CEA ส่ง Virtual Media Lab ยกระดับคอนเทนต์ หนุนครีเอเตอร์ไทย

CEA ส่ง Virtual Media Lab ยกระดับคอนเทนต์ หนุนครีเอเตอร์ไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้เปิดตัว “Virtual Media Lab” หรือห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่บ่มเพาะทักษะให้สายผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ได้มาเรียนรู้กัน 

ทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีด้าน Virtual Production เพื่อพัฒนาโลกเสมือนจริงขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่จะเชื่อมต่อโอกาสใหม่ทางธุรกิจให้กับครีเอเตอร์ไทย และเป็นการยกระดับคอนเทนต์ไทย สร้างปรากฏการณ์ Soft Power สู่ตลาดสากล

ทำไมสายผลิตต้องตื่นตัว และตามเทรนด์ให้ทัน

ในปัจจุบัน กระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากค่ะ ส่งผลให้ผู้คน แบรนด์ธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาต่างต้องหาทางปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทย ก็เป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่มีศักยภาพในการส่งออกของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สาขาซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สาขาการกระจายเสียง รวมไปถึงการโฆษณาและอีเวนต์ จะเห็นได้เลยว่าในส่วนของ Soft Power ของไทยนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของอาหาร แต่ในมุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็เป็นส่วนที่เราควรให้ความสำคัญและร่วมผลักดันกันเยอะ ๆ นะคะ

ประกอบกับในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของ Global Virtual Production มีมูลค่าสูงถึง 6.4 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีมูลค่ามากกว่า 2.38 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว 

แปลว่าเราควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ในการปรับตัวและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เป็น โดยเฉพาะกับสายผลิต ที่ควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การถ่ายทำในลักษณะ Virtual Production (VP) หรือการผลิตเสมือนจริง ให้ทันกับแนวโน้มเทรนด์ที่กำลังจะมาถึง

อ้างอิงข้อมูลจาก truedigitalacademy ที่ได้ยกตัวอย่าง Virtual Tech ในอุตสาหกรรมบันเทิงของต่างประเทศ ว่ามีการใช้ Hologram คือ ยิงลำแสงเลเซอร์หรือแหล่งกำเนิดแสงอื่น ๆ จนเกิดเป็นภาพสามมิติที่ขยับเขยื้อนได้ในโลกจริง มักถูกนำมาใช้ในการแสดงคอนเสิร์ต เช่น Hatsune Miku นักร้องป๊อปเสียงสังเคราะห์เสมือนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นที่จัดคอนเสิร์ตโดยใช้เทคโนโลยี Hologram

ดังนั้นยิ่งเป็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตงานสร้างสรรค์ด้วย Virtual Technology ในประเทศไทย ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ไปไกลระดับโลกได้ในอนาคต

ประกอบกับปัญหาบุคลากรขาดความรู้และเครื่องมือ จึงเป็นที่มาของ Virtual Media Lab

ประกอบกับปัญหาที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีและพบเจอกันบ่อยในวงการสายผลิต นั่นก็คือบุคลากรส่วนใหญ่ของไทย ยังขาดความรู้ความเข้าใจ รวมถึงไม่มีพื้นที่และอุปกรณ์ ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ โดยเฉพาะกับสินค้าและบริการประเภทโลกเสมือนจริง

เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน ไหนจะต้องมีการลงทุนสูงอีก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือได้

ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายนะคะ เพราะคนเก่ง ๆ ก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือและสร้างผลงานใหม่ ๆ เพราะไม่มีพื้นที่และอุปกรณ์ในการเรียนรู้นั่นเอง อีกทั้งยังเสียโอกาสทางการแข่งขันของประเทศไปอีกด้วย

ดังนั้น CEA ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ก็ได้เห็นความสำคัญของการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ให้ Soft Power ไทย สามารถเติบโตไปไกลในระดับสากลได้อย่างมีศักยภาพ 

จึงเป็นที่มาของการจัดทำห้องปฏิบัติการ Virtual Media Lab นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ ให้ผู้ใช้ได้ทดลอง ทดสอบ และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี Virtual Production โดยจะเป็นเหมือนพื้นที่ศูนย์กลางการบ่มเพาะทักษะ และคอยสนับสนุนครีเอเตอร์ของไทย

ตั้งแต่ระดับนักศึกษาไปจนถึงผู้ประกอบการสร้างสรรค์เลยนะคะ ให้ได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจน Upskill และ Reskill ให้เข้าถึงและเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำที่ล้ำสมัยได้ ไปจนถึงสามารถใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนได้อย่างเชี่ยวชาญเลยค่ะ

Virtual Production แบบจัดเต็ม พร้อมสำหรับวงการผลิตสื่อยุคใหม่

สำหรับภายใน Virtual Media Lab ก็จะประกอบด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพกว่า 20 รายการ ซึ่งได้มาตรฐานการผลิต Virtual Production ของสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล 

ที่จะช่วยยกระดับการถ่ายทำด้วยระบบการผลิตเสมือนจริง (Virtual Production: VP) โดยเป็นการผสมผสานเทคนิคการใช้ VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ร่วมกับกระบวนจินต-ภาพคอมพิวเตอร์ (Computer-Generated Imagery: CGI) ผ่านการใช้เทคโนโลยีเกม Real-time Engine 

นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลแบบ Full LED Screen Virtual Production Studio ขนาด 45 ตารางเมตร สามารถถ่ายทำคอนเทนต์ในรูปแบบ Immersive Experience ที่ตื่นเต้น เร้าใจ และระบบ IN-CAMERA VISUAL EFFECTS (ICVFX) รวมถึงสามารถทำ Post-Production ด้วยระบบ Render ระดับ High Performance ที่ให้ภาพคมชัด

อีกทั้งยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมมือกับ 12 สถาบันการศึกษาอีกด้วย ได้แก่

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่าดีมาก ๆ เลยค่ะในมุมของการพัฒนาบุคลากรในภาคการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และเป็นการเตรียมพร้อมที่จะทำงานในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ CEA ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง Cloud 11 ที่เป็นฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ขับเคลื่อน Soft Power ให้ก้าวสู่ตลาดโลก

ตลอดจนสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งจุดประกายแรงบันดาลใจ สร้างจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัด และตั้งใจอยากที่จะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไปกว่า 62,500 คน ภายในปี 2570

Virtual Media Lab พื้นที่เพื่อครีเอเตอร์ไทย ยกระดับคอนเทนต์สู่สากล

เป็นยังไงกันบ้างคะกับ Virtual Media Lab เรียกได้ว่าเข้ามาชุบชีวิตวงการสายผลิตของไทยมาก ๆ ในการเป็นศูนย์กลางสำหรับการเรียนรู้และฝึกฝน สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตามทันเทรนด์และแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

รวมถึงเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรของไทยด้วย ไม่ว่าจะในวงการศึกษาอย่างนักศึกษา หรือแรงงานสร้างสรรค์ ธุรกิจ SMEs หรือประชาชนทั่วไปก็ตาม ให้ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สนับสนุนทั้งการให้พื้นที่และอุปกรณ์ในการผลิตงานสร้างสรรค์ด้วย Virtual Technology ที่ถือว่ายังคงใหม่สำหรับไทย ซึ่งหากเราเริ่มเรียนรู้กันตั้งแต่วันนี้ อนาคตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ที่จะเป็น Soft Power คงจะสามารถเติบโตไปได้ไกลในระดับสากลอย่างแน่นอนค่ะ

ในมุมของการตลาดในอนาคตเราคงได้เห็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ต่อยอดกับการทำธุรกิจกันมากขึ้นนะคะ และคงได้เห็นกันด้วยว่า Soft Power ของไทยนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของอาหาร แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ควรจะให้ความสำคัญและช่วยผลักดันกันต่อไปด้วยค่ะ

สำหรับผู้ที่สนใจสถานที่มีกำหนดเปิดให้เยี่ยมชมและใช้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2566 ณ ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ นะคะ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือ [email protected] โทร. 02 105 7400 ต่อ 112, 165

และทุกคนสามารถติดตามบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้จากเพจการตลาดวันละตอน ที่ เว็บไซต์ Facebook Instagram TwitterYoutube และ Blockdit ได้เลยค่า

Fern Panassaya

เฟิร์น Junior Marketing Content Creator แห่งการตลาดวันละตอน รักแมวอ้วนและหมาโกลเด้น ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน ฝากเป็นกำลังใจและติดตามคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อจากนี้ด้วยค่ะ <3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *