B2B Marketing แคมเปญการตลาดใช้ End User ช่วยหา Partner ธุรกิจ

B2B Marketing แคมเปญการตลาดใช้ End User ช่วยหา Partner ธุรกิจ

กลับมาที่คิวของแบรนด์ขยันทำแคมเปญ อย่างซอสมะเขือเทศ Heinz กันอีกแล้วนะครับ บทความวันนี้จะแตกต่างจากปกติไปนิดหน่อย เพราะปกติจะเจอแคมเปญของแบรนด์ที่ทำกับ B2C ซะเยอะ วันนี้เราเลยจะมาแชร์แคมเปญการตลาดในมุมของ B2B Marketing กันบ้างครับ

โดยแคมเปญนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างแบรนด์ กับบริษัทเอเจนซี่อย่าง Mischief @ No Fixed Address ในประเทศอเมริกา ช่วงปลายปีที่ผ่านมานี้เอง

B2B Market

หลายคนอาจรู้กันดีอยู่แล้วว่า นอกจากผู้บริโภค หรือ Consumer อย่างเรา ๆ ที่ซื้อซอสมะเขือเทศติดบ้านเอาไว้กินกับอาหารที่เราชอบ

ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจประเภท Horeca ที่ย่อมาจาก Hotels Restaurants & Catering หรือกลุ่มธุรกิจประเภทโรงแรม ร้านอาหาร และรับจัดเลี้ยง ที่มีการประกอบอาหารและมีการมีใช้ซอสมะเขือเทศ สำหรับการปรุงอาหาร หรือ มีไว้เป็นซอส Additional Choice ให้กับลูกค้า

ซึ่งมักจะดีลกับแบรดน์ด้วยการสั่งซื้อเป็นล๊อตใหญ่มาเลยเพื่อให้เพียงพอกับการใช้งาน

กลุ่มธุรกิจที่เป็น B2B เหล่านี้เลยถือเป็นช่องทางที่สร้างยอดขายให้กับแบรนด์ได้อย่างดีมาก ๆ เลยล่ะครับ ดีไม่ดีน่าจะมีสัดส่วนมากกว่า B2C ด้วยซ้ำไป หลายธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมเลยค่อนข้างพอใจกับการทำธุรกิจแบบ B2B มากกว่า เพราะเห็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่แบบชัดเจน ไม่ได้ทยอยมาเป็นออเดอร์เล็ก ๆ แบบ B2C

ซึ่งเวลาเราทำการตลาด B2B จะต่างจาก B2C อยู่ค่อนข้างเยอะเลยครับ พูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็เปรียบเหมือนกับขั้วตรงข้ามกับการทำให้เกิด Emotional drive สำหรับการทำการตลาดแบบ B2C แต่เป็น Reasonable drive แทนครับ

เนื่องจากในการทำการตลาดแบบ B2B ‘การปิดการขาย’ จะเป็นการตกลงไม่ได้เกิดขึ้นจากความพอใจส่วนบุคคลที่สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าหรือปิดดีลได้ด้วยตัวคนเดียว

แต่ยังต้องประกอบการตัดสินใจที่ต้องคำนึงถึงหรือได้รับความเห็นชอบจากบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วน ๆ ด้วย ว่าตอบโจทย์ผลประโยชน์สูงสุดของธุรกิจหรือไม่ อย่างไร

ดังนั้นการทำากรตลาดแบบ B2B อาจจะไม่ได้มีมิติทางอารมณ์เหมือน B2C แต่จะต้องมีการ สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นระหว่างคู่ค้า การแสดงความเกื้อกูลกันระหว่างคู่ค้า และการชี้ให้เห็นถึงเรื่องของตัวเลข เช่น การคาดการณ์ยอดขายและผลกำไร ความเสี่ยงในการลงทุน จุดคุ้มทุนในการลงทุน ROI ฯลฯ

ที่หากแบรนด์ไหนสามารถตอบโจทย์ที่ถูกต้องได้ตามความต้องการของคู่ค้าทั้งหมด แบรนด์นั้นก็จะมีโอกาสขายได้มากที่สุดในทางทฤษฏีนะครับ เพราะในความเป็นจริงยังมีปัจจัยทางการเมืองและความสัมพันธ์มาร่วมอยู่ด้วย

สำหรับใครที่อยากอ่านการทำการตลาด B2B ที่ขยายความมากกว่านี้ ก็สามารถอ่านได้ที่บทความด้านล่างได้เลยครับ

สำหรับ Heinz ในอเมริกาเหนือเองมีความพยายามที่จะทำการตลาด B2B อยู่เรื่อย ๆ เพื่อขยายผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับตัวเองอยู่เช่นกันครับ

ซึ่งสถานการณ์ที่ Heinz กำลังเผชิญอยู่ค่อนข้างน่าสนใจมากครับ เพราะการแข่งขันในตลาดนี้ก็ค่อนข้างดุเดือดกันพอสมควรเลย มีหลายแบรนด์ที่ก็สามารถสร้าง Reasonable ได้อย่างดีจนน่าใจหายบ้าง มีบ้างมุมในปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ได้เปรียบ Heinz บ้าง

ดังนั้นโจทย์ที่แบรนด์จะต้องแก้ให้ได้คือ แบรนด์จะต้องทำยังไงเพื่อให้ตนเองแตกต่างจากคนอื่น และมี Potential ที่คู่ค้าจะตอบตกลงดีลของพวกเขาดี ?

ตรงนี้เองที่เกิดแคมเปญที่น่าสนใจและเป็นเหตุผลให้เบสหยิบแคมเปญมาเขียนในบทความนี้

และนี่คือที่มาของแคมเปญ TipForHeiz ครับ

TipForHeinz

ในช่วงก่อนเริ่มแคมเปญทางทีมการตลาดของแบรนด์ได้พบ Insight ที่น่าสนใจจากการทำ Social Listening ครับว่า

เหล่าบรรดาผู้บริโภคพวกเขากำลังประสบปัญหา เวลาที่ออกไปกินอาหารนอกบ้าน พวกเขามักจะเจอกับความผิดหวังเมื่อได้รู้ว่า ซอสมะเขือเทศในมื้ออาหารของพวกเขานั้นไม่ใช่ Heinz

ทุกคนอ่านไม่ผิดครับ จากข้อมูลที่เบสหามา ‘ผู้บริโภคผิดหวัง’ จริง ๆ

โดยสิ่งที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้ให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น คือทางแบรนด์ได้ทำการสำรวจ Brand Top of Mind ของผู้บริโภคในแถบอเมริกาเหนือแล้วพบว่า กว่า 3 ใน 5 ของประชากรอเมริกาเหนือ พวกเขารักและคิดถึง Heinz เสมอเวลานึกถึงซอสมะเขือเทศ แล้วก็อยากให้มันอยู่ในทุกมื้ออาหารของตัวเอง

การทำ Social Listening นี้จึงสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า Heinz มี Loyalty Customer เยอะมากแค่ไหน

เมื่อเห็น Insight ที่น่าสนใจอย่างนี้แล้วก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่แบรนด์จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นไปอีกครับ จนเกิดเป็นแคมเปญ TipForHeiz ขึ้นมา

TipForHeinz
ภาพประกอบจาก sweepstakesfanatics.com

แบรนด์ได้เอาประเด็นด้านบนมาผนวกกับ ‘วัฒนธรรมการให้ทิปส์’ ที่ชาวอเมริกันมักทำเป็นประจำหลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว เพื่อเป็นการบ่งบอกว่า เราพอใจในอาหารและการบริการของร้านนี้หรือไม่ ให้ทิปส์มากก็แปลว่าพอใจมาก

แต่ถ้ามื้อไหนไม่มีซอส Heinz แล้วทุกคนรู้สึกไม่พอใจในอาหารมื้อนั้น

แบรนด์จะขอรณรงค์ให้ คุณตัดสินใจให้ทิปส์จำนวน 1 USD พร้อมเขียนว่า Tip for Heinz เพื่อบอกให้ร้านอาหารเหล่านั้นรู้ว่าคุณต้องการซอสมะเขือเทศ Heinz มากแค่ไหน !

ซึ่งแคมเปญนี้ไม่ได้ให้ผู้บริโภคทำแบบนั้นเปล่า ๆ เพื่อเพียงแค่บอกร้านอาหารให้จัดหา Heinz มาให้บริการพวกเขาเท่านั้น แต่ยังยินดีมอบรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมแคมเปญด้วย โดยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนถ่ายรูปใบเสร็จนั้นไว้

แล้วนำไปอัพโหลดได้ที่ www.tipforheinz.com หรือ โพสต์ลง Instagram ส่วนตัวแบบเปิด Public พร้อมติด hashtag #TipForHeinz or #sweepstakes

สำหรับผู้เข้าร่วม 5,000 คนแรก รับไปเลยเงินรางวัลจำนวน 20 USD แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ ทางแบรนด์ยังมีรางวัลจับสุ่ม 100 คน ที่จะเป็นผู้โชคดีได้รับการสมทบมื้ออาหารนั้นมูลค่าถึง 250 USD ด้วย !

เห็นแบบนี้แล้ว ทั้งแฟนคลับของแบรนด์ หรือไม่ใช่แฟนคลับ ทุกคนก็พร้อมจะยินดีเข้าร่วมแคมเปญนี้อยู่แล้วล่ะครับ

กิจกรรมทำไม่ยาก แค่เขียนให้ทิปส์กับให้เงิน 1 USD แถมมีโอกาสได้เงิน ได้คนช่วยจ่ายค่าอาหาร แถมมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดร้านอาหารที่จะมี Heinz เพิ่มขึ้นด้วย มีแต่ได้กับได้ทั้งนั้น

เจ้าแคมเปญตัวนี้ก็มีการติด OOH ใน New York และ Chigaco เยอะมาก ควบคู่กันกับการโปรโมททาง Social Media อย่าง Instagram และ TikTok ที่เป็น Platform ที่โดดเด่นในการเสพคอนเทนต์ประเภทอาหารของที่นั่น เพื่อให้การสื่อสารกระจายออกไปในวงกว้างขึ้นและถูกกลุ่มเป้าหมายขึ้น

ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีพอสมควรเลยครับ แต่แคมเปญนี้ยังไม่จบเท่านั้นนะครับ

Tip for HEINZ upload
ภาพประกอบจาก sweepstakesbible.com

หากเรามองผิวเผินแคมเปญนี้ก็เหมือนกับการทำแคมเปญการตลาดสำหรับการทำการตลาดของ B2C ซะมากกว่า เพราะสื่อสารกับ End User เป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วตัวกิจกรรมของแคมเปญ กลับมีผลกับตลาด B2B ของแบรนด์อย่างมาก ซึ่งจะเป็นผลมาจาก Execution ส่วนถัดไปของแคมเปญนี้ครับ

การสื่อสารของแคมเปญนี้มี Secondary Objective ที่จริง ๆ อาจจะเป็น Main สำหรับ B2B Marketing ก็ได้แฝงอยู่

โดยนอกเหนือจากรางวัลที่ผู้บริโภคจะได้รับแล้ว แบรนด์ยังได้มีการสื่อสารด้วยว่า

ร้านอาหาร 10 ร้านแรก ที่ได้รับใบเสร็จจากลูกค้าในแคมเปญนี้ แล้วผันตัวมาใช้ Heinz ในร้านของตัวเอง ทางแบรนด์จะลงทุนสนับสนุนให้ร้านสามารถใช้ซอส Heinz ได้ตลอดระยะเวลา 1 ปี แถมยังจะช่วยโปรโมทร้านบน Media Official ของแบรนด์ให้ด้วย ! (อะไรมันจะขนาดนั้นครับพี่)

ด้วยข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธนี้ ทำให้ร้านอาหารหลายร้านที่ยังไม่ได้ใช้ซอส Heinz ก็ต้องหันมาเหลียวมอง Heinz และเลือกติดต่อกับแบรนด์อย่างปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกัน

แคมเปญนี้สร้างกระแสบนโลก Social Media ถึงขนาดว่าถูกพูดต่อกันไปถึงหูของ กลุ่มธุรกิจ Supplier ร้านอาหาร อื่น ๆ และนักการตลาดอย่างมากเลยครับ

บทสรุป B2B Marketing แคมเปญการตลาดใช้ End User ช่วยหา Partner ธุรกิจ

สำหรับเบส เบสคิดว่าแคมเปญนี้สร้าง Execution ออกมาได้อย่างเหมาะสมและน่าสนใจมาก ๆ เลยครับ

กิจกรรมของแคมเปญถูกออกแบบไว้ให้ผู้บริโภคทั้งฝั่ง B2C และ B2B สามารถเลือกได้เองอย่างอิสระ โดยเอารางวัลที่ยากเกินกว่าจะปฏิเสธเอาไว้เป็นจุดดึงดูด ที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่อึดอัดจนเกินไปและยินดีที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย

อีกทั้งการเข้าร่วมยังไม่ได้เป็นอะไรที่ยากมากจนเกินไป เพียงแค่ให้ทิปส์และอัพโหลดหรือโพสต์ลง Social Media ในฝั่ง B2C หรือแค่ติดต่อมายังแบรนด์ในฝั่ง B2B เท่านั้นเอง

อีกส่วนนึงที่เป็นสาเหตุว่าทำไมแคมเปญนี้ถึงมีผลกับตลาด B2B อย่างมาก นั่นเพราะจริง ๆ แล้ว เบสมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องของรางวัลที่ร้านอาหารจะได้รับหาหันมาใช้ Heinz เท่านั้นครับ แต่สิ่งที่แคมเปญนี้ซ่อนมันไว้อยู่ข้างใต้และหลายร้านอาหารน่าจะสัมผัสได้แบบชัดเจน

คือ “การสร้างและชี้ให้เห็น Demandในการเลือกบริโภคของลูกค้า” ให้คู่ค้าเห็น

คงต้องบอกว่า Heinz ฉลาดและมาถึงจุดที่ได้เปรียบคู่แข่ง เพราะพวกเขารู้จักจุดแข็งของตัวเองอย่างดี และนำมันมาประยุกต์ใช้กับการทำการตลาดที่สร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับทุกภาคส่วน

ที่เบสได้บอกไปว่า การทำธุรกิจแบบ B2B ทุกอย่างจะต้องมีความ Reasonable ใช่มั้ยครับ ซึ่งถ้าคู่ค้าในตลาดมัน Reasonable เหมือนกันไปซะหมด เราก็แค่มาชี้ให้เห็นว่า สินค้าของเรามันเป็นที่ต้องการมากแค่ไหน เท่านั้น

ไม่ว่าใครจะดู Reasonble มากแค่ไหน แต่ถ้าคู่ค้ารู้ว่าสินค้าเราเป็นที่ต้องการจากผู้บริโภคอย่างมาก ที่ยังไงเอาไปต่อยอดธุรกิจ สร้างประโยชน์ให้พวกเขาได้แน่นอน แทนที่เราจะไปเหนื่อยนั่งหาลูกค้า ใคร ๆ ก็จะหันมาหาเราเองกันทั้งนั้นครับ แต่ถ้าได้เป็น Partner กันแล้ว ก็อย่าลืมน่ารักต่อกันและกันให้ช่วยเหลือกันต่อไปได้นาน ๆ ด้วยนะครับ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ 🙂
ขอบคุณที่อ่านจนจบ

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ ของการตลาดวันละตอนได้ที่ คลิก

Ref.
mashed.com
businesswire.com
adweek.com

Watcharapon Kittipodpong

ลงมือเขียนเพื่อทบทวน และเข้าใจตัวเอง คนที่สนใจ Marketing คนหนึ่งที่อยากส่งต่อเหมือนที่ได้รับมา หวังว่าสิ่งที่เขียนจะมีประโยชน์กับคนอ่านทุกคนนะครับ :)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *