6 Next Normal ไทยและอาเซียนหลังโควิด19 จาก Facebook และ Bain & Company

6 Next Normal ไทยและอาเซียนหลังโควิด19 จาก Facebook และ Bain & Company

จากรายงานที่จัดทำโดย Facebook ร่วมกับ Bain & Company ถึง 6 Next Normal ของผู้บริโภคไทยและอาเซียนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ต่อไปแม้การแพร่ระบาดของโควิด19 จะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง นักการตลาดคนไหนที่อยากรู้ว่าอะไรคือ Insight ของผู้บริโภคในยุคโควิด19 ไม่ควรพลาด การตลาดวันละตอนสรุปและเรียบเรียงเนื้อหามาให้คุณได้พร้อมอ่านกันยาวๆ แล้ว

ประเทศไทยและอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจในแง่ของ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องไม่เคยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้แม้แต่ปีเดียว และนั่นเองก็ทำให้ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนี้เต็มไปด้วยโอกาสมากมายบนโลกออนไลน์สำหรับธุรกิจเกิดใหม่และแบรนด์ใหญ่ต่างๆ และนั่นก็ทำให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกทั้งหมด

ก่อนหน้านี้เราเคยสรุปและเรียบเรียงรายงานที่ชื่อว่า Riding the Digital Wave ที่พูดถึงเรื่อง Discovery Generation ของคนไทยและชาวอาเซียนว่าพวกเขามีพฤติกรรมและ Insight เป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ได้เห็นรูปร่างที่จะเกิดขึ้นของ Digital Economy ของภูมิภาคอาเซียนที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญของภาคเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคนี้ครับ

แต่ภาพรวมทั้งหมดที่เคยคาดการณ์ไว้ในตอนแรกอาจจไม่ได้เป็นอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ในตอนนี้ ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่ทำให้เกิดกระแสของคำว่า New Normal และนั่นเองที่พาเรามาสู่รายงานฉบับนี้ที่จะมาดูกันถึง The Next Normal ว่าอะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นแล้วจะยังคงอยู่ต่อไป หรือเรื่องใดที่จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2020 ครับ

Facebook Trend 6 Next Normal 2020 Covid19

6 เทรนด์ Next Normal ของ Digital Consumer ไทยและอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในครึ่งหลังปี 2020 นี้

  1. คนเคยชินกับการช้อปออนไลน์
  2. มีการค้นหาแอปใหม่อยู่ทุกวัน
  3. คิดอย่างถี่ถ้วนก่อนจะใช้เงินทุกครั้ง
  4. ความน่าเชื่อถือของแบรนด์คือหัวใจสำคัญ
  5. สุขภาพและความปลอดภัยคือเรื่องใหญ่
  6. หาความสุขเมื่ออยู่บ้าน

ถ้าพร้อมแล้วเราลองมาเจาะในรายละเอียดทีละหัวข้อของ 6 เทรนด์ Next Normal ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2020 กันครับ

1. Next Normal กับการซื้อของกิน ของใช้ และของสดทางออนไลน์ ทำให้เราค้นพบว่าไม่มีอะไรที่ช้อปออนไลน์ไม่ได้อีกต่อไป

จากรายงาน Insight ผู้บริโภคไทยและอาเซียนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่าตลาดออนไลน์ของไทยและอาเซียนเองเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ซึ่งที่ทำรายได้จากการช้อปออนไลน์ได้เป็นอย่างดีเดิมทีคือกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้า แฟนชั่น เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล(ครีมบำรุงต่างๆ) ซึ่งในสินค้ากลุ่มที่กล่าวมาเราเห็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 25-30% ทุกปีๆ แต่กับในสินค้ากลุ่มของกินของใช้ทั่วไปหรือที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต กลับมีอัตราที่โตต่ำกว่ากันมากอย่างน่าใจหาย ทั้งที่การใช้เงินในภาคออฟไลน์นั้นกลับมียอดสูงมหาศาลถึง 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายบนออนไลน์อยู่ที่แค่ 0.3% เท่านั้นเมื่อเทียบกับทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศจีนที่คนส่วนใหญ่ซื้อของกินของใช้บนออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ

แต่เมื่อโควิด19 เข้ามาก็ทำให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการช้อปสินค้าในกลุ่ม Groceries เมื่อผู้คนออกจากบ้านไม่ได้เพราะต้อง Social distancing หรือกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งนั่นทำให้ช่องทางหลักในการเข้าถึงของกินของใช้ในชีวิตประจำวันคือการต้องสั่งออนไลน์นั่นเอง เราเกิดภาวะที่เรียกว่า New Normal เกิดการสั่งอาหารทั้งสามมื้อผ่านแอป Food Delivery หลากสี เรารู้จักสั่งน้ำดื่มและอาหารแห้งผ่านเว็บของซูเปอร์มาร์เก็ตเองจนต้องรอคิวกันเกือบครึ่งเดือนกว่าจะมาส่งถึงบ้าน เราเห็นการปรับตัวของร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านที่สามารถสั่งให้มาส่งที่บ้านผ่านแอปหรือผ่าน LINE@ ของแต่ละสาขาได้ เราเห็นก้าวปรับตัวอย่างก้าวกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นก็เลยทำให้เราทุกคนล้วนเคยซื้อของที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องซื้อทางออนไลน์มาก่อนในชีวิต (ผมโดนเครื่องดูดฝุ่น หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อหุงข้าว โต๊ะทำงาน เก้าอี้ และก๊อกน้ำไป) ดังนั้นตอนนี้ทุกคนเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วว่าไม่มีอะไรที่ไม่สามารถซื้อทางออนไลน์อีกต่อไป

และแน่นอนว่าแม้โควิดจะเริ่มเบาลงไปในบ้านเรา เราเริ่มเดินทางออกไปไหนมาไหนและใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้แล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายหน้าร้านกลับคืนเดิมในทันที และยอดขายออนไลน์ก็ไม่ได้หายไปแบบกลับไปเป็นแบบก่อนหน้า กลายเป็นว่ายอดขายจากทางออนไลน์และออฟไลน์สามารถเติบโตคู่กันได้ นักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจหลายคนได้ค้นพบโอกาสใหม่ๆ จากการขายออนไลน์ จากที่เคยเป็นแค่ทางเลือก ถูกผลักดันให้กลายเป็นทางรอด และตอนนี้ทุกคนก็เริ่มทำให้กลายเป็นทางหลัก ที่เผื่อว่าวันนึงเกิดวิกฤตแบบเดิมซ้ำอีกครั้งก็จะได้ไม่เจ็บหนักเหมือนตอนโควิดระบาดครั้งแรกอีกต่อไป

จาก COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้นักช้อปออนไลน์ของไทยและอาเซียนกว่า 44% ปรับตัวมาซื้อของกินของใช้ และของสดอาหารแห้งทางออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องปกติ และก็อย่างที่บอกว่านี่ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่มาแล้วหายไป แต่แม้เราจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ New Normal แล้วการช้อปของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันก็กลายเป็น Next Normal ที่แท้จริง เพราะจากข้อมูลบอกให้รู้ว่าคนที่เคยช้อปของใช้ทางออนไลน์ในช่วงกักตัวที่ผ่านมากว่า 80% บอกว่าพวกเขาก็จะยังคงช้อปของใช้ในชีวิตประจำวันที่อยู่ในกลุ่ม Groceries ทางออนไลน์ต่อไปนั่นเองครับ

สรุปได้ว่า Online Groceries โตอย่างก้าวกระโดดจากโควิด19 ที่ผ่านมา การซื้อสินค้าของสดทางออนไลน์โตขึ้นกว่า 3-4 เท่า หรืออาหารแห้งอาหารพร้อมทานอย่างขนมปัง ปลากระป๋อง หรืออาหารเวฟก็โตขึ้นกว่าเท่าตัว นี่คือโอกาสที่แบรนด์สินค้าเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้ผ่านมาแล้วผ่านไปครับ

Next Normal ที่จะอยู่กับชีวิตวิถีใหม่คือการซื้อของสดผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น จากเดิมอาจจะซื้อแค่ของใช้ แต่วันนี้การซื้อของกินทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะใครๆ ก็ได้ลองแล้วรู้ว่ามันสะดวกสบายเหมือนกัน

2. Next Normal พ่อค้าแม่ขายออนไลน์หน้าใหม่มากมาย และการเปิดใจลองแอปใหม่แบบไม่เคยเป็น

ในช่วงกักตัวเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวดิจิทัลกว่า 85% ไม่ใช่แค่เปิดใจรับแอปใหม่ แต่ยังค้นหาแอปใหม่ๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการใหม่ New Normal ทั้งความเบื่อและความกลัวไปพร้อมกัน

เมื่อคนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวอาเซียนต่างต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เรามีเวลามากมายที่ต้องผ่านไปให้ได้ในแต่ละวัน และหนึ่งในนั้นก็คือการพยายามค้นหาแอปใหม่ๆ มาใช้งานกับเวลาว่างที่มากล้นและออกจากบ้านไปไหนไม่ได้ อย่างมี่เราพบกันว่าแอปใหม่ๆ ด้านสุขภาพและสาธารณะสุขนั้นเกิดขึ้นมากมาย ตามมาด้วยแอปที่ให้ความบันเทิงใหม่ๆ ที่แตกต่างกันไป คนหันไปเล่นเกมออนไลน์เยอะขึ้นมาก อย่าง Animal Crossing หรือคนหันไปลองเล่น TikTok จนเกิดดาว TikTok มากหน้าหลากตาเหลือเกินในวันนี้

เมื่อแอปเดิมอาจตอบโจทย์ชีวิตประจำวันที่เคยเป็น ที่เราต้องกินต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่แอปใหม่ที่เราโหลดเพิ่มมากนั้นเพื่อตอบชีวิตภายในบ้าน นั่นคือโจทย์ใหม่ที่แอปเก่าอาจคิดไม่ถึงและก็เลยไม่ได้ทำคำตอบไว้ได้ทันเวลาพอ

จากการสำรวจพบว่าในช่วง Q1 ของปี 2020 ที่ผ่านมาชาวดิจิทัลทั้งไทยและอาเซียนกว่า 85% ต่างเปิดใจลองแอปใหม่มากมายอย่างที่ไม่เคยเป็น (ผมเคยอ่านเจอรายงานว่าในฝั่งตะวันตกนั้นอัตราการโหลดแอปใหม่อยู่ที่ต่ำกว่า 1 แอปต่อเดือนเกินครึ่งเมื่อหลายปีแล้ว) แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกแอปจะได้รับสิทธิ์เข้าไปอยู่ในเครื่องของทุกคน เพราะจากการสำรวจดูพบว่าสิ่งที่เราเห็นจริงๆ คือแอปใหม่ที่ถูกโหลดและยังคงมีการใช้ต่อเนื่องต่อไปก็คือแอปประเภทโซเชียลมีเดียเช่น TikTok นั่นเอง

และก็ตามมาด้วยแอปประเภทส่งข้อความแบบอื่นๆ รวมไปถึงแอปที่ใช้ในการช้อปปิ้งของกินของใช้ และของสดอาหารแห้ง ข้ามไปถึงแอปส่งอาหารที่ไม่มีไม่ได้เพราะเราออกจากบ้านอาจไม่ค่อยปลอดภัย และก็แอปจำพวกจ่ายเงินทางออนไลน์หรือส่งเสริมเรื่อง Cashless society นั่นเองครับ

บางประเทศในช่วง Social distancing รัฐบาลก็ถึงกับส่งเสริมให้ประชาชนช้อปออนไลน์แทนการออกจากบ้านจนทำให้อัตราการดาวน์โหลดแอปเพิ่มขึ้นสูงมาก 

เมื่อทำการวิเคราะห์แยกย่อยไปตามช่วงอายุของกลุ่มคนดิจิทัลทำให้พบว่า แอปในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ออนไลน์วิดีโอ และแอปประเภทแชทส่งข้อความนั้นเป็นอะไรที่เติบโตสูงลิ่วในทุกช่วงวัย แต่เมื่อเจาะดูในกลุ่มวัยกลางคนที่มีอายุตั้งแต่ 25-54 ก็พบว่าในกลุ่มนี้แอปประเภทช้อปออนไลน์ สั่งอาหารหรือ Food Delivery และแอปจ่ายเงินออนไลน์นั้นโตขึ้นอย่างมาก แต่กับกลุ่ม 18-24 นั้นเป็นแอปจำพวกเกม คลิปวิดีโอสั้นๆ หรือเพลงที่มีอัตราการดาวน์โหลดสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มก่อนหน้านี้

ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ก็ไม่แปลกใจ เมื่อคนในช่วงวัยกลางคนนั้นต้องรับผิดชอบตัวเองและคนในครอบครัว ส่วนในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นนั้นไม่ต้องดูแลใคร นอกจากดูแลตัวเองให้ดีในช่วงนี้นั้นเองครับ

และแน่นนอนว่าเมื่อมีคนเข้ามาออนไลน์มากมายก็ทำให้เกิดผู้ขายหน้าใหม่ตามเข้ามา ที่ไหนมีคนที่นั่นมีโอกาส อย่างในบ้านเราก็จะเห็นพวก Facebook Group เพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์มากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และอีกสิ่งหนึ่งที่การตลาดวันละตอนเห็นจากการทำรีเสริชคือมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามเสริชหาว่า “ขายอะไรดี” ในช่วงโควิด19 เพิ่มสูงมาก แถมในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแค่วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ยังรวมถึงคนกลุ่มสูงวัยหรือ Silver Age มากมายที่จากเดิมไม่เคยสนใจออนไลน์ แต่พอออกไปไหนไม่ได้ก็ต้องออกจากบ้านผ่านออนไลน์กันให้ได้ครับ และคนกลุ่มนี้เองคือคนกลุ่มที่หันมาเริ่มช้อปปิ้งออนไลน์กันเยอะมาก และนี่เองคือ Next Normal กลุ่มนักช้อปออนไลน์หน้าใหม่ที่น่าจะเริ่มคุ้นเคยแล้ว ตอนนี้คือใครพร้อมจะหาสินค้าที่ถูกใจมาขายกลุ่มคนที่สูงวัยเหล่านี้ต่อไปแม้จะเปิดเมือง

3. Next Normal ซื้อประกันออนไลน์ และการเลือกซื้อในสิ่งที่สำคัญและคุ้มค่าแทนของไลฟ์สไตล์ฟุ่มเฟือย

จากรายงาน Riding the Digital Wave เมื่อปลายปี 2019 พบว่ากลุ่มผู้บริโภคนักช้อปออนไลน์ที่เป็นสายล่าของถูก หาของคุ้ม นั้นมีสัดส่วนอยู่แค่ประมาณ 22% แต่พอ Q2 ของปี 2020 เท่านั้นแหละบรรดานักช้อปออนไลน์ส่วนใหญ่จากที่เคยเป็นสายเปย์ หรือเน้นแต่ของถูก กลายเป็นสายที่หาของที่ทั้งถูกและดี หรือแพงขึ้นมาหน่อยได้แต่ต้องมั่นใจว่าคุ้มค่าทุกบางทุกสตางค์ที่จ่ายไป

ซึ่งในกลุ่มนักช้อปของคุ้มหรือสาย Value Hunters ของไทยนั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เพราะสูงพุ่งถึง 71% ตามมาด้วยสิงค์โปร 68% และค่าเฉลี่ยของชาวอาเซียนทั้งหมดนั้นอยู่ที่ 57% เท่านั้นเองครับ

ดังนั้นจากที่เคยช้อปปิ้งตามใจไม่สนใจราคา กลายเป็นต้องคิดให้ดีว่าที่จะช้อปไปนั้นคุ้มค่ากับที่จ่ายไปหรือเปล่า เพราะช่วงนี้เราไม่รู้ว่าจะมีเงินเข้ามาอีกเมื่อไหร่ เราไม่รู้ว่าเราจะได้เงินเยียวยาจากเราไม่ทิ้งกันมากน้อยแค่ไหนครับ

และกลุ่มคนที่มองหาความคุ้มค่าก่อนช้อปออนไลน์นั้นก็ไม่ได้มีแค่อยู่ในตัวเมือง เพราะพฤติกรรมการช้อปแบบนี้กับกระจายออกไปยังนอกเมืองหรือต่างจังหวัด วันนี้แค่คำว่าถูกไม่เพียงพอเพราะถ้าจ่ายไปแล้วไม่คุ้ม นักช้อปออนไลน์จะรู้สึกว่ายอมจ่ายแพงกว่านิดแล้วจบดีกว่า

พฤติกรรมการช้อปออนไลน์ของผู้คนในช่วงนี้เปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่อาจจะเปิดโซเชียลมีเดีย ไถหน้าฟีดเฟซบุ๊กหรือไอจีไปเรื่อยๆ กลายเป็นจะซื้อแต่ละทีก็คิดแล้วคิดอีกว่าจำเป็นมั้ย แล้วถ้ามันจำเป็นแล้วแบบไหนหรือร้านใดล่ะที่จะให้ดีลที่คุ้มค่าที่สุดกับเรา

พฤติกรรมการช้อปแบบเน้นความคุ้มค่านี้กลายเป็น Next Normal หลังโควิด19 ที่ไม่ได้หายไปเมื่อเปิดเมือง ผู้คนมีพฤติกรรมการช้อปออนไลน์ของที่ไม่จำเป็นลดน้อยลง และพวกเขาก็มองหาการซื้อประกันเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น New Normal ครับ

เมื่อเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันพบว่า ชาวอาเซียนนั้นมีพฤติกรรมที่ต่างอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่มีการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยน้อยกว่าครึ่ง หรือซื้อประกันเพิ่มขึ้นกว่าชาวอเมริกันถึงสามเท่า และพวกเขายังประหยัดเงินไว้สำหรับวันหน้าที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างครับ

4. Next Normal แบรนด์เก่าแก่กลับมาเป็นที่นิยมใหม่ และแบรนด์ใหญ่กลับมาบูม

40% ของผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนเปลี่ยนไปลองแบรนด์ใหม่ทุก 2 สัปดาห์โดยเฉลี่ย (เทียบกับจีนและอเมริกาที่น้อยกว่าถึง 20%)

ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นนักช้อปแบรนด์ใหม่ได้ตลอด เพราะจากการที่เราใช้โซเชียลมีเดียเยอะมาก และนั่นก็ทำให้เราได้เห็นโฆษณาจากแบรนด์และสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังที่ถูกนิยามว่า Discovery Generation คือไม่ได้คิดหรอกว่าจะช้อปอะไรสักอย่าง เพียงไถหน้าฟีดไปเรื่อยๆ แล้วเห็นอะไรที่มันน่าสนใจผ่านตาเข้ามาแล้วก็เผลอมือลั่นกดซื้อไปโดยไม่รู้ตัว (และก็มีคนเอาของมาส่งที่บ้านในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันถัดไปครับ)

แต่สถานการณ์นี้กำลังสลับขั้วเพราะเมื่อโควิด19 เข้ามาทำให้เราหยุดช้อปแบรนด์ใหม่ที่ไม่รู้จักไปมาก เราหันมาใช้เงินกับแบรนด์ที่เรามีความคุ้นเคย ซึ่งนั่นก็น่าจะมาจากเหตุผลข้อ 3 ที่เราขอกลับไปเลือกความคุ้มค่า เลือกที่ความมั่นใจ เลือกแบรนด์ที่มั่นใจว่าซื้อไปอย่างไรก็ปลอดภัยไร้กังวล เพราะชาวดิจิทัลไทยและอาเซียนกว่า 42% เลือกแบรนด์ที่อยู่มานานมากกว่าแบรนด์ใหม่ครับ

เพราะเมื่อทีมงานของ Facebook และ Bain & Company เข้าไปทำการสำรวจศึกษาผู้บริโภคชาวอาเซียนอย่างใกล้ชิดก็ทำให้พบว่า ผู้บริโภคที่ช้อปออนไลน์เลือกที่จะกลับไปหาแบรนด์ใหญ่ๆ หรือแบรนด์ที่พวกเขามั่นใจเพราะเห็นกันมานานแทนแบรนด์ใหม่ที่ดูหวือหวาเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้าโควิด19 ระบาดครับ

จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคกว่า 42% บอกว่าเดือนที่ผ่านมาพวกเขาเลือกที่จะกลับไปซื้อแบรนด์เก่าแก่แทนทันที พวกเขาบอกว่าก็เพราะแบรนด์เหล่านี้ดูน่าเชื่อถือ และด้วยกำลังการผลิตที่มีเป็นบุญเก่าทำให้สามารถมีสินค้าพร้อมวางขายได้ดีกว่าแบรนด์เล็กในช่วงวิกฤตไม่ปกตินั่นเองครับ

นั่นก็เพราะแบรนด์ใหญ่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าให้พร้อมขายได้ดีกว่าแบรนด์เล็กหรือแบรนด์น้องใหม่นั่นเอง เพราะกว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวอาเซียนบอกว่าถ้าพวกเขาไปหาซื้อสินค้าหรือแบรนด์ที่อยากได้ไม่มี ก็จะสลับไปซื้อแบรนด์อื่นในทันที

แต่ในขณะเดียวกันก็มองอีกมุมได้ว่ายังมีผู้บริโภคกว่า 2 ใน 3 ที่เลือกที่จะรอแบรนด์ที่ตัวเองต้องการ และนั่นก็สะท้อนถึงโอกาสของแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ จ่ายเงินแล้วคุ้มค่า พวกเขาก็ยินดีที่จะรอเพราะนั่นคือการใช้เงินที่คุ้มค่าที่สุดก็เป็นได้ครับ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในสินค้าหลากหลายประเภท ไม่ใช่แค่ของใช้ส่วนตัวเท่านั้นอย่างเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังสินค้าแทบทุกหมวดหมู่ประเภท และผู้บริโภคในประเทศเวียดนามก็มีสัดส่วนการเปลี่ยนมาซื้อแบรนด์ที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมาในช่วงโควิด19 เกินกว่าครึ่งหรือ 54% ส่วนประเทศไทยเราก็เปลี่ยนมาซื้อแบรนด์ที่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นถึง 43% ถ้ายังจำได้จะเห็นว่าช่วงนั้นแบรนด์ฆ่าเชื้ออย่างเดทตอลขาดตลาดมาก ทำให้แม้จะเกิดแบรนด์ใหม่ๆ มากมายแต่ถ้าเมื่อไหร่เดทตอลวางขายคนก็จะรอที่จะเหมาจนของขาดในทันที

5. Next Normal ชีวิตเราบอบบางกว่าที่คาด และธรรมชาติก็ยังฟื้นคืนได้

73% ของคนไทยและชาวอาเซียนกว่าบอกว่าวันนี้พวกเขาใส่ใจและเป็นกังวลเรื่องสุขภาพมากกว่ายุคก่อน New Normal เป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับคนอเมริกาที่ใส่ใจกันเพิ่มขึ้นแค่ 40% เท่านั้น

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ผู้คนมากมายล้วนใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพเป็นอย่างมาก จากนั้นเราเริ่มเห็นผลกระทบในแง่ดีจากการฟื้นคืนของธรรมชาติมากมายจากการหยุดทุกอย่างบนโลกพร้อมกันแค่ไม่กี่วัน ชั้นโอโซนที่เคยรั่วถูกปิด สัตว์ป่าที่ดูหายไปก็กลับคืนสู่ธรรมชาติให้เห็น ในช่วงเวลาการกักตัวอยู่บ้านไม่นานทำให้เราได้เห็นถึงความงามของธรรมชาติที่ฟื้นกลับคืนมาเร็วเหลือเกิน ทำให้เราสำนักได้ว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติยังคงฟื้นคืนได้ ถ้าเรารู้จักหยุดบริโภคอย่างล้นเกินสักนิด

สิ่งที่จะกลายเป็น Next Normal เรื่องที่ 5 คือเรื่องของความกังวลและใส่ใจในสุขภาพว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรคที่แม้โควิดจะระบาดลดลงแต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนเอาชนะโรคนี้ขาด เราก็ยังไม่อาจใช้ชีวิตแบบประมาทได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะกว่า 73% ของผู้บริโภคชาวอาเซียนที่รวมถึงคนไทยต่างบอกว่าพวกคงจะยังคงใช้ชีวิตวิถีใหม่ที่หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากาก และยังเว้นระยะห่างระหว่างกันต่อไป ซึ่งตัวเลขในความกังวลเรื่องสุขภาพของคนอาเซียนนี้ก็สูงกว่าคนอเมริกาเกือบเท่าตัว เพราะจากการสำรวจพบว่ามีชาวอเมริกันที่ใส่ใจในเรื่องนี้มีแค่ 40% เท่านั้น

และในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน ชาวอาเซียนและคนไทยก็มีสัดส่วนการใส่ใจในเรื่องนี้สูงกว่าคนอเมริกันกว่าเท่าตัว เพราะ 54% ของคนไทยและชาวอาเซียนต่างบอกว่าพวกเขามีความกังวลและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังกว่าก่อนหน้าที่โควิ19 ระบาด แต่ในขณะที่คนอเมริกาที่ใส่ใจเรื่องนี้มีแค่ 23% เท่านั้น

ในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งบริษัทไหนหรือแบรนด์ใดสามารถทำสามสิ่งนี้ได้ดีมากๆ ก็จะทำให้ผู้คนยอมจ่ายให้มากกว่าบริษัทหรือแบรนด์ที่ไม่อาจตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งสามส่วนได้

ในเรื่องของสุขภาพเราจะเห็นชัดเลยว่าจากโควิด19 ที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจจำพวกแอปหรือที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพประเภท MedTech อย่าง Telemedicine นั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะคนไม่อยากออกจากบ้านไปเพิ่มความเสี่ยง แต่ก็ยังอยากคุยกับหมอเพื่อลดความกังวลว่าตกลงฉันติดหรือยัง ดังนั้นนี่คือโอกาสใหม่และโอกาสใหญ่ทางภาคธุรกิจ Healthcare ที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปให้กลายเป็นแค่ New Normal แต่ควรจะรักษาการเติบโตของตลาดไว้ให้กลายเป็น Next Normal ที่ทำให้คนหันมาหาหมอทางออนไลน์แทน

6. Next Normal จาก Customer-Centric สู่ Home-Centric และการแจ้งเกิดของ Contactless

37% จากการอยู่บ้านหยุดเชื้อทำให้เราเรียนรู้วิธีการทำงานผ่านทางไกลหรือระบบ Remote ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยเป็น

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในช่วงต้นปี 2020 ผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนต่างเรียนรู้ที่จะทำทุกอย่างบนออนไลน์ด้วยตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรียกได้ว่าอะไรออนไลน์ได้ทำ หรือถ้าอะไรออนไลน์ไม่ได้ก็จะลองดูซิว่ามันมีทางทำบนออนไลน์ได้หรือไม่ และจากเดิมนักการตลาดถูกสอนว่าเราต้องเน้นโฟกัสไปที่ผู้บริโภคเป็นหลักเพราะพวกเขามี Journey ที่หลากหลายหรือที่เราเรียกกันว่า Customer-Centric แต่ในช่วงการอยู่บ้านหยุดเชื้อที่ผ่านมาหรือที่เรียกว่า At Home นั้นทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่นักการตลาดต้องเรียนรู้คือคำว่า Home-Centric คือถ้าผู้คนต้องอยู่แต่บ้านเราสินค้าหรือบริการเราจะเข้าไปหาผู้บริโภคได้อย่างไร

ผู้บริโภคกว่า 77% บอกว่าสิ่งที่พวกเขาหันมาทำอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อคือการทำอาหารอย่างจริงจัง หรือต้องทำกินเองทั้งสามมื้อให้กับคนทั้งบ้าน นั่นคือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเท่านี้มาก่อน เดิมทีเราคุ้นเคยกับการออกจากบ้านไปหาอะไรง่ายๆ กินแถวบ้าน หรือออกไปหาของอร่อยๆ ให้ตัวเองได้กินในวันหยุด หรือหาข้าวกินแบบเร็วๆ ใต้ออฟฟิศ แต่เมื่อบ้านเป็นที่เดียวที่เราควรอยู่มากที่สุดเราจะเห็นเพื่อนหลายคนสามารถทำเมนูใหม่ๆ และก็ตามมาด้วยเทรนด์การซื้ออุปกรณ์ทำครัวอย่าง หม้อทอดไร้น้ำมัน จานชามสวยๆ หรืออื่นๆ อีกมากมาย

และ 65% ก็บอกว่าพวกเขาใช้เวลาในการดูทีวีออนไลน์ หรือดู Netflix มากมายในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรียกได้ว่ามีรายการอะไรดีขอให้บอก พร้อมจะดู Netflix ให้คุ้มค่ากับเงินค่าสมาชิกที่จ่ายไปนั่นเอง

และจากการที่เราต้องหยุดเชื้ออยู่บ้านนั้นก็ทำให้พบว่าคนไทยและชาวอาเซียนต่างชื่นชอบที่จะ Work From Home เมื่อเวลาผ่านไป แน่นอนว่าแม้ช่วงแรกจะมีทุกลักทุเลบ้าง แต่พอพวกเขาสามารถปรับบ้านให้เข้ากับการทำงานได้ก็พบว่าเริ่มมีหลายบริษัท หรือแม้แต่บริษัทใหญ่ๆ เอาสิ่งนี้มากลายเป็นนโยบายให้ทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศนั่นเอง

20% ของคนไทยและชาวอาเซียนบอกว่าพวกเขาอยากจะออกจากบ้านไปกินข้าว ไปดูหนัง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง แต่เมื่อเทียบกับคนอเมริกาแล้วตัวเลขนี้กับสูงถึง 34% หรือสูงกว่าชาวอาเซียนถึงเกือบเท่าตัวก็ว่าได้ครับ

ซึ่งเรื่องนี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคนไทยและอาเซียน เดิมทีเราชอบที่จะออกไปกินข้าวนอกบ้านทุกวัน มากกว่า 1 มื้อต่อวัน เมื่อเทียบกับชาวสหรัฐอเมริกาที่มักจะกินข้าวบ้านเป็นหลัก เรียกได้ว่าตัวเลขน่าจะกลับมาบาลานซ์กันระหว่างสองภูมิภาคนั่นเอง

และ Next Normal ที่ตามมาจากการพบว่าอยู่บ้านก็สุขได้คือการพบว่าการใช้เงินแบบ Contactless นั้นสะดวกสบายกว่าที่คิดมาก จากจุดเริ่มต้นคือต้องทำเพื่อความสะอาดปลอดภัยเพราะไม่อยากสัมผัสกับเชื้อโรค กลายเป็นความสะดวกสบายที่พบว่าไม่ต้องคอยพกแบงก์ พกเหรียญให้รำคาญอีกต่อไป ดังนั้นสงครามการแข่งขันกันระหว่าง Mobile Payment ต่างๆ หรือแอปการจ่ายเงินต่างๆ น่าจะยิ่งเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องแม้โควิด19 จะเริ่มซาไป เพราะการใช้บริการต่างๆ ผ่านแอปไม่ว่าจะช้อปปิ้งหรือสั่งอาหารมาสั่งบ้าน ก็ล้วนแต่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยการตัดผ่านบัตร หรือ Gateway ต่างๆ อย่างเต็มตัวครับ

แม้แต่เดิมทีในภูมิภาคอาเซียนนั้นเงินสดจะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การจ่ายเงินผ่านมือถือที่ผ่านแอปต่างๆ ก็กำลังเป็นช่วงเวลาทองที่ต้องรีบตักตวงให้คนมาใช้บริการแอปตัวเองมากกว่าคู่แข่งที่มีนับไม่ถ้วนในวันนี้ จากตัวเลขที่พบคือบริษัท GCash ในประเทศฟิลิปปินส์เปิดเผยว่ามีการดาวน์โหลดแอปเพิ่มขึ้นกว่า 30% แค่ในช่วงเดือนมีนาคมเท่านั้น และก็เป็นตัวเลขแค่จากช่องทาง Google Play Store อีกด้วย

สรุป 6 เทรนด์ Next Normal ของผู้บริโภคชาวไทยและอาเซียนในยุคโควิด19 กับช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ที่กำลังมา

ดังนั้นสรุปได้ว่า Next Normal ที่จะยังคงอยู่ต่อไปไม้โควิด19 จะเริ่มเบาลงคือผู้คนและบริษัทต่างๆ พบแล้วว่าการ Work From Home หรือ Work From Anywhere นั้นไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำเงินลดลงไป แถมถ้าพนักงานไม่เข้าออฟฟิศก็ยิ่งประหยัดพื้นที่เช่าออฟฟิศเดิมลงไปได้มากมายในแง่ของต้นทุนการดำเนินธุรกิจครับ ยังไม่นับลดต้นทุนการที่ต้องเดินทางไปหาลูกค้า ไม่ว่าจะค่ารถค่าน้ำมัน หรือแม้แต่กระทั่งค่าตั๋วเครื่องบินโรงแรมก็ตาม เพราะเราจะเดินทางไปทำไมในเมื่อเราพบว่าเราสามารถประชุมกันแล้วรู้เรื่องได้ผ่าน ZOOM โดยที่ยังใส่กางเกงนอนด้วยซ้ำ

และ Next Normal ที่ยังคงอยู่ต่อไปก็คือการจ่ายเงินผ่านมือถือหรือที่เรียกว่า Contactless นั่นก็ช่วยลดต้นทุนในการจัดการกับเงินที่ได้มาที่เดิมทีไหนจะต้องเอามานับ เอาไปฝากธนาคาร เสียเวลาทำงานของพนักงานไปโดยใช่เหตุ เมื่อผู้คนเริ่มชินกับการจ่ายเงินผ่านแอปหรือผ่านมือถือกับการซื้อของกินของใช้เล็กๆ น้อยๆ เทรนด์นี้จะยังคงอยู่ต่อไปสิ่งที่นักการตลาดต้องรีบทำคือต้องพร้อมสำหรับการจ่ายเงินด้วยมือถือในทุกแพลตฟอร์มที่ลูกค้าอาจใช้งานครับ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่เราสามารถปรับตัวไปสู่ดิจิทัลได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้แบรนด์เราสามารถเข้าสู่ยุค New Normal ในวันนี้ได้ง่ายขึ้น ในวันที่ผู้คนยังคงต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันหรือ Social distancing หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนจาก Customer-Centric สู่ Home-Centric นับจากนี้ และก็การมีปฏิสัมพันธ์กันบนออนไลน์ได้ไม่แพ้ในโลกจริง ทั้งหมดนี้จะผลักดันให้สังคมทั้งหมดก้าวเข้าสู่ Next Normal ที่แท้จริงครับ

แต่นักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจอย่างเราก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปว่าโลกจะหยุดอยู่แค่ Next Normal ทั้งหมดที่เล่ามา เพราะไม่มีใครรู้ว่าในวันหน้าจะเกิดอะไรที่ Dirsupt โลกทั้งใบและวิถีชีวิตของมนุษยชาติทั้งหมดได้เหมือนกับโควิด19 อีกหรือไม่ ดังนั้นบริษัทหรือแบรนด์ที่จะอยู่รอดต่อไปได้คือการคิดถึงการทำธุรกิจแบบระยะยาว การปรับตัวให้กลายเป็นดิจิทัลที่แท้จริง หรือสามารถส่งมอบคุณค่าในรูปแบบดิจิทัลแทนที่จะเป็นสินค้าหรือบริการสักอย่าง คุณต้องพร้อมที่จะอยู่ในทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อย่าหวังพึ่งแค่ช่องทางเดียวอีกต่อไปโดยเฉพาะช่องทางหน้าร้านที่ปล่อยให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่ถึงวันที่มีอะไรเข้ามาอุดตันเส้นเลือดนั้นก็ทำให้ธุรกิจที่คุณตั้งใจสร้างมาหายจากตลาดไปได้ง่ายๆ

ตัวอย่างการปรับตัวที่น่าสนใจคือมีแบรนด์ขายของชำที่ชื่อว่า FairPrice On ที่ปรับตัวจากการทำธุรกิจที่อาศัยหน้าร้านล้วนให้เข้าสู่ออนไลน์ที่แท้จริงได้อย่างรวดเร็ว หรือร้านค้าปลีกอย่าง Matahari ในอินโดนีเซียที่สามารถปรับตัวสู่ออนไลน์และคลอดแอปของตัวเองออกมารวดเร็ว ส่วนในบ้านเราก็น่าจะเห็นการปรับตัวทางการตลาดในช่วงโควิด19 ไม่น้อย จากเดิมไม่เคยคิดจะ Delivery แปบเดียวก็ต้อง Delivery ให้ได้

นอกจากนี้บรรดาสินค้าหรือแบรนด์ที่เป็นของฟุ่มเฟือยราคาแพง หรือสินค้าหรือบริการที่เป็นไลฟ์สไตล์นอกบ้านนั้นจะต้องหาทางปรับตัวและแก้เกมอย่างมากเมื่อลูกค้าคนเดิมที่เคยช้อป หันไปมองหาของที่คุ้มค่าและจำเป็นมากขึ้น หรือในช่วงเวลาที่เป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ใหญ่ๆ ในวันที่ผู้คนเกิดความสับสนต้องการอะไรที่มั่นใจว่าคุ้มกับเงินที่จ่ายไปจริงๆ รวมถึงการมีพร้อมสรรพของ Supply-chain ทั้งหมดที่สามารถผลิตเองได้ ส่งสินค้าได้ และจัดจำหน่ายได้ นั่นคือข้อได้เปรียบของการเป็นแบรนด์ที่ใหญ่มากกว่าแบรนด์ใหม่ที่ดูหวือหวาในวันนี้ ซึ่งสิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กและกลางหรือบรรดา SME ทั้งหลายต้องปรับตัวคือพยายามหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ได้ อย่างการไปร่วมมือกับ marketplace ใหญ่ๆ อย่าง Lazada ให้ช่วยบริการจัดการกับเรื่องที่ว่านั่นเองครับ

ท้ายที่สุดของบทความ Next Normal หลังโควิด19 จาก Facebook และ Bain & Company คือนักการตลาดอย่างเราจะทำอย่างไรเมื่อผู้คนหันมาใช้ชีวิตในบ้านหรือ Home-Centric มากขึ้น กับพวกเขาเน้นความสะอาดและปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องลงทุนอะไรใหม่ๆ และนำไปสู่ Business Strategy ใหม่ ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการ และในแง่ของการจัดสรรทรัพยากรเดิมที่มีให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น New Normal นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและใครๆ ก็รู้กันเรียบร้อยแล้ว แต่ Next Normal ต่างหากคือสิ่งสำคัญ หากใครสามารถคาดการณ์ออกว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังจะมา อะไรบ้างที่จะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคต คุณจะสามารถคว้าโอกาสทางการตลาดในแบบที่คู่แข่งต้องอิจฉาและมองตาเป็นมัน แต่สิ่งที่สำคัญคือสุดคือถ้ามองออกแล้วไม่ Action ทำอะไร ก็เท่ากับปล่อยโอกาสใหม่ให้หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

เราเห็นแล้วว่าโครงสร้างการคิดและทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้เหมาะกับยุค New Normal และ Next Normal เป็นอย่างมาก เราไม่รู้หรอกครับว่าในวันข้างหน้าจะมีโรคอะไรระบาดออกมาอีกรอบ หรือจะมีอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์แบบเดิมต่อไปได้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมให้ธุรกิจก้าวเข้าสู่การเป็น Digital Transformation นั้นจึงสำคัญ ส่วนตัวผมหวังว่าบทความ 6 Next Normal ของยุคหลังโควิด19 นี้จะพอจุดไอเดียในการทำธุรกิจหรือการตลาดของคุณไม่มากก็น้อยครับ

Source

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *