Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ ‘ความเชื่อ’ เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%

Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ ‘ความเชื่อ’ เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%

Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ ‘ความเชื่อ’ เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%

ด้วยความที่เราเป็นคนไทยคงจะคุ้นเคยกันดีกับศรัทธา ความเชื่อ ลัทธิแปลกแหวกโลกที่มาพร้อมกับการตลาด พูดเรื่องการตลาดสายมูไปก็คงไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจเท่าที่ควร เพราะทุกวันนี้ที่เราเห็นกันเป็นประจำก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ซะเท่าไหร่ เบอร์มงคลเอย กำไลมงคลเอย สีมงคลเอย วอลเปเปอร์มงคลเอย เราล้วนคุ้นชินกันมาตลอด

ในบทความนี้ เตยจะพาทุกคนเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนเกาหลี พาไปดูว่าต่างชาติเขามูอะไรกัน มูกันยังไง การตลาดสายมูต่างประเทศเป็นแบบไหน นำมาใช้กับการตลาดแบบใด เพื่อเปิดมุมมอง เก็บไอเดียให้รู้ว่าต่างประเทศเขาก็มูแบบนี้กันด้วย!? กับแคมเปญ Money Dream จากธนาคาร Hana ประเทศเกาหลีใต้ค่ะ

มากกว่า 6 พันล้านใบคือ ธนบัตรเสียที่ต้องกำจัด ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในความเป็นจริง ธนบัตรที่เราใช้กันทุกวันนี้จะต้องถูกหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ธนบัตรหนึ่งใบจะถูกเปลี่ยนมือผู้ถืออยู่ทุกวัน ซึ่งกระบวนการแลกเปลี่ยนในระบบทำให้เงินแต่ละใบเสียหายไปไม่มากก็น้อย บ้างก็ฉีกขาด เลอะเปื้อน มีร่องรอยการถูกขีดเขียน ลองหยิบเงินในกระเป๋าตังค์มาดูก็ได้ค่ะว่าเป็นแบบที่เตยบอกรึเปล่า หรือใครที่ไม่มี คงเคยเจอหรือผ่านหูผ่านตาเงินที่สภาพดูไม่ได้แบบที่เตยบอกไปในข้างต้นกันบ้างล่ะ

ซึ่งธนบัตรเสียเหล่านี้จะต้องถูกเก็บเข้าสู่ระบบและทำการกำจัดต่อไป เพราะเป็นเงินที่ใช้ไม่ได้แล้วในทางการ นำไปใช้แลกเปลี่ยนอะไรไม่ได้จึงถือเป็นขยะที่ต้องถูกกำจัดทันที โดยในทุก ๆ ปีที่เกาหลีใต้จะมีธนบัตรเสีย (Unfit banknotes) มากกว่า 6 พันล้านใบที่ต้องถูกกำจัด

เพื่อลดปริมาณขยะและผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ธนาคาร Hana จึงผุดไอเดียนำธนบัตรเสียเหล่านี้มารีไซเคิลทำเป็นหมอนที่เรียกว่า Money Dream

หมอนแต่ละใบยัดด้วยเศษธนบัตรจำนวน 5 ล้านวอน (ราว 134,075 บาทไทย) และ วัสดุประเภทเม็ดโฟม Expanded Polypropylene (EPP) ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมตัวปลอกหมอนและบรรจุภัณฑ์ทำจากวัสดุรีไซเคิลอีกด้วย

หลายคนอาจจะเอ๊ะ เอาเงินมาทำหมอนมันจะคุ้มเหรอ? คนจะแกะเงินไปใช้รึเปล่า?

อย่างที่เตยได้บอกไปในข้างต้นว่าธนบัตรเสีย ชื่อก็บ่งบอกอยู่ว่าเป็น ‘ของเสีย’ เป็นเศษแบงค์ ดังนั้นเงินที่อยู่ในหมอนจึงเป็นเงินที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในระบบเศรษฐกิจ ยิ่งกับในประเทศเกาหลีใต้ที่กฎหมายเข้มงวด การรับเงินที่เสียหายจึงเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ค่ะ

เราอาจจะชินกับความเป็นไทย บิ่นนิด ขาดหน่อยยังนำมาใช้จ่ายได้ แต่ที่เกาหลีใต้ ช่างน่าเศร้าที่เราทำแบบนั้นไม่ได้ค่ะ😂

และที่สำคัญกระบวนการผลิตและกำจัดธนบัตรนั้นส่งต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราจินตนาการอย่างไม่ถึงเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการต้นไม้ทำลายป่า ควันจากโรงงาน ความร้อน แก๊ส สารพิษจากโรงงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ทั่วโลกรณรงค์และหาทางผลิตและกำจัดธนบัตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แบงก์ชาติประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่พยายามหาทางผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ 'ความเชื่อ' เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%
Cr. Brandinginasia

เมื่อการกำจัดไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ธนาคาร Hana จึงหันมาใช้ ‘ความเชื่อ’ กำจัดของเสียทำเป็นหมอนกันซะเลย ใครที่อยากได้ก็ต้องลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปฯ ของธนาคารซะก่อน หากลงทะเบียนเปิดใช้งานเรียบร้อยแล้ว หมอนเงินแห่ง ‘ความเชื่อ’ นี้ก็จะส่งตรงไปให้ถึงที่บ้านเลยทันที หรือใครที่มาเปิดใช้งานที่ธนาคารก็รับกลับไปได้เลยเช่นเดียวกัน

เห็นไหมคะว่าการเล่นกับ ความเชื่อ ของคนแบบนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสองอย่าง 1. ปัญหาขยะ 2. คนไม่โหลดแอปฯ ใครที่กำลังหาไอเดียเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอป ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

เอาล่ะ เตยว่าคำถามที่สองคงผุดขึ้นมาแน่นอน ก็แค่หมอน มันจะทำให้คนมาโหลดแอปฯ ได้ขนาดนั้นเลยเหรอ?

แน่นอนว่าได้ค่ะ เพราะบทความนี้เตยพามารู้จักกับสายมู ความเชื่อ มันก็ต้องเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เหนือความปกติอยู่แล้ว ขนาดบ้านเรามูเครื่องรางของขลัง มูเสื้อ มูกำไล มูวอลเปเปอร์ ของที่ไม่น่าจะมูได้เรายังมู แล้วทำไมคนเกาหลีจะมูหมอนบ้างไม่ได้!?

หยิบยก ‘ความเชื่อ’ ของจากธนาคารเป็นของมงคล สู่หนุนเงินกองโต Money Dream

Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ 'ความเชื่อ' เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%
Cr. Brandinginasia

ถ้าเป็นบ้านเรา ของมงคลต้องมาจากวัด แต่ที่เกาหลีใต้ ของมงคลไม่ได้มาจากวัด แต่มาจากธนาคารต่างหากค่ะ

เพราะคนเกาหลีเขามี ‘ความเชื่อ’ กันว่าการมีสิ่งของที่ทำจากธนาคารไว้ในบ้านจะนำความโชคดีมาให้

อีกทั้งคำว่า Money Dream สามารถอ่านได้ว่า ‘ให้เงิน’ ในภาษาเกาหลีอีกด้วย โอ้โห้ สอดคล้องทั้งความเชื่อและภาษา ของดี ความหมายดี แบบนี้จะไม่ให้คนอดใจมูได้ยังไง มีหมอนหนุนมันคงธรรมดาไป แต่นี่เป็นหมอนนอนหนุนเงินกองโต เตยไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมแคมเปญนี้ถึงสามารถเพิ่มยอดดาวน์โหลดได้มากขนาดนี้

ซึ่งการตลาดที่เล่นกับ ความเชื่อ ความศรัทธา เราเรียกกันว่า Faith Marketing หรือการตลาดสายมู (Muketing) ที่มักได้ยินกันเป็นประจำนั่นเองค่ะ เตยเองก็เคยเขียน Data Research Insight เทรนด์ Muketing เกี่ยวกับตลาดสายมูเอาไว้ ใครที่สนใจคลิกเข้าไปอ่านได้เลยค่ะ

ศรัทธามาเก็ตติ้งที่สร้าง Brand Loyalty ได้

ด้วยกลเม็ดทางการตลาดที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมนี้ แบรนด์จึงวางตำแหน่ง (Position) ตัวเองในฐานะผู้ส่งมอบโชคลาภและความมั่งคั่ง มอบโอกาสให้ผู้คนนอนหลับพักผ่อนด้วยเงินสดก้อนโต ไม่เพียงแต่สร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าจดจำและสามารถประชาสัมพันธ์ได้เป็นวงกว้างเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ส่งผลให้ลูกค้ารู้สึกชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมากอีกด้วย

เนื่องจากหมอนจะถูกส่งไปให้แต่ผู้ที่ลงทะเบียนกับธนาคารอย่างเดียวเท่านั้น ความพิเศษจึงเกิดขึ้นในจิตใจของลูกค้า ใครที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็จะไม่ได้หมอนอันนี้ เอาไปอวดเพื่อนบ้านได้อย่างภาคภูมิใจเหมือนอวดของขลังชื่อดังแบบบ้านเรานั่นเองค่ะ

โดยความสำเร็จของแคมเปญนี้สามารถตอกย้ำได้จากตัวเลขที่สามารถเข้าถึงผู้คน 17 ล้านคนในหนึ่งเดือน ได้รับ Impression มากถึง 303 ล้านครั้ง และถูกนำเสนอใน 469 สำนักข่าวทั่วโลก มียอดการดาวน์โหลดแอปธนาคารออนไลน์เพิ่มขึ้น 284% และมีผู้ใช้ที่ใช้งานอยู่รายเดือนเพิ่มขึ้น 118%

และในปี 2566 ธนาคารได้นำธนบัตรมูลค่า 142.3 พันล้านวอน (108 ล้านดอลลาร์) กลับมาใช้ใหม่เป็นหมอน เพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะธนบัตรในเกาหลีใต้ประมาณ 7% อีกด้วย ปังสุดทุกทางเลยจริง ๆ

สรุป Faith Marketing ธนาคารเกาหลีใต้ใช้ ‘ความเชื่อ’ เพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปฯ ได้ถึง 284%

จะเห็นได้ว่าการมูของชาติอื่นก็ไม่แพ้ชาติไทย เพียงแต่บริบทอาจจะต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เพื่อผลลัพธ์ที่ดี การปรับรูปแบบความเชื่อ ให้เข้ากับแต่ละสถานที่ บริบทรอบข้าง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักการตลาดอย่างเรา ๆ ไม่ควรมองข้ามค่ะ

ความเชื่อ อาจไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะแคมเปญนี้สามารถพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าสิ่งนี้สามารถทำเงิน สร้างภาพลักษณ์ ส่งผลลัพธ์ทางการตลาดที่ดีออกมาได้ ถ้าเราปรับใช้ให้ถูกที่และถูกใจกับกลุ่มเป้าหมายของเรา เตยเชื่อว่าสิ่งที่ได้มาย่อมมีมากกว่าแค่ 1 แน่นอนค่ะ ดูอย่างแคมเปญนี้ก็รู้แล้วว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกทีเป็นฝูง

หวังว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ต่อผู้อ่านทุกคนนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ

สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะคะ

Source

Toey Waritsa

ใบเตย หรือเรียกว่าเตยก็ได้ค่ะ ทำ Data Research Insight เป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักเลี้ยงแมว ทุกบทความเขียนออกมาด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อหาเงินเลี้ยงแมวค่ะ😺🫶🏻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *