เคล็ดลับสร้างยอดที่ไม่เคยเอาท์ “มูเก็ตติ้ง” ในช่วงเทศกาล EP.2

เคล็ดลับสร้างยอดที่ไม่เคยเอาท์ “มูเก็ตติ้ง” ในช่วงเทศกาล EP.2

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านการตลาดวันละตอนนะครับ จาก Ep ที่แล้วเราได้รู้กันว่า มูเก็ตติ้ง ในช่วง เทศกาลสามารถช่วยสร้างยอดขายให้ดีขึ้นอย่างไร ผ่านตัวเลขสถิติ และงานวิจัยต่างๆ แล้ว 

มาใน EP นี้ผมอยากจะนำเคล็ดลับ ที่หยิบยกโอกาสในช่วงเทศกาลกับการใช้ Data ให้ เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำเสนอด้วยความเชื่อมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็น Guideline ในการทำการตลาดในปี 2023 กันนะครับ

มูเก็ตติ้ง x เทศกาล = ผลลัพธ์ทวีคูณทางการตลาด

การนำความเชื่อมาร่วมกับช่วงเวลาเทศกาล ผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ใช่เป็นผลลัพธ์ด้วยการบวก แต่เป็นค่าทวีคูณของการใช้ประโยชน์ เพราะจิตวิทยาของความเชื่อ คือ การสะกิดให้เกิดพฤติกรรม ถือเป็น Nudge อย่างหนึ่ง ยิ่งถูกขยายความด้วยช่วงเทศกาลที่พฤติกรรมของตลาดเอื้อต่อการใช้จ่ายมากกว่าปกติ จากปัจจัยภายนอกและภายในแล้ว เมื่อนำมาหารเฉลี่ยกับต้นทุนในการทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้และตัดสินใจแล้ว เป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากๆ นะครับ

แคมเปญส่งกำลังใจให้นักเรียนเตรียมสอบในปี 2020

ตัวอย่างเช่น คิทเเคท ที่ชื่อแบรนด์ออกเสียงพ้องกับคำว่า Kitto Katsu ในญี่ปุ่นที่มีความ หมายถึงการประสบความสำเร็จ ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วงที่มีสอบเข้ามหาวิทยาลัย คิทแคทจะขายดีเป็นพิเศษเพราะว่าบนแพคเก็จจะมีคำอวยพรให้ประสบผลสำเร็จในการสอบ ทำให้ยอดขายนั้นเพิ่มขึ้นมาจากความเชื่อ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับแบรนด์ในการทำการตลาด

กรณีศึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์วัน Halloween จาก ONETOUCH

ผมขอยกตัวอย่างในช่วง Halloween ที่ผ่านมา Yell เองก็ได้มีโอกาสทำ CSR แคมเปญให้กับถุงยางอนามัย ONETOUCH เพื่อรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยในโอกาสที่เราไปปาร์ตี้กันในช่วงฮาโลวีนยามค่ำคืน 

แน่นอนว่าการทำหนังโฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ปกติเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นชินกันมานาน เราเลยประเมินว่าทำไปก็ไม่ได้ Impact ที่สมกับความพยายาม ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ เรามีเทศกาลที่น่าสนใจแล้ว แต่จะเอาความเชื่อมาแมทช์กับแบรนด์ อย่างไร?

สิ่งที่เราทำคือการทำ Insight Validation เพื่อ Confirm ว่าประเด็นที่เราจะเล่นนั้นมีคนสนใจจริงๆ จาก Feature Keyword Idea ของ Google ทำให้เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของความเชื่อด้านการป้องกันโรค กับความเชื่อเรื่องผีของคนไทย 

มี Keyword จำนวนไม่น้อยเลยนะครับที่สะท้อนว่าความรู้สึกของการพกถุงยางอนามัยกันป้องโรคไม่ต่างกับการมีเครื่องรางดีๆ ทีนี้แทนที่เราจะ Invest ในด้านการผลิตชิ้นงานโฆษณาและซื้อสื่อ เราปรับวิธีการมาใช้ในด้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะแจกเป็นตัวอย่างเฉพาะคืนวันปล่อยผี และปล่อยให้ Product Markets Itself มันจะมีพลังมากกว่าการทำโฆษณาเพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์เราดีอย่างไร 

สุดท้าย ทีมออกแบบของ Yell จึง Redesign แพคเกจพิเศษที่เรียกว่า “ยันต์ปกป่อง” พร้อมเปลี่ยนคู่มือการใช้งานให้กลายเป็นคาถาปกป่องพร้อมคุ้มครองโรค โดยมีพริตตี้ในชุดผีตายทั้งกลม เป็นตัวแทนไปแจกในย่านสถานบันเทิง เปลี่ยนจากงบสื่อโฆษณามาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะกิดให้เกิดความเชื่อ

ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจทีเดียวครับ

– 5,000 ชิ้นผลิตภัณฑ์ ถูกแจกหมดก่อนเที่ยงคืน

– 3 ล้านวิวใน 24 ช.ม. จากการรีวิวในออนไลน์

– Earn Media อีกมากมายจาก Tiktoker และนักเที่ยวในคืนนั้น

ทั้งหมดนี้ไม่มีการใช้งบในการซื้อสื่อแม้แต่บาทเดียว!

เห็นไหมครับว่าความเชื่อ x เทศกาล ในวงเล็บที่ว่า “บนไอเดียที่เหมาะสม” ทำให้ได้ผลลัพธ์ทางการตลาดมากกว่าที่คิด

หมอดู ดูหมอ ทำเรื่องสุขภาพให้เข้าถึงง่ายกับโรงพยาบาลสินแพทย์

ลองหลับตานึกถึงโฆษณาโรงพยาบาลสิครับ ภาพคุณหมอในชุดกาวน์ ดูฉลาดเอาใจใส่ เครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัย โรคภัยไข้เจ็บที่ผู้คนต้องเผชิญ ส่วนใหญ่โฆษณาโรงพยาบาล เป็นแบบนั้นใช่ไหมครับ? 

ดังนั้น เกมของการทำการสื่อสารการตลาดก็มักจะเป็น ใครเสียงดัง เข้าถึงคนเยอะที่สุด มีงบสื่อในโลเคชั่นใกล้โรงพยาบาลที่ดีกว่ามักจะประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายถ้าไม่ใช่โรคเฉพาะทางก็ไม่มีใครอยากเดินทางออกจากโซนบ้านตัวเองไปหา หมอไกลๆ ยกเว้นใน Segment ที่กลุ่มเป้าหมายมีทั้งทุนทรัพย์ และเวลา อันนั้นถือเป็นข้อยกเว้น

กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ ถือเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการขยายสาขาจำนวนมากในช่วงหลายปีหลัง แต่ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากผู้ป่วยนอกในโรคทั่วไป กลุ่มที่อยากทำการสื่อสารให้มากขึ้นคือผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง เพราะขนาดของโรงพยาบาล คุณภาพแพทย์ และเครื่องมือทันสมัย อยู่ในระดับ Top ของเอเชีย เอาตรงๆ นะครับ โจทย์ไม่ง่าย เพราะสิ่งที่ผมพูดไป คนไม่ป่วยไม่คิดถึงหรอกครับ แต่ถ้ารอให้ป่วยแล้วคิดถึง ก็เท่ากับว่าเราจะเป็นแค่หนึ่งในตัวเลือกของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง

จุดนี้แหละครับ ที่ความเชื่อเข้ามาช่วยได้ เพราะในตลาดบ้านเรา คนยังต้องการที่พึ่งทางใจไป พร้อมๆ กับการรักษาที่มีคุณภาพ ที่ตลกก็คือ เวลาคนค้นหาคำว่าหมอ แต่คำว่าหมอดูกลับมีจำนวนมากกว่าหมอรักษาคนด้วยซ้ำ จากจุดนี้แหละครับที่เรานำมาใช้ทำการตลาด ในเมื่อหนีไม่พ้นความสับสนในการค้นหา ก็เข้าร่วมไปซะเลย

จากหนังโฆษณา มายังเว็บดูดวง ความสร้างสรรค์ของโรงพยาบาลในการนำเรื่องสายมูมา Twist ให้เป็นการสื่อสารสนุกๆ จนเกิดเป็นแคมเปญ #หมอดูสุขภาพ ที่สื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นว่า “ถ้าอยากสบายใจเรื่องอื่นๆ ไปดูหมออาจช่วยได้ แต่ถ้าอยากได้คนดูแลเรื่องสุขภาพ ต้องมาให้หมอดูที่สินแพทย์” 

เราเลือกปล่อยแคมเปญในช่วงเดือนกันยายนเพราะจาก Data จะเห็นว่าเป็นช่วงที่คนเร่ิมค้นหาการดูดวงเพราะใกล้ไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมกับจำนวนการค้นหา Keyword เกี่ยวกับการรักษาโรคเฉพาะทางก็มีจำนวนมากในช่วงนี้เช่นกัน

จากนั้น การเข้าไปสู่ Customer Journey ก็เริ่มต้นขึ้น โดยใช้หนังโฆษณาเป็นตัวนำ ตามด้วย Quiz สนุกๆ ทดสอบสุขภาพ เพื่อให้ได้ Data จาก Platform ที่ดู VDO และ First Party Data จากนั้น ถ้าใครกังวลก็สามารถเช็กสุขภาพได้เลย หรือถ้าแค่สนใจก็ลองตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลบนแพ็กเกจพิเศษที่ตรวจเจอให้สินแพทย์ดูแลต่อ ก็ได้รับส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมใน หลายโรคร้ายแรง 

ทั้งหมดที่พูดถึงเริ่มต้นจาก ความเชื่อ x เทศกาล และผ่านการนำ Insight มา Validate แล้วว่าไอเดียนี้เวิร์กจริงก่อนลงทุนในการผลิตสื่อออกมา

อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านหลายคนคงพอจะมีไอเดียในใจแล้วใช่ไหมครับว่าจะเอา ความเชื่อ x เทศกาล ผ่านไอเดียนำเสนอดีๆ และใช้ประโยชน์จาก Innovation ของโลก Digital กันอย่างไรให้กับแบรนด์ของคุณเอง จากที่เห็นมาในหลากหลายตัวอย่าง เรื่องความเชื่อถือเป็นหนึ่งในสูตรที่ทำให้หลายแคมเปญประสบความสำเร็จมานักต่อนัก หวังว่าปีนี้จะเป็น ปีที่ดีสำหรับการทำการตลาดของทุกท่านนะครับ

ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทความใน​ EP แรก​ สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติม​ได้ในบทความ​ เคล็ดลับสร้างยอดที่ไม่เคยเอาท์ “มูเก็ตติ้ง” ในช่วงเทศกาล EP.1

Reference: 1 / 2 / 3 / 4

Dissara Udomdej

CEO & Founder of Yell Advertising - อดีตบรรณารักษ์ ที่กลายมาเป็นนักโฆษณา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *