Data Research Insight ส่องกระแสเทรนด์บิวตี้ สำรวจธุรกิจ “ทำเล็บ”

Data Research Insight ส่องกระแสเทรนด์บิวตี้ สำรวจธุรกิจ “ทำเล็บ”

Data Research Insight ส่องกระแสเทรนด์บิวตี้ สำรวจธุรกิจ “ทำเล็บ”

ธุรกิจความสวยความงามไม่ได้มีแค่ หน้า ตัว ผิว ผม ที่คนให้ความสนใจ แต่ยังมีส่วนหนึ่งของร่างกายที่เราเรียกว่า “เล็บ” ที่คนให้ความสนใจมาก ๆ เช่นเดียวกัน เตยมองว่าธุรกิจทำเล็บเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไม่ควรมองข้ามอย่างแรง

โดย Insight ในบทความนี้ เตยใช้ Social listening tool อย่าง Mandala ที่ทีมการตลาดวันละตอนใช้อยู่เป็นประจำมาเสาะหาว่า ทำไมคนถึงไปทำเล็บ บริเวณไหนบ้างที่คนชอบทำเล็บ รูปแบบไหนและอย่างไรที่คนชอบทำ รวมถึงตัวเลือกอื่น ๆ ของการทำเล็บ เพื่อเป็นประโยชน์และไอเดียให้กับนักการตลาด ผู้ประกอบการ และผู้อ่านทุกท่านค่ะ 

ในบทความนี้เตยจะพามาดูทั้งขั้นตอนกระบวนการทำดังรูป และ Insight ที่เจอมาแบ่งปันทุก ๆ คนกันค่ะ

เริ่มต้นกันด้วย Research Keyword และ Collecting Data

Data Research Insight ส่องกระแส สำรวจธุรกิจ "ทำเล็บ"

มาเริ่มกันที่ขั้นตอนแรก Research Keyword โดยตัว Keyword ที่เตยเลือกใช้มีดังนี้ค่ะ

  • Keyword ที่ใช้มีดังนี้ : เล็บ และ ทำเล็บ แค่สองคำนี้ก็สามารถเก็บข้อมูลมาให้เราได้มากถึง 50,000 mentions มากพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้แล้วค่ะ
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการดึงข้อมูล : 01/04/2022 – 01/03/2023 หรือประมาณ 1 ปีย้อนหลังค่ะ

ปล. การเลือกใช้ Keyword สามารถอ่านศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่

หลังจากเซตตัว keyword เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การ Collecting Data โดยระบบได้กวาดข้อมูลมาให้เตยได้ทั้งหมดจำนวน 50,000 mentions ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าเพียงพอต่อการนำไปใช้วิเคราะห์ได้แล้วค่ะ

ได้ข้อมูลมาแล้ว ต้อง Cleansing data ให้พร้อมใช้ซะก่อน

ก่อนที่จะได้ Insight มานั้น เตยต้องขอบอกว่าข้อมูลที่เราดึงมา มันไม่ได้มีข้อมูลที่เราจะใช้ได้ทั้งหมด 100% เพราะฉะนั้นเราจะต้องมา Cleansing data ซะก่อน โดยการ Cleansing data ของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคนค่ะ 

ยกตัวอย่างเช่น โพสต์ข่าวที่กล่าวถึงพิมรี่พายเกี่ยวกับประเด็นดราม่า เล็บเจลที่ทำมายังแพงกว่าชีวิต…อีก จะเห็นได้ว่าในโพสต์นี้มีคำว่า “เล็บ” อยู่ในโพสต์ แต่บริบทของข้อความไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อที่เราต้องการ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงต้องคัดกรองข้อมูลก่อนนั่นเองค่ะ 

โดยวิธีการลบข้อมูลที่เราไม่ต้องการออกก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ 1. กดที่ปุ่ม Exclude 2. กดลบที่ปุ่มถังขยะ หรือ 3. เลือกคีย์เวิร์ดที่จะ Exclude ในข้อความโดยการคลุมดำคำนั้นได้เลย สามารถเลือกใช้วิธีไหนก็ได้ตามความถนัดเลยค่ะ

Social Data Overview

ในส่วนของ Social Data Overview เตยจะพามาแยกกันทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

TOP Post Engagement

Data Research Insight ส่องกระแส สำรวจธุรกิจ "ทำเล็บ"

เรามาดูภาพรวมคอนเทนต์ที่ได้รับ Engagement หรือการมีส่วนร่วมสูงสุดในแต่ละแพลตฟอร์มประกอบกันค่ะ เพื่อให้เข้าใจบริบทภาพรวมของคอนเทนต์ที่คนให้ความสนใจกันมากขึ้น

  • Facebookกันต์ กันตถาวร นักแสดง ดารา พิธีกรชื่อดัง โพสต์คลิปเกี่ยวกับการตัดเล็บลูกชาย
  • Twitter: จาเจีย ผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ถึงน้ำยาทาเล็บที่ใช้แล้วรู้สึกชอบ+เสนอขายสินค้าใต้โพสต์
  • Instagram: gggubgib15 ดารา นักแสดง ที่เปิดร้านเสริมสวย หนึ่งในบริการคือ ทำเล็บ โพสต์ขอบคุณลูกค้าที่มาใช้บริการ
  • TikTok: hellotokyo โพสต์คลิป ธามไท นักร้องนักแสดง ที่ไปทำเล็บที่ร้าน
  • YouTube: เอื้อมพร รับตกแต่งเล็บ ร้านเรับตกแต่งเล็บโพสต์คลิปตัดเล็บขบ

ศึกษาข้อมูล และ Categorize data เพื่อนำไปสู่ Insight

หลังจากที่เราคัดกรองข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ข้อมูลที่พร้อมใช้งานจริง ๆ มาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือการ จัดกลุ่มข้อมูลค่ะ ซึ่งก่อนที่เราจะจัดกลุ่ม เราต้องมาถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการรู้อะไรจากมันบ้าง และข้อมูลบอกอะไรให้เราได้รู้บ้าง เพื่อที่จะวิเคราะห์ข้อมูลออกมา

โดยการจัดกลุ่มข้อมูลบทความนี้ เตยแบ่งออกเป็น 5 Category เพื่อหาเป็น Insight ออกมา 5 หัวข้อ ดังนี้ 1. สาเหตุของการทำเล็บ 2. บริเวณที่คนมักทำเล็บ 3. ประเภทของการทำเล็บ 4. รูปแบบของการทำเล็บ และ 5. ตัวเลือกทำเล็บอื่น ๆ

จากนั้นจะใช้ Tag ในการจัดกลุ่มข้อมูลค่ะ และคำที่ใช้ค้นหาเพื่อทำการจัดกลุ่มให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนจะเป็นตามในรูปด้านบนค่ะ ใครจะแบ่งหัวข้อมากกว่านี้ก็ได้นะคะ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการจะหา และข้อมูลพาเราไปหาได้ค่ะ

เมื่อทำขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 คือ การทำ Data Visualization วิธีการทำก็สามารถทำได้หลายทางแล้วแต่ความถนัด อย่างเตยจะเลือกทำใน Canva เพราะเป็นช่องทางที่เตยถนัดใช้ที่สุดแล้วค่ะ

Insight #1 “อยากเลิกกัดเล็บ” คือเหตุผลอันดับหนึ่งของการ ทำเล็บ

ตอนแรกที่วิเคราะห์ออกมา เตยบอกตรง ๆ ว่าเซอร์ไพร์สมาก เพราะไม่คิดว่าสาเหตุของการทำเล็บอันดับหนึ่ง คือ อยากเลิกกัดเล็บ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยนะคะ แถมเป็นสาเหตุที่ถูกพูดถึงมากที่สุดถึง 38.3%

และหากขุดลึกลงไปอีก ว่าทำไมเขาถึงหันมา ทำเล็บ แทนที่จะเลิกหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกัดเล็บแทน เตยก็พบว่า เมื่อเราทำเล็บแล้วเนี่ย เล็บจะมีความแข็งขึ้นค่ะ ทำให้กัดหรือแกะเล็บได้ยาก เมื่อเวลาผ่านไป เล็บก็จะยาวและดูดีขึ้นเนื่องจากเรากัดเล็บไม่ได้นั่นเองค่ะ

ดังนั้น เตยมองว่าถ้าเอาประเด็นนี้เป็นตัวชูโรง ทำการโปรโมทประเด็นเลิกกัดเล็บ ทำคอนเทนต์ Before & After เล็บที่ทำ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะคนจะได้เข้าถึงและมองเห็นได้ง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ

และที่น่าสนใจคือ สาเหตุลำดับที่สอง คนนิยมทำเล็บเพื่อไปคอนเสิร์ต เพราะต้องการให้ตัวเองดูดีที่สุดในวันที่เราต้องไปเจอคนที่ชอบ นึกภาพตามง่าย ๆ ไปคอนเสิร์ต =ไปเดท ต่อให้ศิลปินที่เราชอบไม่เห็นเราหรือเห็นเล็บที่เราตั้งใจทำไปก็ตามที แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราได้ วันสำคัญทั้งทีจะต้องจัดเต็ม เราต้องสวยที่สุด เสริมสวยแบบครบวงจร!

รู้แบบนี้แล้ว คอนเสิร์ตมีเมื่อไหร่ ลองทำการโปรโมทหรือทำเป็นโปรโมชั่น ทำเล็บ เฉพาะในช่วงนั้นดูนะคะ เตยว่าลูกค้าตบเท้าเข้าร้านไม่เว้นแน่ ๆ และใช้ Twitter เป็นอีกแพลตฟอร์มทำการตลาด และโปรโมตบน hashtag งานนั้น ๆ รับรองว่าเพิ่มโอกาสทางการขายได้อีกแน่นอนค่ะ

Insight #2 “มือ” คือบริเวณที่คนมัก ทำเล็บ มากกว่า เมื่อเทียบกับ “เท้า”

ตรงนี้ต้องบอกว่าไม่ได้แปลกใจเท่าไหร่ เพราะบริเวณในร่างกายที่มีเล็บ มีแค่สองส่วน คือ มือ และ เท้า และ มือ ก็เป็นบริเวณที่คนมักทำเล็บที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ถึง 62.3% เรียกได้ว่าเกินครึ่งกันเลยทีเดียว

เตยได้มุมมองอย่างนึง คือ หากเรายังไม่รู้ว่าจะรับทำเล็บมือหรือเท้า ลังเลใจว่าจะรับทำส่วนไหนดี “มือ” เป็นส่วนที่ไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ เพราะความต้องการมีเยอะ หรือถ้าตอนนี้ทำอยู่แล้ว แต่มีแค่แบบใดแบบหนึ่ง ลองปรับมาเพิ่มอีกแบบที่ไม่ได้ทำกันดูนะคะ โดยปริมาณของการโปรโมทหรือทำการตลาด สัดส่วนอาจเอียงไปทางคอนเทนต์เกี่ยวกับทำเล็บมือมากซะหน่อย

ในทางกลับกันเตยมองว่า กลุ่มของคนที่มาทำเล็บเท้า ก็เป็นอีกหนึ่ง Segment ที่น่าสนใจมาก ๆ ที่จะลงไปเล่นในตลาดนั้น เพราะอัตราการแข่งขันยังไม่มากเท่าที่ควร เป็นโอกาสที่ดีให้กับเราค่ะ

Insight #3 ทาสีเจลทั่วไปคืออันดับหนึ่ง นอกเหนือจากนั้นคนชอบต่อเล็บ

Data Research Insight ส่องกระแส สำรวจธุรกิจ "ทำเล็บ"

มาต่อกันทีประเภทของการทำเล็บ จากข้อมูลพบว่า 47.6% ของทั่งหมด ทาสีเจลทั่วไป คือประเภทของการทำเล็บที่ถูกพูดถึงมากที่สุดค่ะ เป็นการทาแบบปกติ ไม่ได้มีการต่อเติมเล็บ

นอกเหนือจากนั้นคนนิยม ต่อเล็บ และทำการทาสีตกแต่งลวดลายต่อไป ซึ่งการต่อเล็บที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ การต่อแบบ PVC เป็นการนำเล็บพลาสติกมาติดบนเล็บจริง ข้อดีคือต่อง่าย และรวดเร็วค่ะ

Insight #4 คนนิยมความเรียบง่าย เน้นทาสีปกติ

ผลออกมาว่าคนนิยมทำเล็บแบบเรียบ ๆ พื้น ๆ ทาสีปกติ น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ไม่ต้องมีการตกแต่งอะไร หรือเพ้นท์ลายอะไรเพิ่มเติมมากเป็นที่สุด มากถึง 47.9% รองลงมาจะเป็นเพ้นท์ลายน่ารัก ปุ๊กปิ๊ก และตามด้วยเล็บแบบติดอะไหล่ มีเท่าไหร่ใส่มาให้หมด!

ที่น่าสนใจคือ การติดอะไหล่ตกแต่ง มีการพูดถึงในเชิงที่ว่า อะไหล่ทำให้ใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ลำบากไปซะหน่อย ไม่ว่าจะสระผม เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ล้างหน้า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้อยู่แล้วว่าเล็บที่ติดอะไหล่มันอาจทำให้การใช้ชีวิตลำบาก แต่มันเป็นความลำบากที่เต็มใจ

ตัวอย่างโพสต์ Pain point ของเล็บติดอะไหล่ ที่มีการเซนเซอร์คำหยาบบางจุด

ลึก ๆ แล้วก็ยังมีความรู้สึกรำคาญบางนิด ๆ จนถึงขั้นที่ว่า อยากให้อะไหล่เล็บบางอันมันถอดเข้าถอดออกได้ จะได้ทำอะไรสบายขึ้น ซึ่งเตยมองว่านี่แหละคือ Pain point ของการ ทำเล็บ อย่างนึงที่หากเราแก้ได้ ลูกค้าคงเข้าหารัว ๆ แน่นอนค่ะ

Insight #5 หากไม่ได้ไปทำที่ร้าน คนมักซื้อ “เล็บปลอม” มาติดเอง

ถ้าไม่ได้ไปทำเล็บที่ร้านเอง คนมักซื้อ เล็บปลอม มาติดเองมากที่สุดค่ะ กินพื้นที่มากถึง 93.8% กันเลยทีเดียว ซึ่งเตยมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก นอกจากนั้นก็จะเป็นการซื้อสติ๊กเกอร์แปะเล็บ และซื้อน้ำยาทาเล็บมาทาเองค่ะ

บ้างก็ว่าไม่ชอบทาเล็บ เลยติดเล็บปลอม บางคนก็ชอบติดเล็บปลอมเพราะต้องการพักเล็บ ไม่ต้องการทาเล็บปล่อย ๆ เรียกได้ว่า สวยแบบสบาย สวยสะดวก!

พอขุดไปเรื่อย ๆ เตยก็พบว่า มันมีคนที่ “รับออกแบบลายเล็บ” อยู่ด้วย แล้วทำกันจริงจังอย่างมาก เป็นอาชีพที่รับออกแบบลายเล็บตามความต้องการของลูกค้าค่ะ เช่น อยากได้ธีมทะเล มีนางเงือก อยากได้ธีมไปคอนเสิร์ตก็มี ร้านก็จะออกแบบแบบเล็บที่เป็นธีมนั้นมาให้ และเป็นแบบ limited edition ด้วยนะคะ เพราะมีแค่ 1 เดียวในโลก

ซึ่งการรับออกแบบนี้ก็มีทั้งแบบ ดิจิทัลและแบบที่จับต้องได้ค่ะ แบบดิจิทัลคือ ออกแบบเป็นไฟล์รูปออกมา แล้วจะเอาไปให้ร้านเล็บทำเล็บให้เราตามแบบ หรือเอามาทำเองก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ

https://twitter.com/muffinchoconail/status/1638153190796591104

แบบจับต้องได้คือ ตกแต่งมาเป็นเล็บปลอมสำเร็จรูปตามแบบที่เราต้องการ ได้มาเราก็นำไปติดเองหรือเอาไปให้ร้านติดให้นั่นเองค่ะ

หากร้านทำเล็บเปิดให้ลูกค้าเอาลายจากที่อื่นหรือไปสั่งทำมา มาให้ทำหรือรับติดเล็บที่ซื้อมาจากที่อื่น จะได้เป็นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพราะลูกค้าบางคนก็อยากเป็นแค่หนึ่งเดียว ไม่อยากเหมือนคนอื่น แต่อาจจะทำไม่เป็นหรือติดเล็บไม่เป็น ถ้าเราเข้าไปจับกลุ่มตรงนี้ได้ เตยว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ

บทสรุปส่งท้าย Data Research Insight ส่องกระแส สำรวจธุรกิจ “ทำเล็บ”

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับข้อมูลแบบเจาะลึกสำหรับธุรกิจ “ทำเล็บ” โดยใช้เครื่องมือ Social Listening Tools แค่นี้ก็ได้ข้อมูลแบบที่คาดถึงและคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นข้อมูลแล้วว่าการทำเล็บนั้นมีหลากหลายมิติมาก ๆ และเหตุผลของการทำเล็บอย่าง อยากเลิกกัดเล็บกับทำเพื่อไปคอนเสิร์ต ก็ทำให้เราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว

เตยมองว่านี่คือโอกาสหลายอย่างที่เราสามารถเข้าไปคว้าได้ ทั้งจับกลุ่ม segment ใหม่ ๆ แก้ปัญหา Pain point ของเล็บติดอะไหล่ หรือจะเป็นการเพิ่มบริการ อำนวยความสะดวกทำเล็บให้ลูกค้าที่เอาของจากที่อื่นมาทำที่ร้าน ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งนั้นเลยค่ะ

นักการตลาดหรือผู้ประกอบการคนไหนที่กำลังจะเปิดธุรกิจร้านทำเล็บ หรืออยากได้ไอเดียใหม่ๆ ไป พัฒนาธุรกิจ เตยหวังว่า Insight ในบทความนี้จะเป็นประโยชน์และจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้กับทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

หรือถ้าอยากเรียนการใช้ Social Listening ให้เป็นด้วยตัวเอง ก็สามารถลงเรียนกับการตลาดวันละตอนได้ หรือจะส่งทีมมาเรียนก็ได้

คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening Analytics

คลาสเรียนออนไลน์ Social Listening เน้น Workshop ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง รุ่นล่าสุด ศุกร์สุดท้ายของเดือน เปิดแล้ว
เรียนสดทางออนไลน์ ผ่าน Zoom เต็มวัน 9:00 – 15:00
ค่าเรียนคนละ 9,900 บาท รับจำกัดรุ่นละ 20 คน (ถ้าเต็มรุ่นนี้ต้องขอให้รอรุ่นหน้า)
อ่านรายละเอียดและสมัครก่อนเต็มได้ที่ลิงก์นี้ครับ

https://bit.ly/sociallisteningclass

แล้วคุณจะรู้ว่าการเข้าถึง Insight และ Opportunity ใหม่ๆ เป็นเรื่องง่ายแค่ใช้ Social Listening ให้เป็น

ถ้าอยากดูบทความเกี่ยวกับฟีเจอร์ต่าง ๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ เลยค่ะ พวกเราทีมการตลาดวันละตอนมีหลายเคสที่ใช้ฟีเจอร์ของ Mandala มาวิเคราะห์ข้อมูล เทรนด์ และทำ Insight เจ๋ง ๆ แบบนี้ออกมาค่ะ😊

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *