NFT Strategy หา New S Curve ธุรกิจในยุค Decentralization ด้วย NFT

NFT Strategy หา New S Curve ธุรกิจในยุค Decentralization ด้วย NFT

หลังจากบทความแรกที่ผมพาเพื่อนๆ นักการตลาดในการตลาดไปทำความรู้จัก NFT มาพอสมควรแล้ว ในบทความนี้จะเน้นให้เห็น Use Case หรือ Case Study ในการหา New S Curve ของธุรกิจใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้ NFT เพื่อปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่สามารถไปต่อในยุค Decentrailization ที่ข้อมูลถูกเก็บไว้บน Blockchain ได้ครับ

ถ้าพร้อมแล้วมาดูกัน แล้วระหว่างอ่านอย่าลืมคิดต่อยอดไปเรื่อยๆ นะครับว่า ถ้าเขาทำแบบนี้ได้ แล้วเราจะเอา NFT มาใช้กับธุรกิจเราอย่างไรดี

NFT x Influencer เมื่อโพสคนดังสามารถ Mint ทำ NFT ได้

Photo: https://www.theverge.com/2021/4/24/22399790/emily-ratajkowski-nft-christies-copyright-nightmare-richard-prince

Influencer บางคน Celebrity บางท่าน ก็ได้ทำงาน Mint ผลงานรูปภาพตัวเองที่เคยโพสบนโซเชียลมีเดียแล้วเอาไปขาย เปิดให้ประมูลบน NFT Marketplace อีกที

Emily Ratajkowshi ขายผลงาน NFT ของเธอที่มีชื่อว่า Buying Myself Back เป็นภาพที่เธอใส่บิกินี่ชุดว่ายน้ำ ได้เป็นเงินกว่า 175,000 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2021

และจะขาดเรื่องราว NFT ของชายคนนี้ไม่ได้ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ผู้ที่ประกาศขาย NFT โพสทวีตแรกของตัวเองจนกลายเป็วไวรัลเป็นทั่วโลก และแน่นอนว่าจุดกระแสให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจว่าเจ้า NFT คืออะไร ต่างจาก Crypto อย่างไร และมันเกี่ยวกับ Blockchain อย่างไรครับ

ซึ่งโพสทวีตแรกของ Jack Dorsey นั้นถูกประมูลไปเป็นมูลค่าสูงถึง 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 100 ล้านบาท! แต่เงินที่ได้มาเขาไม่ได้เอาไปใช้เอง แต่เปลี่ยนไปเป็นสกุลเงินคริปโตอย่าง Bitcoin แล้วเอาไปบริจาคให้กับ GiveDirectly Afiraca Fund แทน เรียกได้ว่าจุดกระแสแล้วยังใจบุญจนได้ PR ถล่มทลาย

และในเคสสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังถึงการสร้างผลงานและรายได้ด้วย NFT คือเรื่องราวของคนธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถเป็นมหาเศรษฐี NFT ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Photo: https://opensea.io/collection/ghozali-everyday

เด็กชายวัยนักเรียนชาวอินโดนีเซียที่ชื่อว่า Sultan Gustaf Al Ghozali ได้ทำการถ่ายภาพหน้าตรงตัวเองแบบง่ายๆ ในชีวิตประจำวันทุกวัน แล้วเอาไป Mint เป็น NFT ขายในคอลเลคชั่นที่มีชื่อว่า Ghozali Everyday จนวันนี้เด็กชายคนนี้ได้กลายเป็นมหาเศรษฐี NFT เรียบร้อยแล้ว

จะว่าไปแล้วชื่อช่างคล้าย Everyday Marketing จริงๆ หรือผมควรทำแบบนี้ทุกวันบ้างดีมั้ยนะ

สรุป ทุกมิติที่หลากหลายของคนที่สร้างผลงาน Mint NFT แล้วสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไม่จำเป็นต้องเป็นดารา คนดัง หรือศิลปินเท่านั้น แม้แต่คนธรรมดาก็ยังสามารถเข้ามาหาโอกาสจาก NFT ได้ และผลงานที่ทำเป็น NFT ก็ไม่ได้มีแค่รูปภาพ แต่มีภาพเครื่องไหล ไฟล์เสียง หรือใดๆ ก็ตามที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์

และเราได้เห็นการขยับตัวของธุรกิจประมูลเก่าแก่ที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้โลกของ NFT แต่เนิ่นๆ คำถามสำคัญที่ผมอยากทิ้งท้ายคือ คุณเริ่มศึกษา เรียนรู้ และมองหาโอกาสใน NFT เทคโนโลยีใหม่นี้บ้างหรือยัง?

NFT เริ่มต้นอย่างไร และดังได้เพราะใคร?

ทำไม NFT ถึงดังขึ้นมาได้ขนาดนี้? คงเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย แต่สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งกว่าคือมันมีจุดเริ่มต้นอย่างไร เพราะถ้าเราเข้าใจจุดเริ่มต้นกำเนิดของมัน เราก็พอจะเอาไว้ใช้คาดเดาอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ครับ เพราะนั่นคือรากฐานสำคัญของ NFT ที่ผู้สร้างเริ่มต้นไว้ และผู้ใช้รายถัดมาก็ต่อยอดแตกแขนงไปเรื่อยๆ

CryptoPunks และ CryptoKitties น่าจะเป็นโปรเจค NFT แรกที่ก่อให้เกิดกระแสตั้งแต่ปี 2017 ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักและหันมา Mint ผลงานให้เป็น NFT กันจนถึงทุกวันนี้

NFT Marketing Strategy ต้อง Mint ให้ไม่มากพอ แต่ไม่น้อยไปที่จะก่อรูปเป็น Community ผู้ถือครองได้

กลยุทธ์ที่มักใช้กันกับการทำ NFT โดยรู้และไม่รู้ตัวคือ การออกชิ้นงานที่มีจำนวนมากพอให้เกิดกลุ่มคนที่ถือครองผลงานชุดนั้น แต่ไม่มากไปจนเกร่อกลายเป็นเฝอหรือเฟ้อ เพื่อสร้างความพิเศษของการได้ถือครองของหายากในระดับหนึ่ง แต่มากพอที่จะทำให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งจำนวนตัวเลขโดยเฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ราวๆ 10,000 ชิ้นงานครับ

ดังนั้นถ้าผลิตมาน้อยไปก็ไม่รู้จะเอาไปอวดใคร คุยกับใครได้ แต่ถ้ามากไปก็จะกลายเป็นเกร่อ ใครๆ ก็มีกัน มันคือการทำของ Limited Edition ในสเกลระดับโลกไม่ใช่แค่ระดับประเทศครับ

ในปี 2017 CyberPunks ก็ใช้กลยุทธ์แบบนี้ตอนออก NFT คอลเลคชั่นแรก สร้างผลงานออกมาทั้ง

หมด 10,000 ชิ้นถ้วนๆ ซึ่งผลงานทั้ง 10,000 ชิ้นนี้ไม่ได้ถูกสร้างทีละชิ้น แต่เป็นการสร้างระบบเพื่อสุ่มสร้างจากองค์กระกอบต่างๆ ที่ศิลปินกำหนดไว้ผ่าน Larva Labs แต่ละชิ้นมีราคาขายแค่ 1-34 ดอลลาร์เท่านั้นตอนเปิดตัว แต่จากรายงานล่าสุดพบว่า NFT Collection CryptoPunks นี้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเป็นเงินรวมแล้วกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และชิ้นที่แพงที่สุดมีมูลค่า 23.7 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

ด้วยหลักการ Scarcity สร้างความขาดแคลนจะกระตุ้นให้คนอยากได้หรือรักษาปริมาณ Demand ให้มากกว่า Supply

แต่ก็ยังมีอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จในการทำ NFT Marketing นั่นก็คือ NFT แบบ Personalization

NFT Personalization รู้ว่าเป็นของฉันตั้งแต่แรกเห็น

Photo: https://www.bsc.news/post/jay-z-changes-twitter-profile-to-cryptopunk-nft-and-lists-nft-on-sothebys

Jay-Z ได้ขอให้ CryptoPunks ช่วยสร้างผลงานพิเศษที่เป็นรูปตัวเองขึ้นมาหน่อย ด้วยการยอมจ่ายค่าเสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ เป็นเงิน 126,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ 4 ล้านหน่อยๆ เมื่อคำขอน่ารักขนาดนี้ก็เลยได้ไปสมใจ กลายเป็น NFT ชิ้นพิเศษ ชิ้นเดียวในโลกที่จัดให้แบบ Personalization ตาม Profile หน้าเราจริงๆ

หรือแม้แต่นักเทนนิสหญิงระดับโลกก็ได้ NFT Personalization จาก CryptoPunks เช่นกัน เป็นผลงานที่สะท้อนถึงความเป็นตัวเธออย่างไม่มีใครเทียบเคียงได้

NFT Fusion ผสมกันเป็นสายพันธุ์ใหม่

เดิมที NFT คือการ Mint อย่างไรก็เป็นแบบนั้น แต่เราก็มีอีกหนึ่งรูปแบบการทำ NFT ที่น่าสนใจ นั่นก็คือจับ NFT สองอันมาผสมกันออกเป็นผลงานชิ้นใหม่ที่เร้าใจยิ่งกว่าเดิม

CryptoKitties คือเกม NFT ที่ใช้ระบบการผสมพันธ์ระหว่าง NFT 2 ชิ้นแล้วออกมาเป็น NFT ชิ้นใหม่ที่มาจากการรวม 2 Tokens ไว้ด้วยกัน

ซึ่งคอนเซปเกม CryptoKitties นั้นก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งมีชีวิตอย่างแมว แน่นอนว่ามันสามารถผสมพันธุ์กันได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

และด้วยแนวคิดแบบนี้เองทำให้แบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Nike ก็ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์สำหรับรองเท้า Sneaker คอลเลคชั่นใหม่ที่ชื่อว่า CryptoKicks ที่เกิดจากการเอารองเท้า NFT Nike สองอันมาผสมกันว่าจะได้อะไร และก็เตรียมรับของจริงไปใส่ปลายปีนี้ เพิ่มกาวเข้าไปกันหละทีนี้!

Photo: https://boardroom.tv/nike-cryptokicks-sneaker-offspring/

ตั้งแต่ NFT ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2017 มาถึงวันนี้ NFT CryptoKitties ถือว่าเป็นตัวหลักในการรันวงการ NFT ในแบบที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน ก่อนหน้านี้ CryptoKitties ได้รับความนิยมอย่างมากจนคิดถึง 10% ของ Ethereum traffic ทั้งหมดจากทั่วโลก ผ่านเงินคริปโตกว่า 18,000 ชนิด

เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้เกม NFT เจ้าเหมียว CryptoKitties กระแส NFT คงอาจอยู่ไม่ถึงวันนี้ก็เป็นได้ ขอชาบูทาสแมวจริงๆ ครับ

ต้องบอกเลยว่ากระแสของทั้ง NFT และ Cryptocurrency นี้เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังก็ในช่วงล็อกดาวน์เมื่อปี 2020 เป็นต้นมานี้เอง จากการ Work from home หรือตกงานทำให้เราได้มีเวลามากมายอยู่กับหน้าจอมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และนั่นก็ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจมองหาการลงทุนใหม่ๆ กองทุนแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป จนมาเจอกับ Cryptocurrency อย่าง Bitcoin แต่ต่อยอดไปยังสกุลเงินคริปโตอื่นๆ เข้า แล้วก็มาเรียนรู้การลงทุนใน NFT ที่เห็นว่ามันช่างพุ่งทะยาน to the moon ดีเหลือเกิน

ตัวผมเองก็เรียนรู้ที่จะลงทุนในคริปโตก็ช่วงปี 2021 นี่เองครับ แม้ก่อนหน้านี้จะพอรู้จักและศึกษา Blockchain มาระดับหนึ่ง รู้จัก Bitcoin มานานกว่า 4 ปี แต่ก็ไม่เคยได้เริ่มลงทุนกับมันเลยสักที จนได้มาเริ่มตอนล็อกดาวน์อยู่บ้านนานๆ นี่แหละครับ

ทางแพลตฟอร์ม NFT Marketplace อย่าง Opens Polygon ก็บอกว่าระหว่างปี 2020-2021 นี้มีปริมาณการซื้อขาย NFT เพิ่มขึ้นกว่า 646 เท่า!

นี่มันไม่ใช่มูนแล้ว มันพลูโตชัดๆ!

TimePieces – Time of NFT

Photo: https://nft.time.com/

นิตยสารระดับโลกอย่าง Time Magazine ก็ยังกระโดดเข้ามาลองเล่นกับ NFT ด้วย ผ่านคอลเลคชั่นที่มีชื่อว่า TimePieces ที่มีทั้งหมด 4,676 ชิ้น โดยเอามาจากหน้าปกนิตยสาร Time ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาตัดซอย Slice เป็นเส้นยาวๆ แล้วเอามาเรียงต่อกันใหม่ แล้วก็เปิดให้คนที่ซื้อไปเลือกได้ว่าอยากจะ Burn ผลงาน NFT ชิ้นนั้นออกมาเป็นผลงานชิ้นใหม่หรือไม่ ซึ่งก็คือการลุ้นว่าตัวเองจะได้ครอบครองหน้าปกไหนของนิตยสาร Time Magazine นั่นเองครับ

เรียกได้ว่าซื้อแล้วมีลุ้น แต่ถ้าไม่อยากลุ้นจะถือครองแบบนั้นไปก็ได้ น่าจะเอามาเล่นกับวงการหวยบ้านเราเนอะ

ซึ่งจากแคมเปญ TimePieces นี้ทางทาง CEO ก็ออกมาประกาศว่าทำให้รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 30% ในปี 2021

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่าถึงเวลาหา New S Curve ของธุรกิจด้วย NFTจริงๆ ครับ

และนั่นก็ทำให้ทาง Facebook หรือบริษัท Meta ในวันนี้ออกมาประกาศว่าต่อไปนี้เราสามารถใช้รูปโปรไฟล์เป็น NFT ที่เราถือครองได้ แต่ต้อง Mint ในแพลตฟอร์มของ Facebook เองเท่านั้นนะ ช่างเป็น Decentralize ที่ Centralized จริงๆ

เป็นอย่างไรครับกับทิศทางของ NFT for Marketing and Business ในวันนี้ที่ย้อนรอยไปจนถึงวันวาน เราคงจะได้เห็นจุดกำเนิด เส้นทาง และทิศทาของ NFT ที่มีการต่อยอดแตกแขนงออกไปยังหลายภาคส่วนธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

ในตอนหน้าเราจะไปดูถึง Use Case Study การทำ NFT สำหรับ Marketing หรือ Branding กัน เชื่อว่าจะเป็นการเปิดโลกใหม่ๆ ของนักการตลาด ที่จะนำไปสู่การเปิดโอกาสใหม่ของธุรกิจให้มีรายได้มากกว่าแค่การขายสินค้าหรือบริการออกไป จะว่าไปก็เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของนักการตลาดยุคควอนตัม ที่หนังสือ Quantum Marketing ได้กล่าวไว้ครับ

อ่านบทความที่เกี่ยวกับ NFT Marketing ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/?s=nft

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *