Hyper-Personalization ขั้นสุดที่เหนือกว่าของการตลาดแบบ Personalization
จากบทความเรื่อง The Power of Personalization นักการตลาดยุคใหม่ต้องรู้ใจก่อนลูกค้ารู้ตัว ที่ได้เสียงตอบรับอย่างดีมากมายจากหลายฝ่าย จนตอนนี้การตลาดวันละตอนกำลังจะออกหนังสือเรื่อง Personalized Marketing กับสำนักพิมพ์อัมรินทร์ในเร็วๆนี้ครับ มาวันนี้ผมได้รับโจทย์ใหม่ที่ท้าทายขึ้นที่เหนือกว่านั่นก็คือ Hyper-Personalization คุณอาจกำลังสังสัยและคิดอยู่ในใจแบบนี้ว่า “อะไรฟ่ะ! แค่ Personalization ยังไม่ทันไร นี่จะไป Hyper-Personalization กันอีกแล้วหรอ!?”
แต่ไม่เป็นไรครับไม่ต้องตกใจไป เพราะ Hyper-Personalization นั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากจะทำความเข้าใจไปกว่า Personalized Marketing เท่าไหร่เลย แต่ที่ยากกว่าคือ Execution หรือวิธีการที่จะทำให้ถึง แต่ที่ท้าทายกว่านั้นก็คือ Mindset ขององค์กรที่ต้องใช้ Data เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน และที่สำคัญที่สุดคือแค่ Data ที่ตัวเองมีไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องเป็น Data จากหลายๆ Source หรือที่ผมชอบบอกลูกค้าเวลาไปขายงานว่า คุณต้องมี Data หลาย Dimension ครับ
ถ้าพร้อมแล้วงั้นเราไปทำความรู้สึก Hyper-Personalization กัน แล้วคุณจะรู้ว่าเรื่องนี้มันช่างมันส์กว่าที่คิดครับ!
Hyper-Personalization หนึ่งในเทรนด์การตลาดสำคัญที่กำลังเป็นที่พูดถึงและจับตามองในระดับโลก(แต่บ้านเรายังเพิ่งเริ่มต้นคุยกันเรื่อง Personalization แค่บางองค์กรเท่านั้นในวันนี้ครับ) จากการศึกษาของ Epison พบว่าลูกค้ากว่า 80% อยากให้ธุรกิจร้านค้า หรือแม้แต่แบรนด์ต่างๆทำอะไรที่เป็น Personalized กับเค้ามากขึ้น ข้อเสนอสิทธิพิเศษต่างๆที่ใช่กับเค้ามากขึ้น ทำให้เค้ารู้สึกว่าดีใจที่ได้รับโปรโมชั่นที่คุณส่งมาว่าคุณช่างเป็นแบรนด์ที่รู้อกรู้ใจเขาเสียจริง ไม่ใช่เป็นคนชอบกินกาแฟร้อนแล้วชาตินี้ไม่เคยกินเย็น(แบบผม) แต่ร้านกาแฟประจำกลับส่งคูปองโปรโมชั่นให้กินเมนูปั่นมา แถมคูปองที่ว่ายังเหมือนกับลูกค้าทั่วไปที่ได้รับเหมือนกันทุกคน แบบนั้นถือว่าสอบตกไม่ใช่แค่เรื่อง Personalization แต่สอบตกแม้กระทั่งเรื่อง Segmentation ด้วยซ้ำครับ
ดังนั้นเราจะเห็นว่าผู้บริโภคยุคใหม่ในวันนี้ ต้องการให้แบรนด์รู้จักพวกเขาให้ดีกว่านี้ เข้าใจพวกเขาให้ลึกซึ้งกว่านี้ เพื่อจะได้ให้อะไรที่ใช่เหมือนกับคนที่รู้ใจของพวกเขาจริงๆ
นั่นหมายความว่า Personalized Marketing กำลังจะกลายมาเป็นอะไรที่เบสิคหรือพื้นฐานมากสำหรับการทำการตลาดต่อจากนี้ไป แน่นอนว่าทั้งนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ และผู้บริหารองค์กร ต้องรีบทำความเข้าใจ เรียนรู้ และปรับตัวรวมถึงเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานให้ทัน เพราะถ้าคุณไม่เริ่มคิดและทำตั้งแต่วันนี้ ไม่แน่ว่าแค่วันพรุ่งนี้ก็อาจจะสายเกินไปแล้วครับ
Personalization not just called me name!
แต่เดิมการทำการตลาดแบบ Personalization คือการจำชื่อลูกค้าได้ถูก เรียกชื่อลูกค้าได้แม่น ส่งข้อความหรืออีเมลแล้วมาพาดหัวด้วยชื่อลูกค้าของเรา หรือการที่คุณจำวันเกิดของลูกค้าได้แล้วส่งอีเมลออกไปอวยพรวันเกิดพร้อมกับให้ส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือว่าเป็น Personalized Marketing แล้ว
ในอดีตนั้นใช่ แต่ในปัจจุบันหรือการจะไปให้ถึงขั้น Hyper-Personalization เพียงแค่นี้นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะการทำการตลาดแบบ Personalization แต่เดิมนั้นคือการเอา data ที่คุณมีเพียงฝ่ายเดียวมาใช้วิเคราะห์ เพื่อตอบสนองสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนออกมา แต่การจะเปลี่ยนจาก Personalization ให้เป็น Hyper-Personalization นั้นคุณต้องใช้ Data จากหลาย Source มาประกอบต่อกัน รวมถึง Data ที่เป็น Real-time ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าคนนั้นเพิ่งอ่านจบไปเมื่อกี๊ สิ่งที่เขาเพิ่งจ่ายเงินซื้อไปเมื่อครู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมต่างๆที่ลูกค้าคนนั้นทำบนโลกออนไลน์ เพื่อให้คุณสามารถสื่อสารออกไปหาลูกค้าได้อย่างรู้ใจมากที่สุดครับ
ตัวอย่างเช่น ผมเคยเป็นลูกค้าประจำของร้านกาแฟ Segafredo ที่อยู่ในเครือเซ็นทรัล แบรนด์ก็จะมีข้อมูลการกินของผมเก็บไว้ตลอดเวลาผมบอกหมายเลขสมาชิก The 1 Card ทำให้แบรนด์รู้ว่าผมจะกินแต่เมนูลาเต้ร้อนทุกครั้ง และสั่งแต่แก้วใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ และมีน้อยครั้งมากทีจะสั่งแก้วเล็ก และก็มักจะเป็นช่วงบ่ายเท่านั้นที่จะกินแก้วเล็กที่ว่า แต่ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเมื่อปีก่อน ที่ผมอาจจะไม่ได้กินกาแฟที่ Segafredo บ่อยเหมือนเดิมเพราะผมอาจย้ายที่ทำงานไปจนไม่สามารถหาสาขาที่สะดวกใด้
ถ้าเป็นการทำการตลาดแบบ Personalization แบบเดิมคือแบรนด์อาจสงสัยว่าผมหายไปไหน แล้วก็พยายามส่งโปรโมชั่นส่วนลดหรือให้ข้อเสนออัพไซส์ฟรีเพื่อให้ผมกลับมากิน Latte ร้อนที่ร้านอีกครั้ง โดยไม่รู้เลยว่าตอนนี้ผมไม่ได้มีความสะดวกที่จะใช้โปรโมชั่นดีๆเหล่านั้นเลย
แต่ถ้าร้านกาแฟ Segafredo จะทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization ใส่ผม ทางแบรนด์ก็ต้องไปขอข้อมูลส่วนอื่นจากผมมาประกอบก่อนที่จะทำการตลาดมาหาผม โดยอาจจะเป็นการแชร์ข้อมูลกันเองภายในเครือเซ็นทรัล หรืออาจเป็นการแบ่งปัน Data กับพาร์ทเนอร์ภายนอกที่ผมยินยอมไว้แล้ว ทางร้านกาแฟ Segefredo ก็จะรู้ว่าที่ผมหายไปเพราะผมน่าจะย้ายไปทำงานที่อื่นที่ไม่มีสาขา เมื่อดู data จากการใช้เงินของผมผ่านโลเคชั่นร้านค้าต่างๆ ผ่านบัตรเครดิต หรืออาจจะเห็นว่าผมโพสบ่นว่าร้านกาแฟอื่นก็ยังไม่ดีเท่าร้านเดิมที่เคยกินด้วย Social listening tools
ทั้งหมดนี้ทำให้ Segafredo รู้ได้ว่าควรส่งโปรโมชั่นหาผมแค่เวลาที่ผมเข้ามาอยู่ในพื้นที่ๆ มีสาขาของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้ประหยัดงบการตลาด เพื่อให้ทำให้ผมรู้สึกไม่รำคาญ และที่แน่ๆก็เพื่อทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับความช่างรู้ใจของ Segafredo เป็นพิเศษจริงๆ
แต่ทั้งๆที่การทำ Hyper-Personalization นั้นให้ผมลัพธ์ที่ดีขนาดนี้ แต่จากรายงานของ Ascend2 กลับพบว่ามีแค่ 9% ของนักการตลาด(ฝั่งตะวันตก)เท่านั้นที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ และแม้นักการตลาดส่วนใหญ่กว่า 62% จะเริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครลงมือทำอะไรกับมันอย่างจริงจังเลย
แน่นอนว่าการเริ่มต้นทำในสิ่งใหม่ก่อนใครนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แถมคุณยังไม่มีคู่มือใดๆให้เรียนรู้ แต่การเป็นกลุ่ม Early adopter ก่อนกับการเรียนรู้และลองไปกับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ จะทำให้คุณนำหน้าคู่แข่งที่ยังไม่เริ่มทำอะไรเลยแน่นอนครับ
และนี่คือ 2 หัวใจสำคัญของการทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization ให้เกิดขึ้นจริง
เก็บ Data ให้เป็น
การจะทำ Personalization ได้นั้นต้องมี Data แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่ที่เก็บมานั้นมักไม่ถูก หรือเอาไปใช้งานต่อไม่ได้ ก็เข้าทำนองว่า Garbage in, garbage out ครับ ยิ่งถ้าจะทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization นั้นจะสักแต่ว่าเก็บเหมือนเดิมไม่ได้ แต่ต้องคิดมาให้เรียบร้อยแล้วว่าจะเก็บ data ไปเพื่ออะไร จากนั้นค่อยมาคิดว่าจะเก็บอะไร และอย่างไรครับ
จากรายงานพบว่านักการตลาดว่า 53% บอกว่า Data ที่มีอยู่นั้นเอามาวิเคราะห์เพื่อหา Insight ลำบากยากเย็นเหลือเกิน(ครั้งหนึ่งตอนผมไปเป็น Marketing Consultant ให้แบรนด์หนึ่งก็เจอปัญหาที่น่าปวดหัวนี้เหมือนกัน เพราะที่เก็บมาแถบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย) ทำให้ไม่รู้ว่าจะใช้งาน Data เหล่านั้นอย่างไรดีในการวางแผนการตลาด นี่ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นการทำ Personalization เลยนะครับ ยิ่งถ้าเป็นการทำให้ถึงขั้น Hyper-Personalization ยิ่งต้องใช้ Data มากมายมหาศาล ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเก็บ Data ให้เป็นครับ
เพราะแต่เดิมทีนักการตลาดส่วนใหญ่มักเก็บข้อมูลทั่วไปที่เป็นพื้นฐานอย่าง Demographic เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล แต่ data แค่นี้ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะการจะทำ Hyper-Personalization นั้นต้องมีข้อมูลที่ลึกมากกว่านี้ โดยต้องโฟกัสไปที่พฤติกรรม และบริบทหรือ contextual consumer data อีกด้วยครับ
เช่น ถ้าแบรนด์ส่วนใหญ่มักมีข้อมูลว่าบ้านผมอยู่แถวไหน นั่นก็คือกัลปพฤกษ์ แต่ถ้านักการตลาดเข้าใจ context ของข้อมูลเหล่านี้มากขึ้นเช่นว่า อ๋อ แถบกัลปพฤกษ์นั้นใกล้ห้างสรรพสินค้าอะไรบ้าง หรือถนนหนทางแถวนั้นเป็นอย่างไร ช่วงนี้กำลังทำถนนอยู่ใช่มั้ย รถน่าจะติดมาก ถ้าอย่างนั้นเราเสนอบริการ Delivery ให้ลูกค้ารายนี้มากกว่ารายอื่นน่าจะดีกว่า เพราะเขาคงไม่อยากขับฝ่ารถติดออกมา หรือถ้าอยากจะชวนให้มาที่ร้านก็ควรเป็นสาขาที่ผมขับรถไปได้สะดวกกว่าโดยไม่ต้องฝ่าถนนที่กำลังทำทาง โดยอาจจะให้ผมขับอ้อมไปทางสาขาถนนกาญจนา ไม่ใช่ให้ผมฝ่าเส้นที่กำลังจะทำงานไปให้เสียอารมณ์ครับ
โดยโปรโมชั่นหรือข้อเสนอพิเศษที่ให้ผมมาก็ต้องวิเคราะห์มาจากสินค้าที่ผมอาจเพิ่งกำลังเสริชหาไปเมื่อวันก่อน หรือดูแม้แต่ว่าในช่วงนั้นผมสะดวกที่จะใช้บริการด้วยมั้ย หรือถ้ายิ่งรู้ว่าช่วงเวลาไหนของวันกันแน่ที่ผมน่าจะว่างพอที่จะอ่านข้อเสนอที่แบรนด์ส่งมาก็จะยิ่งวิเศษมากครับ เช่น ร้านไอศกรีมร้านโปรดของผมถ้าจะส่งโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ก็ควรเลือกส่งมาให้ผมในเย็นวันศุกร์เพื่อให้ผมเตรียมตัวไปใช้วันเสาร์ แถมควรเลือกส่งมาตอนหัวค่ำก่อนนอน เพราะดูจากความ active ในการใช้ social media ของผม แล้วก็แนะนำให้ผมควรตั้งนัดใส่ Google Calendar ไปเลยเพื่อกันลืม จากนั้นตอนสายๆค่อยส่ง message ผ่าน Line@ มาเตือนผมอีกรอบ ว่าบ่ายวันนี้เรามีนัดกันนะ
ถ้าแบรนด์ไหนทำ Hyper-Personalization ได้แบบนี้ เอามือมาล้วงเงินในกระเป๋าผมไปได้เลยครับ
เห็นมั้ยครับว่าการตลาดแบบ Hyper-Personalization นั้นต้องใช้ data ที่หลากหลายมาอัพเดทอยู่เสมอเพื่อให้นักการตลาดสามารถเอาไปใช้วิเคราะห์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจ insights ที่ใช่สำหรับลูกค้าที่แม่นยำขึ้นอีกด้วยครับ
เพราะยิ่งคุณเก็บ data ที่ดีมีคุณภาพมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งแบ่งกลุ่มของเป้าหมายออกมาได้ละเอียดมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่าการทำการตลาดให้พวกเขาก็จะยิ่งเป็น Personalization มากขึ้นๆ และมากขึ้นจนพวกเขาถอนตัวจากคุณไม่ขึ้นแน่นอนครับ
เพราะแน่นอนว่าคนเรามักอยากจะอยู่กับคนที่เข้าใจเรามากกว่าใคร กับการซื้อสินค้าหรือบริการก็เช่นกัน ถ้าแบรนด์ไหนส่งข้อความที่รู้ใจไปได้ก่อน ให้ข้อเสนอที่กำลังจะอยากได้พอดีไปให้ก่อน เงินในกระเป๋าลูกค้าก็จะลอยมาเข้ากระเป๋าคุณแน่นอนครับ
ดังนั้น สิ่งสำคัญของการทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization คือการใส่ใจกับการเก็บ data ไม่ใช่ว่าเก็บอะไรมาก็ได้ก่อนเหมือนเมื่อก่อนที่เคยทำมา ทำให้ data ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเอาไปใช้งานได้จริงนัก หรือกว่าจะเอาไปใช้งานได้ก็เสียเวลามากเกินไป แถมยังอาจไม่ค่อยส่งผลดีอย่างที่ควรจะเป็นด้วยครับ
ถ้าคุณหรือองค์กรของคุณไม่มีความรู้เรื่องนี้ ก็ควรรีบเรียนรู้ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ครับ เรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ data เพื่อเอามาต่อยอดเวลาจะทำการตลาด หรือการเพิ่มคนที่มีความสามารถด้านนี้ไว้ในทีมก็ดีครับ
วิเคราะห์ Customer Journey แบบลงลึก
นักการตลาดและคนโฆษณาส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับการทำ Customer Journey ดี ก่อนจะทำแผนการตลาดหรือโฆษณาได้ ต้องเริ่มจากการเข้าใจก่อนว่าลูกค้าเราไปอยู่ตรงไหนบ้างก่อนจะมาเป็นลูกค้าเรา หรือแม้แต่หลังจากเป็นลูกค้าเราไปแล้วเค้าจะได้เจอเราในตอนไหนอีก
แต่การจะทำการตลาดแบบ Personalization ให้ไปถึงขั้นสุดนั้นต้องอาศัยการวิเคราะห์แบบลงลึกกับ Customer Journey หนักมาก เพราะแม้ว่าการทำ Customer Journey นั้นจะมีเป้าหมายเหมือนกันคือการเข้าใจลูกค้า แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นต่างกันมากจนน่าตกใจครับ
เพราะการวิเคราะห์ Customer Journey นั้นต้องมี data ที่แน่นมากๆ หรือต้องเป็น data ในขั้นของการปฏิสัมพันธ์(Interactions)ของลูกค้าเป็นรายบุคคลเลยทีเดียวครับ
เพราะการทำ Customer Journey ที่เราคุ้นเคยคือการเอารูปภาพมาช่วยให้เราเห็นภาพของลูกค้าส่วนหนึ่งแบบง่ายๆ แต่การทำ Customer journey analytics คือการเชื่อมต่อ data จากทุก touchpoint ของลูกค้าโดยละเอียด นั่นหมายถึงการเข้าถึงหลายๆช่องทางพร้อมกันในเวลาเดียว เช่น อาจจะเปิดโทรศัพท์ขณะอยู่ในร้าน แล้วก็คุยถามคำถามกับพนักงานไปพร้อมกัน และในโทรศัพท์ก็ยังเข้าไปดูที่แฟนเพจของแบรนด์ จากนั้นก็กระโดดไปที่เว็บ พร้อมกับเช็ครีวิวบนโซเชียลควบคู่กันไป เป็นอย่างไรครับ ฟังดูซับซ้อนน่าปวดหัวดีใช่มั้ย
เพราะ data จากหลายช่องทางที่ลูกค้าใช้จะทำให้เราเข้าใจตัวตนของลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น
การทำ Customer journey analytics คุณต้องใช้ข้อมูลจากหลาย platform มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อที่คุณจะได้เห็นภาพของลูกค้าคนนั้นชัดขึ้นแบบที่ data แหล่งเดียวหรือน้อยแหล่งจะให้ได้ครับ และนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า Customer data platform หรือ CDP (ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในวันหลัง) ด้วยแพลตฟอร์ม CDP นี้จะทำให้คุณเข้าใจกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของคุณในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้คุณสามารถทำ Hyper-Personalized Experiences ได้อีกด้วยครับ
CDP เป็นเครื่องมือใหม่ของนักการตลาด ที่จะทำให้เราเข้าใจลูกค้าได้ครบทุกด้านในแบบที่ไม่เคยเป็นครับ มันอาจฟังดูคล้ายๆระบบ CRM (Customer relationship management) แต่ขอบอกไว้ ณ ที่นี้ว่ามันคนละเรื่องกันเลยครับ เพราะ CRM นั้นมาจากแค่ data ที่คุณมีกับลูกค้าเท่านั้น แต่ CDP จะเป็นการที่คุณสามารถรู้จักลูกค้าคนนั้นผ่าน data จากภายนอกที่คุณไม่มีอีกหลายสิบหลายร้อยช่องทางที่คุณไม่สามารถเข้าถึงได้ขนาดนี้ครับ
ด้วยระบบ Customer Data Platform หรือ CDP นี้ จะทำให้การทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization นั้นง่ายขึ้นมากสำหรับนักการตลาดยุคใหม่ เพราะแพลตฟอร์มนี้จะทำให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการอยู่แล้วดีขึ้นมาก และยังทำให้คุณได้รู้จักกับกลุ่มคนใหม่ๆ ที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าคุณแต่คุณอาจไม่เคยคิดถึงพวกเขามาก่อน
สุดท้ายแล้วการตลาดแบบ Personalization จะกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดา จนทำให้ต้องหนีกันขึ้นมาทำ Hyper-Personalization ในที่สุด
แม้ว่าการตลาดแบบ Hyper-Personalization ยังไม่ใช่กระแสหลักในวันนี้ แต่แน่นอนว่าคุณไม่อาจปฏิเสธเทคโนโลยีที่แสนจะดีแบบนี้ได้ เพราะเมื่อถึงวันที่ธุรกิจต่างๆ ต่างก็ทำการตลาดแบบ Personalization ได้ดีเหมือนกันแล้วในระดับหนึ่ง ถึงวันนั้นการแข่งขันว่าแบรนด์ใครจะทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization ก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนโทรศัพท์มือถือเกิดขึ้นมาแล้ว ถึงวันนึงก็มี Smartphone เกิดตามมา จากนั้น Smartphone ก็กลายเป็นแค่เรื่องปกติธรรมดาจนเราเรียกมันกลับไปเป็น “โทรศัพท์” เฉยๆโดยไม่มีคำว่า Smart เติมข้างหน้าอีกต่อไป
ดังนั้นองค์กรใครที่คิดถึงการทำ Hyper-Personalization ก่อนย่อมได้เปรียบ ยิ่งถ้าระบุเป็นหนึ่งใน Strategy ในแผนการตลาดขององค์กรก็ยิ่งได้เปรียบเข้าไปใหญ่อีก
เพราะการทำการตลาดแบบ Hyper-Personalization นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เอาแค่การทำ Personalization ให้ได้ในวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะแย่เลย แต่ธุรกิจวันนี้มันก็เป็นแบบนี้แหละครับ เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่สิ่งหนึ่งก็คือองค์กรไหนหรือแบรนด์ไหนที่เป็นพวก Early adopter ที่เข้ามาลองเล่นเพื่อเรียนรู้เป็นประสบการณ์ก่อนใคร ก็เหมือนได้แต้มต่อเวลาเล่นกอล์ฟเมื่อคนอื่นจะเริ่มลงสนามอย่างไรล่ะครับ
อ่านบทความเรื่อง The Power of Personalization นักการตลาดยุคใหม่ต้องรู้ใจก่อนลูกค้ารู้ตัว > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/the-power-of-personalization/