YouTube Algorithm 2022 รู้ทันยูทูปช่วยให้ช่องเติบโต

YouTube Algorithm 2022 รู้ทันยูทูปช่วยให้ช่องเติบโต

YouTube Algorithm 2022 มาเรียนรู้อัลกอริทึมของยูทูปกันบ้าง หลาย ๆ คน คงเคยสงสัยว่ายูทูปทำงานยังไง ดันคลิปเรายังไง เพราะเมื่อเราพอจะทราบแนวทางแล้ว เราfก็สามารถทำให้ช่องของเราเติบโตได้เร็วและง่ายยิ่งขึ้น โดยบทความนี้จะมาเล่าตั้งแต่อัลกอริทึมในอดีตของยูทูปจนถึงปัจจุบัน

ปี ค.ศ.2005-2011 คือยุค Optimize การคลิกและการเข้าชม

เนื่องจากยูทูปได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.2005 โดยคุณ Jawed Karim และเขาได้โพสคลิปแรกของยูทูปที่มีชื่อว่า Me at the zoo (ตัวฉันที่สวนสัตว์) พอเป็นยุคสมัยแรก ๆ ยูทูปก็ต้องการให้มีคนกดเข้ามาดูคลิปเยอะ ๆ ต้องการให้คนรู้จักช่องทางยูทูปมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้ในช่วงกว่า 6 ปีนั้น ยูทูปจะใช้อัลกอริทึมดันคลิปวีดิโอที่มีคนคลิกเข้ามาดูหรือมียอดผู้เข้าชมสูง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งชื่อคลิปและการทำรูปปกวีดิโอ (Thumbnails) ที่ไม่ตรงกับเนื้อหาภายในคลิป หรือที่เรามักจะได้ยินในชื่อ “Clickbait”

Clickbait Algorithm YouTube

Clickbait ที่หมายถึงการใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ หรือจูงใจให้คนกดเข้าไปดูหรือเข้าไปอ่าน ซึ่งแท้จริงแล้วเนื้อหาอาจจะไม่มีอะไรเลย แต่คนก็เลือกที่จะทำเพราะทำให้คนกดเข้ามาดูคลิปของตัวเองเพิ่มขึ้น ยอดวิวหรือยอดผู้เข้าชมสูงขึ้น เกิด Traffic ในช่องที่ดีขึ้น อีกทั้ง อัลกอริทึมของยูทูปช่วยดันคลิปอีกต่างหาก ดังนั้นผู้ใช้งานในช่วงนี้ก็จะมีความรู้สึกว่า โดนหลอกบ้าง รู้สึกไม่พอใจบ้างเพราะเนื้อหาภายในคลิปไม่ตรงกับที่ตัวเองต้องการค้นหา

ปี ค.ศ.2012 ยุคให้ความสำคัญกับชั่วโมงการดู Watch Time

หลังจากนั้นยูทูปก็ได้มีการปรับปรุงอัลกอริทึมให้แนะนำวีดิโอที่มีคนใช้เวลาในการดูวีดิโอนั้นเป็นระยะเวลานาน รวมถึงช่องที่ทำให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มยูทูปได้นานมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่วีดิโอของคุณในช่วงนั้นจะถูกดันแปลว่า นอกจากปกคลิปและชื่อคลิปแล้ว เนื้อหาภายในคลิปจะต้องดึงดูดให้คนอยากที่จะใช้เวลาท่องโลกยูทูปไปกับคลิปหรือช่องของคุณ เนื้อหาต้องน่าสนใจ และมีคุณค่าพอที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งหากผู้ชมถูกใจคลิปมาก เขาก็มีแนวโน้มที่จะดูคลิปของเราจนจบ

Time Watch

เมื่ออัลกอริทึมสนใจ Watch Time หรือชั่วโมงการดู ก็ส่งผลให้ในช่วงนั้นเหล่า Creators พากันทำคลิปที่สั้นลงออกมาเพื่อที่จะให้ผู้ชมดูคลิปจนจบ หรือบางคนก็ทำคลิปให้ยาวมากยิ่งขึ้นเพื่อต้องการดึงให้คนดูเพิ่ม Watch Time ให้กับช่องของตัวเอง ช่วงนั้นทำให้เกิดโควทที่เขาว่ากันว่า “Time spent is not necessarily equivalent to quality time spent” ซึ่งทำให้ยูทูปเกิดการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมใหม่หลังจากนั้น

ปี ค.ศ.2015-2016 ยุคการให้ความสำคัญกับความพอใจกับผู้ชม

ในปี 2015 ยูทูปเริ่มมีการใช้มาตรฐานความพึงพอใจของผู้ชมในการปรับอัลกอริทึมวีดิโอ มีการใช้แบบสอบถามสุ่มถามผู้ใช้งาน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการกดแชร์ กดชอบ กดไม่ชอบ (ที่แท้จริงแล้วเขาบอกว่าเป็นปุ่มบอกว่าไม่สนใจ)

แหล่งที่มาจาก: https://static.googleusercontent.com/media/research.google.com/en//pubs/archive/45530.pdf

รูปข้างต้นเป็นรูปภาพที่ยูทูปอธิบายการทำงานของ AI ภายในยูทูปให้คนเห็นภาพยิ่งขึ้นปี ค.ศ.2016 จะเห็นได้ว่ามีการประมวลคลังวีดิโอจำนวนมาก (Video Corpus) จากนั้นวีดิโอจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่ถูกเลือกว่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของวีดิโอจำนวนนึง (Candidate Generation) และนำไปสู่การจัดลำดับวีดิโอบนยูทูป (Ranking) ก่อนจะส่งไปถึงผู้ชมตัว AI จะมีการนำประวัติการเข้าชมของผู้ใช้รวมถึงกลุ่มคนดูที่เป้าหมายแตกต่างกันออกไปมาช่วยในการตัดสินใจในการแนะนำคลิปวีดิโอให้กับผู้ใช้งาน

โดยเป้าหมายของ AI YouTube ในช่วงนี้คือต้องการให้ผู้ใช้เจอวีดิโอที่ตัวเองต้องการจะดูมากที่สุดมากกว่าเจอวีดิโอที่คนอื่นชอบดู ซึ่งผลลัพธ์การทำงานแบบนี้ได้ผลเป็นอย่างดี เนื่องจากในปี ค.ศ.2018 ยูทูปได้สรุปว่าจำนวนการเข้าชม Watch Time ของผู้ใช้งานส่วนใหญ่มาจาก Algorithm ที่ทำให้คนดูวีดิโอแนะนำของยูทูป

ปี ค.ศ. 2016 จนถึงปัจจุบัน การใส่ใจเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อผู้ชมและความปลอดภัยของแบรนด์

ในช่วงหลายปีนั้น ฐานของยูทูปมีการขยายขึ้นอย่างมากทั้งจำนวนผู้ใช้งานและฝั่งของนักสร้างคอนเทนท์หรือวีดิโอทั้งหลาย เมื่อมากคนก็ย่อมมากความ ส่งผลให้มีหลาย ๆ เนื้อหาที่อัลกอริทึมยูทูปแนะนำให้ผู้ชมเป็นเนื้อหาที่มีความรุนแรงและเคร่งเครียดที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับนักสร้างคอนเทนท์

Brand Safety

ยูทูปต้องการที่จะรับผิดชอบให้อัลกอริทึมแนะนำคลิปที่มีเนื้อหาความรุนแรงต่อผู้ชมและนักสร้างคอนเทนท์ในจำนวนที่ลดลง เพื่อลดการส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ผิดหรือเป็นอันตรายต่อชุมชน ส่งผลให้อัลกอริทึมของยูทูปมีการตรวจจับเนื้อหาที่มีความรุนแรงอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และมีการลงโทษผู้ที่ทำผิดอย่างรุนแรง ซึ่งหากใครมีการทำผิดที่เกินจำนวนครั้งที่ยูทูปกำหนด ยูทูปจะลงโทษโดยการลบบัญชีผู้ใช้งานท่านนั้นออกจากระบบไปเลย

แล้วอัลกอริทึมในปี ค.ศ.2021 – 2022 เป็นอย่างไร ?

อัลกอริทึมของยูทูปปัจจุบันมีการปรับใหม่โดยมีสองเป้าหมายสำคัญ เป้าหมายแรกคือหาวีดิโอที่ใช่สำหรับผู้ชมแต่ละคน และทำให้พวกเขาตั้งใจดูหรืออยู่กับยูทูปให้นานยิ่งขึ้น เพิ่ม Watch Time

เมื่อเรานึกถึงอัลกอริทึม ให้ลองนึกก่อนว่าการที่คนจะมาเห็นคลิปของเราได้ เขาจะมาจากช่องทางไหนได้บ้างและแต่ละช่องทางมีการทำงานที่ต่างกันอย่างไร

  • การเลือกดูจาก หน้าแรก ของยูทูป
  • การกดเข้ามาดูคลิป จากการค้นหา ทั้งจากคีย์เวิร์ดเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง
  • การเลือกดูจากวีดิโอแนะนำในท้ายคลิปอื่น

ในปี ค.ศ.2021 ยูทูปเคยบอกไว้ว่า Traffic ส่วนใหญ่ของคนที่มาดูช่องของเหล่า Creators จะมาจากหน้าแรกของยูทูปหรือการวีดิโอแนะนำ ยกเว้นพวกวีดิโอสอนหรือวีดิโอแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะวีดิโอเหล่านี้จะมี Traffic ส่วนใหญ่มาจากการค้นหาทั้งภายในและภายนอกยูทูป

ยูทูปกำหนดอัลกอริทีมอย่างไร

How Algorithm works?

ยูทูปใช้อะไรในการจัดลำดับวีดิโอหรือตัดสินว่าใครควรได้เห็นวีดิโอนี้หล่ะ เนื่องจากแต่ละช่องทางที่แตกต่างกันไป แต่แต่ละยอดผู้เข้าชมจะถูกนับโดย

1.Personalization

มาจากช่องทางภายใน ยูทูปจะสังเกตตัวผู้ชมก่อนว่า เขาเคยดูอะไรในอดีต เขาชื่นชอบหรือมี Interact กับวีดิโออะไร ช่องไหน มี Interact ในทางที่ดีหรือไม่ดี

2.Performance

พาร์ทนี้จะเน้นมาส่วนของเจ้าของช่องว่าวีดิโอมีความสามารถแค่ไหน ในด้านการโชว์ให้คนเห็น คนกดเข้ามาดูเยอะไหม แล้วพอกดเข้ามาดูแล้วได้สร้าง Engagement หรือการมีส่วนร่วมกับช่องอย่างไรบ้าง มีการกดไลค์ คอมเม้นท์ กดแชร์ บ้างไหม

3.External Factors

ปัจจัยภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดูจากตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างเป็นหลัก เช่น ในช่วงนี้ผู้ชมส่วนใหญ่สนใจเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร มีการค้นหาอะไรที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ฤดูกาลนี้คนชอบค้นหาอะไร มีเรื่องอะไรที่คนกำลังถกเถียงหรือกดมาเข้าดูเยอะในช่วงนี้ เป็นต้น

การรัน Algorithm ในหน้าหลักหรือหน้า Home

Algorithm for Homepage

เมื่อคุณเปิดหน้าแรกของ YouTube ขึ้นมาคุณจะพบเจอกับอัลกอริทึมของ YouTube ที่นำเสนอวิดีโอหลากหลายที่ทาง YouTube คิดว่าคุณอาจจะชอบโดยในส่วนนี้ YouTube ยังไม่รู้ว่าผู้คนกำลังอยากดูอะไร ดังนั้นในหน้าแรกของ YouTube อัลกอริทึมจะเลือกประเมินจากสองหัวข้อสำคัญคือ

  • Performance ซึ่งดูจากยอดการที่คนกดคลิกเข้ามาดูคลิปของช่องเรา (Click-through Rate:CTR), ยอดผู้เข้าชมโดยเฉลี่ย, เปอร์เซ็นการเข้าชม, ยอดไลค์, ยอดแชร์ เป็นต้น
  • Personalization เนื่องจาก YouTube ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่นำเสนอเทรนด์เป็นหลักดังนั้นวิดีโอที่โชว์ขึ้นมาจะขึ้นอยู่กับความสนใจที่มาจากประวัติย้อนหลังของวิดีโอผู้ชม และถ้าผู้ชมมีแนวโน้มจะชอบวีดิโอนั้น ๆ ยูทูปก็จะโชว์วีดิโอที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดที่ผู้ชมชอบขึ้นมาหน้าหลักมากยิ่งขึ้น

อัลกอริทึมของการแนะนำวีดิโอ

Suggested Video

เนื่องจากเป็นวีดิโอแนะนำ ดังนั้นอัลกอริทึมของยูทูปจะดูจากวีดิโอที่ผู้ชมกำลังชมอยู่หรือชมก่อนหน้านั้น แล้วแนะนำวีดิโอที่คนอื่นมักจะกดเข้าไปดูหลังจากดูวีดิโอที่ผู้ชมกำลังชมอยู่ หรือมีหัวข้อที่เชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับวีดิโอ หรืออาจจะเป็นวีดิโอที่ผู้ชมเคยเข้าชมแล้วในอดีต ซึ่งจะโชว์อยู่บริเวณด้านขวาของคลิปในยูทูป

อัลกอริทึมของการค้นหาในยูทูป

Search Algorithm

ยูทูปก็เปรียบเสมือนกูเกิ้ลที่คนส่วนใหญ่ใช้หาข้อมูล แต่เป็นการเน้นหาข้อมูลที่เป็นวีดิโอ ดังนั้นก็จะมีส่วนของ SEO หรือ Search Engine Optimization เข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนของชื่อวีดิโอ คำบรรยาย การใส่แฮชแท็ก และการทำ YouTube SEO เพื่อให้ยูทูปสามารถรู้จักคลิปที่เราลงได้มากยิ่งขึ้นและสามารถดันคลิปของเราไปเจอกลุ่มเป้าหมายผู้ชมที่จะชื่นชอบคลิปของเราได้มากยิ่งขึ้น หากใครสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำ SEO YouTube สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้

สรุป

YouTube Algorithm 2022 เป็นการสรุปรวมประวัติอัลกอริทึมของยูทูปตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันที่ยูทูปมีการพัฒนาหัวใจของอัลกอริทึมเพื่อให้คนเจอเนื้อหาวีดิโอที่ใช่กับพวกเขามากที่สุด รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนยูทูปมีการอยู่บนแพลตฟอร์มอย่างปลอดภัยและใช้เวลาอยู่บนยูทูปให้นานมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายไม่ว่า Logic หรือ Measurement จะเปลี่ยนไปอย่างไร เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้ใช้งานเจอคลิปที่ถูกใจของพวกเขาอย่างเสมอ

Reference:

YouTube History

ควาหมายของ Clickbait

Lin

หลินผู้รักกการกิน MoMo Paradise และการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *