Next Move Robinhood เผย Roadmap สู่การเป็น Super-app แรกของไทย

Next Move Robinhood เผย Roadmap สู่การเป็น Super-app แรกของไทย

จากงานแถลงข่าวเปิดตัว Robinhood Travel ที่เพิ่มความสามารถจาก Food Delivery มาสู่การจองโรงแรมที่พักทั่วไทยได้ในแอปเดียว ภายใต้คอนเซป เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องเดียวกัน ตั้งเป้าขึ้นเป็น Top 3 ภายใน 1 ปี งานนี้การตลาดวันละตอนไปร่วมงานมา จะมาวิเคราะห์เล่าให้ฟังว่าภายใต้ Strategic Roadmap ของ Robinhood แอปนี้ พร้อมสู่การเป็น Super-app แรกของไทยอย่างไรครับ

Robinhood จุดเริ่มต้นจาก Food Delivery ด้วยจุดขายไม่คิดค่า GP สักบาท

จากการเปิดตัวครั้งแรกของ Robinhood ในฐานะแอปสั่งอาหารหรือ Food Delivery เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2020 นั้น ด้วยการชูจุดขายไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหารแม้แต่เปอร์เซนต์เดียวเข้าตัวเอง ก็ทำให้เกิดกระแสกระเพื่อมสะเทือนวงการแอป Food Delivery ก่อนหน้าไม่น้อย เพราะในช่วงเวลานั้นเก็บกันตั้งแต่ 25% ไปจนถึง 35% เลยทีเดียวครับ

ส่งผลให้ร้านอาหารนั้นร้องโอดโอยอย่างมาก มีการเรียกร้องให้ค่ายแอปส่งอาหารต่างๆ ช่วยกันลดค่า GP ในยามที่เกิดวิกฤตล็อกดาวน์หน่อย ซึ่งตอนเรียกร้องยังไม่ค่อยสะเทือนเท่าไหร่ แต่พอเกิดแอปน้องใหม่ Robinhood เข้ามา กลายเป็นว่าทุกค่ายเริ่มวางแผนรับมือและปรับตัว แม้ในตอนนั้น Robinhood จะเป็นแค่แอปเล็กๆ ที่มีคนใช้งานไม่เยอะ แต่ล่าสุดทาง Purple Venture เปิดเผยว่า ผ่านมาแค่ 1 ปีครึ่ง พวกเขากลายเป็นเบอร์สองของตลาด Food Delivery เรียบร้อยแล้ว

ยินดีด้วยครับ ในฐานะลูกค้าประจำ Robinhood คนหนึ่ง (ผมใช้บริการตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มผู้ทดลองก่อนเปิดตัว)

จากวันแรกที่มีร้านอาหารแค่หลักพัน มาวันนี้พวกเขามีร้านอยู่ในแอปมากกว่า 280,000 ร้าน มี Rider ไหว้ย่อมากกว่า 30,000 คน แต่ละเดือนมีการสั่งอาหารมากกว่า 4,800,000 ออเดอร์ จากฐานลูกค้าผู้ใช้งานทั้งหมดกว่า 2.8 ล้านคนครับ

เฉลี่ยแล้วแต่ละวันมีคนสั่งประมาณ 200,000 ออเดอร์ได้เลย ถ้าเอาไปคำนวนเป็นค่า GP ที่ช่วยร้านค้าให้ไม่ต้องจ่ายได้ ก็คงเป็นเงินหลายล้านบาทต่อวันเลยนะครับ

ซึ่งตอนนั้นหลายคนสงสัยว่า Robinhood ทำแบบนี้ไปแล้วจะได้อะไร ทำเป็นการกุศลหรือเปล่า แต่ส่วนตัวผมบอกเลยว่าไม่ เพราะนี่คือกลยุทธ์ของ Super-app ใหญ่ๆ ทั่วโลกที่ทำกัน นั่นก็คือการสะสมฐานผู้ใช้งาน กับ Data เพื่อจะเอาไป Monitization ต่อยอดรายได้จากช่องทางต่างๆ

เช่น การปล่อยกู้ได้มากขึ้น เพราะเมื่อมี Transaction Data ของแต่ละร้านอาหารก็ทำให้มั่นใจได้ว่าร้านไหนปล่อยกู้ได้หนี้ไม่หาย ทำให้ธุรกิจอย่างร้านเล็กก็ค่อยๆ ขยับเป็นร้านขนาดกลางและใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

แต่การจะเป็น Super-app นั้นต้องใช้ Data ที่มีความหลากหลาย Multi Dimensional Data ลำพังแค่การกินไม่พอ แต่ต้องครอบคลุมไปถึง Lifestyle data ในแง่มุมอื่นๆ และทาง Robinhood เองก็มีแถลงไว้ตอนงานประกาศข่าวเรื่อง SCB X ตอนเดือนตุลาคม 2021 ว่ามีแพลนจะทำอะไรบ้าง

ซึ่งตามลำดับก็คือ Hotel Flight Tour และ Car Rent น่าแปลกไหมครับ ปกติเขาจะมาทำในส่วนของ Ride Hailing ก่อน ต้องบอกเลยว่านี่น่าจะเป็นแอปแรกและแอปเดียวที่สามารถสั่งอาหารและจองโรงแรมได้ เพราะอย่างที่คอนเซปเขาบอกว่า เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องเดียวกัน

มาวันนั้นอาจสงสัยว่าแล้วจะเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้งานได้จริงเมื่อไหร่ มาวันนี้ 6 เดือนผ่านไป เขาเปิดตัว Robinhood Travel แบบ Soft Launch เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้คนที่สนใจลองเข้าไปจองโรงแรมที่พักดู ซึ่งอาจจะยังม่จุดที่สะดุดหรือไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 100% บ้าง ทาง Robinhood ก็บอกว่าเจอตรงไหนยังไม่ดีก็ส่งไปบอกเขาได้เลย เดี๋ยวเขาจะได้ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นครับ

วันนี้ผมแอบเจอห้องพักราคาคืนละ 216 ล้าน และ 720 ล้าน!!

ดูกันขำๆ นะครับ เพราะตอนนี้ผมทาง Robinhood เค้ารับทราบเรียบร้อยแล้ว ก็คงจะรีบดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

Starbucks Segments กลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักใน Robinhood

ผมชอบคำนี้ครับ ในงานแถลงข่าวมีการบอกว่ากลุ่มลูกค้าของ Robinhood นั้นค่อนข้างมีฐานะดีกว่าแอปสั่งอาหารเจ้าอื่น ด้วยความที่การจ่ายเงินต้องผูกบัตรเครดิตหรือเชื่อมต่อกับแอป SCB Easy เท่านั้น จึงทำให้กลุ่มผู้ใช้งานค่อนข้างมีฐานะดีกว่า เพราะอย่าลืมว่าจำนวนคนไทยที่มีบัตรเครดิตนั้นยังอยู่แค่เกือบสิบเปอร์เซนต์เท่านั้นเอง (จากข้อมูลที่เคยเห็นจาก Digital Stat Thai 2022 ครับ)

และยิ่งดูจากข้อมูลการใช้เงินของกลุ่มลูกค้าแอป Robinhood จะเห็นว่า Top 10 ยอดพีระมิดนั้นใช้เงินรวมกว่า 49% หรือนับเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งแอปเลยทีเดียว

ถ้าสนใจเรื่องนี้ลองอ่านบทความเรื่องการตลาดแบบ Pareto Marketing ที่ผมเคยเขียนได้ครับ

ทำให้อัตราการสั่งต่อออร์เดอร์เองก็เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า ดังนั้นลูกค้ากลุ่มผู้ใช้งาน Robinhood จึงถูกนิยามว่าเป็นกลุ่ม Starbucks Segments นั่นเองครับ

บวกกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในบ้านเรา โรงแรมในไทยมีอัตราการจองที่พักฟื้นคืนมาถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าโควิดระบาด

ลำพังนักท่องเที่ยวไทยด้วยกันเองก็มีมากกว่า 9.55 ล้านคนเมื่อนับจากจำนวนครั้ง โดยจังหวัดหลักๆ ที่คนไทยชอบไปเที่ยวกันก็มี เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี นครราชสีมา ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต

ซึ่งเทรนด์ของที่พักที่มาแรงก็คือกลุ่มโรงแรม 3-5 ดาว หรือโรงแรมราคาแพงเป็นส่วนใหญ่ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีฐานะดีเศรษฐกิจไม่กระทบรายได้ จากเดิมเคยใช้เงินออกไปเที่ยวยุโรป หรืออเมริกาเป็นประจำ อย่างน้อยๆ วันหยุดสั้นๆ ก็บินไปช้อปปิ้งที่ญี่ปุ่นเล่นๆ เมื่อบินออกนอกประเทศไปใช้เงินลำบาก พวกเขาจึงสรรหาที่พักดีๆ ในไทยแทน

อยากจะบอกว่าห้องพักที่แพงที่สุดมักจะถูกจองเต็มยาวที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มห้องพักที่เป็น Pool Villa ครับ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของโปรโมชั่นเปิดตัว เที่ยวหรู Pool Villa ลด 50% ของ Robinhood Travel ในงานนี้ด้วย

Robinhood Travel เปิดตัว จองโรงแรมที่พักดีๆ พร้อมฟรีส่งอาหารถึงที่ 20 ครั้ง!

ต้องบอกเลยว่าโปรนี้จิ้งมากสำหรับผม นอกจากส่วนลดที่พักหรู Pool Villa 50% กับโรงแรมเก๋ๆ แล้ว ใครที่จองที่พักบนแอป Robinhood จะได้สามารถสั่งอาหารฟรีค่าส่งมากถึง 20 ครั้ง!

แค่สั่งซื้อน้ำแข็งมากินดื่มปาร์ตี้กับเพื่อนที่โรงแรมก็ฟินแล้ว

ซึ่งภายในแอปจะคัดเน้นๆ กับโรงแรมที่พักกลุ่ม 3-5 ดาวเป็นหลัก ซึ่งก็มีที่พักมากถึง 16,000 โรงแรม มีบริษัทที่จะเข้ามาเป็น Strategic Partners มากกว่า 20 บริษัท บวกกับจะมีคอนเทนต์กระตุ้นความอยากเที่ยวให้เราเสพมากถึง 620 คอนเทนต์ แต่ที่เก๋ไปกว่านั้นคือ Robinhood Travel เขาทำ Playlists ของโรงแรมแบบต่างๆ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นไอเดียที่เก๋ไก๋ไม่น้อยเลยครับ

และที่เหนือไปกว่านั้นคือยังคงคอนเซปไม่คิดค่าบริการ หรือไม่ชาร์จหักส่วนแบ่งจากเจ้าของโรงแรม ซึ่งเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นคือคิดกันตั้งแต่ 15% เป็นอย่างน้อย และอาจจะสูงถึง 30% ในบางครั้ง

To Good Become True โรงแรมรับเต็ม 0% Commission

ร้านอาหารที่เข้าร่วมกับ Robinhood ได้เต็มอย่างไร ทางโรงแรมก็จะได้เต็มไปอย่างนั้น นั่นหมายความว่าค่าส่วนต่างที่ทางโรงแรมเคยต้องเอาไว้จ่ายให้กับแพลตฟอร์มแบบวันวาน ก็สามารถเอามาเป็นส่วนลดอาหาร หรือสปา หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ลูกค้านักท่องเที่ยวที่จองผ่าน Robinhood Travel สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความสุขได้เต็มๆ

และที่เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งในแบบที่แพลตฟอร์มจองโรงแรมที่พักอื่นสู้ไม่ได้ นั่นก็คือ Call Center ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เรียกได้ว่ายกเอามาตรฐานแบงก์มาใช้กับ Robinhood อย่างเต็มที่ เกิดปัญหาตรงไหนก็กดโทรหา Robinhood ได้ทันทีไม่ต้องรอโอนสายไปมาให้วุ่นวายครับ

เมื่อก่อนมีแต่คำว่า Too Good To Be True มาวันนี้ผมว่า True Good Become True ที่แท้ทรูสำหรับเจ้าของโรงแรมที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นส่วนแบ่งสักบาท

สองแสนคน สามแสนทริป เป้าปีแรก Robinhood Travel

ทาง Robinhood Travel ก็ประกาศว่าเป้าปีแรกปีนี้ไม่ขอแค่มีนักท่องเที่ยวใช้งานสัก 200,000 คน จองที่พักออกทริปกันสัก 300,000 ทริปก็พอ (เดี๋ยวผมเติมให้สัก 3-4 ทริปครับปีนี้) และก็คาดหวังว่าจะมีโรงแรมที่พักมาเข้าร่วมเพิ่มให้ถึง 30,000 ที่ขึ้นไป

และเป้าหมายที่สำคัญคือสุดคือเป้าหมายทางการเงินกับเศรษฐกิจ ทาง Robinhood Travel ก็ตั้งเป้าว่าจะช่วยให้โรงแรมและพาร์ทเนอร์ประหยัดเงินไปได้กว่า 200 ล้านบาท บวกกับสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาทครับ

โดยพวกเขาก็แอบหวังว่าจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 3 ของแพลตฟอร์มท่องเที่ยวจองที่พักออนไลน์ในประเทศไทย ส่วนตัวผมก็เอาใจช่วยให้ทำได้ ว่าแล้วเริ่มจากการกดจองเลยแล้วกัน!

Robinhood Super-app Roadmap 2022 พร้อมทุกทริป

งานนี้ Robinhood ไม่ได้มาเล่นๆ ไม่ได้ทำแอปเพื่อเป็น CSR เหมือนที่หลายคนเคยตั้งคำถามก่อนหน้าว่า O% GP แล้วจะไปต่อไหวหรอ ซึ่งเมื่อดูจากการเปิด Roadmap ที่จะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย เพื่อให้การเป็น All-in-One Travel Service นั้นเป็นไปได้

ตอนนี้เปิดตัวการจองโรงแรมเรียบร้อย ในเดือนหน้า เดือนมิถุนายน พวกเขาจะเปิดการจองทัวร์หรือทริปกิจกรรมต่างๆ และในเดือนเดียวกันก็จะเปิดตัวบริการให้เช่ารถ (อันนี้ดีมาก รอใช้นะครับ) สุดท้ายในเดือนกรกฎาคมพวกเขาจะเปิดให้เราจองตั๋วเครื่องบินผ่านในแอปนี้ได้

เรียกได้ว่าครบจบทุกเรื่องเที่ยวจริงๆ

Next Step to become First thai Super-app ก้าวต่อไปสู่การเป็นซูเปอร์แอปแรกของคนไทย

ไม่ใช่แค่ Travel เท่านั้นที่ Robinhood จะทำเพื่อให้ตัวเองก้าวไปสู่การเป็น Super-app แรกของไทย โดยบริษัทคนไทย แต่ในเดือน 7 จะเปิดบริการ Mart หรือการซื้อของจากร้านค้ามาส่งบ้านให้ และก็ขยายไปสู่การรับส่งสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งก็อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าแล้ว

และในท้ายที่สุดไตรมาส 4 ปลายปีนี้ พวกเขาจะขยายเข้าไปสู่การให้บริการรับส่งคน หรือ Ride Hailing เรียกได้ว่าก็จะครอบคลุมทุกมิติของ Lifestyle Data ซึ่งก็กลายเป็น New S Curve ใหม่ของบริษัทแม่อย่างไทยพาณิชย์ SCB ในอนาคต จากการปรับตัวจากธนาคารที่ไม่ได้เป็นแค่ธนาคาร แต่เป็นทุกอย่างได้จริงๆ

จากจุดเล็กๆ ของการเป็นแอปเพื่อคนตัวเล็กสัญชาติไทย ที่เขาบอกว่าความตั้งใจไม่ได้คิดจะเป็นเบอร์หนึ่งเจ้าตลาดแต่อย่างไร แต่ตั้งใจว่าจะทำให้ตลาดอุตสาหกรรมนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงให้บาลานซ์มากกว่านี้

เพราะดูเหมือนวันนี้แพลตฟอร์มจะถือความได้เปรียบมากมายจากบรรดาผู้เข้าร่วมแพลตฟอร์ม พอมี Robinhood เข้ามาต้องยอมรับว่าสร้างความสั่นสะเทือนต่อยักษ์ใหญ่ที่มาก่อนหน้าได้ไม่น้อยจริงๆ

พวกเขายังย้ำเสมอว่าตัวเองเป็น Underdog หรือม้ารองบ่อน แต่ถึงวันนี้พวกเขาพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เราไม่สามารถ Underestimate Underdog รายได้นี้จริงๆ ครับ

สนใจโหลดแอป Robinhood ตามลิงก์นี้ไปได้เลยครับ > คลิ๊ก

อ่านบทความเกี่ยวกับ Robinhood ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/?s=robinhood

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่