอ

ตอนนี้เราคงเห็นชัดแล้วว่าผู้บริโภคจำนวนมากใส่ใจและกังวลทั้งสุขภาพกายและใจเป็นส่วนใหญ่ แต่จะติดก็ตรงรายได้ที่ไม่มากพอจะจ่ายให้ได้มากกว่านี้ หรือในอีกแง่มุมคือการจะเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจที่ดีนั้นมีค่าใช้จ่ายมากเกินรายได้ในปัจจุบัน

ดังนั้นถ้าใครสามารถหาทางออกด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการดูแลทั้งสุขภาพกายและใจได้ก่อน ย่อมมีโอกาสเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้ไม่ยาก และนี่เป็น 7 กลยุทธ์ธุรกิจและแนวทางว่าเราควรนำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ Health & Wellness อย่างไรในปี 2024 ครับ

1. ใช้ Technology ลดค่า GP สำหรับ TeleMed

จากเดิมที่การหาหมอแต่ละทีต้องมีราคาแพง ไม่ก็ต้องยอมไปต่อคิวนาน ๆ ถ้าไม่อยากเสียค่าหมอ ก็แล้วทำไมไม่เอาเทคโนโลยีอย่าง TeleMed มาใช้เพื่อลดต้นทุนระหว่างกันหละ

แน่นอนว่าในบ้านเราทำกันเยอะพอควร แต่จำนวนผู้ใช้งานจริงอาจยังไม่เยอะมากพอ ส่วนหนึ่งผู้บริโภคเจนก่อนหน้ายังคงติดว่าถ้าไปหาหมอด้วยตัวเองได้การตรวจน่าจะแม่นยำกว่า

แต่กับผู้บริโภคยุคใหม่นั้นอาจมี Perception ที่ต่างกัน และจากประสบการณ์ส่วนตัวก็พบว่า การหาหมอทางออนไลน์ก็ไม่เลวนะครับ สะดวกสบาย แต่ส่วนต่างราคาอาจยังไม่มากพอที่จะทำให้เลือกใช้บริการแบบนี้บ่อยกว่าในบ้านเรา

2. Bundle Pack จัดแพคใหญ่เพื่อลดราคา

แน่นอนว่าถ้าขายเดี่ยวๆ อาจมีต้นทุนสูง แต่ถ้าจับมัดรวมแพคสุขภาพต่างๆ ได้ย่อมทำให้ราคาจ่ายรวมนั้นถูกลง ก็ถือว่าวินๆ กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ส่วนเทคโนโลยีเองก็ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มจับคู่แพคเกจต่างๆ ให้ก็ได้ครับ

3. ให้คำปรึกษาสุขภาพทางออนไลน์

นอกจากการหาหมอเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ทุกวันนี้เรายังสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้การหาหมอมีต้นทุนที่ต่ำลงมาก อย่างการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ประเมินว่าอาการเบื้องต้นของคนไข้คืออะไร และควรแนะนำการรักษาแบบไหน จากนั้นก็ให้แพทย์หรือพยาบาลเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนปล่อยออกไปอีกครั้ง

เรียกได้ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสเกลโดยมีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ คอยสอน AI ไปพร้อมกันครับ

4. ซื้อและส่งยาทางออนไลน์

การขายยาทางออนไลน์ในประเทศไทยดูเหมือนว่ายังไม่ผ่านในแง่ของกฏหมาย แต่ในต่างประเทศนั้นสามารถทำได้สะดวกขึ้น ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้การเลือกซื้อยาเองทางออนไลน์สะดวกเหมือนกับการซื้อของออนไลน์

หรืออาจจะให้แพทย์เป็นผู้กำหนดว่าใครจะสามารถซื้อได้เท่าไหร่บ้าง ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนการซื้อยาที่หายากมากๆ ที่จำเป็นต้องเจอเภสัชก่อนซื้อ ทั้งที่หลายครั้งเราก็ซื้อยาเดิมๆ กินประจำ

5. เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพกับบริษัทประกันเพื่อลดต้นทุน

ปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลหรือ Data Integration นั้นไม่ได้มีแค่กับทีมการตลาดหรือธุรกิจเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคสุขภาพอย่างมาก

ด้วยความที่ข้อมูลเหล่านี้เป็น Sensitive data อย่างมาก ทางโรงพยาบาลเองก็ไม่อยากแชร์ออกข้างนอก ส่วนบริษัทประกันเองก็อยากรู้สุขภาพจริงๆ ของลูกค้า ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยในการแชร์ Sensitive data อย่างข้อมูลสุขภาพของเราให้กับบริษัทประกันได้สะดวกขึ้น ก็น่าจะช่วยลดเบี้ยประกันได้อย่างมากสำหรับคนสุขภาพดี

ส่วนคนที่ไม่ยอมแชร์ให้ก็ต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าเสี่ยงสูงสุด แล้วก็นำไปสู่การคิดค่าเบี้ยที่แพงสุดเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรับทำประกัน

6. หาช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้าใหม่

เพราะเราอยู่ในยุคที่มี Fragmented Channel Communication มากมาย ดังนั้นอย่าหยุดกับแค่ช่องทางเดิมๆ ในการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้คน

หาช่องทางใหม่ๆ ที่ทำให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ในต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของผู้คน และธุรกิจเองก็สามารถทำกำไรได้ไม่ลดลงกว่าเดิมในภาพรวม

7. CRM for Health & Wellness Business

การนำระบบ CRM หรือ Loyalty Program มาใช้กับกลุ่มธุรกิจสุขภาพกายและใจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี ใครที่มาใช้บริการบ่อยๆ ก็มีรางวัลจูงใจให้ หรือใครที่ดูแลสุขภาพได้ดีต่อเนื่องก็มีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอย่างที่บางบริษัทประกันเริ่มทำ

เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอแค่เจ็บป่วยหรือมีอาการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สามารถค่อยๆ ทำระหว่างวันในทุกๆ วันได้ และการเอาระบบ CRM หรือ Gamification มาใช้ก็จะช่วยให้เป็นไปได้ง่ายขึ้นครับ

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นแล้วว่าผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนต่างใส่ใจเรื่องสุขภาพกายและใจอย่างมากควบคู่กัน แต่ปัญหาคือการใช้เงินในเรื่องนี้ยังถือว่าต่ำ ซึ่งปัจจัยหลักคือรายได้ของเราที่ยังไม่มากพอ และค่าใช้บริการที่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ

แถมที่น่าเป็นห่วงคือผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะใช้เงินกับเรื่องสุขภาพลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่บอกว่าจะใช้เงินเพิ่มขึ้น และนั่นบอกให้รู้ว่าถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนเหล่านี้ก็จะเป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มากจนยากจะมองข้ามได้

ลองดูนะครับว่าธุรกิจเราจะใช้โอกาสนี้จากข้อมูลรายงาน Wellness Trends & Insights 2024 ของคนไทยและอาเซียนได้อย่างไร เผื่อคุณอาจเจอ New S Curve ใหม่ที่มองข้าม เพราะสินค้าหรือบริการเดิมสามารถบิดจุดขายใหม่เพื่อจับกลุ่มตลาดใหม่อย่างคนที่ใส่ใจสุขภาพเหล่านี้ก็เป็นได้ครับ

ในบทความตอนหน้าเราจะไปดูเรื่องการตลาดแบบรู้ใจ Personalization กับ AI ที่จะช่วยยกระดับการทำ Digital Customer Experience ควบคู่กันในปี 2024 ครับ

อ่านบทความตอนแรกของรายงาน 7 Digital Consumer Insights 2024 ครับ

Source : https://www.facebook.com/business/m/sync-southeast-asia

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *