สรุป 10 Culture Trends เทรนด์วิถีชีวิตผู้บริโภคทั่วโลกจาก The Future 100 ปี 2024 VML

สรุป 10 Culture Trends เทรนด์วิถีชีวิตผู้บริโภคทั่วโลกจาก The Future 100 ปี 2024 VML

สรุป 10 Culture Trends เทรนด์การใช้ชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่จากรายงาน The Future 100 ประจำปี 2024 ของ VML นี่เป็นครั้งแรกที่การตลาดวันละตอนหยิบเอารายงาน The Future 100 ที่จัดทำโดย VML บริษัทครีเอทีฟเอเจนซี่โฆษณาและการตลาดระดับโลกมาสรุป เรียบเรียง และเล่าให้เพื่อนๆ นักการตลาดฟัง

โดยรายงานฉบับนี้จะรวบรวม 100 เทรนด์สำคัญทุกด้านจากทั่วโลกมาให้เราได้เห็นภาพว่าทิศทางโลกในปีนี้และปีหน้าน่าจะขยับตัวไปทางไหน และในรายงานนี้ยังมีการแบ่งเป็นหมวดหมู่ 10 Mega Trends ย่อยของปีดังนี้

  1. Culture Trend เทรนด์ด้านวัฒนธรรมการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์
  2. Technology Trend เทรนด์ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ
  3. Travel & Hospitality Trend เทรนด์ด้านการท่องเที่ยว
  4. Brand & Marketing Trend เทรนด์ด้านการตลาดและแบรนด์
  5. Food & Drink Trend เทรนด์ด้านอาหารการกิน
  6. Beauty Trend เทรนด์ด้านความสวยความงาม
  7. Retail Trend เทรนด์ของร้านค้าปลีก
  8. Luxury Trend เทรนด์ด้านแบรนด์หรูหรา
  9. Health Trend เทรนด์ด้านสุขภาพ
  10. Innovation Trend เทรนด์ของนวัตกรรมใหม่ๆ

ต้องบอกก่อนว่ารายงานฉบับนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจบริบทเยอะ ผมจึงขอค่อยๆ ไล่เรียงสรุปให้เพื่อนๆ ในการตลาดวันละตอนได้อ่านทำความเข้าใจไปพร้อมกันทีละ 1 Mege Trend ถ้าขาดตกบกพร่องตรงไหนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

ถ้าพร้อมแล้วเรามาทำความเข้าใจ 100 Trends เทรนด์สำคัญประจำปี 2024 โดยเริ่มต้นจาก 10 เทรนด์แรกที่เจาะลึก 10 Culture Trends 2024 กันครับ

1. Emotioneering ออกแบบอารมณ์เพื่อการแบรนด์

เมื่ออารมณ์กลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการสร้างแบรนด์นับจากนี้ไป คำถามสำคัญคือเราอยากยึดโยงกับอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ที่เมื่อไหร่คนรู้สึกแบบนั้นแล้วจะนึกถึงแบรนด์เราขึ้นมาทันที

Emotioneering ไม่เหมือนกับ Emotional Marketing เพราะแบบหลังคือสิ่งที่มีมานานแล้ว มันคือการตลาดแบบใช้อารมณ์เป็นส่วนร่วม แต่ไม่ใช่ส่วนหลัก แต่กับ Emotioneering น่าจะมาจากคำว่า Emotional + Engineering ซึ่งความหมายจะลึกซึ้งกว่านั้น นั่นก็คือการการออกแบบอารมณ์อย่างจริงจังให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Brand Perception ในระยะยาว

คุณอาจบอกว่า Coke ก็ทำมานานแล้วนิ ด้วยคอนเซปแนวคิด Happiness แต่จะบอกว่านิยามของคำว่า Emotioneering นั้นทำให้สิ่งที่ Coke ทำมาเป็นแค่เรื่องผิวเผินไป เพราะอารมณ์ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการวันนี้คืออารมณ์ที่ชัดเจน สุดติ่ง ไม่ใช่แบบครึ่งๆ กลางๆ ยิ้มๆ ไม่พอ

ถ้าจะสุขก็ต้องสุขจนน้ำตาไหล จะไม่ใช่แค่สุขแบบยิ้มกรุ้มกริ่มมุมปาก หรือสุขจนแสดงออกทางสีหน้าที่ชัดเจนว่าสุขจนล้นทะลัก นี่คือนิยามความต่างระหว่าง Emotional Marketing กับ Emotioneering ครับ

จากรายงานบอกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม The Future 100 2024 ทั่วโลกต้องการให้แบรนด์ช่วยทำให้พวกเขารู้สึกถึงอารมณ์ที่สุดขั้วหน่อย ไม่จำเป็นจำต้องเป็นแค่อารมณ์สุข หรืออารมณ์ในด้านบวก แต่จะเป็นอารมณ์แบบกลัวสุดขีด ช็อคหัวใจแทบวาย หรือถ้าจะเศร้าก็ต้องเอาให้ดิ่งซึมลึก ถ้าทำไม่ได้อย่างนั้นสู้อย่าเสียเงินเสียเวลาทำจะดีกว่า

เพราะวันนี้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเอง Burn out จากการใช้ชีวิตและทำงานอย่างมาก รู้สึกตัวเองหมดแรง หมดไฟ ไม่อยากขยับตัวทำอะไร ทุกอย่างดูจืดชืดเจือจางหมด บวกกับ 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาอยากรู้สึกตื่นเต้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ช่วยทำให้พวกเขารู้สึก Alive รู้สึกถึงการมีชีวิตหน่อย ถ้าแบรนด์ไหนทำได้ย่อมได้รับความสนใจจากพวกเขาผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ไม่น้อยเลย

นักจิตวิทยาบอกว่าอารมณ์แบบ Fun และ Joy จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น และเป็นหนึ่งในอารมณ์หลักที่ช่วยหล่อเลี้ยงสังคมอีกด้วย หรืออารมณ์เซอร์ไพรส์ก็ช่วยให้มนุษย์เรารู้สึกเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะอารมณ์อะไรก็แล้วแต่ล้วนมีประโยชน์กับสุขภาพกายสุขภาพใจเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นการตั้งใจสร้างประสบการณ์ที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเราได้เกิดอารมณ์อะไรบางอย่างที่ชัดเจนพอ กลายเป็นหัวใจสำคัญของการตลาดและการสร้างแบรนด์นับจากนี้ไป ผู้คนอยากรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างแบรนด์แอลกอฮอลล์ในอเมริกาที่เอาอารมณ์ช็อคสุดขีดมาทำการตลาดเพื่อจับใจกลุ่มคนรุ่นใหม่กันดีกว่า

The Kraken ออกมาทำแคมเปญอีเว้นท์แนวบ้านผีสิงสุดสยองที่ชื่อว่า Shock Exchange ในบาร์ที่ประเทศอังกฤษ ด้วยการให้คนที่อยากท้าทายว่าตัวเองจิตแข็งแค่ไหนลองเข้าไปดู โดยต้องสวมสายรัดข้อมือซึ่งจะเป็นอุปกรณ์วัดชีพจรการเต้นของหัวใจ

หลังจากเดินทัวร์บาร์บ้านผีสิงเค้าเสร็จคุณก็จะได้รับรายงานการเต้นของหัวใจออกมา และทางร้านก็จะเสนอเครื่องดื่ม Cocktail ที่เหมาะกับความใจแข็งหรือใจเสาะของคุณให้อีกที

หรือแบรนด์ Global wellness อย่าง Daybreaker ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดปาร์ตี้ใหม่ จากเดิมงานปาร์ตี้ที่คนออกมาเต้นสนุกนั้นจะจัดตอนกลางคืนเป็นหลัก แต่กลับแบรนด์นี้เปลี่ยนมาจัดตอนเช้าแทน เพราะต้องการให้คนที่รักการออกกำลังกายซึ่งมักจะออกกันตอนเช้า ได้สนุกกับการออกกำลังกายมากขึ้น จากโยคะสู่การแดนซ์ในคอนเสิร์ตช่วงเช้าก่อนออกไปใช้ชีวิตที่เหลือทั้งวันต่อไป

สรุป Emotioneering จะออกแบบอารมณ์สุดขั้วแบบไหนให้แบรนด์เรา

เราคงเห็นแล้วว่าลำพังแค่การใช้อารมณ์ช่วยการตลาดแบบเดิมที่เรียกว่า Emotional Marketing นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะวันนี้ผู้คนรู้สึก Burn out กับชีวิตมาก จนรู้สึกเรียกหาสิ่งที่จะทำให้พวกเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

และการออกแบบอารมณ์ที่สุดติ่งหรือสุดขั้วก็คือคำตอบนั้น Emotioneering จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้าง Branding ในปี 2024 เป็นต้นไป

ย้ำอีกครั้งว่าอารมณ์ที่คนต้องการไม่ได้มีแค่สุขหรือสนุกเท่านั้น แต่ยังคงมีอารมณ์ตื่นเต้น ตกใจ เศร้า หรืออื่นๆ เข้ามาได้ สำคัญคือต้องทำให้สุด ถ้าสุขก็ต้องสุขจนน้ำตาไหล ถ้าสนุกก็ต้องสนุกจนได้ยืดเส้นยืดสายแบบวิญญาณแทบจะหลุดออกจากร่าง

ลองเริ่มคิดได้แล้วว่าอารมณ์แบบไหนที่เราอยากโอนมาเป็น Brand Asset หรือ Brand Perception ของเราในระยะยาว แล้วจึงเริ่มคิดกลยุทธ์กับแผนการตลาดที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง เพื่อที่วันหนึ่งลูกค้ารู้สึกแบบนั้นขึ้นมา จะได้นึกถึงแบรนด์เราขึ้นมาด้วยตัวเองในหัว ทั้งหมดนี้นำมาสู่การลดงบโฆษณาที่ไม่จำเป็นออกไปได้ในระยะยาว

อารมณ์แบบไหนที่แบรนด์คุณอยากโอนให้ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าครับ ?

2. Collective Recharge เทรนด์สี Pantone 2024 ที่สื่อถึงการได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติที่อบอุ่น

ดูเหมือนจากภาวะ Burn out ของคนทั่วโลกส่งผลให้พวกเขาต้องการชีวิตที่เป็นชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่แค่หนึ่งในฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่ หรือแค่ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งเท่านั้น

และนั่นก็สอดคล้องกับการที่ Pantone ประกาศเทรนด์สีประจำปี 2024 ซึ่งก็คือสี Peace Fuzz ที่ดูต่างจากเทรนด์สีปีก่อนมาก ปีก่อนเป็น Viva Magenta ดูมีพลังมาก แต่สี Peace Fuzz ปีนี้ดูให้แรงบันดาลใจ ดูเข้าใกล้ธรรมชาติ ดูล่องลอยไปในอากาศ ให้ความรู้สึกเยียวยาร่างกายและจิตใจ ดูเสมือนเกสรดอกไม้ ดูเป็นสีแห่งการเอนจอยกับช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิต

Tenderness หรือความอ่อนโยน ดูจะเป็นคอนเซปหลักของสีปีนี้ มันคือการบอกว่าเราจะดูแลและแบ่งปันซึ่งกันและกัน จะเป็นการเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน ยกระดับวิถีชีวิตไปสู่ความรักความผูกพันธ์ระหว่างคนในสังคมหรือโลกใบนี้

นอกจากบริษัท Pantone ที่เลือกสีนี้มาเป็นตีมสีหลักประจำปี 2024 แล้ว บริษัทผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีอื่นๆ ก็มีความเห้นที่สอดคล้องกัน นั่นก็คือเรื่องของความอบอุ่น การมองโลกในแง่ดี การไม่เร่งรีบใช้ชีวิตเหมือนปีก่อน ให้เราได้ช้าลงเพื่อใช้ชีวิตกันจริงๆ มากขึ้น

สรุป Collective Recharge เทรนด์สีที่สะท้อนถึงการหยุดเติมพลังให้ชีวิตที่เร่งรีบมานาน

ปีก่อนๆ สีจะออกไปทางพุ่งๆ มีพลัง ปีนี้ชัดเจนว่าคนต้องการชะลอความเร่งรีบ หยุดใส่ใจกับชีวิตและสิ่งรอบข้าง อยากอยู่กับธรรมชาติรอบตัวที่อบอุ่นให้มากขึ้น ดูมีความสโลว์ไลฟ์อย่างมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้า ดูเหมือนว่าเราจะเริ่มตระหนักแล้วว่ามนุษยชาติเราอยากใช้ชีวิตแบบไหน

Productivity อาจไม่ใช่คำตอบของทุกชีวิตหรือคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้อีกต่อไป

3. Climate-adaptive Lives กลยุทธ์ธุรกิจยุคโลกเดือด

นักวิชาการประกาศว่าเราหมดยุคโลกร้อนแล้ว แต่อย่าเพิ่งเผลอดีใจไป เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่วิกฤตกว่า นั่นก็คือยุคโลกเดือดครับ

ปี 2024 นี้คงชัดว่าเราเข้าสู่ยุคโลกเดือดอย่างประจักษ์ชัดแจ้งด้วยอุณหภูมิ 40+ องศาในแทบทุกจังหวัดของไทยต่อเนื่องหลายวันติด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากความร้อนออกข่าวทุกช่องทุกวันอย่างน่าใจหาย

นับจากนี้ไปเราจะไม่มีวันได้เจอกับสภาพอากาศแบบชิลๆ เหมือนเดิม ทำใจไว้ได้เลยครับ

ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดและอุณหภูมิที่ร้อนจัดนี้ก็คือ กลุ่มคนทำงานกลางแจ้งทั้งหลาย คนทำงานในตึกยังไม่เท่าไหร่ก็แค่เร่งแอร์ขึ้น บวกกับพยายามลดการออกนอกห้องแอร์ลง แต่กับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งไม่ว่าจะคนงานก่อสร้าง คนขับรถมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ จราจร หรือแม้แต่ตำรวจ ทหาร

IcePlate Curve นวัตกรรมสู้โลกเดือด

นี่คือแผ่นทำความเย็นสำหรับคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง และนวัตกรรมนี้ก็คิดมาเพื่อเหล่าทหารกล้าที่ต้องอยู่กลางแจ้งในเวลากลางวันเป็นประจำ

แม้เราจะติดแอร์ทุกที่บนโลกไม่ได้ แต่เราสามารถพกความเย็นติดตัวไปได้ นอกจากพัดลมพกพาแล้ว ดูเหมือนว่าในวิกฤตมีโอกาส และคนที่เก่งๆ ก็มักเห็นโอกาสนั้นก่อนใคร ไปจนถึงริเริ่มสร้างนวัตกรรมสู้ความร้อนใหม่ๆ ออกมา

ทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรก็เจอปัญหาภาวะโลกเดือดไม่น้อย เราเห็นข่าวพืชยืนต้นตายเยอะมาก และแน่นอนว่าทุกปัญหาคือโอกาส ก็ได้เริ่มมีผู้คิดนวัตกรรมสู้โลกเดือดสำหรับผู้เพาะปลูกเรียบร้อยแล้ว

เริ่มมีการทดลองใช้จุลินทรีย์เพื่อปกป้องพืชผลการเกษตรจากความร้อนขึ้นมา เพราะการจะติดแอร์หรือรดน้ำตลอดเวลานั้นยาก ก็เลยเอาธรรมชาติสู้ธรรมชาตินี่แหละ

การออกแบบสิ่งก่อสร้างก็จะเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานทำความเย็น หรือออกแบบให้มีความเย็นลดความร้อนตั้งแต่ต้น บ้างก็สร้างเป็นป่าหรือตั้งต้นจากธรรมชาติตั้งแต่การออกแบบ ไม่ใช่แค่เอามาเติมให้สวยงามดูเขียวตอนหลัง

สุดท้ายคือกลุ่มสินค้าเพื่อความสวยความงาม วันนี้จุดขายของบรรดาครีมประทินผิวต่างๆ ไม่ใช่แค่เพื่อความสวย เพื่อกันแดด UV แต่เพื่อกันจากมลพิษ มลภาวะต่างๆ จากฝุ่นควัน PM2.5 ไปจนถึงวิกฤตสภาพอากาศยุคโลกเดือดดที่คนยอมรับว่าต้องการครีมที่ปกป้องดูแลแบบจัดเต็มยิ่งกว่าที่เคยมีมาจริงๆ ครับ

สรุป Climate-adaptive Lives กลยุทธ์ธุรกิจยุคโลกเดือด

จากยุคโลกร้อนเข้าสู่ยุคโลกเดือด และเราก็ได้เห็นสภาพอุณหภูมิโลกที่ร้อนเดือดจริงๆ แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางวิกฤตย่อมหมายถึงโอกาส แบรนด์ไหนสามารถช่วยเพิ่มความเย็นให้ผู้บริโภคได้ ย่อมได้ทั้งเงินและใจควบคู่กัน

ส่วนการปกป้องจะแค่ UV SPF ทั่วไปนั้นไม่พอ แต่ต้องเน้นจุดขายเรื่องมลพิษ ฝุ่น ควัน PM2.5 รีบสร้างนวัตกรรมเพื่อลดอุณหภูมิให้ทันแล้วคุณจะเป็นผู้นำตลาดยุคโลกเดือดครับ

4. The New Etiquette รักษากฏกติกาเพื่อลูกค้าที่มีมรรยาท

Source: https://www.matichon.co.th/social/news_1208179

เรามักคนคลิปการแสดงออกถึงพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้คนไม่ว่าจะทาง Facebook Instagram หรือ TikTok มากขึ้นทุกวัน จากการสำรวจก็พบว่ากว่า 80% บอกว่าผู้คนทุกวันนี้ไม่มีมรรยาทยิ่งกว่าวันวาน

คนทำตัวแย่ๆ ในที่สาธารณะมักถูกแอบถ่ายจนกลายเป็นคลิปข่าวพาดหัวตามสื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะกันในโรงภาพยนต์ การแย่งชิงที่จอดรถ การขอขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีโดยที่ศิลปินไม่เต็มใจ การส่งเสียงดังในคอนเสิร์ตเงียบๆ จนกลายเป็นรบกวนคนอื่น ไม่ต้องพูดถึงการไม่ต่อคิว แซงคิว และอื่นๆ อีกมามาย ดูเหมือนวันนี้เราจะเต็มไปด้วยคนที่ไร้มรรยาทในพื้นที่สาธารณะจนรู้สึกไม่อยากออกไปไหนมาไหนเลย

มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าการแสดงออกถึงความไร้มรรยาท การไร้ซึ่งความเกรงใจคนอื่นในที่สาธารณะแบบนี้บอกถึงกฏระเบียบทางสังคมกำลังล่มสลาย ผู้คนเริ่มไม่แคร์ว่าการกระทำของตัวเองจะสร้างความเดือดร้อนหรือเอาเปรียบคนอื่นหรือไม่ เหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากความเครียดสะสมจากหลายเหตุช่วงโควิดที่ผ่านมาจนถึงหลังการล็อคดาวน์

ความเครียดทางเศรษฐกิจที่สะสม สะท้อนผ่านการไม่ปฏิบัติตามกฏกติกามรรยาททางสังคมที่มากขึ้นทุกที เหมือนกับการที่คนกลุ่มหนึ่งจะรู้สึกว่า “เรื่องของมึง” ผ่านการกระทำที่แสดงออกว่า “กูจะทำแบบนี้ใครจะทำไม” แล้วก็ไม่มีใครกล้าตักเตือนบอกพวกเขาตรงๆ ว่า “นี่คือสิ่งไม่ควรทำ” หรืออาจมีแต่ก็ไม่มากพอจะทำให้คนไร้มรรยาทเหล่านี้หยุดการกระทำได้

ดังนั้นหน้าที่ของแบรนด์ต้องกล้าชัดเจนที่จะออกกฏกติกาการให้บริการร่วมกันขึ้นมา กล้าที่จะปฏิเสธการให้บริการหรือแม้แต่การลงโทษกับลูกค้าที่มรรยาทแย่ทันที ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องลูกค้านิสัยดีที่ถ้าคุณไม่ทำอย่างนั้นพวกเขาก็จะหนีจากแบรนด์คุณไป

คุณอยากเหลือลูกค้าแบบไหนไว้หละ ลองชั่งใจดู ในขณะเดียวกันก็เกิดคลาสเรียนเรื่องมรรยาทผู้ดีเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นในกลุ่มคนใหม่ๆ ที่สนใจอยากทำตัวให้ดีขึ้น อยากดูสง่ามีมรรยาทมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

จนกลายเป็นรายการดังใน Netflix ที่ชื่อว่า Mind Your Manners ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2023 ที่แสดงนำโดยครูสอนมรรยาทชาวจีน ที่ผู้คนมักมองว่าคนจีนไม่มีมรรยาททางสังคมหรือเคารพคนอื่นสักเท่าไหร่

อีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นปัญหากันหนักมากทุกที่บนโลกก็คือมรรยาทการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ไม่ค่อยมีมรรยาทกันเท่าไหร่ แย่งชาร์จบ้าง เสียบแซงคิวบ้าง หรือไม่ได้ชาร์จแต่จอดแช่ไว้บ้าง ปัญหานี้จะแก้ได้ด้วยแบรนด์ต้องสอนมรรยาทการใช้จุดชาร์จรถไฟฟ้าให้ชัด เริ่มตั้งแต่ตัวแบรนด์รถยนต์เองไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตรงจุดชาร์จ หรือการออกแบบระบบลงโทษผู้ผิดกฏให้ชัดเจน

ทั้งนี้ก็เพื่อปกกป้องคนดีๆ ให้ยังรู้สึกว่าอยากทำตามกฏกติกามรรยาทของการชาร์จ เพราะถ้าแบรนด์ไม่ใส่ใจจะทำอะไรแน่นอนว่าสุดท้ายก็จะเกิดปัญหาตามมาจนทำให้แบรนด์เสียภาพลักษณ์ที่อุตส่าห์ทุ่มเงิน PR ไปอย่างน่าเสียดาย

สวนสนุกอย่าง Disney Land ที่ Florida และ California เองถึงขนาดมีการอบรมผู้เล่นถึงกติกามรรยาทการต่อคิวเล่นภายในสวนสนุก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีอย่างราบรื่น นี่คือหน้าที่ใหม่ของแบรนด์ ต้องทำตัวเป็นคุณครูผู้ปกป้องลูกค้าที่ดีที่มีมรรยาท ส่วนลูกค้าที่ไร้มรรยาทถึงเวลาต้องพิจารณาตัดพวกเขาออกไปจากสารระบบของธุรกิจคุณเสียที

สรุป The New Etiquette รักษากฏกติกาเพื่อลูกค้าที่มีมรรยาท

ถ้าไม่อยากเสียลูกค้าดีๆ ไปต้องทำหน้าที่เป็นผู้พิทักกฏเกณฑ์การใช้บริการหรือการเป็นลูกค้าให้ชัด กล้าลงโทษคนที่เสียมรรยาทกับคนอื่นเพื่อรักษาบรรยากาศโดยรวมของลูกค้าให้ดี ทั้งนี้ก็เพื่อที่คนดีๆ จะได้ไม่ถอดใจกับการเป็นลูกค้าคุณไป

ลองคิดภาพดูซิว่าถ้าคุณปล่อยให้คนนึงทำได้ คุณคิดว่าคนที่อุตส่าห์อดทนทำตามกฏจะรู้สึกกับแบรนด์คุณอย่างไร

ออกกฏให้ชัด อธิบายให้เคลียร์ บังคับใช้ให้ชัดเจน แล้วแบรนด์คุณจะเต็มไปด้วยลูกค้าดีๆ ที่พร้อมจะใช้เงินกับคุณไปนานๆ

5. Prosocial Effervescence รวมกันเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่

คนทั่วโลกกว่า 71% บอกว่าตัวเองกำลังรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวอยู่ 65% บอกว่าพวกเขาไม่ได้สนิทกับใครสักเท่าไหร่ ตั้งแต่โควิดเกิดขึ้นดูเหมือนวิกฤตความเหงาและโดดเดียวไปจนถึงซึมเศร้าเกิดการระบาดหนัก แต่ในขณะเดียวกันนี่คือโอกาสของแบรนด์ที่จะจับคนเหงามารวมตัวทำอะไรร่วมกันให้หายเหงา พาคนแปลกหน้าแต่มีอะไรบางอย่างร่วมกัน(นั่นก็คือแบรนด์เรา)ให้พวกเขาได้มาสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันครับ

เทรนด์นี้คือการรวมคนแปลกหน้าที่ชอบอะไรสักอย่างร่วมกัน มาทำสิ่งนั้นร่วมกัน แล้วก็สร้างประสบการณ์ความทรงจำดีๆ ร่วมกันไป จนทำให้หลายคนได้รู้จักกันมากขึ้นจนอาจกลายเป็นเพื่อนสนิทกันต่อหลังจากนั้นก็ได้ เหมือนกับงานคอนเสิร์ตที่พาคนแปลกหน้ามาร่วมร้องเพลงด้วยกันในจังหวะเดียวกันได้ มากระโดดตามจังหวะไปพร้อมกันได้ มาสนุกกับคนข้างๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้คือมีเพลงหรือศิลปินที่ชอบร่วมกันเป็นตัวเชื่อม

พิพิธภัณฑ์ก็มีการเปิดรอบบรรยายถึงสิ่งของต่างๆ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ทำให้คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันแต่สนใจเรื่องเดียวกันหยุดตั้งใจฟังด้วยความตั้งใจ นี่คือบรรยากาศของความมีสเน่ห์ที่บรรยายไม่ถูก

https://www.joinmywedding.com/

ในประเทศอินเดียมีธุรกิจเปิดขายตั๋วเข้าร่วมชมงานแต่งงานของคนจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์ร่วมแสดงความยินดีกับคู่รักชาวอินเดียคนท้องถิ่นที่กำลังจะแต่งงานกัน งานแต่งงานอินเดียก็มักจะทำกันให้อลังการเสมือนโชว์อยู่แล้ว ก็แล้วทำไมไม่จัดขายบัตรมันไปเลยหละ น่าลองคิดต่อยอดจากเรื่องนี้ดูนะครับ

อย่างบ้านเราอาจเป็นพวกงานแห่ขันหมากที่มีผู้คนออกมายินดีฟ้อนรำร่ำร้องกัน อาจขายตั๋วขายบัตรให้ชาวต่างชาติมาร่วมร้องฟ้องรำด้วยก็เป็นได้

หรืออาจเป็นการชวนคนแปลกหน้าที่สนใจเรื่องการนั่งสมาธิให้มารวมตัวกันนั่งสมาธิเงียบๆ พร้อมกัน อารมณ์ก็คล้ายๆ ประเพณีสวดมนต์ข้ามปีที่เพิ่งจะเริ่มจริงจังได้เมื่อไม่นานมานี้ แบรนด์ IKEA เองก็มีการทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ที่มีการออกแบบร้านให้คนที่รักการแต่งบ้านได้มาใช้พื้นที่ร่วมกันแบบไม่เคอะเขิน เราสามารถนั่งโซฟาตัวเดียวกันได้ หรือถ้าอยู่ในห้องที่ตกแต่งไว้ห้องเดียวกัน คนนึงก็สามารถนั่งลงบนเตียง อีกคนก็นั่งตรงเก้าอี้ปลายเตียงในห้องเดียวกันได้

สรุป Prosocial Effervescence รวมกันเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่

นี่คือโอกาสที่แบรนด์จะหยิบเอาลูกค้าผู้ใช้บริการตัวเองที่อยู่กับเรามานานมาก มารวมตัวกันเพื่อทำอะไรร่วมกันสักอย่าง ถ้าคุณเป็นแบรนด์ความงาม ลองคิดดูว่าจะจัดกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร ให้พวกเขาได้เข้าร่วมง่ายๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรมากมายจนดูน่าอึดอัด อารมณ์คล้ายๆ Flashmob ในวันวาน แต่มีอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้นหน่อย

แบรนด์เราจะเป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนที่กำลังเหงาออกมาเจอกันแล้วเกิดความรู้สึกดีกลับบ้านไปได้อย่างไร ขนาดงานแต่งงานในอินเดียยังขายบัตรได้ ผมว่าไม่มีงานกิจกรรมอะไรที่ขายไม่ได้แล้วหละ

6. Decelerating Hype Cycles เทรนด์ใหม่คือการไม่ตามเทรนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่ยิ่งกว่า Hyper FOMO เทรนด์ทุกอย่างมาไวแล้วก็ไวมาก แถมเทรนด์ยังเกิดขึ้นได้แทบจะทุกวัน จนแทบจะตามข่าวสารบ้านเมืองไม่ทัน จนทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ตามเทรนด์ดังๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ก็ว่าได้

บ้านเราคงคุ้นกับคำว่า JOMO Joy of Missing Out คือดีใจที่ไม่ได้สนใจเทรนด์ มีช่วงเวลาเงียบๆ หรือโฟกัสอะไรสักอย่างกับตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่มักเกิดขึ้นบ่อยและถี่เป็นประจำก็คือแวดวงบิวตี้ ความสวยความงาม ที่เดี๋ยวทำเล็บแบบนั้น ทำผมแบบนี้ ของมันต้องมี เสมือนว่าวิ่งไล่ตามเทรนด์เท่าไหร่ก็ไม่เคยทันสักที งั้นก็ช่างมันไปเลยแล้วกัน ใครอยากตามเชิญ ส่วนตัวฉันขอไม่ตามดีกว่า

และจากเทรนด์ที่ไม่ตามเทรนด์นี้(ฟังดูย้อนแย้งมั้ยครับ)ทำให้บรรดาแบรนด์ต่างๆ เริ่มปรับตัวมาทางด้านนี้มากขึ้น เริ่มจากการลด SKU ที่หลากหลายจนดูสับสนวุ่นวายให้เหลือครีมบำรุงจริงๆ ไม่กี่ตัวที่สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ หรือสินค้าแบรนด์แฟชั่นเองที่ก็เริ่มปรับตัวลดการออกคอลเลคชั่นใหม่ๆ ให้วุ่นวาย หันมาเน้นการออกแบบดีไซน์ที่อยู่ได้ทนใช้ได้นาน แม้จะไม่แฟชั่นจ๋าดูฉูดฉาดแต่ก็สามารถหยิบใช้ออกงานได้เรื่อยๆ ดูไม่น่าเบื่อ

บวกกับกระแสของเรื่องความยั่งยืน Sustainability ที่มาแรงมากขึ้นทุกที สิ่งสอดคล้องกับการออกสินค้าแบบนี้ที่เน้นใช้นานไม่ฟุ่มเฟือยซื้อเร็วทิ้งเร็วแบบธุรกิจ Fash Fashion เดิมเองสักเท่าไหร่

จากรายงานของ Ipsos บริษัทวิจัยระดับโลกก็บอกว่าผู้บริโภคกว่า 73% นั้นเห็นตรงกันว่าอยากใช้ชีวิตให้ช้าลง เพราะที่ผ่านมาเร่งรีบใช้ชีวิตตามคนอื่นมานานแล้ว คนเริ่มชะลอการดูซีรีส์หรือรายการรวดเดียวจบบน Netflix แบบที่เคยทำ คนเริ่มหันมาชอบรายการที่ออกมาสักดาห์ละตอนให้พวกเขาค่อยๆ ดู เพราะพวกเขารู้สึกว่าชีวิตแบบนี้ไม่เหนื่อยดีเหมือนกัน แม้จะไม่รวดเร็วทันใจแต่มันก็ทำให้พวกเขามีเวลาได้ค่อยๆ หายใจแล้วละเลียดกับชีวิต

สรุป Decelerating Hype Cycles เทรนด์ใหม่คือการไม่ตามเทรนด์

เรื่องนี้ก็มีความคล้ายกับเรื่อง Deinfluencing แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องซื้อหรือบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เมื่อเราถูกเร่งให้บริโภคนิยมกันจนเกินไป เราถูกเร้าให้ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบมานาน จนทำให้คนเริ่มหันมาต่อต้านไม่ตามเทรนด์ ไม่ต้องวิ่งไล่ตามกับกระแสทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาก็ได้

แบรนด์ต้องเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ว่าจะวางกลยุทธ์เรื่องความยั่งยืนในระยะยาวอย่างไร เราจะมีสินค้าหรือบริการบางอย่างที่ Last Long Standing ได้หรือไม่ หรืออาจจะสร้าง Brand ใหม่ขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะก็ไม่เลว

7. Lasting Ephemera นิยามใหม่ความสวยงามที่มาจากความไม่จีรังยั่งยืน

ดูเหมือนนิยมความสวยงามก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมเน้นความงามอันเป็นนิรันดร์ มาวันนี้กระแสออกไปทางความไม่จีรังซิยั่งยืน(ในความรู้สึก) จากงาน The Met Gala’s 2024 ที่เอาคอนเซปความไม่จีรัง ความงามที่เปาะบางมากๆ มาแสดงให้คนได้รู้สึกถึงความบอบบาง การแตกสลาย การไม่คงทนอยู่ถาวร ที่สร้างความรู้สึกให้ยิ่งน่ารีบมองรีบจับจองช่วงเวลานั้นให้นานขึ้น

และยังมีอีกหลายงานแฟชั่นที่จัดแสดงภายใต้คอนเซปคล้ายๆ กัน ความงามที่ไม่จีรัง เริ่มได้รับความนิยมในวงกว้างขึ้น เริ่มมีการเอาไปต่อยอดตีความออกมาเป็นชิ้นงานอีกมากมาย น่าติดตามดูต่อไปว่าสำหรับการผลิตเป็นสินค้าหรือบริการขายผู้บริโภคในวงกว้างนั้นจะออกมามีหน้าตาอย่างไรครับ

8 Luddite mode คนรุ่นใหม่ชอบการใช้ชีวิตออฟไลน์จนกลายเป็นเทรนด์

Luddite มาจากชื่อกลุ่มต่อต้านเครื่องจักรในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม คำนี้ถูกเอามาตีความใหม่กับ Gen Z ในยุคปัจจุบัน ที่พวกเขาเริ่มมีการใช้ใช้ชีวิตในโหมดต่อต้านดิจิทัลหรือออนไลน์ที่ชัดเจน สะท้อนผ่านโทรศัพท์มือถือแนวคลาสสิคที่กลับมานิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่น้อย นั่นก็คือ Nokia 150

Nokia 150 รุ่นปี 2023 เป็นโทรศัพท์มือถือที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากโทรออกและรับสาย ไปจนถึงรับส่ง SMS ได้นิดหน่อย เอาง่ายๆ มันก็คือโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันเมื่อสัก 20 ปีก่อน

วันนี้คนรุ่นใหม่ Gen Z รู้สึกตัวว่าเสียเวลาชีวิตไปมากมายกับหน้าจอการออนไลน์ที่ไม่จำเป็น พวกเขาเลยต้องหาทางตัดตัวเองออกจากการออนไลน์ให้ได้ โทรศัพท์มือถือแนวนี้ก็เลยเริ่มกลับมานิยมในกลุ่มพวกเขาอีกครั้ง แต่เป็นการพกสองเครื่อง เมื่อไหร่อยากออฟไลน์ใช้ชีวิตแบบมีสติจริงๆ ก็จะปิดเครื่องหลักสมาร์ทโฟนปกติแล้วเปิดโทรศัพท์มือถือธรรมดาเครื่องนี้แทน

เผื่อใครต้องการโทรติดต่อฉุกเฉินก็จะได้ไม่พลาดสายสำคัญ แต่สำหรับพวก Notification ที่ไม่สำคัญบอกเลยว่าจะถูกตัดทิ้งออกไปทั้งหมด

และแม้โทรศัพท์มือถือแบบนี้จะถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะคนรุ่นใหม่กลับมีมุมมองว่า “ช่วงเวลาที่ดีไม่จำเป็นต้องถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์หรือถ่ายแชร์ลงโซเชียล แต่แค่บันทึกไว้ในความทรงจำที่เราใช้เวลากับมันเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว”

สรุป Luddite mode คนรุ่นใหม่ชอบการใช้ชีวิตออฟไลน์จนกลายเป็นเทรนด์

เมื่อคนรุ่นใหม่ Gen Z รู้จักคิดมองชีวิตที่ลดการออนไลน์หรือดิจิทัลลงไปแบบที่คนวัยผู้ใหญ่ก่อนหน้าทำไม่ได้ แบรนด์ต้องมองหาว่าเราจะส่งเสริมเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง มองอีกแง่การออฟไลน์ของพวกเขาก็คือการจัดอีเว้นท์หรือกิจกรรมร่วมกันบางอย่าง มันก็จะมีความสอดคล้องกับเทรนด์ก่อนหน้าที่เป็นการนำพาคนแปลกหน้าที่สนใจเรื่องเดียวกันให้ได้มามีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันครับ

9 Nature Rights ถึงเวลาเรียกร้องสิทธิของธรรมชาติ

Photo: https://www.voanews.com/a/conservationists-us-tribes-say-salmon-deal-is-map-to-breaching-dams-/7399120.html

จากวิกฤตโลกเดือด ภูมิอากาศโลกร้อนอย่างสุดขีดถึง 40 องศายาวนานต่อเนื่องในบ้านเรา แล้วไหนจะไฟป่าปะการังฟอกขาว บวกกับการสูญพันธุ์ของพืชพรรณสัตว์ป่าจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดกระแสรณรงค์เรียกร้องสิทธิให้กับสัตว์ป่าและธรรมชาติต่างๆ มากขึ้น

เรื่องนี้ก็คล้ายกับการเรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศในยุคปี 2010 หรือการเรียกร้องสิทธิสตรี เรียกร้องสิทธิคนผิวสี หรือการเรียกร้องสิทธิเพื่อชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ

เริ่มมีการประกาศออกกฏหมายคุ้มครองการใช้ชีวิตของสัตว์ที่ห้ามมนุษย์เข้าไปรบกวนโดยเด็ดขาด ถ้าละเมิดถือเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย อาจมีโทษทางอาญาได้ในบางประเทศ อย่างบ้านเราก็มีกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่ามากมาย เพียงแค่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยจริงจังในการบังคับใช้เท่าไหร่

และไม่ใช่แค่สิทธิของสัตว์ที่ขยับกระดุกกระดิกได้ แต่ยังมีสิทธิของป่า ของน้ำ ของธรรมชาติต่างๆ อีกหลายแง่มุม ทั้งหมดก็เพื่อปกป้องมนุษย์จากการทำลายตัวเองของเรา เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมพังเสียหายไปหมด สุดท้ายก็ต้องเป็นมนุษย์เราเองนี่แหละที่ต้องสูญพันธุ์ตามไป

แบรนด์ก็เริ่มออกมารณรงค์เรื่องนี้จริงจังมากขึ้น ดังนั้นคำถามสำคัญคือแบรนด์เราจะร่วมเป็นส่วนไหนในการรณรงค์เรียกร้องสิทธิของธรรมชาติเพื่อปกป้องลูกค้าเรา ธุรกิจเรา และโลกของเราอย่างไรได้บ้างครับ

10. Intentional Communities นิยามใหม่ของคำว่าครอบครัวของกลุ่มคนที่ตั้งใจอยู่ร่วมกัน

Photo: https://lumohouses.com/learn/eco-villages-communities-europe/

คำว่า “ครอบครัว” เดิมทีมักถูกนิยามใช้กับคนที่มีความเกี่ยวกันพันกันทางสายเลือดเป็นหลัก อาจจะเป็น พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา อะไรแบบนี้เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่านิยามครอบครัวแบบนี้จะเริ่มคับแคบไปกับบริบทการใช้ชีวิตแบบใหม่ในปี 2024

เมื่อคนยุคใหม่จำนวนมากทุกวันนี้เลือกที่จะใช้ชีวิตโสดตัวคนเดียวมากขึ้น หรืออาจจะเลือกเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกเองคนเดียวมากขึ้น ทำให้พวกเขาเลือกที่จะจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ก็เริ่มพัฒนาโครงการและแพคเกจราคาเพื่อให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้เต็มที่

หมู่บ้านคนโสด ที่ให้คนโสดได้มีบ้านของตัวเอง หรือจะเป็นการแชร์บ้านกับคนโสดอีกคนก็ได้ หรือคนที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเลือกที่จะมาจับคู่อยู่ด้วยกันแบบครอบครัวนิยามใหม่ บางวันที่อีกฝ่ายมีธุระจำเป็นดูแลลูกไม่ได้ ก็สามารถฝากฝังช่วยกันดูแลได้ ดังนั้นการออกแบบบ้านหรือโครงการที่อยู่อาศัยก็ต้องทำความเข้าใจความต้องการใหม่ๆ หรือ Insight ของ Single Parent เหล่านี้ด้วย

หรืออาจเป็นบ้านที่มีการแชร์พื้นที่หลายๆ ส่วนร่วมกัน แทนที่จากเดิมบ้านหนึ่งหลังจะต้องมีทุกอย่างจบในตัว อาจมีแค่บางห้องที่เป็นส่วนตัวจริงๆ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในบ้านก็สามารถแชร์กันใช้ได้ อย่างห้องครัว หรือห้องอาหารเป็นต้น

เทรนด์นี้ก็สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยถีบตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองทั่วโลกจนคนทั่วไปไม่สามารถเป็นเจ้าของด้วยตัวเองคนเดียวได้ ทำให้การมาอยู่ร่วมกันแล้วแชร์พื้นที่หรือค่าใช้จ่ายบางส่วนนั้นสะดวกกว่า แบ่งเบาภาระลงไปได้มาก ดูเหมือนว่านิยมคำว่า “ครอบครัว” นับจากนี้ไปจะมาจากความสมัครใจอยู่ด้วยกัน ช่วยกันดูแลกันและกันฉันท์เพื่อน มากกว่าคนรักหรือคนที่มีความผูกพันธุ์กันทางสายเลือดครับ

สรุป Intentional Communities นิยามใหม่ของคำว่าครอบครัวของกลุ่มคนที่ตั้งใจอยู่ร่วมกัน

เมื่อคนมากกว่าหนึ่งคนตั้งใจแล้วว่าจะใช้ชีวิตร่วมกัน หรืออยู่ร่วมชายคากันในบ้านหลังเดียว นิยามคำว่า “ครอบครัว” ก็เริ่มก่อตัวขึ้น ภาคธุรกิจต้องรีบเข้าใจพวกเขาเหล่านี้แล้วก็สร้างสินค้าหรือบริการที่ออกมาตอบโจทย์พวกเขาให้ไว

ภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องพูดถึง หมู่บ้านคนโสด คนที่เลือกใช้ชีวิตแก่ตัวคนเดียวเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นทุกวัน หรือบางทีก็เป็นม่ายแล้วไม่ได้อยากแต่งงานมีคู่ครองใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปล่อยให้ตัวเองแห้งเหี่ยวไร้คนคุยนะครับ

และนี่คือนิยามใหม่ของคำว่าครอบครัว คนที่รวมตัวอยู่ด้วยกันเพราะความตั้งใจไม่ใช่ความผูกพันธ์ทางสายเลือด

xr:d:DAEVsP3n-b8:1202,j:6000332665950119273,t:23121212
  1. Emotioneering ออกแบบอารมณ์เพื่อการแบรนด์
  2. Collective Recharge เทรนด์สี Pantone 2024 ที่สื่อถึงการได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติที่อบอุ่น
  3. Climate-adaptive Lives กลยุทธ์ธุรกิจยุคโลกเดือด
  4. The New Etiquette รักษากฏกติกาเพื่อลูกค้าที่มีมรรยาท
  5. Prosocial Effervescence รวมกันเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่
  6. Decelerating Hype Cycles เทรนด์ใหม่คือการไม่ตามเทรนด์
  7. Lasting Ephemera นิยามใหม่ความสวยงามที่มาจากความไม่จีรังยั่งยืน
  8. Luddite mode คนรุ่นใหม่ชอบการใช้ชีวิตออฟไลน์จนกลายเป็นเทรนด์
  9. Nature Rights ถึงเวลาเรียกร้องสิทธิของธรรมชาติ
  10. Intentional Communities นิยามใหม่ของคำว่าครอบครัวของกลุ่มคนที่ตั้งใจอยู่ร่วมกัน

และนี่คือ 10 Culture Trends 2024 เทรนด์การใช้ชีวิต วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป แบรนด์ของเราจะสามารถหยิบจับตรงไหนมาต่อยอดได้บ้าง เราจะสามารถเติมเต็มความต้องการของพวกเขาด้วยสินค้าหรือบริการที่เรามีอย่างไรได้บ้าง หรือเราจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ให้พวกเขาก่อนใคร หวังว่าคุณจะได้ไอเดียอะไรสักอย่างจากการอ่านบทความตอนนี้ครับ

ในบทความตอนหน้าเราจะมาเจาะลึก 10 Technology Trends 2024 เทรนด์ของเทคโนโลยีมีอะไรที่น่าสนใจและจะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือคนทั่วโลกกันบ้างครับ

Source: https://www.vml.com/insight/the-future-100-2024

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *