ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling

ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling

ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling

ในบทความนี้เตยจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเข้าใจง่าย แต่ก็เข้าใจยากในเวลาเดียวกัน พูดไปบางคนก็นึกไม่ออกว่ามันไม่เท่าเทียมกันยังไง เป็นก้อนขมุกขมัวในหัวไม่แจ่มแจ้งซะที แต่ถ้านำมาแปลงเป็นภาพ เตยว่าทุกคนจะต้องร้อง อ๋ออออ แบบนี้นี่เอง!

โดยแคมเปญที่เตยจำนะมาเล่าคือ The Day-After-Women’s-Day Newspapers หนึ่งในแคมเปญจาก Cannes Lions หมวดหมู่ Creative Data ส่งตรงจากประเทศโปรตุเกส ประเทศที่ตระหนักและรณรงค์เรื่อง ความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

จุดเริ่มต้นแนวคิด: 8 มีนาคม (วันสตรีสากล) คนตระหนักวันเดียว แล้วอีก 364 วันล่ะ?

แนวคิดของแคมเปญนี้มาจากการที่ “Raparigas da Bola” (แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Ball Girls) กลุ่มผู้สนับสนุนที่ต่อสู้เพื่อให้ผู้คนมองเห็นบทบาทของเพศหญิงในวงการกีฬา พวกเขาต้องการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความไม่เสมอภาค การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกที่มีอยู่ในแวดวงกีฬามาอย่างช้านาน

โดยส่วนใหญ่แล้วบทบาทของผู้หญิงในแวดวงกีฬาที่โปรตุเกสจะถูกพูดถึงหรือยกย่องก็ต่อเมื่อเป็นวันสำคัญอย่าง วันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งก็คือวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี

ถ้ายกนิ้วขึ้นมานับกันจริง ๆ เราจะนับได้แค่ ‘วันเดียว’ Raparigas da Bola จึงมองว่าแล้วอีก 364 วันล่ะ ทำไมถึงไม่พูดถึงเลย?

เตยอยากให้เข้าใจกันก่อนว่าบริบทที่โปรตุเกสกับบ้านเราอาจจะไม่หนักหนาเท่ากันเลยทำให้บางทีเราไม่เข้าใจว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงต้องออกมาเรียกร้อง เพราะการถูกเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียม ที่พวกเขาได้รับนั้นมากพอที่จะทำให้พวกเขาออกมาต่อสู้เพื่อให้คนตระหนักและรับรู้ถึงปัญหา

เตยไม่ได้มองว่า การกระทำแบบนี้คือการเอาแต่ใจ เรียกร้องมากเกินไป แต่เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านั้นมากมายจริง ๆ การเลือกที่จะทน ปล่อยเลยตามเลย ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการไม่ใช่เพียงการพูดถึงหรือต้องการให้ยกย่องเพศหญิงตลอด 365 วัน แต่เป็นความนัยให้คนหันมาตระหนักและเล็งเห็นว่า ความไม่เท่าเทียม ระหว่างเพศมันกว้างมากจริง ๆ

ยกตัวอย่างเช่น นิตยสารกีฬา ตั้งแต่สื่อระดับท็อปจนไปถึงสื่อระดับโนเนม ภาพรวมส่วนใหญ่เพศชายจะถูกเลือกขึ้นมาพูดถึงมากกว่า เราแทบจะไม่เห็นสื่อสิ่งพิมพ์ไหนเลยที่พูดถึงนักกีฬาเพศหญิง

นักกีฬาหญิงไม่ค่อยมีผลงาน ได้รางวัลรึเปล่าเลยไม่ถูกพูดถึง?

เตยว่าหลายคนคงมีคำถามนี้ในใจ แต่ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์ยุโรปครั้งล่าสุด โปรตุเกสทำผลงานได้ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยคว้า 3 เหรียญทอง และ 2 ใน 3 เป็นของนักกีฬาหญิง โปรตุเกสยังมีผู้รักษาประตูฟุตซอลหญิงที่ดีที่สุดในโลก หนึ่งในทีมฟุตซอลและฮอกกี้หญิงที่ดีที่สุดในยุโรปอีกด้วย แต่ทั้งมวลทั้งมวลนี้ สื่อแทบไม่พูดถึง ทำสกู๊ปข่าวกีฬาเลย

มองดูแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างนึง เราพยายามแทบตายแต่สุดท้ายไม่มีใครมองเห็นเลย

ใช้ Data Storytelling แสดง ‘ความไม่เท่าเทียม’ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์

ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling
ที่มา: adceurope

Raparigas da Bola จึงทำแคมเปญ The Day-After-Women’s-Day Newspapers โดยการเปลี่ยนนิตยสาร หนังสือพิมพ์กีฬาชื่อดังอันดับ 3 ในโปรตุเกส ให้เป็นอินโฟกราฟิกที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศของชาย-หญิงบนพื้นที่สื่อ โดยทำออกมาเป็น 3 เวอร์ชั่นด้วยกัน รวมทั้งสิ้น 30 ฉบับ

ในแต่ละเวอร์ชั่นจะใช้สีเป็นตัวแทนเพศ อย่างเช่นในภาพประกอบ สีเหลือง = ผู้ชาย สีแดง = ผู้หญิง หากเนื้อหาของบทความในสื่อสิ่งพิมพ์พูดถึงนักกีฬาเพศชายก็จะถูกแทนที่บริเวณนั้นด้วยสีเหลือง หากเป็นเพศหญิงก็จะถูกแทนที่ด้วยสีแดง

เพื่อทำให้เราเห็นภาพง่าย ๆ ว่าสัดส่วนของการถูกพูดถึงของแต่ละเพศในแต่ละหน้านิตยสารนั้นมากน้อยเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling

Raparigas da Bola ร่วมมือกับนักกีฬา 50 คนและนักข่าวในวงการ เพื่อช่วยกันขยายแคมเปญสู่วงกว้างและเผยแพร่แคมเปญบนโซเชียลมีเดียพร้อมแฮชแท็ก #ElasTambémJogam แปลเป็นอังกฤษคือ #WomenAlsoPlay จากหนังสือพิมพ์เพียง 30 ฉบับ สามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่าหนังสือพิมพ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโปรตุเกสถึง 52 เท่า!

ซึ่งวันที่ Raparigas da Bola เลือกทำแคมเปญคือวันที่ 9 มีนาคม หลังวันที่ 8 มีนาคมเพียง 1 วัน เพื่อทำให้เห็นเลยว่าวันสตรีสากลที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ พูดถึงนักกีฬาแต่ละเพศสัดส่วนมากน้อยเท่าใด ทั้งแนวคิดและกลยุทธ์อิมแพ็ค ไทม์มิ่งดีสุด ๆ

สรุป ชี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศให้เห็นภาพง่าย ๆ ด้วย Data Storytelling

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่า ความไม่เท่าเทียม นั้นสามารถแปลงออกมาให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้สีสองสีแสดงให้เห็นถึงสัดส่วน ไม่ต้องอธิบายเวิ่นเว่อหรือใช้ตัวเลขให้คนไปแปลงสารในหัวต่อ ท่านใดที่มีข้อมูลที่คิดว่านำไปสื่อสารต่อได้ยาก ลองหยิบยกตัวอย่างในบทความไปปรับใช้กันดูนะคะ

นอกจากนี้ เตยยังมีบทความเกี่ยวกับการทำ Visualization ที่เคยเขียนไว้มาเผื่อค่ะ สามารถเข้าไปอ่านเพื่อต่อยอดไอเดียได้ดีเลย > 10 รูปแบบพื้นฐานการทำ Data Visualization ฉบับเข้าใจง่าย + ตัวอย่าง

หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *