Creative Brainstorming กับกฎเหล็กที่ห้ามทำเพื่อสร้างงานไอเดียที่ดี

Creative Brainstorming กับกฎเหล็กที่ห้ามทำเพื่อสร้างงานไอเดียที่ดี

หลายครั้งที่การทำการตลาดจะประสบความสำเร็จได้นั้น หัวใจสำคัญนั้นคือ ไอเดียสุดสร้างสรรค์ หรือ Creative Idea ที่นอกจากเราจะมีข้อมูลในตลาดการแข่งขัน หรือ Insight จากลูกค้าแล้ว การ Brainstorming ที่ดีจะช่วยให้ทั้งหมดนั้นมีความพิเศษและสื่อสารได้อย่างกลมกล่อม วันนี้เบสเลยอยากมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้มีโอกาสสัมผัสกับพี่ ๆ Creative มาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันครับ โดยในบทความนี้เบสจะขอเรียกมันว่า Creative Brainstorming

ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเนื้อหาหลัก เบสอยากพูดถึง Salmon House ขึ้นมาสักหน่อยนึง รู้จัก Salmon House กันมั้ยครับ ?

Generating Ideas through Brainstorming

สำหรับใครที่ชอบดูโฆษณา ชื่อ Salmon น่าจะเป็นชื่อที่เราจะคุ้นเคยกันดีเลย ส่วนถ้าใครไม่รู้จัก เบสก็มั่นใจมาก ๆ ว่า คุณจะต้องเคยเห็นโฆษณาของบริษัท Production House นี้มาแล้วอย่างแน่นอน

ทีม Salmon เป็นทีม Creative ที่คิดและทำหนังโฆษณาอีกหนึ่งทีม ที่มีชิ้นงานดัง ๆ หลายตัวมาก งานของพวกเขามีลายเซ็นที่ชัดเจน มีเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง และมีอะไรเล็ก ๆ น้อยเป็นของฝากให้เป็นประโยชน์ แถมกระตุ้นให้เราได้ขบคิดอะไรบางอย่างในสังคมอยู่เสมอ

เช่น หนังโฆษณาของโก๋แก่ ที่พูดถึงประเด็นวันรวมญาติที่ชอบถามนั่นนี่กับหลาน ๆ หรือจะเป็นโฆษณาแผ่นลอกสิวเสี้ยนที่ดูแล้วสะใจสมกับ Brand Tagline ตามโฆษณา

เบสเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามงานของ Salmon มาตลอดเลย มีโฆษณาหลายตัวที่ดูแล้วถึงกับตั้งคำถามทุกครั้งว่า พวกพี่ๆ เขาคิดงานเหล่านี้กันออกมาได้ยังไงนะ

จนไม่นานมานี้ พี่วิชัย หนึ่งใน Creative ของ Salmon เขียนหนังสือชื่อว่า Insight Job สิ่งมีชีวิตคิดโฆษณา ที่เล่าประสบการณ์การทำหนังโฆษณา และ Process ในการผลิตชิ้นงานต่าง ๆกว่าจะได้แต่ละชิ้นมา เป็นเล่มที่อ่านจบได้ไม่ยาก สนุก แล้วก็ได้ความรู้ในการทำงานจริง ๆ หลายอย่างมาก

ภาพประกอบจาก salmonbook

ซึ่งพออ่านจบเบสก็ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นมาเลย ว่านอกจาก การมี Data ที่ดี การหา Insight กลุ่มเป้าหมายที่เราควานหา และการตั้งคำถามเพื่อหา Context บางอย่างแล้ว ผลงานดี ๆ จาก Salmon ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากการ Brainstorm หรือ การพูดคุย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น ๆ ในทีมอยู่เสมอเลย

หรือนอกจาก Salmon แล้วก่อนหน้านี้เบสก็มีเขียนเกี่ยวกับแคมเปญการตลาดที่มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจหลายแคมเปญ แถมยังสร้างผลลัพธ์ให้กับแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ๆ เบสก็ค่อนข้างมั่นใจว่านั่นเป็นผลพวงจากการระดมความคิดของคนหลาย ๆ คนเช่นกันครับ

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การ Brainstorm เป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นสำหรับการทำงานด้านการตลาดที่ไม่ควรมองข้ามไปเลย … จะเสียเงินทำการตลาดทั้งที่ก็ต้องให้ไอเดียมันออกมาดีที่สุดจริง ๆ เพื่อให้แบรนด์ของเราประสบความสำเร็จให้ได้ ใช่มั้ยล่ะครับ

Rules of Creative Brainstorming

Brainstorm เป็นคำที่เราใช้พูดกันอย่างติดปาก เวลาที่เรารู้ว่า เราจะต้องมานั่งระดมความคิด ระดมไอเดียร่วมกันระหว่างคนในทีม เพื่อหาคำตอบเพื่อที่จะทำอะไรสักอย่าง

แต่ในความเป็นจริงการระดมความคิดนี้ บางทีก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิดมากนัก

เบสเชื่อว่าหลายคนจะเจอเหตุการณ์ เช่น มันจะกลายเป็นการคุยของคนไม่กี่คน การเสียเวลาไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย พอมีใครพูดอะไรออกไปก็จะโดนถามกลับ หาจุดบอด หรือตั้งคำถามที่ไม่สามารถตอบได้จนหมดอารมณ์จะคิดไอเดียต่อ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่า มันไม่เห็นได้อะไรกลับมาเลย

ซึ่งการเข้าใจ Concept ของการ Brainstorm จริง ๆ จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแน่นอนครับ ตัวเบสเองก็เพิ่งมาเข้าใจได้อย่างกระจ่างมากขึ้นจากการ Research เพื่อเขียนบทความตัวนี้เหมือนกันครับ

ภาพประกอบจาก slideserve.com

จากการค้นหาข้อมูลดูเบสพบว่า Concept ของการ Brainstorm ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดย Alex Osborn ในหนังสือ Your Creative Power (1948) และ Applied Imagination (1953) ที่มีเนื้อหา ว่าด้วยเรื่องของ การชุมนุม หรือ สุมหัวช่วยกันคิดแบบกลุ่ม เพื่อใช้ในการหาทางออกและแก้ไขปัญหาบางอย่าง ที่มีการระบุแนวทางการระดมไอเดียไว้อย่างละเอียด

เนื่องจาก Alex เชื่อว่า ‘คนทุกคนล้วนแล้วเติบโตขึ้นมา มีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการมีคนหลายคนช่วยกันคิดที่มีหลากหลายมุมมองในเรื่องเดียวกัน จะให้ไอเดียที่ได้มานั้นจะเต็มไปด้วยวิธีการที่หลากหลายที่นำไปสู่การถกเถียง ปรึกษาหารือ และตกตะกอนไอเดีย จนกรองออกมาเป็นไอเดียที่เหมาะสมกับโจทย์มากที่สุด’

และการแชร์ไอเดียซึ่งกันและกันนั้นจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่การกระตุ้นให้ทุกคน เกิดการพยายามคิดและค้นหาไอเดียในเวลาเดียวกันไปด้วย

ซึ่งในวันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงการ Brainstorm แบบทั่วไปของคุณ Alex หรอกนะครับ แต่เป็นการ Brainstorm ในเชิงของการคิดไอเดีย Creative เพื่อมาแก้โจทย์ทางการตลาด โดยเบสจะอ้างอิงจากแนวคิดของ Alex Osborn มาประกอบกับประสบการณ์ที่เบสได้เคยสัมผัสการทำงานจริงกับพี่ ๆ Creative หลายคน

ก่อนที่เราจะไปรู้กระบวนการ Braindstorm ในแบบของ Creative อย่างละเอียด เบสจะขออนุญาตเริ่มต้นจาก 4 กฎเหล็กในการคิดงานที่พี่ ๆ Creative ต่างรู้กันดี เพื่อให้การระดมสมองนั่นลื่นไหลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก่อนครับ

1.เปิดใจอ้าแขนรับทุกไอเดีย

ในการคิดงานไอเดีย หรืองาน Creative ไม่มีคำว่า ผิด หรือ ถูก เพราะทุกอย่างมีความเป็นไปได้ซ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นกฎข้อแรกจึงเป็นการบอกให้เรารู้ว่า ไม่มีอะไรต้องกังวลทั้งนั้น คิดอะไรออกก็ยิงไอเดียนั้นเองมาเลย !

2.เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

ไอเดียดี ๆ ไม่ได้มาจากอะไรที่ดู Perfect มาตั้งแต่แรกหรอกครับ (ถ้ามีก็น้อยมากก) เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะต้องมีการนำมาต่อยอด ลงรายละเอียด และลับให้ไอเดียนั้นมันคมและตอบโจทย์มากขึ้นอยู่ดี

ดังนั้นในช่วงต้นของการออกไอเดีย เสนอมันออกไปเลยครับ ไม่ต้องอาย หรือ เก็บไว้ในใจ ยิงไอเดียออกไปแบบปืนกล ไม่ต้องกังวลว่าไอเดียนั้นจะดีหรือไม่ดี ปล่อยมันออกไปเรื่อย ๆ เพราะถ้ามัวแต่เก็บไว้ไอเดียมันจะวนอยู่กับที่ สิ่งนี้ติดอยู่ในใจ จนสุดท้ายเราไม่ได้ไอเดียใหม่ ๆ อะไรเพิ่มออกมาเลย

แม้ว่าไอเดียนั้นมันจะดูธรรมดา หรือ ดูประหลาดแค่ไหน ปล่อยมันออกมาเลยครับ มันต้องมีค่าไม่สำหรับงานนี้ก็งานในอนาคตแน่นอน

3.การไม่วิจารณ์ไอเดีย

กฎข้อนี้มีเพื่อเสริมกับข้อ2. เลยครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดกลไกความกล้าในการเสนอไอเดียมากยิ่งขึ้นครับ การนำเสนอไอเดียที่ถูกวิจารณ์ในทันที กลไกนี้ทำให้คนเรามักปกป้องตัวเองด้วยการหยุดคิดเพราะสัญชาตญาณเราถูกทำให้รู้สึกว่าถูกคุมคามและไม่มั่นคงในสิ่งที่เราคิด

ข้อนี้จึงเป็นการช่วยให้รู้สึกว่าสมองของเรานั้นมีอิสระในการคิดโดยที่ไม่ถูกปิดกั้นจากคนอื่น ๆ ได้อย่างดี

ซึ่งภายหลังข้อนี้ก็มีการโต้เถียงกันขึ้นมา เพราะมีกรณีที่บางครั้งการวิจารณ์ไอเดียกันก็ช่วยให้เกิด Critical Thinking ต่อไอเดีย จนทำให้มันถูกพัฒนาต่อและกลายเป็นไอเดียที่มีประสิทธิภาพได้เหมือนกัน ซึ่งก็มีบางมุมที่เบสและพี่ ๆ Creative หลายคนเห็นด้วย ทว่าเราอาจจะต้องแยกแยะให้ได้ระหว่าง การวิจารณ์แค่จุดอ่อนและข้อเสีย กับ การวิจารณ์เพื่อชวนตั้งคำถามในการพัฒนาต่อนั้นมีความแตกต่างกัน

หากเราเลือกที่จะวิจารณ์ไอเดียกันในขั้นตอนการโยนไอเดีย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเรียบเรียงคำพูด การเปิดประเด็นในการวิจารณ์ และตั้งคำถามในเชิงต่อยอดให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นการฆ่าไอเดีย หรือ พี่ ๆ Creative จะพูดติดปากกันว่า Kill ไอเดีย ที่จะกลายเป็นการปิดกั้นความคิดกันแทนที่จะส่งเสริมกัน และจะไม่มีใครกล้าเสนออะไรออกมาเลย

เท่าที่เบสเคยไปร่วมฟังสัมนาเกี่ยวกับการคิดงาน Creative ของ Agency ดัง ๆ จริง ๆ ก็มีหลายเจ้าที่เป็นสายวิจารณ์เลยเหมือนกัน แต่อาจจะด้วยอาชีพและวัฒนธรรมองค์กร ที่อาจทำให้พี่ ๆ เหล่านั้นมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วก็ได้ เลยสามารถมี Session วิจารณ์ไอเดียกันได้อย่างสบาย ๆ

4.การช่วยกันต่อยอดไอเดียของกันและกัน

กฎข้อที่ 4. ถูกออกมาแบบเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเสนอไอเดียครับ และกฎข้อนี้เนี่ยแหละครับที่ช่วยให้เราได้ Creative Idea ดี ๆ มานักต่อนัก

เพราะมันมีความเป็นไปได้ว่า 1 ไอเดียที่ออกมาจากคน ๆ นึง สามารถขยายผลและต่อยอดด้วยความคิดของคนอื่น ๆ ในทีมได้อีกเยอะมาก เหมือนกันประด็น 1 ประเด็น ที่มีมุมสื่อสารหลายด้าน มีวิธีเล่าหลายแบบ เช่น บางที Execution ของไอเดียอาจะเฉย ๆ แต่ต้นเหตุของไอเดียโคตรว้าวที่น่าเอามาช่วยกันต่อยอดก็ได้

และการที่ทุกคนมาช่วยกันต่อยอดไอเดียไปจนสุดทาง จะเป็นตัวช่วย Recheck อีกรอบว่า ไอเดียนี้ไปต่อได้ถึงไหน และมีความกลมกล่อมที่สามารถตอบโจทย์ที่เราต้องการอย่างไรได้อีกบ้าง ซึ่งถ้ามันตอบโจทย์มาก ๆ ก็เหมือนทุกคนได้ช่วยกันให้การ Brainstorm นี้มันมีผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจแล้วล่ะครับ

เมื่อทุกคนรู้กฎทั้ง 4 ข้อแล้ว เรามาดูขั้นตอนการ Brainstorm เพื่อคิดงาน Creative กันเลยครับ

Concept of Creative Brainstorming

ภาพประกอบจาก zapier.com

จากภาพด้านบนนี้คือ Flow จริง ๆ ของแนวทางการทำ Brainstorm ฉบับ Original จากคุณ Alex Osborn ครับ จะเห็นว่า Concept นั้นค่อนข้างมีความตรงไปตรงมาและมีความเป็นระบบมาก

ซึ่งการมีอะไรที่เป็นระบบแบบนี้ เอาจริง ๆ มันก็ช่างอยู่ขั้วตรงข้ามกับการคิดงาน Creative อยู่นิดนึงเหมือนกัน พวกพี่ ๆ บางคนอาจจะไม่รู้ตัว แต่กระบวนการคิดงานสร้างสรรค์มันมี Process เป็นขั้นตอนกว้าง ๆ ซ่อนอยู่ด้วย แล้วมันก็ไม่ได้หนีตาม Flow นี้สักเท่าไร

ดังนั้นเบสเลยจะขออนุญาตแชร์แนวทาง Flow ของการ Brainstorm สไตล์ Creative สอดแทรกไปกับ Flow ของ Alex Osborn โดย Recap ให้กระชับขึ้นเป็น Bullet ไป เพื่อให้ทุกคนที่ใหม่สำหรับเรื่องนี้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นนะครับ

ขั้นตอนที่ 1 : ตั้งผู้ดำเนินการการระดมไอเดีย (Conductor)

ภาพประกอบจาก bangkokbanksme.com

เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการ Brainstorm เลยครับ เพราะปัญหาหลัก ๆ ที่เวลาประชุมแล้วจะออกทะเลไปบ่อย ๆ จนสุดท้ายเกินเวลา แล้วจบลงที่การไม่ได้อะไรเลย

นั่นก็เพราะไม่มีคนที่คอยควบคุมการประชุม ว่าอะไรถึงตรงไหนแล้ว การพูดคุยตรงไหนที่ผิดประเด็นไปจนควรพอ อะไรที่ดูน่าสนใจจนไปต่อได้ หรือการคอยสังเกตเวลาประกอบกับสิ่งที่ได้ต่าง ๆ ว่าเพียงพอกับโจทย์ที่ต้องการแล้วหรือยังและปิดการ Brainstorm ไม่ให้ยืดเยื้อจนเกินไป

นอกเหนือจากนี้ผู้ดำเนินการยังช่วยอะไรได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นให้ทุกคนแชร์ไอเดียมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีไอเดียแต่ไม่กล้าเอ่ยปาก, การช่วยจับประเด็นและโยนแนวทางใหม่ ๆ เมื่อการระดมไอเดียถึงทางตัน และอีกมากมายเลย

แต่ถ้าการ Brainstorm นั้นมีกันแค่ 2-3 คน อาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ครับ เน้นช่วย ๆ กันตบ ๆ กันเองก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 : การกำหนดโจทย์ / ตั้งหัวข้อที่จะระดมสมอง (Explain Problem and Present Rules)

ภาพประกอบจาก beloved-brands.com

เรื่องนี้ค่อนข้างมีความสำคัญมาก ๆ เช่นกันครับ ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนการรับ Brief งาน หรือ จูนให้ขอบเขตในการคิดของทุกคนตรงกันก็ได้ครับ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของโจทย์ที่ต้องแก้ ข้อกำหนดหรือข้อจำกัดบางอย่าง สำหรับงานนี้ หรือในการ Brainstorm นี้

การระบุสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนตั้งแต่แรก จะช่วยประหยัดเวลาไม่ให้คิดไอเดียที่ออกนอกประเด็นมากจนเกินไป อีกทั้งยังทำให้การเสนอไอเดียมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน หรือก็คือไม่ทำให้ฟุ้งนั่นแหละครับ

โจทย์ที่ตั้งจะมีขอบเขตแคบ ๆ หรือ กว้าง ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของโจทย์ที่เราจะต้องเอาไปแก้ปัญหา ส่วนนี้ค่อนข้างต้องใช้ประสบการณ์พอสมควรในการพิจารณาว่าจะต้องกำหนดมันไว้ที่เท่าไหน เพื่อไม่ให้จำกัดกรอบความคิด หรือ เปิดกว้างทางความคิดมากจนเกินไปครับ

เพราะทีม Creative บางคนที่มีประสบการณ์แล้ว แทบไม่ได้พูดอะไรเรื่องนี้กันมากเลยครับ พวกพี่ ๆ จะรู้ลิมิตกันเลยว่า ถ้างานมาประมาณนี้ โจทย์มาประมาณนี้ คิดเท่าไหนถึงจะพอ หรือ จะต้องไปท่าไหน ถ้าอันไหนดู Challenge พอตัวจะลองใช้ไอเดียใหม่ ๆ แบบไหนดี

ขั้นตอนที่ 3 : การนำเสนอไอเดีย (Call for Ideas, Participation and Present)

ภาพประกอบจาก lifesize.com

การนำเสนอไอเดีย จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และคลังไอเดียที่เกิดจากความรู้รอบตัว การช่างสังเกต การตักตวงจากสิ่งรอบตัวของแต่ละคนเลยครับ ใครทำการบ้านมาเยอะ หรือมีชั่วโมงบินเยอะ ก็อาจจะมีอะไรให้โยนเยอะหน่อย สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นทำงาน Creative แนะนำให้ไปดูไปอ่านไว้เยอะ ๆ เลยครับ เบสมั่นใจว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นจะถูกขุดขึ้นมาใช้แน่

ในช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ใช้เวลามากที่สุด ค่อนข้างยืดหยุ่น และไม่มีวิธีที่ตายตัวแน่นอนเลยครับ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ที่เราจะต้องคิดไอเดีย, จำนวนคนที่เข้าร่วมการ Brainstorm, ความถนัดของแต่ละองค์กร ฯลฯ

ที่สำคัญเลยคือ คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจะต้องคอยควบคุม Dynamic ของห้อง ให้การคิดเหล่านั้นยังคงตอบโจทย์สิ่งที่เรากำลังตามหาด้วยนครับ แล้วก็ถ้าหากการฟังคนอื่น ๆ แชร์ไอเดียต้องใช้สมาธิในการจับประเด็นมาก ก็อย่าลืมหาใครสักคนมาช่วยจดบันทึกไอเดียที่เกิดขึ้น หรือ ถ้ามีกันไม่กี่คนก็อาจจะต้องมีคนนึงยอมเสียสละเป็นคนจดสักคน

เพราะบางไอเดีย มันมาไวมากแล้วมันก็หายไปแบบงง ๆ ทั้งทีบางทีไอเดียนั้นมันโคตรดี หรือบางทีมันอาจจะไม่น่าสนใจกับโจทย์นี้ แต่ไอเดียที่ได้ออกมานั้นอาจจะมีค่ามาก ๆ สำหรับงานอื่น ๆ อีกก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตามสำหรับการทำงานที่มีเวลาและกระบวนการผลิตที่จำกัด คนที่นำเสนอไอเดียก็อาจจะต้องรู้ตัวเองด้วยประมาณหนึ่งเหมือนกันว่ากำลังออกทะเลอยู่รึเปล่า และพยายามดึงตัวเองเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยกันต่างคนต่างลดภาระเพื่อนในทีมของเราด้วยนะครับ

ขั้นตอนที่ 4 : การต่อยอด / การเหลาไอเดีย (Elaborate Idea)

หลังจากที่ได้ไอเดียมาในข้อที่ 3 เราจะมาคิดต่อเลยครับว่า ไอเดียที่ได้มานั้นเชื่อมโยงกับโจทย์ได้อย่างไรบ้าง สามารถต่อยอดออกมาให้ไอเดียเรานั้น มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และสามารถลงมือปฏิบัติได้จริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้การนำเสนอไอเดียนั้นมีความเป็นรูปธรรม มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

เราสามารถทำข้อ 3.-4. ต่อเนื่องกันได้เลยในการระดมไอเดียกัน คิด-ต่อยอด ถ้าดีก็เก็บไว้ แต่ถ้าต่อยอดแล้วไม่ดี ก็คิดเพิ่มต่อ

ขั้นตอนที่ 5 : สรุปไอเดีย (Wrap up)

ขั้นตอนนี้จะเป็นหน้าที่ในการโหวตร่วมกันกับทุกคน ณ ที่นั้นแล้วครับ ว่าไอเดียไหนที่เรามองว่าน่าจะตอบโจทย์ที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้ว จะโหวตเลือกกัน 3 อันดับแรก 3 Optional สำหรับทีมไหนที่ต้องมีการไปขายไอเดียต่อกับผู้บริการ หรือ ลูกค้าอีกที

หรือ ถ้าอันไหนไอเดียมันดูคมสุดดูใช่สุดก็อันเดียวไปเลยก็ได้ครับ เชียร์ให้สุดใจ แต่ก็ทำใจแข็ง ๆ มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ครับ เพราะเราช่วยกันคิดมาดีแล้ว แต่ถ้าตอนนำเสนอแล้ว Feedback จากทีมอื่น ๆ มันเข้าใจได้และเป็นจุดที่เป็นจุดอ่อนของไอเดียเราจริง ๆ ก็อย่าลืมเปิดใจรับฟังแล้วแก้ไขมันไปด้วยกันด้วยนะครับ มันจะช่วยให้งานของเรายิ่งดีมากขึ้นไปอีกเยอะมากเลยล่ะครับ

เราสามารถวนลูปนี้ไปเรื่อย ๆ หากเรามีเวลาเพียงพอ หรือ หมดพลังในการที่จะคิดไอเดียต่อไปเลยครับ เอาให้สมองล้ากันไปข้าง ชีวิตสายงานที่ต้องคิดไอเดียมันต้องสู้ครับ ! สู้เข้าไป ! สู้ ! สู … สุ .. ส …..

บทสรุป Creative Brainstorming กับกฎเหล็กที่ห้ามทำเพื่อสร้างงานไอเดียที่ดี

บทความนี้ค่อนข้างยาวสักหน่อย เพราะต้องใช้การอธิบายเยอะ แต่ส่วนตัวแล้วเบสคิดว่าแก่นของเรื่องนี้จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรเยอะเลยถ้าทุกคนจับหลักกันได้แล้ว แค่จำกฎของการทำ Creative Brainstorm ได้ ก็อาจจะเพียงพอแล้วด้วยซ้ำ ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับแนวทางที่ทุกคนคิดว่าเหมาะสมกับตัวเองได้เลยครับ

เพราะ การ Brainstorm ที่เบสแชร์ให้ทุกคนได้อ่านอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับทุกคนก็ได้นะครับ สิ่งเหล่านี้มันไม่มีผิดไม่มีถูก อย่างที่เบสบอกไปว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาก แต่ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางเริ่มต้นที่ดี หรือ เป็นการเสริมเพิ่มเติมข้อมูลบางอย่างที่ทุกคนอาจจะยังไม่รู้ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบ : )

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนได้ที่ คลิก

Ref.

mindtools.com
innovationtraining.org
zapier.com

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *