Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

สวัสดีค่ะ แคมเปญที่จะนำมาแชร์กันในบทความนี้ถือเป็นหนึ่งในแคมเปญจาก Cannes Lions ที่โดดเด่นในเรื่องของการช่วยเหลือสังคมและมาจากภาครัฐ โดยแคมเปญนี้มีชื่อว่า Knock Knock แคมเปญเพื่อสังคม ที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้

ความน่าสนใจของแคมเปญนี้คือ เพียงเคาะก๊อก ก๊อก ตำรวจก็จะเข้าไปช่วยเหลือผู้แจ้งเหตุได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องพูด ไม่ต้องส่งเสียง ตอบโจทย์พฤติกรรมและปัญหาที่หยั่งรากมานานของหนึ่งในประเทศที่มีอัตราความรุนแรงในครอบครัวสูง โดยแคมเปญนี้จะมีวิธีการในการช่วยเหลือยังไงนั้น ติดตามอ่านได้ในบทความนี้ได้เลยค่าา

ที่มาที่ไปของแคมเปญ⏤ การถูกทำร้ายในครอบครัวในทุกปีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การอัตราการแจ้งความต่ำมาก

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าแคมเปญที่นำมาแชร์ในบทความนี้เป็นแคมเปญที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายในบ้านมากที่สุด จากการรายงานพบว่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา อัตราของการถูกทำร้ายเพิ่มขึ้น 718% แต่มีอัตราการแจ้งความเพียงแค่ 2% โดยมีผู้หญิงเป็นผู้เสียหายมากกว่า 80%

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวคือ ผู้เสียหายต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว โดนทำร้ายทีก็แค่หนีหรือหลบหลีกแล้วปล่อยเบลอ ปัญหาจึงถูก Normalized เป็นเหมือนเรื่องปกติ จึงไม่แปลกที่อัตราการแจ้งความถึงสวนทางอย่างน่าสลดใจกับอัตราของการถูกทำร้าย

มองเผิน ๆ เหมือนต้นตอของการไม่แจ้งเหตุจะมาจากการที่คนชิน แล้วในทางกลับกัน…ถ้าคนที่พยายามแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน พวกเขาพยายามแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จล่ะ? แต่เดิมการขอความช่วยเหลือเราจะต้องโทรไปหาตำรวจ และตอนเราโทร จะมีเสียงดังออกที่เราต้องใช้คุย

ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้นั่นเองที่ทำให้ผู้กระทำความรุนแรงรู้ตัวว่าจะมีบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อยากที่จะโดนข้อหาทำความผิด โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องอยู่ในคอนโดมิเนียมขนาดเล็กจึงทำให้ถูกจับได้ว่าโทรขอความช่วยเหลือได้ง่าย

จึงทำให้เกิดการทำร้ายซ้ำสองหรือมากกว่านั้นเกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำเจ็บปวดและฝังใจ ไม่อยากโดนทำร้ายอีกจึงเลือกที่จะไม่แจ้งความ อัตราการแจ้งความจึงต่ำนั่นเองค่ะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติของเกาหลีจับจุดถึงปัญหานี้ได้จึงร่วมมือกับ Cheil Worldwide เอเจนซี่โฆษณาระดับโลกสัญชาติเกาหลี ออกเป็น แคมเปญเพื่อสังคม ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกระทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ไม่ต้องส่งเสียง ไม่ต้องพูด แค่เคาะสองที เจ้าหน้าที่รับเรื่อง

Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

แคมเปญนี้ มีหลักการทำงานโดยเมื่อเกิดเหตุ ให้โทรไปที่เบอร์ 112 (สายด่วนฉุกเฉินของเกาหลีใต้) จากนั้นกดเลขอะไรก็ได้ 2 ครั้ง เหมือนเคาะ ก๊อก ก๊อก (ได้รับแรงบันดาลใจจากรหัสมอร์ส) เพื่อส่งรหัสไปยังตำรวจว่า กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งเสียงได้เพื่อเป็นสัญญาณให้ตำรวจรู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่ง SMS มาพร้อมกับลิงก์ที่เมื่อกดแล้ว มือถือของเหยื่อจะเชื่อมต่อกับระบบของตำรวจ โดยจะมีการระบุตำแหน่งและสามารถดูภาพสถานที่จริงผ่านกล้องมือถือแบบเรียลไทม์ได้ ทำให้ตำรวจสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และสภาพแวดล้อมของเหยื่อได้

และเพื่อความแนบเนียน ตำรวจสามารถแชตกับเหยื่อผ่าน Inbox ที่ทำ Interface ของ Google แปะทับไว้เพื่อไม่ให้โดนจับได้ ให้เหมือนผู้โทรแค่กำลังเสิร์ชกูเกิ้ลปกติ ไม่มีพิรุธว่ากำลังส่งข้อความแจ้งตำรวจ หลายคนอาจจะเอ๊ะ!? ส่งแชตไปหาตำรวจก็น่าจะง่ายกว่า ทำไมต้องใช้โทรศัพท์?

Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

คำตอบคือตำรวจมีระบบรับเหตุฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์อยู่แล้ว ทั้งยังเสถียรกว่า ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ใช้ได้ ไม่ต้องเปลืองงบสร้างขึ้นมาใหม่ และผู้พิการใช้ได้ ถ้าส่งแชตโอกาสจับได้มีสูงกว่าโดยเฉพาะถ้าเหยื่ออาศัยอยู่ที่เดียวกับผู้ต้องหานั่นเองค่ะ

นวัตกรรมโทรฉุกเฉินนี้ได้ถูกนำไปใช้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4,800 คนทั่วประเทศ โดยมีการเปิดเผยแพร่โครงการผ่านบล็อกและช่อง YouTube ของรัฐบาล และมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง ในสถานีตำรวจและสำนักงานรัฐบาลทั่วประเทศ

และยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างแนบเนียน เช่น ร้านทำผม ร้านทำเล็บ บรรดาผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้หญิงได้ง่าย และผลลัพธ์ของแคมเปญ ทำให้มีผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินโทรเข้ามาทั้งหมด 5,749 ราย มีการแสดงผล 237 ล้านครั้ง และที่สำคัญแคมเปญนี้คว้า Grands Prix มาได้อีกด้วยค่ะ เป็นตัวการันตีอย่างดีว่าเป็นแคมเปญที่ดีจริง ๆ

Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

สรุป Knock Knock ก๊อก ก๊อก แจ้งเหตุ แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้ Grands Prix

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่ปัญหาที่เราควรมองข้าม ถูกมองว่าเป็นปัญหาภายใน คนอื่นไม่ควรเข้ามายุ่ง ปล่อยให้พวกเขาแก้ไขกันเองและเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ แคมเปญจากเกาหลีใต้นี้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าการเข้าเป็นช่วยเหลือผู้ถูกกระทำเป็นเรื่องที่เราควรทำ เพราะความต้องการการช่วยเหลือยังมีอีกมากที่เรามองไม่เห็น

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับผู้คนในหลากหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือระดับสังคม ผู้เขียนมองว่าแคมเปญนี้เป็นแคมเปญที่ไม่ได้ทำแค่สร้างการรับรู้หรือเรียกร้องอย่างเดียวแต่การลงมือหาวิธีทำเพื่อแก้ปัญหา เป็นไอเดียที่ไม่จบแค่เพียงหลังจากแคมเปญจบแต่จะใช้งานได้และอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน

สำหรับท่านใดที่มองหาไอเดียการทำ แคมเปญเพื่อสังคม หรือทำ CSR หวังว่าตัวอย่างนี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source: https://lbbonline.com/news/korean-national-police-agency-campaign-gives-a-voice-to-people-unable-to-speak

https://www.brandinginasia.com/creative-dive-cheil-worldwide-south-korea/

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *