การบริหารแบรนด์ยังไงให้ปัง ด้วย 3 Basic Models

การบริหารแบรนด์ยังไงให้ปัง ด้วย 3 Basic Models

สวัสดีนักการตลาดและผู้อ่านทุกคนค่า ในบทความที่แล้วในซีรีส์ของวิธีการสร้างแบรนด์ เราได้รู้จักกันไปแล้วว่าแบรนด์คืออะไร รวมถึงหลักการข้อแรกของการสร้างแบรนด์ ที่ต้องกล้าที่จะ Be Different สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน สามารถอ่านต่อได้ ที่นี่ เลยค่า และในวันนี้จะพาทุกคนมาดูกันต่อว่าวิธีสร้างแบรนด์ตามหลัก 5 ประการ ในข้อที่ 2 คือเรื่องของ การบริหารแบรนด์ ต้องอาศัยความ ‘ร่วมมือกัน’ หรือการ Collaborate ซึ่งจะเป็นอย่างไรต้องตามมาอ่านกันค่า 

ผ่านการแชร์ความรู้จากหนังสือ THE BRAND GAP ที่เขียนโดยคุณ Marty Neumeier และแปลโดยคุณอิทธิ ว่องวงศ์ศรี หนังสือที่อาจทำให้คุณเข้าใจคำว่าแบรนด์และวิธีการสร้างแบรนด์แบบถ่องแท้มากขึ้น

การบริหารแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

หากจะพูดถึงเรื่องของ การบริหารแบรนด์ ก่อนอื่นเลยอยากให้ทุก ๆ คนลองนึกภาพเวลาคนสร้างตึกหรืออาคารวิหารสมัยก่อนดูสิคะ ว่าเขาต้องใช้ช่างกี่ร้อยคน ใช้เวลายาวนานหลายปีขนาดไหน เพราะคงไม่มีใครที่จะสามารถสร้างด้วยตัวเองเพียงคนเดียวแล้วจะออกมาสวยงาม แข็งแรง หรือสมบูรณ์แบบ ได้มากเท่ากับการทำงานโดยร่วมมือกันกับคนอื่น ๆ 

เพราะช่างแต่ละคนก็มีความถนัดกันคนละแบบ มีสไตล์การทำงานในแบบเฉพาะของตัวเอง แต่ทุกคนมาร่วมกันทำ ภายใต้จุดประสงค์เดียวกันนั่นเอง

เช่นเดียวกับการสร้างแบรนด์ การบริหารแบรนด์ นั่นล่ะค่ะ เพราะก็เป็นเหมือนกับ Collaborative Project ที่มีความยาก ซับซ้อน รายละเอียดเยอะเหมือนกัน จึงต้องใช้ความร่วมมือกันจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร หรือคนในฝ่ายการตลาดเพียงอย่างเดียว หรือใช้คำว่าต้องเกณฑ์คนทั้งหมู่บ้านเพื่อมาทำเรื่องเดียวกันนี่เอง

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารอย่างคุณ PETER DRUCKER เองก็ได้กล่าวไว้ว่า สิ่งที่สําคัญที่สุดของธุรกิจสมัยนี้ เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน จากความเป็นเจ้าของ ไปเป็นการร่วมหุ้น, จากการบริหารคนเดียว ไปเป็นการร่วมกันบริหารแทน ดังนั้นบริษัทที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้หมายถึงบริษัทที่มีสมองเยอะที่สุด แต่สมองเหล่านั้นต้องร่วมมือกันทํางานให้เป็นหนึ่งเดียวต่างหากค่ะ

สำหรับรูปแบบในการร่วมกันบริหารแบรนด์ ในหนังสือได้แชร์ถึง 3 Basic Models เอาไว้ดังนี้ค่ะ

1. การหา ONE STOP SHOP มาร่วมบริหาร

2. การหาบริษัทโฆษณา BRAND AGENCY เข้ามาช่วย

3. INTEGRATE MARKETING TEAM การร่วมกันบริหารภายในกับนักการตลาดที่มีหลากหลายมุมมอง

เราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละรูปแบบกันค่ะ เริ่มจากข้อแรกกันก่อนเลย

เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 20 ช่วงที่บริษัทต่าง ๆ จ้างบริษัทสื่อเข้ามาเพื่อที่จะโฆษณาแบรนด์ของตนเอง ซึ่งบริษัทสื่อเหล่านี้ก็จะทําการวิจัย วางแผนกลยุทธ์ สร้างแคมเปญ และประเมินผล ซึ่งผลประโยชน์คือจะได้ความมีประสิทธิภาพ

การบริหารแบรนด์ ในยุคสมัยนี้ ONE STOP SHOP จะใช้พวกบริษัทที่มีสาขาต่าง ๆ ในการบริหาร หรือบริษัทผู้ร่วมถือหุ้นที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก

การบริหารแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

ข้อดีก็คือสามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของแบรนด์เข้าไว้ด้วยกันได้ และสื่อสารความเป็นแบรนด์นั้นออกไปทางสื่อต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องปวดหัวนั่งบริหารทุกอย่างเองด้วย

ส่วนผลกระทบคือการที่มีผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ แบบ อาจจะสร้างปัญหาในระยะยาวได้ และในที่สุดก็อาจจะสูญเสียการบริหารแบรนด์ท้ังหมดไปให้กับบริษัทนั้น ๆ ที่เข้ามารับงานนั่นเองค่ะ

การบริหารแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

การบริหารแบรนด์ จากการหา Agency เข้ามาช่วย จะมีความแตกต่างจาก ONE STOP SHOP อยู่ตรงที่ลูกค้าจะทํางานควบคู่ไปกับบริษัทสื่อ เช่น บริษัทโฆษณา ออกแบบ ประชาสัมพันธ์ หรือแบรนด์อื่น ๆ เลยก็ได้ 

ซึ่งก็จะเป็นการช่วยรวบรวมผู้ที่มีประสบการณ์เข้ามาไว้ด้วยกัน มาช่วยกันบริหารแบรนด์ บริษัทสื่อเหล่าน้ันจะทําหน้าที่ในการนํา Project บางทีก็รวมไปถึงทำการจ้างบริษัทอื่น ๆ ให้เข้ามาช่วยในการบริหารเลยก็ได้

ข้อดีคือยังสามารถสื่อสารตัวตนของบริษัทออกไปทางสื่อได้อย่างสมบูรณ์ ควบคุมการทํางานของบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาร่วมได้อีกด้วย แต่ในทางกลับกันคือการบริหารและการดูแลนั้นยังคงตกอยู่ในมือของบริษัทที่เข้ามาให้บริการอยู่ดี

การบริหารแบรนด์
ที่มา: THE BRAND GAP – Marty Neumeier

เป็นการมองแบรนด์เป็นเหมือนกับเครือข่าย ๆ หนึ่ง ที่มีการบริหารกันภายใน หมายความว่าบริษัทที่ได้ถูกว่าจ้างเข้ามาช่วยในการบริหารจะต้องทํางานร่วมกับฝ่ายการตลาด ซึ่งจะสร้างทีมในการบริหารขึ้นมา แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้จัดการฝ่ายออกแบบของบริษัทอยู่ 

การบริหารแบรนด์ แบบ INTEGRATE MARKETING TEAM ข้อดีก็คือ เรายังคงสามารถสื่อสารตัวตนออกไปทางสื่อได้อย่างสมบูรณ์ และมีอิสระในการทํางานกับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และที่เพิ่มเติมคือยังคงรักษาระบบการบริหารของตัวเองเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญมาก เพราะเรายังสามารถเก็บความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการบริหารแบรนด์ได้มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ข้อมูลที่มีประโยชน์นั้นหายไปพร้อมกับบริษัทที่เข้ามาบริหาร ส่วนข้อเสียก็คือฝ่ายการตลาดของบริษัทต้องมีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการบริหารตรงส่วนนี้ให้ได้นั่นเองค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ที่ได้นำความรู้จากหนังสือ THE BRAND GAP ที่เขียนโดยคุณ Marty Neumeier และแปลโดยคุณอิทธิ ว่องวงศ์ศรี มาแชร์กัน ในบทความนี้เป็นเพียงหลักการสร้างแบรนด์ในข้อที่ 2 Collaboration เท่านั้น 

อย่าลืมว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว และที่สำคัญคือไม่ได้สร้างเสร็จด้วยตัวคนเดียวอีกด้วย การสร้างและบริหารแบรนด์ก็เช่นกันค่ะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

และจะเห็นได้เลยว่าการมี Model ต้นแบบสำหรับการบริหารแบรนด์ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกําจัดความยุ่งยากวุ่นวายของงานออกไปได้อีกด้วย เพราะเราสามารถเรียนรู้และนํามาปรับใช้เป็นแนวคิดตั้งต้นในการบริหารได้ ไม่ต้องริเริ่มวางรากฐานหรือรูปแบบอะไรใหม่มาก

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วมาเจอกันใหม่ในตอนถัดไปค่า ฝากติดตามด้วยนะคะ และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram Twitter Youtube และ Blockdit ได้เลยค่า

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *