D2A Direct-to-Avatar การตลาดยุค Metaverse กับ NFT Marketing

D2A Direct-to-Avatar การตลาดยุค Metaverse กับ NFT Marketing

Metaverse คงเป็นคำที่นักการตลาดได้ยินกันหนาหูมากขึ้นทุกที บริษัทโน้นก็ลงทุนโปรเจคนี้ หรือบริษัทนี้ก็อาจลงทุนสร้าง Metaverse ขึ้นมาใหม่เลย ในบ้านเราที่กำลังเป็นข่าวดังของการสร้าง Metaverse ก็คงหนีไม่พ้น VelaVerse ของ Class Cafe ที่ขยับจากร้านกาแฟขึ้นมาสู่การก้าวเข้าสู่โลก Decentrailization แต่คำถามสำคัญที่นักการตลาดและคนทำธุรกิจอยากรู้คือ เราจะเข้าไปใช้ชีวิตใน Metaverse จริงๆ อย่างไร หรือมันจะออกมาในรูปแบบไหน อะไรบ้างที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในนั้น หรืออะไรจากในนั้นจะส่งผลออกมานอก Metaverse บทความนี้จึงสรุปและเรียบเรียงมาจากรายงาน Into The Metaverse ของ Wunderman Thompson ที่จะอธิบายให้เป็นภาพ Lifestyle ชีวิตวิถีใหม่ใน Metaverse หรือที่เราจะเรียกกันต่อไปว่า MetaLives นั้น มีอะไรสำคัญที่นักการตลาดและคนทำธุรกิจอย่างเราจะเป็นต้องรู้ครับ

เรามาเริ่มต้นกันที่ในส่วนแรกนั่นก็คือการพัฒนาจาก​ Digital Ownership สู่การขยับมาเป็น Digital Assets ที่เป็นมากกว่าแค่ดิจิทัลไฟล์ ด้วยเทคโนโลยี NFT มาสู่การทำ NFT Marketing ใน Metaverse

NFT Marketing Strategy จาก Digital Ownership สู่ Digital Assets ใน Metaverse

Metaverse เข้ามาทำให้เราต้องนิยามคำว่าทรัพย์สิน หรือทรัพย์สมบัติใหม่ เดิมทีเราใช้เงินกับอะไรที่จับต้องได้แล้วเอามาเก็บรักษาหรือสะสมไว้เพราะคิดว่ามูลค่าสิ่งนั้นจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะกระเป๋าชาแนล (เพิ่มขึ้นทุกปี) หรือนาฬิกาอย่าง Rolex หรือ Patek ที่อาจจะซื้อเองหรือยืมเพื่อนมา หรือแม้แต่การซื้อที่ดินเองก็ตาม ซึ่งที่สิ่งเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็เพราะความจำกัดหรือ Scarcity ของมันนั่นเอง

สิ่งใดก็ตามจะมีคุณค่าจนทำให้มูลค่าเพิ่มได้ก็มาจากมีความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย และการที่เราผลิตสิ่งเหล่านี้ได้จำกัดอาจเพราะวัตถุดิบนั้นมีจำกัด หรือถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิต ก็เป็นหลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์แบบง่ายๆ ว่าทำไมอะไรๆ ในโลกส่วนใหญ่ถึงแพงขึ้นปีทุกๆ

แต่ถ้าสิ่งใดสามารถผลิตเพิ่มได้ไม่จำกัด หรือผลิตได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ราคาของสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะคงที่ไม่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา หรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำก็ในเมื่อเราผลิตได้มากกว่า จากต้นทุนที่ถูกกว่า ผู้ผลิตก็ย่อมอยากทำกำไรให้ได้มากกว่าคู่แข่งที่อาจจะคิดค้นเทคโนโลยีนั้นไม่ได้ครับ

ทีนี้กลับมาที่ความเป็นดิจิทัล เดิมทีความเป็นดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ทุกสิ่งที่เปลี่ยนรูปเป็นดิจิทัลได้มีราคาถูกลงมหาศาล ด้วยความสามารถในการทำซ้ำ หรือใช้ซ้ำได้โดยไม่จำกัด ไม่ทำให้เกิดการเสื่อมมูลค่าแต่อย่างไร ลองคิดภาพง่ายๆ ก็ได้ครับว่า สมมติสมัยก่อนอยากฟังเพลงเราต้องไปหาซื้อเทป หรือแผ่นเสียง แผ่นซีดี แล้วเอามาฟังกับเครื่องเล่นที่บ้าน ทำให้มันจำกัดความสามารถในการใช้งานที่ 1 ต่อ 1 เป็นหลัก นั่นก็คือหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งคน หรือบางคนบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวผมเปิดลำโพงดังๆ เปิดผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้านก็ได้ครับ

และด้วยคุณสมบัติความเป็นดิจิทัลที่สะดวกต่อการทำซ้ำ สะดวกต่อการใช้งานร่วมกันทางออนไลน์ ส่งผลให้ราคาสิ่งต่างๆ ถูกลงมาก และก็ก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในวันแรกๆ สมัยที่อุตสาหกรรมเพลงหรืออุตสาหกรรมภาพยนต์จะลงมาเล่นตลาดเพลงดิจิทัล ก็เกิดการพยายามติดโปรแกรมป้องกันการคัดลอก หรือ iTunes เองก็เคยออกกฏว่าซื้อแล้วสามารถดาวน์โหลดไปฟังได้ไม่เกิน 5 ครั้ง และไม่สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ และเคสนี้ก็เคยถูกดาราดังอย่าง Bruce Willis เคยฟ้องร้องต่อศาลว่าก็ในเมื่อไฟล์มันเป็นของเขา แล้วทำไมเขาจะส่งต่อให้คนอื่นฟังแทนไม่ได้หละ เรียกได้ว่าความเป็น Digital นั้นเข้ามาสร้างความวุ่นวายต่อนิยามของการครอบครองนานแสนนานเลยทีเดียว

แล้วเจ้า Metaverse เข้ามาแก้ปัญหาการก้อปไฟล์ไปไม่ใช่กัดจนทำให้คุณค่ามันเสียไปได้อย่างไรหละ?

คำตอบคือด้วยความที่ Metaverse เก็บข้อมูลไว้บน Blockchain และด้วยเทคโนโลยี NFT ทำให้ข้อมูลใดๆ ก็ตามสามารถสืบสาวย้อนหลังตามกลับไปได้ว่ามันถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อไหร่ ที่ไหน จากใคร และจากนั้นก็ถูกส่งต่อไปให้ใครบ้าง

ดังนั้นต่อให้มีคนก๊อปปี้ไฟล์นั้นของคุณไปสักล้านครั้งก็ไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วเราทุกคนสามารถสืบสาวย้อนหลังกลับไปได้ว่าตกลงแล้วไอ้เจ้าของไฟล์อันนี้ เจ้าของเพลงนี้ เจ้าของหนังเรื่องนี้ เจ้าของบทความนี้ หรือแม้แต่เจ้าของอะไรก็ตามที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลสิ่งนี้เป็นของใคร

เปรียบเทียบได้กับภาพวาดโมนาลิซ่า ที่ต่อให้ถูกลอกเลียนแบบทำซ้ำเป็นล้านๆ ครั้งคุณค่าและมูลค่าของภาพต้นฉบับก็ไม่ลดน้อยถอยลงไปแม้แต่นิดเดียว เพราะทุกคนรู้กันว่า Original ผลงานชิ้นนี้อยู่ที่ไหน เป็นของใคร และกลับกลายเป็นว่ายิ่งทำซ้ำออกไปให้แมสเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มูลค่าและคุณค่าของมันเพิ่มขึ้นไปแทนครับ

หรือเทียบกับกระเป๋าแบรนด์เนมสักแบรนด์ก็ได้ ต่อให้ Gucci, Louis Vuitton, Chanel หรือ Hermes นั้นถูกลอกเลียนแบบทำของปลอมขายตามตลาดนัดขนาดไหน คุณค่าของความเป็นของจริงที่สามารถตรวบสอบได้ก็มีแต่ทำให้ของแท้แพงขึ้นทุกปี (ล่าสุดก็ปรับขึ้นไปอีก 30% แล้วสำหรับชาแนลปีนี้ครับ)

และนั่นก็คือคุณสมบัติพิเศษของ Blockchain กับ NFT ที่ทำให้ต่อไปนี้เราตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าภาพที่เราใช้โชว์บนออนไลน์นั้นเป็นของเราจริงหรือแค่ JPEG เท่านั้น เพราะมันคือเครื่องยืนยันสถานะเราเหมือนกับที่เราซื้อรถยนต์หรูซูเปอร์คาร์ แล้วถ่ายลงบนโซเชียลมีเดียให้คนทึ่งว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งนี้นะ เหมือนกับที่เราอวดสถานะผ่านเสื้อผ้าหรือกระเป๋าแบรนด์ดัง ดอกคามิเลียสีดำว่าฉันได้ Chanel รุ่น Classic Caviar เบอร์ 9 สายเงินมาครอบครองเรียบร้อยแล้ว

ทีนี้ถ้ามาคุยกันในเรื่องของ Function ที่ได้จากการใช้งานอาจมีคนบอกว่า ของจริงมันยังใช้ได้ แล้วเจ้าของดิจิทัลมันเอาไปใช้อะไรได้นอกจากอวด

เรื่องนี้ผมอยากให้เรากลับไปทำความเข้าใจจิตวิทยาการตลาดนิดนึงว่า ต่อให้กระเป๋าราคาแพงแค่ไหนแต่ถ้าพูดถึง Functional ของมันก็คือการเอาไว้ใส่อะไรสักอย่างใช่ไหมครับ หรือแม้แต่รถยนต์ก็เช่นกัน สุดท้ายก็ขับกันแค่บ้านกับที่ทำงานในระยะทางไม่กี่สิบกี่โลเป็นส่วนใหญ่ แถมยังทำความเร็วได้จริงไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรอก แต่ทำไมคนมากมายจึงยังอยากได้ซูเปอร์คาร์ที่สามารถเร่ง 0 ถึง 100 ได้ในระยะเวลาต่ำกว่า 6 วินาที ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ในระดับ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันหละ

เพราะมันคือเครื่องยืนยันสถานะ หรือเอาไว้ใช้สะท้อนถึงสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นมองว่าเราเป็นใคร มันก็คือสิ่งที่นักการตลาดทั้งโลกทุ่มเทสร้างกันมา เราจงครอบครองอะไรสักอย่างที่ไม่จำเป็นในราคาที่แพงมากๆ เพราะมันจะบอกให้คนอื่นรู้แทนการกระทำว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร

และนั่นก็หมายความว่าวิถีชีวิตหรือ Lifestyle ใน Metaverse หรือที่เรียกว่า MetaLives คือการที่เราตื่นมาไม่ได้แค่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ เครื่องประดับแพงๆ ในชีวิตจริงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มันคือการที่เราเลือกว่าวันนี้ Avatar หรือตัวเราใน Metaverse นั้นจะใส่ชุดอะไร ชุดของ Balenciaga หรือ Louis Vuitton ดีหละ แล้วเราจะใส่กระเป๋า Gucci ใน Metaverse ที่ขายแพงกว่ากระเป๋าจริงอีกด้วยไหม หรือเราอาจจะขึ้นรูปโปรไฟล์เป็น NFT Bored Ape ที่ซื้อมาด้วยราคา 11 ล้านบาทหละ

เอาเป็นว่าผมเห็นนักลงทุนสตาร์ทอัพคนหนึ่งเปลี่ยรูปโปรไฟล์เป็น Bored Ape มีคนเข้ามากด Likes และคอมเมนต์กันล้นหลาม นั่นแหละครับคือนิยามของคำว่า Digital Asset ในรูปแบบใหม่ ก็ในเมื่อชีวิตเราวันนี้ขาดออนไลน์ไม่ได้ เราใช้ชีวิตจริงออฟไลน์โดยไม่ออนไลน์อย่างไรได้ แค่คิดก็นึกไม่ออกแล้ว (ผมรู้ว่ายังมีคนที่ไม่ออนไลน์เลย แต่ไม่ใช่เพื่อนๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้แน่นอนครับ)

ผมเชื่อว่าคุณน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า Virtual Possessions หรือ Digital Assets ใน Metaverse คืออะไร มันเกี่ยวกับ NFT อย่างไร เราจะลองไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันอีกสักว่าก่อนจะมีเทคโนโลยี NFT เข้ามา Digital Ownership จาก Virtual Possessions นั้นมีอะไรบ้างที่คนยอมจ่ายเงินให้มากกว่ากับสิ่งที่ทำอะไรไม่ได้มากกว่าแค่เอาไว้อวดกันบนออนไลน์ และก็อวดกันได้แค่เฉพาะในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น แล้วพอมี NFT เข้ามามันเกิดการพัฒนาไปต่อได้ขนาดไหนกันครับ

แต่งตัวจริงจังก่อนจะออนไลน์

ทุกวันตอนเช้าก่อนเราจะออกบ้านไปพบใคร พวกเราจำนวนไม่น้อยใช้เวลาเลือกสรรว่าควรจะใส่ชุดไหน เครื่องประดับใด ถือกระเป๋าใบไหน และสำหรับคนที่ชอบออน์ไลน์ ใช้เวลาอยู่ในเกมมากๆ เราก็อดไม่ได้ที่จะทำเหมือนกันว่าเราจะแต่งตัวแบบไหนให้ Avatar ของเราก่อนจะออกไปเจอเพื่อนๆ ในเกมออนไลน์ดี หรือถ้าใครที่เล่นเกมขับรถก็อาจจะซีเรียสว่าจะแต่งรถแบบไหนให้ดูเฟี้ยวฟ้าวดี บางคนอาจถึงขั้นทุ่มทุนซื้อบ้านในเวอร์ชั่นดิจิทัลที่เป็น NFT แล้วเอาไว้โชว์ได้ใน Metaverse เรียกได้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Augmented Reality มากขึ้นทุกนาที เรากำลังมีความจริงเพิ่มเติมจากโลกแห่งความจริงขึ้นเรื่อยๆ นี่คือชีวิตวิถีใหม่ ไลฟ์สไตล์ใน Metaverse

แต่ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่โลกของ NFT หรือ Metaverse นั้น ลองมาดูบริษัทผู้บุกเบิกกันก่อนดีกว่าบ้างมีใครบ้างที่สามารถทำ Digital Products ให้มี Values มากกว่าแค่ไฟล์ทั่วไป ทำให้คนเห็นคุณค่าและยอมจ่ายด้วยมูลค่าที่มากกว่าปกติ

The Fabricant

ผู้นำในธุรกิจ Digital Fashion มาก่อนใครๆ จะรู้จักกับคำว่า Metaverse หรือ NFT เสียอีก พวกเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนบางกลุ่มที่ใส่ใจกับ Avatar หรือตัวละครที่เป็นตัวแทนของเราบนออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าควรจะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างไรให้ดูเก๋ไก๋ใน Community นั้น

จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในกลุ่มคนเล่นเกมนั้นจริงจังกับการแต่งตัวของตัวละครเขาอย่างมาก มีหลายคนยอมทุ่มทุนซื้อสกินราคาแพงทั้งที่ไม่ได้เพิ่มความสามารถพิเศษแต่อย่างไร แต่ก็ยอมจ่ายเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเก๋และเท่ห์ภายในเกมมาช้านานแล้วครับ

และความเท่ห์ของสกินภายในเกมก็ไม่ได้เอาไว้อวดแค่ภายในเกม แต่ยังสามารถเอาไว้อวดในโลกนอกเกมได้ เช่น บางคนเป็น Game Caster อาจจะอัดคลิปวิดีโอการใช้สกินใหม่ของตัวเองออกไปให้คนอื่นเห็น หรือบางคนอาจจะแคปภาพนั้นแล้วเอาไปโพสลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกไลก์จากผู้ติดตามมากมายก็มีให้เห็นเป็นประจำ

ซึ่งการเล่นเกมแน่นอนเราไม่ได้มีแค่เพื่อนในเกม แต่เพื่อนที่เล่นเกมกับเราในวันนี้นั้นล้วนเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนในมหาวิทยาลัย หรือเพื่อนกลุ่มสังคมใหม่ๆ ที่รวมตัวกันมาเล่นเกม แล้วค่อยเข้าไปรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ภายในเกมอีกทีนึง

ทาง The Fabricant เองเป็นบริษัทที่โฟกัสกับจัดแสดงโชว์ชุดเสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆ ที่เป็น Digital Fashion เท่านั้น หมายความว่าพวกเขาออกแบบชุดเสื้อผ้าแฟชั่นที่ไม่มีอยู่ในโลกจริง ไม่ใช่แค่การจัดโชว์เสื้อผ้าจริงๆ ทางออนไลน์เหมือนที่แบรนด์ทั่วไปทำกัน

ซึ่งก็มีคนที่สนใจที่จะซื้อแค่ Digital Fashion จาก The Fabricant มากมาย ในปี 2019 คอลเลคชั่นที่เป็น Digital Dress ของบริษัทนี้ขายได้เงินจริงกว่า 9,500 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็กว่า 300,000 บาท แล้วนั่นก็ทำให้ทาง The Fabricant เป็นที่สนใจจากบริษัทแบรนด์ดังมากมายที่อยากร่วมงานด้วย มีตั้งแต่ Adidas, Puma และ Tommy Hilfiger

ซึ่งเงินจำนวนกว่าสามแสนบาทสำหรับการซื้อเสื้อผ้าที่ไม่มีอยู่จริง จับต้องไม่ได้ เป็นแค่ไฟล์ดิจิทัลเอาไว้ดูเป็นความสุขส่วนตัวอาจเป็นเรื่องที่ฟังดูเพี้ยน แต่คุณรู้ไหมครับว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจ Digital Ownership หรือ Digital Assets นี้มีขนาดใหญ่กว่าที่เราคิดไว้มากนัก

Digital House หรือบ้านที่เป็นไฟล์ดิจิทัลนั้นสามารถขายได้เงินกว่า 76,000 ดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2,443,704 บาท หรือผลงานที่เป็น Digital Art เองก็มีคนซื้อไปด้วยเงินกว่า 9,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 289,386 บาท หรือแม้แต่กระเป๋าถือที่เป็นแค่ดิจิทัลจับต้องจริงไม่ได้ ยังขายได้เป็นเงินกว่า 2,900 ดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ แสนบาทครับ

แบรนด์ต่างๆ ในด้านแฟชั่นเริ่มเข้าไปสร้าง Digital Products มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 NFT Marketplace ที่ชื่อว่า RTFKT สามารถขายรองเท้าผ้าใบดิจิทัล หรือ Digital Sneakers กว่า 600 คู่หมดภายในสามนาที ซึ่งทำเงินได้กว่า 3.1 ล้านดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยก็ประมาณร้อยล้านบาทครับ

Credit: https://www.youtube.com/watch?v=K9cNZsngUHw

ในเดือนมิถุนายน 2021 แบรนด์หรูอย่าง Gucci ก็ออกกระเป๋าที่เป็น Digital Bag ในเกม Roblox ซึ่งราคาขายในเกมนั้นสูงถึง 4,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยก็เกือบแสนสามหมื่นบาท แน่นอนว่าขายหมดเกลี้ยง ทั้งที่ราคากระเป๋าในเกมนี้แพงกว่าราคากระเป๋าจริงที่อยู่นอกเกมเสียอีกครับ

ทาง Aglet แอปเกมเกี่ยวกับรองเท้า เสื้อผ้า แฟชั่น ที่สามารถให้ผู้ใช้สามารถช้อปปิ้งในเกมได้ เปิดให้ผู้เล่นสามารถซื้อรองเท้า Sneakers รุ่นที่หายากมากๆ จากแบรนด์ดังๆ อย่าง Chanel, Nike และ Balenciaga ซึ่งก็มีผู้เล่นคนหนึ่งที่ซื้อ Digital Sneakers หรือรองเท้าผ้าใบดิจิทัลที่ใช้งานได้เฉพาะในแอปนี้เท่านั้นเป็นเงินกว่า 15,000 ดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยก็เกือบๆ 5 แสนบาทเท่านั้นเองครับ

อ่านถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยว่าทำไมคนเราจึงบ้าซื้อของที่จับต้องไม่ได้ เห็นได้อย่างเดียว แถมยังอยู่บนออนไลน์ นั่นก็เพราะว่าวิธีการอวดสถานะใหม่ๆ ของคนในวันนี้ไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงๆ ในโลกจริง แต่เราสามารถซื้อของแพงจริงๆ บนโลกออนไลน์เอาไว้โพสอวดหรือแชร์ให้คนเห็นก็ได้ครับ

เพราะเอาเข้าจริงแล้วสินค้ากลุ่มแฟชั่นคุณสมบัติหรือฟังก์ชั่นการใช้งานของมันไม่ได้ต่างกันอะไรมากมาย แต่ราคากลับต่างกันมหาศาลเมื่อเป็นของแบรนด์หรูหรือแบรนด์ดัง ทั้งที่ก็ผลิตจากหนังประเภทเดียวกัน แต่ทำไมอันนึงหลักพัน แต่อีกอันถึงขายได้หลักแสนสบายๆ

และนั่นก็ทำให้บางแบรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนี้หันมาทำแต่​ Digital Products หรือ Digital Fashion อย่างเดียวก็สามารถทำกำไรอยู่ได้สบายๆ ไม่ต้องวุ่นวายคิดหาทางผลิตให้ยุ่งยาก แค่จินตนาการให้ออกว่าแบบไหนนะที่คนเห็นแล้วอยากจะซื้อเก็บเป็น Digital Collection เอาไว้

Tribute Brand แบรนด์ที่ขนานนามตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Contactless Cyber Fashion หรือจะเรียกว่าแบรนด์ที่ขายชุดทิพย์ก็ว่าได้ แบรนด์นี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2020 โดยออกขาย Digital Clothing แบบ Limited Edition แล้วก็มีทั้งทำตามสั่งในราคาพิเศษ (แพงพิเศษ) ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีให้ใส่จริง ดีหน่อยคือมีให้เราใส่ได้แบบ AR แล้วก็เอาภาพนั้นไปโพสแชร์ให้เพื่อนเห็นว่ารวย

Auroboros บริษัทที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าหรู Luxury Fashion และก็เป็น Digital Fashion อย่างเดียวเช่นกัน ซึ่งในเดือนมกราคม 2021 บริษัทนี้ก็ได้ออกคอลเลคชั่นใหม่บน Drest แอปที่เป็นเกมแต่งตัวทิพย์ แต่เอามาแต่งในชีวิตจริงไม่ได้ และแน่นอนว่าก็มีคนมากมายยอมซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นในเกมอยู่เรื่อยๆ เพื่อเอามาแต่งตัวจำลองที่เป็น Avater ของเธอ จนทำให้แบรนด์และแอปสามารถทำเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในเดือนกรกฏาคม 2021 Digital Fashion House อย่าง DressX ก็สามารถระดมทุนได้เงินกว่า 2 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายธุรกิจออกไปยัง NFT Marketplace และแบรนด์อย่าง BNV ที่ย่อมาจาก Brand New Vision ของฮ่องกงที่สร้าง NFT platform ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับต่างๆ ที่เป็น NFT กันบนแพลตฟอร์ม ซึ่งล่าสุดในก็ดูเหมือนจะระดมทุนจนทำให้บริษัทมีมูลค่ารวมพันล้านดอลลาร์กับทาง Animoca Brands

นี่คือเทรนด์ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า D2A หรือ Direct to Avatar ครับ

D2A Direct to Avatar ไม่ต้องขายให้คนใส่ แต่ขายให้ตัวละครของคนนั้นใส่อีกที

แบรนด์หรูอย่าง Ralph Lauren เองก็ได้เปิดขายชุดแฟชั่นที่เป็น Digital Clothing Collection ในเดือนสิงหาคม 2021 จำกัดแค่ 50 ชิ้นเท่านั้นบนแพลตฟอร์ม ZEPETO ที่เป็นโซเชียลมีเดียในรูปแบบเกมที่สามารถสร้างตัวละครหรือ Avatar เราเองได้

American Eagle เองก็ประกาศจะออกแบบชุดเสื้อผ้า Digital Clothing Collection สำหรับตัวละครหรือ Avatar ใน Bitmoji ตอนเดือนกรกฏาคม 2021 ที่ผ่านมาเช่นกัน

Photo: https://pokemongolive.com/th/post/gucci-northface-collection/

Gucci กับ The North Face ก็ประกาศจับมือสร้างคอลเลคชั่นใหม่ร่วมกันสำหรับ Avatar ใน Pokemon Go ในเดือนมกราคม 2021 และในเดือนมีนาคม 2021 เอง ทาง Gucci ก็ได้ออกรองเท้าใหม่ที่เป็น Virtual Sneakers ที่ซื้อแล้วใส่ดูได้ทาง AR เท่านั้น

และเรื่องการจับโอกาสทางธุรกิจกับ Digital Products ไม่ได้มีแค่แบรนด์แฟชั่นเท่านั้น แต่กับแบรนด์รถยนต์หรูก็ยังลงมาเล่นด้วยไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Maserati, Aston Martin และ Tesla ก็ได้เปิดตัวรถยนต์ของตัวเองภายในเกม PUBG ตั้งแต่ปี 2020-2021 แล้วด้วยซ้ำ

รถยนต์สุดหรูอย่าง Rolls-Royce เองก็ไม่ยอมน้อยหน้ากัน พวกเขาได้เปิดตัวรถยนต์ Virtual Car ครั้งแรกกับเกม QQ Speed ตั้งแต่ปี 2020 แล้ว

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเห็นว่า Digital Products หรือ Digital Assets นั้นจะมีนิยามที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจะให้คุณค่ากับสิ่งที่เอาไว้แสดงฐานะตัวเองบนโลกดิจิทัลที่เราออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราใช้เวลาบนออนไลน์มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งให้กับค่าสิ่งที่อยู่บนนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งการเข้ามาของเทคโนโลยี NFT ทำให้การจำกัดเกิดขึ้น ส่งผลให้ถ้าเมื่อไหร่มี Demand มากกว่า Supply ก็ก่อให้เกิดความขาดแคลน Scarcity ตามหลักเศรษฐศาสตร์ขึ้นมา และนั่นก็หมายความว่าสิ่งนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามความอยากครอบครองของผู้อื่นครับ

D2A Direct to Avatar กับ NFT Marketing นี่คือการตลาดยุค Metaverse ที่นักการตลาดต้องเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้

ตั้งแต่ล็อกดาวน์มาผู้คนมกามายบนโลกก็ถูก Disruption ให้ต้องผันตัวมาอยู่บนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งแบบเต็มใจและถูกใจ ส่งผลให้เราเปลี่ยนมาใส่ใจกับตัวตนบนออนไลน์มากขึ้น เราเริ่มขยับตัวออกจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเดิมๆ ที่ทำอะไรไม่ได้มากกว่าการโพสเป็นหลัก ไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถเล่นได้ ทำอะไรๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็ส่งผลให้เราอยากจะเป็นเจ้าของอะไรสักอย่างที่บอกว่าเรานั้นแต่งต่างจากคนอื่นในนั้น ในขณะเดียวกันก็สามารถสะท้อนถึงสิ่งที่เราอยากเป็นได้เช่นกันครับ

เราจะเห็นแบรนด์ดังๆ มากมายจากโลกจริงขยับเข้ามาสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะโลก Metaverse มากขึ้นทุกที เราจะเริ่มเห็นผู้คนมากมายเรียนรู้จะเข้ามาใช้ชีวิตและหาโอกาสใหม่ๆ ในนี้ ในนั่นก็หมายถึงโอกาสทางธุรกิจของนักการตลาดที่จะต้องรีบมองให้ออกก่อนคู่แข่ง

หากคุณยังไม่เริ่มต้นทำ Metaverse Marketing ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณยังไม่เริ่มเรียนรู้ที่จะทำอะไรในปีนี้ ผมเกรงว่าปีหน้าโอากสของคุณคงจะริบหรี่มากขึ้นทุกทีครับ อย่ามัวรอให้แบรนด์เราถูก Metaverse Disruption เหมือนที่หลายคนถูก Digital Disruption มาแล้วเพราะมัวแต่รอให้คนอื่นทำไปก่อน จนถึงเวลาที่ต้องทำก็มักจะสายเกินไปครับ

อ่านบทความเรื่อง Metaverse Marketing 101 ในการตลาดวันละตอนต่อ

ตอนที่ 1 Metaverse คืออะไรและสำคัญกับ Marketing อย่างไรบ้าง

ตอนที่ 2 9 เรื่องที่นักการตลาดต้องรู้เกี่ยวกับ Metaverse Marketing

Source: https://www.wundermanthompson.com/insight/new-trend-report-into-the-metaverse

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *