Metaverse 101 เมตาเวิร์สคืออะไร? กับ 9 สิ่งที่คุณต้องรู้

Metaverse 101 เมตาเวิร์สคืออะไร? กับ 9 สิ่งที่คุณต้องรู้

Metaverse เชื่อว่าคำนี้ยังคงก้องกังวาลในหูของนักการตลาดและคนทำธุรกิจมากมาย ว่าเจ้ากระแสใหม่ที่มาแรงพลิกโลกทั้งใบจนทำให้ Facebook เองถึงขนาดประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อประกาศก้าวว่าจะเป็นผู้นำโลกใหม่ใบนี้ให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ยังคงนึกไม่ออกว่าเราจะใช้ชีวิตจริงๆ บนออนไลน์ บนดิจิทัล หรือบน Metaverse ได้จริงๆ หรือ? มันเป็นแค่โลกในจินตนาการหรือสังคมของเฉพาะกลุ่มคนที่เสพย์ติดอินเทอร์เน็ตหรือเปล่า (ขอโทษที วันนี้คุณออกจากบ้านโดยไม่พกมือถือ หรือขาดอินเทอร์เน็ตได้ด้วยหรอครับ) จากบทความแรกที่ปูพื้นฐานเล่าเรื่องว่า Metaverse คืออะไรและเกี่ยวกับโลก Marketing อย่างไร? มาสู่บทความตอนที่ 2 ที่จะฉายภาพให้เราเห็นว่าชีวิตที่ขาด Metaverse ไม่ได้เป็นอย่างไร คงจะคล้ายที่เราขาดอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนไม่ได้ในวันนี้ครับ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูอนาคตของ Lifestyle in Metaverse หรือที่เราจะเรียกกันว่า MetaLives ครับ

Metaverse 101 เมตะเวิร์สคืออะไร?

จากรายงานของ Into the Metaverse ของ Wunderman Thompson ที่อธิบายเรื่องนี้ทั้งหมดไว้ ได้ทำการเกริ่นภาพรวมให้เราเห็นเร็วๆ ว่า Metaverse คืออะไร หรือเป็นอะไรได้บ้างดังนี้ครับ

Persistent ตลอดกาลและตลอดไป

ไม่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นข้อมูลทุกสิ่ง การกระทำทุกอย่าง จะล้วนถูกเก็บไว้บน Metaverse และเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ เปรียบเสมือนกับกาลเวลาที่ไม่ไหลย้อนกลับ และเราทุกคนก็รู้ว่าวินาทีข้างหน้ามีอยู่เสมอ จากเดิมบางสิ่งบางอย่างอาจมีจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง ภาพยนต์ เกม เพลง หรือแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ แต่กับ Metaverse ไม่ มันจะเดินหน้าต่อไปไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ เพราะโลกทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงเข้าหากันแล้ว และเมื่อกาลเวลาเริ่มต้นเดินหน้า มันก็จะเดินต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุดครับ

Reaction ตอบสนองที่เรียลขึ้นแบบเรียลไทม์

Credit: https://www.denofgeek.com/movies/ready-player-ones-virtual-reality-future-introverted-dystopia-opinion/

มนุษย์เราจะก้าวเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือ Interaction กับคนต่างๆ ใน Metaverse ที่เป็นโลกเสมือนจริงหรือ Virtual environment ได้แบบ real-time ภาพนี้จะคล้ายกับเกม Ready Player One หรือคิดถึงภาพเวลาเรากด Likes รูปเพื่อนแล้วมี Notification ไปแจ้งบอกทันที ทำให้เพื่อนเราสามารถรับรู้ได้เลย

เจ้า Notification เปรียบเสมือนกับการสะกิดเรียกเพื่อนเราคนนั้น แต่ลองจินตนาการว่าถ้าเราสามารถสะกิดทักได้จริงๆ โดยผ่านเครื่องมือหรือ Device สักอย่างหละ เราจะยิ่งไม่รู้สึกฟินจนเสพย์ติดกับการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับผู้คนใน Metaverse มากขึ้นไปเรื่อยๆ หรือ?

Interoperable ต้องเชื่อมต่อกันข้ามแพลตฟอร์ม

เดิมทีเมื่อเราลงทุนลงแรง ใช้เวลากับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เราจะต้องติดอยู่กับแพลตฟอร์มนั้นนานขึ้นทุกที เช่น ถ้าเราใช้เฟซบุ๊กมานานเราจะมีรูปภาพมากมายของเราที่อยู่บนเซิฟเวอร์หรือระบบของเฟซบุ๊ก แต่ถ้าเราจะย้ายข้อมูลเดียวกันเช่นรูปภาพ สเตตัส หรือแม้แต่รายชื่อเพื่อนทั้งหมดของเราไปยังแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Google+ (ที่เคยมีแต่ตายไปแล้ว) หรือ TikTok หรือแพลตฟอร์มใดก็ตามบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือ Asset สำคัญที่จะทำให้คนติดกับแพลตฟอร์มนั้นไปอีกนาน

หรือถ้าจะทำได้ก็ไม่ใช่โดยง่าย เช่น ถ้าเรามีวิดีโอบน YouTube แล้วเราต้องการเอาวิดีโอเดียวกันนั้นให้มีอยู่บน Vimeo ด้วย เราไม่สามารถกดแชร์ตรงๆ ให้วิดีโอเดียวกันไปปรากฏสองที่ได้ทันที แต่วิธีคือเราต้องอัพโหลดคลิปวิดีโอเดียวกันเป๊ะๆ ขึ้นไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง เพื่อให้คลิปวิดีโอเรานี้มีตัวตนสองที่บนออนไลน์ ทั้งที่มันก็คือคลิปเดียวกันเป๊ะๆ แท้ๆ จะมีซ้ำซ้อนไปทำไมในความเป็นจริง

แต่ใน Metaverse นั้นทุกอย่างจะต่างไปหมด เพราะข้อมูลต่างๆ ของเราถูกเก็บไว้บน blockchain ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ เราจะสามารถเปิดให้ข้อมูลของเราถูกเข้าถึงโดยใคร หรือให้มันแสดงผลที่ไหนก็ได้

เปรียบได้กับอัปโหลดไฟล์ไว้ที่เดียวจากนั้นก็ติ๊กเลือกได้ว่าจะให้แชร์ไปยังช่องทางไหนได้บ้างครับ

เหมือนที่ Facebook พยายามทำโลก Metaverse ใน Ecosystem ของตัวเองขึ้นมา เราสามารถคุยแชทผ่านทุกแอปในเครือ Meta ด้วยแอปเดียวได้แล้ว ไม่ว่าจะ Facebook Messenger หรือ DM ของ Instagram หรือ WhatsApp ที่คนไทยอาจไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ก็ตาม

นี่แหละครับคือหัวใจสำคัญของ Metaverse ที่เราสามารถเชื่อมต่อข้าม Platform โดยไม่มีกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป

Creative ยุคใหม่ที่ใครๆ ก็สร้างสรรค์ง่าย

เคยได้ยินแนวคิด 1-9-90 ไหมครับ ตัวเลขนี้เป็นแนวคิดของโลกโซเชียลมีเดียมานาน ท่ามกลางคอนเทนต์มากมายนั้นมีผู้สร้างคอนเทนต์จริงๆ แค่ 1% อีก 9% ที่เหลือคือคนที่เข้ามา Engage หรือมีส่วนร่วมกับมัน เอาง่ายๆ คือคนที่ทำให้มันกลายเป็นกระแสนั่นเอง ส่วนอีก 90% ที่เหลือคือผู้ชมทั่วไป อาจเข้ามามีส่วนร่วมบ้างแต่ไม่จริงจังมาก นั่นก็เพราะว่าในยุคแรกของอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียนั้นการจะสร้างคอนเทนต์สักอันต้องใช้ทั้งความคิดและความพยายามอย่างสูง

แต่วันนี้โทรศัพท์มือถือเราพัฒนาขึ้นมา แอปต่างๆ ก็ทำให้การสร้างคอนเทนต์ดีๆ ไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องใช้สกิลชั้นสูงอีกต่อไป โดยเฉพาะคน Gen Z ที่กลายเป็น Digital Content Creator แทบจะโดยกำเนิด พวกเขาคือผู้สร้างยุคที่เรียกว่า Meme Geneation หยิบจับทุกสิ่งรอบตัวมาดัดแปลงเป็นสิ่งใหม่ แล้วมีมุมมองต่อเรื่องของลิขสิทธิ์ที่ต่างออกไป เพราะเขาจะปล่อยให้ใครก็ตามที่ชอบใจเอาไปต่อยอดัดแปลงได้เต็มที่

เราจึงเห็นเทรนด์ของ TikTok ที่โตอย่างมาก ทำซ้ำ ต่อยอด และทำเพิ่มในแนวตัวเองออกไปเรื่อยๆ โดยไมรู้จบ เราเล่น Challenge กันเยอะมาก เราทำคอนเทนต์แนวเดียวกันแต่เรื่องราวข้างในต่างออกไป เรารอดูว่าในวิธีการเดียวกันใครจะมีไอเดียบอกเล่าเรื่องราวที่ดีกว่า น่าสนใจกว่า และนั่นก็หมายความว่าเราจะเต็มไปด้วย Creator มากมายเพราะในโลกของ Metaverse จินตนาการสำคัญกว่าความรู้หรือทักษะสกิลจริงๆ

อ่านรายงานเจาะลึก Insight Gen Z เพิ่มเติมครับ > https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/gen-z-insight-jwt-intelligence/

User-defined จะอยู่หรือตายผู้ใช้กำหนด

Metaverse จะไม่เหมือนกับโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์แพลตฟอร์มใดๆ ที่เคยมีมา เพราะเมื่อข้อมูลของเราเราควบคุมเองได้หมด เราสามารถถอนสิทธิ์การเข้าถึงออกจากแพลตฟอร์มใดก็ได้ เราสามารถให้แพลตฟอร์มใดเข้าถึงโดยทันทีก็ได้ เราสามารถย้ายจาก Universe หนึ่งไปยังอีก Universe หนึ่ง

อารมณ์เหมือนถ้าเราไม่พอใจประเทศนี้เราก็สามารถย้ายประเทศบนดิจิทัลได้เลยโดยไม่วุ่นวาย (ผิดกับการย้ายในชีวิตจริง) ดังนั้นแพลตฟอร์มต้องเอาใจผู้ใช้งานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มากๆ ไม่ใช่คิดอยากปรับ Algorithm ก็ปรับ อยากลดการมองเห็นก็ลด แล้วก็ไม่บอกด้วยว่าใช้หลักการอะไรในการเลือกแสดงผลข้อมูล ทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับ ทุกอย่างดูยุ่งยากกว่าวันแรกมาก แต่ทำอย่างไรได้ก็ลงทุนกับมันไปมากแล้ว

ดังนั้นถ้าแพลตฟอร์มไหนทำตัวใหญ่เกินผู้ใช้ เตรียมสูญเสียผู้ใช้ทั้งหมดไปได้โดยง่ายครับ

Decentrailized ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกันได้จริงๆ

แต่ไหนแต่ไรมาโลกเราไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ล้วนอยู่ในรูปแบบ Centrailized หรือรวมศูนย์ไว้ตรงกลางเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการมากที่สุด

ข้อมูลของเราถูกเก็บไว้บน Facebook หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราใช้ ข้อมูลทางการเงินของเราก็ถูกเก็บไว้กับสถาบันการเงินต่างๆ ไอเท็มในเกมราคาแพงที่เราหาซื้อมาก็ถูกเก็บไว้ในเซิฟเวอร์ของผู้สร้างบริษัทเกมนั้น นั่นหมายความว่าการรวมศูนย์ทำให้เป็นเป้าหมายของการโจมตีโดยง่าย

เซิฟเวอร์ธนาคารถูกมือดีพยายามเจาะ พยายามแฮกอยู่ทุกวัน เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีค่า ก็ย่อมมีคนอยากจะลักขโมยคุณค่าเหล่านั้นมาเป็นของตัวเอง

แต่กับ Metaverse ที่มีเทคโนโลยีอย่าง Blockchain อยู่เบื้องหลังนั้นต่างไป เมื่อทุกอย่างถูกโยนไว้ข้างบนแล้วกระจายศูนย์ออกไป นั่นหมายความว่าทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็หมายความว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรที่แท้จริง

ถ้าเราอยากทำเงิน เราก็อาจแค่เสียสละทรัพยากรตัวเองเข้าไปในระบบเพื่อทำให้ระบบทำงานได้ดีขึ้น แล้วเราก็ได้ค่าตอบแทนมาจากผู้ต้องการใช้ระบบโดยตรง ต่างจากเดิมที่ถ้าเราอยากได้พื้นที่บนอินเทอร์เน็ต เราก็ต้องไปเช่ามาจากใครสักคน เงินก็จะเข้ากระเป๋าคนนั้นโดยตรง ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของแบรนด์นั้น แต่นั่นเป็นการแข่งกันสร้างระบบที่แข็งแกร่งกว่าคนอื่น ซึ่งมันจะดีกว่าไหมถ้าเราทุกคนเข้ามาช่วยทำให้ระบบหลักอย่าง Blockchain ที่ทุกคนใข้งานแข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไป

นี่คือยุคใหม่ต่อจาก Digital Disruption ที่ผมขอเรียกมันว่า Decentrailized Disruption ครับ

Everyday Metaverse เมื่อโลกสองใบถักทอเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว

จากเดิมเราเคยคิดว่าโลกออนไลน์และออฟไลน์แยกออกจากกัน คนใช้ชีวิตออฟไลน์ชีวิตจริงแบบหนึ่ง ส่วนชีวิตบนออนไลน์เป็นอีกแบบ แต่ดูเหมือนว่าเราจะผ่านจุดนั้นมานานแล้ว เมื่อชีวิตออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อน หรืออีกหนึ่งภาพชีวิตที่เราอยากให้โลกรู้จักในแบบนั้น

เราไปไหนเราโพส เราไปไหนเราเช็คอิน เราไปเจออะไรดีๆ เราถ่ายรูป เราต่างแชร์ชีวิตดีๆ หรือชีวิตที่น่าอิจฉา เราส่วนใหญ่บนโลกล้วนใช้ชีวิตโดยขาดอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือไม่ได้เสียแล้ว

นั่นหมายความว่าทุกกิจกรรมทั้งหมดของเราบน Metaverse จะกลายเป็นเรื่องปกติเหมือนที่เราใช้อินเทอร์เน็ตทำโน่นนี่นั่นตลอดเวลาอย่างทุกวันนี้ เพียงแต่ผมคิดว่ามันจะเป็นอะไรที่ Immersive มากกว่านี้ และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เราต้องการก็จะเป็นไปโดยง่ายกว่านี้ ลองนึกภาพว่าถ้าเราสวมใส่แว่น AR สักตัวออกไปนอกบ้าน เราเห็นอะไรสักอย่างแล้วเราอยากรู้ แทนที่เราจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพิมพ์หา หรือเปิดกล้องถ่าย เราสามารถถ่ายภาพจากแว่นได้เลย เหมือนแว่น Facebook Rayban ที่ผมใช้อยู่

แล้วเราก็สามารถพูดกับแว่นให้บอกข้อมูลที่เราอยากรู้ให้ได้ ลองดูซีรีส์เรื่อง Black Mirror ดูก็ได้ครับ ทำให้เราเห็นภาพ Metaverse ได้ดีเลย

Limitless ไร้ขีดจำกัด

ยิ่ง Blockchain แข็งแกร่งเท่าไหร่ Metaverse ก็จะยิ่งแข็งแกร่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าระบบจะขยายออกไปได้แบบไร้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่บุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดจะดูแลไหว และเราจะสามารถต่อขยายเพิ่มเติม Experience ออกไปเท่าไหร่ก็ได้ ดูเหมือนว่าขีดจำกัดเดียวคือจิตนาการและความสามารถของคุณที่จะสร้างฝันขึ้นจริงบน Metaverse ครับ

Social สุดท้ายคือเรื่องของคนกับคน

คำตอบสุดท้ายของคำถามที่ว่า Metaverse คืออะไร ไม่ใช่เทคโนโลยี ไม่ใช่อุปกรณ์ ไม่ใช่อินเทอร์เน็ต แต่เป็นเรื่องระหว่างคนกับคนที่ถักทอเข้ามาเป็นผู้คนจำนวนมาก มันคือพื้นที่ของสังคมอีกแห่งหนึ่ง เหมือนกับยุคแรกเริ่มของเว็บบอร์ด แล้วก็มาสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดทั้งมวลคือมนุษย์ต้องการเชื่อมต่อกับใครสักคนที่ต้องการ ไม่ว่าคนนั้นจะคล้ายกันหรือต่าง ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด ต่างก็เป็นไปเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดีบ้าง ร้ายบ้าง สลับกันไป

และ Metaverse ก็จะก่อให้เกิดกลุ่มใหม่ๆ จากผู้คนเดิมๆ ในสังคมที่ค้นพบว่าแท้จริงแล้วตัวเองสนใจอะไรอยู่เมื่อถึงเวลานั้น

สรุป 9 สิ่งที่ Metaverse เป็น

Metaverse 101 เมตาเวิร์สคืออะไร? กับ 9 สิ่งที่คุณต้องรู้ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ เพราะโอกาสทางธุรกิจและการตลาดมากมายเปิดกว้างสำหรับผู้รู้ที่กล้าลอง

ทั้งหมด 9 ข้อนี้น่าจะพอตอบคำถามและอธิบายให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า Metaverse คืออะไร? มันจะเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร และมันจะพาชีวิตเราไปในทางไหนต่อจากนี้ จากพื้นฐานของ Blockchain มาสู่ Decentrailization มาสู่ NFT และมาสู่ Metaverse ที่จะกลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่สนใจอยากเข้ามาเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งนี้

ในบทความตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า Lifestyle แบบ Metaverse จะเป็นอย่างไรได้บ้าง หรือที่เราจะเรียกกันว่า MetaLives เมื่อชีวิตทุกวันเราต้องอาศัย Metaverse แบบขาอินเทอร์เน็ตไม่ได้อย่างทุกวันนี้ครับ

Source: คลิ๊ก

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่