CRAFT Prompts Framework ดึงศักยภาพการใช้ ChatGPT อย่างมืออาชีพ

CRAFT Prompts Framework ดึงศักยภาพการใช้ ChatGPT อย่างมืออาชีพ

ก่อนจะพูดว่า ChatGPT ยังไม่เวิร์ค เราลองถามตัวเองดูก่อนไหม ว่าเราใช้ Prompt ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ดังคำกล่าวที่ว่า ”คุณภาพของคำตอบ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคำถาม” ดังนั้นการทำความรู้จักกับ CRAFT Prompts Framework จะช่วยให้คุณเข้าใจรูปแบบการใช้งาน ChatGPT ได้ดียิ่งขึ้น

CRAFT Prompts Framework กับ ChatGPT

ครั้งแรกที่ผมได้ยินเกี่ยวกับ CRAFT Prompts Framework มาจากการที่ผมได้มีโอกาสเรียนการใช้ ChatGPT กับคุณโชค – Chogo Visavayodhin ซึ่งนับว่าเป็นอะไรที่เปิดโลกมาก คำถามแรกเมื่อได้รู้จักกับ Framework การใช้คำสั่ง Prompt นี้คือ ..ทำไมไม่รู้ให้เร็วกว่านี้?

เพราะโดยพื้นฐานแล้ว Prompt คือข้อมูลหรือชุดคำสั่งที่เราป้อนให้กับ ChatGPT เพื่อที่จะได้รับคําตอบตามที่เราต้องการ ดังนั้นการสร้าง Prompt ที่มีประสิทธิภาพด้วย CRAFT Prompts Framework จะเป็นกุญแจสําคัญในการดึงศักยภาพการทำงานสูงสุดของ Chatbot ออกมาได้ โดย CRAFT นั้นจะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบในการสร้าง Prompt ดังนี้

#C : Context (บริบท)

บริบทคือคีย์สำคัญในการสร้าง Prompt โดยเราต้องกำหนดบริบทในการทำงาน โดยการระบุรายละเอียด สถานการณ์ ช่วงเวลา ข้อมูล องค์ประกอบสำคัญ หรือตัวแปรต่าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะมีผลต่อคำตอบที่เราต้องการ

ซึ่งมันจะช่วยให้เราได้คำตอบที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามรายละเอียดในบริบทนั้น ๆ และยิ่งเรากำหนดบริบทละเอียดและชัดเจนเท่าไหร่ เราจะได้รับคำตอบที่ตรงกับความต้องการของเรามากขึ้น ซึ่งบริบทในที่นี้อาจหมายรวมถึง ภาพรวมการใช้ Framework นี้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ในการเขียน Prompt อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น 

ฉัน:<สมมุติว่าคุณเป็น Marketing Analyst Content Creator และมีหน้าที่เขียนคอนเทนต์การตลาดให้นักการตลาดอ่าน โดยที่คุณมีทักษะ Copy Writing ที่สามารถเขียนบทความให้เด็กอ่านเข้าใจและสนุก , ตอนนี้เป็นปี 2024 สถานการณ์การตลาดของไทยกำลังวุ่นวายจากการเข้ามาของ AI , ฉันอยากให้คุณเขียนบทความ ”แนะนำวิธีการปรับตัวในยุคที่ AI Driven Marketing ”>

#R : Relevant (สิ่งที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นต้องรู้ในการทำงาน) 

สิ่งสําคัญในการเขียน Prompt คือต้องระบุรูปแบบการทำงานหรือการตอบกลับ รายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการทำงานที่เราคิดว่าจำเป็นต้องรู้ หรือองค์ประกอบสำคัญ ให้ ChatGPT ได้รับรู้เอาไว้

โดยอาจคํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน น้ําเสียงในการเล่า ลักษณะการใช้คำหรือไวยากรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งในการกําหนดความสามารถในการทำงานที่มีความเฉพาะเจาะจง

ตัวอย่างเช่น 

ฉัน : <บทความที่เขียนจะต้องยาวมากกว่า 300 คำ , มีลำดับการเขียนเริ่มจาก ชื่อเรื่อง บทนำ เนื้อเรื่อง สรุป เรียงตามลำดับ , มีภาพประกอบที่เกี่ยวข้อง ขนาด 16:9 จำนวน 3 รูป>

เพื่อแจ้งให้ ChatGPT ทราบเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนบทความที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ที่จะให้ตัวอย่างการเขียนหรือขอการพิจารณาสําหรับความสามารถทางภาษา ระบุอย่างชัดเจนว่าควรใช้น้ําเสียงแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ ให้อธิบายว่าอนุญาตให้ใช้คําศัพท์เฉพาะหรือการเปรียบเทียบได้หรือไม่ และระบุภาษาที่ควรให้คําตอบ โดยการให้รายละเอียดดังกล่าว ChatGPT จะสร้างคําตอบตามนั้น

#A : Action (บทบาท) 

คือการกำหนดคาแรคเตอรืหรือบทบาทของ ChatGPT โดยการเลือกอาชีพ บุคคล ตำแหน่งหน้าที่ หรือบทบาทที่เราต้องการ เพื่อให้ ChatGPT ทำงานโดยการสวมบทบาทสมมุติที่เรากำหนด ซึ่งการกำหนดบทบาทสามารถจำกัดขอบเขตการทำงานได้ตามบทบาทที่เราเลือก

ตัวอย่างเช่น 

ฉัน:< สมมุติว่าคุณเป็น Marketing Analyst Content Creator ชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนในไทย และมีทัศนคติที่ดีและอบอุ่น ,คุณมีหน้าที่เขียนคอนเทนต์การตลาดให้นักการตลาดอ่านทุกสัปดาห์ , คุณมีทักษะ Copy Writing ที่สามารถเขียนบทความการตลาดให้เด็กอ่านเข้าใจง่ายและสนุก >

นอกจากนี้เรายังสามารถกำหนดกรอบความคิด ทัศนคติ หรือมุมมอง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองในการทำงานที่หลากหลายได้ อีกทั้งระดับความเชี่ยวชาญและจํานวนผู้ติดตามอาจมีอิทธิพลอย่างมากต่อคําตอบของ ChatGPT ดังนั้นจึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คําแนะนําเฉพาะเพื่อแนะนํา ChatGPT อย่างถูกต้องในทิศทางที่เราต้องการ

#F : Format (รูปแบบ) 

ระบุลักษณะการจัดรูปแบบตามที่เราต้องการ เช่น โทน สไตล์ การจัดวาง ขนาด จำนวน หรือลักษณะการทำงานของเรา การป้อนข้อมูลสำหรับให้คําแนะนําด้านการจัดรูปแบบอย่างละเอียดแก่ ChatGPT จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผลลัพธ์ที่สร้างขึ้นจะออกมาตรงตามรูปแบบที่เราต้องการมากที่สุด 

ตัวอย่างเช่น

ฉัน:<จัดระเบียบเนื้อหา Insight ในรูปแบบตารางหรือกราฟ , ใส่สัญลักษณ์ [#]แสดงหน้าหัวข้อย่อย,ใส่ข้อมูลในตาราง>

#T : Terms (เงื่อนไข)

เป็นการระบุเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ ทั้ง หน้าที่ ขั้นตอนการทำงาน ขอบเขตการทำงาน ข้อจำกัด สิ่งที่ต้องทำ หรือวัตถุประสงค์ในการทำงานที่ชัดเจน โดยอาจกำหนดเงื่อนไขการทำงานด้วยคํากริยา เช่น make, compose , create , summarize , translate , generate , revise ,review, หรือ re-write เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น

ฉัน:<ให้ ChatGPT เขียนบทความ การตลาดในหัวข้อเทรนด์คอนเทนต์Tiktok 2024 > หรือ <ให้ ChatGPT สรุปไฟล์ PDF นี้ , ห้ามใส่ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนหรือไม่รู้จักแหล่งที่มา , ปฏิบัติตามคําแนะนําเหล่านี้อย่างเคร่งครัด >

สิ่งสำคัญในการกำหนด Prompt คือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และการจดจ่อกับงานเพียงงานเดียวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และอีกเคล็ดลับสำคัญคือ หากเราต้องการให้ ChatGPT ปฏิบัติตามคําแนะนําของเราอย่างเคร่งครัด เพียงแค่ใช้คำสั่ง prompt <ปฏิบัติตามคําแนะนําเหล่านี้อย่างเคร่งครัด> ในทางกลับกันหากต้องการยกเลิก Prompt ก่อนหน้าก็ใช้คำว่า <ยกเลิก..ตามด้วยการกระทําที่ต้องการหยุด>

และหากต้องการเริ่มต้นแชทใหม่และรีเซ็ต Prompt ก่อนหน้า เพียงใช้ Prompt <รีเซ็ตคําแนะนําก่อนหน้าและเริ่มใหม่> สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้าง Prompt ใหม่ได้โดยไม่ต้องยกเลิกทีละ Prompt นั่นเอง

CRAFT Prompts Framework 

ข้อควรระวังการใช้ ChatGPT :

  • ความสามารถในการใช้ภาษาไทยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำมาใช้ในการทำงาน ดังนั้นการใช้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้ได้คำตอบที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า
  • หากจะใช้ข้อมูลที่ได้จาก ChatGPT เป็นอ้างอิง คำแนะนำแรกจากผมคือคุณควรมีความรู้ในด้านนั้น ๆ อย่างเพียงพอที่จะสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ผิดพลาดเจอ เพราะ ChatGPT ยังขาดความแม่นยำและให้ข้อมูลผิดพลาดได้เสมอ แต่หากคุณไม่มั่นใจว่าจะสามารถหาข้อมูลที่ผิดพลาดนั้นเจอ คำแนะนำต่อไปคือการตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งอื่นว่าตรงกันหรือไม่ หรือคำแนะนำสุดท้ายคือการใช้ Prompt กำหนดขอบเขตการทำงาน เช่น <ให้ข้อมูลที่คุณรู้เท่านั้น ถ้าไม่รู้ไม่ต้องให้>
  • ChatGPT การทำหนด Prompt อย่างละเอียด และกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนทั้งสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น และแน่นอนว่าจากที่ผมใช้มา ChatGPT ค่อนข้างความจำสั้น หรือลืมบางเงื่อนไขอยู่บ่อย ๆ เพราะฉนั้นการที่คุณกำหนดคำสั่งสำหรับกำชับให้ทำตามเงื่อนไข เช่น <ห้ามใส่ข้อมูลที่ไม่รู้หรือมีที่มาไม่ชัดเจน,ทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด,ทำงานตามลำดับขั้นตอนอย่างเคร่งครัด> จะช่วยให้การทำงานตรงตามเงื่อไขมากขึ้น
  • การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ จะช่วยให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น เพราะการพิมพ์โดยไม่มีเครื่องหมายคั่น หรือเว้นวรรคอาจทำให้ ChatGPT สับสนได้

ตัวอย่างการใช้ CRAFT Prompts Framework กับ ChatGPT

จากตัวอย่างจะเห็นว่าการใช้ Prompt นั้นไม่จําเป็นต้องจัดเรียงตามลำดับ Framework แต่สิ่งสําคัญที่ควรคำนึงคือความละเอียดของคำสั่ง ซึ่ง Prompt จะต้องครอบคลุมทุกส่วนของ Framwork เราจะกำหนดขั้นตอนไหนขึ้นก่อนก็ได้ เพียงแค่ต้องกำหนดขั้นตอนหรือรูปแบบการทำงานให้ชัดเจนก็เพียงพอแล้ว

หากเพื่อน ๆ อยากลองใช้ Framework นี้กับเครื่องมือ AI เจ้าอื่น อย่างเช่น MidJourney หรือ Shutter Stock ซึ่งมีหลักการใช้งานที่คล้ายกัน เพื่อน ๆ สามารถสั่งให้ ChatGPT สร้าง Prompt สําหรับใช้กับเจ้าอื่นได้

หรือหากเพื่อน ๆ มีภาพตัวอย่างที่ต้องการใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเจนภาพออกมา เพื่อน ๆ สามารถอัปโหลดภาพนั้น เพื่อให้ ChatGPT สร้างคำบรรยายภาพที่ละเอียดออกมา ก่อนนำไปเจนภาพจาก AI ตัวอื่น ก็จะทำให้ได้ผลงานที่ตรงตามความต้องการมากขึ้นอีกด้วย

อ่านบทความเกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติม หรือข่าวสารการตลาด สามารถติดตามได้จาก เพจการตลาดวันละตอน รวมไปถึงเว็บไซต์ Twitter Instagram YouTube และ Blockdit ของการตลาดวันละตอนด้วยนะครับ

Source

Pongsakorn Inrin

Hi~ I'm Mikey.. ตั้งใจสร้างสรรค์ทุกงานเขียน หวังว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครสักคนที่ผ่านมาทางนี้นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *