AI Content Detection วิธีตรวจสอบคอนเทนต์ที่สร้างจาก Generative AI

AI Content Detection วิธีตรวจสอบคอนเทนต์ที่สร้างจาก Generative AI

เพื่อนๆ รู้ไหมครับ? ว่าการใช้งาน AI สร้างคอนเทนต์ในการทำการตลาดโดยไม่รู้ถึงข้อดีข้อเสียและวิธีใช้งานที่เหมาะสมเนี่ย อาจทำให้การจัดอันดับ SEO เว็บไซต์ของเราแย่ลงหรืออาจถึงขั้นตกอันดับได้เลยนะ วันนี้ผมเลยจะมาแนะนำ AI Content Detection กับวิธีตรวจสอบคอนเทนต์ที่สร้างจาก Generative AI รวมถึงทำความเข้าใจผลกระทบจากระบบตรวจสอบการจัดอันดับ SEO ของ Google

ซึ่งการใช้ AI ในการขับเคลื่อนการตลาดเนี่ย ก็เป็นดั่งดาบสองคมที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษได้พอๆ กัน ดังนั้นผลลัพธ์ของมันจะเป็นที่น่าพอใจหรือน่าผิดหวัง ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเพื่อนๆ แล้วหล่ะครับ ว่าจะรู้จักเครื่องมือเหล่านี้ดีพอที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์และไม่เกิดโทษตามมาแล้วรึยัง

AI Powered Marketing เทรนด์การใช้ AI ขับเคลื่อนการตลาดอัตโนมัติ

ก็จริงอยู่ว่าตอนนี้ AI ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาทำงานแทนเราได้โดยตรง แต่ถึงจะอย่างนั้น AI ก็ยังสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดีเลยครับ โดยศักยภาพการทำงานในปัจจุบันของ AI นั้น เริ่มมีความสามารถที่หลากหลายและมีบทบาทเฉพาะเจาะจงกับงานในแต่ละด้านมากขึ้น จนมีการนำไปใช้ทั้งเป็นผู้ช่วยงานส่วนตัว ช่วยวิเคราะห์ วางแผน ไปจนถึงเป็นผู้ช่วยตัดสินใจกันเลยทีเดียว 

สำหรับ AI Powered Marketing Platforms ตัวนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง Software ที่มีการทำงานที่หลากหลาย ทั้งช่วยในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยในการตัดสินใจ และดำเนินกินกรรมต่างๆ เช่น การแนะนำสินค้ากับกลุ่มเป้าหมาย การติดตามผลคำสั่งซื้อ หรือแม้แต่การสร้างคอนเทนต์เพื่อโปรโมทแคมเปญการตลาดแบบอัตโนมัติ

ซึ่งผมคิดว่าเป็นเครื่องมือในอุดมคติของใครหลายคนเลยใช่ไหมหล่ะครับ ไม่ต้องทำงานเองแค่ปล่อยให้ AI ทำไปก็ได้ แถมยังมีประสิทธิภาพในการทำงานพอสมควรเลย แต่ถ้าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ผมก็เกรงว่าเราจะต้องหางานใหม่รอกันแล้วหล่ะครับ

ผลกระทบเชิงลบจากการใช้ Generative AI สร้างคอนเทนต์

แม้ว่า AI จะสร้างประโยชน์มากมายแบบนับไม่ถ้วน และเป็นความหวังใหม่ของใครหลายๆ คน ที่หวังว่ามันจะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของการทำงาน แต่ในทางกลับกันคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นจาก Generative AI เหล่านี้ กำลังถูกทาง Google ตั้งคำถามถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นได้

ซึ่งคอนเทนต์ที่สร้างจาก Generative AI นั้น เนื้อหาคอนเทนต์ต่างๆ ที่ได้จาก AI นั้นก็ไม่ใช่ Primary Data ซะทีเดียว แถมยังไม่มีเว็บอ้างอิงให้เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องใดๆ และเนื้อหาที่สร้างจาก AI นั้น แม้จะเป็นการ Generate ใหม่ทุกครั้ง แต่ไม่ว่ายังไงก็ยังอยู่ในขอบเขตฐานข้อมูลเดิม ดังนั้นคอนเทนต์ที่สร้างจาก AI จึงอาจขาดความหลากหลาย ความสร้างสรรค์

และเมื่อมีคอนเทนต์คุณภาพต่ำเหล่านี้จำนวนมากเข้า สุดท้ายคอนเทนต์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นสแปมในไม่ช้าอยู่ดี ซึ่งในกรณีที่แย่กว่านั้นก็คือ หากมีเนื้อหาที่สร้างขึ้นมามีข้อมูลที่ผิดพลาดหรือมีสาระสำคัญที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีการตรวจสอบคอนเทนต์เหล่านั้นก่อนเผยแพร่เลย อาจทำให้คนหมู่มากเกิดความเข้าใจผิดจนเกิดผลกระทบรุนแรงตามมาได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสังคม

ในส่วนผลกระทบต่อตัวผู้ใช้เองนั้น การใช้ AI ช่วยทำงานมากเกินไป สิ่งที่จะตามมาคือความสามารถในการทำงานที่อาจไม่เกิดการพัฒนาหรือเรียนรู้ใดๆ อีกทั้งยังอาจฝีมือขึ้นสนิมได้หากคุณพึ่งพา AI มากเกินไป และยังเสี่ยงที่จะถูกระบบจัดอันดับของ Google เข้าใจว่าเป็นคอนเทนต์สแปม และส่งผลต่อ SEO ได้อีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อตัวผู้บริโภคนั้น แม้ว่าในตอนนี้จะยังมีกลุ่มที่ให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่สร้างจาก AI อยู่บ้าง เพราะยังคงเป็นกระแสที่น่าจับตามอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีคอนเทนต์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคเองก็จะเริ่มมองหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและมีความแตกต่างมากขึ้น และสุดท้ายเหล่าผู้ใช้ AI ก็จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และมีคุณภาพมากขึ้นตาม หรือจะบอกว่ากลับสู่จุดที่มันควรจะเป็นนั่นเอง

AI Content Detection

ระบบตรวจสอบการจัดอันดับ SEO ของ Google

โดยทาง Google เองได้ออกมาแนะนําแนวทางการใช้งานคอนเทนต์ที่สร้างจาก AI อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบตรวจสอบการจัดอันดับ SEO ของ Google เข้าใจผิดว่าคอนเทนต์ของเราเป็นคอนเทนต์สแปม ซึ่งคอนเทนต์สแปมเหล่านี้จะมีผลต่อ SEO อีกด้วย ซึ่งทาง Google นั้นอยากให้เหล่า Creator เน้นที่คุณภาพของคอนเทนต์มากกว่าความสะดวกและความเร็วในการผลิต

ซึ่งระบบตรวจจับคอนเทนต์ที่เป็นสแปมเหล่านี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนเนื้อหาต้นฉบับที่มีคุณภาพสูง แทนที่จะนําเสนอเนื้อหาที่สร้างขึ้นจาก AI แต่อย่างไรก็ตาม Google ยังแยกแยะความแตกต่างระหว่างคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI และเป็นสแปม ออกจากคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI แต่เนื้อหาที่มีประโยชน์สําหรับผู้ใช้ และเป็นเนื้อหาต้นฉบับที่ไม่ซ้ำใคร

โดยจะปฏิบัติต่อเนื้อหาที่มีประโยชน์และไม่เป็นสแปมอย่างดีไม่ต่างจากคอนเทนต์ทั่วไป ดังนั้น Content Creator ทุกคนจึงควรคํานึงถึงปัจจัยและนโยบายต่างๆ เหล่านี้อย่างถี่ถ้วนก่อนนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานจริง เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นประโยชน์อย่างที่มันควรจะเป็น

AI Content Detection
ขอบคุณภาพ:mikekhorev

การตรวจสอบคอนเทนต์ที่สร้างจาก Generative AI 

AI Content Detection

AI Content Detection : เครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้น

สำหรับการตรวจสอบเนื้อหาที่สร้างจาก AI เบื้องต้น ผมแนะนำว่าอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อใช้บริการเครื่องมือตรวจสอบสำหรับมืออาชีพ แต่คุณอาจตรวจสอบด้วยตัวเองคร่าวๆ ก่อน โดยอาจสังเกตุจากเนื้อหาที่เป็นข้อมูลเก่า ไม่เกินปี 2022 เนื่องจาก AI จะให้ข้อมูลได้เท่าที่ถูกเทรนมาเท่านั้น 

หรืออาจสังเกตในส่วนของเนื้อหาที่จะมีการใช้ภาษาที่ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนมนุษย์ โดยเฉพาะภาษาไทยยิ่งมองออกได้ไม่ยาก อีกทั้งยังอาจสังเกตได้จากแหล่งอ้างอิงต่างๆ ในคอนเทนต์นั้นๆ เพราะหากไม่มีแหล่งอ้างอิงก็อาจสงสัยได้ว่าเนื้อหานั้นอาจสร้างโดย AI 

ส่วนอีกวิธีคือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณต้องการตรวจสอบลงไปใน ChatGPT เพื่อตรวจสอบคร่าวๆ หรืออาจเข้าไปยัง GPT Store เพื่อเลือกใช้ GPTs สำหรับตรวจสอบเนื้อหาที่สร้างจาก AI โดยเฉพาะ ซึ่ง ChatGPT จะใช้การวิเคราะห์ลักษณะของเนื้อหาเพื่อเปรียบเทียบว่ามีความเป็นมนุษย์หรือ AI 

ถึงแม้ทางเลือกนี้อาจไม่มีความน่าเชื่อถือพอที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานในการกล่าวหาใคร แต่อาจช่วยลดโอกาสในการโดนระบบตรวจสอบการจัดอันดับ SEO ของ Google ระบุว่าเป็นคอนเทนต์สแปมที่สร้างโดย AI ได้พอสมควร

ขอบคุณภาพ:Writer,Copyleaks

AI Content Detection : เครื่องมือตรวจสอบแบบมืออาชีพ

สำหรับเครื่องในการตรวจสอบแบบมืออาชีพที่เป็นบริการที่เชื่อถือได้นั้น อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเข้าใช้งาน โดยเครื่องมือตรวจจับเนื้อหาที่สร้างจาก AI จะใช้ Matchine Learning และ NLP เพื่อตรวจสอบว่าเป็นคอนเทนต์ที่สร้างโดยมนุษย์หรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วิเท่านั้นในการตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมด

ซึ่งเครื่องมือที่มีให้บริการอยู่ไม่ว่าจะเป็น Writer สำหรับตรวจสอบคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI และปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหา หรือ Copyleaks ที่ให้บริการตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาว่าเป็นลายมือมนุษย์หรือไม่และตรวจจับหาคอนเทนต์ที่สร้างโดย AI ซึ่งบริการเหล่านี้อาจมีข้อจำกัดด้านภาษาไทย 

แม้ว่าเครื่องมือตรวจสอบแบบมืออาชีพเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพกว่าการตรวจสอบเบื้องต้น แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ 100% ว่าการตรวจสอบนั้นถูกต้อง เนื่องจากการพัฒนาของ AI นั้นมีความเหมือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการตรวจสอบทุกครั้งควรมีการตรวจสอบโดยมนุษย์ร่วมด้วยเสมอ

สิ่งสำคัญในการเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ในการตรวจสอบคือ วัตถุประสงค์ของคุณในการตรวจสอบ เช่น หากคุณเป็นอาจารย์ที่ต้องการตรวจสอบรายงานของนักศึกษา ว่าไม่ได้ทำจาก AI คุณอาจใช้เครื่องมือแบบมืออาชีพ เพราะการใช้ ChatGPT ในการช่วยตัดสินใจเรื่องสำคัญนั้น เป็นเรื่องที่ผิดข้อกำหนดการใช้งาน และคุณเองก็ไม่ควรเอาเครื่องมือที่ขาดความน่าเชื่อถือมาตัดสินอนาคตของนักศึกษาอีกด้วย

หรือถ้าคุณเป็นเพียงเจ้าของเว็บบล็อกที่ต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่า ทุกคอนเทนต์ที่กำลังจะลงนั้นจะไม่โดนระบบจับได้ว่าเป็นคอนเทนต์สแปมที่สร้างจาก AI โดยที่ไม่ได้ซีเรียสกับการนำ AI เข้ามาช่วยทำงานของพนักงาน การตรวจสอบเบื้องต้นโดยใช้ ChatGPT ก็อาจเพียงพอแล้ว ที่จะระบุว่าเนื้อหาคอนเทนต์ของคุณมีคุณภาพพอที่จะไม่โดนระบบตรวจสอบการจัดอันดับระบุว่าเป็นคอนเทนต์สแปม

อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะครับ

source

Pongsakorn Inrin

Hi~ I'm Mikey.. ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกงานเขียน หวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่ผ่านมาทางนี้นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *