4E 4D กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล ที่แบรนด์ต้องรู้

4E 4D กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล ที่แบรนด์ต้องรู้

ก่อนจะพูดถึง 4E 4D นักการตลาดทุกคนคงต้องรู้จักกับคำนี้ “4P” หรือ Marketing Mix  ส่วนประสมการตลาด การตลาดขั้นพื้นฐานที่ทุกคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี 4P นั้นประกอบไปด้วย Product, Price, Place, Promotion เพื่อวิเคราะห์และวางแผนการตลาดให้ตัวสินค้าและบริการ

และที่ตามมาติด ๆ คือ 4C ส่วนประสมการตลาดที่มองมุมของลูกค้า ถูกพัฒนามาจาก 4P เพื่อที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ความต้องการลูกค้า นักการตลาดคนไหนอยากศึกษาเกี่ยวกับ 4c เพิ่มเติมได้ตรงนี้

แต่ในปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เกิดเทรนด์มากมายและยังมีโรคระบาด รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงขึ้น แบรนด์จึงต้องปรับตัวและพัฒนาเพื่อตามให้ทันยุคสมัยรวมถึงพัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาดอีกด้วยเพื่อให้แบรนด์อยู่รอดได้ในยุคดิจิทัล จึงทำให้เกิดการพัฒนามาเป็น 4E & 4D

4E 4D เกิดขึ้นจากอะไร มีแนวคิดต่างกันอย่างไรกับ 4P และ 4C และนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร?

อันดับแรก 4E คืออะไร 4E Marketing เป็นกลยุทธ์ที่จะเน้นการสร้าง Customer Experience เพื่อให้ประสบการณ์ที่ดีและประทับใจแก่ผู้บริโภคเพื่อมัดใจนั้นเอง ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้ มีดังนี้

  • Experience การสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า
  • Exchange ราคามีความคุ้มค่าต่อลูกค้า
  • Everywhere  เข้าถึงได้ง่าย มีหลายช่องทางการชำระเงิน มีหลายสาขา
  • Evangelism สร้างลูกค้าให้เป็นลูกค้าประจำ

จากเดิม 4P  สินค้า (Product) ที่เน้นการขายสินค้าเป็นหลัก ได้พัฒนาเปลี่ยนเป็นการมองในมุมของผู้บริโภค คือเน้นความต้องการของผู้บริโภค (Consumer)  ต้องการสินค้าแบบไหน ? ตามแนวคิด 4C ต่อมาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การสร้างประสบการณ์ (Experience) เป็นสิ่งสำคัญทำให้มีการพัฒนามาเป็นแนวคิด 4E เพื่อมัดใจผู้บริโภค

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์แดรี่ควีน ที่มีการปรับรูปแบบร้านใหม่และเมนูใหม่ให้มีความโมเดิร์น ทันสมัยมากขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่ไอศกรีมที่อร่อย แต่ต้องการถ่ายรูปร้านสวย ๆ ถ่ายเมนูที่น่ากินเพื่อลงโซเซียล

แต่เดิม 4P จะเน้นการตั้งราคา (Price)  ต่อมาเปลี่ยนเป็นความพึงพอใจที่ผู้บริโภคยอมจ่ายตามต้นทุน (Cost) ตามแนวคิดแบบ 4C ต่อมาเน้นการทำการตลาดเพื่อเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าคุ้มราคา (Exchange) ตามแนวคิดแบบ 4E 

เช่น ร้านโอ้กระจู๋ ที่สร้างคุณค่าให้กับอาหารทุกเมนูเป็นผักออแกนิคจากฟาร์มที่ปลูกเอง ต่างจากร้านคู่แข่ง ทำให้เพิ่มมูลค่าของแต่ละจานอาหาร ทำให้ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเพื่อแลกกับสุขภาพที่ดี

4E & 4D

ช่องทางการขาย (Place) ตามแนวคิด 4P คือสถานที่จำหน่าย หรือช่องทางการจำหน่าย แต่ปรับมาเป็นการเน้นความสะดวกสบายของลูกค้า (Convenience) คือการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงธุรกิจให้กับลูกค้าหลายช่องทาง แต่ในปัจจุบันในยุคดิจิทัลต้องเข้าถึงผู้บริโภคได้จากทุกที่ (Everywhere) ตามแนวคิดแบบ 4E

 เช่น ธนาคารต่าง ๆ ที่ในอดีตเราต้องไปต่อแถวยาวที่หน้าธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ แต่ทุกวันนี้ธนาคารเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทุกที่ผ่านสมาร์ทโฟน

(Promotion) แบบ 4P Marketing คือการ ลด แลก แจก แถม เป็นเพียงการมัดใจลูกค้าในระยะเวลาสั้นเท่านั้น จึงมาเป็นการสื่อสาร (Communication) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แบบตาม 4C Marketing ต่อมาเมื่อถึงยุคดิจิทัล จึงเปลี่ยนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ (Evangelism) ตามแนวคิดแบบ 4E Marketing เพื่อทำให้เกิด Brand Loyalty ในใจของผู้บริโภค

ยกตัวอย่าง แบรนด์สร้างแคมเปญร่วมกับผู้บริโภคเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เช่น Babylove มีโครงการบริจาคผ้าอ้อมให้มูลนิธิ เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้า 1 ห่อ = 2 บาทเพื่อระดมทุนในการบริจาคผ้าอ้อม ซึ่งทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์และรู้สึกดีที่ได้ทำบุญ จนกลับมาซื้อบ่อย ๆ จนกลายเป็นลูกค้าประจำได้

แนวคิด 4E & 4D เตรียมความพร้อมต้อนรับการตลาดยุคดิจิทัล

4D Marketing เป็นกลยุทธ์ที่ผสมผสานระหว่าง 4P, 4C, 4E จะมุ่งเน้นเรื่องการปรับตัวของธุรกิจหรือองค์กรให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยแนวคิด 4D Marketing มีองค์ประกอบดังนี้

1. Disruption  คือ ”การทำลายรูปแบบเดิม”

มันคือการเปลี่ยนแปลงแพทเทิร์นเก่า ๆ เปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กร กระบวนการ หรือวิธีการทำงานของแบรนด์ จนอาจจะต้องทำลายสิ่งเดิมที่แบรนด์เคยเป็น เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลง ยอมรับ และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้ทันสถานการณ์ เช่น สถานการณ์ COVID-19 ที่ทุกแบรนด์ต้องปรับตัวมาขายสินค้าออนไลน์เพื่อความอยู่รอด

2. Digitalization คือ การสร้างเครือข่ายดิจิตอล

หรือปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัล ที่ขาดไม่ได้เลยในยุคดิจิทัลนี้ คือระบบออนไลน์ การทำธุรกิจออฟไลน์ไม่มีอีกแล้ว การสร้างเครือข่ายดิจิตอลไปสู่ประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า การทำให้มีความเป็นดิจิทัล (Digitalize) จึงสำคัญเช่น การสแกนจ่ายเงิน หรือการซื้อสินค้าออนไลน์

3. De-Silotage คือการกำจัด ไซโล (Silo)

ในองค์กรหรือแบรนด์ ไซโล (Silo) คือ การทำงานแบบงานใครงานมัน การทำงานในปัจจุบันต่างคนก็ต่างคนของตัวเอง ทำให้ไม่เกิดเอกภาพในการทำงาน ไม่เป็นหนึ่งเดียวในองค์กร ถ้าจะให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล คือให้คนในองค์กรต่างแผนกมีการติดต่อสื่อสารทำงานร่วมกันได้ ลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน และทุกคนในองค์กร จะต้องมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนให้สามารถรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัลด้วย

4. Diffusion คือ การกระจายงาน

เป็นอีกหนึ่งคอนเซปต์สำคัญในยุคดิจิทัล การแบ่งงานเป็นทีม เช่น ทำงานแบบ ให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ แผนก มาช่วยกันรับผิดชอบแคมเปญ จะช่วยทำให้องค์กรทำงานรวดเร็ว เข้าใจกัน ปรับตัวได้ง่าย และยังเป็นการพัฒนาภายในองค์กร โดยต้องมีการฝึกอบรม และพัฒนาพนักงาน บุคลากรภายในบริษัท ให้สามารถปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ และตอบสนองในยุคดิจิทัล

สรุปกลยุทธ์ 4E & 4D

จะเห็นว่า กลยุทธ์ทางการตลาด มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น แนวคิดแบบ 4P Marketing สู่การคิดในมุมมองของผู้บริโภคมากขึ้นมาเป็น 4C Marketing และมุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่มัดใจลูกค้าด้วยประสบการณ์ที่ดีตามแนวคิดแบบ 4E Marketing จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จนกลายมาเป็น  4D Marketing ที่จะจะมุ่งเน้นเรื่องการปรับตัวของธุรกิจหรือองค์กรให้เข้ากับยุคดิจิทัล

แบรนด์หรือธุรกิจไหนที่ทำการปรับตัวและทำการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอด มีความยืดหยุ่น ตามสถานการณ์ก็จะช่วยทำให้แบรนด์เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วและอยู่รอดในตลาดได้ แถมเติบโตอย่างยั่งยืน แค่ต้องเปิดรับและศึกษากลยุทธ์และรูปแบบใหม่ ๆ ในทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

ดังนั้นนักการตลาดต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ มุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากอดีต ให้เข้ากับยุคสมัย เมื่อเจอสถานการณ์วิกฤต หรือ พบเจออย่างไรก็ตามก็ลองใช้กลยุทธ์ การปรับตัวโดยใช้ 4E 4D Marketing ดังกล่าวไปปรับใช้ในธุรกิจของตัวเองดูนะคะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Souce Souce

Issariya Ittiphumtana

"เฟ'ริน " Junior Marketing Content Creator การตลาดวันละตอน สายออกแบบกราฟฟิก ที่กำลังฝึกเขียนบทความการตลาด ซึ่งมีความชื่นชอบดื่มชาเขียวเป็นชีวิตจิตใจ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *