7s McKinsey Framework คืออะไร เครื่องมือวิเคราะห์ภายในองค์กร

7s McKinsey Framework คืออะไร เครื่องมือวิเคราะห์ภายในองค์กร

7s McKinsey Framework เป็น Model ที่เกิดขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดย McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบการออกแบบองค์กร รวมถึงกําหนดประสิทธิภาพ วิเคราะห์และปรับปรุงพัฒนาองค์กรจากภายใน โดยมีองค์ประกอบทั้งหมด 7 องค์ประกอบด้วยกันค่ะ นั่นก็คือ

  • Strategy กลยุทธ์
  • Structure โครงสร้าง
  • System ระบบ
  • Shared Values ค่านิยมร่วมกัน
  • Style สไตล์
  • Staff พนักงาน
  • Skill ทักษะ
ขอบคุณรูปภาพจาก whatfix

ที่เมื่อทุกองค์ประกอบเชื่อมโยงกันแล้วจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของบริษัทได้แบบเป็นสัดส่วน วิเคราะห์องค์กรของเราให้ดีตั้งแต่ภายใน

โดยปัจจัยทั้ง 7 องค์ประกอบนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือส่วนที่เป็น Hard Elements และ Soft Elements ค่ะ 

ในส่วนของ Hard Elements จะหมายถึงปัจจัยที่กำหนดทิศทางของธุรกิจ มีความเป็นรูปธรรม คือ Strategy, Structure และ System ส่วน Soft Elements เป็นเหมือนตัวซัพพอร์ต มีความนามธรรมมากกว่า มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารคน ค่านิยม หรือวัฒนธรรมขององค์กร คือ Shared Values, Style, Staff และ Skill

และในเนื้อหาส่วนถัด ๆ ไปจะพาทุกคนมาดูทีละองค์ประกอบของ 7s McKinsey Framework กันค่ะ

#1 Strategy กลยุทธ์

7s McKinsey Framework 1

เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกับคำว่ากลยุทธ์กันดีอยู่แล้ว แน่นอนว่ากลยุทธ์ที่ดีควรที่จะต้องสอดคล้องกับ Vision, Mission และเป้าหมายของธุรกิจ เป็นการวางกรอบและปูแนวทางไปสู่ความสําเร็จตามที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้

เป็นตัวกำหนดแนวทางที่บริษัทจะใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และบรรลุเป้าหมายระยะยาว นอกจากนี้ที่สําคัญคือกลยุทธ์ของบริษัท ควรสอดคล้องกับปัจจัยอีก 6 องค์ประกอบของ 7s McKinsey Framework ด้วย

อย่าง Coca-Cola ที่มีกลยุทธ์ Product Strategy มีกลุ่มผลิตภัณฑ์กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น Coca-Cola, Minute Maid, Diet Coke, Coca-Cola Light, Coca-Cola Life, Coca-Cola Zero, Sprite, Fanta และอื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังมีหลากหลายขนาด หลากหลายบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า เป็นต้น

#2 Structure โครงสร้าง

7s McKinsey Framework 2

มาถึงองค์ประกอบที่ 2 Structure หรือโครงสร้างองค์กร พูดง่าย ๆ ก็คือเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบงานตามตำแหน่ง ความสัมพันธ์ตามลำดับขั้น เช่น ผู้บริหาร หัวหน้าแผนก เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รู้ว่าใครรับคําสั่งงานจากใคร 

เพราะหากองค์กรไม่มีโครงสร้างที่เหมาะสม ก็อาจทำให้การดําเนินงานนั้นสำเร็จยากขึ้น หรือนําไปสู่ความสับสนวุ่นวายจนทำงานล่าช้าไปกว่าเดิมได้

ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง ต้องบอกว่า Communication is the key ค่ะ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกัน ทั้งระหว่างแผนกและทั้งองค์กร ดูการแบ่งงานและระดับความรับผิดชอบดี ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและมีความชัดเจนนั่นเองค่ะ

เช่น Coca-Cola ที่มีแผนกสํานักงานใหญ่ที่รับผิดชอบโดยรวม และยังคงรักษาโครงสร้างระดับภูมิภาคด้วย แผนกต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจระดับท้องถิ่น ทําหน้าที่เป็นทีมสายผลิตภัณฑ์และรายงานต่อประธานแผนกกับผู้จัดการแต่ละประเทศ คือผสมผสานองค์ประกอบแบบรวมศูนย์และกระจายอำนาจ

#3 System ระบบ

7s McKinsey Framework 3

ระบบในที่นี้ พูดง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือ Workflow หรือหมายถึงกระบวนการทางธุรกิจ ขั้นตอนการปฏิบัติงานนั่นเองค่ะ ที่บริษัทเราใช้เพื่อให้กิจกรรมของธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ได้ เป็นการดําเนินงานมาตรฐานของบริษัทที่เป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญคือต้องวางระบบให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

โดยพื้นฐานแล้วการมีระบบก็เหมือนเป็นตัวกําหนดวิธีการทําธุรกิจ เพราะรวมทุกอย่างตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจําหน่ายสินค้าและบริการ เช่น ระบบงบประมาณ, ระบบควบคุมสต็อคสินค้า, ระบบการจัดซื้อ เป็นต้นค่ะ

#4 Shared Values ค่านิยมร่วมกัน

7s McKinsey Framework 4

หากทุกคนย้อนกลับไปดูภาพโมเดล 7s McKinsey Framework ก็จะพบว่าปัจจัยอื่น ๆ ทั้งหมดหมุนรอบ Shared Values หรือค่านิยมที่มีร่วมกันนี่ล่ะค่ะ

โดยพื้นฐานแล้วค่านิยมก็จะหมายถึงบรรทัดฐานและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทคาดหวังจากพนักงานทุกคน เพราะเรื่องของค่านิยมหรือวัฒนธรรม ถ้าคนภายนอกมองเข้ามาก็มักถูกพูดถึงในนามของบริษัท ดังนั้นในการจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ควรที่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับค่านิยมที่ตกลงร่วมกัน

สิ่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของ 7s Model เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง Hard Elements และ Soft Elements ที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรทั้งหมด ซึ่งจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของบริษัทนั่นเองค่ะ

อย่าง Coca-Cola เอง ที่มีการผลิตเครื่องดื่มใหม่ออกมาให้ตอบสนองกับความชอบหรือรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องสอดคล้องกับค่านิยมของแบรนด์อย่าง 6P ที่ประกอบไปด้วย Profit, People, Portfolio, Partners, Planet และ Productivity

#5 Style สไตล์

สไตล์ในที่นี้หมายถึงรูปแบบของผู้นำองค์กร พูดง่าย ๆ คือสไตล์ในการทำงานของผู้บริหาร หรือรูปแบบในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในบริษัทนั่นเอง ที่เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญกับบุคลากรภายในองค์กรค่ะ

เป็นสิ่งสําคัญที่มีผลกับความรู้สึกของพนักงาน ว่าจะมีความพึงพอใจในการทํางาน เกิดแรงจูงใจ และสามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพจนบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้หรือไม่

อย่างสไตล์การทำงานของ Coca-Cola เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน อย่างการทำโฆษณาของ Coca-Cola ก็มักจะสะท้อนถึงความรู้สึกที่มีความสุข การอยู่ร่วมกัน และการเฉลิมฉลอง สื่อสารว่าแบรนด์เป็นมากกว่าเครื่องดื่ม แต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์ของประสบการณ์ดี ๆ และการมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกันนั่นเองค่ะ

#6 Staff พนักงาน

พนักงานก็คือกลุ่มคนผู้มีความสามารถที่จำเป็นต่อองค์กรของเรานั่นเองค่ะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่แค่ตัวพนักงานเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการฝึกอบรม การดูแลรักษาพนักงาน 

จึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ขนาดกําลังคน ความหลากหลาย ผลประโยชน์ของพนักงาน การให้รางวัลหรือสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เป็นต้น

#7 Skill ทักษะ

ทักษะก็คือความสามารถของพนักงานในการทำงานให้สำเร็จ เป็นส่วนที่ทำให้แน่ใจว่าองค์กรเราจะได้มีคนที่มีทักษะที่เหมาะสม และช่วยขับเคลื่อนบริษัทให้บรรลุเป้าหมายได้ 

ทั้งนี้เราก็สามารถหาแนวทางพัฒนาทักษะให้กับพนักงานปัจจุบัน รวมถึงการมองหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะแบบที่เราต้องการ ที่มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กรได้

การมีช่องว่างด้านทักษะ หรืออธิบายง่าย ๆ คือ การที่พนักงานมีระดับความสามารถไม่สอดคล้องกับสิ่งที่นายจ้างคาดหวังไว้ ก็อาจทําให้สูญเสียประสิทธิภาพการทํางาน หรือพนักงานที่มีประสบการณ์ต้องแบกรับภาระเพิ่ม

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จําเป็นในการดูว่าพนักงานขาดทักษะที่สำคัญอะไรไปบ้าง และพัฒนาผ่านการสร้างโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดช่องว่างตรงนี้นั่นเองค่ะ

7s McKinsey Framework คืออะไร เครื่องมือวิเคราะห์ภายในองค์กร

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความนี้ที่ได้พาทุกคนมารู้จักกับ 7s McKinsey Framework คือ อะไร เครื่องมือที่จะชวนให้เราหันมาใส่ใจกับการวิเคราะห์สภาพภายในองค์กรของเรา ก่อนที่จะไปแข่งขันกับใคร หรือก่อนจะรู้เขา ต้องรู้เราเสียก่อนค่ะ

หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้ดี ๆ และประโยชน์กลับไปไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่า และสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอนที่ เว็บไซต์ Facebook  Instagram  Twitter และ Youtube ได้เลย

Source Source Source Source Source

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *