กลับมาอีกครั้ง! Bangkok Design Week 2024 กับตรีมคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
สวัสดีนักการตลาด และนักอ่านทุก ๆ ท่านครับ บทความนี้จะชวนทุก ๆ คนไปงาน Bangkok Design Week 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้ตรีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ อีกทั้งยังขยายพื้นที่จัดงานใหญ่กว่าเดิมไปเป็น 15 ย่านและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ งานจะเป็นอย่างไร มีย่านไหนบ้างติดตามได้ในบทความนี้เลยครับ
Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
เมื่อเมืองสร้างคน และคนก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองให้มีศักยภาพทั้งในเชิงกายภาพ รวมถึงสุขภาพกายและใจได้เช่นกัน มาผนึกกำลังทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ สำหรับทุกคน
ผมมองว่าตรีมนี้เหมือนเป็นคำเชิญชวนให้มาร่วมสำรวจว่าเรา จะมีส่วนช่วยสร้างเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้างใน Bangkok Design Week 2024 สำหรับผมถือเป็นคำเชิญชวนที่มี Impact มาก ๆ ครับ รู้สึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน เหมือนจะต้องไปให้ได้เพื่อตัวเองเลยหล่ะครับ
สำหรับใครที่อยากรู้ว่า Bangkok Design Week คืออะไรสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ คลิ๊กที่นี่ เลยครับ ทางผู้จัดงานมี Map ให้เรารู้ด้วยว่าจัดงานกันที่ไหน บอกได้เลยว่าอำนวยความสะดวกให้เราแบบสุด ๆ
Bangkok Design Week 2024 จัดขึ้นใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ โดยแต่ละพื้นที่ได้หยิบยกดีเอ็นเอประจำย่าน มาต่อยอดเพื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วย
1. เจริญกรุง – ตลาดน้อย โดยผู้ขับเคลื่อน CEA นักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่
ส่งเสริมให้นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ได้นำเสนอผลงานใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาและบริบทของเมือง โดยเน้นย้ำการมีส่วนร่วมจากผู้คนในพื้นที่และชุมชน ผลงานที่นำมาจัดแสดงในเวทีนี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการออกแบบที่สร้างสรรค์และสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการนำไปใช้จริงในอนาคต
2. พระนคร โดยผู้ขับเคลื่อน ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) กลุ่มนักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่
มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อผสานความเก่าเข้ากับความล้ำสมัย เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเมืองเก่า กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- การพัฒนาเส้นทางเดินเท้า การใช้งานสวนสาธารณะยามค่ำคืน การใช้งานสถานที่ราชการ (นอกเวลาทำการ) เพื่อขยายโอกาสในการใช้งานสาธารณะ
- กิจกรรม Projection Mapping และ Moving Image เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์
ส่วนตัวผมสนใจกิจกรรม Projection Mapping มาก ๆ เลยครับ แอบได้ยินมาว่าจะเป็นการฉายภาพจากโปรเจอเตอร์ลงบนสิ่งก่อสร้างที่เป็นประวัติศาสตร์ด้วย น่าจะได้บรรยากาศสุด ๆ
3. ปากคลองตลาด โดยผู้ขับเคลื่อน Human of Flower Market by Arch SU และมนุษย์ปากคลองฯ
มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับย่าน โดยเน้นการต่อยอดอัตลักษณ์ของย่านในฐานะ “ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- ต้นแบบขยายพื้นที่ Display หน้าร้านของแม่ค้าปากคลองฯ บนทางเท้า เพื่อสร้างบรรยากาศน่าเดินและดึงดูดผู้คนให้มาเยือนย่าน
- การปรับอาคารเก่าให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่าน
- กิจกรรมหน้าอาคารไปรสนียาคาร เพื่อเพิ่มจำนวนคนสัญจร และทดสอบให้กลายเป็นพื้นที่เดินเชื่อมต่อในย่าน
4. นางเลิ้ง โดยผู้ขับเคลื่อน Urban Studies lab และ Community Lab ชุมชนในย่านนางเลิ้ง
ย่านนางเลิ้งมีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาในย่านวัฒนธรรมมีชีวิต กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- “นางเลิ้ง บันเทิงทุกวัน” ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและวิถีชีวิตของย่านนางเลิ้งผ่านงานออกแบบ ผ่านความร่วมมือระหว่างผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมกับนักออกแบบผู้ย้ายเข้ามาใหม่
ใครที่เป็นคอประวัติศาสตร์ แนะนำกิจกรรมนี้เลยครับ
5. เยาวราช โดยผู้ขับเคลื่อน SATARANA (สาธารณะ) และชุมชนคนในพื้นที่
มีการจัดกิจกรรมเพื่อสานต่อตำนานย่านสตรีทฟู้ดระดับโลกที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีน โดยเน้นการขยายเรื่องราวไปสู่เจเนอเรชันที่หลากหลาย กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- หนังสือการ์ตูนและ Street Art ในธีมของกิจการเสื่อผืนหมอนใบภายในถนนทรงวาด เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กวัยมัธยมต้น
- โปรเจ็กต์ Go Go Bus! ระบบขนส่งขนาดเล็กเพื่อเชื่อมต่อย่าน เพื่อลดภาระของการจราจรบนถนนเส้นหลัก
6. หัวลำโพง โดยผู้ขับเคลื่อน RTUS-Bangkok (ริทัศน์บางกอก)
มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อผลักดันย่านสร้างสรรค์รอบสถานีรถไฟใจกลางเมือง โดยเน้นการเผยแพร่เรื่องราวในอดีตที่ไม่เคยถูกบันทึกและสร้างภาพจำใหม่ของหัวลำโพง กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- โครงการ ‘Made in Hua Lamphong’ ที่ร่วมกับผู้ประกอบการเก่าแก่และนักสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง Branding ภาพจำใหม่ของหัวลำโพง
- โปรแกรมทัวร์สำรวจย่าน เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เรื่องราวของย่านหัวลำโพง
- นิทรรศการปาจื้อ: คน/ดวง/เมือง การสื่อสารเรื่องธาตุประจำตัวจากโหราศาสตร์จีน เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้ชมและทดลองสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน
โครงการ Made in Hua Lamphong ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ผมสนใจเหมือนกันครับ เพราะจะเป็นการระดมคนที่มีความรู้เรื่องธุรกิจ ศิลปะ และอีกหลาย ๆ แขนง มาร่วมออกแบบ และสร้างสรรค์ให้ย่านนี้กลายเป็นภาพจำใหม่ ที่ดีกว่าเดิมครับ
7. อารีย์ – ประดิพัทธ์ โดยผู้ขับเคลื่อน AriAround ที่จะมาร่วมถักทอสายสัมพันธ์ในย่าน
จัดกิจกรรมจัดผ่านพื้นที่สาธารณะที่ทําให้ผู้คนได้มาอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ การสร้างพื้นที่จัดกิจกรรมของชุมชนสร้างสรรค์ในอารีย์ ฯลฯ
8. บางโพ – เกียกกาย โดยผู้ขับเคลื่อน Bangpho Wood Street และ Creative Soul Studio
สร้างคุณค่าใหม่ให้ถนนสายไม้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบและไอเดียของคนในพื้นที่ พร้อมขยายพื้นที่ไปยัง ‘เกียกกาย’ โดยทดลองเปิดพื้นที่กองทัพบกให้เป็นพื้นที่สันทนาการและจำหน่ายสินค้าสำหรับชุมชน
9. วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู โดยผู้ขับเคลื่อน คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
จัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เพื่อต่อยอดวัฒนธรรมฝั่งธนฯ โดยเน้นการนำเสนอสินทรัพย์ในพื้นที่ในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- ทัวร์ลงรถไฟที่พาผู้เข้าร่วมชมบรรยากาศของย่านวงเวียนใหญ่และตลาดพลูจากบนรถไฟ เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เข้าร่วม
- นิทรรศการ “Sense of Place” ที่ดึงเอา Sense of Place ของย่านตลาดพลูมานำเสนอในรูปแบบใหม่ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และดึงดูดผู้คนรุ่นใหม่ให้มาสัมผัสเสน่ห์ของย่านตลาดพลู
10. เกษตรฯ – บางบัว โดยผู้ขับเคลื่อน คณะก่อการย่านเกษตร SC ASSET และมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU)
จัดกิจกรรมพื่อสร้างสรรค์ย่านให้น่าอยู่และเป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมในย่าน กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- การเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าและนักศึกษามาร่วมกันออกแบบที่นั่งสาธารณะและที่นั่งรอมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในย่าน
- การปรับพื้นที่บริเวณคลองบางบัวและริมถนนพหลโยธิน ให้เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสีสันและดึงดูดผู้คนให้มาเยือนย่าน
11. พร้อมพงษ์ โดยผู้ขับเคลื่อน 49 & FRIENDS
ย่านพร้อมพงษ์มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อพัฒนาย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดีต่อกายดีต่อใจ โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะในย่าน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนและนักออกแบบ กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- โครงการ ‘บ้านนก บ้านกระรอก’ ที่ติดตั้งบนต้นไม้ริมทาง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างระบบนิเวศในย่าน
- การออกแบบที่นั่งพักคอยของมอเตอร์ไซค์รับจ้างท้ายซอยสุขุมวิท 26 เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในย่าน
ใครรักสัตว์ โดยเฉพาะนก และกระรอก ผมแนะนำกิจกิจกรรม บ้านนก บ้านกระรอก ผมมองว่าเป็นกิจกรรมที่ Creative มาก ๆ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหานกทำรังที่บ้านคนแล้วยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
12. สยาม – ราชเทวี โดยผู้ขับเคลื่อน สถาบันอาศรมศิลป์ เครือข่ายนักพัฒนาเมือง และชุมชนบ้านครัว
เพื่อเปิดประตูสู่การรับรู้เรื่องราวของชุมชนประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ที่ถูกซุกซ่อนไว้ใจกลางกรุงเทพฯ โดยเน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารในชุมชนบ้านครัว พัฒนาพื้นที่สาธารณะและทางเดินเท้าในย่าน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนและนักสร้างสรรค์ กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- โครงการลัดเลาะในซอย ที่ออกแบบทางเดินเท้าและพื้นที่สาธารณะในย่าน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในย่าน
- การนำงานศิลปะมาซ่อมแซมพื้นที่และกำแพงที่แตกร้าว เพื่อเพิ่มความสวยงามและสร้างสีสันให้กับย่าน
13. บางกอกใหญ่ – วังเดิม โดยผู้ขับเคลื่อน บริษัทครอส แอนด์ เฟรนด์ จำกัด และยังธน
เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ริมคลองบางกอกใหญ่ โดยเน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนและนักสร้างสรรค์ กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- โครงการ Sound of Bangkok Yai นิทรรศการเสียงที่ชวนทุกคนมาทำความรู้จักย่านบางกอกใหญ่ผ่าน ‘เสียง’ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของย่านบางกอกใหญ่
14. พระโขนง – บางนา โดยผู้ขับเคลื่อน South Sukhumvit
มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อก่อร่างสร้างย่านสุขุมวิทใต้ให้น่าอยู่และเป็น Creator Hub โดยเน้นการผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาของพื้นที่สาธารณะ กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- การทดลองพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะภายในย่านให้เป็น ‘สวนเคลื่อนที่’ (Pop-Up Park) และแหล่งการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในย่าน
- โครงการ ‘บ้านต้นไม้’ ในซอยสุขุมวิท 95 ที่ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาของพื้นที่สาธารณะที่ถูกทิ้งร้าง เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะและจัดกิจกรรมสำหรับชุมชน
15. บางมด โดย กลุ่มผู้ขับเคลื่อนย่านบางมด
มีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมย่านท่องเที่ยวสร้างสรรค์ โดยเน้นการนำเสนอเรื่องราวการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของธรรมชาติ ผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตริมคลอง กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
- โปรแกรมทัวร์ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนริมคลอง
- กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่ ‘คน’ ในย่านได้เริ่มลงมือ ‘ทำ’เพื่อสร้างสรรค์ให้เมืองยิ่งดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศรีนครรินทร์ – ห้างซีคอนสแควร์ ที่ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ Happening เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงและตลาดนัดศิลปะ และบางกะปิ ซอยโยธินพัฒนา ที่เริ่มต้นรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ โดยมีทีวีบูรพาเป็นผู้ริเริ่ม ฯลฯ
สรุป
Bangkok Design Week 2024 กับตรีม Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่โดยเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง ชุมชน และนักท่องเที่ยว อย่าลืมแวะไปร่วมงานกันนะครับทุกคน ไม่ว่าจะอยากทำกิจกรรมที่ย่านตัวเองอยู่อาศัย หรือที่ย่านอื่น ๆ ที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ นอกจากจะได้ประสบการณ์ดี ๆ และความบันเทิงแล้ว ยังทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นอีกด้วย
ส่วนตัวผมสนใจโครงการ Projection Mapping และ Made in Hua Lamphong ครับ ถ้ามีโอกาสจะไปแน่นอนหากเจอที่งานก็ทักทายกันได้นะคร้าบบ ^^