Psychology in Data แค่ดูรูปใน Instagram ก็รู้ว่าใครกำลังเป็นโรคซึมเศร้า

Psychology in Data Instagram เมื่อการวิเคราะห์จากรูปใน Instagram ก็สามารถบอกได้ว่าใครที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าได้แม่นยำถึง 70% อีกหนึ่งเคสในการใช้ Data ด้าน Psychology ที่อาจสามารถช่วยคนหลายร้อยล้านคนบนโลกให้รู้ตัวก่อนที่จะเป็นหนัก หรือรักษาคนที่เป็นหนักก่อนที่จะถลำลึกครับ
ในยุค Big Data ที่ไม่ว่าใครก็พยายามทั้งเก็บและวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะการมี Data ว่าสำคัญแล้ว แต่การตีความหมายที่ซ่อนอยู่ใน Data นั้นสำคัญกว่า เพราะ Data ชุดเดียวกันแต่จะมีค่ามากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ การตีความ หรือประสบการณ์ของผู้ใช้ครับ
โดยเฉพาะกับ Public Data หรือ Data บน Social media ที่ใครๆต่างก็อยากจะใช้ขุมทรัพย์ Big Data แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะข้อดีคือไม่ต้องไปเริ่มเก็บหาใหม่ตั้งแต่ต้น แต่สามารถเอา Algorithm มาต่อยอดค้นหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่เพื่อให้เกิดมูลค่าตามมา
เหมือบกับที่สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอย่าง Andrew Reece แห่งมหาวิทยาลัย Harvard University และ Massachusetts กับ Chris Danforth แห่งมหาวิทยาลัย Vermont ที่ค้นพบเบาะแสสำคัญจาก Data ที่ซ่อนอยู่ในรูปที่เราโพสลง Instagram ที่สามารถบอกได้ว่าใครกันที่กำลังจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าครับ

หนึ่งสิ่งที่เราเชื่อกันมานานว่าสีต่างๆนั้นเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคนเรา เช่น เราเชื่อกันว่าสีที่ออกหม่นๆ ดำๆ ออกเทาๆ สีเข้มๆ บอกถึงอารมณ์ที่เศร้าหมอง หรืออารมณ์ในแง่ลบ แต่กับสีที่ออกไปทางโทนสว่าง สดใส ก็จะเกี่ยวโยงกับอารมณ์ในแง่บวกใช่มั้ยครับ แต่วันนี้สองนักวิจัยที่บอกชื่อไปข้างต้นเค้าค้นพบแล้วว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ทฤษฎีอีกต่อไป แต่สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าจริงด้วย Algorithm ของ Machine-Learning ครับ
โดย Andrew Reece และ Chris Danforth ได้หาอาสาสมัครกว่า 500 คนมาร่วมทำการวิจัยโดยมีเงื่อนไขว่าทั้ง 500 คนนี้ต้องมี account instagram เป็นของตัวเอง จากนั้นก็ให้ทั้ง 500 คนตอบคำถามที่ใช้ทดสอบสภาพจิตเหมือนที่ใช้กันตามคลินิกสุขภาพจิตโดยจิตแพทย์ทั่วไปครับ
สิ่งที่ค้นพบจากการวิจัยในครั้งนี้คือ มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 170 คนที่บอกว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และในจำนวนนี้มีถึง 70 คนที่บอกว่าตัวเองกำลังรักษากับจิตแพทย์อยู่
จากนั้นก็ทำงานทดลองต่อไปกับผู้ทดลอกลุ่มใหม่ ด้วยการเอารูปบน Instagram กว่า 43,000 รูปมาวิเคราะห์ ในกลุ่มคนที่สุขภาพจิตดีเป็นปกติ นักวิจัยเลือกรูปถ่าย 100 รูปที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด และในกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า นักวิจัยก็เลือก 100 รูปภาพที่พวกเขาโพสก่อนได้รับการวินิจฉัย


โดยในการให้คะแนนนี้จะผ่านคำถามว่า รูปนี้น่าสนใจมั้ย เห็นแล้วชอบมั้ย เห็นแล้วรู้สึกมีความสุขมั้ย หรือเห็นแล้วรู้สึกเศร้ามั้ย ผ่านการให้คะแนนในแต่ละข้อตั้งแต่ 0 ถึง 5
จากนั้นนักวิจัยก็เอาแต่ละรูปมาแจกแจงผ่านเกณฑ์ต่างๆอย่าง เฉดสี ความเข้มของสี ความคมชัดของภาพ และอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจว่าแต่ละภาพนั้นมีคะแนนความสดใสมากน้อยแค่ไหน เช่น ภาพนี้ออกไปทางสีเทาหรือสีจางๆ รวมถึงการนับจำนวนใบหน้าที่ปรากฏบนรูปถ่ายผ่านโปรแกรม Face Detection ด้วยการตั้งสมมติฐานว่า จำนวนใบหน้าน่าจะเกี่ยวโยงกับระดับการเข้าสังคม และยังเอาจำนวนไลก์และคอมเมนท์มาพิจารณาอีกด้วย
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ สองนักวิจัยได้ใช้ Machine-learning ในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างรูปที่โพสกับโรคซึมเศร้า และก็ได้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มจะโพสภาพที่มีโทนสีออกไปทาง ฟ้า เทา และสีที่มืดหม่นหรือเข้มกว่าปกติ รวมถึงยังได้รับการไลก์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนที่มีสภาวะจิตใจปกติแข็งแรงครับ

และอย่างที่เรารู้กันว่า Instagram เป็นแอพถ่ายรูปที่มี Filter ให้เลือกมากมาย ก็ทำให้พบอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มว่าจะใช้เลือกฟิวเตอร์ Inkwell และปรับรูปภาพให้ออกไปทางโทนขาวดำครับ
เมื่อเทียบกับคนที่มีสภาพจิตใจเป็นปกติที่มักจะโพสรูปที่ออกไปแนวสว่างหรือมีสีสันสดใส และมักจะเลือกใช้ฟิวเตอร์ Valencia มากกว่าปกติครับ

อ่านถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าคุณคงรีบหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิด Instagram ดูว่ารูปล่าสุดเราใช้ Filter Inkwell หรือเปล่า และเราได้ปรับรูปให้เป็นโทนขาวดำหรือไม่กันใช่มั้ยครับ ถ้าใช่ก็ไม่ต้องรู้สึกแปลกใจ เพราะระหว่างที่เขียนบทความนี้ผมก็เปิดเช็คดูของตัวเองอีกครั้งเหมือนกัน และก็พยายามหาว่าไอ้ Filter ที่ชื่อ Valencia มันหน้าตาเป็นยังไง ทำให้ภาพเรามีโทนสีออกมาเป็นแบบไหน
วางโทรศัพท์แล้วกลับมาสู่เนื้อหาต่ออีกครั้ง จากการวิเคราะห์ Data ที่ซ่อนอยู่ในรูปก็ทำให้พบอีกว่าการให้คะแนนรูปภาพของคนเราว่ารูปไหนที่เห็นแล้วสุขหรือเศร้าไม่ได้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด แต่จำนวนใบหน้าของคนที่ปรากฏบนภาพถ่ายกลับสะท้อนถึงภาวะโรคซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มว่าจะมีหน้าคนอยู่ในรูปที่โพสบน Instagram น้อยกว่าคนที่มีสภาวะจิตใจดีเป็นปกติ
เพราะคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักจะมีอาการสนใจแต่เรื่องของตัวเอง พูดถึงแต่ตัวเอง จนพฤติกรรมแบบนี้อาจสะท้อนไปถึงภาพถ่ายที่โพสเน้นแต่ตัวเองเป็นหลัก ไม่ค่อยมีคนอื่นร่วมด้วย แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าสิ่งนี้เป็นสัญญาที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าในคนได้ ความนิยมในการถ่ายภาพ Selfie ก็อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าคนทุกวันนี้มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้ามากอย่างเห็นได้ชัด

Selfie อาจหมายถึง Sad Selfie หรือต้องเรียกใหม่ว่า Sadfie ก็ได้ครับ
แล้วจากการวิจัยนี้ที่ใช้การวิเคราะห์รูปถ่ายที่โพสบน Instagram ก็ทำให้สามารถบอกได้ว่าใครกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้แม่นยำถึง 70% เมื่อเทียบกับการใช้แบบสอบถามที่ใช้ทดสอบสุขภาพจิตใจเป็นมาตรฐานในวันนี้ นั่นหมายความว่าการค้นพบจากการวิจัยในครั้งนี้กำลังจะเปลี่ยนวิธีการค้นพบ และเข้าถึงผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก เพียงแต่ใช้ public data หรือ data จาก social media อย่าง Instagram ก็สามารถบอกได้ว่าใครกันนะที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า
เป็นอย่างไรครับกับการใช้ Big Data ในด้านการแพทย์ในสาขา Psychology ที่อาจจะช่วยคนอีกหลายร้อยล้านคนให้ไม่ต้องจมอยู่กับภาวะซึมเศร้าคนเดียวอีกต่อไป Psychology in Data Instagram
อ่านบทความที่เกี่ยวกับการใช้ Data ต่อ https://www.everydaymarketing.co/tag/data/
Source:
https://www.technologyreview.com/s/602208/how-an-algorithm-learned-to-identify-depressed-individuals-by-studying-their-instagram/
https://arxiv.org/abs/1608.03282
ใต้รูป Ryan ประโยคที่ว่า “ คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามีโนวแน้มว่าจะใช้เลือกฟิวเตอร์ Inkwell“
โนวแน้ม > แนวโน้ม
ผมก็ผวนตามเลย
ขอบคุณที่ทักท้วงมา แก้ไขเรียบร้อยครับ ^^