เข้าใจการปรับตัวเข้ากับเทคฯของผู้บริโภค ด้วย Technology Adoption Curve

เข้าใจการปรับตัวเข้ากับเทคฯของผู้บริโภค ด้วย Technology Adoption Curve

ในบทความนี้ เตยจะมาแชร์ถึง Technology Adoption Curve ว่าด้วยแนวคิดการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีของผู้คน เพื่อให้เราเข้าใจมุมมองในการปรับตัวของผู้คนต่อเทคโนโลยี

เพราะคนแต่ละคนมีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ แตกต่างกัน บางคนเร็ว บางคนช้า บางคนก็ไม่สนเลย ซึ่งจุดนี้แหละ ที่ทำให้การวางกลยุทธ์หรือการทำการตลาดกับกลุ่มคนแต่ละกลุ่มต้องมีความเจาะจง เพื่อที่เราจะได้เข้าถึงพวกเขาให้ดีและตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาทำความเข้าใจคนแต่ละกลุ่มไปพร้อมกันค่ะ

Technology Adoption Curve คือ

เข้าใจระยะการปรับตัวเข้ากับเทคฯของผู้บริโภค ด้วย Technology Adoption Curve
ที่มา: https://omniplexlearning.com

แนวคิดที่ใช้ในการอธิบายแนวโน้มของการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตของผู้บริโภค โดยแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Innovators, Early Adopters, Early Majority, Late Majority และ Laggards โดยแบ่งผู้ใช้งานเป็นกลุ่มตามลักษณะการนำเทคโนโลยีเข้าใช้งาน และพฤติกรรมในการตัดสินใจในการใช้งานเทคโนโลยี

โดยแนวคิดนี้จะช่วยให้นักการตลาดหรือผู้ประกอบการเข้าใจแนวโน้มและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในตลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้เกิดการวางแผนการตลาดและการขายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

โดยแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

#1 Innovators (กลุ่มบุกเบิก)

กลุ่มผู้ใช้งานที่เปิดใจยอมรับเทรนด์ใหม่ ๆ ชอบความท้าทาย และเป็นผู้สนใจในการลองใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว และยังเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นผู้บุกเบิก และคลั่งไคล้ในเทคโนโลยี กล้าที่จะลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไม่กลัวเสี่ยง นับเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 2.5%

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไปต่อคิวข้ามคืนเพื่อซื้อ iPhone รุ่นใหม่ล่าสุด, คนที่นั่งรถกับ Uber ตอนที่เปิดตัวแรก ๆ แทนที่จะนั่งแท็กซี่

#2 Early Adopters (กลุ่มล้ำสมัย)

กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว พวกนำเทรนด์ มักเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้งานในกลุ่มอื่น ๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีอาชีพในวงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

กลุ่มนี้ชอบที่จะลองสิ่งใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับกลุ่มแรก เพียงแต่จะต้องเห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นเสียก่อนจึงจะดึงความสนใจของคนกลุ่มนี้ได้ คิดเป็น 13.5% ของประชากรทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อ Iphone รุ่นใหม่ล่าสุดทันทีที่วางจำหน่าย แม้ว่าโทรศัพท์ที่ใช้อยู่จะยังใช้งานได้ดีก็ตาม, คนแรกๆ ที่เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ, คนที่ลงทุนในเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในบ้าน

#3 Early Majority (กลุ่มทันสมัย)

กลุ่มผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าเมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักและเริ่มเป็นกระแสแล้ว เพราะกลุ่มนี้จะระมัดระวังเรื่องเทคโนโลยีและใช้เหตุผลในการตัดสินใจพอสมควรเพื่อดูว่าเทคโนโลยีนั้นสามารถสร้างประโยชน์และลดความเสี่ยงได้ เป็นผู้ที่พร้อมที่จะใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เมื่อเล็งเห็นถึงความเหมาะสม โดยจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 34%

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่จนกว่าจะมีข้อเสนอแนะหรือเห็นคำวิจารณ์จากลูกค้าคนอื่น ๆ เพียงพอ, ใช้แอปหรือสมัครโซเซียลมิเดียใหม่ ๆ เมื่อมีเพื่อนและครอบครัวจำนวนมากสมัครใช้งาน

#4 Late Majority (กลุ่มตามสมัย)

กลุ่มนี้มีสัดส่วนเท่ากับกลุ่ม Early Majority ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่รับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่ากลุ่มก่อนหน้านี้ ซึ่งมักจะต้องรอให้เทคโนโลยีมีการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในตลาดมากขึ้นก่อน

มักเป็นกลุ่มที่รอให้คนรอบตัวใช้ก่อน ตามกระแสและใช้สินค้าต่อเมื่อมีคนใช้มากในจำนวนหนึ่ง และไม่อยากตกเทรนด์ อยากคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ใช้เว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่มีชื่อเสียงและลังเลที่จะทดลองกับแพลตฟอร์มใหม่ ๆ, คนที่ยึดติดกับการชำระเงินด้วยเงินสดและหลีกเลี่ยงวิธีการชำระเงินดิจิทัลใหม่ ๆ, คนที่ใช้เว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่มีชื่อเสียงและลังเลที่จะทดลองกับแพลตฟอร์มใหม่ ๆ

#5 Laggards (กลุ่มล้าสมัย)

เป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะเปิดรับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี โดยจะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่จะซื้อสินค้าเมื่อเทคโนโลยีตกรุ่นและมีคนใช้ก่อนหน้าอยู่แล้ว จะเปลี่ยนหรือเปิดรับเทคโนโลยีนั้นก็ต่อเมื่อในตลาดไม่มีสิ่งที่ตัวเองใช้อยู่หรือที่ตัวเองต้องการอีกแล้ว ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ นับเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 16%

ยกตัวอย่างเช่น คนที่หลีกเลี่ยงการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ธนาคารออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ หรือที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์, ยึดมั่นในผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบดั้งเดิมแม้ว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

The Chasm หลุมมรณะที่ต้องก้าวข้าม

เข้าใจระยะการปรับตัวเข้ากับเทคฯของผู้บริโภค ด้วย Technology Adoption Curve

โดยภาพรวมในแง่มุมทางการตลาด หากจะออกผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ เตยแนะนำว่า ในช่วงต้นควรจะมุ่งทำการตลาดไปที่สองกลุ่มแรกคือ Innovators และ Early Adopter เพราะสองกลุ่มนี้คือ Early Market หรือตลาดกลุ่มแรกๆที่จะเป็นผู้เปิดรับนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้น

เพราะถ้าไม่สามารถชนะใจหรือทำให้สองกลุ่มแรกในตลาดนี้โอเคกับนวัตกรรมที่สร้างขึ้นได้ จุดหมายปลายทางที่จะเกิดขึ้นคือ สินค้าหรือบริการนวัตกรรมนั้นอาจต้องพับเก็บไป หรือขายไม่ได้ ดีไม่ดีคือ เจ๊ง เพราะไม่ได้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของหุบเหว หลุมมรณะที่ธุรกิจใหม่ต้องข้ามให้พ้นนั่นเองค่ะ

ถ้าหากก้าวผ่านไปได้แล้ว ทุกสิ่งก็เป็นเรื่องง่ายแล้วค่ะ แค่เราต้องมีกลยุทธ์ในการรักษาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละระยะของTechnology Adoption Curve

วิธีก้าวผ่าน The Chasm

เตยว่าต้องมีคนค้างคาในใจบ้างแหละว่า เฮ้ย แล้วจะก้าวผ่านไปได้ยังไง?

แน่นอนค่ะว่าสามารถทำได้ เพียงแค่

  • กำหนด ‘กลุ่มเป้าหมาย’ หรือแบ่ง Segmentation ให้มีความเฉพาะและแม่นยำ
  • มั่นใจในตัวสินค้าหรือบริการ ว่าตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย
  • มีการนำเสนอคุณค่าที่ชัดเจนและการส่งข้อความที่ดึงดูดความสนใจของคนส่วนใหญ่ในช่วงต้น
  • ให้ความรู้และการสนับสนุนเพื่อช่วยให้ลูกค้าส่วนใหญ่ในยุคแรกๆ รู้สึกมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่
  • การสื่อสารที่ใช้จะต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

ยกตัวอย่างเช่น A: ‘นี่คือเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ที่ไม่เหมือนใคร’ กับ B: ‘นวัตกรรมนี้มีมานานและเราไม่ควรพลาด’ หากเราสื่อสารออกไปกับกลุ่ม Innovators และ Early Adopter ข้อความที่เราควรใช้จะเป็นแบบ A เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เปิดรับกับเทคโนโลยีของแนวคิด Technology Adoption Curve

สรุป เข้าใจการปรับตัวเข้ากับเทคฯของผู้บริโภค ด้วย Technology Adoption Curve

จะเห็นได้ว่า Technology Adoption Curve นั้นมีประโยชน์มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ และช่วยให้นักการตลาดหรือผู้ประกอบการสามารถวางแผนการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง

ทั้งยังช่วยในการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้น การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริโภคในอีกมิติของการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาด หรือข่าวสารการตลาด แบบจัดหนักจัดเต็ม สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *