ภาษี e-service กับการคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลที่แท้จริง

ภาษี e-service กับการคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลที่แท้จริง

เคยสงสัยมั้ยครับว่า รายได้ของ Facebook, Google, Tiktok, Twitter, LINE ที่ได้จากไทยในแต่ละปี คือเท่าไหร่?

พวกเราคนทำงานเอเจนซีก็สงสัย เลยเป็นที่มาของการสร้างรายงาน Thailand Digital Spending Report โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) ซึ่งทำต่อเนื่องกันมาหลายปี อาศัยเอเจนซีสมาชิกของสมาคม ช่วยกันกรอกข้อมูลรวบรวมกันเอง 

สิ่งที่เจอทุกปีหลังจากสรุปตัวเลขกันได้ คือความรู้สึกเสียดายที่หลาย Platform มีรายได้จากไทย แต่ประเทศไทยไม่เคยมีรายได้จาก Platform เหล่านี้กลับมาเลย เพราะเราไม่มีกฎหมายการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ น่าดีใจที่ปี 2021 ภาษี e-service (บริการอิเลกทรอนิกส์) ได้เกิดขึ้นแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจะดึงผลประโยชน์กลับเข้าประเทศได้ เหมือนเราจะเริ่มเห็นความหวังในเรื่องนี้ได้บ้าง

ภาษี e-service ในไทยแบ่งออกได้กี่ประเภท

ภาษี e-service ในไทยตลอด 5 เดือน (กันยายน 2021 ถึงมกราคม 2022) แบ่งออกเป็น

1.การบริการโฆษณาออนไลน์

มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 28,013.66 ล้านบาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,960.96 ล้านบาท

2.บริการขายสินค้าออนไลน์

มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 11,982.82 ล้านบาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 838.83 ล้านบาท

3.บริการสมาชิก เพลง หนัง เกม ฯลฯ

มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 4,023.06 ล้านบาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 281.69 ล้านบาท

4.บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง

มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 367.67 ล้านบาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 25.76 ล้านบาท

5.บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ

มีมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 182.62 ล้านบาท และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 12.79 ล้านบาท

ตัวเลข Spending ที่รวบรวมโดย DAAT รอบกลางปี 2021 รวมคาดการณ์ทั้งปี 2021 ประเทศไทยมี Digital Spending อยู่ที่ 23,315 ล้านบาท พบว่าเฉพาะ Facebook + YouTube รวมกันก็ทำรายได้ได้ไปเกือบ 12,000 ล้านบาทแล้ว ตัวเลขนี้มาจากการรายงานของเอเจนซีในสมาคมรวมกัน ยังไม่นับตัวเลขอีกมหาศาลที่แบรนด์และ SME ซื้อโฆษณาตรงจากแพลตฟอร์ม ปัญหาคือตัวเลขรวมที่แท้จริงเป็นข้อมูลที่ไม่เคยถูกเปิดเผยและไม่สามารถเข้าถึงได้เลย แต่เมื่อมีการเก็บภาษี e-service ทำให้ทางกรมสรรพากรได้รับรู้ตัวเลขที่แท้จริงและเก็บภาษีได้ โดยใน 5 เดือนแรกที่เก็บ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2021-ม.ค. 2022 รายได้ค่าโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มมีมูลค่า 28,013 ล้านบาท ฐานภาษี 7% คิดเป็นภาษีที่เก็บได้ 1,960 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดึงผลประโยชน์กลับเข้าประเทศแล้ว ยังทำให้เราทราบมูลค่าที่แท้จริงของการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้อีกด้วย

จุดที่น่าสังเกตคือ ถ้านำมูลค่าการใช้แพลตฟอร์มตลอด 5 เดือนมาคำนวณคร่าวๆ โดยหารเฉลี่ย จะพอประเมินได้ว่า ยอดการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศนี้อาจสูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ DAAT Spending 2021 ที่มีมูลค่ารวม 23,000 ล้านบาท จะเห็นว่ามีมูลค่าต่างกันมาก หากแยกมูลค่า DAAT Spending เฉพาะส่วนแพลตฟอร์มต่างชาติออกมาประมาณ 15,000 ล้านบาท จะเหลือมูลค่าที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มต่างชาติประมาณ 8,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับตัวเลขคำนวณคร่าวๆ จากการเก็บภาษี 5 เดือนแล้วคูณกลับ (65,000 ล้านบาทต่อปี) มูลค่าการใช้สื่อดิจิทัลในไทยต่อปีอาจสูงถึง 73,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานของ Neilsen ปี 2021 ตัวเลข Media Spending ประเทศไทย มีการซื้อสื่อไป 107,151 ล้านบาท โดยตัวเลขสื่อ “อินเตอร์เนต” ใช้ตัวเลขอ้างอิงจาก Digital Spending ของ DAAT ที่ 23,315 บาท คิดเป็น 21.75% หากนำตัวเลขที่คำนวณจากย่อหน้าด้านบนมาใช้แทน ตัวเลขรวมจะโตขึ้นจาก 107,151 ล้านบาทเป็น 156,836 ล้านบาท และมีจะสัดส่วนเป็น 46.5% ทันทีโดยประมาณ

ที่น่าสนใจที่สุด หากการประมาณการนี้ถูกต้อง ตัวเลขการใช้สื่ออินเตอร์เนตจะกลายเป็นสื่อที่มีมูลค่าสูงที่สุดมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆ (ซึ่งก่อนหน้านี้คือสื่อโทรทัศน์ มูลค่า 63,662 ล้านบาทต่อปี) และสื่ออินเตอร์เนต ยังเป็นสื่อเดียวที่มีแนวโน้มการเติบโตเป็นเลขสองหลักทุกปี (ยกเว้นปี 2020) ในขณะที่สื่ออื่นถดถอยและรอการฟื้นตัวหลังโควิด-19

ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์จากข้อมูลเท่าที่มีจากการแถลงข่าวของกรมสรรพากรที่มีการเก็บภาษี e-service เพียง 5 เดือน คงต้องรอข้อมูลที่สรุปตลอดทั้งปีในช่วงสิ้นปีอีกครั้งว่า มูลค่าที่แท้จริงของการใช้แพลตฟอร์มโฆษณาต่างชาติมีมากน้อยขนาดไหน ผมหวังว่าในปี 2022 นี้ ตัวเลขต่างๆ จะยิ่งสะท้อนความเป็นจริง และประเทศไทยมีรายได้ส่วนนี้กลับเข้ามามากขึ้นครับ

การตลาดวันละตอน

การตลาดวันละตอน เว็บรวมความรู้การตลาดด้าน Data และ Personalization

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ใช้ Social Listening บ้างไม่ ?

#การตลาดวันละโพล ขอหนึ่งคำถาม ว่าปกติใช้ Social Listening บ้างหรือไม่ แล้วถ้าใช้ ใช้ตัวไหนอยู่