[ux writing] Grab! มัดใจลูกค้าด้วยการเขียนบันทึกจาก Data ลูกค้า

[ux writing] Grab! มัดใจลูกค้าด้วยการเขียนบันทึกจาก Data ลูกค้า

เคยมั้ย? ใครสักคนที่จำเรื่องของเราได้ เรื่องที่แม้แต่ตัวเราเองยังจำไม่ได้เลย

วันนี้เรามาดูเทคนิคจากแอปสั่งอาหารชื่อดัง ที่ฉลาดใช้ข้อมูลมาเขียนเป็นบันทึกสั้นๆเพียง 4–5 หน้า แต่อ่านแล้วรู้สึกน่าร้ากกก

บ่ายวันใกล้สิ้นปี ขณะนั่งเบื่อๆอยู่ในรถ เลยลองเปิดแอปสั่งอาหารมาดูเล่น มือก็เลื่อนไถมาดูโปรโมชันใหม่ๆว่ามีอะไรบ้าง

เอ๊ะ! มีแคมเปญอะไรดูไม่คุ้นขึ้นมา

ไหนๆลองเข้าไปดูกันหน่อยยย

1. เริ่มด้วยการกระตุ้นให้กด Call to Action

“มาย้อนดูปีที่ผ่านมาของคุณกับ Grab กันเถอะ”

คำพูดที่เค้าใช้เขียน สามารถสื่อความได้ว่าเป็นอะไรเกี่ยวกับปีที่ผ่านมาของเรากับ Grab ข้อความแบบนี้สามารถกระตุ้นให้คนอยากรู้ และมีแนวโน้มที่จะเข้าไปกดไปดูมากขึ้น

UX Writing: คำพูดในส่วนนี้ หากจุดเป้าหมายของเราอยากให้ผู้ใช้กดเข้าไป ก็ควรเป็นคำพูดที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำ หรือที่เรียกว่า “Call to action” (CTA)

2. แสดงออกถึงแบรนด์ Voice and Tone

การเขียนและธีมที่ทำขึ้นมาสื่อได้ชัดเจนถึงความขี้เล่น ความเป็นเพื่อน ที่เข้ากับ voice and tone ของ Grab ที่เน้นความอบอุ่น

ลองมาวิเคราะห์กันสักนิด

ในตอนแรก อ่านแล้วให้ความรู้สึกเป็นสมุดบันทึก มีชื่อ และวันเริ่มเดินทาง

แต่กดไปหน้าสองปุ๊ป อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนได้รับจดหมายจากเพื่อน ที่เหมือนเป็นเพื่อนสมัยก่อนโน้น นานมาแล้ว

อาจเป็นเพราะคำว่า “Maimai เพื่อนรัก” ที่มักเห็นจากหนังสือภาษาอังกฤษ หรือนิยายแปล

ตรงนี้เดาว่าคงแปลมาจากภาษาอังกฤษ ที่มักใช้คำว่า Dear ในการขึ้นต้น หากเปลี่ยนจากคำว่า “Maimai เพื่อนรัก” เป็น สวัสดี Maimai อาจจะให้ความรู้สึกที่เป็นเพื่อนสมัยใหม่มากขึ้น

UX Writing: การเขียนก็เหมือนการพูด แบรนด์เราเป็นคนแบบไหน ก็ต้องเขียนออกมาให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ

3. ทำให้ประทับใจด้วยข้อความเฉพาะคุณ Personalized Message

ส่วนนี้มีข้อความสองแบบคือ ข้อมูลที่เฉพาะคน (ข้อมูลการสั่งอาหารของไม้)กับข้อมูลที่เก็บจากคนไทยส่วนใหญ่ (เรื่องการสั่งชาไข่มุก)

ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลการสั่งอาหารเฉพาะคน ซึ่งในหน้านี้เป็นข้อมูลของไม้เอง ว่าทั้งปี 2562 นี้ ไม้สั่งอาหารกี่ครั้ง สั่งจากร้านไหนบ้าง

ส่วนที่ 2 เดาว่าน่าจะเป็นข้อความที่นำข้อมูลที่เก็บจากการสั่งอาหารของผู้ใช้ Grab (สั่งชาไข่มุกกันเยอะจัด) ไม่ก็เป็นเทรนด์ที่รู้ๆกันว่าคนไทยมักสั่งชาไข่มุกเป็นประจำ ทำให้ Grab ดึงข้อมูลตรงนี้มาใช้เป็นข้อความแนะนำสำหรับทุกคน

ข้อดีของการทำข้อความแบบจับทุกคนคือ ทำง่าย ทำอันเดียวแต่ใช้ทุกคน ทำให้ใช้พลังและต้นทุนในการทำน้อยกว่า ง่ายต่อหลายๆทีม ทั้งทีมคอนเท้นต์ ทีมการตลาด ทีม developer (เขียนโปรแกรม) ที่ไม่ต้องลงแรงเก็บข้อมูล แล้วมาสร้างหน้าจอสำหรับหลายๆรูปแบบอีก (การสร้างแต่ละหน้าบนแอปฯนั้นซับซ้อนกว่าที่หลายๆคนคิด เชื่อว่า UX/UI และ Dev ถ้ามาอ่านคงจะนึกภาพกันออก ?)

แต่ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะดีถ้าสามารถใช้ข้อมูลว่า ลูกค้าคนนี้ชอบกินอะไร แล้วแนะนำร้านให้ตรงประเภท อาจจะดึงดูดความสนใจได้ดีขึ้น

เช่น ส่วนตัวไม่ค่อยกินชานม อาจจะไม่ได้สนใจข้อความตรงนี้ไปเลย หากแกรบรู้ว่าแต่ละคนชอบกินอะไร และนำข้อมูลนั้นๆ มาเป็นข้อความแนะนำตรงนี้ได้

UX Writing: การเขียนโดยอิงข้อมูลที่เก็บได้ ทำให้แบรนด์ดูฉลาดและทันสมัยมากขึ้น

4. จบด้วยการเริ่มต้นปีใหม่ แต่ติดเรื่องความสอดคล้องนิดหน่อย Consistency

หลายๆคนอาจจะไม่ทันสังเกตุ เป็นจุดเล็กๆจุดนึง แต่ก็มีความสำคัญน้า

เพิ่งมาเห็นคำว่า “แชร์ไดอารี่” นี้ตรงข้างล่าง มีใครรู้สึกอะไรมั้ย?

จำได้มั้ยเอ่ยข้างบนใช้คำว่าอะไรน้า..?

คามจริงตั้งแต่หน้าแรก เราเห็นคำว่า “บันทึกการเดินทาง” มาโดยตลอด หากทำให้คำสอดคล้อง กับหัวข้อใหญ่ด้านบนน่าจะรู้สึกลื่นไหลกว่านี้

UX writing: หลักที่ UX Writer พยายามจะเน้นคือ ความสอดคล้องของคำ และ ลดพลังสมองที่จะใช้อ่าน หรือ cognitive load (ยิ่งมีคำใหม่ๆเยอะ ยิ่งต้องใช้พลังสมองมากขึ้น)

สรุป

บันทึกของ Grab สั้น กระชับ แต่ได้ใจความ รวมทั้งสื่อถึงภาพลักษณ์ของ Grab ได้ดีเลย (การทำ voice and tone ถือเป็นเรื่องหินเหมือนกันนะ)

รวมถึงเข้ากับกระแสเรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อทำ “การตลาดแบบรู้ใจ” หรือ personalized marketing ที่พี่หนุ่ยเจ้าของเพจการตลาดวันละตอนเคยพูดถึงด้วย

สำหรับบทความนี้ ใครมีความเห็นต่อการเขียนของแคมเปญนี้ยังไงบ้าง? ลองมาแชร์กันได้นะคะ ☺️

อ่านบทความเรื่อง UX Writing จากคุณไม้ต่อ > https://www.everydaymarketing.co/tag/mai-kanapornchai/

Mai Kanapornchai

ทำงานเป็น Content Strategist ดูแลงานเขียนให้กับแอปพลิเคชัน/ สนใจด้าน UX และ UX Research / นิสิตเกียรตินิยมอักษรศาสตร์จุฬา/ วันหยุดมักไปนั่งคาเฟ่และอ่านบทความดีๆ / ชอบชาเขียวที่สุด?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *