Crack Case ไปรษณีย์ไทย  ขนส่งที่อยู่คู่คนไทยจนถึงปัจจุบัน

Crack Case ไปรษณีย์ไทย  ขนส่งที่อยู่คู่คนไทยจนถึงปัจจุบัน

วันนี้เราจะมา Crack case ของ ไปรษณีย์ไทย หนึ่งในธุรกิจขนส่งที่อยู่คู่คนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 มาจนถึงปัจจุบัน(2566) เกือบ 140 ปีมาแล้ว 

สิ่งที่เบสคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยก็คือ พวกเขาทำยังไงกันบ้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงทำให้ไปรษณีย์ไทยยังคงเป็นแบรนด์ที่ไม่ว่าใครก็ยังจดจำได้เป็นอันดับแรกเมื่อคิดถึงการส่งพัสดุ อีกทั้งยังถูกมองเป็นแบรนด์ Top of Mind อยู่เสมอ เมื่อนึกถึงการส่งสิ่งของ หรือ สินค้าต่าง ๆ  

ทั้งที่ในปัจจุบันตัวธุรกิจค่อนข้างถูก Disrupt จากการเปลี่ยนแปลงไปของโลกในการทำธุรกิจ, การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่จากภาคเอกชน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการพิจารณาการเลือกใช้บริการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน

ซึ่งพอเบสได้ลอง Crack ออกมาดูแล้วก็พบจุดที่เบสคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนในการนำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง เพื่อต่อยอดการพัฒนาธุรกิจให้เกิดรายได้และความยั่งยืน ในโลกยุค Digital นี้ครับ

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่กลยุทธ์ของไปรษณีย์ไทย เบสจะขอแชร์แนวทางการวิเคราะห์สำหรับการทำความเข้าใจธุรกิจบริการขนส่งในประเทศไทยเบื้องต้นให้ทุกคนได้อ่านกัน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอรรถรส และความเข้าใจการแข่งขันในภาพรวมของธุรกิจนี้ได้มากยิ่งขึ้นครับ

บทบาทของธุรกิจบริการขนส่ง / Logistic กับการแข่งขันแบบ Red Ocean

คงจะปฏิเสธไปไม่ได้เลยครับว่าในยุคนี้ การรับ-ส่งพัสดุ แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของเราไปแล้ว 

จากสถิติใน 1 อาทิตย์เราจะมีพัสดุเข้ามาหาเราอย่างน้อย 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากซื้อของออนไลน์ให้ตัวเอง การส่งของให้กับคนที่เรารัก หรือจะเป็นการส่งของด้วยธุระในการทำงานก็ตาม

ข้อมูลจาก Data Report Digital Stat  โดย We Are Social และ Hootsuit ที่มีการ Research พฤติกรรมของ End User บนโลก Digital ในทุก ๆ ปี สะท้อนให้เห็นว่าตลาด E-Commerce ของประเทศเรานั้นไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยครับ

เพราะในปี 2565 ที่ผ่านมา คนไทยซื้อของออนไลน์บ่อยเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียวครับ

แถมถ้าหากลองเอา Market Size มาเทียบกับแบบ YoY (Year on Year) จะเห็นการเติบโตของตลาดอยู่เรื่อย ๆ เลยล่ะครับ

ถ้าใครอยากรู้ Data Report Digital Stat แบบละเอียดสามารถไปตามอ่านได้ใน ลิ้งค์ นี้เลยครับ พี่หนุ่ยมีเขียนอัพเดทให้ทุกคนได้อ่านกันอยู่ตลอดเลย

ในเบื้องต้นเบสได้ลองใช้ Keyword Planner เพื่อดู Search Volume เฉลี่ยของแต่ละเดือน เพื่อพิสูจน์ข้อมูลของ Digital Stat และเพื่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยในเรื่องของการใช้บริการรับ-ส่งพัสดุมากยิ่งขึ้น 

โดย Keyword ที่เบสเลือกใช้ ก็มาจากการคาดเดาพฤติกรรมของคนที่น่าจะซื้อของออนไลน์ หรือ ใช้บริการรับ-ส่งพัสดุ ในฐานะของคนรับสินค้าที่เทียบเท่ากับปริมาณการซื้อ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาจะต้องอยากรู้มากที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องของ การเช็คเลขพัสดุไปรษณีย์ เพื่อดูว่า พัสดุของตัวเองใกล้มาถึงแล้วรึยัง

ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ไม่ได้พลิกโผอะไรมากนัก

Crack Case by Keyword Planner : เช็ครหัสไปรษณีย์

จากภาพด้านบนทุกคนน่าจะเห็นว่า โดยเฉลี่ยมีการเช็คเลขพัสดุ ด้วย Keyword “เช็คเลขพัสดุไปรษณีย์” สูงสุดถึง 1 ล้านครั้งเลยทีเดียวนี่ ยังไม่รวม Keyword การเช็คเลขพัสดุในรูปแบบอื่น ๆ หรือการเช็คแบบเฉพาะเจาะจงแบรนด์ขนส่ง อื่น ๆ อีก ที่พอเอามารวม ๆ กันแล้วก็มี Volume เกือบ 10 ล้านครั้งต่อเดือนได้เลยครับ

แน่นอนว่าเมื่อเห็นตลาดคึกคักแบบนี้แล้ว ก็ย่อมดึงดูดให้ผู้คนที่เห็นโอกาสในการสร้างรายได้เข้ามาในตลาดนี้ อย่างแน่นอนซึ่งนำไปสู่การเข้ามาของบริษัทผู้ให้บริการขนส่งเอกชนหลายรายโดยเราสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากการใช้ Google Trend 

Crack Case by Google Trend : แบรนด์ขนส่งพัสดุ

(สำหรับ Flash Express เบสจะขออนุญาตใช้เป็นคำภาษาไทยแทน เพราะเบสบังเอิญเจอว่าคนจะพูดถึงแบรนด์นี้ด้วยคำภาษาไทยอย่าง “แฟลช” มากกว่าพิมพ์ด้วยคำภาษาอังกฤษครับ)

หากลองดูกราฟของ Google Trend  เราจะเห็นเลยครับว่าแรกเริ่มเดิมที ไปรษณีย์ไทย เป็นธุรกิจรับ-ส่งพัสดุเพียงเจ้าเดียวในไทย ดังนั้นในการ Search ของ End User ก็เลยแทบจะไม่มีแบรนด์อื่นที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเลย 

แต่เมื่อตลาด E-Commerce เริ่มขยายตัวขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 เราจะเริ่มเห็นการมาของ Kerry ที่เป็นคู่แข่งหน้าใหม่จากภาคเอกชนซึ่งปรากฎการณ์นี้ถือว่าสะเทือนวงการธุรกิจรับ-ส่งพัสดุในบ้านเราอย่างมากเลยทีเดียวครับ

เพราะนี่คือสัญญาณที่บอกให้ไปรษณีย์ไทย รู้ว่า พวกเขาต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พวกเขาไม่ใช่เจ้าเดียวในตลาดนี้เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว และการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อนของตลาด E-Commerce ก็ยิ่งดึงดูดผู้เล่นคนอื่น ๆ เข้ามาอีกไม่ว่าจะเป็น J&T หรือ Flash Express ก็ตาม

ทำให้ตลาดนี้จาก Blue Ocean ผันตัวมาเป็น Red Ocean อย่างสมบูรณ์แบบ

ค่าขนส่งที่ถูก, การขนส่งที่รวดเร็วฉับไว, ความปลอดภัยของพัสดุ, ความถูกต้องของการไปยังจุดหมาย, มีจุดให้บริการเยอะ และการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นความต้องการพื้นฐานของ End User ที่ทุกแบรนด์ควรมีและควรให้บริการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่ละแบรนด์ก็เลยมีการนำเทคโนโลยีของตัวเองเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างดีที่สุดด้วย

เพื่อให้แบรนด์ของตนเองโดดเด่นและเป็นอันดับ 1 ในใจลูกค้า นอกจากการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของตัวเองแล้ว แต่ละแบรนด์ก็ต้องพยายามที่จะสร้างความแตกต่างในแง่คุณค่าของแบรนด์ ความเชื่อมั่น และความไว้ใจที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของธุรกิจให้ได้อย่างดีที่สุดในสายตาของ End User

จุดที่น่าสนใจของไปรษณีย์ไทยอยู่ตรงนี้แหละครับ แม้ว่า Search Volume ของแบรนด์จะน้อยลง เพราะแบรนด์ใหม่ที่เข้ามามีการทำการตลาดกันอย่างหวือหวาพอสมควร 

ในกรณีนี้หากเราลองวิเคราะห์ดูดี ๆ โดยปกติแล้วการมาของภาคเอกชนที่มีทุนสูงและพร้อมที่จะใช้กลยุทธ์ด้านการขายและการตลาดฉบับทุนนิยมต่าง ๆ นานา เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการ  มีหลายธุรกิจที่มาก่อน ต้องพ่ายแพ้และล้มหายตายจากลงไปในหลายปัจจัย และส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการปรับตัวไม่ทัน หรือ การบริการไม่ได้มีประสิทธิภาพตั้งแต่แรกเพียงแต่ที่อยู่ได้เพราะผู้บริโภคนั้นไม่มีทางเลือก

Crack Case by Google Search

ซึ่งสำหรับกรณีของไปรษณีย์ไทย เราจะเห็นว่าแบรนด์ยังคงถูกค้นหาอยู่ในปริมาณมาก และถ้าหากเราลอง Search ด้วย Keyword  “เช็คเลขพัสดุไปรษณีย์” 

เราจะเห็นว่า Landing Page ของไปรษณีย์ไทยเป็น Website Suggestion ของ Google Search เป็นอันดับต้น ๆ เลยเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด จะเป็นรองก็แค่ส่วนของ Thaiware ที่เบสคิดว่าได้เปรียบในเชิง Quality Score เพราะเค้าเป็น Website ที่แจก Free Software ให้คนเข้าไป Dowload กันครับ

หมายความว่า ไปรษณีย์ไทยยังคงมี Traffic ที่ดีกับแบรนด์ และการได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไปรษณีย์ไทยเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดนี้และปรับตัวให้ตนเองสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ

กลยุทธ์การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ก่อนหน้านี้เองเบสก็เคยเขียนบทความที่วิเคราะห์เรื่องของการโฆษณาของไปรษณีย์ไทยอยู่ครั้งหนึ่งครับ ซึ่งจากการเขียนบทความในครั้งนั้นก็ทำให้เบสเข้าใจ Core Value ของไปรษณย์ไทยได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างความใกล้ชิดกับคนไทยมานาน และการเข้าใจคนไทยมากกว่าใคร

เบสยังจำได้อยู่เลยครับว่าตอนนั้นได้ไปลองถามคนรู้จักหลายคนทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ แถวปริมณฑล แม้กระทั่งต่างจังหวัด โดยคละ  Generation กันไป โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่นับ Gen Z ลงไป ทุกคนจะมีประสบการณ์ร่วมที่ออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน ในเรื่อง ความแม่นยำและความรู้ใจของพี่ไปรฯ

ยกตัวอย่างเช่น

  • ไปรษณีย์ไทยไม่เคยโทรมาถามว่าบ้านเราอยู่ไหน
  • พี่ไปรฯ มาส่งตอนที่เราอยู่บ้านทุกครั้ง
  • ตอนออกไปรับของกับแม่ พี่ไปรฯ รู้ด้วยว่าอันไหนของเราอันไหนของแม่ จำชื่อเราได้เฉย

สุดท้ายแล้วจากการกระทำเหล่านี้ของพี่ไปรฯ ที่เป็น Branding ชั้นดีให้กับแบรนด์ก็ทำให้หลายคนก็รู้สึกวางใจและไว้ใจไปรษณีย์ไทยมาเสมอ

โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยก็ยังคงตอกย้ำ Core Value ที่ตัวเองมีเพื่อสร้างความผูกพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าให้เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และพยายามพัฒนาการให้บริการของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นพร้อม ๆ กันไปด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้จากการโฆษณาและแคมเปญมากมาย

และในปี 2566 นี้เองไปรษณีย์ไทยวางวิสัยทัศน์ขององค์กรให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีความพยายามต้องการพัฒนาให้ธุรกิจกลายเป็น กลุ่มผู้ให้บริการไปรษณีย์และ Logistic ครบวงจร ที่มีความยั่งยืนและมีมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยี Digital ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมี Project ขึ้นมาเพื่อพัฒนาอะไรหลาย ๆ อย่างมาก

ซึ่งเบสจะขออนุญาตแบ่งออกเป็น 3 เรื่องด้วยกันครับ ได้แก่

1)การพัฒนาการบริหารจัดการภายในเพื่อเสริมจุดแข็งและความยั่งยืน

เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของการเพิ่มความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคให้ได้อย่างเข้าใจและรู้ใจมากยิ่งขึ้น แบรนด์ก็ได้มีการลงทุนสำหรับการทำ Infrastructure สำหรับการทำ Big Data เพื่อเก็บข้อมูลให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้ในการพัฒนาต่อยอดการทำธุรกิจ การตลาดและการบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างดียิ่งขึ้น

ซึ่งก็ได้มีการนำมาผนวกกับระบบ CRM หรือ Customer Relationship Management เพื่อการให้บริการและดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึงที่ครอบคลุมทุก Brand Touchpoint ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าที่เพิ่มเข้ามาใหม่เอาไว้

โดยข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปทำเป็น Executive Dashboard เพื่อให้ไปรษณีย์ไทยสามารถติดตามและพัฒนาองค์กรและให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงทีด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อให้ตอบสนองต่อเทรนด์เรื่องของการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ก็ยังได้มีการร่วมมือกับ PTT OR สำหรับการทดสอบการใช้ EV Bike ในการให้บริการและการติดตั้งสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีแผนที่จะทำรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า EV มาใช้ในการให้บริการไปรษณีย์ด้วย

นอกจากนี้ในเรื่องของ Branding ก็ยังมีการพยายามปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่เพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ที่จะมาเป็น Potential Customer ต่อไปในอนาคตของแบรนด์อีกด้วย ที่เราจะเห็นได้จากตัวโฆษณาตัวล่าสุด Deliver Power of Youth เลยครับ

2)การพัฒนาด้านการให้บริการที่มีอยู่เดิม

โดยหลักแล้วในส่วนนี้ไปรษณีย์ไทย จะมุ่งเน้นในการเพิ่ม Partner หรือกลุ่มเครือข่ายตัวแทน สำหรับการขยายจุดให้บริการให้เพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำส่ง การรับสินค้า ณ จุดให้บริการอย่าง Pick up Service ที่ตอบโจทย์ Lifestyle การใช้ชีวิตแบบใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

อีกทั้งแบรนด์ได้มีการยกระดับมาตรฐานการส่งขนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าไปให้บริการ ในช่องทางการซื้อสินค้าบนออนไลน์ตาม E-commerce Platform ต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถใช้บริการกับทางไปรษณีย์ไทยได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • บริการ Prompt Post ที่อัปเกรดการรับ-ส่งเอกสารจาก ‘กระดาษ’ สู่ ‘e-Document’
  • บริการ e-Timestamp ที่เป็นตัวช่วยในเรื่องของการเซ็นเอกสารบนออนไลน์ที่ช่วยเก็บข้อมูลวันและเวลาในการเซ็นเอกสารต่าง ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางกฎหมายให้กับผู้ใช้บริการ แถมยังเป็นตัวกลางในการรับ-ส่งเอกสารสำคัญผ่าน Digital Mailbox ได้อีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ผ่านระบบของไปรษณีย์ไทยได้ครบวงจร
  • บริการ Digital Post ID ที่เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองให้เป็นที่อยู่ดิจิตอล ในรูปแบบ QR Code ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนในด้านการช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการรับ – ส่งสิ่งของแทนการระบุที่อยู่แบบเดิม

เท่านั้นยังไม่พอยังมี Project ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอีก นั่นก็คือ ระบบ Membership Program หรือระบบสมาชิก Post Family ที่จะเป็นการสะสมคะแนนจากยอดการใช้บริการที่สามารถใช้เป็นส่วนลดค่าส่งได้  

เรียกได้ว่าการให้บริการของไปรษณีย์ไทยแทบจะครอบคลุม Customer Journey ของเราเกือบทั้งหมดแล้วล่ะครับ ไม่ใช่การได้รับประสบการณ์ไปส่งพัสดุ และการรอรับอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

3)การเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ในการให้บริการ

ด้วยการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสูง หากแบรนด์ยังคงไม่พัฒนาหรือทำอะไรที่ต่างจากเดิม ก็คงจะอยู่ไม่ได้แน่นอน 

ไปรษณีย์ไทยจึงเดินกลยุทธ์ด้วยการนำจุดแข็งที่มีอย่างเครือข่ายบุรุษไปรณีย์กว่า 20,000 คน มาให้บริการพิเศษเพิ่มเติม อย่างการทำหน้าที่ การเก็บข้อมูลสำรวจสินทรัพย์ การสำรวจและบันทึกค่าน้ำประปา เป็นต้น

อีกทั้งยังมีการเพิ่มโมเดลอย่างการกลายเป็นพื้นที่ให้บริการ Fulfillment ระดับจังหวัดที่สามารถเก็บ บรรจุ และจัดส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของทางแบรนด์ด้วย

นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยจึงมี Project ที่มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อเพิ่มบริการให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น อาทิ 

  • การร่วมมือกับ FUZE POST ที่ร่วมทุนกับ JWD Flash ในการให้บริการการขนส่งเย็น เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่ต้องการขนส่งอาหารแช่แข็ง
  • การร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Telemedicine ในการให้บริการการจัดส่งยารักษาโรค
  • การร่วมมือกับ Robinhood ในการให้บริการ Rider Service และขยายช่องทางการขายสินค้า
  • การร่วมมือกับ AP และ SENA360 (เครือเสนา) ให้บริการ Pick Up Service เข้าไปรับพัสดุถึงหน้าบ้านในโครงการ

ถือว่าเป็นการให้บริการเพิ่มเติมที่เปิดให้คนที่มั่นใจในแบรนด์ไปรษณีย์ไทยอยู่แล้ว เห็นโอกาสที่จะหันมาใช้บริการกับทางแบรนด์ในเชิงพาณิชย์ด้วย

ทุกคนจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ข้อนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ ถ้าหากใครต้องการที่จะปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดต่อไป ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้เลยครับ

โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มจุดแข็งให้กับแบรนด์อย่างมาก การเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับการหาโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ ไปจนถึงพยายามยกระดับมาตรฐานการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด

ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับจุดยุทธศาสตร์ของแบรนด์ได้อย่างดีเลย

บทสรุป Crack Case ไปรษณีย์ไทย  ขนส่งที่อยู่คู่คนไทยจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในโลกของธุรกิจอะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ เพราะหลังจากที่เบสเขียนบทความนี้เสร็จแล้วไปดูข้อมูลเพิ่มเติม ก็เจอว่ายังมีผู้เล่นใหม่ที่น่าจับตามองเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่าง Shopee Express ที่มาด้วยกลยุทธ์ฉบับทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจหลายอย่าง 

แม้ว่าปัจจุบันยังมี Volume น้อยอยู่ แต่ Growth rate ของเจ้าแบรนด์ก็เติบโตขึ้นสูงมากจนน่าติดตามเลย 

นั่นเลยยิ่งเป็นการบ้านให้ไปรษณีย์ไทยต้องจัดการต่อไปครับว่า แบรนด์เก่าที่ยังเก๋าเกมและพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จะอยู่ในการแข่งขันนี้ได้ยังไงต่อไป เพราะมันก็คงจะดุเดือดขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ แน่นอนเลย

และกำไรก็คงจะเป็นผู้บริโภคอย่างเรา ที่จะได้รับการบริการที่ดีและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนได้ที่ คลิก

Ref.
plus.thairath.co.th
marketeeronline.co
prepost.thailandpost.com
Google Trends

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *