สรุป 52 Insight สำคัญจาก Thailand Digital Stat 2022 ของ We Are Social

สรุป 52 Insight สำคัญจาก Thailand Digital Stat 2022 ของ We Are Social

เป็นประจำทุกต้นปีที่นักการตลาดไทยต้องอัพเดทข้อมูลจากรายงาน Thailand Digital Stat 2022 ของ We Are Social ที่เจาะลึก Insight ที่เกิดขึ้นกับคนไทยและการตลาดออนไลน์ของไทยในปีที่ผ่านมา เพื่อให้เราเอามาใช้อ้างอิงวางแผนธุรกิจและการตลาดได้แม่นยำยิ่งขึ้น ในบทความนี้ผมคัดมาได้ 52 Insight สำคัญที่สรุปและเรียบเรียงใหม่ให้เพื่อนๆ นักการตลาดได้อ่านกัน

ใช้เวลาไป 8 ชั่วโมงกว่าๆ ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ นักการตลาดในการตลาดวันละตอนไม่มากก็น้อยครับ

ถ้าอยากรู้ว่าถ้า 52 ประเด็นที่ผมคัดมาให้มีอะไรบ้าง ก็เชิญอ่านได้เลย และท้ายบทความมีลิงก์ดาวน์โหลดรายการตัวเต็มสำหรับคนที่ต้องการนำไปใช้งานต่ออีกด้วยครับ

1. ประเทศไทย 2022 กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยไม่รู้ตัว และ อีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเริ่มลดลงแล้ว!

จากข้อมูลของ We Are Social บอกให้รู้ว่าวันนี้คนไทยทะลุเกิน 70 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว แต่จำนวนของโทรศัพท์มือถือกลับมีสูงถึง 95.6 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 136.5% ของประชากรไทย แต่มีคนที่ออนไลน์จริงๆ อยู่ 54.5 ล้านคน คิดเป็นกว่า 77.8% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของไทยในปี 2022 กลับสูงกว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะมีจำนวนคนไทยที่ใช้งานโซเชียลมีเดียมากถึง 56.85 ล้านคน หรือคิดเป็น 81.2% ของประชากรทั้งประเทศครับ

เมื่อเทียบกับมิติการเติบโตจากปีก่อนบอกให้รู้ว่า ประชากรไทยเพิ่มขึ้นแค่ 0.2% เท่านั้น แต่จำนวนการเพิ่มขึ้นของโทรศัพท์มือถือกลับเพิ่มขึ้นกว่า 4.1% เรียกว่าสูงกว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าได้ ส่วนจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงนัก เพราะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 0.2% เท่ากับการเติบโตของประชากร แต่ที่น่าสนใจคือการเติบโตของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในไทยนั้นโตขึ้นกว่า 3.4% หรือคิดเป็นจำนวนเกือบสองล้านคนเลยทีเดียว

เมื่อดูในรายละเอียดของข้อมูลประชากรไทยในปี 2022 จะเห็นว่า มีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทย ณ ตอนนี้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 40.9 ปีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกินกว่าครึ่งของประชากรไทยอาศัยกระจุกอยู่ในตัวเมือง น่าคิดต่อไปว่านโยบาย เศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจนั้นจริงจังกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มที่แล้วหรือยัง

ประเทศไทยกำลังแก่ขึ้นทุกวัน และกระจุกกันอยู่ในเมืองครับ

ข้อมูลปีนี้ดี มีรายละเอียดของการเติบโตของประชากรไทยให้ดูย้อนหลังนานถึง 10 ปี จะเห็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นลดลงทุกปี ถ้าดูจากแนวโน้มแบบนี้อาจจะเห็นว่าภายในไม่ถึง 5 ปีข้างหน้า หรือเอาจริงๆ อาจจะแค่ 2 ปี จำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงให้เห็นแล้ว

นั่นหมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะการขาดคนรุ่นใหม่ ขาดแรงงาน ขาดคนที่จะเข้ามาทำงานยังภาคเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่จะช่วยปัญหานี้ประเทศไทยพร้อมมากแค่ไหน อีกไม่ถึง 5 ปีแล้วนะครับอย่าทำเป็นเล่นไป เริ่มวาแผนกลยุทธ์ไปยังสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวได้แล้วตั้งแต่วันนี้

เมื่อเจาะลึกในข้อมูลของแต่ละช่วงอายุของประชากรไทยในปี 2022 จะเห็นว่าสัดส่วนเด็กที่อายุ 0 ถึง 4 ปีมีน้อยมาก แต่ยังดีที่เรายังมีกลุ่มอายุ 5 ถึง 12 ปีที่สูงอยู่ ความน่าสนใจคือฐานอายุ 65+ ปีของไทยเรานั้นกลับเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับสอง รองจาก 45-54 ปี ซึ่งก็ถือว่าอายุไม่น้อยแล้วในวันนี้

ผมคิดว่าสภาพสังคมน่าจะกดดันในจุดของวัย Super Senior ที่กำลังใกล้สู่วัยเกษียณเหล่านี้จะไปต่ออย่างไรท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดัน การแข่งขัน จะมีการเลย์ออฟครั้งใหญ่หรือไม่ ถ้าจะต้องหางานใหม่ กลุ่มคนในช่วงวัยที่สูงกว่า 45 ปีขึ้นไปจะมีภาคธุรกิจใดพร้อมรับบ้างครับ

สรุปภาพรวมข้อมูลประชากรไทยในปี 2022

ความน่ากังวลคือเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบถลำลึกโดยไม่มีการเตรียมพร้อมสักเท่าไหร่ เมื่อคนเกิดใหม่มีสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัย 45+ แล้วทั้งนั้น กว่า 44.1% ของคนไทยอยู่ในวัย 45 ปีขึ้นไปหมดแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยน้อยกว่า 18 ปีที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจประเทศในวันหน้าก็มีสัดส่วนแค่ 19.6% เท่านั้น

น่าตกใจและน่าใจหายมากครับเมื่อได้เห็นข้อมูลโดยละเอียด รู้แบบนี้รีบเตรียมแผนรับมือสังคมผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา และก็เตรียมรับกับภาวะอัตราการถดถอยของจำนวนประชากรที่น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าครับ

2. คนไทยกว่า 1 ใน 5 มี Smart Watch ใส่ข้อมือแล้ว

ข้อมูลภาพรวมการเป็นเจ้าของอุปกรณ์ดิจิทัลของคนไทยในปี 2022 นี้น่าสนใจตรงที่ 22.2% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอายุ 16-64 ปี มี Smart Watch สวมใส่ข้อมือแล้ว นั่นหมายความว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สุขภาพตัวเองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะราคาที่ถูกลงมากและมีมากมายหลายแบรนด์ให้เลือก ไม่จำเป็นต้องเป็น Apple Watch ราคาแพงแบบวันวาน แต่วันนี้อย่าง Mi เองก็ใช้ได้ดีมากในราคาพันต้นๆ ครับ

ที่น่าสนใจสุดๆ คือ Smart Home Device หรือพวกอุปกรณ์ IoT บ้านอิจฉริยะที่โตจากปีก่อนถึง 38% แม้ตัวเลขสัดส่วนจะมีแค่ 6.9% เท่านั้น แต่ด้วยการเติบโตที่สวนกระแสทุกอุปกรณ์ เชื่อว่าตลาด Smart Home ในบ้านเราน่าจะมีอะไรให้ต่อยอดได้อีกเยอะครับ

3. คนไทยออนไลน์วันละ 9 ชั่วโมง 6 นาที

การออนไลน์ของคนไทยยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ ในปีที่ผ่านมาคนไทยเล่นอินเทอร์เน็ตนานขึ้น 22 นาที คิดเป็น +4.2% จากปีก่อน นั่นทำให้เวลาออนไลน์โดยเฉลี่ยของคนไทยสูงทะลุ 9 ชั่วโมงเรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่าสนใจไม้แพ้กันคือเวลาดูทีวีของคนไทยกลับเพิ่มขึ้นถึง 15.2% จากปีก่อน ซึ่งนับเป็นนาทีก็มากถึง 32 นาที ทำให้เวลาดูทีวีรวมของคนไทยในปี 2022 สูงกว่า 4 ชั่วโมงแล้วครับ

ในภาพรวมส่วนอื่นๆ จะเห็นว่าคนไทยใช้เวลาออนไลน์กับทุกอย่างเพิ่มขึ้นกว่า 20% ทั้งการฟังเพลง ฟังวิทยุ ฟัง Podcast และเล่นเกม ส่วนอ่านหนังสือหรือหาความรู้ทางออนไลน์เองก็เพิ่มขึ้นถึง 17.5% จากปีก่อน รวมเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง 48 นาที ดูเหมือนว่าคนไทยจะรักเรียนกว่าที่หลายคนคิดไว้ไม่น้อยเลยนะครับ

4. ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหยุดชะงัก

เมื่อดูจากข้อมูลการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปีจะเห็นว่า ในปี 2020 ที่เกิดการล็อกดาวน์เป็นตัวเร่งอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบก้าวกระโดด จากที่เคยโต 6% ในปี 2019 กลายเป็นโตขึ้นถึง 17.1% แต่ในปีล่าสุด 2021 นั้นมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นแค่ 0.2% เท่านั้น หรือคนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในไทยจริงๆ นั้นได้ใช้กันอย่างทั่วถึงจนไม่มีการเติบโตให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกแล้ว?

5. 15 เหตุผลการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย

นักการตลาดหลายคนคงอยากรู้ว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตไปทำไม และนี่ก็เป็น 15 Insight เหตุผลการออนไลน์ของคนไทยในปี 2022 ครับ

  1. หาข้อมูล 67.6%
  2. ติดตามอัพเดทข่าวสาร 64.1%
  3. ดูวิดีโอหรือหนัง 60.8%
  4. หาไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน 60.4%
  5. หาข้อมูลเพื่อทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ 59.2%
  6. ฟังเพลง 53.9%
  7. ติดต่อกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว 52.1%
  8. เล่นเกม 48.1%
  9. ฆ่าเวลา 46.1%
  10. หาข้อมูลของแบรนด์ที่สนใจ 45.7%
  11. จัดการเรื่องเงิน 43.7%
  12. หาข้อมูลด้านสุขภาพ 42.9%
  13. หาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ 37.9%
  14. เรียน 37.1%
  15. หาเพื่อนใหม่ 36%

6. เน็ตไทยเร็วขึ้นกว่าปีก่อน 28.5-46.6%

ขาดเงินยังพออยู่ได้ แต่ขาดเน็ตนั้นอยู่ไม่ได้แล้วจริงๆ กับชีวิตสมัยนี้ ดังนั้นความเร็วอินเทอร์เน็ตจึงเป็นอีกข้อมูลที่น่าสนใจที่นักการตลาดไทยควรต้องรู้ เมื่อความเร็วของอินเทอร์เน็ตมือถือ 4G หรือ 5G โดยเฉลี่ยของไทยในปี 2022 อยู่ที่ 31.9 MBPS เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.5% ส่วนความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยน่าสนใจ สูงถึง 171.37% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 46.6% ครับ

เรียกได้ว่าเน็ตไทยเร็วขึ้นอย่างมากจากปีก่อนครับ

7. Web Traffic จากคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้น ไล่ตามมือถือมาติดๆ

น่าสนใจว่าสัดส่วน Web Traffic ของไทยในปีนี้คอมพิวเตอร์ไล่ตามโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเรื่อยๆ แม้โทรศัพท์มือถือจะมีสัดส่วนการเข้าเว็บมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 54.95% แต่คอมพิวเตอร์ก็ตามมาไม่ทิ้งห่างเหมือนปีก่อนๆ อยู่ที่ 42.26% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% ส่วนสัดส่วนจาก Tablet กลับลดลงเรื่อยๆ เหลือแค่ 2.78% เท่านั้น

ดูเหมือนว่าตลาด Tablet ในบ้านเราจะไม่ได้โตขึ้นสักเท่าไหร่ครับ

8. Google Chrome คือ Browser ยอดนิยมอันดับ 1 ของไทย

Google Chrome ยังคงครองอันดับหนึ่งของ Web Browser ของคนไทยเช่นเดียวกับคนทั่วโลก อยู่ที่ 71.82% ตามมาด้วย Safari ซึ่งแน่นอนว่าเป็นชาว Apple อยู่ที่ 18.15% ตามมาด้วย Microsoft EDGE อยู่ที่ 3.11% เท่านั้นครับ

หวังว่าใน TOR ของหน่วยงานราชการต่างๆ จะไม่บังคับให้ทำเว็บแล้วต้องซัพพอร์ท IE อยู่อีกนะครับ เพราะดูคนไทยเราน่าจะไปไกลมากแล้วจริงๆ

9. เว็บที่คนไทยเข้ามากที่สุดในปี 2022

ข้อมูลสถิติเว็บที่คนไทยเข้าบ่อยที่สุดในปี 2022 มีทั้งหมด 4 Source ผมขอหยิบภาพทั้งหมดมาวางเรียงให้ดูพร้อมกันก่อนค่อยสรุป และก็จะเลือกสรุปในส่วนที่ตรงและสอดคล้องกันเป็นหลักนะครับ

ดูเหมือนอันดับ 1 ตลอดกาลที่ทุกคนยอมรับร่วมกันคือ Google.com คือเว็บไซต์ที่คนไทยเข้ามากหรือบ่อยที่สุดในปี 2022 (จริงๆ ต้องบอกว่าปี 2021) และก็ตามมาด้วย YouTube ได้อันดับที่ 2 จากทุก Source เป็นเอกฉันท์ร่วมกัน ส่วนอันดับสามดูจะเป็น Facebook จากข้อมูลของ Similar Web และ SEM Rush

ความน่าสนใจคือ Roblox.com เว็บเกมออนไลน์น้องใหม่มาแรงติดอันดับ 13 เว็บยอดนิยมที่คนไทยชอบเข้าจากข้อมูลของ Semrush ในส่วนของ Similar Web ติดอยู่ในอันดับที่ 16

ความน่าสนใจอีกอย่างคือเว็บ 18+ อย่าง XVIDEOS.COM กับ XNXX.COM ติดอันดับเว็บยอดนิยมที่คนไทยชอบเข้าในอันดับที่ 9 และ 10 จากข้อมูลของ Similarweb ซึ่งมีการเข้าชมมากกว่า 523-559 ล้านครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาอยู่ที่ 6-11 นาที เข้าดูครั้งละ 12-14 หน้าเพจ ดูน่าจะทำเงินจากโฆษณาได้มหาศาลเลยครับเว็บนี้

ที่น่าสนใจสุดท้ายคือเว็บการพนันออนไลน์อย่าง AUTOPLAY.CLOUD นั้นติดอันดับเว็บยอดนิยมที่คนไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 17 ของปี 2021-2022 (จากข้อมูลของ Similarweb) ด้วยจำนวนการเข้าที่มากกว่า สูงกว่า Kapook.com และ Netflix ด้วยซ้ำ หวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปปราบปรามเว็บการพนันออนไลน์เหล่านี้ให้ดีกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นปีหน้าเว็บการพนันออนไลน์คงจะติดอันดับเว็บยอดนิยมของคนไทยอีกปี และนั่นก็หมายความว่าคงมีคนที่เดือดร้อนเป็นหนี้นอกระบบอีกไม่น้อยแน่ๆ ครับ

10. Insight Traffic ของ 10 อันดับเว็บยอดนิยมคนไทยมาจากช่องทางไหนบ้าง

ข้อมูลชุดนี้ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมหรือ Insight การออนไลน์ของคนไทยผ่านคอมพิวเตอร์กับมือถือที่มี Context แตกต่างกัน ลองเอาไปวิเคราะห์ต่อยอดแล้วประยุกต์ใช้กับธุรกิจตัวเองดูนะครับ

กลุ่มเว็บที่เข้าผ่านคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่

  • Google.com 51%
  • YouTube.com 92.1%
  • Facebook.com 53.2%
  • Google.co.th 81.5%
  • Shopee.co.th 78.5% (คาดว่าน่าจะไปแอปแทนเว็บมือถือ)
  • Lazada.co.th 64.8% (คาดว่าน่าจะไปแอปแทนเว็บมือถือ)
  • Wikipedia.org 60.2%

กลุ่มเว็บที่เข้าผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นส่วนใหญ่

  • Pantip.com 64.3%
  • Sanook.com 63.6%
  • Thairath.co.th 72.4%

11. Google ยังคงครอง Search Engine ยอดนิยมคนไทยไม่เปลี่ยนแปลง

ภาพนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก บอกให้รู้ชัดว่า Google ทิ้งขาดทุก Search Engine แบบไม่เห็นฝุ่นเลยจริงๆ ด้วยสัดส่วนการใช้ Google มากกว่า 98.37% ของคนไทยในปี 2022 ครับ

12. 20 คำค้นหายอดนิยมของคนไทย 2022

คำค้นหายอดนิยมของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงเหมือนกับปีก่อนหน้า นั่นคือกลุ่มคำที่เกี่ยวกับ บอล หวย หนัง เพลง และ แปล ส่วนคำใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือสภาพอากาศ ตามมาด้วย เราชนะ หรือแม้แต่การค้นหาคำว่า Google เองก็ตาม

13. คนไทยมากกว่า 1 ใน 3 ใช้รูปภาพเพื่อเสิร์จหาข้อมูลแทนการพิมพ์แล้ว

ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะเป็น Tech Adoptation เยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยที่อายุ 16-64 ปีใช้รูปภาพหรือถ่ายรูปเพื่อค้นหาข้อมูลผ่าน Google Lens หรือ Pinterest Lens สูงถึง 37.5% หรือมากกว่า 1 ใน 3 แล้ว

ส่วนการพูดเพื่อหาข้อมูลแทนการพิมพ์ก็มีสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย หรือเป็นตัวเลข 20.1% ในวันนี้

ส่วนการค้นหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเองก็สูงถึง 47.5% และการใช้โปรแกรมแปลภาษาของคนไทยก็สูงถึง 47.7% ครับ

พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของคนไทยเปลี่ยนไป คำถามคือคุณทำ Visual SEO เตรียมไว้แล้วหรือยัง?

14. คนไทยชอบดู Video Content แบบไหนในปี 2022

คนไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ชอบดูวิดีโอคอนเทนต์มาก ซึ่ง 94.2% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยในปี 2022 ดูวิดีโอทุกสัปดาห์ และเรียงลำดับประเภทของวิดีโอคอนเทนต์ที่คนไทยชอบดูดังนี้ครับ

  1. Music Video 60.9%
  2. วิดีโอตลก 44.3%
  3. เกม 37.2%
  4. Live 33.8%
  5. วิดีโอรีวิวสินค้า 33.1%
  6. กีฬา 30%
  7. การเรียน 29.1%
  8. วิดีโอฮาวทู 25.5%
  9. Influencer 19.7%

ดูเหมือนวิดีโอประเภท VLOG จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมของคนไทยเหมือนในต่างประเทศครับ

15. Insight คนไทยชอบฟังอะไรบนออนไลน์ในปี 2022

เมื่อดูรายละเอียด Insight พฤติกรรมการฟังของคนไทยว่าคนไทยชอบฟังอะไรบนออนไลน์จะเห็นว่า เพลงมาเป็นอันดับ 1 37.3% ตามมาด้วยวิทยุออนไลน์ 22% ตามมาด้วยการฟัง Audio Books หรือหนังสือเสียง 20.4% สุดท้ายคือ Podcast อยู่ที่ 19.1% น่าสนใจตรงพฤติกรรมการฟังหนังสือเสียงของคนไทยที่แซงหน้า Podcast ที่เคยเป็นที่นิยมหลักในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้าขึ้นมาได้ครับ

16. โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกมยอดนิยมของคนไทยในปี 2022

น่าสนใจว่าคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 94.7% นั้นเล่นเกมเป็นปกติ (ผมคงอยู่ในส่วนน้อยมากๆ ที่ไม่เล่นเกมเลย) และอุปกรณ์ที่คนไทยใช้เล่นเกมมากที่สุดก็หนีไม่พ้นโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน ครองสัดส่วนอยู่ที่ 89.5% ตามมาด้วยคอมพิวเตอร์ 33.4% ตามมาด้วย Tablet 22.2% แล้วค่อยตามมาด้วยเครื่องเล่นเกมที่เอาไว้เล่นเกมจริงๆ 17.1% ตามมาด้วยเครื่องเล่นเกมพกพา 11.6% แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ 9.5% ของคนไทยเล่นเกมด้วยอุปกรณ์อย่าง VR กันแล้ว

สงสัย Metaverse จะเข้าสู่คนไทยไวกว่าที่คิดเอาไว้มากครับในปีนี้

17. ตลาด Smart Home หรือ IoT ของไทยเป็นอย่างไรในปี 2022

ในปี 2022 นี้จำนวนบ้านของคนไทยที่มีอุปกรณ์ประเภท Smart Home เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ทั้งหลาย มีจำนวน 2.6 ล้านหลัง เติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 11.9% (บ้านผมก็หนึ่งในนั้นที่มีทั้ง iRobot และ Z Roborock ครับ) รวมแล้วเป็นเงินกว่า 3,600 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2020 ถึง 61.8% พูดได้เต็มปากว่าตลาด Smart Home ในไทยโตอย่างก้าวกระโดดจริงๆ

ซึ่งเมื่อแบ่งแยกตามประเภทของอุปกรณ์ Smart Home ก็จะได้ดังนี้ครับ

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 1,787 ล้านบาท
  • อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย 521 ล้านบาท
  • อุปกรณ์ควบคุมการเชื่อมต่อของอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ 474 ล้านบาท
  • อุปกรณ์ด้านความบันเทิง 442 ล้านบาท
  • อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงาน 217 ล้านบาท
  • อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความสว่าง เช่น หลอดไฟ 153 ล้านบาท

แทบทุกชนิดของอุปกรณ์อัจฉริยะของบ้านนั้นเติบโต 50% เป็นอย่างน้อย เรียกได้ว่าตลาดนี้ยังไปได้ดี เพราะยังมีบ้านอีกหลายล้านหลังในไทยที่ยังไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ครับ

ในแง่ของสัดส่วนการใช้เงินในอุปกรณ์ Smart Home หรือ IoT ภายในบ้านแต่ละชนิดก็มีข้อมูลมาให้ สูงสุดที่คนใช้เงินด้วยคืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เฉลี่ยอยู่ที่ 76.91 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,500 บาท ส่วนที่น้อยที่สุดคืออุปกรณ์ประเภทแสงสว่าง เช่น หลอดไฟ อยู่ที่ 4.17 ดอลลาร์ หรือประมาณ 135 บาทเท่านั้น

18. คนไทยคิดอย่างไรกับเรื่อง Privacy

ในประเด็นเรื่อง Privacy หรือความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะเห็นว่ากว่า 60.9% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่อายุ 16-64 ปี เป็นกังวลกับเรื่องของ Fakenews มากเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการกังวลเรื่องของ Website Cookies ที่บอกว่าปฏิเสธการเก็บ Cookies ตามเว็บต่างๆ ในบางครั้งมากถึง 41.8% และคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 29.6% ติดตั้งตัวบล็อคโฆษณา หรือ Ad Block ในเครื่องเรียบร้อยแล้ว

ส่วน 26.1% บอกว่ากังเวลว่าบริษัทต่างๆ อาจเอาข้อมูลของเขาไปใช้โดยไม่ยินยอม และมีถึง 25.1% ที่บอกว่าใช้ VPN เพื่อปกปิดตัวตนบนดิจิทัลครับ

19. คนไทยใช้โซเชียลมีเดีย 7.6 แพลตฟอร์ม

ข้อมูลภาพรวมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยในปี 2022 บอกให้รู้ว่าคนไทยกว่า 56.85 ล้านคน หรือคิดเป็น 81.2% ใช้งานโซเชียลมีเดียแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.4% หรือ 1.9 ล้านคน และคนไทยก็ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ยวันละเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6.5% ครับ

ที่น่าสนใจคือคนไทยหนึ่งคนเล่นโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ย 7.6 แพลตฟอร์ม ดังนั้นการจะทุ่มการตลาดไปกับช่องทางเดียวดูไม่ค่อยเป็นทางเลือกที่ฉลาดนักในวันนี้

20. Facebook ดูเหมือนจะตันในกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ไทย

จากข้อมูลของ We Are Social บอกให้รู้ว่าสัดส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และ Messenger พูดง่ายๆ ก็คือแพลตฟอร์มในกลุ่มของ META ของพี่มาร์ค ดูเหมือนจะเข้าสู่ทางตันแล้วในไทย เพราะเมื่อดูจากฐานผู้ใช้งานคนรุ่นใหม่ Gen Z ช่วงวัย 13-17 ปี ที่มีน้อยมาก น้อยแทบจะเท่ากับกลุ่มผู้ใช้งานที่อายุ 55-64 ปีเลยทีเดียว

21. 15 Social Media Insight คนไทยเล่นโซเชียลมีเดียไปทำไมกัน

เหตุผลไม่เหมือนกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภาพรวมก่อนหน้านะครับ ซึ่งเรียงลำดับได้ตามนี้

  1. ติดต่อเพื่อนหรือคนในครอบครัว 58.7%
  2. อ่านข่าว 44.2%
  3. ดูว่าคนกำลังพูดถึงอะไร 37.8%
  4. โพสแชร์ความเห็น 37.2%
  5. ฆ่าเวลา 35%
  6. หาอะไรซื้อหรือทำไปเรื่อย 34.3%
  7. กลัวตกกระแส FOMO 34.2%
  8. หาข้อมูลสินค้าที่จะซื้อ 32.6%
  9. หาเพื่อนใหม่ 29.7%
  10. หาคอนเทนต์ของแบรนด์อ่าน 28.6%
  11. หาคอนเทนต์ที่อยากรู้ 28.2%
  12. โพสเรื่องตัวเอง (ผมทำบ่อย) 27.7%
  13. ติดตามข่าวกีฬา 27.2%
  14. ดู LIVE 26.5%
  15. ตาม Celeb คนดังหรือ Influencers 24.8%

ดูเหมือนเรื่อง Influencer หรือคนดังออนไลน์จะไม่ใช่สาเหตุหลักของการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียของคนไทยไปแล้วในวันนี้

22. แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุดในปี 2022

Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งที่เข้าถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวไทยในช่วงอายุ 16-64 ปีได้มากถึง 93.3% ตามมาด้วย LINE อันดับสองแบบหายใจรดต้นคอ 92.8% (ขนาดโทรยังโทรผ่านไลน์เลยวันนี้) อันดับสาม Facebook Messenger 84.7% และอันดับ 4 คือ TikTok มีสัดส่วนมากถึง 79.6% แซงหน้าโซเชียลมีเดียรุ่นพี่อย่าง Instagram ไปค่อนข้างมาก เพราะวันนี้คนไทยที่ออนไลน์ใช้แค่ 68.7% เท่านั้น ตามมาด้วย Twitter 53.1% และ Pinterest 34% ครับ

23. คนไทยชอบโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนมากกว่ากัน

เมื่อดูข้อมูลในมิติของความชอบน่าสนใจว่า TikTok ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในด้านของความชอบใช้งานของคนไทย ส่วน Facebook Messenger ที่แม้จะมีคนใช้เยอะแต่คนกลับไม่ได้ชอบสักเท่าไหร่นัก มีแค่ 6.4% เท่านั้นที่ชอบครับ

24. 15 Influencers กลุ่มคนที่คนไทยติดตามมากที่สุดในปี 2022

นิยามคำว่า Influencer ของผมคือใครก็ตามที่เราเลือกติดตามเพราะรู้สึกว่ามีความสำคัญกับเรา จะไม่ใช่แค่คนดังบนออนไลน์ที่นิยมใช้กันครับ ซึ่งนี่ก็เป็นข้อมูล Insight 15 กลุ่ม Influencers ที่คนไทยเลือกติดตามมากที่สุด

  1. เพื่อนหรือคนในครอบครัว 49.6%
  2. รายการทีวี หรือรายการโชว์ 37.4%
  3. นักแสดง หรือตลก 36.5%
  4. นักดนตรี นักร้อง หรือวงดนตรี 34.8%
  5. ร้านอาหาร หรือเชฟ 31.3%
  6. แอคเคาท์ตลกๆ หรือเพจขำๆ 25.7%
  7. แบรนด์ที่เราเพิ่งซื้อของมา 24.9%
  8. แบรนด์ที่เรากำลังหาข้อมูลจะซื้อ 23.3%
  9. นักกีฬาหรือทีมที่เราชอบ 22.4%
  10. เกมเมอร์ หรือค่ายเกม 22.2%
  11. นักข่าวหรือสำนักข่าว 21.2%
  12. อีเวนท์ที่เราสนใจ 20.9%
  13. เพจที่เกี่ยวกับงานของเรา 19.6%
  14. ท่องเที่ยว 17.8%
  15. Beauty Blogger หรือ Influencers 17.5%

25. Social Media ไหนส่ง Web Traffic มาให้เรามากที่สุด

จากข้อมูลบอกให้รู้ว่า Facebook กลายเป็นแหล่งที่มาของ Web Traffic ของไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง 61.20% ตามมาด้วย Twitter 12.71% น่าสนใจว่า Pinterest ส่ง Traffic มาที่เว็บถึง 12.26% ตามมาด้วย YouTube 7.98% ส่วน Instagram นั้นกลับได้แค่ 1%

26. คนไทยใช้ Facebook 50.05 ล้านคน

ข้อมูลหน้านี้ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะกระจ่างชัดอยู่แล้วว่าคนไทยใช้ Facebook กว่า 50.05 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประชากรไทยทั้งหมดถึง 71.5% โดยมีผู้หญิงใช้มากกว่าผู้ชายเล็กน้อย

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้งาน Facebook มากที่สุดของคนไทยก็คือโทรศัพท์มือถือ ครองสัดส่วนถึง 99.2% ส่วนใช้ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือมีแค่ 18% เท่านั้น และคนที่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเดียวก็มีสูงถึง 81.2% ครับ

27. คนไทยกด Facebook Ads เฉลี่ยเดือนละ 19 ครั้ง

ข้อมูลกิจกรรมที่คนไทยทำบน Facebook น่าสนใจตรงที่ว่าเรากด Likes โดยเฉลี่ย 11 ครั้งต่อเดือน คอมเมนต์โดยเฉลี่ย 8 ครั้งต่อเดือน แชร์เฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน และกดโฆษณามากสุดถึง 19 ครั้งต่อเดือน โดยเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายครับ

28. ค่าเฉลี่ย Facebook Engagement ของไทย 2022

เชื่อว่าข้อมูลหน้านี้นักการตลาดหลายคนคงเฝ้ารอเหมือนทุกปี เพราะเราจะได้มีตัวเลขเอาไว้เทียบว่าตกลงแล้วผลงานในการทำ Facebook Fan Page ปีก่อนเรานั้นถือว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานหรือไม่

  • โพสประเภทรูปภาพ ได้รับ Engagement เฉลี่ยอยู่ที่ 0.11% (ใช่ครับ ศูนย์จุด)
  • โพสประเภทวิดีโอ ได้รับ Engagement เฉลี่ยอยู่ที่ 0.09% (ใช่ครับ ศูนย์จุดศูนย์อีกที)
  • โพสประเภทลิงก์และสเตตัสข้อความ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.03%

ซึ่งเฉลี่ยทุกประเภทแล้วอยู่ที่ 0.08% แต่พอเอาตัวเลขนี้มาเทียบกับตัวเลขเฉลี่ย Engagement ที่เพจการตลาดวันละตอนทำได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยหน้านี้ 20-30 เท่าโดยประมาณครับ (ขออวดหน่อยนะ)

29. Insight ผู้ใช้งาน YouTube ไทยในปี 2022

ในปี 2022 คนไทยใช้ YouTube กว่า 42.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 61.1% ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7% หรือ 5.5 ล้านคน ซึ่งตัวเลขอายุโดยเฉลี่ยของผู้ใช้งาน YouTube ไทยอยู่ที่ 35.6 ปี มีสัดส่วนเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

30. คนไทยนิยมดูอะไรบน YouTube ในปี 2022

คำค้นหายอดนิยมบน YouTube ของคนไทยก็ยังเป็น เพลง และ หนัง แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มเพลงแดนซ์ จะค่อยข้างได้รับความนิยมในการฟัง น่าสนใจตรงที่คำว่า Roblox เป็นคำต่างประเทศที่ได้รับความนิยมติดอันดับ 20 คำค้นหาแรกครับ

ดูเหมือนเกมนี้จะมาแรงจริงๆ คำถามคือนักการตลาดไทยหรือมีแบรนด์ไหนทำการตลาดผ่านเกมนี้หรือยัง

31. Insight ผู้ใช้ Instagram ไทยในปี 2022

ในปี 2022 คนไทยใช้ Instagram กว่า 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.4% ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.6% หรือ 2.5 ล้านคน โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งานเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด

32. Insight ผู้ใช้งาน TikTok ไทย 2022

น่าสนใจว่า TikTok แม้จะเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิดตอนปี 2020 จากการล็อกดาวน์ ผ่านมาสองปีกลับมีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประชากรไทยทั้งหมด 51.1% ในวันนี้ และในสัดส่วนเพศที่ใช้งานก็เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดเหมือน Instagram ครับ

33. คนไทยแค่ 3.3 ล้านคนหรือ 4.7% เท่านั้นที่ใช้ LinkedIn

ดูเหมือนแพลตฟอร์มคนทำงานและหางานอย่าง LinkedIn จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในบ้านเรา ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มีแค่ 3.3 ล้านคนเท่านั้น ครอบคลุมคนไทยแค่ 4.7% น่าตกใจที่ตัวเลขผู้ใช้งานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าถึง 5.7% แต่ในภาพรวมปีต่อปียังเพิ่มขึ้น 3.1% แต่ก็เป็นจำนวนแค่ 1 แสนคนเท่านั้น

เอาใจช่วย LinkedIn ให้เติบโตไวๆ ในไทยให้ได้นะครับ

34. Insight ผู้ใช้ Twitter ในไทยของปี 2022

Twitter กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนกระแสสังคมไทยวันนี้ มีผู้ใช้งานกว่า 11.45 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของคนไทยทั้งหมด ซึ่งเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า 1.8% หรือสองแสนคนครับ

35. คนไทยใช้เงินซื้อโทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 2,000 บาท ในปี 2022

ข้อมูลชุดนี้ทำให้เห็นภาพว่าคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือในกลุ่มไหนเป็นหลัก ซึ่งดูจากค่าเฉลี่ยของเงินที่ใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในปี 2022 อยู่ที่ 62.46 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2,000 บาทครับ ซึ่งคิดเป็น 10.4% ของรายได้คนไทย และค่าแพคเกจอินเทอร์เน็ตมือถือที่คนไทยจ่ายต่อ 1 Gigabyte อยู่ที่ 1.06 ดอลลาร์ หรือสามสิบกว่าบาท

36. Andriod ครอง Web Traffic อันดับ 1 ของไทยในปี 2022

สัดส่วนของ Web Traffic จาก OS โทรศัพท์มือถือของไทยในปี 2022 มาจาก Andriod เป็นอันดับหนึ่งเหมือนทุกปี 72.25% ตามมาด้วย Apple อันดับสองเหมือนหลายปีที่ผ่านมา 27.42% ส่วนอันดับอื่นข้ามไปเลยก็ได้ครับ เพราะน้อยมากจนเหมือนแทบไม่มีตัวตนเลย

37. คนไทยใช้เงินไปกับแอปมือถือกว่า 35,200 ล้านบาท

ในปี 2021 ที่ผ่านมาคนไทยดาวน์โหลดแอปไปแล้วกว่า 2,440 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 14% และคนไทยใช้เงินในแอปต่างๆ รวมแล้วเป็นเงินกว่า 1,090 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 35,200 ล้านบาท ซึ่งโตขึ้นจากปีก่อนถึง 30%

เมื่อเห็นภาพรวมแบบนี้แล้วคำถามคือ เม็ดเงินกว่า 35,200 ล้านบาทไหลไปไหน เข้าแอปเราหรือธุรกิจเราบ้างหรือไม่ ดูเหมือนว่าธุรกิจแอปมือถือจะเฟื่องฟูอย่างเงียบๆ

38. 10 แอปที่คนไทยใช้งานมากที่สุดในปี 2022

ข้อมูลพฤติกรรมการใช้แอปของคนไทยจาก App Annie ถึง 10 แอปที่คนไทยนิยมใช้มีดังนี้ครับ

  1. Facebook
  2. LINE
  3. Facebook Messenger
  4. LAZADA (ช้อปออนไลน์กันเป็นปกติแล้วคนไทย)
  5. SHOPEE
  6. เป๋าตัง (ยินดีด้วยครับ)
  7. Instagram
  8. TikTok (น่าสนใจตรงแม้ผู้ใช้งานจะเยอะกว่า แต่กลับใช้งานจริงน้อยกว่าอย่างนั้นหรือ?)
  9. K PLUS (ยินดีด้วยกับ KBank ครับ)
  10. SCB Easy (ยินดีด้วยกับ SCB เช่นกันครับ)

39. 10 แอปที่คนไทยดาวน์โหลดมากที่สุด 2022

เรามาดูข้อมูลในส่วนของการดาวน์โหลดที่เกิดขึ้นในไทยกันบ้างครับว่า 10 แอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดมีอะไรบ้าง

  1. TikTok
  2. Facebook
  3. Shopee
  4. หมอพร้อม (แอปบังคับเลย)
  5. Facebook Messenger
  6. Capcut (แอปสำหรับคนทำคลิป TikTok)
  7. Instagram
  8. เป๋าตัง
  9. Lazada
  10. IQIYI (แอปดูหนังและซีรีส์ของจีนที่มาแรงในบ้านเรา)

40. 10 แอปที่คนไทยใช้เงินด้วยมากที่สุด 2022

  1. LINE
  2. YouTube
  3. TikTok
  4. MEB
  5. Tencent Video
  6. Facebook
  7. Viu
  8. LINE Webtoon
  9. Wesing (แอปร้องคาราโอเกะ อันนี้เซอร์ไพรซ์มาก)
  10. IQIYI

41. Insight การเงินคนไทย 2022

ข้อมูลชุดนี้น่าสนใจ เพราะบ่งบอกถึงพฤติกรรมการเงินของคนไทยที่เอาไปต่อยอดอะไรได้พอสมควร เริ่มจากคนไทยเปิดบัญชีกับธนาคารถึง 81% เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย แต่คนไทยเป็นเจ้าของบัตรเครดิตแค่ 9.8% เท่านั้น และก็ยังมีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่าหน่อย

แต่สัดส่วนคนไทยที่เป็นเจ้าของบัตรเดบิตนั้นสูงถึง 59.8% ก็ยังมีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่า และ 62.3% ของคนไทยรับและจ่ายเงินผ่านแอป มีคนไทยที่จ่ายเงินทางอินเทอร์เน็ตในปีที่ผ่านมา 16.8% (ดูเหมือนสัดส่วน COD จะยังสูงมากจึงทำตัวเลขส่วนนี้เยอะ) และมีคนไทยที่จ่ายบิลค่าใช้จ่ายทางอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 10.1% ครับ

42. Insight การซื้อของออนไลน์ของคนไทย 2022

จากข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนไทยในปีที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่า กว่า 68.3% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอายุ 16-64 ปี นั้นซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ มี 45.8% ซื้อของกินของใช้ทางออนไลน์เป็นประจำ และมี 16.8% ที่ซื้อของมือสองทางออนไลน์ มี 27.2% ที่เปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อทางออนไลน์ และที่น่าสนใจมากๆ คือมี 26.4% ที่ใช้บริการ Buy Now Pay Later หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลังแล้วในบ้านเราวันนี้

43. 15 Insight ปัจจัยที่ส่งพลต่อความอยากซื้อของออนไลน์ของคนไทย

นักการตลาดหรือคนที่ขายออนไลน์ต้องรู้ข้อมูลนี้ เพราะนี่คือ 15 ข้อที่กระตุ้นความอยากซื้อของออนไลน์ของคนไทยว่ามีอะไรบ้าง และคำถามสำคัญคือเรามีกี่ข้อแล้วในธุรกิจเรา

  1. ส่งฟรี 57.7%
  2. คูปองส่วนลด 49.2%
  3. COD หรือเก็บเงินปลายทาง 37.6%
  4. รีวิวจากลูกค้าจริง 31.8%
  5. Likes และคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดีย 30.6%
  6. คืนสินค้าง่าย 28.9%
  7. ส่งวันถัดไป 28.4%
  8. Competitions 22.2%
  9. ตอบแชทไว 21.9%
  10. จ่ายเงินง่าย 20.3%
  11. รักษ์โลก 19%
  12. มีระบบสมาชิกสะสมแต้ม 18.2%
  13. ผ่อนดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซนต์ 17%
  14. ซื้อได้บนโซเชียลมีเดียเลย 14.4%
  15. Click & Collect สั่งออนไลน์และไปรับที่ร้านได้ 14.1%

ดูเหมือนการส่งฟรีจะเป็นโปรโมชั่นที่กระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อร้านเราที่สุดนะครับ บางร้านอาจใช้กลยุทธ์รวมค่าส่งไปในราคาสินค้าแล้วก็ได้ หรือพยายามจัดโปรประเภทซื้อครบเท่าไหร่ส่งฟรี ก็กระตุ้นให้เกิดการซื้อที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกันครับ

44. Insight Thai Consumer Good 2022 คนไทยซื้อของกินของใช้มากแค่ไหน

ในปี 2022 บอกให้รู้ว่าในปีที่ผ่านมาตลาดสินค้าบริโภค หรือของกินของใช้ Consumer Good ของคนไทยนั้นมีการซื้อทางออนไลน์ Ecommerce รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 614,000 ล้านบาทครับ เป็นตัวเลขที่โตอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้าถึง 77.5% ซึ่งมาจากผู้ซื้อกว่า 36.6 ล้านคน แต่กลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแค่ 8.7% หรือ 2.9 ล้านคนเท่านั้น

นั่นหมายความว่าการซื้อของกินของใช้ออนไลน์ของคนไทยโดยเฉลี่ยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 63.3% หรือเป็นเม็ดเงินกว่า 16,700 บาทต่อคน และการซื้อกว่า 65.1% มาจากโทรศัพท์มือถือเป็นหลักครับ

จะเห็นว่าคนไทยเรียนรู้ที่จะซื้อทุกสิ่งทุกอย่างทางออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้าคุณยังขายออนไลน์ไม่ได้ หรือขายไม่ดี ผมว่าคุณน่าจะตกขบวน Ecommerce อย่างน่าเป็นห่วงแล้วครับตอนนี้

45. คนไทยใช้เงินซื้อสินค้าประเภทไหนมากที่สุด

เมื่อเรียงตามลำดับการใช้เงินซื้อของออนไลน์ของคนไทยตามกลุ่มชนิดสินค้าพบว่า

  • สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณ 205,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.2%
  • ของใช้ส่วนตัวและของใช้ภายในบ้าน ประมาณ 128,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 89.9%
  • เครื่องดื่ม ประมาณ 125,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 159%
  • สินค้ากลุ่มแฟชั่น ประมาณ 48,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 85.8%
  • ของเล่น ของสะสม ประมาณ 45,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 99.3%
  • อาหาร ประมาณ 41,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100%
  • เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ประมาณ 15,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54.2%
  • เพลง ซีดี แผ่นเสียง สื่อบันเทิงที่จับต้องได้ ประมาณ 4,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.4%

46. Insight การใช้เงินท่องเที่ยวของคนไทย 2022

ข้อมูลชุดนี้น่าสนใจเพราะเมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลกแล้วดูเหมือนตลาดการท่องเที่ยวของไทยยังซบเซา แต่ก็มีการท่องเที่ยวบางประเภทที่ยังเติบโตขึ้นได้ดีจากปีก่อนดังนี้ครับ

  • แพคเกจเที่ยววันหยุด โตขึ้นจากปีก่อน 48%
  • โรงแรม 47%
  • รถไฟ 30%
  • ล่องเรือ 19%
  • เช่าบ้านพักที่ไม่ใช่โรงแรม 14%
  • รสบัสโดยสาร 12%

ส่วนที่ลดลงจากปีก่อนคือ การเดินทางด้วยเครื่องบิน ลดลง 7.3% และการเช่ารถยนต์ ลดลง 1.3%

เอาใจช่วยธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศให้ดีขึ้นในเร็ววันนะครับ

47. คนไทยใช้เงินเกมออนไลน์กว่า 16,674 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกดูข้อมูลพฤติกรรมการใช้เงินกับพวก Digital Content ของคนไทยในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ภาพรวมการใช้เงินกับดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งหมดเกิดขึ้นกว่า 31,487 ล้านบาท ไปกระจุกตัวอยู่กับการใช้เงินในเกมออนไลน์ไปแล้วว่า 16,694 ล้านบาทครับ

ตามมาด้วยการใช้เงินไปกับการดูหนังออนไลน์ทั้งหลาย รวมเป็นเงินกว่า 6,864 ล้านบาท แล้วก็การอ่านคอนเทนต์อนไลน์ 4,335 ล้านบาท ส่วนเพลงออนไลน์ได้เงินคนไทยไปประมาณ 3,561 ล้านบาทครับ

48. Insight Thai Food Delivery 2022 คนไทย 12.2 ล้านคนใช้แอปสั่งอาหาร

ข้อมูลชุดนี้น่าสนใจเพราะทำให้เห็นพฤติกรรมการสั่งอาหารผ่านแอป Food Delivery ของคนไทยว่ามีจำนวนกว่า 12.2 ล้านคนแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 21.1% หรือ 2.1 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.3% ก็ถือว่าโตใกล้เคียงกับจำนวนผู้ใช้งาน และนั่นหมายความว่ายอดการสั่งอาหารผ่านแอปเฉลี่ยต่อคนไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากเหมือนการซื้อของออนไลน์ เพราะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแค่ 3.4% เท่านั้น เฉลี่ยคนไทยหนึ่งคนสั่งอาหารผ่านแอปเป็นเงิน 1,062 บาทโดยประมาณครับ

และเราก็มาถึง Part สุดท้ายในรายงาน Thailand Digital Stat 2022 นั่นคือส่วนของ Digital Marketing หรือข้อมูลการทำการตลาดออนไลน์ของไทยในปีที่ผ่านมา ลองมาดูกันนะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง

49. 15 ช่องทางที่ผู้บริโภคไทยเข้าถึงแบรนด์ได้มากที่สุด

  1. Search Engines หรือ Google 35.6%
  2. โฆษณาในแอปมือถือ 30.6%
  3. โฆษณาทีวี 30.5%
  4. เว็บเปรียบเทียบ 28.9%
  5. เว็บแบรนด์ 28.5%
  6. โฆษณาบนเว็บ 28.1%
  7. รายการทีวีหรือหนัง 28%
  8. โฆษณาในโซเชียลมีเดีย 27.8%
  9. รีวิวจากผู้บริโภค 25.2%
  10. Word of Mouth 24.7%
  11. คอมเมนต์บนโซเชียล 23.3%
  12. สินค้าตัวอย่าง 22.7%
  13. โฆษณาภายในร้าน 21.8%
  14. รีวิวจาก Blogger หรือ Influencer 19.5%
  15. เห็นจากโฆษณา Pre-roll 18.8%

50. คนไทยชอบหาข้อมูลผ่านเว็บของแบรนด์ใกล้เคียงเสิร์จหาผ่าน Google

อันดับหนึ่งเป็นการค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ด้วยตัวเอง ซึ่งใกล้เคียงกับการเข้าไปที่เว็บของแรนด์โดยตรง ตามมาด้วยการโหลดแอปของแบรนด์นั้นมาลองใช้งานดู ที่เหลือสองอันดับท้ายคือการคลิ๊กผ่านโฆษณาบนออนไลน์ ไม่ว่าจะบนเว็บที่ดู หรือบนโซเชียลมีเดียที่เล่าครับ

51. เม็ดเงินการตลาดออนไลน์ไปอยู่ตรงไหนบ้าง

เม็ดเงินของการตลาดออนไลน์ไทยในปีที่ผ่านมารวมแล้วมีมูลค่ากว่า 38,206 ล้านบาท (รู้สึกน้อยกว่าที่คิดแฮะ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 21.4% อันดับหนึ่งไปอยู่กับแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บ ประมาณ 13,695 ล้านบาท ตามมาด้วยโฆษณาประเภทวิดีโอ ประมาณ 11,623 ล้านบาท อันดับสามคือ Search Ads ประมาณ 9,810 ล้านบาท และสุดท้ายที่ประเภทประกาศบนเว็บต่างๆ ประมาณ 3,011 ล้านบาทครับ

52. Insight การโฆษณาแบบ Programmatic ไทย 2022

อันนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่เคยเห็นเป็นปีแรก ที่มีการลงรายละเอียดของการใช้เงินไปกับการลงโฆษณาแบบ Programmatic ในไทยให้เห็นว่าได้สัดส่วนของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไปมากถึง 68.5% นับเป็นเม็ดเงินกว่า 809 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 26,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 22.6% ครับ

สรุป 52 Insight ที่น่าสนใจจากรายงาน Thailand Digital Stat 2022 ของ We Are Social

ตั้งแต่ภาพรวมของประชากรไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบถลำลึก แต่ดูเหมือนบ้านเราจะมีการเตรียมตัวในเรื่องนี้ให้เห็นน้อยมาก และก็ดูเหมือนว่าจำนวนประชากรไทยหรือคนไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

อัตราการเติบโตขอผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยที่ดูจะไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ดูเหมือนจะชะงักอยู่ที่ราวๆ 80% ของคนไทยทั้งหมด

ส่วน Insight การใช้งานโซเชียลมีเดียก็น่าสนใจว่า TikTok มาแรงในไทยอย่างเห็นได้ชัด แซง Instagram แบบขาดลอย

ส่วนตลาดการช้อปปิ้งซื้อของออนไลน์ของไทยก็ดูจะเติบโตได้ดีรับกระแส Digital Disruption จากการล็อกดาวน์อย่างมาก สรุปได้ว่าข้อมูลจากรายงาน Thailand Digital Stat 2022 ปีนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประเด็นสำคัญที่นักการตลาดต้องรู้

รู้แล้วรีบเอาไปปรับแผนการตลาดปีนี้ที่เพิ่งทำเสร็จไปโดยไว เพราะไม่อย่างนั้นงบการตลาดที่มีจำกัดคุณอาจสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดายครับ

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม > Thailand Digital Stat 2022 ของ We Are Social

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *