5 เทคนิค Content Writing เขียนอย่างเข้าใจสมอง จาก Thinking Fast and Slow

5 เทคนิค Content Writing เขียนอย่างเข้าใจสมอง จาก Thinking Fast and Slow

การเขียนทุกรูปแบบไม่ว่าจะ Copy Writing, Content Writing หรือ Writing ใดๆ ก็ตาม หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากไกลตัวคิดว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ เชื่อมั้ยครับว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดแบบนั้น แต่ลองฝึกฝนผ่านการเขียนไปทุกวันก็พบว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิดเท่าไหร่ แต่ครั้นจะให้ไปสอนใครเรื่องนี้ก็กลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยการที่เรียนรู้เองแบบมวยวัดก็เลยไม่มีหลักใดให้ยึดที่จะเอาไปสอนใครได้ง่ายๆ แต่วันนี้ผมได้เทคนิคการเขียนให้น่าคล้อยตาม แบบอ่านแล้วเคลิ้มจนอยากจะควักเงินซื้อแบรนด์เราแบบง่ายๆ ที่มีหลักแกนให้ยึดเป็นแนวทางที่เจอมาจากหนังสือ Thiking Fast and Slow ที่อยากจะเอามาเล่าให้เพื่อนๆ นักการตลาดใจการตลาดวันละตอนได้ฟังกันครับ

และนี่ก็เป็น 5 เทคนิค Content Writing เขียนให้คนอ่านคล้อยตามจาก Thinking Fast and Slow

Significant เด่นชัดมาแต่ไกล

การตลาดวันละตอน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2008

การตลาดวันละตอน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2018

จากการทดลองด้วยข้อความอื่นแต่เป็นรูปแบบเดียวกันของการแสดงผลพบว่า คนส่วนใหญ่เชื่อประโยคข้อความแรกมากกว่า ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายมากนั่นก็คือมันดูชัดกว่าในการมองเห็น ทั้งตัวหนังสือที่หนากว่า ใหญ่กว่า และสีเข้มชัดเจนกว่า เมื่อเทียบกับอีกประโยคข้อความที่สองที่ไม่ได้เด่นชัดแต่อย่างไร แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเชื่อว่าประโยคที่สองเป็นจริงน้อยกว่าประโยคแรกอย่างเห็นได้ชัดครับ

ดังนั้นถ้าคุณมีประโยคหรือข้อความไหนที่อยากให้คนเชื่อหรือคล้อยตามมากเป็นพิเศษ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือทำให้ประโยคข้อความนั้นพิเศษกว่าประโยคอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคการแสดงผลบนหน้าจอ หรือเทคนิคการพิมพ์ที่มีการเลือกกระดาษแบบพิเศษ พื้นหลังแบบพิเศษ หรือจะเป็นการพิมพ์ปั๊มนูนลง UV ให้เกิดความพิเศษจนเด่นชัดกว่าประโยคข้อความอื่น ง่ายๆ เท่านี้คนก็จะรู้สึกว่าข้อความนี้น่าคล้อยตามกว่าข้อความอื่น และก็พาลให้เผลอคิดว่าน่าจะเป็นจริงโดยไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำครับ

Simple อยากดูฉลาดต้องใช้คำง่ายๆ

แต่ไหนแต่เรามักเรามักเชื่อว่าถ้าอยากดูฉลาดต้องประดิษฐ์คำให้ยากเข้าไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนอ่านส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบนั้นเลยครับ เพราะจากหนังสือ Thinking Fast and Slow บอกว่าถ้าคุณอยากให้คนอื่นมองว่าน่าเชื่อถือและดูเฉลียวฉลาด ต้องอย่าใช้คำยากๆ แต่ต้องหันมาใช้ภาษาง่ายๆ แทน

ลองคิดย้อนดูถึงสโลแกนจากแบรนด์ต่างๆ ที่คุ้นหูมานานล้วนแต่เป็นคำที่ฟังดูเข้าใจง่าย ไร้ซึ่งการประดิษฐ์ให้ซับซ้อน ละซึ่งการสรรหาคำยากๆ เกินกว่าที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะเข้าใจได้

ไม่ว่าจะเป็น “คุณค่าที่คุณคู่ควร” หรือ “ลูกผู้ชายตัวจริง” หรือ “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” หรือ “เพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน” หรือสโลแกนใดๆ ก็แล้วแต่ จะเห็นได้เลยว่าประโยคไหนที่ยืนยงอมตะ ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาที่เรียบง่ายเป็นหลักการร่วมกันครับ

Smooth อ่านแล้วลื่นไหลด้วยคำคล้องจอง

เทคนิคการเขียน Copy Writing หรือ Content Writing ที่สำคัญมากคือเราต้องทำให้รูปประโยคที่ถ่ายทอดนั้นมีการคล้องจองเหมือนบทกลอนทำนองเพลง เพราะสมองของมนุษย์เราถูกออกแบบมาให้ประหยัดพลังงาน ดังนั้นการสร้างประโยคต่างๆ ให้มีการเชื่อมโยงกันเองก็จะยิ่งช่วยให้สมองคนอ่านคล้อยตามประโยคนั้นได้ง่ายขึ้นมากครับ

เหมือนที่เรามักมีเพลงฮิตติดหูอยู่ในหัวเป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อเพลงเหล่านั้นก็จะมีความคล้องจองกันเป็นหลักการสำคัญร่วมกัน

แถมที่สำคัญประโยคที่ถูกเขียนมาให้คล้องจองถูกมองว่าเฉลียวฉลาดกว่า ดังนั้นถ้าเขียนแล้วลองกลับไปเขียนใหม่ดูนะครับว่ามันอ่านแล้วคล้องจองในระดับบทกลอนแล้วหรือยัง

Simple Referral แหล่งอ้างอิงต้องอ่านง่าย

ความอ่านง่ายไม่ได้อยู่แค่ตรงรูปประโยคการเขียน แต่ยังครอบคลุมไปถึงแหล่งอ้างอิงที่มาที่ไปของเนื้อหานั้นยังต้องเป็นอะไรที่อ่านได้ง่ายอีกด้วยครับ

จากการทดลองที่ทำขึ้นมาเพื่อทดสอบสมมติฐานข้อนี้พบว่า เมื่อให้คนลองประเมินอนาคตของบริษัทต่างประเทศที่ถูกสมมติขึ้นมา โดยดูจากรายงานของบริษัทหลักทรัพย์สองแห่งซึ่งต่างกันตรงที่ ชื่อบริษัทแรกอ่านง่าย ส่วนชื่อบริษัทหลังอ่านยาก แล้วผลที่ได้ก็เดาได้ไม่ยากเลยว่าชื่อบริษัทที่อ่านง่ายกว่านั้นกลับถูกประเมินให้มีอนาคตที่สดใสกว่าบริษัทที่มีชื่ออ่านยากครับ

ดังนั้นถ้าใครจะตั้งบริษัทให้คนรู้สึกคล้อยตามว่าน่าจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์นั้น ชื่อบริษัทคุณอ่านง่ายพอแล้วหรือยัง และตัวย่อของชื่อบริษัทคุณในตลาดหุ้นนั้นอ่านได้ง่ายพอที่คนจะซึมซับเข้าไปในหัวแล้วหรือเปล่า

Summary เทคนิค Content Writing เขียนอย่างเข้าใจสมอง

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้วล้วนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหลักการของหนังสือ Thinking Fast and Slow เล่มนี้ นั่นก็คือมนุษย์เราล้วนขี้เกียจใช้สมอง หรือที่เรียกว่า System 2 เป็นธรรมชาติครับ นั่นเลยทำให้นักการตลาดอย่างไรควรเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อลดการใช้สมองในทุกด้านของคนอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่เราต้องการให้ได้มากที่สุด

ตั้งแต่การทำให้อ่านได้ง่าย แล้วก็ใช้ความความที่เข้าใจง่าย จากนั้นก็ทำให้อ่านได้ง่ายอีกครั้งด้วยการทำให้ประโยคต่างๆ คล้องจองเป็นทำนองซึ่งกันและกัน มาจนถึงชื่อบริษัทหรือแหล่งอ้างอิงของข้อมูลนั้นก็ต้องอ่านได้ง่ายอีกครั้งเช่นกันครับ

ทั้งหมดนี้คือหลักการของสมองมนุษย์จากหนังสือ Thinking Fast and Slow ที่เราสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับการตลาดในด้านการ Writing ได้ง่ายๆ พอเห็นหลักแนวทางการเขียนอย่างไรให้คนอ่านคล้อยตามแล้วใช่มั้ยครับ ทีนี้ก็เหลือแค่การฝึกฝนการเขียนให้ได้ตามหลักการ 4 ข้อนี้ แน่นอนว่าไม่มีใครเขียนได้ดีตั้งแต่ครั้งแรก เหมือนบทความแรกของการตลาดวันละตอนก็ไม่ได้อ่านเข้าใจง่ายเหมือนทุกวันนี้ แต่เราผ่านการขัดเกลามากว่า 3 ปีทุกวัน วันละตอน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังฝึกทักษะด้าน Wrinting ทุกด้าน ไม่ว่าจะ Copy Writing หรือ Content Writing ก็ตามครับ

Empathy Writing สื่อสารอย่างไรให้เข้าถึง(หัวใจ) คนรับ

อ่านบทความที่เกี่ยวกับการ Writing ในการตลาดวันละตอนต่อ > https://www.everydaymarketing.co/?s=writing

เทคนิค 5S สำหรับ Content Writing และ Copy Writing เขียนอย่างไรให้น่าอ่านและคล้อยตาม จากหนังสือ Thinking Fast and Slow ฉบับแปลไทย

สนใจสั่งซื้อหนังสือ Thinking Fast and Slow​ ฉบับแปลไทยจากสำนักพิมพ์ We Learn > http://bit.ly/ThinkingFastAndSlowWeLearn

Nattapon Muangtum

เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน / อาจารย์พิเศษวิชา Data-Driven Communication / เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่ม Personalized Marketing, Data-Driven Marketing, Data Thinking, Contextual Marketing และ Social Listening / ที่ปรึกษา Data-Driven Advisor

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *