เปลี่ยน Buyer Attitudes แก้ปัญหา Food Waste ด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้

เปลี่ยน Buyer Attitudes แก้ปัญหา Food Waste ด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้

เปลี่ยน Buyer Attitudes แก้ปัญหา Food Waste ด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้

ในบทความนี้เตยจะพามาเปิดโลกทัศน์ไอเดียเจ๋ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสุดล้ำ ทว่าเป็นการปรับใช้สิ่งง่าย ๆ ด้วยแนวคิดเรียบง่าย Back to basic อย่างสติ๊กเกอร์ ที่เอามาแปะบนพลิตภัณฑ์แต่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวแบบยั่งยืน

โดย Case Study ที่เตยจะพามาทำความรู้จักมาจากแบรนด์ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่สีแดง Makro ประเทศโคลอมเบีย ที่เล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหาอาหารเหลือทิ้ง นำมาสู่การสร้าง Intelligent packaging

Food Waste Insight: 40% ของอาหารเหลือทิ้ง คือผักและผลไม้

จุดเริ่มต้นของแนวคิดมาจากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตร (FAO) และกรมวางแผนแห่งชาติโคลอมเบียที่บ่งชี้ว่าโคลอมเบียทิ้งอาหารประมาณ 6.1 ล้านตันต่อปี โดยผักและผลไม้คิดเป็น 40% ของขยะเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะและสยดสยองมากเลยทีเดียวค่ะ แถมยังส่งผลกระทบในอนาคตกับโลกในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย

เผื่อใครที่นึกภาพไม่ออกว่าปัญหา Food Waste ส่งผลกระทบยังไง เตยขออธิบายแบบนี้ค่ะ

คนบริโภคมากขึ้น การผลิตเพิ่มขึ้นตาม แต่ปริมาณที่บริโภคจริง ๆ กลับน้อย เนื่องจากอาจจะซื้อไปแต่ไม่กิน กินไม่ทัน หรือกินไม่หมด เราก็ทิ้งเหลือเป็นขยะ ซึ่งการผลิตไม่ได้ทิ้งตามเรา เพราะการบริโภคยังมีอยู่ พอผลิตไปมากขึ้น พลังงาน สารเคมี ที่ใช้ก็มากขึ้นตาม

ควัน สารเคมี สิ่งปนเปื้อน ที่ได้มาจากการผลิตส่งต่อสู่คนและโลก บู้มมมม! ปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศแย่มาทันทีแบบที่เราเผชิญกันอยู่ นึกง่าย ๆ ก็ภาวะโลกร้อนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหา Food Waste นี่แหละค่ะ

กลับมาที่ประเด็นของเราต่อ จากตัวเลข 40% ของอาหารเหลือทิ้ง คือผักและผลไม้ ทาง FAO ได้สืบเสาะเข้าไปและพบ Insight อย่างหนึ่งที่ว่าสาเหตุที่ทำให้คนทิ้งผักและผลไม้ คือคิดว่าผลไม้ที่สุก (สุกเกินไปจากปกติ) มันเสีย กินไม่ได้ ทำให้พวกเขาต้องทิ้งไปเพราะไม่รู้ว่าความสุกแบบอื่นยังสามารถกินได้อยู่

ซึ่งเอาจริง ๆ เตยก็เข้าใจพวกเขา เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้ บางครั้งการที่ผลไม้สุกเกินไปหรือเปลี่ยนไปเป็นสีอื่น ๆ จากความเข้าใจเดิมของเรา เราจะคิดว่ามันเสียหรือทานไม่ได้ทันที ทานไปก็กลัวไม่คุ้มค่ารักษาพยาบาลอีก คนจะทิ้งก็คงไม่แปลก แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

ปรับความคิดผู้บริโภคด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้แนะนำการกิน

Makro และ Grey Colombia, Bogotá จึงร่วมมือกันสร้าง Life Extending Stickers สติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้ที่มีคำแนะนำสูตรอาหารที่เหมาะกับระดับความสุกของผักและผลไม้ เป็นเหมือนสติ๊กเกอร์แบรนด์ปกติทั่วไปแต่มีกิมมิคอยู่ที่วงจรสีระดับความสุก

ทำให้เรารู้ได้เลยว่าระดับความสุกนี้สามารถเอาไปทำอะไรกินได้ต่อ ยกตัวอย่างเช่น กล้วยผิวเปลือกสีเขียว นำไปทอดกินได้ สีเหลืองขึ้นมาหน่อย นำไปทำไอติม เหลืองเริ่มน้ำตาลมีจุดประปราย ทำเทมปุระก็ดี หรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เอาไปทำคัพเค้กได้ดี เป็นต้น

ทีนี้ Attitudes ของผู้บริโภคก็จะเป็นไปทันที จากเดิมที่คิดว่ากินไม่ได้ก็เปลี่ยนมาทำให้รู้ว่ายังกินได้อยู่ แถมยังกินได้หลากหลายแบบอีกด้วย

Intelligent packaging ที่ทำน้อยแต่ได้มาก

สติ๊กเกอร์นี้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีหรือต้นทุนอะไรที่สูงมากเลยค่ะ เป็นเพียงสติ๊กเกอร์ขนาด 1×1 นิ้วที่เล็กจิ๋วแต่ทรงพลัง ใช้ต่อสู้กับปัญหา Food Waste ได้ดี ลงทุนน้อย ทำน้อยแต่ตอบแทนกลับมากมายมหาศาล ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ Intelligent packaging (บรรจุภัณฑ์ฉลาด) เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเน้นสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค เอาไว้บอกคุณภาพของสินค้า

ปล. Intelligent packaging (บรรจุภัณฑ์ฉลาด) คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีความสามารถพิเศษมากกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้นำบรรจุภัณฑ์ฉลาดมาใช้เพื่อบันทึกข้อมูล ระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษา และสื่อสารข้อมูลกับลูกค้า หรือผู้บริโภค ระบบการขาย เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญแสดงถึงคุณภาพอาหาร และความปลอดภัยทางอาหาร

นอกจากจะดำเนินการนำสติ๊กเกอร์มาปรับใช้ใน In-store เพื่อเพิ่มดึงดูดคนที่ผ่านไปผ่านมาตอนมาช็อปปิ้งที่ Makro แล้ว ยังมีการโปรโมทสื่อสารการตลาดต่อไปใน Instagram ของแบรนด์อีกด้วย โดยจะเป็นการแนะนำ ทำคลิปสอนทำเมนูต่าง ๆ ตามระยะความสุกของผัก ผลไม้แต่ละชนิดค่ะ

เปลี่ยน Buyer Attitudes แก้ปัญหา Food waste ด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้
Cr. Markrocolombia’s Instagram account

สรุป เปลี่ยน Buyer Attitudes แก้ปัญหา Food waste ด้วยสติ๊กเกอร์วงจรชีวิตผลไม้

จะเห็นได้ว่าสติ๊กเกอร์เพียงอันเดียวก็สามารถใช้ต่อกรกับปัญหา Food Waste ได้ง่าย ๆ ด้วยแนวคิดเรียบง่ายที่ต่อยอดมาจาก Insight ที่พบเจอ คนไม่รู้ก็เปลี่ยนให้เป็นรู้ เข้าใจผิดก็เปลี่ยนให้เข้าใจถูก อุปทานหมู่ที่ว่าผิวผัก ผลไม้ต้องสวยถึงจะกินดีก็ถูกแก้ไขได้เพียงแค่สติ๊กเกอร์เพียงอันเดียว

จากการคาดการณ์ของแคมเปญนี้คาดว่าจะสามารถสร้างขยะอาหารน้อยลง 70 ตันต่อสัปดาห์ (รวมร้านค้าและครัวเรือน) คิดเป็นเดือนก็ 280 ตัน ต่อปีก็ 3,360 ตันต่อปีกันเลยทีเดียว นอกจากนี้แคมเปญนี้ไม่ได้มาเล่น ๆ หรอกนะคะ เพราะสามารถไปคว้ารางวัลเหรียญทองประเภท Outdoor จากเทศกาล Cannes Lions Festival ปี 2023 กันมาแล้ว!

หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

บทความที่แนะนำให้อ่านต่อ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *