7 Checklists การตั้งชื่อแบรนด์ ให้ปัง พร้อมเทคนิคออกแบบแพ็กเกจจึ้ง!

7 Checklists การตั้งชื่อแบรนด์ ให้ปัง พร้อมเทคนิคออกแบบแพ็กเกจจึ้ง!

สวัสดีนักการตลาดและผู้อ่านทุกคนค่า มาพบกันอีกเช่นเคยในซีรีส์ของวิธีการสร้างแบรนด์ และใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้เป็นครั้งแรก สามารถกลับไปติดตาม ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ได้เลยค่า สำหรับวันนี้เดินทางมาถึงตอนที่ 3 ที่จะมาชวนทุกคนดูความสำคัญของการมีนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมเปิด 7 Checklists การตั้งชื่อแบรนด์ ให้ปัง พร้อมเทคนิคออกแบบแพ็กเกจจิ้ง(ยังไงให้จึ้ง!) จะเป็นยังไงต้องตามมาอ่านกันค่า 

ผ่านการแชร์ความรู้จากหนังสือ THE BRAND GAP ที่เขียนโดยคุณ Marty Neumeier และแปลโดยคุณอิทธิ ว่องวงศ์ศรี หนังสือที่อาจทำให้คุณเข้าใจคำว่าแบรนด์และวิธีการสร้างแบรนด์แบบถ่องแท้มากขึ้น

การตั้งชื่อแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

พูดถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม แน่นอนว่าเป็นเรื่องของพลังที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันแบรนด์ในตลาด เพราะต่อให้เราจะมีแผนการที่ดี แต่ถ้าจัดการหรือดําเนินการไม่ดี ก็ไม่ต่างกับสุภาษิตที่ว่า ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

อย่างสมมติเวลาเราเดินตามถนน แล้วมีคนแจกใบปลิวที่โฆษณาสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ถามว่าจะมีสักกี่ใบที่เราอ่านแล้วจําได้ หรือวันต่อ ๆ ไปจะยังจำได้อยู่หรือไม่ ถ้าไม่ มันก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้แล้วว่านี่คือความล้มเหลวของการดําเนินการ

การตั้งชื่อแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

ดังนั้นคนที่จะเป็นผู้นําได้ ต้องเข้าใจเรื่อง ๆ หนึ่งได้อย่างชัดเจน และเดินตามหลังหรือทำตามแบบแผนเป๊ะ ๆ อย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ต้องผสมผสานอะไรใหม่ ๆ เข้าไปด้วย ซึ่งแน่นอนค่ะว่ามันเป็นสิ่งที่ยาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากทุกคนบอกว่านั่นคือไม้ แต่เราบอกว่ามันคือนกต่างหาก  ก็อาจจะยากที่คนจะเชื่อ เพราะตามสัญชาตญาณแน่นอนว่าคนมักจะเอนเอียงไปเชื่อเสียงส่วนมากมากกว่า

แต่การที่จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือคิดนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ได้ ก็จําเป็นจะต้องกล้าที่จะแตกต่าง หรือทําอะไรที่มันผิดธรรมชาติไปซะบ้าง บางทีก็ต้องละทิ้งความสบาย นิสัยเดิม ๆ หรือทิ้งเหตุผลและมองข้ามการยอมรับจากคนหมู่มากไปบ้าง

คือถึงแม้ตลาดจะบอกว่าตอนนี้โลก “เป็นไปอย่างไร” แต่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คือการบอกว่ามันสามารถ “เป็นอย่างไรได้บ้าง” ต่างหาก หรือการมองเห็นทางเลือกหรือความเป็นไปได้ที่หลากหลายนั่นเอง ความคิดของคนที่เป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็มักจะแตกต่างและแปลกใหม่แบบนี้ล่ะค่ะ เพราะถ้าไม่มีคนที่มีความคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ อยู่เลย แน่นอนว่าโลกของเราก็คงจะไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าต่อไปได้

ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

อย่างวง THE BEATLES เองก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ในช่วงต้นปี 1960 เพราะในช่วงนั้นตลาดเพลงและดนตรีเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง THE BEATLES เป็นยิ่งกว่ายุคทอง เพราะพวกเขาได้พาธุรกิจวงการเพลงข้ามไปอีกขั้น เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของวงการเพลง และเป็นอมตะไปอีกหลายยุคหลายสมัย และที่สำคัญคือเคยมีนักวิจารณ์ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่าเพราะ “พวกเขาไม่เคยทําอะไรเหมือนเดิมเลยสักครั้งเดียว” นั่นเองค่ะ 

นี่แหละค่ะคือพลังของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่และแตกต่างไม่เหมือนใคร โลกถึงจะขับเคลื่อนต่อไปได้นั่นเอง

แน่นอนว่าการมีชื่อแบรนด์ที่ดี มีความโดดเด่นทะลุออกมา ทำให้คนจดจำได้ง่าย ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว โดยหลักการแล้วชื่อที่มีจินตนาการนั้นจะดีกว่าชื่อที่ไร้จินตนาการ ผู้เขียนได้แชร์ว่าชื่อที่มาจากภาษากรีกหรือละตินนั้น ถือว่าค่อนไปในทางไร้จินตนาการ เพราะชื่อที่ทําให้มองเห็นภาพนั้นได้ผลดีกว่าชื่อที่พูดไปแล้วไม่รู้ว่าคืออะไร 

อย่างชื่อที่ใช้ภาษาแองโกล แซ็กซอน (อังกฤษสมัยก่อน) ได้ผลดีที่สุด เพราะทำให้เห็นภาพในหัวได้อย่างชัดเจน เช่น APPLE หรือ COMPUTER ที่ทำให้เห็นภาพและจดจำได้ง่าย เข้าถึงได้และติดหูเว่อร์

การตั้งชื่อแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

7 Checklists ของชื่อที่ดีมีอะไรบ้าง

1. DISTINCTIVENESS ต้องเด่น

ต้องมีความโดดเด่น และดูว่าติดหูไหม ฟังแล้วเข้าใจได้เลยหรือเปล่า สามารถสู้กับแบรนด์อื่น ๆ ในรุ่นของตัวเองได้ไหม คนสามารถพูดถึงและอ่านได้ง่ายหรือเปล่า

2. BREVITY กระชับ 

คือชื่อสั้นพอที่จะเข้าใจได้ไหม และต้องแน่ใจว่ามันจะไม่ถูกย่อไปกว่านี้ เพราะพวกชื่อยาว ๆ ส่วนใหญ่ จะถูกย่อเพื่อให้เข้าใจได้เวลาที่พูดถึง ซึ่งทำให้ไม่สามารถสื่อถึงความเด่นของชื่อได้

3. APPROPRIATENESS ความเหมาะสม 

ชื่อเข้ากับแบรนด์หรือสินค้าหรือบริการที่เราขายหรือเปล่า หรือเป็นชื่อที่แสดงออกได้ไหมว่าบริษัทนี้ทําอะไร

4. EASY SPELLING AND PRONOUNCIATION สะกดง่าย 

ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ไหม สะกดได้เลยไหมหลังจากได้ยินเพียงครั้งเดียว หรือเห็นแล้วสามารถอ่านได้ง่ายเลยหรือเปล่า เพราะชื่อที่ดีนั้นไม่ควรสะกดยากเกินไป หรือทําให้คนอ่านงง

5. LIKABILITY ความชื่นชอบ 

คนจะชอบชื่อใช่ไหม หรือทำให้คนรู้สึกดีเวลาที่ได้ใช้หรือมีในครอบครอง เพราะชื่อที่ดีนั้นจะสื่อออกมาถึงความโดดเด่น แบบว่าแค่คนได้พูดถึงก็รู้สึกดีแล้ว~

6. EXTENDABILITY สามารถใช้ต่อ ๆ ไปได้ไหม 

หมายถึงว่าชื่อสามารถขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ ในไลน์เดียวกันได้ไหม ทำให้ลูกค้าเห็นภาพได้ว่าต่อให้เป็นสินค้าไหนของเราก็ใช้ได้ดีทั้งนั้นได้หรือเปล่า เพราะชื่อที่ดีไม่ว่าเราจะทําอะไรออกมาสู่ตลาดก็ต้องสามารถใช้ได้ทั้งนั้น

7. PROTECTABILITY ป้องกันมันจากการถูกนําไปใช้ได้ไหม 

สามารถจดทะเบียนการค้าได้หรือเปล่า แต่ต่อให้ชื่อสามารถจดขึ้นทะเบียนการค้าได้ ชื่อบางชื่อก็ไม่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกนำไปใช้ได้ ดังนั้นชื่อที่สามารถป้องกันจากการถูกนำไปใช้ได้ในระยะยาวนั้น ถึงจะเป็นชื่อที่ประสบความสำเร็จ

ยิ่งในธุรกิจค้าส่ง เช่น Supermarket นั้น ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นแบรนด์ และขายตัวเองไปในตัว เป็นปัจจัยหนึ่งที่เวลาลูกค้ามาเดินดูของแล้วจะเลือกซื้อจากแพ็กเกจ ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีในการมอง แต่ก็ทำให้เห็นถึงความแตกต่างได้ในทันที

และถึงแม้ว่าหลาย ๆ ครั้ง ลูกค้าอาจจะเห็นโฆษณาหรือสื่อใด ๆ มาก่อนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็อาจจะตัดสินกันเพียงแค่สิ่งที่เห็นตรงหน้าเท่านั้น ช่วงนี้แหละที่สําคัญที่สุด เรียกได้ว่าเป็นจังหวะการต่อสู้กันของแบรนด์อย่างแท้จริง

เชื่อว่านักการตลาดรู้เรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจยังไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าควรจะใช้ประโยชน์จากมันยังไงดี

ความจริงแล้วแพ็กเกจ ควรออกแบบโดยเกิดจากการผสมผสานกันทั้งเหตุผลและความรู้สึก แต่นักการตลาดส่วนใหญ่อาจใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก ทําให้ลูกค้าส่วนใหญ่เห็นแต่องค์ประกอบหรือสื่อถึงประโยชน์อย่างเดียวมากกว่า ทำให้ลูกค้าบางส่วนนั้นไม่ค่อยชอบ เพราะมีแต่คำศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกรวมอยู่ด้วย

ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

แต่ก่อนที่เราจะสร้าง “อารมณ์” ให้กับสินค้าได้นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าทักษะการอ่านหรือการรับรู้ของมนุษย์ทำงานยังไงบ้าง ตาม 5 ข้อด้านล่างต่อไปนี้

1. Notices the package ลูกค้าที่เห็นแพ็กเกจ จะเห็นสิ่งเหล่านี้ก่อนสิ่งอื่นเลยคือ สีที่โดดเด่น ตัวอักษรที่ชัดเจน ภาพที่ดึงดูด และการเน้นตัวหนังสือก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก

2. Asks “What is it?” แพ็กเกจที่ออกมาแล้วทําให้ลูกค้าต้องถามตัวเองว่านี่มันคืออะไร ซึ่งส่งผลมาจากชื่อและรูปลักษณ์ของสินค้า

3. Wonders “Why should I care?” แล้วมันน่าสนใจไหม ซึ่งนั่นจะนําไปสู่คำตอบที่ว่า “จะซื้อหรือไม่ซื้อ”

4. Wants to be persuaded อาจถูกกระตุ้นด้วยความอยากรู้ถึงข้อมูลที่มาสนับสนุนว่าทําไมจึงต้องซื้อ

5. Needs proof และนํามาสู่ช่วงสุดท้ายที่ลูกค้าจะเริ่มอ่านและเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนฉลาก และตัดสินใจหลังจากนั้น

ดังนั้นหากเราสามารถสื่อสารผ่านการ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ให้ลูกค้าเกิดการรับรู้ตามธรรมชาติได้ดี ก็เท่ากับว่าเราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าได้แล้ว ถ้าหากเราเอาแต่พูดถึงคุณสมบัติอย่างเดียว ความรู้สึกจะถูกเปลี่ยนไปเป็นลบทันที เพราะทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่านี่มันมากเกินไปกว่าที่เขาต้องการ

อีกทั้งทางผู้เขียนหนังสือเองก็ได้หยิบยกคําพูดของนักบุกเบิกแบบโฆษณาอย่าง DAVID OGILVY ที่กล่าวเอาไว้ว่า “การที่เราเปลี่ยนคำเพียงคําเดียวในพาดหัว เท่านั้น อาจจะมีผลกระทบต่อโฆษณาเป็นสิบเท่าเลยก็ได้”

เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทความนี้ที่ชวนทุกคนมาดูความสำคัญของการมีนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมเปิด 7 Checklists การตั้งชื่อแบรนด์ ให้ปัง พร้อมเทคนิคออกแบบแพ็กเกจ(ยังไงให้)จึ้ง ผ่านการแชร์ความรู้จากหนังสือ THE BRAND GAP ที่เขียนโดยคุณ Marty Neumeier และแปลโดยคุณอิทธิ ว่องวงศ์ศรี หนังสือที่อาจทำให้คุณเข้าใจคำว่าแบรนด์และวิธีการสร้างแบรนด์แบบถ่องแท้มากขึ้น

หวังว่าทุกคนคงจะเห็นกันแล้วว่าพลังของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่และแตกต่างไม่เหมือนใครนั้นมีความสำคัญอย่างไร และมีส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกนี้ขับเคลื่อนต่อไปได้ไม่สิ้นสุด

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการตั้งชื่อแบรนด์ที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะจะช่วยสร้างความโดดเด่น เข้าถึงได้ ทำให้คนจดจำได้ง่าย และอย่าลืมใส่ใจกับการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง ควรออกแบบโดยเกิดจากการผสมผสานกันทั้งเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกนะคะ เพราะเรียกได้ว่าเป็นขั้นสุดท้ายที่ลูกค้าจะเห็นและตัดสินใจ(หรือเปลี่ยนใจ)ได้ในเสี้ยววินาที

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วมาเจอกันใหม่ในตอนถัดไปค่า ฝากติดตามด้วยนะคะ และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอนที่ เว็บไซต์  Facebook  Instagram  Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลยค่า

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *