The Cost of Inequality แคมเปญที่เปลี่ยน ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization

The Cost of Inequality แคมเปญที่เปลี่ยน ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization

The Cost of Inequality-แคมเปญที่เปลี่ยน ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization

วนมาอีกครั้งกับแคมเปญจาก Cannes Lions โดยในบทความนี้จะเป็นในเรื่องของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ที่เกิดขึ้นในสังคมค่ะ และเมื่อเราพูดถึงความไม่เท่าเทียม คนมักจะมองภาพไม่ออกว่ามันมากน้อยแค่ไหน มีนัยยะสำคัญอย่างไรกับความแตกต่างนี้

เพราะความไม่เท่าเทียมที่เรามักเห็นกันในสังคมมักเป็นในรูปแบบของการรับรู้เชิง ‘นามธรรม’ ผ่านการปฎิบัติที่ได้รับ และเมื่อต้องสื่อสารออกไป คนที่รับสารก็มองภาพไม่ค่อยออก เพราะไม่ได้เจอกับตัวเอง

ดังนั้น The Cost of Inequality แคมเปญที่เตยจะนำมาแชร์ในบทความนี้จะเป็นการเปลี่ยนมุมมอง ‘ราคาของความไม่เท่าเทียม‘ ให้เป็น ‘รูปธรรม’ มากขึ้น แถมเข้าใจง่าย ๆ ด้วยการปรับใช้ Data Visualization ค่ะ

จุดเริ่มต้นที่มาจาก ‘ความไม่เท่าเทียม’

แคมเปญ The Cost of Inequality เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เพราะในประเทศนี้ ช่องว่างค่าจ้างระหว่างชาย หญิงอยู่ที่ 39% และทุก ๆ สามวันผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยน้ำมือของสามี รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับความยากลำบากของความไม่เท่าเทียมนี้

ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ในเรื่องนี้กันมาอย่างยาวนาน แต่ดูเหมือนสังคมก็ไม่ได้มองเห็นถึงปัญหาของ ความไม่เท่าเทียม นี้มากเท่าที่ควร แม้กระทั่งกับผู้หญิงด้วยกันเอง เพราะอย่างที่เตยได้กล่าวไปในข้างต้นว่า คนมักรับรู้ประเด็นความไม่เท่าเทียม ในเชิง ‘นามธรรม’ มากกว่า ‘รูปธรรม’

จึงเป็นต้นกำเนิดของแคมเปญนี้ นำโดย Fondation des Femmes (FDF) มูลนิธิเพื่อสิทธิสตรีของฝรั่งเศส ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ร่วมมือกับ Edelman France จัดทำแคมเปญให้คนหันมาตระหนักรู้ เข้าใจถึงความไม่เท่าเทียมได้ง่าย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาที่แคมเปญนี้ปล่อยออกมาตรงกับช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส การกระทำนี้จึงเป็นการดูท่าทีของผู้สมัครว่าจะมีการ Take action กับประเด็นนี้อย่างไรอีกด้วย

เปลี่ยนราคาของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เป็นใบเสร็จ ด้วย Data Visualization

เพราะคนมักรับรู้ประเด็นความไม่เท่าเทียม ในเชิง ‘นามธรรม’ มากกว่า ‘รูปธรรม’ Fondation des Femmes (FDF) จึงเปลี่ยนมุมมองของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เป็นที่จับต้องได้ สื่อสารออกไปแล้วมองแวบแรกก็เข้าใจเลย

โดยการเปลี่ยน ‘ราคา’ ของความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงให้เป็น ‘ใบเสร็จ’ ด้วย Data Visualization ที่เห็นแล้วเข้าใจได้เลยว่าความเหลื่อมล้ำนี้มันมีจำนวนมหาศาลมากแค่ไหน ตัวเลขจะเข้าไปทำหน้าที่ชั่งน้ำหนักในจิตใจคนให้เกิดการตระหนักรู้แทนคำพูด

The Cost of Inequality-แคมเปญที่เปลี่ยนราคา ความไม่เท่าเทียม ให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization
ที่มา: https://www.lbbonline.com

โดยตัวเลขในใบเสร็จนี้คำนวณค่าใช้จ่ายรายปีของความไม่เท่าเทียมทางเพศในฝรั่งเศส และเป็นใบเสร็จแจ้งหนี้ฉบับแรกที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เพราะจากจำนวนตัวเลขที่แตะ 1.18 แสนล้านยูโร เป็นตัวเลขที่สูง แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการ กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้เลย

ที่มา: YouTube-FDF | The Cost Of Inequality

จึงทำให้แคมเปญนี้เป็นหนึ่งในตัวทดสอบความสามารถของผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร โดยมี Fondation des Femmes (FDF) และประชาชนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพราะใบเสร็จนี้จะถูกเผยแพร่บนหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ แม้กระทั่งในทีวี วิทยุ หรือโซเซียลมิเดียต่าง ๆ

ทำให้ประชาชนสามารถฉีกพับเป็นจดหมาย โพสต์แล้วแท็กใบเสร็จและส่งไปให้ผู้สมัครคนนั้น ๆ ได้ เพื่อดูท่าทีของพวกเขาเหล่านั้น โดยบทสรุปก็คือ ผู้คนมากกว่า 25,000 คนลงนามในคำร้องเพื่อสนับสนุนแคมเปญ The Cost of Inequality มีผู้สมัคร 4 รายที่ออกมาสนับสนุนและเห็นด้วย อีก 3 รายเห็นด้วยบางส่วน

ที่มา: YouTube-FDF | The Cost Of Inequality

สรุป The Cost of Inequality-แคมเปญที่เปลี่ยน ‘ความไม่เท่าเทียม’ ให้เข้าใจง่ายด้วย Data Visualization

เป็นยังไงกันบ้างคะกับแคมเปญ The Cost of Inequality ที่เปลี่ยนมุมมองให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยการหยิบใช้ตัวเลขมาเป็นตัวการในการสื่อสาร ไม่ต้องใช้ตัวอักษรอธิบายมากมาย หรือพูดจนปากเปื่อยปากแฉะ ก็ทำให้คนรับรู้ได้ว่าปัญหานี้มันมีอยู่จริง และเยอะมากแค่ไหน

หลักการปรับใช้ Data Visualization ให้กลายมาเป็นเรื่องเข้าใจง่ายจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุคที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลและเข้าใจยาก โดยแคมเปญนี้ได้พิสูจน์ถึงความสำเร็จจากการปรับใช้นี้ ด้วยรางวัลที่ได้จาก Cannes Lions ในหมวดหมู่ Data Visualization กันเลยทีเดียวค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาด หรือข่าวสารการตลาด แบบจัดหนักจัดเต็ม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *